4 พฤศจิกายน 2021
4 K

‘Kitsuné’ คือคำภาษาญี่ปุ่น แปลว่า สุนัขจิ้งจอก สัตว์ในตำนานและสัญลักษณ์ของความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และเป็นชื่อเรียกในหมู่แฟนๆ ของไลฟ์สไตล์แบรนด์ในตระกูล Kitsuné
เริ่มจากค่ายเพลงในปารีสที่ปั้นศิลปินระดับโลกอย่างวง Two Doors Cinema Club แบรนด์แฟชั่น Maison Kitsuné ที่เน้นความคลาสสิกและเรียบง่ายซึ่งมีจุดขาย 400 แห่งทั่วโลก สู่ Café Kitsuné ที่มีโรงคั่วและเมล็ดกาแฟเบลนด์ของตัวเอง โดยหวังตอบโจทย์ลูกค้าได้หลากหลายกลุ่มที่สุด

แบรนด์ทำงาน Collaboration ร่วมกับแบรนด์ดังๆ จากทั่วโลก อาทิ Oliver Peoples, PUMA, 3CE Cosmetics, Samsung, Reebok Classic, Shu Uemura, MONTBLANC, the NBA และ ADER error

ธุรกิจภายใต้ชื่อนี้มีเป้าหมายเหมือนกัน คือนำเสนอศิลปะในการใช้ชีวิตให้ผู้คน ผ่านสินค้าและบริการที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความสุข 

นั่นไม่ใช่กลยุทธ์ทางธุรกิจที่อยากเพิ่มยอดขาย และขยายทาร์เก็ตไปสู่ลูกค้าทุกกลุ่ม แต่เป็นวิสัยทัศน์และความหลงใหลของสองผู้ก่อตั้ง ณ วันแรกเริ่ม 

“เรื่องราวแบรนด์ของเราไม่เหมือนกรณีศึกษาที่สอนในคณะบริหารฯ”

หนึ่งในนั้นว่าไปอย่างนั้น

และนี่คือเรื่องราวของพวกเขา

1. Maison Kitsuné เริ่มต้นจากค่ายเพลงที่มองไกลว่า อยากมีธุรกิจครอบคลุมไลฟ์สไตล์ผู้คน

10 เรื่องที่ทำให้ Maison Kitsuné เป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ขวัญใจผู้คน นำเสนอศิลปะการใช้ชีวิต

แบรนด์ก่อตั้งโดย จิลดาส์ โลแอ็ค (Gildas Loaëc) อดีตเจ้าของร้านขายแผ่นเสียงชาวฝรั่งเศส และมาซายะ คุโรกิ (Masaya Kuroki) สถาปนิกชาวญี่ปุ่นผู้เป็นลูกค้าขาประจำ 

จุดเริ่มต้นมาจากตอนที่จิลดาส์ต้องไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นในฐานะอาร์ตไดเรกเตอร์ของวง Daft Punk เขาต้องการไกด์ที่รู้เรื่องท้องถิ่น จึงชวนมาซายะไปด้วยกัน จนตกลงเป็นหุ้นส่วนทำค่ายเพลง Kitsuné Musique ธุรกิจแรกในนามของสุนัขจิ้งจอกใน ค.ศ. 2002 เริ่มจากการรวบรวมดีเจเก่งๆ มาทำอัลบั้ม Kitsuné Maison Comprehension และจัดกิจกรรมทัวร์คอนเสิร์ตในที่ต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์ให้มากขึ้น ก่อนจะต่อยอดมาเป็นธุรกิจแฟชั่นแ ละคาเฟ่ เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนหลายๆ แบบ”

2. ‘ศิลปะแห่งชีวิต’ คือดีเอ็นเอของทุกธุรกิจภายใต้ชื่อ Kitsuné

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับแบรนด์นี้คือ ธุรกิจที่ทำนั้นไม่เหมือนกันและอยู่แยกกันได้อย่างอิสระ แต่สำหรับ Kitsuné แล้ว ธุรกิจทั้งสามยึดโยงด้วยโจทย์เดียวคือ ‘Art de Vivre’ หรือศิลปะแห่งชีวิต เพื่อเข้าถึงชีวิตผู้คนให้มากที่สุด

แบรนด์เชื่อว่าทุกคนควรมีศิลปะในการใช้ชีวิต อาจจะเป็นด้านดนตรี ด้านแฟชั่น ศิลปะในการดื่มกาแฟที่รื่นรมย์และมีคุณภาพ หรือสิ่งอื่นๆ ที่เราหลงใหลในชีวิตประจำ 

Kitsuné Musique ทำเพลงมาสร้างความสุขให้คน
Maison Kitsuné ออกแบบเสื้อผ้าสดใหม่เพื่อความสนุกสนานในชีวิต

Café Kitsuné เป็นที่พักผ่อน มาแล้วมีความสุข สุขจากการฟังเพลงในร้าน สุขจากการดื่มกาแฟดีๆ

3. ให้ความสำคัญกับการผสมผสานวัฒนธรรม (Mixed Culture) 

เพราะแบรนด์เกิดขึ้นจากผู้ก่อตั้งสองสัญชาติ เลยทำให้ทุกรายละเอียดมีกลิ่นอายความเป็นฝรั่งเศสและญี่ปุ่นอยู่ด้วยกันโดยอัตโนมัติ แต่ไม่ว่าจะเป็นค่ายเพลง แบรนด์เสื้อผ้า หรือคาเฟ่ ก็ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นการผสมกันระหว่างวัฒนธรรมของสองชาตินี้เท่านั้น 

การผสมผสานวัฒนธรรมกลายเป็นแนวคิดหลักที่ทำให้แบรนด์แตกต่าง เช่น เพลงที่ใช้เครื่องดนตรีหลากหลาย การ Collaboration กับแบรนด์ชาติอื่นๆ หรือเมนูที่รังสรรค์ให้ประเทศนั้นโดยเฉพาะ เป็นการดึงจุดเด่นของวัฒนธรรมต่างๆ ออกมา และสร้างสินค้าที่ตรงกับดีเอ็นเอของแบรนด์มากที่สุด 

4. แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ Collab กับแบรนด์จากทั่วโลกมาแล้วมากกว่า 35 แบรนด์

Maison Kitsuné เกิดขึ้นใน ค.ศ. 2008 โดยมีจุดเด่น 2 ข้อใหญ่ๆ คือ Silhouette เนี้ยบกริบแบบฝรั่งเศส กับคุณภาพวัสดุและวิธีตัดเย็บแสนประณีตแบบญี่ปุ่น แต่เพราะตั้งใจจะสร้าง ‘ศิลปะแห่งชีวิต’ จึงเสาะหาแบรนด์ต่างๆ จากทั่วโลกมาทำงานร่วมกัน เพื่อออกแบบเสื้อผ้าและสินค้าไลฟ์สไตล์ที่แปลกใหม่ ทำให้ผู้ใช้มีความสุข ทั้งยังมีส่วนผสมระหว่างหลายวัฒนธรรมของแบรนด์ที่เลือกด้วยเช่นกัน

10 เรื่องที่ทำให้ Maison Kitsuné เป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ขวัญใจผู้คน นำเสนอศิลปะการใช้ชีวิต

สินค้า Collaboration ของแบรนด์นี้สนุกและน่าตื่นเต้นเสมอ ที่น่าสนใจกว่านั้น คือการร่วมงานไม่จำเป็นต้องอยู่ในอุตสาหกรรมใกล้เคียงกัน ซึ่งก็ตรงกับความหมายเชิงสัญลักษณ์ของสุนัขจิ้งจอก ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี

ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยทำงานร่วมกับ Pernod บริษัทเครื่องดื่มที่ฝรั่งเศส ก่อนจะจับมือกับ LINE FRIENDS ทำสติกเกอร์ หรือ Helinox ทำอุปกรณ์เอาต์ดอร์ ในฝั่งคาเฟ่ก็ทำงานร่วมกับหลายแบรนด์อย่าง KINTO จากญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่ง Le Chocolat des Français แบรนด์ช็อกโกแลต Made in France

ซึ่งการ Collaboration แต่ละครั้ง สำนักงานใหญ่ที่ฝรั่งเศสจะเป็นคนริเริ่ม โดยดูจากเทรนด์ในตอนนั้น และต้องเข้ากันได้กับความเชื่อหลักของ Maison Kitsuné 

5. คาเฟ่ที่มีโรงคั่วและเมล็ดกาแฟเบลนด์ของตัวเอง เพื่อสร้างมาตรฐานทั้งโลก

10 เรื่องที่ทำให้ Maison Kitsuné เป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ขวัญใจผู้คน นำเสนอศิลปะการใช้ชีวิต

วัฒนธรรมฝรั่งเศสและญี่ปุ่นก็เป็นส่วนหนึ่งของ Café Kitsuné เช่นกัน ไลฟ์สไตล์การดื่มกาแฟริมถนนเป็นของคนปารีส ส่วนตัวแทนของชาวญี่ปุ่นคือความพิถีพิถันในการเลือกเมล็ดกาแฟ 

คาเฟ่สุนัขจิ้งจอกมีสาขาในประเทศฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา จีน อินโดนีเซีย และไทย มีโรงคั่วของตัวเองที่เมืองโอคายาม่าและปารีส ร้านในเอเชียจะใช้กาแฟจากโรงคั่วที่ญี่ปุ่นทั้งหมด เลือกเมล็ดกาแฟจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นนิการากัว เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา ผสมเป็น Kitsuné Blend เพื่อสร้างมาตรฐานคุณภาพและรสชาติของกาแฟในทุกสาขา

6. เปิดกว้างให้ร้านในแต่ละประเทศออกแบบเมนูได้เอง เพราะพนักงานท้องถิ่นเข้าใจลูกค้าได้ดีกว่า

นอกจากเมนูขนมประจำที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมฝรั่งเศสและญี่ปุ่น คาเฟ่ในแต่ละประเทศยังสามารถเสนอเพิ่มเมนูพิเศษของตัวเองได้ เช่น สาขาในไทยมี Fox Latte และไอศกรีมแบบถ้วยซื้อกลับบ้าน ซึ่งแตกต่างจากหลายๆ แบรนด์สากลที่เน้นให้ทุกสาขาทั่วโลกเหมือนกันทั้งหมด

10 เรื่องที่ทำให้ Maison Kitsuné เป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ขวัญใจผู้คน นำเสนอศิลปะการใช้ชีวิต

Café Kitsuné มองว่าพนักงานท้องถิ่นจะเข้าใจกลุ่มลูกค้าดีกว่า จึงเปิดกว้างให้เสนอไอเดียใหม่ๆ ได้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดข้อได้เปรียบ 2 ข้อด้วยกัน หนึ่ง มีสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในประเทศนั้นจริงๆ และสอง เมื่อยืดหยุ่นและพร้อมรับไอเดียใหม่ๆ ก็ทำให้แบรนด์มีความสนุกสนานเกิดขึ้นตลอดเวลา

7. ใครก็สนุกกับความเป็นแบรนด์ Kitsuné ได้

แม้จะมีความสดใสกับความสนุกสนานเป็นเอกลักษณ์ และตอนเปิดแบรนด์ Maison Kitsuné และ Café Kitsuné ครั้งแรกในประเทศไทย ทีมการตลาดตั้งใจเจาะกลุ่มลูกค้าอายุระหว่าง 20 – 35 ปี แต่ท้ายที่สุดพบว่า มีคนทุกเพศทุกวัยเป็นลูกค้าประจำ ตั้งแต่เด็กนักเรียนจนถึงคุณพ่อวัยเกษียณ เหตุผลต้องย้อนกลับไปยังความตั้งใจแรกของแบรนด์ ที่อยากสร้าง Art of Life ทำให้สินค้าทุกชิ้นออกแบบอย่างเอาใจใส่ เรียบง่าย คลาสสิก และมั่นใจว่าใส่ได้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกัน บางไอเท็มก็ใส่กิมมิกเล็กๆ น้อยๆ ให้มีสีสันและสนุกสนานมากขึ้น 

ใครไม่สนใจแฟชั่นก็ยังมานั่งดื่มกาแฟฟังเพลงพร้อมขนมชิมซิกเนเจอร์ที่คาเฟ่ นั่นแปลว่าไม่ว่าคุณจะมีไลฟ์สไตล์แบบไหน ก็ดื่มด่ำกับความเป็นแบรนด์และศิลปะการใช้ชีวิตได้เหมือนกัน ซึ่งนั่นคือภาพใหญ่ที่ทั้งจิลดาส์และมาซายะมองไว้ตั้งแต่ต้น

8. บูรณาการ 3 ธุรกิจให้ส่งเสริมกันและกัน

แม้จะมี 3 ธุรกิจที่แตกต่างกัน แบรนด์ทั้งหมดภายใต้ชื่อ Kitsuné ก็นำจุดเด่นและสินค้าของตัวเองมาส่งเสริมกันและกันได้อย่างพอดี 

บรรยากาศในคาเฟ่เคล้าคลอด้วยเสียงเพลงจากค่ายเพลง เช่นเดียวกับร้านเสื้อผ้า นานๆ ทีมีดีเจมาเปิดเพลงสร้างความสนุกสนานอีกแบบ

ร้านเสื้อผ้าเองก็จับเอาเอกลักษณ์ของคาเฟ่ไปทำเป็นคอลเลกชัน มีทั้งเสื้อผ้า แก้ว หมวก กระเป๋า 

โดยทั้งหมดมีเป้าหมายเดียวกัน คือต้องการนำเสนอศิลปะการใช้ชีวิตให้มีความสุข ซึ่งยิ่งทำให้ความเป็นแบรนด์แข็งแรงและเป็นที่จดจำมากขึ้นอีก

9. ร้านที่ออกแบบอย่างดี จนกลายเป็นจุดเช็กอินของผู้มาเยือน

เนื่องจากมาซายะเป็นสถาปนิก การออกแบบสาขาต่างๆ ของทั้งร้านเสื้อผ้าและคาเฟ่จึงต้องละเอียด หลักการคือนำเอกลักษณ์ประจำวัฒนธรรมของประเทศที่ตั้งมาใช้ ให้เข้ากับบริบทและสภาพแวดล้อมรอบตัว เช่น ที่เกาหลีใต้ใช้ไม้ไผ่และสวน หรือที่ลอสแอนเจลิสเน้นโทนสีสด ให้เข้ากับบรรยากาศเมืองริมฝั่ง ส่วนที่กรุงเทพฯ ก็มีการหยิบบานไม้ฉลุจากชานอ้อยมาตกแต่ง พร้อมเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ท้องถิ่นของไทย ทุกสาขาจึงมีเอกลักษณ์ของตัวเอง แตกต่าง แต่อยู่บนหลักการเดียวกัน

คาเฟ่มีสาขาใน 7 ประเทศทั่วโลก ส่วนร้านบูติกมีถึง 16 สาขาในเมืองสำคัญๆ

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่มีขายเฉพาะสาขาแต่ละประเทศ ทำให้ Café Kitsuné และ Maison Kitsuné กลายเป็นมากกว่าร้านเสื้อผ้าและคาเฟ่ของคนท้องถิ่น แต่เป็นปลายทางของผู้มาเยือนที่ต้องไปเยี่ยมเยียนให้ได้

10 เรื่องที่ทำให้ Maison Kitsuné เป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ขวัญใจผู้คน นำเสนอศิลปะการใช้ชีวิต
10 เรื่องเบื้องหลัง Kitsuné Musique, Maison Kitsuné และ Cafe Kitsuné ไลฟ์สไตล์แบรนด์จากปารีสที่เชื่อในศิลปะในการใช้ชีวิต
10 เรื่องเบื้องหลัง Kitsuné Musique, Maison Kitsuné และ Cafe Kitsuné ไลฟ์สไตล์แบรนด์จากปารีสที่เชื่อในศิลปะในการใช้ชีวิต

10. สิ่งที่ทำให้แบรนด์กลุ่ม Kitsuné ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วคือ แพสชัน

ครั้งหนึ่งจิลดาส์เคยพูดไว้ว่า “เรื่องราวแบรนด์ของเราไม่เหมือนกรณีศึกษาที่สอนในคณะบริหารฯ” 

การทำธุรกิจไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทย์ความต้องการหลายอย่างของเขา ไม่ได้ตั้งต้นจากเป้าหมายทางการตลาด แต่เป็นความเชื่อ ตัวตน และสิ่งที่ทุกคนในทีมตั้งใจสร้างขึ้น 

จากค่ายเพลงที่ริเริ่มใน ค.ศ. 2002 มาเป็นแบรนด์เสื้อผ้าใน ค.ศ. 2008 และคาเฟ่ที่มีสาขาในหลายประเทศเมื่อ ค.ศ. 2013 เกิดเป็นระบบนิเวศ (Ecosystem) ในการใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะ ในแบบที่ผู้ก่อตั้งทั้งสองอยากเห็น

แต่จะยกความดีให้แพสชันสำหรับความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงหลักหน่วยปีคงไม่พอ ต้องให้เครดิตความมุ่งมั่นและความตั้งใจ รวมถึงภาพในหัวที่ชัดเจนตั้งแต่วันแรก 

ธุรกิจที่ 4 ในตระกูลสุนัขจิ้งจอกคือ Hotel Kitsuné ที่กำลังพัฒนาอยู่ คงต้องรอดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร

ภาพ : Maison Kitsuné

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล