พูดคำว่า ‘เทศกาลดนตรี’ หลายคนอาจรู้สึกว่าใกล้ตัว เคยไป หรืออย่างน้อยก็เคยเห็นเพื่อนในฟีดโพสต์ถึง

ถ้าพูดว่า ‘เทศกาลดนตรีนอกกระแส’ คนที่รู้จักหรือเคยไป อาจจำกัดวงแคบลงมาหน่อย

แต่จะมีเทศกาลดนตรีไหนที่บัตรรอบ Blind Ticket ซึ่งยังไม่ได้ประกาศไลน์อัปศิลปิน ขายดีกว่าบัตรรอบทั่วไปที่ประกาศไลน์อัปแล้ว

เทศกาลดนตรีนอกกระแสชื่อ ‘Maho Rasop’ ทำได้ 

จัดครั้งแรกในปี 2018 ในยุคที่เทศกาลดนตรีนอกกระแสในไทยยังไม่เคยมีนั่นก็ความท้าทายหนึ่ง แต่การปลุกปั้นให้ได้เพอร์ฟอร์แมนซ์มาตรฐานโลก เกลี่ยความหลากหลายของดนตรีให้งานครบรส ออกแบบประสบการณ์โดยรวมให้น่าประทับใจจนคนดูบอกต่อ และปวารณาตนเป็นแฟนคลับของเทศกาล นั่นท้าทายยิ่งกว่า 

ระหว่างรอ Maho Rasop ครั้งที่ 4 ที่จะจัดขึ้นช่วงปลายปี เราชวน 3 พาร์ตเนอร์ ท้อป-ศรัณย์ ภิญญรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Fungjai แป๋ง-พิมพ์พร เมธชนัน และ กิ-กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร ผู้ก่อตั้ง HAVE YOU HEARD? รวมทั้ง ปูม-ปิยสุ โกมารทัต ผู้ก่อตั้ง Seen Scene Space มาเปิดเบื้องหลังการทำงานและเผยเคล็ดลับการสร้างเทศกาลดนตรีนอกกระแสที่ใครต่อใครหลงรัก

แนวคิดธุรกิจแบบวิ่งมาราธอนของ Maho Rasop เทศกาลดนตรีนอกกระแสที่อยากให้คนทั่วโลกบินมาดู

ดึงจุดเด่นของเฟสติวัลนอก หาช่องว่างของเฟสติวัลไทย

ถ้าจะมีจุดร่วมบางอย่างที่ทำให้ตัดสินใจมาร่วมงานกัน จุดร่วมนั้นของ 3 พาร์ตเนอร์คือต้องการให้คนฟังเพลงได้ค้นพบสิ่งใหม่

Fungjai คือแพลตฟอร์มที่อยากผลักดันดนตรีนอกกระแสของไทยให้รุ่งเรือง

HAVE YOU HEARD? คือโปรโมเตอร์คอนเสิร์ตที่เน้นพาวงดนตรีนอกกระแสฝั่งตะวันตกมาที่บ้านเรา

ส่วน Seen Scene Space นั้นไม่ต่าง แต่โฟกัสไปที่การจัดคอนเสิร์ตของวงนอกกระแสฝั่งตะวันออก

Maho Rasop จึงเป็นส่วนผสมของทั้ง 3 อย่าง พาร์ตเนอร์ทั้งสามก็รู้จักมักจี่และเคยร่วมคอลแล็บกันหลายครั้ง

แต่สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจว่าจะจัดงานนี้ ต้อนย้อนกลับไปในปี 2017 ซึ่งเป็นช่วงปีที่มีผู้จัดนำวงต่างประเทศเข้ามาเล่นในไทยเยอะ วงดนตรีนอกกระแสต่างประเทศบินเข้ามาเป็นว่าเล่น และคนฟังเพลงให้การตอบรับที่ดี

“คงถึงเวลาแล้วแหละที่บ้านเราจะมีเฟสติวัลที่รวมวงต่างประเทศเป็นหลัก วงดนตรีที่อาจไม่ใช่วงแมส แต่เป็นวงทางเลือกที่น่าสนใจ” ท้อปย้อนเล่าถึงสัญญาณดี ๆ ที่มองเห็น 

ประกอบกับการได้เห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านมีเฟสติวัลดี ๆ อย่าง Good Vibes ของมาเลเซีย Wanderland ของฟิลิปปินส์ หรือ Clockenflap ของฮ่องกง บางเฟสติวัลพวกเขาก็เคยไปแล้วประทับใจ อยากให้บ้านเรามีแบบนี้บ้าง

เพราะเท่าที่มองเห็นในช่วงนั้น เฟสติวัลที่มีในบ้านเราก็ไม่ได้ชูดนตรีทางเลือก แต่เน้นวงไทยและวงต่างประเทศที่อยู่ในกระแสหลัก ที่สำคัญคือมักจัดในต่างจังหวัด คนที่ไม่มีรถก็อาจเดินทางไม่สะดวก คนที่ไปก็อาจถูกบังคับให้นอนค้างโดยปริยาย

สิ่งที่พวกเขาทำ คือค่อย ๆ ลิสต์สิ่งที่ชอบจากเฟสติวัลที่เคยไป ประกอบ แล้วหาช่องว่างของเฟสติวัลไทยที่พวกเขาเติมเข้าไปได้

การจัดการฝูงชนให้เป็นระเบียบ การคิวเรตวงดนตรีเบอร์ใหญ่ ๆ ที่อาจหาดูที่ไหนไม่ได้ สลับกับวงหน้าใหม่ที่บางคนไม่รู้จัก การปักหมุดสถานที่จัดงานในพื้นที่ที่เดินทางได้ง่าย 

Maho Rasop ปีแรกยึดตามแนวทางนั้น งานจัดแค่ 1 วัน ที่ Live Park ใจกลางเมืองย่านพระราม 9 พร้อมสนนราคาเป็นมิตรต่อกระเป๋า เทียบกับเทศกาลดนตรีต่างประเทศแล้วค่อนข้างย่อมเยากว่า

แนวคิดธุรกิจแบบวิ่งมาราธอนของ Maho Rasop เทศกาลดนตรีนอกกระแสที่อยากให้คนทั่วโลกบินมาดู

นึกไม่ออก ต้องบอกให้ถูก

แต่คำว่า ‘เฟสติวัล’ นี่แหละคือความท้าทายสำคัญของปีแรก

“ตอนแรกเราคิดว่าแค่เอาวงที่คนน่าจะชอบหรือสนใจมาเล่น แต่แค่นั้นมันไม่พอ เพราะปกติเราจัดคอนเสิร์ตเดี่ยว เราพูดกับแฟน ๆ ของวงนั้นแล้วจบ แต่พอเป็นเฟสติวัลปุ๊บ แฟน ๆ อาจต้องจ่ายมากกว่าราคาบัตรคอนเสิร์ตเดี่ยวอีกนิดหนึ่งเพื่อมาดูศิลปินที่เขารู้จักและไม่รู้จัก” แป๋งบอก

“จากที่เราเคยคิดว่ามันคุ้ม ปรากฏว่ามีคำถามเกิดขึ้นว่า เอ้า อยากดูวงนี้วงเดียว ต้องเสียเวลารอทั้งวันเลยเหรอ เราเห็นคอมเมนต์ตรงนั้นเยอะ ทำให้รู้ว่าการจัดเฟสติวัลนี่ไม่ง่ายเลยนะที่จะสื่อสาร”

อีกส่วนหนึ่งเพราะ Maho Rasop เป็นเทศกาลที่ไม่เคยจัดมาก่อน นั่นหมายถึงไม่มีภาพ ไม่มีคลิปวิดีโอ ไม่มีตัวอย่างให้ดู 

แม้แฟน ๆ ของพาร์ตเนอร์ทั้งสามจะเป็นแฟน ๆ วงการดนตรีนอกกระแส พร้อมควักกระเป๋าจ่ายให้วงที่ชอบ แต่หลายคนนึกภาพไม่ออกว่าถ้ามามิวสิกเฟสติวัล ประสบการณ์ที่พวกเขาได้รับจะเป็นแบบไหน ต่างจากคอนเสิร์ตปกติยังไง

สื่อสาร สื่อสาร และสื่อสาร คือสิ่งที่ทีม Maho Rasop พยายามทำให้มากที่สุด

“เราพยายามจะบอกคนดูว่า เฮ้ย ประสบการณ์การมาเฟสติวัลคือการมาใช้ชีวิต 1 วัน มาเสพดนตรีเต็ม ๆ ซึ่งระหว่างทางที่คุณเดินไปหาเวทีของวงที่คุณชอบ คุณจะได้เจออีกวงที่ไม่รู้จักกำลังเพอร์ฟอร์มอยู่ แล้วเขาเพอร์ฟอร์มดีมากจนคุณต้องหยุดดู และคุณอาจกลายเป็นแฟนใหม่ของวงนั้นก็ได้” ท้อปเล่า

แนวคิดธุรกิจแบบวิ่งมาราธอนของ Maho Rasop เทศกาลดนตรีนอกกระแสที่อยากให้คนทั่วโลกบินมาดู

ออกแบบประสบการณ์ระดับโลก

การสื่อสารให้คนเห็นภาพ ไม่ใช่ความท้าทายอย่างเดียวของ Maho Rasop

ถึงแม้จะเป็นเทศกาลดนตรี งานของพวกเขาก็ไม่ใช่แค่การคิวเรตวงดนตรีให้ขึ้นเล่นแล้วจบ

แต่คือการดีไซน์ประสบการณ์ของงานทั้งงาน

เรื่องแรก คือโปรดักชัน ทั้งเวที ไฟ เครื่องเสียง ที่พวกเขาต้องมั่นใจว่ามีคุณภาพอยู่ในระดับมาตรฐานสากล

เรื่องที่สอง คือเรื่องเวลา Maho Rasop ขึ้นชื่อว่าเป็นเทศกาลดนตรีที่เล่นโชว์ได้ตรงต่อเวลาที่สุด 

เรื่องที่สาม คิดไปถึงความรู้สึกของคนดู พวกเขาคิดว่าแต่ละช่วงเวลาคนดูกำลังรู้สึกยังไง ส่งผลต่อลำดับการเล่นก่อน-หลังของแต่ละวง การมีหลายสเตจในงานก็ส่งผล วงที่ขึ้นพร้อมกันก็ควรจะไม่ใช่วงที่มีฐานแฟนเดียวกัน

ยังไม่นับเรื่องพื้นฐานอย่างเรื่องอาหาร ความปลอดภัย หรือการจัดการคนดู (Crowd Control) ให้โฟลว์ที่สุด นั่นก็เพราะทีมงานอยากให้คนดูแฮปปี้ที่สุด

แนวคิดธุรกิจแบบวิ่งมาราธอนของ Maho Rasop เทศกาลดนตรีนอกกระแสที่อยากให้คนทั่วโลกบินมาดู

Music Festival is a Marathon

เพราะการไปเทศกาลดนตรีทางเลือกอาจจะยังเป็นสิ่งใหม่ในประเทศไทย คนที่มางานปีแรกจึงไม่ได้เยอะเท่าที่คาดหวัง

ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็ประกาศว่าจะทำ Maho Rasop ปีที่ 2 ทันทีหลังงานจบ

ไม่ใช่ความกล้าบ้าบิ่น ตัดสินใจกันแบบไม่สนใจตัวเลข แต่คือเจตนาที่ตั้งไว้แล้วตั้งแต่ต้น

“การทำเฟสติวัลคือมาราธอน ไม่ใช่สปรินต์ ถ้ามองในมุมธุรกิจ การทำเฟสติวัลไม่มีทางทำครั้งเดียวแล้วประสบความสำเร็จ มันต้องสร้างไปเรื่อย ๆ ต้องการความต่อเนื่อง ทำซ้ำจนคนเข้าใจว่างานนี้คืออะไร” ท้อปอธิบาย

“เรารู้แหละว่าครั้งแรกไม่มีทางประสบความสำเร็จในทุก ๆ เรื่องอยู่แล้ว ฉะนั้น ในหัวเราจะมีแพลนว่าต้องใช้เวลากี่ปีกว่าจะไปถึงจุดที่เราหาสิ่งที่ใช่ที่สุดให้เราและคนดู จนถึงวันนี้เราก็ยัง On the Way อยู่นะ ยอดเขาที่เรามองเห็นยังอีกยาวไกล” แป๋งสมทบ

แนวคิดธุรกิจแบบวิ่งมาราธอนของ Maho Rasop เทศกาลดนตรีนอกกระแสที่อยากให้คนทั่วโลกบินมาดู

ถึงอย่างนั้น สิ่งที่ทำให้ทีมรู้ตัวว่ามาถูกทางแล้ว คือรีแอคชันของคนดูในปีแรกที่เอนจอยกับงานมาก

“มีคนเดินมากอด บอกเราว่าขอบคุณที่กล้าทำอะไรแบบนี้ขึ้นมา ขอบคุณที่ทำให้ประเทศไทยมีงานแบบนี้” ท้อปยิ้ม

“เขาปักหมุดแล้วว่าประเทศไทยมีเฟสติวัลที่เทียบชั้นต่างประเทศได้ หรืออย่างเรื่อง Curation ตอนแรกที่หลายคนถามว่าวงอะไรวะ ไม่เห็นรู้จักเลย กลายเป็นว่ามาแล้วเขาพูดว่า วงอะไรวะไม่เห็นรู้จักเลย แต่โคตรดี มันทำให้เรามั่นใจกับทิศทางการเลือกศิลปินมากขึ้น

“อีกอย่างหนึ่งที่เราเองก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้น คือคนที่มางานเป็นคนที่รักดนตรีจริง ๆ เขามาแล้วเหมือนรียูเนียนกัน อย่างเวลาวงเพอร์ฟอร์มแล้วทุกคนเอา สิ่งนี้ออกแบบไว้ก่อนไม่ได้ แต่มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นใน Maho Rasop ทุกปี 

“แม้ว่าจะเป็นวงที่โนเนมแค่ไหน แต่แค่คนดูมาด้วยใจที่เปิดกว้างและเอนจอยไปกับเฟสติวัล ทำให้ไวบ์ของงานสนุก ศิลปินก็แฮปปี้”

แนวคิดธุรกิจแบบวิ่งมาราธอนของ Maho Rasop เทศกาลดนตรีนอกกระแสที่อยากให้คนทั่วโลกบินมาดู

ไม่ใช่วงไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นวงที่ใช่ (ของทุกคนในทีม)

ถึงงานครั้งที่ 2 จะจัดเพิ่มเป็น 2 วัน แต่ในแง่การจัดการหลังบ้าน ทีมงานบอกว่าทำได้ง่ายกว่าอย่างเห็นได้ชัด

แต่เรื่องที่ยากคือความคาดหวังของคนดูที่มากขึ้น ที่สำคัญคือมีมิวสิกเฟสติวัลอื่นผุดขึ้นมามากขึ้น 

บางงานถึงกับจัดวันเดียวกันเพื่อท้าชน

หากการมีคู่แข่งขันก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นข้อเสียเสมอไป กลุ่มคนเบื้องหลัง Maho Rasop มองว่าการมีเทศกาลดนตรีอื่นผุดขึ้นมายิ่งทำให้คำว่าเทศกาลดนตรีกลายเป็นคำที่ใกล้ตัวคนไทยมากขึ้น ลูกค้ามีตัวเลือกมากขึ้น เพราะแต่ละเฟสติวัลก็มีทิศทางที่แตกต่างกันออกไป

หัวใจสำคัญของ Maho Rasop คือเป็นมิวสิกเฟสติวัลที่ให้ความสำคัญกับดนตรีมาเป็นอันดับ 1 ให้ความสำคัญกับความหลากหลายด้านดนตรี และมีวิธีเลือกวงมาเล่นอย่างเฉพาะตัว 

“เราจะผสมผสานสิ่งที่คนตั้งหน้าตั้งตารอ เป็นวงที่มีฐานแฟนในไทย และเราอยากมีวงที่คาดไม่ถึงด้วย เพราะเราอยากให้คนไทยได้เปิดกว้างทางการฟังเพลงมากขึ้น นี่เป็น Key Agenda ที่พูดไป อาจฟังดูยิ่งใหญ่ แต่เราก็อยากทำเฟสติวัลที่ได้ช่วยยกระดับการฟังเพลงของคนในประเทศ” ท้อปเผยแนวคิดเบื้องหลัง แล้วขยายคำว่าเปิดกว้างให้ฟังว่าพวกเขาพยายามให้มีดนตรีหลายแนวในงาน ไม่ว่าจะเป็นแจ๊ส อิเล็กทรอนิกส์ ร็อก ฮิปฮอป ป๊อป ฯลฯ

“ความหลากหลายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าคนเราเปิดรับความหลากหลายได้มากขึ้น สมมติเริ่มที่ดนตรีก่อน เขาอาจจะอยากเปิดรับความหลากหลายกับเรื่องอื่น ๆ ในชีวิต ภาพยนตร์ ไลฟ์สไตล์ เพศสภาพ การเมือง ฯลฯ และน่าจะทำให้อะไรหลาย ๆ อย่างในประเทศก้าวไปข้างหน้าได้”

แนวคิดธุรกิจแบบวิ่งมาราธอนของ Maho Rasop เทศกาลดนตรีนอกกระแสที่อยากให้คนทั่วโลกบินมาดู
เบื้องหลังการวิ่งระยะไกลของทีมงาน Maho Rasop เทศกาลดนตรีนอกกระแสแรกในไทยที่อยากเป็นหมุดหมายของคนรักเสียงเพลงทั่วโลก

เกณฑ์การคัดเลือกก็สนุกใช่ย่อย ด้วยสล็อตที่จำกัดบนเวทีทำให้วงที่มาเล่นมีได้ราว 30 วง พวกเขาจึงต้องคัดแล้วคัดอีก 

บางวงเป็นวงที่พวกเขาคนใดคนหนึ่งชอบเป็นการส่วนตัวแล้วมาขายให้เพื่อนฟัง ถ้าเพื่อนไม่ซื้อก็ต้องปล่อยไป 

บางวงทุกคนชอบแต่สู้ราคาไม่ไหว พวกเขาก็ต้องปล่อยมือ 

บางวงเป็นวงที่พวกเขารู้ว่าถ้าเอามาเล่นแล้วบัตรจะขายดีแน่ ๆ แต่ก็ตัดสินใจไม่ดีลมาเล่น เพราะในแก๊งไม่มีใครชอบเลย

“หรือบางครั้ง การคัดเลือกบางวงมาเล่นอาจหมายถึงการเปลี่ยนการรับรู้ของคนให้กับเขาด้วย อย่างปีที่ 2 เราเอา YOUNGOHM มาเล่น ตอนแรกคนก็งง แต่พอวันงานเต้นกับฉิบหาย สนุกกันสุด ๆ เพราะหลาย ๆ คนรวมถึงทีมงานยังไม่เคยดูการแสดงสดของ YOUNGOHM” ท้อปหัวเราะ

“ถึงอย่างนั้น จุดร่วมที่ทุกวงมีเหมือนกันคือเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่ดี มีความน่าสนใจอะไรบางอย่าง และในเชิงดนตรี เขามี Element บางอย่างที่นำเสนออะไรใหม่ ๆ ให้กับฐานคนฟังในบ้านเราได้”

การมีมิวสิกเฟสติวัลอย่าง Maho Rasop ยังตอบโจทย์ความตั้งใจของ Fungjai นั่นคือการอยากสร้างพื้นที่ให้กับวงดนตรีโลคอลของคนไทยที่ไม่ได้ทำเพลงกระแสหลัก แต่ทำจากความชอบและตัวตน 

การได้มาเล่นในเทศกาลนี้เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เล่นในเวทีมาตรฐานระดับสากล ผลักดันให้ชื่อของพวกเขาเป็นที่รู้จักของกลุ่มคนดูทั่วโลก ซึ่งบางคนบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาจอย นั่นจึงไม่แปลกใจว่าทำไมเราจึงได้ภาพวงดนตรีนอกกระแสไทยเดินมาขอบคุณทีมผู้จัดงานทุก ๆ ปี

เบื้องหลังการวิ่งระยะไกลของทีมงาน Maho Rasop เทศกาลดนตรีนอกกระแสแรกในไทยที่อยากเป็นหมุดหมายของคนรักเสียงเพลงทั่วโลก

เวทีที่อยากนำเสนอ Gem ของวงการดนตรี

Maho Rasop ครั้งที่ 2 คนดูเยอะกว่า ประสบความสำเร็จกว่าครั้งแรก หลายคนมองว่าถ้าจัดต่อทันทีจะเลี้ยงความไฮป์ของงานได้แน่ ๆ

แต่พอประกาศว่าจะจัดครั้งที่ 3 ในปี 2020 โควิดก็มาเยือนทันที

ในประเทศห้ามชุมนุมกลุ่มคนจำนวนมาก ส่วนศิลปินนอกประเทศก็บินเข้ามาไม่ได้ หรือถ้าได้ก็ต้องกักตัว เสียโอกาส เสียรายได้ไป 2 อาทิตย์เต็ม ๆ

Maho Rasop จึงหายไป 2 ปี ก่อนจะกลับมาตอนปลายปี 2022 ที่ทีมงานเปิดเผยกับเราว่าตอนแรกยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าจะได้จัด

นั่นเพราะโควิด-19 ส่งผลต่ออุตสาหกรรมดนตรีอย่างหนัก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการจองวงที่ยากขึ้นมหาศาล “เหมือนทุกวงมีโชว์ที่ค้างไว้ เขาต้องทยอยไปเล่น หรือเอเจนซี่หลายแห่งที่ดูแลศิลปินก็ปิดไป ต้องรีคอนเนกต์ใหม่” กิ ผู้ประสานกับศิลปินตะวันตกบอก

เบื้องหลังการวิ่งระยะไกลของทีมงาน Maho Rasop เทศกาลดนตรีนอกกระแสแรกในไทยที่อยากเป็นหมุดหมายของคนรักเสียงเพลงทั่วโลก

พฤติกรรมของผู้คนที่เสพติดการอยู่บ้านคืออีกปัจจัยหนึ่งของความยาก เช่นเดียวกับกับพฤติกรรมการฟังเพลงที่เปลี่ยนไป เพราะมีบริการสตรีมมิ่งมากมายเกิดขึ้นในปัจจุบัน

“เรามองว่าในยุคนี้ ทุกคนมีอัลกอริทึมของตัวเอง” แป๋งบอก “การฟังเพลงเหมือนจะมีอิสระนะ แต่จริง ๆ มันมีฟิลเตอร์อะไรสักอย่างครอบงำเราอยู่ แม้แต่ตัวเราเองก็รู้สึกว่าเราอยู่ในบับเบิลของเพลงอะไรสักอย่าง พอมีดาต้าเยอะขึ้นในยุคนี้ ทำให้บางทีสิ่งที่คนจะชอบฟังมันมาจากตัวเลขที่ผ่านการ Automate (คิดคำนวณมาให้) คนยุคใหม่อาจให้ความสนใจกับจำนวนไลก์ ยอดวิวมากขึ้น ฉะนั้นเลยเกิดกรอบบางอย่างที่คนเลือกจะตัดสินว่าอะไรดี อะไรดัง อะไรใช่หรือไม่ใช่จากดาต้าเหล่านั้น ซึ่งบางทีความชอบที่แท้จริงถูกลดค่าลงไปเหมือนกัน เรารู้สึกอย่างนั้นมาก ๆ 

“มีวงดี ๆ หลายวงที่เราเข้าไปดูแล้วเห็นว่าตัวเลขการชมน้อยจนน่าตกใจ เราเลยคิดว่าเฟสติวัลที่ทำก็คล้ายตัวกลางในการทำให้ศิลปินได้เปล่งประกายเหมือนกัน” นั่นคืออีกเหตุผลที่ทำให้พวกเขายังทำ Maho Rasop ต่อไป โดยยึดถือเกณฑ์การคัดเลือกวงแบบเดิมที่ไม่ได้ตัดสินจากตัวเลขเป็นหลัก

คิดถูก เพราะหลังจากที่ประกาศขายบัตรรอบ Blind Ticket ที่ยังไม่ประกาศไลน์อัปว่ามีวงไหนมาเล่นบ้าง เหล่าลูกค้าก็กดซื้อตั๋วอย่างเต็มใจ กลับกลายเป็นว่าตั๋วรอบ Blind Ticket ขายดีกว่าตั๋วที่เปิดขายหลังประกาศไลน์อัปไปแล้วเสียอีก

หายไป 2 ปี แต่กระแสไฮป์ยังอยู่ 

ไม่เกินจริงถ้าจะบอกว่า Maho Rasop ทำสำเร็จแล้วในแง่ของการสร้างฐานแฟนคลับที่จงรักภักดี และการสร้างเทศกาลดนตรีนอกกระแสให้เป็นที่รักของคนฟังเพลง

เบื้องหลังการวิ่งระยะไกลของทีมงาน Maho Rasop เทศกาลดนตรีนอกกระแสแรกในไทยที่อยากเป็นหมุดหมายของคนรักเสียงเพลงทั่วโลก

หมุดหมายของคนรักมิวสิกเฟสติวัลทั่วโลก

ในวันที่เราคุยกันนี้ Maho Rasop เดินทางเข้าสู่ขวบปีที่ 4 เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนในการเตรียมงานครั้งต่อไป

ทีมงานเบื้องหลังเล่าความลับว่าปีนี้งานจะใหญ่ขึ้นอีกนิด ส่วนสิ่งที่ไม่นิดคือเซอร์ไพรส์ที่พวกเขาเตรียมไว้ให้เป็นกระบุง

ในอนาคตอันใกล้ Maho Rasop ยังตั้งใจจะเป็นมิวสิกเฟสติวัลที่ Family Friendly กว่าเดิม เคียงคู่ไปกับการเป็นหมุดหมายที่คนรักเทศกาลดนตรีจากทั่วโลกลิสต์ไว้ว่าจะต้องมาสักครั้งในชีวิต

มากกว่านั้น พวกเขายังอยากเป็นพื้นที่พักผ่อนและพื้นที่เปิดใจ สำหรับคนที่อาจไม่ได้ชอบดนตรีที่สุดได้มาใช้เวลากับตัวเอง เพื่อน คนรัก และครอบครัว โดยมีดนตรีดี ๆ เป็นของแถม  

“เทศกาลนี้คือตัวเรา ความชอบของเรา ย้อนกลับไปตอนยังวัยรุ่น เราไปเฟสติวัลที่นั่นที่นี่เยอะ ก็คิดมาตลอดว่าทำไมเมืองไทยไม่มีบ้างวะ ทำไมศิลปินที่เราชอบมันถึงบินข้ามประเทศเราไปเวียดนามหรือสิงคโปร์ แต่ไม่เคยหยุดที่ไทยเลย การได้ทำเทศกาลนี้มันเติมเต็มเราในแง่ที่ว่า เมื่อเราไม่เคยมีพื้นที่แบบนี้ เราเลยสร้างมันขึ้นมา แถมยังได้แบ่งปันมันกับคนที่เขาชอบอะไรเหมือนกัน” ปูมพูด

“ตอนเราเริ่มทำ HAVE YOU HEARD? ตอนวันนี้ โชว์แรกมีคนดูราวร้อยคน การทำ Maho Rasop คือการต่อยอดอีกขั้นให้คอมมูนิตี้นี้ยังอยู่และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ” กิสมทบ

“มีวงดนตรีบางวงที่เราเองก็เป็นแฟนเขา แต่เขามีตลาดที่ Niche มาก หาโอกาสมาเล่นได้ยากมากในไทย การทำ Maho Rasop ช่วยให้เราพาเขามาเล่นได้ มันมีความหมายกับตัวเราในแง่นั้น 

“อีกเรื่องหนึ่งก็อาจจะเป็นความภูมิใจเล็ก ๆ ส่วนตัวที่พูดได้ว่า เราเป็นหนึ่งในผู้จัดที่สร้างเฟสติวัลแบบนี้เจ้าแรกในไทย และพยายามจะผลักดันให้มันไปต่อได้” ท้อปทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

เบื้องหลังการวิ่งระยะไกลของทีมงาน Maho Rasop เทศกาลดนตรีนอกกระแสแรกในไทยที่อยากเป็นหมุดหมายของคนรักเสียงเพลงทั่วโลก

ภาพ : mahorasop.com

Lessons Learned

  • การพูดคุยและรับฟังฟีดแบ็กจากกลุ่มลูกค้าและทีมงาน คือคีย์หลักที่ทำให้ธุรกิจเติบโต
  • การใส่ใจรายละเอียดคือเรื่องสำคัญต่อธุรกิจ อย่างถ้าเป็นเทศกาลหรือคอนเสิร์ต สิ่งที่ควรใส่ใจที่สุดคือเรื่องเสียงที่ต้องมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน
  • ความกล้านำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ที่บางครั้งอาจไม่ได้ป๊อปปูลาร์หรือเรียกยอดขายมาก แต่เรามั่นใจว่าดี คือสิ่งที่จะทำให้ลูกค้ารัก

Writer

พัฒนา ค้าขาย

พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนชาวเชียงใหม่ผู้รักทะเลและหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์