“คริสต์มาสปีนี้จะทำอะไรดี” 

เราสองคนนั่งมองหน้ากันอยู่ในบ้านเช่าแห่งหนึ่งที่บัวโนสไอเรส ภาพคริสต์มาสในปีเก่าๆ ย้อนกลับมาพร้อมความรู้สึกที่หลากหลาย 

ก่อนจะมาออกทริปมอเตอร์ไซค์ ความทรงจำเกี่ยวกับเทศกาลคริสต์มาสตั้งแต่เด็กจนโตของเรามีแค่การฝึกร้องเพลง Jingle Bells ในคาบวิชาภาษาอังกฤษ การแสดงละครเวทีที่โรงเรียน แล้วก็การเดินดูไฟประดับสวยๆ ในเมือง

แต่สำหรับคริสเตียน-แฟนชาวอเมริกันที่เดินทางมาด้วยกัน เทศกาลคริสต์มาสคือเทศกาลแห่งครอบครัวที่ทุกคนจะมารวมตัวกันพร้อมหน้าพร้อมตาและสังสรรค์กัน เวลาเทศกาลนี้วนเวียนมาทีไร ถ้ามีเหตุจำเป็นจะต้องอยู่ต่างประเทศและไม่ได้กลับไปฉลองกับครอบครัวที่สหรัฐฯ คริสเตียนก็จะดูเหงาหงอยและคิดถึงบ้านมากเป็นพิเศษ 

โชคดีที่ช่วงปีแรกของการเดินทาง เราสองคนยังวนเวียนอยู่ในประเทศเม็กซิโก ตอนนั้นเลยตัดสินใจเช่าโกดังเพื่อจอดมอเตอร์ไซค์ไว้ที่เมืองลาปาซ (La Paz) แล้วซื้อตั๋วเครื่องบินกลับไปฉลองคริสต์มาสกับครอบครัวของคริสเตียนที่รัฐโคโลราโดในประเทศสหรัฐฯ 

“คืนนี้ถึงบ้านที่โคโลราโดแล้วรีบเข้านอนนะ พรุ่งนี้เราจะออกไปหาต้นคริสต์มาสกันตั้งแต่เช้า” 

ตอนนั้นเราฟังคริสเตียนแค่ผ่านๆ แล้วก็ตกปากรับคำแบบไม่ได้คิดอะไรมากมาย พอบินไปถึงก็พุ่งตรงกลับบ้านแล้วอาบน้ำเข้านอนเลย เพราะเดินทางกันมาตลอดทั้งวัน ตื่นเช้ามาก็ได้เจอญาติๆ คริสเตียนเต็มบ้าน ทั้งคุณปู่คุณย่า คุณพ่อคุณแม่ พี่สาวน้องชาย พี่เขยน้องสะใภ้ และหลานๆ นับรวมกันแล้วประมาณ 20 คนเห็นจะได้ หลายคนในครอบครัวเพิ่งเดินทางมาจากต่างเมืองและมาถึงในคืนก่อนหน้าเหมือนกัน 

หลังจากทุกคนทักทายกันแบบพอหอมปากหอมคอก็เตรียมตัวเคลื่อนพลออกจากบ้าน คริสเตียนหยิบเสื้อกันหนาวตัวหนามายื่นให้เราอีก 2 ตัวและพูดทำนองว่า วันนี้น่าจะมีทั้งลมและหิมะ ใส่ชั้นเดียวแบบนี้ไม่ไหวแน่ 

เราหันมองรอบๆ ตัว และเพิ่งจะสังเกตเห็นว่าทุกคนแต่งตัวแบบเตรียมหนาวกันเต็มที่ แม้แต่หลานตัวเล็กๆ ที่ยังนอนกอดขวดนมอยู่ในรถเข็นก็ใส่รองเท้าบูต ถุงมือ ผ้าพันคอ และหมวกไหมพรม

เดี๋ยวนะ เราจะไปซื้อต้นคริสต์มาสกันไม่ใช่เหรอ จะไปซื้อกันที่ไหน ทำไมต้องมีทั้งลมทั้งหิมะ 

คริสเตียนฉีกยิ้มกว้าง แล้วตอบเราด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า 

“ก็ซื้อแหละ แต่ไม่ใช่ในห้างฯ เราจะเดินเข้าป่าแล้วตัดต้นคริสต์มาสเองเลย” 

“ไปตัดต้นคริสต์มาสในป่ากันเถอะ” 

ต้นสนคริสต์มาส

“ต้นสนคริสต์มาสพวกนี้อยู่ในเขตป่าสงวน ก่อนจะเข้าไปตัดได้ก็ต้องซื้อใบอนุญาตจากทางอุทยานให้เรียบร้อยก่อน มีขายทั้งทางอินเทอร์เน็ตแล้วก็ที่หน้างานด้วย ราคาตั้งแต่สิบถึงยี่สิบดอลลาร์ฯ ต่อใบ (ประมาณสามร้อยถึงหกร้อยบาท) ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนก็เริ่มหาซื้อได้แล้ว” 

คริสเตียนอธิบายให้เราฟังเพิ่มเติมระหว่างที่กำลังขับรถตามๆ กันไปที่อุทยาน ด้วยจำนวนสมาชิกครอบครัวที่ค่อนข้างเยอะ ทำให้ต้องใช้รถเดินทางไปด้วยกันถึง 3 คัน หนึ่งในนั้นเป็นรถกระบะขนาดใหญ่เพื่อใช้ขนต้นไม้กลับบ้าน

เราไปถึงอุทยานกันตอนสายๆ บรรยากาศรอบตัวค่อนข้างครึกครื้น เพราะแต่ละครอบครัวก็เตรียมตัวมาลุยกันทั้งนั้น รถคันที่จอดอยู่ข้างๆ รถเรา มีต้นไม้ขนาดใหญ่วางอยู่บนหลังคาและถูกมัดเอาไว้อย่างแน่นหนา ส่วนเจ้าของรถก็น่าจะเป็นครอบครัวที่นั่งกินขนมและร้องเพลงท้าลมหนาวอย่างครื้นเครงอยู่ไม่ไกลจากตรงนั้น 

“เดี๋ยวช่วยกันหาต้นที่สูงไม่เกินสองเมตรนะ” 

เสียงคุณพ่อของคริสเตียนบอกกับหลานๆ พร้อมทั้งแจกจ่ายตลับเมตรหลากสีให้ และยังไม่ลืมกำชับว่า เมื่อเดินเข้าไปในป่าแล้วห้ามวิ่งไปไหนคนเดียวโดยไม่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วยเด็ดขาด เด็กๆ ก็ดูเชื่อฟังกันดีและไม่มีท่าทีอะไรให้ต้องกังวล

เราซะอีกที่เดินไปเรื่อยๆ และก็ต้องคอยระวังไม่ให้เดินเพลินจนออกนอกกลุ่ม… ถ้าจะมีใครสักคนในบ้านนี้ที่เดินหลงป่า ก็น่าจะเป็นเรานี่แหละ 

ต้นสนคริสต์มาส

ครึ่งชั่วโมงแรกก็ได้เจอต้นสนสวยๆ หลายแบบ ทั้งรูปทรงดีและขนาดพอเหมาะจะนำไปตกแต่งเป็นต้นคริสต์มาส แต่ทุกคนก็พร้อมใจกันเดินผ่านไปโดยไม่หยุดดูเลย ส่วนหนึ่งเราเข้าใจว่าคงจะอยากเดินเล่นชมบรรยากาศกันก่อน แต่พอนานๆ เข้าก็ชักสงสัยว่านอกจากการหาต้นไม้ที่มีความสูงไม่เกิน 2 เมตรแล้ว ยังมีข้อกำหนดอะไรที่เราควรรู้อีกหรือเปล่า 

“อ๋อ เวลาปลูกต้นสนคริสต์มาสในป่าสงวน เขาจะไม่ปลูกเรียงเป็นระเบียบเหมือนในสวน แต่จะปลูกครั้งละเยอะๆ เพราะไม่รู้ต้นไหนจะปลูกขึ้นหรือไม่ขึ้นบ้าง ไอ้ที่ขึ้นมาทั้งหมดก็อาจจะอยู่รวมกันแน่นจนแย่งแสงแดดและอาหารกันเอง ต้นสนคริสต์มาสที่เราจะเลือกตัดจึงควรเป็นต้นที่ขึ้นใกล้ๆ หรือติดกับต้นอื่น พอเราตัดออกไปหนึ่งต้นแล้ว ต้นที่เหลือก็จะมีพื้นที่และมีโอกาสโตได้มากขึ้น แล้วก็ช่วยลดความเสี่ยงของการเสียดสีกันจนเกิดไฟไหม้ป่าด้วย” 

ถือว่า ‘win-win’ กันทั้งคู่ ชาวบ้านได้ต้นไม้ไปประดับบ้านในราคาถูก อุทยานก็ได้คนมาช่วยเคลียร์พื้นที่ป่า รู้แบบนี้แล้วเราก็มีแรงฮึดเดินหาต้นที่เหมาะสมขึ้นมาอีกหน่อย 

อันที่จริงจะเรียกว่า ‘เดินหา’ ก็คงไม่ตรงตามความจริงสักเท่าไหร่ ออกจะเอนเอียงไปทางเดินเล่น พูดคุยและชี้ชวนกันดูนู่นนี่ซะมากกว่า เพราะพอเดินลึกเข้าไปเรื่อยๆ ต้นสนคริสต์มาสส่วนใหญ่ก็ขึ้นติดกันแน่นหนาทุกทิศทาง จะเอาต้นไหนก็ได้ทั้งนั้น เราน่ะหมดแรงหาไปตั้งแต่ชั่วโมงแรกแล้ว เลยเดินตามคนอื่นไปเรื่อยๆ แล้วก็แวะเก็บภาพลูกสนสวยๆ ฆ่าเวลาไปด้วย 

“This is it – ต้นนี้แหละ ใช่เลย”

ต้นสนคริสต์มาส

หลานสาวคนเล็กชี้ต้นสนที่ถูกใจแล้วก็หยิบตลับเมตรขึ้นมาพยายามจะวัดขนาด พี่สาวคริสเตียนก็เดินเข้าไปช่วยวัดส่วนสูงของต้นให้ เลื่อยมือขนาดกลางถูกนำออกมาใช้ หลานชายสองคนอายุประมาณเก้ากับสิบเอ็ดขวบเสนอตัวขอเป็นคนตัด ตอนแรกเรายังคิดว่าคงไม่มีใครอนุญาต แต่ปรากฏว่าสองหนุ่มน้อยได้สลับกันเลื่อยตั้งแต่ต้นจนจบ โดยมีผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในครอบครัวคอยบอกวิธีและนั่งเป็นกำลังใจให้รอบๆ 

“อุทยานนี้มีกฎไม่ให้ใช้เลื่อยไฟฟ้า และให้ตัดได้บ้านละไม่เกินสองต้น ป้องกันไม่ให้คนมาตัดไปขายต่อเอากำไร” 

ฟังที่คริสเตียนบอกแล้วเราก็มาคิดว่ามันสมเหตุสมผลอยู่ เพราะต้นสนคริสต์มาสของจริงที่ถูกตัดไปวางขายในเมืองราคาต้นละประมาณ 40 ดอลลาร์ฯ เป็นอย่างต่ำ และไล่ไปจนถึง 100 – 120 ดอลลาร์ฯ ขึ้นอยู่กับขนาดและรูปทรง ส่วนถ้ามาตัดเอาเองแบบนี้ จะขนาดไหนก็จ่ายแค่ราคาเดียว 

หลานชายสองคนก้มหน้าก้มตาเลื่อยไปเรื่อยๆ พอตัดเข้าช่วงกลางต้นสนแล้ว หลายคนก็มาช่วยกันประคองให้ต้นตั้งตรง เพราะถ้าไม่เลื่อยให้ขาดทั้งต้นแต่ใช้วิธีผลักให้ล้ม ปลายต้นจะมีเสี้ยนยาวและบาดมือเอาได้-เรื่องนี้ถือเป็นความรู้ใหม่สำหรับคนที่ไม่เคยตัดต้นอะไรแบบนี้มาก่อนเลยในชีวิตอย่างเรา 

ต้นสนคริสต์มาส

ได้ต้นคริสต์มาสมาแล้ว ก็ค่อยๆ สลับกันแบกกลับไปจนถึงที่จอดรถและจัดแจงวางไว้ท้ายกระบะ พอเสร็จงานคุณแม่ของคริสเตียนก็แจกจ่ายแซนด์วิช กาแฟ และโกโก้ร้อน ที่เตรียมมาจากบ้านให้ทุกคนในครอบครัว แถมยังเผื่อแผ่ให้คู่หนุ่มสาวที่เพิ่งจะแบกต้นไม้ตามหลังกลุ่มเราออกมาไม่นานอีกด้วย 

“เดี๋ยวเราเอาต้นที่ตัดกลับไปแช่น้ำที่บ้าน มันก็จะอยู่ได้ประมาณสามถึงสี่สัปดาห์ ใบจะค่อยๆ ร่วงไปเรื่อยๆ พอใช้งานเสร็จแล้ว จะเอาต้นไปตากแห้งแล้วตัดทำฟืนก็ได้ ส่วนใบที่ยังเขียวๆ ก็ใส่ถุงเล็กๆ วางไว้ให้มีกลิ่นหอมในบ้าน หรือไม่ก็เอาไปบริจาคให้สวนสัตว์ บริจาคให้โรงงานไปรีไซเคิลเป็นวัสดุคลุมดินต้นไม้ในสวนสาธารณะ ถ้าอยากได้มาปลูกต่อก็ต้องขุดแบบมีรากมาด้วยและดูแลด้วยการแช่น้ำ พอใช้เสร็จก็เอาไปปลูกลงดินได้เลย” 

ถ้าได้สะสมต้นคริสต์มาสที่ใช้เสร็จแล้วด้วยการปลูกไว้หลังบ้านทุกปีก็คงจะดีไม่น้อย แต่คงต้องใช้พื้นที่เยอะน่าดูเลยทีเดียว 

คืนนั้นกลับมาถึงบ้านทุกคนก็แยกย้ายกันไปพัก และนัดว่าจะมาช่วยกันตกแต่งต้นไม้ในคืนวันถัดไป เราเลยไปถามคริสเตียนว่าปกติต้องมีฤกษ์งามยามดีในการประดับต้นคริสต์มาสด้วยรึเปล่า

“ก็ไม่เชิงหรอก วันจัดต้นไม้สะดวกวันไหนก็ทำวันนั้น บางบ้านเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม บางบ้านก็รอจนสัปดาห์สุดท้ายก่อนวันคริสต์มาส ส่วนวันที่เก็บของประดับลง ที่บ้านเรามักจะทำกันตั้งแต่วันสิ้นปีเก่า แต่ตามธรรมเนียมคือวันที่หกมกราคม นับไปสิบสองคืนหลังจากวันคริสต์มาส และเชื่อกันว่าถ้าวางไว้หลังจากวันที่หกไปแล้วจะโชคร้าย” 

แล้วคริสเตียนเชื่อไหมว่าจะโชคร้าย 

“ถ้าผ่านปีใหม่ไปเกือบสัปดาห์แล้วยังไม่เก็บต้นคริสต์มาส ผมว่าก็น่าจะสื่อถึงความขี้เกียจที่จะนำพามาแต่ผลร้ายในอนาคตนะ” 

เทศกาลแห่งความทรงจำ 

ต้นสนคริสต์มาส

ก่อนหน้านี้เวลาเราเห็นภาพบรรยากาศของวันคริสต์มาสจากในภาพยนตร์ต่างประเทศหรือจากคำบรรยายในหนังสือ เราก็เคยนึกสงสัยว่าการที่ฝรั่งตกแต่งบ้านช่วงเทศกาลแบบจัดหนักจัดเต็มกันขนาดนี้ทุกปีจะไม่เปลืองเงินแย่หรือยังไง 

เพิ่งมาได้คำตอบแบบง่ายๆ เอาก็ตอนนั้นว่า เขาไม่ได้ซื้อของตกแต่งแบบยกชุดใหม่ทั้งหมดทุกปี แต่มีบางส่วนแยกเก็บเอาไว้เป็นกล่องๆ พอเริ่มเข้าช่วงเทศกาลก็หยิบของประดับที่เก็บไว้ออกมาวางตามมุมต่างๆ ของบ้าน ดาวประดับหน้าประตูมีอายุอย่างน้อย 15 ปี ถุงเท้าใส่ของขวัญที่มีชื่อคริสเตียนและชื่อพี่สาวปักอยู่ถูกใช้มาตั้งแต่ทั้งสองคนยังอายุไม่ถึง 10 ขวบดี ผ้าคลุมโซฟาลายกวางเรนเดียร์เป็นฝีมือปักของคุณทวดที่เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ฯลฯ

ของประดับแต่ละชิ้นที่ถูกหยิบออกมาจากกล่อง อัดแน่นไปด้วยความทรงจำของคนในครอบครัวหลายต่อหลายรุ่น เราในฐานะที่เป็นแขกก็พลอยได้นั่งฟังเรื่องราวเก่าๆ เหล่านี้ไปพร้อมกับเด็กๆ ด้วย 

ของที่ใช้ประดับต้นคริสต์มาสก็เหมือนกัน นอกจากลูกบอลหลากสี ดาว พู่ และไฟประดับแล้ว สมาชิกในบ้านแต่ละคนก็มีของที่มีความหมายส่วนตัวที่อยากจะนำไปแขวน หลานสาวอายุ 5 ขวบของคริสเตียนเลือกแขวนเลโก้สีเหลืองสด หลานชายอีกคนเลือกรถของเล่นคันเล็กที่ได้เป็นของขวัญจากคุณปู่ คุณแม่ของคริสเตียนแขวนเซรามิกรูปช้างที่ซื้อตอนมาเที่ยวเมืองไทย นอกจากนี้ ทุกคนยังแขวนการ์ดที่เขียนคำอวยพรสั้นๆ ให้แก่คนอื่นๆ ในครอบครัวด้วย

ต้นคริสต์มาสที่ตกแต่งเสร็จแล้ว ตั้งสว่างไสวอยู่ตรงมุมห้องตลอดเทศกาล และค่อยๆ มีกล่องของขวัญวางใต้ต้นไม้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเช้าตรู่ของวันคริสต์มาส

ต้นสนคริสต์มาส
ต้นสนคริสต์มาส

ตลอดทั้งสัปดาห์นั้นจะมีกิจกรรมที่สมาชิกทำร่วมกันในแต่ละวัน เช่น ออกไปเล่นสกี ปั้นตุ๊กตาหิมะ ช่วยกันปั้นคุกกี้ อบขนมปัง เค้ก และพาย พอทำเสร็จก็แบ่งใส่โหลแก้วเก็บไว้ให้สมาชิกในครอบครัว อีกส่วนก็แบ่งใส่กล่องผูกโบว์และให้เด็กๆ ถือไปเคาะประตูแจกจ่ายเพื่อนบ้าน และเด็กๆ ก็มักจะกลับมาพร้อมกับถุงขนมและกล่องคุกกี้ฝีมือเพื่อนบ้านอีกเหมือนกัน 

พอตกเย็นก็จะมีการโหวตเลือกหนังที่มีบรรยากาศเกี่ยวกับเทศกาลคริสต์มาสขึ้นมาหนึ่งเรื่องแล้วนั่งดูด้วยกัน ส่วนใหญ่จะเป็นหนังคลาสสิก เช่น Home Alone, Love Actually, It’s a Wonderful Life, Miracle on 34th Street, The Nightmare Before Christmas, How the Grinch Stole Christmas,The Polar Express, A Christmas Carol เป็นต้น-คริสเตียนบอกเราว่า มีหลายเรื่องที่เปิดดูกันทุกปีมาตั้งแต่เด็ก ดูจนจำบทพูดได้ทุกประโยคและทุกฉากเลยทีเดียว

 คืนไหนที่หิมะตกหนัก อากาศหนาวจัด สมาชิกในบ้านก็จะมี Eggnog เครื่องดื่มยอดนิยมในเทศกาลคริสต์มาส หรือไม่ก็โกโก้ร้อนโรยหน้าด้วยมาร์ชเมลโลว์ถืออยู่ในมือคนละแก้ว ใครอยากดูหนังก็ไปนั่งดู ที่ดูจนเบื่อแล้วก็ไปจับกลุ่มเล่นบอร์ดเกมกันที่อีกมุมห้อง ส่วนเราก็มักจะไปเลือกไปอยู่กับกลุ่มแรกและเผลอหลับตั้งแต่หนังยังไม่จบแทบทุกคืน 

สำหรับเด็กๆ บ้านนี้ปกติต้องเข้านอนกันตั้งแต่ 2 ทุ่ม ในสัปดาห์สุดท้ายก่อนถึงวันคริสต์มาสก็ได้รับอนุญาตให้หยิบหมอนและผ้าห่มออกมานั่งเล่นหน้าต้นคริสต์มาสกันจนถึงประมาณ 4 ทุ่ม แต่พอถึงวันคริสต์มาสอีฟหรือคืนก่อนวันคริสต์มาส เด็กๆ กลับตื่นเต้นและกระตือรือร้นที่จะรีบเข้าห้องนอนกันก่อนเวลาซะด้วยซ้ำ ทั้งที่เราก็ยังนึกว่าจะอยู่เล่นสนุกกันจนเกือบเช้า แต่ก็ได้คำตอบจากหลานสาววัย 7 ขวบที่เดินมากระซิบกับเราแบบเขินๆ ก่อนจะลาไปนอนว่า 

“หนูต้องรีบไปนอนก่อนซานต้ามา ฝากบอกซานต้าด้วยนะคะ ปีนี้หนูเป็นเด็กดีแล้วก็ผูกเชือกรองเท้าเองทุกวันเลย” 

คริสต์มาสของคนไกลบ้าน 

ต้นสนคริสต์มาส

“คริสต์มาสปีนี้จะทำอะไรดี” 

เราสองคนนั่งมองหน้ากันอยู่ในบ้านเช่าแห่งหนึ่งที่บัวโนสไอเรส ภาพคริสต์มาสในปีเก่าๆ ย้อนกลับมาพร้อมความรู้สึกที่หลากหลาย 

การได้ไปร่วมฉลองเทศกาลคริสต์มาสกับครอบครัวของคริสเตียนที่สหรัฐฯ ตลอดทั้งสัปดาห์ในคราวนั้น ทำให้เราเข้าใจความรู้สึก ‘คิดถึงบ้าน’ ของคริสเตียนได้ลึกซึ้งมากขึ้น แต่พอเข้าปีที่ 2 ของทริปมอเตอร์ไซค์ เราสองคนก็ติดงานที่ประเทศโคลอมเบียจนซื้อตั๋วกลับบ้านไม่ทัน ปีที่ 3 ก็ยังเดินทางอยู่ในอาร์เจนตินาและสู้ราคาตั๋วเครื่องบินกลับสหรัฐฯ ไม่ไหว

จากทั้ง 2 ปีและ 2 ประเทศที่ไม่ได้กลับบ้านช่วงนี้ เราก็ได้เรียนรู้ว่าถึงแม้จะมีคนมากมายออกมาเดินชมไฟที่ประดับอย่างสวยงามอลังการในเมืองหลวงของ 2 ประเทศนี้ แต่พอตกค่ำคนส่วนใหญ่ก็แยกย้ายกันไปฉลองกับครอบครัวอยู่ดี เหลือแต่นักท่องเที่ยวตาดำๆ (ฟ้าๆ) อย่างเราที่ไม่รู้จะทำอะไรหรือจะไปไหนต่อ

จะไปนั่งกินข้าวในร้านอาหารก็มีกันแค่สองคน หาความโรแมนติกก็ยากเพราะโต๊ะอื่นมากันเป็นกลุ่มใหญ่ จะซื้อของขวัญให้กันเองก็ไม่มีที่จะเก็บ แค่นี้กระเป๋าที่ติดอยู่กับมอเตอร์ไซค์ทุกกล่องก็แน่นจนจะปิดไม่สนิทอยู่แล้ว

สุดท้ายเลยต้องมาช่วยกันคิดว่าจะทำกิจกรรมอะไรที่มีความหมายสำหรับเราสองคนในเทศกาลครอบครัวแบบนี้ดี เพราะถ้ายังรักที่จะเดินทางไกลก็ต้องหาวิธีมีความสุขกับเทศกาลที่เราอาจจะต้องอยู่ไกลบ้านอีกในอนาคตให้ได้ 

เมืองนี้มันต้องมีคนที่เหงาเหมือนเราบ้างแหละ”

“ไม่ไปปาร์ตี้ในคลับแบบเด็กวัยรุ่นนะ สังขารไม่ให้แล้ว” 

“มันต้องมีคนที่อยากจะเจอครอบครัวแต่ไม่ได้เจอ อยากจะกลับบ้านแต่ก็ไม่ได้กลับ” 

“คนเร่ร่อนไง ครอบครัวไม่มี บ้านก็ไม่มี” – เราตอบไปด้วยความกวน แต่คริสเตียนหันขวับมาทันที 

“คนเร่ร่อน! เออ เราไปฉลองกับคนเร่ร่อนได้ เอาเงินที่จะไปกินข้าวมื้อใหญ่กับเงินที่จะซื้อของขวัญให้กันวันนี้ ไปซื้อของเล็กๆ น้อยๆ เป็นของขวัญคริสต์มาสให้คนเร่ร่อนหลายๆ คนแทนกันดีกว่า” 

เข้าป่ารัฐโคโลราโด สหรัฐฯ ลุยหิมะหาต้นสนคริสต์มาสมาฉลองคริสต์มาสกับคนไกลบ้าน

จากการนั่งคุยกันเรื่อยเปื่อยในคืนวันคริสต์มาสที่โคตรเหงาในบัวโนสไอเรสปีนั้น ก็ทำให้การแพ็กของเล็กๆ น้อยๆ ใส่กล่องไปให้คนไร้บ้านในวันคริสต์มาสอีฟ กลายเป็นการฉลองในแบบของคนไกลบ้านอย่างเราสองคนมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

และแม้ในวันนี้ที่ไม่มีคำถามว่า “คริสต์มาสปีนี้จะทำอะไร” เพราะทั้งคริสเตียนและเราจะไปเจอครอบครัวที่โคโลราโด้และไปตัดต้นสนคริสต์มาสจากในป่าด้วยกันอีก แต่เราสองคนก็ตั้งใจกันว่าจะยกเว้นของขวัญที่จะซื้อให้กันและเอาเงินนั้นไปเปลี่ยนเป็นความอบอุ่นเล็กๆ น้อยๆ ให้กับคนที่อาจจะต้องอยู่ไกลบ้านและอาจจะกำลังคิดถึงบ้านเหมือนที่เราสองคนเคยเป็นในระหว่างเทศกาลนี้ก็ได้ 🙂

Writer & Photographer

Avatar

เอมิลิญา รัตนพันธ์

สาวนครศรีฯ เรียนและทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เชียงใหม่ ก่อนจะเก็บกระเป๋ามาออกทริปมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่ปลายปี 2015 ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่เมืองเกวงกา ประเทศเอกวาดอร์ และยังคงเดินทางอยู่ :) Facebook ซ้อนท้ายมอไซค์ไปขั้วโลก