13 พฤศจิกายน 2017
11 K

ท่านเคยเห็นคนที่กวนๆ วันๆ เหมือนไม่ค่อยทำอะไร เอาแต่ขี่มอเตอร์ไซค์ซิ่ง หรือบางครั้งก็ลักเล็กขโมยน้อยบ้าง ซึ่งโดยมากเป็นคนที่สังคมตีตราว่า ‘ไม่ค่อยได้เรื่อง’ ไหมคะ

มีบริษัทหนึ่งที่ตั้งอกตั้งใจรับคน ‘ไม่ได้เรื่อง’ แบบนี้โดยเฉพาะ ชื่อบริษัท ‘ทามาโกะยะ’ ค่ะ

ทามาโกะยะ เป็นบริษัทรับทำและส่งเบนโตะในโตเกียว อาคารสีเหลืองสดใส ลายลูกเจี๊ยบเป็นจุดเด่นของบริษัทนี้ โดดเด่นแบบน่ารักเสียจนไม่น่าเชื่อว่าพนักงานส่วนใหญ่ที่นี่จะเป็นอดีตเด็กเกเรที่เคยยกพวกตีต่อยคนอื่นกันมาทั้งนั้น

บริษัททามาโกะยะ

ภาพ www.tamagoya.co.jp

โหงวเฮ้งท่านประธานขัดกับลวดลายน่ารักบนออฟฟิศมากๆ

อิซาสุกุ ซุกาฮาร่า

ภาพ www.tamagoya.co.jp

ภาพด้านบนเป็นภาพของผู้ก่อตั้งบริษัททามาโกะยะ… คุณอิซาสุกุ ซุกาฮาร่า

ในอดีต ซุกาฮาร่าเคยทำงานเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง เขาเห็นว่า พนักงานออฟฟิศแถวนั้นมักจะหาข้าวเที่ยงกินลำบากมาก ไม่ค่อยมีร้านจำหน่าย ถ้าเป็นร้านอาหารก็มีราคาแพงเกิน ซุกาฮาร่าจึงลาออกจากบริษัทมาทำธุรกิจขายข้าวกล่องราคาประหยัดขึ้นใน ค.ศ. 1975

ธุรกิจของเขาไปได้ดีมาก มีบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งที่ทำสัญญากับทามาโกะยะ โดยให้ทางบริษัทจัดส่งข้าวกล่องเป็นร้อยกล่องทุกวัน ซุกาฮาร่าก็ขยายกำลังการผลิต พยายามลดต้นทุน และหาทางทำกำไรทุกวิถีทาง จนวันหนึ่งเขาทำพลาด

พนักงานหลายสิบชีวิตของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งได้กินเบนโตะของทามาโกะยะเข้าไปแล้วเกิดอาการอาหารเป็นพิษ เรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ในญี่ปุ่นมาก เนื่องจากกระทบความปลอดภัยของประชาชน ซุกาฮาร่าถึงกับต้องปิดบริษัทเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อค้นหาสาเหตุของปัญหา และรีบหาทางแก้ไข

ในช่วง 1 สัปดาห์นั้นเป็นช่วงที่ซุกาฮาร่าปวดร้าวใจที่สุด ไหนจะเครียดเรื่องลูกค้าอาหารเป็นพิษ ไหนจะห่วงชื่อเสียงในอนาคต แต่ก็ยังมีปัญหาใหม่ๆ ประดังกันเข้ามาหาเขา

พนักงานส่วนใหญ่ตัดสินใจลาออกจากบริษัท เนื่องจากพวกเขาคิดว่าทามาโกะยะต้องอวสานแน่แล้ว รอบตัวซุกาฮาร่าแทบไม่มีใคร เหลือแต่พนักงานหยิบมือหนึ่ง พนักงานที่มีรอยแผลเป็นบนหน้าบ้าง โกนหัวเรียบบ้าง พนักงานเหล่านี้ล้วนเป็นจิ๊กโก๋มาก่อน

ในขณะที่ซุกาฮาร่ากำลังจะถอดใจนั้น หนึ่งในพนักงานจิ๊กโก๋เดินเข้ามาหาซุกาฮาร่าแล้วบอกว่า ลูกพี่อย่าเพิ่งยอมแพ้ เดี๋ยวผมจะเป็นคนไปก้มหัวขอโทษบริษัทต่างๆ เอง แววตาที่มุ่งมั่น เอาจริงเอาจัง ของเด็กผู้ชายคนนั้น ทำให้ซุกาฮาร่ามีพลังอีกครั้ง พวกเขาสองคนตระเวนไปขอโทษลูกค้า ส่วนคนอื่นๆ ก็เตรียมวัตถุดิบทำอาหารต่อไป

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ซุกาฮาร่ามองกลุ่มอดีตจิ๊กโก๋เหล่านี้ใหม่ จากกลุ่มที่เอาแต่เล่น ไม่ค่อยเป็นการเป็นงาน แต่เมื่อเกิดเหตุคับขัน พวกเขาเป็นกลุ่มเดียวที่ไม่หนีเอาตัวรอด แถมยังวิ่งตะลุยแก้ปัญหา และยิ่งมุ่งมั่นมากกว่าเดิมเสียด้วย

ซุกาฮาร่าค้นพบความสามารถพิเศษบางอย่างของเด็กๆ เหล่านี้ ที่แตกต่างจากเด็กเรียนเก่งทั้งหลาย พวกเขา ‘รักความท้าทาย’ ซุกาฮาร่าถูกชะตากับเด็กเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อบริษัทค่อยๆ ฟื้นฟูสถานะได้ ซุกาฮาร่าก็เริ่มรับเด็กที่เคยเป็นอันธพาลหรือเด็กที่เอาแต่ซิ่งมอเตอร์ไซค์เข้ามาอยู่ในบริษัทมากขึ้นเรื่อยๆ

พวกเขาเป็นคนที่มีพลังเยอะมาก หากชี้แนะอย่างถูกวิธี ซุกาฮาร่ากล่าว

ซุกาฮาร่าเปรียบนักเลงกับนักเรียนดีว่า เหมือนปลาที่ว่ายตามธรรมชาติ กับปลาในบ่อเลี้ยง ปลาเลี้ยงนั้น เคยชินกับการที่มีคนป้อนอาหาร หากเปรียบกับคน ก็เหมือนคนที่เดินตามกฎเกณฑ์ที่พ่อแม่หรือโรงเรียนวางไว้ การเคลื่อนไหวหรือพลังงานที่มีจึงไม่สูงนัก ในทางกลับกัน ปลาในธรรมชาตินั้นต้องว่ายไปหาอาหารเอง เปรียบเสมือนคนที่คิดและตัดสินใจทุกอย่างด้วยตัวเอง คล้ายกับเหล่าจิ๊กโก๋ของซุกาฮาร่า

จิ๊กโก๋เหล่านี้ล้วนไม่เป็นที่ต้องการของบริษัทอื่น เนื่องด้วยกิริยามารยาท ระดับการศึกษา หรือท่าทางการแสดงออก แต่เมื่ออยู่ในมือซุกาฮาร่า พวกเขาเปรียบเสมือนขุมทรัพย์

งานของบริษัททามาโกะยะเป็นงานที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสูง ขณะเดียวกัน ต้องใช้แรงมาก พนักงานต้องขนอาหารกล่องมากกว่าบริษัทอื่นโดยเฉลี่ย 2 เท่า นอกจากนี้ พนักงานส่งเบนโตะเจ้าอื่นมีหน้าที่แค่ส่งกล่องข้าวให้ปลายทาง แต่พนักงานทามาโกะยะต้องเข้าไปพูดคุยกับลูกค้าเพื่อเก็บข้อมูลว่าลูกค้าชอบอะไร และต้องไปเก็บกล่องข้าวพลาสติกกลับมาให้ครัวล้าง เรียกได้ว่าพวกเขาต้องทำหน้าที่ทั้งเป็นพนักงานขนส่ง พนักงานขาย และนักการตลาด เลยทีเดียว

แต่น่าแปลก ยิ่งงานหนักและท้าทายเท่าไร เหล่าจิ๊กโก๋ก็ยิ่งชอบ

พนักงานบริษัท

ภาพ www.tamagoya.co.jp

ตอนผมเริ่มทำงานที่นี่ เมื่อเข้าวันที่ 3 ผมก็ไม่อยากไปที่ไหนแล้วครับ งานมันมันมาก พนักงานหนุ่มคนหนึ่งตอบ

ระบบของซุกาฮาร่าคือ การตั้งเป้าหมายและให้อำนาจตัดสินใจเต็มที่ เขาแบ่งลูกน้องเป็นทีม ทีมละ 7 – 8 คน มีหัวหน้าทีมคอยควบคุม แต่ละทีมจะได้รับผลตอบแทนตามยอดที่ทำได้ หน้าที่ของทุกคนคือ ไปส่งข้าวกล่องให้ได้ครบตามจำนวนเป้า ไม่ให้มีกล่องข้าวขาดหรือเกิน ขณะเดียวกัน ต้องส่งตรงเวลา

พนักงานส่งข้าวกล่อง

ภาพ   www.tamagoya.co.jp

พนักงานทามาโกะยะรู้สึกว่าพวกเขากำลังเล่นเกม หาใช่ทำงานไม่ ทุกวัน พวกเขานึกสนุกกับการหาเส้นทางขับรถใหม่ๆ ให้เร็วกว่าเดิม หรือลุ้นว่าจะสามารถทำครบตามเป้าได้หรือไม่ ใครทำงานได้ดีอาจได้ปรับตำแหน่งขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีม แม้อายุจะน้อยกว่าก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เกิดความอิจฉาริษยา เพราะทุกคนชินกับเรื่องแบบนี้ตั้งแต่เคยเป็นแก๊งซิ่งหรือแก๊งนักเลงกันมาแล้ว

ข้อดีของการรับจิ๊กโก๋มาทำงาน มีสามข้อ ซุกาฮาร่ากล่าว

ประการแรก พวกเขารู้จักล้มแล้วลุก เมื่อเจอปัญหาหรืออุปสรรคก็ไม่ย่อท้อ แม้คนอายุน้อยกว่าขึ้นมาเป็นหัวหน้า ก็ไม่ถอดใจ เพราะเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับพวกเขาแล้ว มีแต่จะทำให้พวกเขาฮึดและพยายามมากขึ้นเพื่อจะได้ก้าวมาเป็นหัวหน้า

ประการที่สอง พวกเขาหัวดี ในการส่งเบนโตะ มีเส้นทางขับรถซอกแซก เปลี่ยนแปลงบ่อย แต่เหล่าจิ๊กโก๋ก็ทำได้ดี ในทางกลับกัน หากเป็นประเภทเด็กเรียนมาทำงาน พวกเขาจะเคยชินกับการได้รับคำสั่ง หรือตั้งใจทำตามที่เจ้านายสั่งมากเกินไป เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน จะแก้ปัญหาไม่ค่อยได้

ประการที่สาม พวกเขาคิดถึงลูกค้า เด็กจิ๊กโก๋เหล่านี้ไม่ค่อยได้รับคำชมเท่าไร เมื่อลูกค้าชม หรือแค่กล่าวคำว่า “ขอบคุณมากนะ” พวกเขาจะรู้สึกดีใจมาก บางคนถึงขั้นทะเลาะกับเจ้านายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ลูกค้าเลยทีเดียว

ตอนแรกผมก็ทำงานที่นี่ไปเรื่อยๆ แต่วันหนึ่งตอนผมไปยกกล่องข้าวกลับ คุณป้าที่บริษัทหนึ่งเดินออกมาส่งผม ยิ้มให้ผม เธอบอกว่า วันนี้กับข้าวอร่อยมาก พร้อมโค้งและกล่าวคำขอบคุณ ผมนี่แทบจะตัวลอยกลับบ้านเลย พนักงานคนหนึ่งกล่าว

ซุกาฮาร่าชี้ให้เด็กๆ เห็นความสำคัญของงาน และให้เด็กๆ ตระหนักถึงพลังของคำขอบคุณของลูกค้าอยู่เสมอ มีการเวียนจดหมายขอบคุณจากลูกค้าให้พนักงานได้อ่านกันโดยทั่วถึง

สิ่งเหล่านี้แทบจะไม่เกิดขึ้นเลยกับเด็กที่เอาแต่เรียน พวกเขาจะคอยระวังว่า เจ้านายจะพอใจหรือไม่พอใจผลงานของตนหรือเปล่า

นอกจากนี้ ในการคัดเลือกพนักงาน ซุกาฮาร่าก็มีเกณฑ์ในการรับพนักงานใหม่ที่แปลกจากบริษัททั่วไปเช่นกัน เขาให้ความสำคัญกับการสัมภาษณ์มาก หากมีผู้สมัครคนใดพูดทำนองลบๆ ว่า ตอนทำงานที่บริษัทก่อน ผมก็พยายามในแบบของผมแล้ว แต่ไม่มีใครเห็นคุณค่าเลย ซุกาฮาร่าจะไม่รับเด็ดขาด

หรือคำถามธรรมดาๆ อย่าง ทำไมคุณถึงมาสมัครงานที่บริษัทนี้

ซุกาฮาร่าจะโปรดปรานผู้สมัครที่ตอบว่า อยากฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแกร่งขึ้น หรือได้กินข้าวเที่ยงฟรีเพราะมักจะเป็นเด็กใสๆ ไม่คิดอะไรซับซ้อน สอนงานง่าย

คนคนหนึ่ง หากอยู่ในองค์กรหนึ่งอาจเป็นแค่คนที่ก่อปัญหา หรือไม่เอาถ่าน แต่พอไปอยู่อีกองค์กร และมีการปลูกฝังให้เห็นคุณค่าการทำงาน หรือชี้แนะให้ดี ก็อาจกลายเป็นอัญมณีในองค์กรนั้นก็เป็นได้

ในการทำการตลาดนั้น หลายบริษัทมุ่งเน้นแต่ทำการตลาดกับลูกค้า พยายามเอาอกเอาใจลูกค้าต่างๆ นานา แต่จริงๆ แล้ว คนกลุ่มแรกที่องค์กรควรทำการตลาดด้วยคือ พนักงาน ภาษาการตลาดเรียกการทำการตลาดกับพนักงานนี้ว่า การตลาดภายใน

คุณซุกาฮาร่าอ่านเกมขาดมาก เขาหาวิธีวางโครงสร้างองค์กรเพื่อจูงใจพนักงาน เขาพยายามทำให้พนักงานรู้สึกมีความสุขและซาบซึ้งกับคำขอบคุณของลูกค้า เขาออกแบบงานที่ท้าทายเพื่อให้พนักงานรู้สึกสนุกกับมัน ผลก็คือ พนักงานทุกคนกระตือรือร้นและตั้งใจทำงานเพื่อองค์กร นั่นส่งผลไปยังสินค้าและบริการที่ดีของร้านทามาโกยะนั่นเอง

ด้วยพลังของการตลาดภายใน (ที่ขับเคลื่อนโดยเหล่าจิ๊กโก๋เหล่านี้) ทามาโกยะสามารถจำหน่ายเบนโตะได้วันละหกหมื่นกว่ากล่อง และทำรายได้กว่า 9 พันล้านเยนต่อปี ครองอันดับหนึ่งในตลาดจัดส่งอาหารกล่อง

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Photographer