หลังจากดิฉันบรรยายเรื่องการตลาดญี่ปุ่นแก่ผู้ประกอบการรายย่อย มีผู้ชายคนหนึ่งเดินเข้ามาถามดิฉันด้วยสีหน้าเหนื่อยล้าว่า “ผมยังควรทำสินค้านี้ต่อไปหรือเปล่า”

สินค้าของเขาคือเนื้อปลาอบกรอบที่ไม่ใส่ผงชูรส เขามีความฝันอยากเห็นเด็กไทยทานขนมที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ใส่ผงชูรสหรือสารปรุงแต่งมากเกินไป แต่เมื่อผลิตสินค้าออกมาจริงๆ ลูกค้ากลับบอกเขาว่าไม่อร่อย เขาพูดด้วยเสียงน้อยใจว่า “หรือผมมาผิดทาง ทั้งที่ผมอยากทำสินค้าดีๆ เพื่อลูกค้า ผมกลับไปทำให้มันอร่อยเหมือนเดิมดีไหม หรือเลือกส่งออกไปญี่ปุ่นดี รสชาติน่าจะถูกปากคนญี่ปุ่น”

ดิฉันเลือกเล่าเรื่องผู้ผลิตรองเท้าเล็กๆ รายหนึ่งให้เขาฟัง ก่อนบอกคำตอบของตัวเองค่ะ

รองเท้าที่ทำให้ลูกค้าน้ำตาไหล

“ฉันมักจะวางรองเท้าคู่นี้ไว้ข้างเตียงก่อนนอน  ตื่นเช้ามาจะได้ใส่เดินทุกวัน เป็นรองเท้าที่วิเศษจริงๆ

“ขอบพระคุณที่ดูแลดิฉันเป็นอย่างดี น้ำตาฉันจะไหลจริงๆ รองเท้าอุ่นมากจนดิฉันถึงกับใส่นอน ดิฉันมีความสุขเหลือเกินที่สามารถกลับมาใส่รองเท้าได้อีกครั้ง”

จะมีร้านรองเท้าร้านไหน ที่ได้รับคำขอบคุณขนาดนี้…

เท่านั้นไม่พอ มีคุณยายท่านหนึ่งเดินไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็น แต่เธอเห็นเพื่อนๆ ใส่รองเท้าสีสวยๆ เธอจึงสั่งรองเท้าสีชมพูอ่อนมาบ้าง จากนั้น ทุกวันเธอเฝ้าอธิษฐานก่อนนอน ขอให้เธอกลับมาเดินได้อีก เพื่อจะได้ลองใส่รองเท้าสีหวานคู่นั้น

เมื่อผ่านไปสักระยะใหญ่ คุณยายลองทำกายภาพ เธอพบว่าเธอสามารถเดินได้จริงๆ เธอเดินไปเข้าห้องน้ำด้วยตัวเธอเองได้แล้ว

จะมีร้านรองเท้าร้านไหน สร้างปาฏิหาริย์ให้ลูกค้าได้ขนาดนี้…

นี่คือเสียงของลูกค้าที่อุตส่าห์เขียนจดหมายส่งมาชมผลงานรองเท้าของบริษัท Tokutake-sangyo (徳武産業) ปีละพันๆ ฉบับ น่าแปลกที่เดิมทีบริษัทนี้ไม่ได้ทำรองเท้า แต่ผลิตถุงมือยางและสลิปเปอร์

วันหนึ่ง โซโก ทาคาโอะ (十河孝男) ประธานบริษัทพบเพื่อนที่ทำบ้านพักคนชรา เพื่อนของโซโกค้นพบว่า สาเหตุที่ผู้สูงอายุเดินสะดุดล้มบ่อยๆ ทั้งที่เดินบนพื้นเรียบ เป็นเพราะรองเท้าไม่ดี เขาลองติดต่อบริษัททำรองเท้าเจ้าใหญ่หลายราย แต่ทุกรายปฏิเสธ เพราะรายละเอียดเยอะ ยากเกินกำลัง

เมื่อโซโกได้ยินเช่นนั้น แทนที่จะท้อ เขากลับคิดว่า นี่แหละคือสิ่งที่บริษัทเล็กๆ อย่างเขาจะทำได้ เขาลุยไปในทางที่คนตัวใหญ่ๆ ไม่กล้าเดิน… และหันมาทุ่มเทพัฒนารองเท้าสำหรับคนชราเต็มที่ เขามอบหมายให้ลูกน้องดูแลธุรกิจเดิม ส่วนตัวเขากับภรรยา หันมาพัฒนารองเท้าสำหรับผู้สูงอายุที่ใส่แล้วเดินง่าย ไม่ล้ม

โซโกและภรรยาเดินทางไปพูดคุยกับผู้สูงอายุกว่า 500 คน เสียงของลูกค้ามีตั้งแต่…“อยากได้รองเท้าที่ช่วยประคองส้นเท้าให้มั่นคง” “รองเท้าคนแก่มีแต่สีทึมๆ อยากให้สีสันสดใสบ้าง” โซโกก็พยายามตอบโจทย์ทุกข้อ

แต่มีข้อหนึ่งที่สร้างความลำบากใจให้กับโซโก

ผู้สูงอายุหลายคนบอกว่า เท้าตนเองบวมข้างหนึ่ง ทำให้ต้องใส่รองเท้าขนาดไม่เท่ากัน เวลาซื้อรองเท้ามา ต้องซื้อ 2 คู่ แล้วโยนข้างหนึ่งทิ้ง พวกเขาอยากให้โซโกขายรองเท้าคนละไซส์ ในวงการผู้ผลิตรองเท้าไม่มีใครคิดจะขายรองเท้าคนละไซส์ เพราะเกรงว่าสต็อกจะเหลือเยอะ เผลอๆ จะขาดทุนเอา

แต่โซโกคิดว่า ลูกค้าสูงวัยของเขาคงรู้สึกผิดแน่ๆ หากต้องซื้อรองเท้ามา 2 คู่ แล้วจำต้องทิ้งอีกข้างไป เขาจึงยืนยันที่จะ ‘ลอง’ ทำ ‘ลอง’ ขาย แถมยังพยายามคุมราคาไม่ให้เกินคู่ละ 7,000 เยน (2,500 บาท)

“ถึงผมจะใช้เวลาพัฒนาถึง 2 ปี มีค่าใช้จ่ายต่างๆ จำนวนมาก ถ้าจะเอาให้มีกำไรจริงๆ คงต้องขายคู่ละเป็นหมื่นเยน แต่ผมรู้สึกว่าคงจะไม่มีประโยชน์อะไรหากเราทุ่มเทคิดค้นสินค้าเพื่อคนคนนั้น แต่กลับตั้งราคาสูงจนเขาซื้อไม่ได้”

รองเท้ารุ่น Ayumi ของโซโกพิเศษมาก เนื่องจากน้ำหนักเบา มีสีต่างๆ ให้เลือก ทั้งสีชมพู สีแดง สีเขียวอ่อน ใส่ง่าย เดินแล้วไม่ล้ม ทำให้ผู้สูงอายุต่างบอกกันปากต่อปาก สมกับที่โซโกทุ่มเทพัฒนา… ที่สำคัญ ลูกค้าสามารถสั่งรองเท้าข้างละไซส์ได้

ในภาพ ราคา 6,480 เยน คือราคารองเท้า 1 คู่ ส่วน 3,240 เยน คือรองเท้า 1 ข้าง

นอกจากนี้ โซโกเห็นว่าผู้สูงอายุไม่ค่อยมีโอกาสได้เจอผู้คนบ่อยนัก วันๆ เก็บตัวอยู่กับบ้านหรือบ้านพักคนชรา เขาจึงให้พนักงานเขียนการ์ดใส่กล่องรองเท้าทุกกล่อง บางใบเขียนว่า “ตอนนี้ซากุระที่นี้บานแล้วนะคะ” บางฉบับอาจมีข้อความว่า “อากาศเย็นขึ้นเรื่อยๆ อย่าลืมระวังสุขภาพนะคะ” ให้อารมณ์ลูกหลานเขียนจดหมายถึงคุณตาคุณยาย แถมโซโกยังเป็นคน ‘ตรวจ’ การ์ดเหล่านั้นเอง ใบใดเขียนแบบแห้งแล้ง ไม่อบอุ่น เขาก็จะไล่ให้พนักงานคนนั้นไปเขียนใหม่ การ์ดใบเล็ก ๆ เหล่านี้นั่นแหละที่ทำให้ลูกค้าต่างน้ำตาซึมและซาบซึ้ง    

Tokutake-sangyo
จดหมายและกระดาษพับรูปหัวใจเล็กๆ ที่แนบมาในกล่องรองเท้า
ภาพ www.kangaroo-jump.jp

หัวใจของการตลาด คือการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer-cantered / Customer-oriented) แต่จะเกิดอะไรขึ้น หากข้อมูลความต้องการลูกค้าที่เราหามาได้ช่างดูลงมือทำได้ยากเหลือเกิน

‘ขายรองเท้าคนละไซส์’

‘ออกแบบรองเท้าที่ไม่ให้ผู้สูงอายุสะดุดล้ม’

‘วัสดุต้องเบา’

นักการตลาดบางบริษัทอาจหลับตาข้างหนึ่งและเลือกทำสิ่งที่ ‘คิดว่า’ ตัวเองพอจะทำได้ แต่โซโกมิได้ทำเช่นนั้น เขาตั้งใจฟังเสียงลูกค้า และค่อยๆ ทำตามสิ่งที่ลูกค้าขอร้อง ค่อยๆ แก้ทีละจุด

โซโกถึงกับเกือบทะเลาะกับช่างทำรองเท้าเสียด้วยซ้ำ เพราะเขายืนยันที่จะขายรองเท้าคนละไซส์ ส่วนช่างทำรองเท้าไม่เห็นด้วย เพราะอาจทำให้บริษัทขาดทุนได้

อะไรคือความแตกต่างระหว่างนักการตลาดที่พยายามยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางกับโซโก…

คำตอบคือ ‘ความรักและปรารถนาดีต่อลูกค้า’ ค่ะ

หากโซโกคิดถึงแต่ยอดขาย กำไร และความอยู่รอดของบริษัทเป็นอันดับหนึ่ง เขาคงตั้งราคารองเท้าสูงกว่านี้ อาจจำเป็นต้องตัดคุณสมบัติบางอย่างออก เพราะไม่คุ้มกับระยะเวลาที่ต้องเสียไปในการคิดค้น

แต่โซโกก็ยังทุ่มเททำด้วยเหตุผลเดียว คืออยากเห็นคุณตาคุณยายเหล่านี้มีความสุข จากการไปพูดคุยกับผู้สูงอายุ เขา ‘รู้’ ​ว่านี่คือสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการจริงๆ

เมื่อคิดถึงลูกค้าอย่างแท้จริง ไอเดียต่างๆ ก็จะมา ไม่ว่าจะเป็นการขายรองเท้าคนละไซส์ ดีไซน์รองเท้าสีแดงลายจุดขาว หรือการเขียนการ์ดเล็กๆ แนบไปกับกล่องรองเท้า หัวใจที่ปรารถนาให้คนอื่นเป็นสุข ย่อมนำความสุขมาสู่ผู้ให้ กำไรจะตามมา

กลับมาที่เรื่องของชายที่ขายปลาอบกรอบ จากทางเลือกที่เขาถาม… “เติมผงชูรสให้อร่อย” หรือ “ส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น” ทางเลือกไหนดีที่สุด?

คำตอบของดิฉันในวันนั้นคือ “ลองพยายามออกแบบปลาอบกรอบอร่อยๆ ที่ไม่ใส่ผงชูรสอีกนิดนะคะ เพื่อเด็กไทยจะได้มีขนมอร่อยและดีทานค่ะ”

www.tokutake.co.jp/shop

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Photographer