เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันพานิสิต MBA จุฬาฯ ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น

ธีมปีนี้คือ ‘การทำธุรกิจที่ยั่งยืน’

เผอิญวันที่ดิฉันเดินทางมาถึงญี่ปุ่นนั้นเป็นวันที่ คิริน คิกิ นักแสดงอาวุโสชื่อดังของญี่ปุ่นเสียชีวิตพอดี

บริษัทญี่ปุ่น

ภาพ: jin115.com

คิกิแสดงหนังและละครหลายเรื่อง เช่น Like Father, Like Son หรือ Our Little Sister หรือเรื่อง Shoplifters ส่วนใหญ่บทที่เธอเล่นหนีไม่พ้นบท ‘คุณยาย’

คิกิเริ่มรับบทคุณยายตอนเธออายุเพียง 29 ปี ในช่วงนั้นคิกิเล่นบทเป็นคุณยายเอะอะมะเทิ่ง และกลายเป็นบทที่ทำให้บรรยากาศในหนังดูสนุกสนานและอบอุ่น หลังจากนั้น คนดูก็ชินกับตัวละครคุณยายคิกิไปแล้ว

ในเมืองไทย บทคุณยายหรือแม่นางเอกมักตกเป็นของดาราที่เคยเล่นเป็นนางเอกสมัยสาวๆ มาก่อน  

แต่จะมีนักแสดงสักกี่คนที่ได้รับบทคุณยายตั้งแต่ยังสาว แล้วก็ยังได้รับบทคุณยายนี้มาอย่างต่อเนื่องตลอดเกือบ 50 ปีของชีวิตนักแสดง

ที่สำคัญ เธอเป็นนักแสดงที่ผู้ชมรักและกล่าวถึงอย่างชื่นชม

เรื่องราวของคิริน คิกิ เกี่ยวข้องอะไรกับการดูงานในครั้งนี้และการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน?

ทั้งสามบริษัทที่ดิฉันและนิสิต MBA ไปดูงานนั้นเป็นบริษัทที่รับบท ‘คุณยาย’ หมดเลย

กล่าวคือ ทุกบริษัทที่อยู่ยืนยาว ต่างมุ่งมั่นทำ ‘บท’ ของตนเองอย่างเต็มที่ ให้ดีที่สุดในแบบตัวเอง

ร้านชา Fukujuen ร้านชาชื่อดังในเมืองเกียวโต ก่อตั้ง ค.ศ. 1790 ขายชามา 228 ปีแล้ว

บริษัทญี่ปุ่น

ภาพ: www.google.co.jp

ร้านชา Fukujuen เริ่มจากการค้าส่งใบชา จากนั้นเขยิบมาเปิดร้านขายชาให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง ในปัจจุบัน Fukujuen ส่งใบชาส่วนหนึ่งให้บริษัท Suntory ไปแปรรูปเป็นชาบรรจุขวดพลาสติก เพื่อให้วัฒนธรรมการดื่มชาสามารถแทรกซึมเข้าไปในชีวิตผู้คนได้ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน กำไรที่ได้จากการขายชาใส่ขวด บริษัทก็นำไปลงทุนสร้างร้าน Flagship Store ขึ้น เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมการดื่มชาให้กับผู้คน

ในร้านนี้ ลูกค้าสามารถมาลองบดผงชาเขียว มาเรียนรู้วิธีชงชาชนิดต่างๆ ให้อร่อยที่สุด มาชิมอาหารฝรั่งเศสที่มีส่วนผสมจากชาเขียวอย่างลงตัว และได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของชา

ท่านประธานเล่าให้พวกเราฟังว่า

“อย่าไปคิดเรื่องการทำกำไรให้ได้มาก ๆ สิ่งสำคัญที่เราต้องตระหนักเสมอ คือการสร้างคุณค่าเพื่อผู้อื่น อย่างในกรณีของผม พวกเราบริษัท Fukujuen คิดเสมอว่า จะทำอย่างไรให้วัฒนธรรมการดื่มชา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอันงดงามของญี่ปุ่นมาตั้งแต่ 1 พันปีก่อนนี้ ยังคงอยู่ต่อไป”

นั่นอาจเป็นสาเหตุที่ท่านประธานไม่ได้ขยายไปทำธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากชามากนัก เพราะท่านยังคงเห็นว่า บริษัทของท่าน เกิดขึ้นเพื่อรักษาวัฒนธรรมโบราณอายุนับพันปีนี้นั่นเอง

ส่วน ร้าน Eirakuya ร้านที่จำหน่ายผ้าฝ้ายอเนกประสงค์ (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Tenugui) ก็ขายผ้าเช่นนี้มาตั้งแต่ ค.ศ.​ 1615 (เกิน 400 ปี!)

บริษัทญี่ปุ่น

ภาพ: www.eirakuya.jp

ขายแต่ผ้าอย่างเดียว…

ปัจจุบัน เมื่อคนญี่ปุ่นซื้อผ้าขนหนูถูกๆ ที่ทำในจีน ร้าน Eirakuya ก็ตัดสินใจใช้เส้นด้ายอย่างดีในการทอผ้า ปรับลวดลายต่างๆ ที่ยังสะท้อนความเป็นญี่ปุ่น แต่เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เช่น สาวกิโมโนตีกอล์ฟ สาวกิโมโนเล่นสกี หรือสกรีนผ้าด้วยสีสันที่สดใสมากขึ้น

บริษัทญี่ปุ่น

ภาพ: books.rakuten.co.jp

ด้วยความน่ารักชวนอมยิ้มเช่นนี้ ลูกค้าไม่ได้ซื้อผ้า Eirakuya เพื่อใช้เองอย่างเดียวเหมือนในอดีตแล้ว แต่ยังซื้อเป็นของฝากฝากคนอื่นด้วย ทางร้านเองก็คิดหาวิธีแปลงผ้าเหล่านี้ให้กลายเป็นหมวกบ้าง ผ้าพันคอบ้าง เพื่อให้คนใช้ผ้าผืนนี้ได้อย่างอเนกประสงค์จริง ๆ

บริษัทญี่ปุ่น บริษัทญี่ปุ่น

ภาพ: www.eirakuya.jp

เพื่อให้คนรุ่นใหม่ยังเห็นความสำคัญของผ้า Tenugui ท่านประธานปัจจุบัน (ทายาทรุ่นที่ 14) สกรีนลวดลายบนผ้า Tenugui ผืนยาวนับสิบเมตร แล้วนำผ้านั้นมาจัดแสดง เช่น นิทรรศการใบไม้เปลี่ยนสี ก็มีผ้า Tenugui เป็นลายใบเมเปิลค่อย ๆ เปลี่ยนสี

บริษัทญี่ปุ่น

ภาพ: eirakuya.shop-pro.jp

วิธีการค่อยๆ สกรีนผ้าทีละส่วนๆ เช่นนี้ทำให้ลวดลายบนผ้าเสมือนจริงกว่าการพิมพ์ลายบนผ้า ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาชมงานนิทรรศการนี้ล้วนตื่นตากับความงดงามของผ้า Tenugui ผ้าที่ผลิตขึ้นแบบภูมิปัญญาญี่ปุ่น

เทศกาลตุ๊กตาดารุมะผ่านผ้า Tenugui

บริษัทญี่ปุ่น

ภาพ: eirakuya.shop-pro.jp

ส่วนบริษัทที่ 3 ก็น่าสนใจมาก บริษัท Hardlock Industry Co.,Ltd. ผู้ผลิตน็อตสำหรับรถไฟชินคันเซ็น เครื่องบิน สะพาน ตลอดจนแท่นขุดเจาะน้ำมัน

ที่น่าสนใจ เพราะตลอด 43 ปีที่ทำธุรกิจมา บริษัทนี้ขายแต่ ‘น็อต’ เพียงอย่างเดียว

สโลแกนของบริษัทนี้คือ น็อตที่ไม่มีทางหลวม

ด้วยดีไซน์แบบพิเศษ ไม่ว่าเกิดแรงสั่นสะเทือนอย่างไร น็อตที่ยึดวัตถุไว้จะไม่มีทางหลุด

บริษัทญี่ปุ่น

ภาพ: www.funaisoken.co.jp

ท่านประธานบอกว่า มีลูกค้าหรือเพื่อนๆ ท่านเคยชวนให้ท่านทำอะไหล่แบบอื่นด้วย แต่ท่านยืนยันว่าอยากจะทำน็อตที่มีอยู่นี้ให้ดีที่สุด

แม้จะทำน็อตอย่างเดียว แต่บริษัท Hardlock Industry ก็มียอดขายปีละกว่า 2 พันล้านเยนเลยทีเดียว (ประมาณ 700 ล้านบาท)

ประธานบริษัทรถไฟ JR ถึงกับเคยบอกว่า “หากไม่มีบริษัท Hardlock เราอาจไม่มีรถชินคันเซ็นที่วิ่งได้เร็วและปลอดภัยอย่างทุกวันนี้”​

บางครั้ง เวลาเราเห็นคนอื่นประสบความสำเร็จ โดดเด่น เราก็นึกอยากเป็นแบบคนนั้นคนนี้บ้าง

แต่ทุกคน ทุกบริษัท ในบทความนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าทุกคนล้วนแตกต่าง และสามารถจะโดดเด่นในแบบของตัวเอง ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างประโยชน์และทำให้ผู้คนมีความสุขได้ในแบบของตนเองได้

คุณยายคิกิทำให้ผู้คนหัวเราะและยิ้มไปกับบทคุณยายของเธอในหนังทุกๆ เรื่อง

ร้านชา Fukujuen ก็มุ่งมั่นสืบทอดวัฒนธรรมการดื่มชาให้อยู่คู่กับสังคมญี่ปุ่นต่อไป

ร้าน Eirakuya สนุกกับการออกแบบลายใหม่ๆ เพื่อให้ผู้คนตื่นตาตื่นใจกับผ้า Tenugui และหลงรักผ้าผืนนั้นๆ

บริษัท Hardlock Industry มุ่งทำน็อตที่ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด เพื่อบริษัทอื่นๆ และที่ผ่านมายังไม่เคยมีลูกค้าบริษัทไหนเคลมเรื่องสินค้าเสียหายหรือทำให้เกิดอุบัติเหตุเลย

ทำอะไรทำให้ถึงที่สุด เพราะคู่แข่งที่ดีที่สุดของเราคือตัวเราเอง

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย