ดร.มหิศร ว่องผาติ เป็นวิศวกรชาวไทยวัย 40 ปี

เขาหลงใหลหุ่นยนต์จนช่วงเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อนเรียกเขาว่า ‘ช้างโรบอต’

เขาเปิดตัวสิ่งประดิษฐ์แรกในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยการประดิษฐ์กระทงที่มีตราพระเกี้ยวหมุนได้ สูง 1 เมตร ไปร่วมขบวนแห่งานประเพณีลอยกระทงของจุฬาฯ 

นิสิตผู้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในชมรมหุ่นยนต์ ชวนเพื่อนๆ ประดิษฐ์หุ่นยนต์ไปแข่งในรายการต่างๆ พวกเขาชนะนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก แล้วคว้าแชมป์ระดับประเทศตั้งแต่เรียนปี 2 สุดท้ายพอเรียนจบก็คว้าแชมป์โลกได้ตอน ค.ศ. 2008

ดร.มหิศร ว่องผาติ วิศวกรที่ไม่อยากทำอะไรนอกจากหุ่นยนต์ และอยากทำหุ่นยนต์ที่เมืองไทย

เขาสนใจเรื่องอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่เด็ก 

เด็กชายผู้โตมาในจังหวัดภูเก็ต ต่อวงจรไฟฟ้าเป็นจากการอ่านนิตยสารตั้งแต่ ป.4 รู้จักคอมพิวเตอร์ยุค Intel 286 จากพี่ข้างบ้านผู้มีหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มใหญ่กว่าที่เขาหาได้จากร้านหนังสือตรงข้ามบ้าน

เขาต่อเครื่องขยายเสียงขนาด 100 วัตต์ ด้วยการลองทำเองตอน ป.5 

ถ้าถามเรื่องชีวิตมัธยมต้น คำตอบจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ยุค Pentium 90 ส่วนชีวิตมัธยมปลาย จะมีฉากหลังเป็นระบบปฏิบัติการ Windows 98 

ตอนสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เขาเลือกแค่ 2 อันดับ คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ แบบไม่กำหนดภาควิชา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

เขาค้นพบความสุขจากการทำหุ่นยนต์ตัวแล้วตัวเล่าในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย

หลังเรียนจบ เขาไปเรียนต่อและทำงานด้านหุ่นยนต์ที่ประเทศญี่ปุ่น แบบไม่มีใครแปลกใจ

แล้วเขาก็กลับมาชวนเพื่อนเปิดบริษัททำหุ่นยนต์แบบที่เขาอยากทำซึ่งเมืองไทยยังไม่มี ชื่อบริษัท HiveGround 

คนในวงการหุ่นยนต์ยกย่องว่า HiveGround เป็นบริษัทหุ่นยนต์ที่ล้ำหน้าที่สุดในประเทศ

ดร.มหิศร บอกว่า พูดถึงบริษัททำหุ่นยนต์ของเขาแค่ ‘ไม่เหมือนใคร’ เพราะเน้นสร้างเทคโนโลยีที่เอาไปใช้ได้จริง ก็พอ

เขาพูดตลอดการสัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง

และนี่คือเรื่องราวของ ชายผู้บอกว่า “ไม่อยากทำอะไรนอกจากหุ่นยนต์ และอยากทำหุ่นยนต์ที่เมืองไทย”

ดร.มหิศร ว่องผาติ วิศวกรที่ไม่อยากทำอะไรนอกจากหุ่นยนต์ และอยากทำหุ่นยนต์ที่เมืองไทย
01

ห้องที่ไม่มีใครมาดับฝัน

“เด็กๆ บอกแม่ว่าอยากเป็นช่างไฟ” ดร.มหิศร เล่าความฝันในวัยเด็กซึ่งโตมาในธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม จึงเห็นพี่ๆ ช่างไฟแวะเวียนมาซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อยู่เสมอ

“ตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวิศวกรคืออะไร จนเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก็มีรุ่นพี่จากวิศวะ จุฬาฯ มาพูดที่โรงเรียน ถึงได้รู้จักคณะนี้ แล้วก็เอ็นทรานซ์เข้าวิศวะ จุฬาฯ” เขาย้อนความหลัง

“ตอนอยู่ปีหนึ่งไปอาสาทำพระเกี้ยวยักษ์สูงหนึ่งเมตรที่หมุนได้ตอนงานลอยกระทง ใช้ความรู้ตั้งแต่ตอนเด็กๆ เรื่องการตัดโฟม ต่อวงจร เลยมีโอกาสได้ไปยืมของจากชมรมหุ่นยนต์ ได้รู้จักพี่ๆ ในชมรมนั้น ได้เจอบรรยากาศเหมือนที่ตัวเองเป็นตอนเด็ก พี่ๆ เลยชวนให้มาทำหุ่นยนต์ด้วยกัน” 

ดร.มหิศร ฝังตัวอยู่ในชมรมหุ่นยนต์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนแม้จะเรียนจบมาแล้วเนิ่นนาน แต่เขาก็ยังวนเวียนกลับไปเติมพลังให้น้องๆ อยู่ตลอด 

สิ่งที่ชมรมหุ่นยนต์มอบให้เขาคือ ทรัพยากรและโอกาส

“มันเป็นชมรม ไม่ใช่ชั้นเรียน ไม่มีใครมาดับฝันเราว่า ทำแบบนั้นไม่ดี หรือคอยชี้ทางว่าต้องทำแบบไหน มีแต่คนบอกให้ลองทำเลยว่าเป็นยังไง โชคดีที่มีเครื่องไม้เครื่องมือให้ใช้ มีความรู้ มีวิธีการที่แบ่งปันกันมากมาย แล้วก็มีแรงยุ แรงเชียร์ ให้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ผมเลยไม่กลัวพลาด ผิดก็แก้กันไป”

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ชมรมหุ่นยนต์ไม่เคยสอนเขา

“ไม่มีใครบอกว่า แบบไหนเรียกว่ายาก ไม่มีใครตั้งมาตรฐานมาวัด” 

ดร.มหิศร ว่องผาติ วิศวกรที่ไม่อยากทำอะไรนอกจากหุ่นยนต์ และอยากทำหุ่นยนต์ที่เมืองไทย
02

เราไม่มีโหมดซูเปอร์ฮีไร่

หุ่นยนต์ที่ ดร.มหิศร ทำไปแข่งตัวแรกคือ หุ่นยนต์เล่นหมากรุก ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก Deep Blue หุ่นยนต์ตัวแรกของโลกที่เล่นหมากรุกชนะคนใน ค.ศ. 1997 

เขาอยากทำหุ่นยนต์แบบเดียวกับหุ่นรุ่นตำนานของโลกตั้งแต่เรียนปี 2

อย่างว่า ไม่มีใครบอกเขาว่า อะไรเรียกว่ายาก

“ทำไปแล้วถึงรู้ว่าโคตรยาก โจทย์คือทำหุ่นยนต์สำหรับผู้สูงอายุ คุยกับเพื่อนว่าอยากทำหุ่นที่เล่นหมากรุกเป็นเพื่อนคนแก่ เพื่อนก็เขียนโปรแกรมเล่นหมากรุก ส่วนผมทำวงจรกับแขนกลที่รู้ว่าต้องหยิบตรงไหน วางตรงไหน มันแอดวานซ์มากสำหรับเด็กปีหนึ่ง โชคดีที่เราไม่รู้ว่ามันยาก” 

ตอนปี 2 มหิศรต้องนั่งรถเมล์จากจุฬาฯ ไปดอนเมือง เพื่อไถ่ตัวอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่ส่งมาจากอเมริกาจากเจ้าหน้าที่ศุลกากร ความพยายามอันหนักหน่วงนั้นคุ้มค่า เพราะชิ้นส่วนนั้นทำให้ทีมหุ่นยนต์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปรียบ จนชนะการแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอล Robocup ระดับประเทศในปีนั้น 

หุ่นยนต์ที่พวกเขาสร้างขึ้นชื่อ Plasma-Z มีทั้งหมด 5 ตัว สร้างขึ้นโดยทีมงานด้าน Mechanic, Electronic, Software, User Interface และ Operation Procedure ทุกส่วนต้องมีอิสระในการออกแบบส่วนของตัวเอง แต่ต้องสอดคล้องทำงานร่วมกันได้ ทุกฝ่ายไม่มีใครสำคัญไปกว่ากัน

“สิ่งที่ทำให้ทีมจุฬาฯ ประสบความสำเร็จคือ เราไม่มีโหมดซูเปอร์ฮีโร่ สิ่งนั้นยังติดตัวผมมาจนโต ผมเชื่อในการทำงานเป็นทีม เชื่อว่าทุกคนมีส่วนในการสร้างความสำเร็จเท่าๆ กันทุกฝ่าย” 

การแข่ง Robocup ปีนั้นเขาชนะทีมของนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก เขาไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเก่งอะไร ทำไปก็เพราะความสนุก ใครมาขอแบ่งความรู้พวกเขาก็ยินดีถ่ายทอดให้ทุกคน

ทีมหุ่นยนต์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยลงแข่งขัน Robocup ทุกปี จน ค.ศ. 2008 ก็คว้าแชมป์โลก World Robocup มาครองได้ ในประเภทหุ่นยนต์กู้ภัย

03 

เราต้องมีเทคโนโลยีในมือ

บนเวที TEDxBangkok 2015 มหิศรพูดถึงหุ่นยนต์กู้ภัยของญี่ปุ่น ซึ่งดัดแปลงจาก ASIMO หุ่นยนต์ชื่อดังของบริษัท HONDA มันถูกส่งเข้าไปปิดวาล์วในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แบบที่ไม่เคยมีหุ่นยนต์ตัวไหนในโลกทำได้มาก่อน เมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 2011

“นี่เป็นตัวอย่างสำคัญที่บอกเราว่า เราต้องมีเทคโนโลยีในมือที่พร้อม สำหรับวันสำคัญที่สุด ซึ่งไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่” 

ดร.มหิศร ว่องผาติ วิศวกรที่ไม่อยากทำอะไรนอกจากหุ่นยนต์ และอยากทำหุ่นยนต์ที่เมืองไทย
04 

ความตั้งใจ ติดเครื่องขยายเสียง

ดร.มหิศร อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นตอนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนั้น

ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย เขาเสนอโปรเจกต์หุ่นยนต์ที่เดินตามทิศทางที่กำหนด หลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ และระบุตำแหน่งตัวเองได้แบบเรียลไทม์ (แบบเดียวกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นรุ่นที่ไม่เดินสะเปะสะปะ) ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้เรียกว่า SLAM (Simultaneous Localization and Mapping) ดร.มหิศร มองเห็นความเป็นไปได้นี้ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว 

แต่หัวหน้าบอกเขาว่า ยากเกินไป

นั่นทำให้เขาพบโอกาสที่จะเปิดบริษัททำหุ่นยนต์ของตัวเองที่ประเทศไทย ดร.มหิศร เลยลงเรียนปริญญาเอกที่ Keio University มหาวิทยาลัยเอกชนอันดับ 1 ของญี่ปุ่น ซึ่งมีแล็บหุ่นยนต์อันโด่งดัง เขาโชว์ฝีไม้ลายมืออยู่ที่นั่นไม่นาน ก็มีอาจารย์ช่วยแนะนำจนเขาได้เป็นนักเรียนทุนญี่ปุ่น 

วิทยานิพนธ์ของเขาคือ การใช้กล้อง Kinect ที่ถ่ายภาพได้ 3 มิติควบคุมหุ่นยนต์โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรม แล้วออกคำสั่งด้วยการเคลื่อนไหว 

“คอนเซปต์คือ ถ้าอยู่คนเดียวแล้วต้องบัดกรีวงจร แต่มือไม่พอ อยากให้มีมือที่สามมาช่วยจะได้ทำงานต่อได้” เขาสร้างมือมาช่วยบัดกรีวงจรอยู่ 3 ปี แล้วจึงกลับมาเมืองไทยพร้อมปริญญาเอก 

เขาบอกว่าดีใจที่ตัดสินใจเรียนปริญญาเอกมา เพราะการมีคำนำหน้าว่าดอกเตอร์มันก็ทำให้มีคนฟังเขามากขึ้นอีกหน่อย

05 

หุ่นยนต์เป็นสินค้าที่มีตลาด

เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย ดร.มหิศร และเพื่อนเปิดบริษัทสตาร์ทอัพ HiveGround ตามที่คุยกันไว้เมื่อ 2 – 3 ปีก่อนหน้า

พวกเขาตั้งใจทำบริษัทที่พัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้งานจริง เน้นการวิจัยและสร้างเทคโนโลยีเอง ทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ จะได้ยืดหยุ่นกับความต้องการและความจำเป็น

ดร.มหิศร เชื่อว่า ประเทศไทยต้องมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง และเขาน่าจะมีรายได้จากการทำสิ่งนี้ได้

“หุ่นยนต์แบบฟังก์ชันมีตลาดอยู่แล้ว เพราะมันทำเรื่องที่คนไม่อยากทำ” 

เรื่องที่คนไม่อยากทำคือ 3D ประกอบด้วย Demanding, Dirty และ Dangerous

“เมื่อหุ่นยนต์ทำงานได้ครบ 3D เราจะรู้สึกว่ามันมีประโยชน์มาก เช่น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น มี Demand กับ Dirty ถ้าไม่มีหุ่นตัวนี้เราก็ไม่เดือดร้อนมาก แต่โดรนพ่นสารเคมีทางการเกษตรมีครบ 3D ลดการใช้แรงงานคนทำสิ่งซ้ำๆ ในปริมาณมากๆ สารเคมีก็อันตราย อากาศก็ร้อน บางทีก็ฝนตก บางทีคนพ่นยาสองปีปอดก็พัง ค่าจ้างก็ถูก แบบนี้สมควรใช้หุ่นยนต์ไปแทนอย่างยิ่ง เพราะชีวิตคนมีค่ามากกว่าค่าแรงที่ถูกเกินไป” ดร.มหิศร เล่าถึงพื้นที่ที่เขาจะเข้าไปทำงาน

06

โดรนเพื่อเกษตรกรไทย

Tiger Drone เป็นโดรนการเกษตรของ HiveGround ที่ไม่เหมือนโดรนการเกษตรของบริษัทอื่น

“มันถูกสร้างขึ้นมาให้เกษตรกรไทยใช้งานแบบไม่ต้องทำความเข้าใจอะไรใหม่มากนัก มีฟังก์ชันตอบความต้องการของเกษตรกรไทยได้ดี เพราะเราศึกษาวิธีทำงานของเกษตรกรไทย สารเคมีที่ใช้ แล้วก็ให้วิศวกรชาวไทยออกแบบ เขียนโปรแกรมเอง จึงปรับให้เข้ากับความต้องการใช้งานได้ตลอด ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่จำเป็นกับการใช้งานการเกษตรของไทย” ดร.มหิศร เล่าถึงหนึ่งในผลงานชิ้นที่น่าภูมิใจ

นอกจากประโยชน์ที่ทำให้การฉีดยาฆ่าแมลงปลอดภัย แม่นยำ รวดเร็ว และสม่ำเสมอแล้ว HiveGround พบว่าเกษตรกรไทยไม่นิยมซื้ออุปกรณ์ชิ้นใหญ่แบบนี้ไว้ใช้เอง แต่ในชุมชนจะมีร้านรับจ้างที่จะลงทุนซื้ออุปกรณ์ชิ้นใหญ่ๆ แล้วแบ่งกันใช้

Tiger Drone จึงมีฟังก์ชันเก็บข้อมูลว่าไปบินที่ไหนมาบ้าง พ่นยาตรงไหนไปเท่าไหร่ ออกรายงานสรุปให้เป็นหลักฐานการทำงานกับเจ้าของได้

เนื่องจากพืชผลแต่ละชนิดแตกต่างกัน และลักษณะพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน จึงมีการวางโปรแกรมการฉีดพ่นพื้นฐานไว้ 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือจะเป็นการปรับให้เข้ากับการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

การเขียนโปรแกรมสำหรับหุ่นยนต์คือ การเขียนคำสั่งเพื่อให้หุ่นยนต์ทำงานรับมือกับสถานการณ์ (Senario) ต่างๆ เช่น โดรนการเกษตร ต้องเขียนโปรแกรมให้โดรนป้องกันตัวเองจากการดิ่งพื้น ต้องปรับใบพัดเมื่อเจอลมที่มาในทิศทางต่างๆ หรือต้องหลบสิ่งกีดขวาง การประมวลผลนี้เกิดขึ้นประมาณ 500 ครั้งต่อวินาทีในแต่ละสถานการณ์ มีการเขียนคำสั่งอย่างละเอียดทีละขั้นตอน ตามลำดับที่ถูกต้อง ป้องกันหุ่นยนต์สับสนว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง 

‘งานเขียนโค้ดคืองานคราฟต์’ เพราะถ้ารายละเอียดพลาดไปเพียงเล็กน้อย หุ่นยนต์อาจทำความผิดพลาดขนานใหญ่ ทีมงาน HiveGround จึงใช้เวลาถึงปีกว่าๆ ในการนำซอฟต์แวร์จาก Open Source มาพัฒนาต่อเพื่อใช้กับ Tiger Drone ซึ่งเขามองว่าคุ้มกว่าซื้อโปรแกรมสำเร็จรูป

“ถ้าหากเราซื้อซอฟต์แวร์มาจากที่อื่น เซิร์ฟเวอร์ก็อยู่ที่อื่น มันจะยืดหยุ่นและปรับตามหน้างานไม่ได้ละเอียดเท่านี้ เหมือนซื้อรถที่ผลิตจากโรงงาน มันก็ขับบนถนนมาตรฐานได้ แต่อาจจะตอบความต้องไม่ได้ทั้งหมด และที่สำคัญเราจะไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมาเลย”

ในแง่ฮาร์ดแวร์ กลุ่มลูกค้าเกษตรกรคาดหวังเรื่องความทนทานของอุปกรณ์สูงมาก โดรนเกษตรใหญ่กว่าโดรนปกติ 5 – 10 เท่า ต้องรับน้ำหนักมาก ต้องใช้งานกลางแจ้ง และมักถูกใช้อย่างสมบุกสมบัน 

“แค่ขนใส่รถขับเข้าไปในท้องนาก็เสี่ยงจะพังเพราะแรงกระแทกได้แล้ว มันเป็น Field Robotic มีความคาดหวังความทนทานเท่าอุปกรณ์ทางการทหาร ซึ่งไม่ใช่แค่ไม่พัง แต่ว่าต้องซ่อมได้

“แต่เราขายราคาทหารไม่ได้” เขาบอก

เขาจึงต้องเลือกใช้วัสดุที่แข็งแรง ราคาถูก ซ่อมได้ และออกแบบรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อีกมากมาย เพื่อให้ Tiger Drone รับหน้าที่รับความเสี่ยงในการพ่นยาตามไร่นาแทนคนให้ดีที่สุด

07

ไทยทำได้ ทำส่งขายทั่วโลกด้วย

งานชิ้นใหม่ล่าสุดที่ ดร.มหิศร ภูมิใจนำเสนอคือ อากาศยานไร้คนขับหน้าตาหล่อเหลาชื่อ VETAL หุ่นยนต์อากาศยานตัวนี้ใช้เวลาทำนานถึง 4 ปี แม้จะไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ของโลก แต่วันนี้คนไทยก็สร้างเองได้ และกำลังจะส่งขายทั่วโลก

VETAL เป็นอากาศยานขึ้นลงแนวดิ่ง (VTOL) ที่ใช้ในการสำรวจ เทียบให้เห็นภาพโดรนมัลติมอเตอร์แบบ Tiger Drone เหมือนผึ้งที่ใช้พลังงานในการบินเยอะและทำงานหนัก ส่วน VETAL เหมือนเหยี่ยวที่มีปีกใหญ่ บินลู่ลมได้โดยไม่ใช้พลังงานมากนัก

เขาอธิบายว่าเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อให้ได้ผลดีที่สุด ทั้งในแง่โครงสร้างที่เป็นคอมโพสิตให้น้ำหนักเบา การออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ ทำให้ไม่ต้องแบกแบตเตอรี่หนักๆ เพียงเพื่อใช้ในการออกตัวและลงจอด กะทัดรัด ใช้พื้นที่ในการขึ้นลงน้อยมาก ใช้งานง่ายมาก เปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมได้หลากหลาย บินได้เร็ว ไกล และนานกว่าโดรนแบบมัลติมอเตอร์

ถ้าคิดว่ามันทำง่าย ไม่ต่างจากโดรนทั่วไป ลองนึกภาพ VETAL ลอยตัวขึ้นตามแนวตั้ง แล้วก็พลิกตัวเพื่อบินต่อในแนวนอนแบบเครื่องบิน จะรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

08

ช่วยหมอด้วยการทำให้รถเข็นอาหารเดินได้และคุยได้

ดร.มหิศร เป็นคนที่หน่วยงานต่างๆ ติดต่อไปขอความเห็นเรื่องหุ่นยนต์อยู่เสมอ

คิดถึงหุ่นยนต์ คิดถึงมหิศร

หุ่นยนต์ ‘ปิ่นโต’ ที่ส่งเข้าไปช่วยบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาล ก็เป็นหนึ่งในงานที่ดร.มหิศร เข้าไปช่วยในฐานะอาสาสมัคร 

“ตอนโควิด-19 ระลอกแรก รุ่นพี่โทรมาบอกว่าน่าจะหนักนะ หุ่นยนต์ทำอะไรได้บ้าง ผมเลยขอคุยกับหมอที่ดูแลเรื่องนี้ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ว่าอยากได้อะไร เขาบอกว่าชุด PPE มันเปลี่ยนยาก และการส่งข้าวส่งน้ำวันละหลายรอบต้องใส่ PPE เข้าไปส่ง อยากได้อะไรเข้าไปส่งแทนโดยไม่ต้องใส่ชุดนี้และทำความสะอาดง่าย ผมเห็นรถเข็นส่งอาหารที่เขาใช้อยู่เลยถามว่า ถ้ารถเข็นนี้เดินได้เองล่ะ จะช่วยไหม เขาก็บอกว่าน่าจะช่วยนะ แล้วถ้ามันคุยได้ด้วยก็น่าจะดี” ดร.มหิศร เล่าบรีฟของงานนี้ให้ฟัง 

ปิ่นโตออกแบบเสร็จใน 3 วันโดยใช้เทคโนโลยีจากโดรนมาประกอบร่างเข้ากับรถเข็นอาหารและยาที่ใช้ในโรงพยาบาล แล้วก็ติดกล้องและหน้าจอให้มันด้วย

“ปิ่นโตคือรถบังคับ ใช้โครงอะลูมิเนียมที่ผมไปขอให้บ้านเพื่อนช่วยทำให้ ตั้งใจออกแบบให้ผลิตง่าย ใช้ง่าย เป้าหมายคือยื่นรีโมตให้แล้วคนที่โรงพยาบาลใช้ได้เลย” 

ปิ่นโตช่วยให้โรงพยาบาลประหยัดชุด PPE ได้ราววันละ 300 ชุด และช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อให้บุคลากรทางการแพทย์อย่างประเมินค่าไม่ได้มาปีกว่าๆ แล้ว

ทุกวันนี้มีหุ่นยนต์ปิ่นโตทำหน้าที่อยู่ 200 ตัวทั่วประเทศ และมีความต้องการอยู่อีก 400 ตัว เขามอบวิธีการผลิตและวิธีการให้เป็น Open Source ใน Public Domain ใครจะเอาไปผลิตก็ได้เพื่อให้นวัตกรรมนี้มีประโยชน์สูงสุด

09

การซื้อมาขายไป ไม่ได้ทำให้เราไปไกลขึ้นเลย

ดร.มหิศร ยอมรับว่างานอาสาแบบนี้ช่วยเร่งเสียงของเขาให้ดังยิ่งขึ้น เขาใช้เสียงนั้นช่วยผลักดันให้รัฐสนับสนุนการพัฒนาหุ่นยนต์ เพื่อทดแทนแรงงานที่ค่าแรงถูกหรือต้องทำงานอันตราย จะได้เพิ่มประสิทธิภาพให้ประเทศ และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนไทย 

“วันหนึ่งที่เสียงบ่นของผมมีน้ำหนัก ผมอยากโน้มน้าวให้เกิดอะไรบางอย่างในระดับประเทศ ผมอยากให้คนทั่วประเทศเห็นว่า เราไม่จำเป็นต้องอยู่กับเทคโนโลยีที่ต้องพึ่งการซื้อมาขายไป เพราะไม่ได้สร้างนวัตกรรมอะไรให้โลก หรือทำให้เราไปไกลกว่าจุดที่เราอยู่ในปัจจุบันเลย” เขาฝากประโยคนี้บอกทุกคน

10

เอาหุ่นยนต์มาใช้งานแทนคน คุณภาพชีวิตคนจะดีขึ้น 

ดร.มหิศร เชื่อว่า หุ่นยนต์ไม่ใช่ความจำเป็น แต่คุณภาพชีวิตของคนจะเป็นตัวชี้วัดว่า สังคมนี้ควรมีหุ่นยนต์หรือไม่

อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ญี่ปุ่นมีสัดส่วนหุ่นยนต์ราว 600 – 1,000 ตัว ต่อมนุษย์ 10,000 คน ประเทศสิงค์โปรมีสตาร์ทอัพที่สร้างรถแท็กซี่ไร้คนขับได้เป็นที่แรกในโลก (ออกแบบโดยวิศวกรชาวไทย) สิ่งที่มีร่วมกันของสองประเทศนี้คือ ค่าแรงแพงมาก 

“ญี่ปุ่นค่าแรงชั่วโมงละหนึ่งพันเยน (ประมาณ 300 บาท) แต่ของไทยคือค่าแรงต่อวัน ต้นทุนในการใช้งานแรงงานไทยมันถูก ระบบเศรษฐกิจและกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำที่จ่ายค่าแรงเขาน้อย แต่ถ้าไม่ทำเขาก็ไม่มีข้าวกิน และคนที่จ้างเขาด้วยเงินน้อยนิดนั้นก็ไม่ผิดกฎหมาย 

“สังคมบ้านเราเลยไม่มีปัจจัยส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีมาแทนคน ซึ่งต้องทำสิ่งที่ไม่ควรจะทำ อย่างคนที่ต้องตัดต้นไม้ริมถนน โดยมีแสงไฟไม่เพียงพอ มีแค่กรวยตั้งแบบคร่าวๆ รถก็ขับกันเร็ว อันตรายมาก แต่ได้ค่าแรงแค่สามร้อย สี่ร้อยบาท”

ดร.มหิศร ยืนยันว่า เมื่อเอาหุ่นยนต์มาใช้งานแทนคน คุณภาพชีวิตของคนในสังคมจะดีขึ้น “เทคโนโลยีไม่ได้มาแย่งงาน แต่มาทำให้คุณภาพชีวิตทุกคนดีขึ้น อย่างแท็กซี่อัตโนมัติในสิงค์โปร์ เอามาแทนคนขับแท็กซี่ที่ต้องทำงานหนัก โดนกดค่ามิเตอร์ จนเราทุกคนก็เคยเจอความอารมณ์ไม่ดีของพวกเขาอยู่บ่อยๆ หรือจริงๆ แล้ว เขาก็ไม่ได้อยากทำงานเหล่านั้นเหมือนกัน” 

แต่คนขับแท็กซี่ดีๆ ที่รักในอาชีพ และบริการอย่างเต็มความสามารถก็มีอยู่มาก พวกเขาสมควรได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น นั่นคือสิ่งที่หุ่นยนต์เข้ามาช่วยแบบอ้อมๆ

“มันจะมาผลักดันมาตรฐานความเป็นมืออาชีพ ทำให้สิ่งที่ทำโดยมนุษย์มีมูลค่า” 

อย่างที่เรายอมจ่ายให้เสื้อยืดที่เพนต์ด้วยมือโดยศิลปินดัง ไม่เท่ากับเสื้อที่สกรีนเหมือนๆ กันจากโรงงาน

“ตอนนี้การใช้หุ่นยนต์มาแทนแรงงานราคาถูกเป็นปัญหาที่เหมือนไก่กับไข่ คุณบอกว่าหุ่นยนต์จะมาแย่งงาน แต่คุณก็สร้างคนที่ไม่มีคุณภาพ พอคนไม่มีคุณภาพ นายทุนก็ไม่อยากจ่ายค่าแรงสูง และก็ต้องทนใช้แรงงานมนุษย์ที่ไม่ได้สบายใจกับสิ่งที่ตัวเองได้รับ ซึ่งก็ทำให้ประสิทธิภาพลดลง” เขาทิ้งท้ายให้เราไปคิดต่อ

11

ถ้าหุ่นยนต์ครองโลก เราก็ต้องพัฒนาตัวเองไปครองสิ่งที่ดีกว่า

หุ่นยนต์จะครองโลกจริงไหม

“ถ้าหุ่นยนต์จะครองบางส่วนของโลก มนุษย์ก็ต้องไปครองอะไรที่ดีกว่าสิ ต้องพัฒนาตัวเอง อย่าเป็นหุ่นยนต์” ดร.มหิศร ชวนคิดว่า หลายอย่างที่เราทำอยู่ ยังเป็นสิ่งที่มนุษย์ควรทำอยู่ไหม

“อย่างอาชีพนักเขียน เขียนข่าวแล้วอาจจะทำให้รัฐบาลไม่พอใจ ก็เข้าข่ายงานอันตราย ถ้าใช้หุ่นยนต์ทำ รัฐบาลลงโทษหรือกดดันหุ่นยนต์ไม่ได้ ก็น่าจะดีเหมือนกัน” เขายกตัวอย่างพร้อมเสียงหัวเราะ แล้วเล่าต่อ

“คนเรามีความเชื่อตามสัญชาตญาณว่า อะไรที่มีแขนมีขาหน้าตาคล้ายๆ เราจะต้องฉลาด และทำตัวเหมือนเราได้ เวลาคนเห็นหุ่นยนต์ที่เหมือนมนุษย์เลยคิดว่า นั่นคือความล้ำยุค เกิดความคาดหวัง แต่พอหุ่นยนต์เริ่มพูดมันจะดูโง่ลงทันที เพราะหุ่นยนต์ยังไม่สามารถเลียนแบบการพูดของคนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

“หุ่นยนต์ยังต้องพัฒนาอีกเยอะกว่าจะไปถึงจุดที่เหมือนมนุษย์ มนุษย์มีพัฒนาการมาเป็นล้านปี แต่เรากลับคาดหวังให้หุ่นยนต์ที่พัฒนามาห้าสิบปีทำได้เท่ากัน น่าสงสารหุ่นยนต์ที่โดนคาดหวังขนาดนั้นนะ” 

12

เราต้องรู้เท่าทันคนที่อยู่เบื้องหลังหุ่นยนต์ และต้องควบคุมเทคโนโลยีนี้เอง

ดร.มหิศร บอกว่าหุ่นยนต์เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ต้องใช้ทั้งเงินและเวลาในการพัฒนา รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ในความเป็นจริง นอกจากรัฐจะไม่ค่อยสนใจการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนแล้ว รัฐยังไม่ช่วยปกป้ององค์ความรู้ในการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศด้วย

“เราเป็นประเทศเกษตรกรรม การเกษตรเป็นความภาคภูมิใจของเรา ปัจจุบันมีวิศวกรไทยที่ผลิตโดรนเพื่อการเกษตรเองได้แล้ว แต่รัฐยังปล่อยให้โดรนจีนที่ราคารวมภาษีนำเข้าแล้วถูกกว่า เข้ามาขายในประเทศไม่หยุดหย่อน เพราะรัฐบาลไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างการนำเข้าเทคโนโลยีกับการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเอง เขาไม่เข้าใจว่านวัตกรรมเหล่านี้คือทรัพยากรของชาติ การที่จะมีคนทำอะไรเองเป็น ทำอะไรเองได้ คือสิ่งที่ประเทศนี้ต้องการ

“รัฐบาลไม่มีแผนในการพัฒนาเทคโนโลยี งบประมาณทุกอย่างไปเน้นไปที่การซื้อของที่มีอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะเป็นของดี แต่เมื่อไหร่ที่เขาเลิกขาย เราจะไม่มีของ แล้วเราก็จะทำอะไรไม่ได้ การที่ไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีอยู่กับตัวเองมันน่ากลัว” ดร.มหิศร พูดถึงสิ่งที่น่ากังวลของประเทศ

เขาบอกว่า ในอนาคตอันใกล้หุ่นยนต์ที่เป็น Bidirectional Communication (การสื่อสารสองทาง) จะมีให้เห็นทั่วไป และจะมีอิทธิพลกับเรามากกว่าเทคโนโลยีทั้งหมดที่เคยมีมา 

“เราอาจจะโดนหุ่นยนต์ปั่นหัวจนเหนื่อยกว่าปัญหาเฟกนิวส์ทุกวันนี้ ถ้าการจัดการเรื่องข้อมูลที่อยู่ในโดเมนของหุ่นยนต์นั้นทำได้ไม่ดี การตรวจสอบเนื้อหาจะสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ คนที่มีอำนาจเหนือเนื้อหาเล่านี้ก็จะยิ่งมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ลองคิดดู สมมติว่าทุกบ้านมีหุ่นยนต์ที่ทำโดยประเทศใดประเทศหนึ่ง แล้วประเทศนั้นใส่ข้อมูลเข้าไปเป่าหูคนทั้งโลกพร้อมกัน มันจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราจะต้องพึ่งพาผู้ผลิตที่อยู่นอกประเทศเหล่านั้นตลอดไป เราก็จะตกเป็นทาสพร้อมๆ กันทั้งโลก”

ที่ญี่ปุ่นมีการทดลองที่สรุปผลได้ว่า เด็กเล็กๆ กล้าคุยหรือบอกความลับกับหุ่นยนต์มากกว่าพ่อแม่ และเด็กเชื่อหุ่นยนต์มากกว่าครู 

“น่าคิดว่า สิ่งที่เด็กซึมซับมาจากหุ่นยนต์จะมาจากใคร เราจะเอาข้อมูลชุดไหนใส่เข้าไปในหุ่นยนต์ เราควบคุมมันได้ไหม ความมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมจะยังมีอยู่ไหม หรือมนุษย์ก็จะเหมือนๆ กันไปหมดทั้งโลก”

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง มนุษย์ก็สุ่มเสี่ยงจะกลายเป็นหุ่นยนต์เหมือนอย่างที่เขาว่า แถมเป็นหุ่นยนต์สัญชาติเดียวกันอีกต่างหาก

ดร.มหิศร ย้ำว่า “เราต้องเข้าใจ และรู้เท่าทันคนที่อยู่เบื้องหลังหุ่นยนต์ ต้องศึกษา พัฒนา และมีองค์ความรู้นี้ในประเทศของเราเอง ถ้าคนในประเทศไม่มีอำนาจควบคุมเทคโนโลยีเหล่านี้ ก็อาจจะเกิดปัญหาความมั่นคงได้” 

13

เราต้องพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง

ดร.มหิศร รู้ดีว่าธุรกิจที่เขาทำมีความเสี่ยงมากกว่าปกติ และสิ่งที่เขาอยากเห็น คงยังไม่เกิดขึ้นจริงเร็วๆ นี้

แต่เขายังยืนยันว่า เขาอยากทำให้คนเห็นว่าการพัฒนาเทคโนโลยีเองมีประโยชน์ เทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องเป็นของนอก และไม่จำเป็นต้องเป็นของแพง

“สิ่งที่อยากทำในวันข้างหน้า ก็แค่อยากเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ไม่ลืมสิ่งที่เราอยากจะเป็น และถ้าจะมีเงินทำของแปลกๆ ได้เรื่อยๆ ก็คงจะมีความสุขมาก” นักทำหุ่นยนต์ทิ้งท้าย

ดร. มหิศร เน้นย้ำเรื่องทรัพยากรและโอกาส อันนำมาสู่ทุกวันนี้ของเขาอยู่หลายครั้ง 

คนที่เขาอยากขอบคุณแบบออกสื่อก็คือ อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมหุ่นยนต์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ให้ทั้งต้นทุน ทรัพยากร คำแนะนำ และแรงบันดาลใจในการทำหุ่นยนต์ รวมทั้งบริษัท Seagate Technology และอาจารย์กลุ่ม Thai Robot Society ที่จัดรายการต่างๆ ให้นักประดิษฐ์อย่างเขาไปแข่งไปเปิดโลก จนทำให้มีโอกาสดีๆ แบบทุกวันนี้

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

Photographer

Avatar

รัชต์ภาคย์ แสงมีสินสกุล

ช่างภาพที่มีร้านล้างฟิล์มเป็นของตัวเอง แต่นานๆจะถ่ายฟิล์มที เพราะช่วงนี้ฟิล์มมันแพง