Makkha อ่านว่า มัก-คา มีที่มาจากคำว่า มรรคา แปลว่าเส้นทาง 

คนต้นคิดได้ไอเดียตอนนั่งดื่มกาแฟอยู่ริมฟุตปาธ แต่ไม่เกี่ยวอะไรกับมอคค่าและไม่เกี่ยวข้องกับมรรคทั้ง 8 ที่เป็นเส้นทางไปสู่นิพพานในคำสอนของพุทธศาสนาเช่นกัน กระนั้นก็แฝงโดยนัยว่า Makkha คือสตูดิโอออกแบบที่อยากเป็นทางเชื่อมระหว่างงานทำมือกับงานอินดัสเทรียล ผู้ผลิตกับผู้เสพศิลป์ และเรื่องเล่าของสิ่งไม่มีชีวิตกับผู้ฟังที่มีชีวิต

 Makkha Design Studio อย่าง นิว-โสภณัฐ สมรัตนกุล และ พี-พริษฐ์ นิรุตติศาสน์

บทสนทนาของเรากับนักออกแบบสองชีวิตผู้ปลุกปั้น Makkha Design Studio อย่าง นิว-โสภณัฐ สมรัตนกุล และ พี-พริษฐ์ นิรุตติศาสน์ คือการออกเดินทางไปสำรวจพื้นที่ที่ไม่มีเส้นแบ่งชัดเจน บนแนวคิดการสร้างงานที่จะบอกว่าเป็น Pure Art (งานศิลปะที่เน้นความงาม ไม่เน้นประโยชน์ใช้สอย) ก็ไม่ใช่ จะเป็น Design (งานออกแบบที่เน้นอรรถประโยชน์และการแก้ปัญหา) ก็ไม่เชิง แต่ที่ชัดเจนคือผลงานของทั้งคู่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวด Innovative Craft Award: ICA จาก SACICT (กรมส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ) เมื่อ ค.ศ. 2019 

ผลงานที่คว้ารางวัลชื่อ ‘จิบ-เว-ลา’ เป็นวัสดุโลหะผสมผสานกับไม้ เล่าเรื่องราวของช่วงเวลากับคลื่นน้ำ

ขอให้วางเส้นแบ่งทุกรูปแบบไว้ตรงบทนำ 

และจงดำดิ่งไปกับเรื่องเล่าจากวัสดุที่นิวและพีขัดเกลาออกมาผ่านชิ้นงานไปด้วยกัน

เรื่องเล่าของวัสดุกับกระบวนการ

ย้อนกลับไปในวันที่ยังเป็นนักศึกษาภาควิชาประยุกต์ศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นิวและพีมีสถานะเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง แต่ก็มีโอกาสได้ทำงานร่วมกันหลายโปรเจกต์ สิ่งที่เชื่อมพวกเขาเอาไว้ก็ไม่ใช่สิ่งอื่นใด 

นอกจากความคลั่งไคล้ใน ‘วัสดุ’

หลังจบการศึกษา เนิร์ดวัสดุทั้งสองคนแยกย้ายกันไปทำงานตามเส้นทางของตัวเองที่ไม่เข้ากันเอาเสียเลย พีทำงานเป็นนักออกแบบเครื่องประดับและ Decorative Items เน้นงานพาณิชย์และใช้กระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรมเป็นหลัก ส่วนนิวทำงานกับบริษัทที่เขาคุ้นชินมาตั้งแต่ฝึกงาน โฟกัสที่งานคราฟต์ แต่ก็มีคาแรกเตอร์ของ Research & Development อยู่ด้วย แต่เส้นทางชีวิตก็พาพวกเขากลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้งในงานประกวดของ SACICT 

Makkha สตูดิโอออกแบบของคนหนุ่มคลั่งวัสดุ ที่หยิบโลหะ ใบไม้ ฯลฯ มาเชื่อมคราฟต์กับดีไซน์
Makkha สตูดิโอออกแบบของคนหนุ่มคลั่งวัสดุ ที่หยิบโลหะ ใบไม้ ฯลฯ มาเชื่อมคราฟต์กับดีไซน์

พีเล่าจุดเริ่มต้นความสนใจเรื่องวัสดุว่า มาจากแนวคิดสัจจะวัสดุของสายประติมากรรมที่พวกเขาเรียน 

“ในทางประติมากรรมเขาไม่ค่อยใช้สีกัน เพราะมีความเชื่อเรื่องสัจจะวัสดุ คือการให้วัสดุได้แสดงตัวตนและเล่าเรื่องในแบบที่เขาเป็น วัสดุทุกอย่างเล่าเรื่องในแบบของมัน แน่นอนว่าแต่ละวัสดุเล่าเรื่องไม่เหมือนกัน เรามีหน้าที่พาเขาไปอยู่ในเส้นทางที่เขาจะเล่าเรื่องได้ดีที่สุด” พีขยายความสัจจะวัสดุให้คนไม่รู้อย่างเราฟังแล้วเข้าใจง่ายขึ้น

“เบื้องต้นเราเริ่มจากงานโลหะก่อน งานเคาะ งานดุน งานประกอบ แต่ไม่ได้มีเกณฑ์ตายตัวว่าต้องเป็นโลหะเท่านั้น” นิวเล่าบ้าง ก่อนพีจะเสริมต่อว่า “เรานำวัสดุธรรมชาติมาใช้มากขึ้น ประยุกต์โลหะเข้าไปเป็นส่วนประกอบของงาน อย่าง ‘อนิจจัง’ งานล่าสุดที่จัดแสดงใน Mango Art Festival เราใช้เส้นใยของใบไม้เป็นแกนกลางและใช้เทคนิคการเกาะผลึก ทำให้ผลึกโลหะเข้าไปเกาะและกลายเป็นรูปทรงเดียวกับใบไม้ในที่สุด จริงๆ เป็นเทคนิคเก่าที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม ช่วงหลังไม่ค่อยมีคนใช้แล้ว เหมือนจะตายไป แต่เราสองคนก็อยากทดลองกับมันดูอีกครั้ง” 

ของตกแต่งบ้านที่เล่นสนุกกับวัสดุและกระบวนการ งานทำมือและระบบอุตสาหกรรม และ อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต

สองนักออกแบบหนุ่มบอกกับเราว่า เทคนิคการขึ้นชิ้นงานไม่ใช่แก่นการทำงานของ Makkha Design Studio เสมอไป หลายต่อหลายครั้งพวกเขาใช้เรื่องราวที่ได้ยินจากชิ้นวัสดุเป็นสารตั้งต้นของผลงานที่กำลังจะทำ

“เราขลุกกับโลหะกันเยอะและเห็นบางอย่างกับมัน” นิวอธิบายหลังใช้เวลาคิดอยู่หลายวินาที “เวลาโลหะผุ มันมีเรื่องราวของความเก่า ถ้าอยู่ในฟอร์มของรถ เราก็เห็นรถเก่า ซากปรักหักพัง บางคนนึกถึงความ Dystopia แม้จะเป็นแค่โลหะผุ มันกำลังเล่าบางสิ่ง ตอนเราทำ จิบ-เว-ลา แค่นำรอยเคาะบนโลหะมาเรียงกันก็เกิดเอฟเฟกต์ที่ทำให้รู้สึกถึงน้ำ

“มนุษย์มองเห็นอะไรก็คิดต่อไปถึงสิ่งอื่นได้เสมอโดยธรรมชาติ เช่น คนทำงานโฆษณาอาจบอกว่า เขาไม่ได้นึกถึงแค่ความดี-ความชั่ว เวลาเห็นสีขาวกับสีดำ หรือประกันชีวิต อาจเท่ากับความรู้สึกปลอดภัย”

ฟังดูแล้วเหมือนนิวกำลังบอกกับเราว่า พวกเขาคุยกับวัสดุที่ไม่มีชีวิตได้อย่างไรอย่างนั้น

ของตกแต่งบ้านที่เล่นสนุกกับวัสดุและกระบวนการ งานทำมือและระบบอุตสาหกรรม และ อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต

“ก็ไม่ใช่ว่านั่งคุยกับแม่ซื้อหรอกครับ” พีตอบติดตลก “เวลาที่เรามองหรือสัมผัสวัสดุ เรานึกไปได้เยอะมาก แยกองค์ประกอบมัน อยากรู้ว่ามันผลิตมาอย่างไร ทำไมถึงมีคุณสมบัติ พื้นผิว หรือสะท้อนแสงแบบนี้ แล้วเรารู้สึกอะไรเมื่อมองมัน ก็คงเหมือนเวลาที่จิตรกรเลือกสีใช้วาดภาพ เราว่าวัสดุแต่ละชิ้นก็มีเสน่ห์ในตัวของมันเอง”

“แม้เราจะบอกว่าวัสดุบางชนิดคงทนถาวร แต่ทุกวัสดุมีครึ่งชีวิตของตัวเอง เวลามองพลาสติก เราจะรู้สึกว่ามันใหม่หรือเก่า หลายครั้งงานของ Makkha เลยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเวลา เพราะมันคือสิ่งที่วัสดุกำลังเล่าให้เราฟัง เราเลยไม่ได้ทำรูปร่างหวือหวามากมาย แต่ใช้เทกซ์เจอร์ของวัสดุนั้นๆ ในการเล่ามากกว่า” นิวเสริมขึ้นมาอย่างเหมาะเจาะ เป็นการขมวดนิยามชิ้นงานของ Makkha ที่เลื่อนไหลไปมาระหว่างเรื่องเล่าของวัสดุกับกระบวนการที่พวกเขาหลงใหล

งานทำมือกับระบบอุตสาหกรรม

นอกเหนือจากการสื่อสารเรื่องงานผ่านแพสชันด้านวัสดุและกระบวนการแล้ว Makkha ยังย่ำเท้าอยู่เหนือเส้นพรมแดนระหว่างความเป็นงานคราฟต์กับความเป็นอุตสาหกรรมโดยตั้งใจ

“ชื่อ Makkha หมายถึงเส้นทาง” นิวเกริ่น

“มันเกี่ยวข้องกับ Position ของงานที่เราทำ ด้วยความเป็นประยุกต์ศิลป์ เราไม่คราฟต์ ไม่อาร์ต และไม่ดีไซน์ เสียทีเดียว แล้วเราเป็นอะไร สุดท้ายเราสองคนตกลงกันว่าเราจะเป็นจุดเชื่อม ให้ Makkha เป็นเส้นทางพาความคราฟต์ไปสู่คนเมือง ไปสู่คนที่ไม่เคยเห็นเทคนิค วิธีการ วัสดุประหลาดๆ หรือตัวงานที่หน้าตาดูชาวบ้าน ดูเป็นภูมิปัญญา”

“เรามองปัญหางานคราฟต์ในประเทศไทยว่า ช่าง ดีไซเนอร์ ผู้ประกอบการ มักต่อกันไม่ค่อยติด เราเลยเป็นสื่อกลาง พาเขามาเจอกัน” พีเสริม

ความเป็นพื้นที่เบลอๆ อาจฟังดูแล้วเข้าใจยากสำหรับใครต่อใคร แต่ในมุมมองของนิวกับพี นี่คือความยืดหยุ่นที่ทำให้พวกเขาได้ทดสอบ ทดลอง ขอบเขตต่างๆ ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการท้าทายเรื่องราวที่เล่าผ่านชิ้นงานของตน ทั้งที่งานมีกลิ่นอายคราฟต์ บางชิ้นทำด้วยมือและทำซ้ำไม่ได้ แต่กลับไม่ได้เล่าเรื่องวิถีชีวิตหรือประวัติศาสตร์

ของตกแต่งบ้านที่เล่นสนุกกับวัสดุและกระบวนการ งานทำมือและระบบอุตสาหกรรม และ อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต
ของตกแต่งบ้านที่เล่นสนุกกับวัสดุและกระบวนการ งานทำมือและระบบอุตสาหกรรม และ อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต

เมื่อมองผลงานแต่ละชิ้นของทางสตูดิโอ เราเห็นความงามและประณีตในแบบที่งานประติมากรรมควรมี ไม่น่าแปลกใจหากลูกค้าซื้อไปเพียงเพื่อเอาไว้อวดผู้มาเยี่ยมเยือน แต่บางชิ้นเราก็ได้เห็นประโยชน์ใช้สอยอยู่บางๆ เช่นกัน เป็นถาดรองเครื่องประดับหรือเปล่านะ หรือว่าจะเป็นภาชนะ บางชิ้นก็มีฟังก์ชันในแบบที่เจ้าของผลงานก็คาดไม่ถึง

“เราไม่ได้บอกว่างานคนอื่นไม่ใหม่นะครับ” นิวย้ำจุดยืนของพวกเขา เมื่อบอกกับเราว่าแนวทางนี้เป็นแนวทางที่ไม่ค่อยมีคนทำกันเท่าไหร่  “อาจมีคนอื่นพูดแล้วแต่ยังไม่เยอะ เราสองคนอยากเห็นว่าถ้าเราทำงานลักษณะนี้ ผู้ชมหรือลูกค้าจะรู้สึกอย่างไร จะยังรู้สึกว่ามันเป็นคราฟต์มั้ย ซึ่งบางคนก็บอกว่าเราเอาวัสดุมาเล่าเรื่องได้แปลกดี

“งานบางชิ้นของเรา ลูกค้าถามว่าเอาไปใช้แบบนั้นแบบนี้ได้มั้ย ซึ่งลูกค้าแต่ละคนบอกฟังก์ชันไม่ตรงกันเลย มีแก้วใบหนึ่งที่เราทำเป็นแก้วแตกๆ มีใบไม้ มีคนถามว่าจุดกำยานได้ไหม ใส่จิวเวลรี่ได้หรือเปล่า อีกคนบอกว่า คุณน่าจะทำให้มันไม่รั่วนะ ผมจะได้เอาไว้ดื่มไวน์ ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราตั้งใจทำให้งานเป็น Art Piece ไว้โชว์ ไว้อวด” 

นิวเล่าประสบการณ์ในการทดสอบขอบเขตงานคราฟต์ที่ทำให้เขาต้องประหลาดใจ พีเสริมไล่กันมาว่า การมองประโยชน์ใช้สอยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ก็เป็นพื้นที่ที่พวกเขาให้ความสนใจ และกำลังปล่อยให้สัญชาตญาณนำทางไปข้างหน้า

ของตกแต่งบ้านที่เล่นสนุกกับวัสดุและกระบวนการ งานทำมือและระบบอุตสาหกรรม และ อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต

อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต

คำว่า คราฟต์ อาจฟังดูเป็นเรื่องของอดีต แต่สองนักออกแบบจาก Makkha กลับมองว่า หากงานคราฟต์ถูกพัฒนาให้ตอบโจทย์ของผู้ใช้อย่างเหมาะสม งานทำมือก็อาจเป็นเรื่องของปัจจุบันและอนาคตได้เช่นเดียวกัน

นิวให้ทัศนะไว้อย่างน่าสนใจเกี่ยวกับอนาคตของงานคราฟต์ในพื้นที่ประเทศไทยว่า

“พื้นที่เบลอๆ มันจะกว้างขึ้น เทคโนโลยี นวัตกรรมก็พัฒนาขึ้น ทุกวันนี้เรามีเทคนิคใหม่ๆ เยอะเสียจนแทบจะตามกันไม่ทัน คนปลูกราเป็นเก้าอี้ คนทำแผ่นพลาสติกจากวัสดุใหม่ๆ โดยไม่ต้องใช้ความร้อน งานคราฟต์ก็ได้รับอิทธิพลเยอะ ซึ่งงานคราฟต์ก็คือฟังก์ชันของสมัยก่อน แค่กระบวนการผลิตต่างไป คนไม่ต้องมาเหลาหรือตอกเหมือนสมัยก่อน เราเอาความรู้จักสานไปทำอย่างอื่น ที่มันยังโตได้อีกมาก ความเป็นฟังก์ชันของงานคราฟต์ก็จะโตตามไปด้วย 

“ของทุกอย่างจะมีคุณค่าได้ ก็ต่อเมื่อคนให้คุณค่ากับมันด้วยเช่นกัน”

ของตกแต่งบ้านที่เล่นสนุกกับวัสดุและกระบวนการ งานทำมือและระบบอุตสาหกรรม และ อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต

และเมื่อถามถึงอนาคตของ Makkha Design Studio ก็ดูเหมือนว่าจะอยู่ระหว่างการสำรวจตรวจตรา พวกเขายอมรับว่าได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ของโลกอยู่ไม่มากก็น้อยเช่นเดียวกัน 

“ในวันนี้ทุกคนพูดถึงเรื่องรักษ์โลกใช่มั้ยครับ ในฐานะ Makkha ที่เป็นสตูดิโอออกแบบและทำงานเกี่ยวกับวัสดุ เราเองก็กำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะทำงานออกมาให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอีกนิด แต่ต้องยอมรับก่อนว่างานโลหะมีความรักษ์โลกน้อยมาก แค่จุดไฟเราก็ใช้พลังงานแล้วครับ” นิวเล่าพลางยิ้มเศร้าๆ

พีเสริมว่า “ก็เป็นเรื่องที่อยากแก้แหละครับ แต่ไม่รู้ว่าเป็นไปได้มั้ย แต่เราได้รับผลกระทบโดยตรง ในช่วงปีที่ผ่านมาโลหะราคาแพงขึ้นสี่สิบเปอร์เซ็นต์ เพราะทั้งโลกต่างผลิตรถไฟฟ้า และต้องใช้ทองแดงปริมาณมาก ในอนาคตวัสดุต่างๆ ก็จะนำไปใช้กับการผลิตสิ่งที่จำเป็นมากขึ้น สิ่งที่เป็นปัจจัยรองลงมาอย่างงานศิลปะก็จะต้องถูกลดทอนความสำคัญไป

“มันน่าจะมีวิธีการอะไรบางอย่างที่เราทำได้สิ นี่ก็เป็นเรื่องที่เข้ามาในหัวช่วงนี้ ซึ่งเราก็ทดลองกันอยู่ มี Pending ไว้หลายอย่าง แต่ยังบอกไม่ได้ครับ” นิวหยอดข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ไว้ก่อนจะจบบทสนทนา

ของตกแต่งบ้านที่เล่นสนุกกับวัสดุและกระบวนการ งานทำมือและระบบอุตสาหกรรม และ อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต

Makkha Design Studio หลังจากนี้ในฐานะสตูดิโอออกแบบจะมุ่งหน้าไปในเส้นทางแบบไหน จะมีส่วนในการผลักดันทั้งคราฟต์และอินดัสเทรียลของไทยไปในทิศทางใด น่าจะมีแต่อนาคตเท่านั้นที่ตอบได้ 

แต่เราก็หวังว่าจะได้เห็นการท้าทายขอบเขตใหม่ๆ เรื่อยไปจากนักออกแบบทั้งสองคนนี้

Writer

Avatar

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล

นักออกแบบ-สื่อสารเพื่อความยั่งยืน ที่อยากเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านชีวิต บทสนทนา และแบรนด์ยาสีฟันเม็ดเล็กๆ ของตัวเอง

Photographer

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน