27 กุมภาพันธ์ 2019
22 K

เมื่อกลางปีที่แล้ว กรมศิลปากรมีโครงการเล่าเรื่องวังหน้า ผ่านโครงการและนิทรรศการชื่อ ‘วังน่านิมิต’ โดยมี คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน รับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโครงการ และ จิตติ เกษมกิจวัฒนา รับหน้าที่ภัณฑารักษ์ งานนั้นจัดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

และคุณใหม่ได้พาผู้อ่าน The Cloud ไปชมวังหน้าด้วยตัวเอง กับกิจกรรม Walk with The Cloud 08 : The Hidden Palace

ครั้งนั้น The Cloud มีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณใหม่แบบยาวเหยียด ในบทสัมภาษณ์ ‘คุณใหม่ เจนเซน นักประวัติศาสตร์ที่ขี่จักรยาน ปีนเขา ถ่ายรูปด้วยเลนส์เก่า และชอบคุยกับคน’

ครั้งนี้ The Cloud ได้กลับมาสนทนากับคุณใหม่อีกครั้ง เพราะคุณใหม่กำลังทำเตรียมโครงการภาคต่อ ‘วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา’ ซึ่งมีส่วนหนึ่งในงานเป็นนิทรรศการชื่อ ‘นัยระนาบนอก อินซิทู: แปลงร่างอดีตในหลืบแห่งปัจจุบัน’ จะจัดในวันที่ 6 มีนาคม – 28 เมษายน 2562 ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยมี นาตาลี บูแตง คุณใหม่ และ แมรี่ ปานสง่า เป็นคณะภัณฑารักษ์

งานนี้บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ด้วยวิธีการที่ถือว่าแปลกใหม่ในประเทศไทย นั่นก็คือ ไม่ใช่นิทรรศการที่เล่าประวัติของวังหน้า แต่ชวนศิลปินและผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาเข้ามาสร้างสรรค์ผลงานโดยได้รับแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์ของวังหน้า รายชื่อของศิลปินและผู้เชี่ยวชาญ มีดังนี้

ธณัฐชัย บรรดาศักดิ์ (ศิลปิน)

ออน คาวารา (ศิลปิน)

อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ (ศิลปิน)

นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ (ศิลปิน)

ปรัชญา พิณทอง (ศิลปิน)

ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช (ศิลปิน)

หยัง โว (ศิลปิน)

จารุพัชร อาชวะสมิต (นักออกแบบสิ่งทอ)

ประพจน์ อัศววิรุฬหการ, พงศ์ศิษฏ์ ปังศรีวังศ, บุญเตือน ศรีวรพจน์ และ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา)

คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู (นักดนตรี)

สายัณห์ แดงกลม (นักประวัติศาสตร์ศิลปะ)

ชุดารี เทพาคำ (เชฟ)

สุวิชชา ดุษฎีวนิช (ประติมากรสร้างสรรค์ตามลักษณะงาน)

กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ (นักพฤกษศาสตร์)

สุพิชชา โตวิวิชญ์ และ ชาตรี ประกิตนนทการ (สถาปนิก)

ตุล ไวฑูรเกียรติ และ Marmosets (นักดนตรี)

นอกจากรายชื่อศิลปินแล้วจะน่าตื่นตาตื่นใจแล้ว แนวคิดของคุณใหม่ในการสื่อสารเรื่องประวัติศาสตร์ผ่านงานนิทรรศการงานทดลองชิ้นนี้ก็ยังน่าสนใจมาก

เรื่องเป็นเช่นนี้

คุณใหม่ สิริกิติยา เจนเซน คุณใหม่ สิริกิติยา เจนเซน

วังหน้านฤมิตฯ ต่างจากงานวังน่านิมิตอย่างไร

แนวคิดคล้ายกัน เราวางไว้ตั้งแต่แรกว่าจะไม่ได้ทำแค่นิทรรศการเดียว เราต้องการเล่าเรื่องใหญ่ที่มีหลายบท งานแรก ‘วังน่านิมิต’ เป็นชื่อเดียวกันโครงการและนิทรรศการ เป็นเรื่องการจินตนาการ ถ้าคนได้เข้าไปในพื้นที่จะจินตนาการเห็นอะไร สร้างภาพแบบไหน

โครงการนี้ชื่อ ‘วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา’ เป็นเรื่องการสร้างสรรค์ ถ้าเอาคนที่หลากหลายเข้าไปในพื้นที่ เขาจะคุยอะไรกัน สร้างสรรค์เรื่องราวอะไรขึ้นมา ทุกอย่างในงานจริงเป็นการสร้างสรรค์ แม้กระทั่งชื่อนิทรรศการ เราก็ชวนคนมาตั้งชื่อ นิทรรศการนี้จึงมีชื่อว่า ‘นัยระนาบนอก อินซิทู: แปลงร่างอดีตในหลืบแห่งปัจจุบัน’

ประวัติศาสตร์คือชุดของความทรงจำของแต่ละคนในยุคหนึ่ง มีหลายมิติ และเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา มันจึงมีหลากหลายเรื่องราว มุมของสถาปนิกก็แบบหนึ่ง นักภาษาศาสตร์ นักการเมือง นักเขียน ก็ไม่เหมือนกัน แต่เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นประวัติศาสตร์ก้อนเดียวกันที่มีหลายมิติ เราคิดแบบนี้ตั้งแต่งานแรก แต่งานนี้เราจะทำให้เห็นชัดขึ้น ประวัติศาสตร์ที่แต่ละคนเห็นตรงหน้าไม่เหมือนกัน มันมีหลายมิติเวลา หลายมุมมอง ทำยังไงให้คนเห็นว่ามิติต่างๆ ในประวัติศาสตร์มันไปด้วยกันได้ และเขาก็สร้างเรื่องราวประวัติศาสตร์ในมุมของเขาเองได้ ให้มันต่อเนื่องกันไป งานนี้เราจะได้เห็นมุมมองของหลายฝ่าย โดยที่จะไม่มีการชักจูงอะไร

ไม่ค่อยมีคนเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ด้วยวิธีนี้สักเท่าไหร่

เราได้แรงบันดาลใจจากงานของ Tasneem Mehta ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ Bhau Daji Lad (BDL) ในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย เขาอยากให้คนคุยกันเรื่องประวัติศาสตร์ เพราะถ้าไม่คุยกัน ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมก็จะตาย ไม่ต่อเนื่องไป เขาเข้าไปบูรณะอาคารร้างที่สร้างในยุคที่อังกฤษเข้ามา แล้วก็ไปดึงศิลปิน ปะติมากร จิตรกร นักเต้น นักร้อง ให้มาสร้างสรรค์งานโดยตีความจากโบราณวัตถุ เขาบอกว่านี่คือวิธีที่ทำให้คนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทำให้ประวัติศาสตร์มีชีวิต

งานวังหน้านฤมิตฯ คุณใหม่ชวนใครมาร่วมบ้าง

ตอนแรกเราชวนศิลปินร่วมสมัย เป็น Visual Artist ทั้งคนที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต (หัวเราะ) ทำไปก็พบว่ามันมีแค่มุมมองเดียว คือมุมของศิลปินร่วมสมัย เราอยากให้มันรอบด้านกว่านี้ เลยเพิ่มคนสาขาอื่นๆ เข้ามา ทั้งนักภาษาศาสตร์ นักวิชาการ สถาปนิก นักพฤกษศาสตร์ เชฟ ตอนแรกก็ไม่คิดว่ามุมมองจะหลากหลายขนาดนี้

งานนี้มีศิลปินมาร่วมสร้างงาน 7 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ อีก 14 คน ทำไมถึงมากขนาดนี้

พิพิธภัณฑ์ต้องไม่ใช่สิ่งไกลตัว ควรเป็นสิ่งที่คนเข้าไปสัมผัสข้อมูลได้ มีส่วนร่วมได้ และสร้างบทสนทนาได้ ที่ผ่านมาคนมักจะมองว่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑ์อยู่ไกลตัว ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในปัจจุบัน เราอยากให้คนมองว่าประวัติศาสตร์อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด ให้เขาได้ลองเข้าไป ได้คิด ได้เลือก โดยไม่ต้องสนใจว่าจะเลือกผิดหรือถูก กล้าสร้างสรรค์ประวัติศาสตร์ในมุมของตัวเอง ทำให้ประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่สิ่งที่มีอยู่แค่ในอดีต งานนี้เราเน้นคำว่าสร้างสรรค์ เพราะประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่มีชีวิต ถ้าเราไม่สร้างสรรค์ ไม่มีการคุย ไม่ทำให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจุบัน คนจะไม่เข้าใจว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของวิวัฒนาการ ทำให้เราไม่เก็บข้อมูลที่มีในปัจจุบัน นี่คือปัญหา เพราะเรื่องราวของแต่ละคนจะหายไป พระเอกของงานนี้คือศิลปินและผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ ซึ่งปกติแล้วเขาไม่มีโอกาสได้เข้ามาสร้างสรรค์งานในพื้นที่

คุณใหม่ดูจะสนใจเรื่องของมิติเวลา

เวลาที่นึกถึงพิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ เราจะคิดว่ามันเป็นเรื่องอดีตอย่างเดียว แต่เราต้องเข้าใจว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงระหว่างเวลา มันเป็นธรรมชาติ เป็นความจริงของโลกนี้ว่าทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่เป็นอดีตไม่ได้หายไป มันมีร่องรอยอยู่รอบตัวเราหมดเลย ทุกอย่างมีความเป็นมาเป็นไป มา และไป และอยู่ เราต้องคิดว่าทำยังไงให้คนไม่ทิ้งอดีต และทำให้คนมีส่วนร่วมกับปัจจุบัน ประวัติศาสตร์จะได้ถูกส่งต่อไปยังอนาคต เราต้องนึกถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต พร้อมกัน

คุณใหม่ สิริกิติยา เจนเซน คุณใหม่ สิริกิติยา เจนเซน

คุณใหม่มองวังหน้าผ่านมิติของภาษาแบบไหน

เราเป็นนักอักษรศาสตร์ สนใจเรื่องภาษา การใช้คำ การเรียงคำ มันมีมิติที่ซ่อนอยู่ในคำ เล่าเรื่องที่อาจจะมองไม่เห็น งานนี้เราพูดถึงเรื่องพระนามของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เราชวนนักภาษาศาสตร์อาวุโสของกรมศิลป์ อาจารย์จากจุฬาฯ พราหมณ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาสันสกฤต มาถอดคำ วิเคราะห์การใช้คำของรัชกาลที่ 4 เพราะทรงพระปรีชาสามารถเรื่องการใช้ภาษามาก

เราศึกษาการเปลี่ยนแปลงของการปกครองโดยกษัตริย์ได้ผ่านชื่อของกษัตริย์ ยุคสุโขทัยกษัตริย์อยู่กับชุมชน ยุคอยุธยาได้รับอิทธิพลจากอินเดีย จากฮินดู เข้ามาเยอะ กษัตริย์จึงเป็นเหมือนสมมติเทพ อยู่สูงมาก ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน ประชาชนไม่สามารถเอ่ยพระนามท่านได้ คนทั่วไปไม่รู้พระนามกษัตริย์เลย และพระนามของท่านก็ไม่ได้ระบุลักษณะความเป็นบุคคลเฉพาะ

ยุครัชกาลที่ 4 ทรงผนวชอยู่ 27 ปี ทรงทราบว่าชื่อเป็นสิ่งสำคัญเพราะมีพลังของคนอยู่ในนั้น มีเรื่องโหราศาสตร์ ตำราพิชัยสงคราม มาเกี่ยวข้อง ชื่อจะเป็นตัวกำหนดโชคชะตาของคน ถ้าเราอยากให้เขาเป็นแบบนี้ ก็ตั้งชื่อนี้ ชื่อทำให้คนมีชีวิต มีตัวตนอยู่ในโลกมนุษย์

กษัตริย์มี 2 ชื่อ คือพระนาม (ชื่อเดิม) กับพระบรมนามาภิไธย (ชื่อกษัตริย์) รัชกาลที่ 4 เป็นพระองค์แรกที่ทรงพระบรมนามาภิไธยเอง และทรงพระบวรนามาภิไธยของพระปิ่นเกล้า และเป็นครั้งแรกที่มีการใส่พระนามในพระบรมนามาภิไธย เราจึงเห็นเรื่องราวมากมายอยู่ในชื่อ และเห็นถึงความเชื่อมโยงของชื่อทั้งสอง ถ้าใครสนใจก็มาร่วมฟังเสวนาได้ ‘ผัสสะแห่งส่ิงที่จับต้องไม่ได้: นัยแห่งพระปรมาภิไธย’ วันที่ 10 มีนาคม

เรื่องดนตรีมีมิติไหนที่น่าสนใจบ้าง

เพลงเป็นวิธีบันทึกประวัติศาสต์แบบหนึ่ง เราชวนคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลูของ ครูดุษฎี พนมยงค์ ให้เอาเพลงโบราณมาเรียบเรียงด้วยเสียงและดนตรีที่ร่วมสมัย ทำให้เห็นว่าปัจจุบันกับอดีตอยู่ด้วยกัน จะร้องในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย อีกกลุ่มหนึ่ง ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า และ Marmosets จะทำเพลงจากบทกวีของพระปิ่นเกล้าและใช้เสียงระนาดเหล็กที่ทำในสมัยนั้น เป็นการรวมประวัติศาสตร์ 2 ยุคเข้าด้วยกัน

ทำไมถึงชวนศิลปินอินดี้อย่างตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า มาร่วมงานนี้

ชอบเขานะ (หัวราะ) เขาเป็นคนเขียนเพลงที่เก่ง มีการใช้คำ เล่นคำ มีมุมมองที่น่าสนใจ เขาพูดตั้งแต่ต้นว่า เขาอาจจะไม่เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เท่าไหร่ แต่ตอนที่เขาเข้าไปในพื้นที่เขารู้สึกถึงความสำคัญของพื้นที่ ซึ่งอยากอธิบายเป็นบทเพลง สิ่งที่สร้างขึ้นมาคือสิ่งที่เป็นตัวเขาเอง แต่ประวัติศาสตร์ไม่หายไปเลย มันอยู่ในนั้น ชัดเลย การทำเพลงก็คือการเอาประวัติศาสตร์ในมุมของเขามาสื่อสารถึงคนด้วยวิธีที่ทุกคนเข้าใจ

คุณใหม่ สิริกิติยา เจนเซน

ได้ยินว่างานของคุณฤกษ์ฤทธิ์คือการเล่าเรื่องผีในวังหน้า

ไม่ใช่เรื่องผีแบบที่อยู่ในหนังนะ (หัวเราะ) ในพื้นที่มีหลายมิติของเวลาที่อยู่พร้อมกัน มีสิ่งที่เราเห็นกับตาและสิ่งที่มองไม่เห็น แต่เป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าเข้าไปในห้องตอนนี้เราจะเห็นภาพหนึ่ง แต่เมื่อ 50 ปีก่อน อะไรอยู่ตรงนี้ 70 ปีก่อนล่ะ 100 ปีก่อนล่ะ เราจะเลือกมองอันไหน เพราะมันอยู่พร้อมกัน ผีก็คือมิติของเวลา ฤกษ์ฤทธิ์นำเสนอสิ่งนี้ มีการตีความโบราณวัตถุ เอาเรื่องราวที่อยู่ในพื้นที่ยุคนั้นออกมาให้คนดูด้วยวิธีที่ง่ายขึ้น

แล้ว Chef’s Table ของเชฟตามจะเล่าเรื่องอะไร

งานที่เราทำกับเชฟตามหรือวงสวนพลูถือเป็นนิทรรศการ แต่เราสื่อสารด้วยรูปแบบที่ต่างไป การทำกับข้าวเป็นวิธีแสดงความเป็นบุคคลและประวัติศาสตร์ที่คนทั่วไปเข้าใจและรับได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่แค่ตัวหนังสือ แต่เป็นอาหาร ซึ่งเราแลกเปลี่ยนและคุยกันได้ เรากับเชฟตามคุยกันบ่อยว่าเขาเห็นอะไร อยากพูดอะไร อยากเล่าอะไร ผ่านอาหาร

ไม่ใช่การทำอาหารย้อนยุค

ถ้าทำแบบนั้นก็เป็นเรื่องเดิม เราคุยกับศิลปินทุกคนตั้งแต่แรกว่าเราย้อนกลับไปอดีตไม่ได้นะ ทุกสิ่งที่เราทำตอนนี้แม้ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องร่วมสมัยทั้งหมด เพียงแค่มีมิติที่เกี่ยวกับอดีต เรารู้จักเชฟตามอยู่แล้ว เราตามงานเขามาเป็นปี เราชอบงานที่เขาทำ เขาไม่ได้ทำอาหารจากอดีตอย่างเดียว แล้วก็ไม่ได้ทำของใหม่ล้วน เวลาทำอาหารเขารวมเรื่องราวของพื้นที่และอดีตไว้ด้วยกัน งานนี้เขาไปหาข้อมูลเป็นเดือน ไปดูตำราอาหารสมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 แล้วเอาข้อมูลทั้งหมดมาคิดว่าจะปรับอาหารยังไงให้เข้ากับแต่ละยุคของวังหน้า เช่นสมัยของพระปิ่นเกล้ามีความเป็นตะวันตกเข้ามาเยอะ เขาคิดทุกขั้นตอนแล้วไปหาวัตถุดิบท้องถิ่นมาใช้ เป็นการเล่าเรื่องคน และสร้างบทสนทนากับคนที่เข้ามาในพื้นที่ผ่านอาหาร

ถ้านิทรรศการนี้เป็นห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ คุณครูใหม่กำลังจะสอนอะไรพวกเรา

คงจะไม่ใช่การสอน แต่อาจจะอธิบายแบบตั้งคำถามมากกว่า เห็นอะไรบ้าง เห็นแล้วรู้สึกยังไง เห็นประเด็นไหนชัดที่สุด

คุณใหม่ สิริกิติยา เจนเซน

คุณใหม่ สิริกิติยา เจนเซน

ไม่เหมือนการสอนประวัติศาสตร์ทั่วไปที่มักจะเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง

อาจเป็นเพราะเราทำงานด้านพิพิธภัณฑ์ จัดโปรแกรมการเรียนรู้ให้เด็กมัธยม เด็กมหาวิทยาลัย กลุ่มที่ยากที่สุดคือเด็กประถมนะ งานวังน่านิมิตมีเด็กประถมเข้ามาดูงาน เราซึ่งอยู่กับประวัติศาสตร์ทุกวันก็เริ่มบรรยาย พูดไปเรื่อยๆ สักพัก ผู้ใหญ่ที่มาช่วยงานเราก็บอกว่า คุณใหม่หยุดก่อน เราก็งงว่าพูดอะไรผิดเหรอ เขาบอกว่า เราต้องเข้าใจก่อนว่าวันนี้เราต้องการให้เด็กกลับบ้านไปแล้วเข้าใจอะไร สิ่งที่เรายื่นให้ เขาอาจจะไม่ได้รับมันร้อยเปอร์เซ็นต์

งานนี้เราไม่ได้ให้ข้อมูลทั้งหมด ถ้าให้หมด เขาจะจับไม่ได้ว่าส่วนสำคัญอยู่ตรงไหน คำแนะนำที่เรายังจำได้ถึงวันนี้คือ เราต้องพูดเรื่องปัจจุบันที่เขาเห็นกับตา แล้วผูกกับอดีต เขาจะเข้าใจ แล้วเราจะผูกให้อยู่ด้วยกันอย่างไร สิ่งสำคัญไม่ใช่การเอาข้อมูลออกไป แต่เป็นการคิดว่าผลลัพธ์คืออะไร เราต้องการให้คนเข้าใจยังไง ถ้าเล่าทุกอย่างก็ไม่ได้ผล เพราะคนจับประเด็นไม่ได้ ก็เหมือนเราไม่ได้ทำอะไรเลย เราไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลทั้งหมดตอนนั้น ต้องค่อยๆ ให้ข้อมูล

เป็นนิทรรศการประวัติศาสตร์ที่ไม่เน้นให้ข้อมูล

โอ้ อย่าพูดแบบนั้น ข้อมูลเยอะค่ะ (หัวเราะ) เพียงแต่เราไม่ได้เน้นตรงนั้น ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ แต่เราสนใจกลยุทธ์ในการให้ข้อมูลมากกว่า เราต้องให้ข้อมูลด้วยวิธีท่ี่ถูกต้อง ในเวลาที่ถูกต้อง นี่คือวิธีที่ทำให้ประวัติศาสตร์มีชีวิต ไม่ใช่แค่หนังสือ แต่เป็นสิ่งที่คนจดจำได้

เป็นวิธีการที่ใหม่มากในบ้านเรา มีความกังวลเรื่องคนจะไม่เข้าใจบ้างไหม

เราต้องยอมรับว่าถ้าทำอะไรใหม่ งานแรกคงไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ อันที่จริงก็ไม่มีงานไหนร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก แล้วคนดูก็คงต้องใช้เวลา ทุกคนมีสิทธิ์จะคิดตามที่เขาคิด งานที่แล้วก็มีคำวิจารณ์ แต่งานนี้คงโดนเยอะกว่า (หัวเราะ) คนเราทำอะไรก็มีเสียงวิจารณ์ เราต้องยอมรับตรงนี้ ถ้ามัวแต่กลัวก็จะไม่ได้ทำอะไรเลย เรากลัวแค่คนตั้งใจจะเข้าไปเลือกมอง เลือกคิดในสิ่งที่เป็นแง่ลบ ซึ่งเขาอาจจะสร้างขึ้นมาเอง เราคงห้ามเขาไม่ได้ เราเจอสิ่งนี้ตั้งแต่ตอนทำวังน่านิมิต เราไม่ได้ทำงานนี้ด้วยความคิดในมุมพวกนั้นเลย เราทำในมุมของศิลปะ แต่เราพร้อมรับคำวิจารณ์ ถ้ามีคนบอกว่าไม่ชอบเพราะแบบนี้ๆ เราก็ต้องฟัง เพราะทุกคนก็มีเหตุผล เดี๋ยวงานหน้าเราจะพัฒนาให้ดีขึ้น

งานนี้จะสร้างอะไรใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในวงการพิพิธภัณฑ์บ้าง

เราต้องการแสดงให้เห็นว่าทุกคนมีโอกาสเล่าเรื่องราวของเขาเอง ไม่มีใครผิดใครถูก คนดูตั้งคำถามกับงานได้ เมื่อเดินเข้าไปในพื้นที่แสดงงานก็ไม่ได้คิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนั้นเป็นแค่นี้ เราอยากให้คนค่อยๆ ตั้งใจดู คิด ตอนทำงานวังน่านิมิต มีคนมาดูงานคนหนึ่งเป็นเด็กธรรมศาสตร์ เขาเล่าว่า ตอนเรียนเขาไม่เคยรู้เลยว่าธรรมศาสตร์อยู่ในพื้นที่ของวังหน้า ไม่เคยคิดเรื่องวังหน้าเลย แต่หลังจากงานเขาก็กลับเข้าไปในพื้นที่ด้วยความอยากรู้ เริ่มสังเกตร่องรอย เพราะว่าเขาเริ่มคิดกับมัน เราต้องการแบบนี้ อยากให้คนสงสัย คิด สร้างสรรค์ และสัมผัส

คุณใหม่ สิริกิติยา เจนเซน

จากการทำงานแรกจนถึงงานนี้ วิธีการทำงานของคุณใหม่เปลี่ยนไปบ้างไหม

เมื่อก่อนเราทำงานตามนิสัยที่ค่อนข้างดื้อ ไม่ฟังคนอื่น แต่ตอนนี้เราเข้าใจวิธีการทำงานกับคนมากขึ้น งานนี้ต้องประสานงานกันหลายฝ่าย มีคนเยอะมาก มีมุมมองที่แตกต่างกันเยอะ เราพยายามคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ถ้าเรามัวแต่ยึดติดว่าสิ่งที่เราทำถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งความจริงมันไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก เพราะสิ่งที่ถูกต้องสำหรับเราไม่ได้ถูกต้องสำหรับทุกคน มุมมองเราไม่เหมือนกัน สิ่งที่เราต้องรับให้ได้คือ มันไม่เหมือนกัน แต่ไม่มีใครผิด ทุกคนถูกหมด เราคุยกันได้และเข้าใจว่าทุกอย่างมันไปด้วยกันในทิศทางที่ดีได้ โดยไม่ต้องคิดว่าคนนี้ถูกคนนี้ผิด

ถ้าเราผิดก็ยอมรับว่าผิด เราไม่รอบคอบเอง เดี๋ยวปรับ เราเป็นคนที่ยืดหยุ่นพอสมควร ถ้าเรายึดความคิดเราอย่างเดียว งานอาจจะส่งออกไปถึงคนแบบไม่ถูกต้อง อาจจะสร้างความเสียหายให้กับคนอื่นได้ ถ้าเราอยากให้มีมุมมองครบทุกด้าน เราไม่ควรติดกับสิ่งที่เราต้องการอย่างเดียว เราต้องเอาทุกคนมารวมหมด

สิ่งที่เหมือนเดิมคือ ตอนเริ่มงานที่แล้วเราไม่ชอบให้สัมภาษณ์เลย ไม่ชอบคุยกับคนเลย เราขี้อาย ยิ่งสัมภาษณ์เป็นภาษาไทยยิ่งไม่เอาเลย ตอนนี้ก็ยังรู้สึกแบบนั้น แต่เริ่มชินแล้ว จำได้ว่าตอนให้สัมภาษณ์คราวที่แล้วเรากลัว นอนไม่ได้เลย สัมภาษณ์ทุกครั้งก็เป็นแบบนี้

เมื่อคืนนอนหลับดีไหมครับ

เมื่อคืนนี้โอเค เราคิดว่าถ้าเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้วไม่น่าจะมาเสียเวลานั่งกลัว นอนไม่หลับ เราก็ปล่อย เราได้เรียนรู้จากงานที่แล้ว บางคนบอกว่าต้องทำแบบนี้ ต้องแต่งตัวแบบนี้ ต้องระวังคำพูด เดี๋ยวคนไม่ชอบ เราคิดว่าถ้าคนจะไม่ชอบ ไม่ว่าจะทำอะไรเขาก็ไม่ชอบอยู่ดี เราก็เป็นตัวของตัวเอง เราไม่ได้พยายามปิดบังอะไร นี่คือตัวเราหมดเลย เราอยากให้คนชอบนะ ถ้าไม่ชอบก็ไม่เป็นไร (หัวเราะ)

งานวังน่านิมิต คุณใหม่ไปอยู่ที่งานบ่อยแค่ไหน

เกือบทุกวัน มันเป็นงานของเรา เป็นหน้าที่ที่ต้องไปดูว่ามันราบรื่นดีไหม ไปดูอาสาสมัครนำชมว่าโอเคหรือเปล่า บางทีก็ดูอยู่ด้านหลังว่าเขาคุยกับคนยังไง แล้วก็คุยกับเขาว่าวันนี้มีปัญหาอะไรบ้าง ถ้าเจอคนยังไม่ชินกับวิธีการจัดแสดงแบบนี้ ก็คุยกันว่า ไม่เป็นไรนะ เขามีสิทธิ์คิด มีสิทธิ์พูด บางทีก็ลองคุยกับเขา บางทีมีชาวต่างชาติมาต้องอธิบายภาษาอังกฤษ เราก็นำชมเอง รอบคนไทยเราก็นำ

คนเหล่านั้นตกใจไหมที่คุณใหม่นำชมเอง

ไม่หรอก ฝรั่งคงไม่รู้หรอกว่าเราเป็นเจ้าของงาน เพราะเจ้าของงานในต่างประเทศจะเป็นผู้ใหญ่กว่านี้ ส่วนคนไทยบางทีเขาก็บอกเราว่า ไม่ชอบตรงนั้นตรงนี้ เราก็ขอบคุณค่ะ เดี๋ยวคราวหน้าจะทำให้ดีขึ้น ขอโทษค่ะ (หัวเราะ) เราดีใจที่เขาพูดแบบนี้เพราะแปลว่าเขาอยากช่วย เขาไม่ได้อยากให้เราเสียใจหรอก

ถ้าไปร่วมสัมผัสประสบการณ์กับนิทรรศการนี้ เราจะมีโอกาสได้เจอคุณใหม่ไหม

อาจจะได้เจอ เราคงไม่ได้ไปบ่อยเท่าคราวที่แล้ว เพราะว่างานครั้งนี้จัดยาวกว่า แต่วันที่ 27 เมษายน ที่มี Chef’s Table ของเชฟตาม ใครมาร่วม Walk with The Cloud ในวันนั้น เราจะพาชมงานเองแน่นอน

คุณใหม่ สิริกิติยา เจนเซน

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan