“จงออกแบบเก้าอี้

โจทย์นี้ชวนให้พวกเราคิดเพลินๆ ว่า จะออกแบบเก้าอี้ทรงไหน ลายใด ใช้วัสดุสีอะไร จะบุกำมะหยี่ หรือทาสีดำไหม

แต่หากถามคุณนาโอโตะ ฟุกุซาว่า ดีไซเนอร์ชื่อดังระดับโลก และที่ปรึกษาด้านดีไซน์ของ MUJI แล้ว เขาไม่ได้เริ่มจากเก้าอี้เหมือนพวกเรา

คุณนาโอโตะจะเริ่มจากการเดินวนไปวนมาบริเวณ ‘บรรยากาศ’ รอบ ๆ ที่ที่ควรเป็นที่ตั้งของเก้าอี้นั้น

เขาจะคิดว่าคนนั่งจะเดินเข้ามานั่งจากฝั่งซ้าย หรือฝั่งขวาของเก้าอี้

เขาจะจินตนาการต่อว่าคนนั่งคนนั้นมีเสื้อแจ็กเก็ตมาด้วยหรือเปล่า แล้วคนคนนั้นจะถอดเสื้อไหม จะแขวนกับเก้าอี้หรือเปล่า และแขวนกับตรงไหน

เขาจะพยายามมองหา ‘บรรยากาศ’​ และออกแบบเก้าอี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศนั้น

ทำอย่างไรให้เก้าอี้นั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับบรรยากาศ โดยไม่แหวกหรือขัดแย้ง

คุณนาโอโตะพูด …เหมือนเขากำลัง ‘เห็น’ บรรยากาศ (Ambient) อยู่รอบๆ ผลิตภัณฑ์ที่เขาจะดีไซน์

 

ดิฉันได้มีโอกาสไปฟังคุณนาโอโตะเล่าเรื่องปรัชญาการออกแบบมูจิในงานเปิดตัว flagship store เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา

What is MUJI?

คือชื่อของงานเสวนาครั้งนี้

ในสายตาของคนส่วนใหญ่แล้ว หัวใจของมูจิก็คือความเรียบง่าย

แต่จริงๆ แล้ว มูจิลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น ขณะเดียวกัน ก็ธรรมดากว่านั้น

ขอต้อนรับสู่โลกแห่งมูจิค่ะ

 

Harmony

คุณนาโอโตะแสดงภาพหนึ่งให้พวกเราดู

ภาพแรก เป็นภาพจิ๊กซอว์

ภาพที่สองคือ ภาพจิ๊กซอว์อื่นๆ แล้วมีช่องโหว่ตรงกลาง

เขาถามพวกเราว่า จะมองจิ๊กซอว์หรือจะมองช่องที่อยู่ตรงกลาง

ความแตกต่างคือ แบบแรกเป็นการพุ่งมองไปที่ผลิตภัณฑ์ หากเห็นแบบนี้ ดีไซเนอร์ก็จะคิดว่าออกแบบผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นอย่างไรให้ดีที่สุด

แต่แบบที่สอง คือการมองว่าจิ๊กซอว์ตัวอื่นๆ สร้างรูโหว่ตรงกลาง จะออกแบบอะไรมาเติมเต็มช่องว่างตรงนี้ให้ได้พอดี

กล่าวคือ จุดเริ่มต้นดีไซน์แบบมูจินั้นไม่ได้มาจากการมองหาสินค้าที่จะออกแบบ แต่จะเฟ้นหาช่องโหว่ต่างๆ เช่นนี้ในชีวิตประจำวันของคน และเข้าไปเติมเต็มช่องว่างนั้น เมื่อเราวางสินค้ามูจิ มันจะไม่ได้ลอยเด่นออกมา แต่จะกลมกลืนไปกับบรรยากาศรอบ ๆ

เมื่อใช้ชีวิตมาสักระยะ ผมก็เริ่มเห็นว่า ดีไซน์ ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้คนประทับใจ ผมว่าดีไซน์ที่เป็นตัวกระตุ้นกิเลสตัณหาคนนั้นพูดมากเกินไป ผมเลยเริ่มไม่พูดว่าใครเป็นคนออกแบบ การที่เราเห็นว่าความเป็นตัวตนของดีไซเนอร์จะออกมาในผลงานนั้น มันก็เหมือนอัตตา

นี่เป็นสาเหตุที่มูจิไม่เคยออกมาประกาศว่า นาโอโตะ ฟุกาซาว่า เป็นผู้ออกแบบเครื่องเล่นซีดีติดผนังสุดเก๋นั้น เช่นเดียวกับสินค้ามูจิตัวอื่นที่ดีไซเนอร์ชื่อดังระดับโลกออกแบบ หากพลิกฉลากสินค้ามูจิดู ก็จะไม่มีการเขียนว่าออกแบบโดยใครเช่นเดียวกัน

ลดอัตตา และกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อม

คุณนาโอโตะเปรียบเทียบปรัชญาการดีไซน์ของเขากับกลอนไฮกุไว้อย่างน่าสนใจ

กวีไฮกุจะไม่พรรณนาสภาพจิตใจหรืออารมณ์ของเขา แต่จะพรรณนาถึงภาพทิวทัศน์หรือปรากฏการณ์ต่างๆ แทน ดังเช่นกลอนไฮกุชื่อดัง สระโบราณ กบกระโจนลงไป เสียงของน้ำ” ผู้อ่านก็จะจินตนาการและสัมผัสได้ถึงความสงบเงียบนั้น

มูจิ จึงออกแบบให้ ‘คน’ เป็นตัวเอกในการใช้ชีวิต ไม่ใช่สินค้า ผลิตภัณฑ์เป็นแค่ทิวทัศน์หรือพระรอง ที่คอยสนับสนุนชีวิตของพระเอกคนนั้นเท่านั้น ดีไซน์ของมูจิจึงเรียบง่าย ไม่โดดเด่นเกินไป แต่แฝงด้วยความใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ นั่นเอง

 

Micro Consideration: ใส่ใจเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ

เมื่อคุณนาโอโตะเห็นบรรยากาศรอบๆ ของสิ่งนั้น เข้าใจพฤติกรรมของคนใช้แล้ว เขาก็จะออกแบบสินค้าที่ไม่ขัดกับการเคลื่อนไหวของคน เช่น

เมื่อออกแบบหม้อหุงข้าว เขาเห็นปัญหาหนึ่ง คือคนไม่รู้จะวางทัพพีตักข้าวไว้ตรงไหน วางไว้ตรงถ้วยข้างๆ เอาไปเสียบกลับไว้ที่อื่น หม้อหุงข้าวบางรุ่นมีที่เสียบอยู่ด้านข้าง แต่คุณนาโอโตะมองว่าการเคลื่อนไหวของร่างกายคนนั้นยังไม่ลื่นไหลดีที่สุด

เขาจึงออกแบบหม้อหุงข้าวที่ตรงฝาด้านบนมีจะงอยยื่นออกมาเล็กน้อย ให้คนวางที่ตักข้าวได้ ตักข้าวเสร็จ มือซ้ายถือชามข้าว มือขวาปิดฝาหม้อ แล้วก็วางทัพพีได้เลย

www.muji.com/jp/

www.muji.us

Flow การตักข้าวของคน   Source: Naoto Fukasawa

ความใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แม้เป็นจุดที่เล็กที่สุดนี้ มูจิเรียกว่า ‘Micro Consideration’ กล่าวคือ ใส่ใจในระดับไมโคร แม้ผู้บริโภคไม่รู้รายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ เหล่านี้ แต่พวกเขาก็จะรู้สึกได้ว่า สินค้ามูจิ ‘ใช้ง่าย’

 

ความสุขแบบธรรมดา

คุณนาโอโตะบอกว่า มันยากที่จะกล่าวว่า มูจิ ดียังไง

ผมได้รับคำถามบ่อยๆ ว่า อะไรคือคุณค่าของมูจิ มูจิดียังไง ผมเองก็ตอบยากนะ แต่ผมจะบอกว่า… แต่ถ้าไม่มีมูจิ คุณก็จะลำบากใช่ไหมล่ะ

นั่นคือ คุณค่าของมูจิ

ดิฉันประทับใจตอนที่คุณนาโอโตะเล่าเรื่องโปรเจ็ค MUJI To Go

MUJI To Go เป็นคอลเลกชันสินค้ามูจิที่เกี่ยวกับการเดินทาง เช่น กระเป๋าเดินทาง ขวดเครื่องสำอาง เสื้อแจ็กเก็ตผ้าร่ม

www.muji.com/th/mujitogo

สินค้าที่คุณนาโอโตะยกตัวอย่างขึ้นมาคือ ที่ตากผ้าเล็กๆ ขนาดพกพาอันนี้

www.muji.net

สารภาพตามตรงว่า ตอนแรกที่ดิฉันเห็นดิฉันก็งงว่าทำไมเราต้องเอาที่ตากผ้าไปด้วยเวลาเที่ยว แต่คุณนาโอโตะก็เฉลยว่า

สมมติว่าพวกเราไปเที่ยว…ที่ไหนดี…เอาภูเก็ตก็แล้วกัน เมื่อลากกระเป๋าเข้าห้อง ถอดถุงเท้าซัก

“เปิดกระเป๋าเดินทาง หยิบเอาที่ตากผ้านี้มาแขวนตรงระเบียงเพื่อตากถุงเท้า ระหว่างตาก มองออกไป เห็นหาดทรายกับทะเล มีความสุขออก

แนวคิดของ MUJI To Go คือ การนำชีวิตประจำวันธรรมดาๆ ติดตัวไปในสถานที่พิเศษที่เราเดินทางไปด้วย มูจิจึงออกแบบแผ่นรองซักผ้าเล็กๆ ที่ตากผ้าเล็กๆ เสื้อกัน UV เบาๆ ให้คนพกติดตัวไปออกกำลังกาย ไปซักผ้า ไปทำกิจกรรมต่างๆ ที่ตนเองทำเป็นปกติในชีวิตประจำวันได้

ความสุขของผู้ใช้มูจิ จึงไม่ใช่ความสุขจากการได้ทำอะไรหวือหวาหรือลองอะไรแปลกใหม่ แต่เป็นความสุขเรียบง่าย ธรรมดาๆ ที่สัมผัสได้จากการใช้ชีวิตประจำวันในแต่ละวันนั่นเอง

 

 

เราเรียนรู้อะไรจากมูจิและคุณนาโอโตะ?

คุณนาโอโตะ ฟุกาซาว่า ไม่ได้บอกให้พวกเราออกแบบสินค้าให้เรียบง่ายแล้วจะดี

เราเห็นบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมรอบๆ ผลิตภัณฑ์นั้นไหม

เราได้คิดถึงผู้ใช้…ตลอดจนการเคลื่อนไหวของพวกเขามากแค่ไหน

ถ้าต้องออกแบบเก้าอี้ คุณนาโอโตะไม่ได้บอกให้พวกเรากระโจนไปวาดเก้าอี้ แต่ให้ลองเดินแบบผู้ใช้เดิน นั่งแบบผู้ใช้จะนั่ง สัมผัสการเคลื่อนไหว มองเห็นสิ่งรอบๆ ก่อนจะลงมือออกแบบ

นั่นจึงจะสร้างดีไซน์ที่ดี ดีไซน์ที่ใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และสร้างความสุขแบบธรรมดาๆ ที่ผู้ใช้หยิบใช้เมื่อไรก็มีความสุข แบบสินค้ามูจินั่นเอง

ขอขอบพระคุณ MUJI Thailand ที่จัดงานดีๆ ให้ไอเดียและแรงบันดาลใจพวกเราเช่นนี้ และให้โอกาสดิฉันได้พบดีไซเนอร์ระดับโลกอย่างคุณนาโอโตะค่ะ

 

Source:

https://www.muji.com/jp/flagship/huaihai755/archive/fukazawa.html 

http://globe.asahi.com/feature/side/2017020200004.html 

NAOTO FUKASAWA (2014) (หนังสือ)

 

อ่านเพิ่มเติม:

ความมั่งคั่งรูปแบบใหม่” โดย Naoto Fukasawa

https://www.muji.com/th/compactlife/column002.html

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย