2 กุมภาพันธ์ 2021
12 K

ภายในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หากกางแผนที่เพื่อตามหาหอศิลป์และพื้นที่ทางศิลปะในประเทศไทย เราจะพบว่าไม่ได้กระจุกตัวอยู่เพียงแค่ในเขตกรุงเทพมหานครอีกต่อไป แต่กลับกระจายไปทั่วประเทศ

ในภาคเหนือ ทั้งขัวศิลปะที่จังหวัดเชียงรายหรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะเชียงใหม่ ล้วนเป็นดั่งศูนย์กลางเพื่อจัดแสดงงานศิลปะของศิลปินล้านนา

ในภาคใต้ ปัตตานี อาร์ต สเปซ และหอศิลป์เดอลาแปร์ นราธิวาส ต่างร่วมกันอย่างขยันขันแข็งในการผลักดันผลงานของศิลปินจากภูมิภาคปาตานี

ในภาคอีสาน การเกิดขึ้นของเทศกาลศิลปะหัวขบถอย่างขอนแก่นมานิเฟสโต้ที่ขอนแก่น และในปีนี้เองเทศกาลศิลปะนานาชาติ Thailand Biennale จะจัดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา ทำให้บรรยากาศของการขับเคลื่อนศิลปะอบอวลไปทั่วประเทศ

หากใครสนใจท่องเที่ยวเชิงศิลปะวัฒนธรรม ทั้งยังมีความสนใจในศิลปะร่วมสมัย เมื่อมาเที่ยวเชียงใหม่แล้ว ต้องเคยได้ยินชื่อ ‘ใหม่เอี่ยม’ กันบ้างสักครั้ง พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยมตั้งอยู่บนถนนสันกำแพง ใกล้กับแยกบ่อสร้าง ชุมชนหัตถกรรมสร้างสรรค์ที่อยู่คู่กับเมืองเชียงใหม่มายาวนาน

ราว 4 ปีแล้วที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยว และกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญให้คนรักศิลปะได้มาแวะเยี่ยมเยียน ด้วยการจัดแสดงคอลเลกชันผลงานศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย ทั้งจากศิลปินไทยและศิลปินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ไปจนถึงการแสดงนิทรรศการหมุนเวียนที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับสังคมการเมืองและวัฒนธรรมร่วมสมัย ตัวอย่างเช่น นิทรรศการภาพถ่ายFor Those Who Die Trying (and those who endure) แด่นักสู้ผู้จากไป (และผู้ที่ยังต่อสู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนอยู่ต่อไป)’ โดย ลุค ดัลเกิลบี (Luke Duggleby) หรือนิทรรศการปัจจุบัน ‘สัตว์ร้าย พระเจ้า และเส้นสายลายลาก’ นิทรรศการที่จัดแสดงผลงานศิลปะและวัตถุทางวัฒนธรรมจากศิลปินในเอเชียแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำเสนอภาวะของความร่วมสมัยที่ออกไปจากกรอบแนวคิดของขอบข่ายลัทธิอาณานิคมตะวันตก โดยรวบรวมนำเสนอศิลปินที่มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันหลากหลายมารวมอยู่ด้วยกัน

พลังอีสานรุ่นใหม่ใน 'ใหม่อีหลี' แกลเลอรี่ คาเฟ่ และร้านหนังสือข้างบึงแก่นนคร ขอนแก่น
ภาพ : PO-D Architects

ปีนี้ส่วนหนึ่งของคอลเลกชันผลงานศิลปะร่วมสมัยจากใหม่เอี่ยม จะได้ขยับออกจากพื้นที่ภาคเหนือไปยังภาคอีสาน ณ ‘ใหม่อีหลี’ พื้นที่ศิลปะแห่งใหม่ข้างบึงแก่นนคร จังหวัดขอนแก่น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปะร่วมสมัย มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมทางสังคมการเมืองที่ตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์กระแสหลักในประเทศไทย รวมถึงทำหน้าที่เป็นเวทีสำหรับการชุมนุมสาธารณะ เปิดพื้นที่ในการถกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศิลปะและการมีส่วนร่วมในสังคม

ที่สำคัญที่สุดคือเพื่อสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก และแน่นอนว่าเพื่อเปิดเป็นทางเลือกให้ผู้ชมในภาคอีสานได้เห็นงานศิลปะร่วมสมัยที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงผู้ชมจากภายนอกภูมิภาคที่จะได้มีพื้นที่เข้าใจบริบทของภาคอีสานผ่านผลงานศิลปะ

คำว่าใหม่ที่อยู่ในชื่อทั้ง ใหม่เอี่ยม และ ใหม่อีหลี ต่างสะท้อนถึงความพยายามในการนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้แก่ผู้ชม ในอีกแง่หนึ่ง ทั้งสองพื้นนี้ต่างแสดงให้เราเห็นถึงการขยายพรมแดนขอบเขตพื้นศิลปะ ที่ไม่ใช่จากการรวมศูนย์กลางไว้ที่กรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว แต่เน้นย้ำความจำเป็นในการกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง ความน่าสนใจของพื้นที่ศิลปะนี้ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ในบทความนี้เราจึงอยากจะชวนคุยกับ เอริค บุนนาค บูทซ์ ผู้ก่อตั้งทั้งใหม่เอี่ยมและใหม่อีหลี เพื่อทำความรู้จักกับที่ไปที่มาของพื้นที่ศิลปะที่เกิดขึ้นใหม่มากมากนี้ไปพร้อมๆ กัน

พลังอีสานรุ่นใหม่ใน 'ใหม่อีหลี' แกลเลอรี่ คาเฟ่ และร้านหนังสือข้างบึงแก่นนคร ขอนแก่น
ภาพ : ปานวัตร เมืองมูล

ความสนใจในอีสาน ภูมิภาคที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง

เราเริ่มจากการถามถึงสาเหตุของการไปตั้งพื้นที่ศิลปะแห่งใหม่นี้ เหตุใดถึงต้องเป็นที่อีสาน คุณเอริคเล่าให้ฟังว่า ความผูกพันที่เขามีต่ออีสานนั้นยาวนานกว่าเชียงใหม่เสียอีก

“เริ่มจากผมได้ไปอีสานครั้งแรกในช่วงปี 80 กับคุณแม่ (พัดศรี บุนนาค) และพ่อบุญธรรม (ฌอง มิเชล เบอร์เดอร์เลย์ ผู้ร่วมก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยใหม่เอี่ยม) ในการเดินทางครั้งนั้นได้แวะเที่ยวปราสาทหินพิมาย พนมรุ้ง เมืองตาม จนประทับใจและสนใจภูมิภาคอีสานเรื่อยมา

“จนเมื่อได้เข้าทำงานกับบริษัทไหมไทย และได้รับมอบหมายให้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับโรงงานทอผ้าที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับชาวนากว่าพันชีวิตทั่วภาคอีสานที่ร่วมช่วยเราเลี้ยงหนอนหม่อนไหม ในเวลาเดียวกันนั้น ผมก็ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้ผมมีความสนใจอย่างในปัจจุบัน เช่นการที่ คุณจิม ทอมป์สัน เคยมีความสนิทสนมกับ เตียง ศิริขันธ์ ขบวนการเสรีไทยในระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และเขารู้สึกโศกเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้งจากการที่เพื่อนพร้อมกับรัฐมนตรีอีสานอีกสี่คนถูกจับตัวไปฆาตกรรม

“ในเชิงวัฒนธรรม ผมได้ท่องเที่ยวตลอดหลายปีทั่วภูมิภาคนี้ สำหรับการทำงาน ผมคิดมาเสมอถึงการสะสม ซ่อมแซม และอนุรักษ์บ้านไม้แบบอีสานไว้ แน่นอนว่าแนวความคิดนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากคุณจิม ทอมป์สัน อีกเช่นกัน ตั้งแต่ยุค 50 ที่คุณจิมได้เริ่มเก็บบ้านไม้ในรูปแบบภาคกลาง หรือที่ทุกวันนี้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน” เขาเสริมความ

ปัจจุบัน นอกจากในส่วนพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงชุดสะสมส่วนตัว ทั้งวัตถุและจิตรกรรมโบราณ บริเวณเดียวกันนั้นยังมีหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ที่จัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัย และห้องสมุดวิลเลี่ยม วอร์เรน ที่ผู้ชมเข้าไปใช้บริการอ่านหนังสือและชมงานศิลปะร่วมสมัยได้ใจกลางกรุงเทพฯ

“ในอดีต ที่ฟาร์มไหมจิม ทอมป์สัน เราเริ่มเปิดให้เข้าชม มีการพาทัวร์ท่องเที่ยว แต่เป็นเพียงการชมดอกไม้เท่านั้น เมื่อเล็งเห็นว่ามีนักท่องเที่ยวมากมายมาเยี่ยมชมจากกรุงเทพฯ การจัดแสดงบ้านไม้โบราณเหล่านี้น่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่จะแนะนำวัฒนธรรมอีสาน เราเริ่มเก็บสะสมบ้านไม้โบราณที่ถูกทิ้งร้าง และซ่อมแซมทั้งหมดกว่ายี่สิบหลัง รวมถึงเชื้อเชิญให้ช่างฝีมือจากทั่วทั้งภูมิภาคให้มาซ่อมแซมบ้านไม้เหล่านี้ให้สมบูรณ์อีกครั้งเป็นเวลาอีกหลายเดือน”

นอกเหนือไปจากส่วนที่เป็นเชิงวัฒนธรรมแล้ว เขายังได้เชื้อเชิญ กฤติยา กาวีวงศ์ จากภัณฑารักษ์หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ให้เข้ามาช่วยจัดโครงการศิลปินในพำนักและโครงการศิลปะในฟาร์ม โดยเป็นการผสมผสานทั้งวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ากับความร่วมสมัยไปพร้อมๆ กัน

แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมด เขาเล่าให้เราฟังอย่างภูมิใจในความเป็นท่องราตรีตัวยง ทำให้คุณเอริคเป็นขาประจำที่ซอยคาวบอย ซอยพัฒพงศ์ และซอยนานา มาตั้งแต่สมัยครั้งยังวัยรุ่น เกิดเป็นความคุ้นเคยกับสาวสวยเหล่านั้น จนถึงตามพวกเธอไปเยี่ยมที่บ้านในแถบอีสานหลายต่อหลายครั้ง

ประสบการณ์เหล่านี้ส่งอิทธิพลให้เขาสนใจในวัฒนธรรมอีสาน รวมไปถึงความสนใจในยุคสงครามเย็น อันเป็นช่วงเวลาต้นกำเนิดของสถานบริการเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ความสนใจในวัฒนธรรมบันเทิงอีสานนี้นำไปสู่การสนับสนุนให้เกิดโปรเจกต์นิทรรศการรถหมอลำ โดยมี อาทิตย์ มูลสาร เป็นทั้งผู้จัดการ ภัณฑารักษ์ และคนขับรถ

นิทรรศการเคลื่อนที่นี้นำเสนอทั้งสาระความรู้จากเนื้อหาของกลอนลำ อันเป็นดั่งหน้าบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่พัฒนาการจากความเชื่อศาสนาและชีวิตประจำวัน โดยเกี่ยวพันกับการเมืองและสะท้อนสภาพสังคมไทยในแต่ละยุคสมัย ในเวลาเดียวกันรถบัสคันนี้ก็เป็นดั่งเวทีให้วงหมอลำทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ได้ขับเคลื่อนนำเอาอัตลักษณ์ความบันเทิงแบบอีสานไปทั่วทุกหนแห่ง

ใหม่อีหลี พื้นที่ศิลปะที่อยากช่วยขับเคลื่อนสังคม

นอกจากขอนแก่นจะเป็นหัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญของภาคอีสาน มีประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองที่น่าสนใจ อีกทั้งยังส่งต่อจิตวิญญาณของนักสู้มาถึงปัจจุบัน ในด้านศิลปะร่วมสมัย นอกจากจะมีคณะคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่คอยบ่มเพาะเมล็ดพันธ์ุศิลปะแล้ว ยังมีพื้นที่ศิลปะเชิงทดลอง และพื้นที่ศิลปะทางเลือกที่น่าสนใจอีหลายแห่ง ทั้ง HUAK Society, YMD อาร์ต สเปซ

และที่สำคัญ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 มีการจัดเทศกาลศิลปะขอนแก่นเมนิเฟสโต้ที่ริเริ่มโดย ถนอม ชาภักดี ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณเอริคติดตามอย่างชื่นชม และกล่าวว่าตัวเขาเองภูมิใจเสมอที่ได้ร่วมสนับสนุนกิจกรรมนี้ นี่คือจุดเริ่มต้นของความต้องการสร้างพื้นที่ทางศิลปะในขอนแก่น จนเกิดเป็น ‘ใหม่อีหลี’ ด้วยความหวังที่จะทำงานร่วมกับศิลปิน ภัณฑารักษ์ชาวอีสาน หรือแม้กระทั่งกับศิลปินไทยในภูมิภาคอื่นที่สนใจทำงานเกี่ยวกับบริบทของความเป็นอีสาน

พลังอีสานรุ่นใหม่ใน 'ใหม่อีหลี' แกลเลอรี่ คาเฟ่ และร้านหนังสือข้างบึงแก่นนคร ขอนแก่น
ภาพ : PO-D Architects

ใหม่อีหลีเป็นอาคารขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็ก สูง 2 ชั้น ตั้งอยู่กับติดบึงแก่นนคร ห่างกันเพียงหนึ่งถนนกั้น ขณะที่ใหม่เอี่ยมเป็นจุดมุ่งหมายที่ต้องตั้งใจไปชม ใหม่อีหลีกลับปักหลักอยู่ท่ามกลางชุมชน

อาคารแห่งนี้ประกอบรวมด้วยพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ คาเฟ่ และร้านหนังสือ ออกแบบโดย พหลไชย เปรมใจ สถาปนิกชาวอีสาน ผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิก พอดี จำกัด และนอกจากจัดแสดงนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยแล้ว การบรรยาย การฉายภาพยนตร์ การแสดงสด และการแสดงดนตรี จะถูกจัดสับเปลี่ยนหมุนเวียนมาให้ชมอย่างต่อเนื่อง

พลังอีสานรุ่นใหม่ใน 'ใหม่อีหลี' แกลเลอรี่ คาเฟ่ และร้านหนังสือข้างบึงแก่นนคร ขอนแก่น
ภาพ : PO-D Architects

การเปิดตัวใหม่อีหลีในครั้งนี้เป็นไปพร้อมกับเทศกาลศิลปะขอนแก่นมานิเฟสโต้ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อเฮือนแม่จ้าง ข้างอนุสาวรีย์นางงามที่ บขส. โดยใหม่อีหลีได้จัดแสดงผลงานของศิลปินกว่า 8 คน ผลงานที่คัดสรรมาจัดแสดงในอาคารจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยการตั้งคำถาม ทั้งเรื่องของอัตลักษณ์ และประวัติศาสตร์พื้นที่ความเป็นอีสาน โดยจัดแสดงผลงานของทั้งศิลปินอีสานและจากภูมิภาคอื่น ทั้งวิลาวัณย์ เวียงทอง, ชมพูนุท พุทธา, นพวรรณ สิริเวชกุล โดยที่ทั้งสามคนได้จัดแสดงศิลปะแสดงสดในวันเปิดงานเทศกาลด้วย อีกทั้งยังมีผลงานจิตรกรรมโดย ประทีป สุธาทองไทย และผลงานภาพถ่ายของ อําพรรณี สะเตาะ

พลังอีสานรุ่นใหม่ใน 'ใหม่อีหลี' แกลเลอรี่ คาเฟ่ และร้านหนังสือข้างบึงแก่นนคร ขอนแก่น
ภาพ : Fabian Drahmoune

เมื่อเดินมาถึงชั้นสองแว่วเสียงบทกลอนขับขานกลายเป็นบรรยากาศของพื้นที่ ระหว่างทางเดินโครงกระดูกร่างกายมนุษย์วางขวางอยู่กับพื้น ตรงกันข้ามกันมีหุ่นถูกแขวนอยู่ บทกวีที่ขับกล่อมนี้เสมือนสะท้อนเสียงจากโครงกระดูกของภูติผี เศษซากของโครงกระดูกที่โหยหาความยุติธรรมนี้เป็นผลงานของ วรพันธุ์ อินทรวรพัฒน์ ผู้ล่วงลับ ในห้องขนาดเล็กขวามือนั้น ทาทั้งห้องให้เป็นสีเหลืองสว่างไสว ตรงกลางห้องมีขนนกสีแดงทำมาจากเซรามิกแขวนลอยค่อยๆ แกว่งไหวไปมา

พลังอีสานรุ่นใหม่ใน 'ใหม่อีหลี' แกลเลอรี่ คาเฟ่ และร้านหนังสือข้างบึงแก่นนคร ขอนแก่น
ภาพ : Fabian Drahmoune
พลังอีสานรุ่นใหม่ใน 'ใหม่อีหลี' แกลเลอรี่ คาเฟ่ และร้านหนังสือข้างบึงแก่นนคร ขอนแก่น
ภาพ : Fabian Drahmoune
พลังอีสานรุ่นใหม่ใน 'ใหม่อีหลี' แกลเลอรี่ คาเฟ่ และร้านหนังสือข้างบึงแก่นนคร ขอนแก่น
ภาพ : Fabian Drahmoune

ผลงานชิ้นนี้เป็นของศิลปินหนุ่มจากกรุงเทพฯ ณัฐดนัย จิตต์บรรจง The Royal Standard (พ.ศ. 2563) ผลงานศิลปะจัดวางชิ้นนี้เสมือนพาเราเข้าไปอยู่ในผืนธงมหาราชในเวอร์ชันที่ลดทอนลงมาเป็นนามธรรมอย่างมีนัยยะสำคัญ ธงมหาราชเป็นธงพระอิสริยยศประเภทหนึ่ง รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส พื้นสีเหลืองตรงกลางมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง สำหรับศิลปิน สัญลักษณ์ของครุฑเป็นดังการเปรียบเปรยถึงอำนาจการปกครองจากส่วนกลางที่แพร่เข้าไปในภาคอีสาน ดินแดนที่มีความเชื่อพื้นเมืองเรื่องพญานาค อันเป็นศัตรูคู่อาฆาตกับพญาครุฑ เช่นเดียวกับที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ที่จังหวัดขอนแก่นนี้ จึงไม่มีที่ใดที่เหมาะเจาะไปกว่าพูดเรื่องการเข้ามาของการรวมศูนย์อำนาจไปกว่าที่ขอนแก่น

ขยับขึ้นบันไดไปอีกนิดจะเจอชั้นลอยที่เป็นโถงยาว มีผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่กว่า 6 เมตรต้อนรับเราอยู่ ภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบนั้น ‘ไม่มีชื่อ’ (พ.ศ. 2555 – 2556) จิตรกรรมนี้มีฉากหลังเป็นท่าเรือสักแห่ง รายละเอียดในภาพ มีกลุ่มคนทั้งชายหญิงรายล้อมทั้งฝั่งซ้ายและขวาของภาพ แต่กลับไม่มีประธานของภาพปรากฏอยู่ องค์ประกอบภาพแบบนี้เมื่อพินิจดูแล้วอาจจะคุ้นตาดูอยู่บ้าง เนื่องจากศิลปินได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานของ กาลิเลโอ กินี (Galileo Chini) ภาพจิตรกรรมบนโดมที่พระที่นั่งอนันตสมาคม จากฉากสมเด็จพระปิยมหาราชทรงเลิกระบบทาสในสยาม ภาพเดียวกันนี้เองที่ปรากฏอยู่บนมุมซ้ายของธนบัตรใบละ 100 บาท รุ่นรัชกาลที่ 5

พลังอีสานรุ่นใหม่ใน 'ใหม่อีหลี' แกลเลอรี่ คาเฟ่ และร้านหนังสือข้างบึงแก่นนคร ขอนแก่น
ภาพ : Many Cuts Art Space

จิตรกรรมไม่มีชื่อชิ้นนี้เป็นของ วีรยุทธ โพธิ์ศรี เขาสนใจการใช้ภาพของประชาชนหรือชาวบ้านในกิริยาการกราบไหว้ให้เป็นส่วนหนึ่งของรูปวาดในฉากภาพประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับการตั้งคำถามต่องานศิลปกรรมแบบไทยนิยมที่เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ช่วงเวลาที่งานศิลปกรรมในประเทศไทยได้หวนกลับมาสู่รูปแบบไทยนิยม และในสมัยเดียวกันนี้เองที่เป็นยุคเริ่มต้นของการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ และกลายเป็นรากฐานความเป็นไทยที่มีอิทธิพลต่อศิลปินและคนเรียนศิลปะจวบจนปัจจุบัน

เมื่อหน้ากระดาษไม่อาจบรรยายถึงผลงานที่จัดแสดงทั้งหมด เราจึงอยากเชิญชวนท่าน ให้เข้ามาแวะมาเยี่ยมชมใหม่อีหลีด้วยตนเอง สุดท้ายนี้เราทิ้งคำถามปิดท้ายให้คุณเอริค ขอเขาให้แง้มบอกแผนในอนาคตอันใกล้ของใหม่อีหลีให้เราฟังเสียหน่อย เผื่อใครที่จะเดินทางไปขอนแก่นในปีนี้

“เราวางแผนจะมีนิทรรศการหมุนเวียนระยะสั้น อาจจะเป็นนิทรรศการละสามเดือน โดยในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ เราจะจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับและศิลปินที่เป็นคนขอนแก่น

“ในอนาคต เราอยากแสดงผลงานศิลปะในคอลเลกชันอีกหลายชิ้นจากศิลปินชาวอีสาน หรือได้รับแรงบันดาลใจมาจากบริบทของสังคมอีสาน ไม่ว่าจะเป็นผลงานของ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ผลงานภาพเคลื่อนไหวบันทึกบทเพลงของหมอลำที่จัดแสดงในเทศกาล Documenta ครั้งที่ 14 หรือแม้แต่ พินรี สัณฑ์พิทักษ์ ก็เคยเติบโตและเรียนหนังสือที่จังหวัดขอนแก่นเช่นกัน รวมถึงเราอยากทำงานร่วมกับศิลปินและภัณฑารักษ์อีกหลายท่าน เช่น ปรัชญา พิณทอง, วรเทพ อรรคบุตร หรือศิลปินภัณฑารักษ์รุ่นใหม่คนอื่นๆ ผมหวังว่าเขาอยากจะทำงานร่วมกันกับใหม่อีหลีด้วยเช่นกัน

“แม้ว่าจะรู้ว่าเชียงใหม่เป็นเมืองของศิลปิน แต่ผมแทบจะไม่รู้จักใครที่เชียงใหม่เลยในตอนที่ผมเริ่มทำใหม่เอี่ยม แต่วันนี้ผมมีเพื่อนที่ดีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นศิลปินหรือนักสร้างสรรค์ที่อยู่ที่เชียงใหม่ และหวังว่ามิตรภาพอันดีจะเกิดขึ้นในแบบเดียวกันที่ขอนแก่น”

สุดท้ายนี้ เขาบอกเราว่า “มันจะสนุกมากกว่าที่จะลงมือทำ มากกว่าพูดพล่ามไปเรื่อยๆ !”

ใหม่อีหลีจะเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 นี้ โดยเปิดให้เข้าทุกวันยกเว้นวันอังคาร ตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น. และไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม

Writer

กิตติมา จารีประสิทธิ์

กิตติมา จารีประสิทธิ์

วิญญาณขี้เมาสิงสู่อยู่ในมิวเซียม ติดตามผลงานการหลอกหลอนได้ผ่าน www.waitingyoucuratorlab.com