วันก่อน หลังเลิกคลาสตอน 3 ทุ่ม ดิฉันนั่งคุยกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่งถึง 3 ทุ่มกว่า

เธอเป็นคนจังหวัดแพร่ที่เต็มไปด้วยความฝัน

หนูไม่อยากให้แพร่เป็นแค่ทางผ่าน อยากให้คนมาเที่ยวจังหวัดมากขึ้น

ดิฉันฟังเรื่องราวความฝันที่จะสร้างศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับพืชเศรษฐกิจ จะเปิดร้านกาแฟ มีมุมขายเสื้อม่อฮ่อมทำมือของเธอ น้ำเสียงเธอดูภูมิใจและรักท้องถิ่นมาก ๆ

เป็นความคิดที่ดี

แต่จุดอ่อนมีประเด็นเดียว …แล้วลูกค้าล่ะ จะสนใจเรื่องเหล่านี้ไหม

คืนนั้น ดิฉันนึกถึงร้านอาหารเล็กๆ ร้านหนึ่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยให้สังคมเข้าใจผู้ป่วยอัลไซเมอร์และโรคนี้ได้ดีขึ้น

ร้านอาหารไม่ได้ตามสั่ง

โอกุนิ ชิโร่ เคยทำงานเป็นโปรดิวเซอร์รายการของ NHK วันหนึ่งเขาไปถ่ายทำสารคดีที่ศูนย์ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์

ศูนย์นี้มีความพิเศษคือ ให้ผู้ป่วยช่วยตัวเอง ตั้งแต่การซักผ้า ทำอาหาร อาบน้ำ

ในช่วงพัก คุณลุงคุณป้าที่ศูนย์เสนอจะทำ ‘แฮมเบอร์เกอร์’ ให้เขาทาน แต่สุดท้าย อาหารที่ถูกยกออกมาวางตรงหน้าเขา กลับกลายเป็น ‘เกี๊ยวซ่า’

ขณะที่โอกุนิกำลังจะหลุดปากถามคุณลุงว่า “อันนี้ทำผิดใช่ไหมครับ” เขาก็นึกอายว่า ตนเองพยายามถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ป่วยอัลไซเมอร์อยู่แท้ๆ แต่กลับนำความคิดเดิมๆ ของคนในโลกปกติไปใส่พวกเขา แค่คุณลุงคุณป้าทำอาหารผิดเมนู ก็ไม่มีใครเดือดร้อนขนาดนั้นนี่นา

ในจังหวะนั้น เขาจึงได้ไอเดียว่าหากเปิดร้านอาหารที่สั่งอาหารอย่างหนึ่ง ได้อาหารอีกอย่างหนึ่ง คงจะดีไม่น้อย

เขาเก็บความฝันเล็กๆ นี้ไว้กับตัวถึง 5 ปี จนวันหนึ่งเขาป่วยเป็นโรคหัวใจและหมอสั่งให้หยุดงานถ่ายทำโทรทัศน์ การเปลี่ยนแปลงในชีวิตครั้งใหญ่ครั้งนั้นทำให้โอกุนิค่อยๆ เปิดกล่องความฝันของตนเองอีกครั้ง

ชายหนุ่มคนนี้ตั้งใจสร้างร้านอาหารแห่งหนึ่ง ที่จะทำให้คนเข้าใจโรคอัลไซเมอร์ดีขึ้น และสร้างสังคมที่ทำให้คนอยู่ร่วมกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้

เมื่อเปิดร้านอาหารในรูปแบบทดลองเพียง 3 วัน มีพนักงานเพียง 6 คน มีแขกที่มาใช้บริการเพียง 80 กว่าคน แต่สื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ นิตยสาร จาก 20 ประเทศทั่วโลก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อเมริกา สิงคโปร์ รวมถึงนิตยสารระดับโลกอย่าง Forbes ก็กล่าวถึงร้านอาหารเล็กๆ ร้านนี้

เมื่อโอกุนิทำ Crowdfunding รวบรวมเงินผู้บริจาค เขาสามารถหาเงินได้ถึง 4 ล้านบาท ภายในเวลาเพียง 24 วันได้

อะไรคือความสำเร็จของการสร้างธุรกิจเพื่อช่วยเหลือสังคมเช่นนี้

ไม่ให้ลูกค้ามาเพราะความสงสาร

ผมไม่ได้สร้างร้านนี้ขึ้นมาเพราะอยากช่วยเหลือสังคม

นั่นคือประโยคที่โอกุนิพูดเสมอๆ

เขาทำร้านนี้ขึ้นมาด้วยความรู้สึกตื่นเต้น ความรู้สึกสนุก และเขาก็อยากให้ลูกค้าที่มาร้านนี้ รู้สึกสนุกด้วยเช่นเดียวกัน

ร้านอาหารไม่ได้ตามสั่ง ร้านที่เสิร์ฟโดยผู้ป่วยอัลไซเมอร์
จานประทับตราโลโก้ร้าน เมื่อทานหมดแล้วเห็นลวดลาย ไม่ว่าใครก็เผลออมยิ้มออกมา
เครดิต : www.blog.akihiroyasui.com

หากเขาพร่ำร้องว่า “ทุกคนมาช่วยผู้ป่วยอัลไซเมอร์กันเถอะ” ลูกค้าอาจมาด้วยความรู้สึกสงสาร แต่เมื่อจ่ายเงินบริจาคให้แล้ว พวกเขาอาจไม่ได้เข้าใจผู้ป่วยดีขึ้น หรือประทับใจอะไรกับร้านอาหารร้านนี้เลย

โอกุนิจึงทำร้านของเขาให้อยู่ในระดับมาตรฐานทั่วไป อาหารต้องอร่อย โดยนำเสนอ 3 เมนู

เมนู ‘พิซซ่าตามใจฉัน’ มาจากความช่วยเหลือของร้าน Maison Eric Kayser ร้านขนมปังชื่อดังของฝรั่งเศส

เมนู ‘สตูว์แฮมเบอร์เกอร์’ มาจากร้าน Yoshinoya ร้านข้าวหน้าเนื้อชื่อดังของญี่ปุ่น

และเมนู ‘เกี๊ยวน้ำกุ้งทำมือ’ ก็ได้รับความช่วยเหลือจากร้าน Shinkyotei ร้านอาหารจีนสุดหรูในโตเกียว

ร้านอาหารไม่ได้ตามสั่ง ร้านที่เสิร์ฟโดยผู้ป่วยอัลไซเมอร์
ขนมโดรายากิ จากร้านวุ้นถั่วแดงโทรายะที่โด่งดัง
เครดิต : hojosha.co.jp

แม้พนักงานจะเสิร์ฟอาหารผิด แต่ลูกค้าก็ยังคงพอใจ เนื่องจากเมนูอื่นที่ยกมา ก็อร่อยเช่นกัน

อาหารทุกจานบอกส่วนผสม เพื่อให้ลูกค้าที่แพ้อาหารบางอย่างสามารถเลือกทานได้อย่างสบายใจ

บรรยากาศร้านก็ตกแต่งให้ดูเก๋ ขณะเดียวกันก็ผ่อนคลาย นั่งสบาย เป็นกันเอง

ใครจะมากับเพื่อนก็ได้ มาเดตก็ได้ นั่นคือสิ่งที่ผมอยากให้คนมาที่ร้านครับ

ไม่ใช่มาเพราะความสงสาร แต่มาเพราะอยากใช้บริการด้วยความรู้สึกตื่นเต้น รอคอยจริงๆ

ดึงเสน่ห์ออกมา

ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีปัญหาเรื่องความทรงจำ มีอาการขี้หลงขี้ลืม

สังคมอาจมองพวกเขาด้วยสายตาของความเป็นห่วง บางคนอาจรู้สึกว่าเป็นภาระ

นั่นเป็นเพราะในสังคมทั่วไปนั้นความผิดพลาดเป็นเรื่องไม่ดี การหลงลืมรายละเอียดอะไรบางอย่างเป็นความผิดมหันต์

แน่นอนว่าในร้านอาหารทั่วไป หากพนักงานจดออร์เดอร์ผิด หรือยกอาหารมาไม่ถูกต้องกับที่ลูกค้าสั่ง ลูกค้าย่อมไม่พึงพอใจแน่นอน

โอกุนิไม่ปิดบังความเป็นผู้ป่วยอัลไซเมอร์ แต่กลับทำให้พวกเขาเฉิดฉายเสน่ห์ในแบบของตนเองได้ ความขี้หลงขี้ลืมกลายเป็นเรื่องน่ารักๆ ได้ ในร้านอาหารที่ประกาศบอกคนไว้แล้วล่วงหน้าว่า “คุณอาจไม่ได้รับอาหารตามที่สั่ง

คุณยายบางคนก็เดินมาหาลูกค้าที่โต๊ะแบบงงๆ และถามลูกค้ากลับว่า “นี่ฉันมาทำอะไรตรงนี้นะ” ลูกค้าก็ต้องบอกว่า คุณยายมาจดออร์เดอร์อาหาร พร้อมช่วยชี้ทางให้คุณยายเดินกลับไปที่ห้องครัว

ร้านอาหารไม่ได้ตามสั่ง ร้านที่เสิร์ฟโดยผู้ป่วยอัลไซเมอร์
เครดิต : www.blog.akihiroyasui.com

บทสนทนาเหล่านี้และความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ที่กลายเป็นเสียงหัวเราะดังทั่วร้านนี้ กลับกลายเป็นเสน่ห์ที่ไม่มีร้านอาหารร้านอื่นทำได้ (หรือทำผิดเช่นนี้ได้)

โอกุนิไม่ได้พยายามแก้ไขหรือเอากฎเกณฑ์สังคมเข้าไปครอบคุณตาคุณยาย แต่กลับดึงจุดเด่นที่พวกเขามี มาเป็นคอนเซปต์สุดเก๋ของร้าน

เมื่อคุณตาคุณยายได้ใช้ชีวิตแบบที่พวกเขาเป็น เสน่ห์ตามธรรมชาติก็ค่อยๆ เผยออกมา และยิ่งทำให้ลูกค้าประทับใจ

ร้านอาหารไม่ได้ตามสั่ง ร้านที่เสิร์ฟโดยผู้ป่วยอัลไซเมอร์
เสียงหัวเราะทั้งในหมู่พนักงานเอง และกับลูกค้า
เครดิต : hojosha.co.jp
ร้านอาหารไม่ได้ตามสั่ง ร้านที่เสิร์ฟโดยผู้ป่วยอัลไซเมอร์
บรรยากาศอบอุ่นที่อาจหาไม่ได้ในร้านอาหารทั่วไปแบบนี้
เครดิต : hojosha.co.jp

สร้างความสุขให้ทุกคน

ในโลกธุรกิจทั่วไปบริษัทคำนึงถึงความสุข ความพึงพอใจ ของลูกค้าจากสินค้าและบริการก็เพียงพอ แต่เมื่อธุรกิจหนึ่งๆ ต้องการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาสังคม นอกจากลูกค้าแล้ว ยังมีคนที่บริษัทต้องคำนึงถึง นั่นคือคนในสังคมหรือคนที่พวกเขาเข้าไปช่วยเหลือนั่นเอง

กรณีร้านอาหาร ‘ไม่ได้ตามสั่ง’ นั้น มีคน 3 กลุ่มที่โอกุนิต้องนึกถึง

หนึ่ง ลูกค้าที่มาใช้บริการ

สอง ร้านอาหาร

และสาม ผู้ป่วยอัลไซเมอร์

เขาสร้างความสุขให้กับทุกคน

สำหรับลูกค้า เขามอบอาหารที่อร่อยเลิศรส บรรยากาศร้านอบอุ่น และบริการที่เป็นธรรมชาติ ชวนอมยิ้ม

สำหรับร้านอาหาร ด้วยคอนเซปต์ที่แตกต่างจากร้านอื่น ร้านอาหารก็มีผู้ให้ความสนใจและลูกค้าที่คอยติดตาม ไม่มีปัญหาเรื่องการโปรโมตร้านอีกต่อไป

ที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์

โอกุนิคำนึงถึงความรู้สึกของผู้ป่วยเหล่านี้ถึงที่สุด สำหรับพวกเขาแล้ว การหลงลืม คือความเจ็บปวด คนที่เคยชอบเล่นเปียโน ลืมวิธีอ่านโน้ต คนที่มีครอบครัวอบอุ่นกลับลืมความทรงจำที่เคยมีด้วยกันกับลูกๆ ไปเกือบหมดสิ้น

ร้านอาหารแห่งนี้จึงไม่พยายามทำให้ออร์เดอร์ผิด หรือพึงพอใจเวลาพนักงานเสิร์ฟผิด

โอกุนิไม่อยากให้คนหัวเราะเยาะผู้ป่วยอัลไซเมอร์ หรือเห็นอาการหลงๆ ลืมๆ นั้นเป็นเรื่องน่าขำ ทุกคนมีสิทธิ์ในการอยู่ในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีใครดีหรือเหนือกว่าใคร

สิ่งที่ท้าทายที่สุดในโปรเจกต์นี้คือ การพยายามไม่ตั้งใจให้เกิดความผิดพลาด สิ่งที่ร้านนี้ต้องการสร้างอย่างแท้จริงคือ ‘การสื่อสารกับคนที่เป็นอัลไซเมอร์’

เพราะฉะนั้น ทางร้านจึงพยายามอย่างเต็มที่เพื่อลดความผิดพลาดในการสั่งอาหาร ในครั้งแรกนั้นพนักงานจดออร์เดอร์อาหารผิดถึงร้อยละ 60 แต่โอกุนิก็พยายามปรับระบบ เช่น ให้ลูกค้ากรอกเมนูเอง จนลดระดับความผิดพลาดเหลือเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

โอกุนิระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการสร้างบรรยากาศที่คนสนุกกับการพูดคุยกันและกัน สื่อสารกัน หากทำผิดก็ให้อภัยกัน

นั่นคือสิ่งที่แตกต่างจากการคิดแบบธุรกิจทั่วไป หากคิดแบบปกติแล้ว ถ้าคอนเซปต์ร้านคือ ร้านอาหารที่ไม่ได้ตามสั่ง ทางร้านควรทำออร์เดอร์ให้ผิดเยอะๆ จะดีกว่า สนุกกว่า เป็นประเด็นมากกว่า คนพูดถึงเยอะกว่า แต่เพราะโอกุนิไม่ได้ต้องการสร้างกำไรเป็นหลัก แต่มุ่งให้คนได้สื่อสารกับคนอัลไซเมอร์ และเข้าใจพวกเขาอย่างแท้จริง เขาจึงไม่ได้ทำแบบนักธุรกิจทั่วไปเช่นนั้น

แต่สิ่งที่โอกุนิยึดมั่นและพยายามปกป้องคนอัลไซเมอร์นั้นก็กลับยิ่งทำให้คนประทับใจ และอยากเข้าใจคนอัลไซเมอร์จริงๆ

สรุป

กลับไปที่สาวน้อยจังหวัดแพร่ผู้อยากเสริมสร้างการท่องเที่ยวของจังหวัดตัวเอง ดิฉันก็คงต้องถามเธอว่า

หนึ่ง เธออยากถ่ายทอดจังหวัดแพร่ในแง่มุมไหน หรือปัญหาใดที่เธอต้องการจะช่วยแก้

สอง อะไรคือเสน่ห์ที่มีเฉพาะเมืองแพร่ เอกลักษณ์ของเมืองหรือชุมชน ที่สำคัญ อะไรที่จะทำให้ลูกค้ารู้สึกสนุก รู้สึกสนใจ หรือรู้สึกตื่นเต้น

สาม ไอเดียต่างๆ สามารถทำให้ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนักท่องเที่ยว พนักงาน ชาวบ้าน มีความสุขได้หรือไม่ ทำให้พวกเขามีความสุข ภูมิใจ ที่ได้ทำงานนั้นๆ หรือเปล่า

หากตอบสามข้อนี้ได้ หนึ่ง ไม่ขายความสงสาร แต่ทำให้ลูกค้ารู้สึกอยากมาจริงๆ สอง ชูเสน่ห์ที่ลูกค้าสนใจ สาม ผู้เกี่ยวข้องมีความสุข

ดิฉันก็เชื่อว่า ไอเดียธุรกิจนั้นๆ จะเป็นธุรกิจที่ทรงพลัง และสามารถช่วยเหลือสังคมได้อย่างแท้จริงค่ะ

ป.ล. ร้านอาหารไม่ได้ตามสั่งนี้ ไม่ได้เปิดประจำ แต่จัดเป็นอีเวนต์โดยส่วนใหญ่ ท่านสามารถติดตามข่าวสารได้ทางเพจ Facebook : ORDER.MISTAKES เลยค่ะ

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย