ชาวพระนครย่านสีลมจำนวนไม่น้อย ต่างรู้แล้วว่าในตรอกเล็ก ๆ ที่พรางตัวหลบมุมอยู่บนถนนปั้น คือที่ตั้งของ ‘Suananda’ ร้านอาหารมังสวิรัติโดย สุเกช จันทร์ศรีชวาลา แม่บ้านชาวอินเดียที่ปรุงอาหารตามหลักอายุรเวทฉบับชาวภารตะขนานแท้ 

เพราะอายุรเวทศาสตร์ยังมีอะไรให้ค้นหาและลึกซึ้งกว่าที่คาดคิดไว้มาก การเปิดร้านอาหารมังสวิรัติที่ทำหน้าที่แบ่งปันความรู้ด้านอายุรเวทและสอนโยคะไปพลาง ๆ จึงยังไม่จุใจ ครอบครัวจันทร์ศรีชวาลา นำทีมโดย สุเกช และ ลูกสาวคนเก่งอย่าง สิรินทร์ จันทร์ศรีชวาลา จึงขยายรั้วรอบขอบชิดจากร้านอาหารย่านสีลม สู่สถานที่รีทรีตอันสงบเงียบกลางเมืองเชียงใหม่ในนาม ‘Mahi Retreat’ ที่พื้นที่กว้างกลางขุนเขาผุดขึ้นสำหรับใช้เป็นสถานที่บำบัดและเยียวยากายใจด้วยศาสตร์อายุรเวทเป็นเวลากว่า 2 ปีเศษแล้ว 

Mahi Retreat สถานรีทรีตไทย-อินเดียกลางเมืองเชียงใหม่ รักษากายใจผู้คนด้วยหลักอายุรเวท

ไม่รอช้า เรายกหูโทรศัพท์ต่อสายตรงไปยังสิรินทร์ เพื่อขอทำความรู้จักสถานที่แห่งนี้ให้ดียิ่งขึ้น แม้จะไม่ได้ไปเยือนสถานที่จริงให้เห็นกับตา แต่ความหรรษาที่ซ่อนไว้ในความเงียบสงบ ณ เมืองเชียงใหม่ ก็ส่งผ่านมายังเสียงปลายสายได้อย่างชัดเจน

Mahi Retreat สถานรีทรีตไทย-อินเดียกลางเมืองเชียงใหม่ รักษากายใจผู้คนด้วยหลักอายุรเวท

จากร้านอาหาร สู่สถานรีทรีต

“ธรรมชาติเป็นอย่างไร เราก็เป็นอย่างนั้น”

นี่คือประโยคอธิบายคำตอบอย่างง่ายของสิรินทร์ เมื่อเราเอ่ยถามอย่างซื่อ ๆ ว่าอายุรเวทศาสตร์คืออะไร เพราะเราเชื่อเหลือเกินว่าก่อนจะข้ามไปทำความรู้จักสถานรีทรีตของเธอ เราต้องทำความรู้จักเจ้าศาสตร์ที่ว่านี้เสียก่อน

“อายุรเวทคือการรู้จักธาตุตัวเอง ของทุกสิ่งทุกอย่าง รวมถึงตัวเราเองด้วย ล้วนมาจากห้าธาตุในธรรมชาติ เราจึงต้องอยู่ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ รู้ว่าตัวเราทำด้วยธาตุอะไร จากนั้นจึงรู้ว่าเราจะต้องกินอะไร จะอยู่อย่างไรให้สมดุลกับธรรมชาติได้”

สิรินทร์เสริมว่า อายุรเวทและโยคะ ก็เหมือนอาหารอินเดียกับเครื่องเทศ เป็นสองสิ่งที่อยู่คู่กันอย่างแยกไม่ออก จึงไม่แปลกที่ร้านอาหาร Suananda จะมีคลาสสอนหลักอายุเวทเชิงลึก ควบคู่ไปกับการสอนโยคะแบบส่วนตัวไว้คอยบริการแก่ลูกค้าที่สนใจ

“แต่เดิมเรามีคลาสเวิร์กชอปสอนหลักอายุรเวทที่ร้านอาหารอยู่แล้ว คุณแม่เป็นคนสอนเอง เพราะเขาสนใจและศึกษาทางด้านนี้มานาน นอกจากนี้ก็มีคลาสสอนโยคะและคลาสทำอาหารมังสวิรัติด้วย อย่างบ้านเราทานอาหารมังสวิรัตมาเป็นรุ่นที่ห้าแล้ว เรารู้สึกว่าการทานอาหารแบบนี้ ร่างกายเราไม่ได้ขาดอะไร เลยอยากจะถ่ายทอดให้คนอื่น ๆ ได้รู้จักกับอาหารมังสวิรัติด้วย

“แต่บางครั้งการมาเวิร์กชอปแค่หนึ่งถึงสองชั่วโมง อาจจะได้อะไรกลับไปไม่มากเท่าไหร่ เราเลยอยากขยับขยายให้กลายเป็นสเปซที่ใหญ่ขึ้น เป็นสถานที่รีทรีตให้คนพักผ่อน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง อยู่กับธรรมชาติให้นานขึ้น แน่นอนว่าเมื่อเรามีเวลานานขึ้น เราก็จะได้เรียนรู้อะไรที่เยอะกว่าและลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิมมาก” น้ำเสียงของสิรินทร์ ช่วยขับเน้นถึงความตั้งใจและความเป็นไปได้ที่ครอบครัวจันทร์ศรีชวาลามองเห็น ในการเนรมิต Mahi Retreat แห่งนี้ขึ้นเมื่อราว 2 ปีก่อนได้เป็นอย่างดี 

จากสีลม สู่เชียงใหม่

สีลมกับเชียงใหม่ ไม่ได้อยู่ใกล้ในระยะโบกแท็กซี่ไปถึง

คำถามข้อต่อไปที่คับข้องใจมาตั้งแต่เริ่มสนทนาปราศรัย เหตุใดเธอจึงปักหมุดหมายออกไปไกลถึงอำเภอดอยสะเก็ด

“เราเคยไปเที่ยวเชียงใหม่กันแล้วชอบค่ะ” ลูกสาวหัวเราะ “คุณพ่อไปเจอทำเลตรงนั้นโดยบังเอิญ จริง ๆ เคยเป็นปางช้างเก่าที่ตั้งอยู่บนภูเขาเตี้ย ๆ ที่สำคัญคืออยู่นอกเมือง ค่อนข้างเงียบสงบ ทุกอย่างเหมาะเจาะมาก คุณแม่ก็อยากทำที่รีทรีตอยู่แล้วด้วย”

Mahi Retreat สถานรีทรีตไทย-อินเดียกลางเมืองเชียงใหม่ รักษากายใจผู้คนด้วยหลักอายุรเวท
Mahi Retreat สถานรีทรีตไทย-อินเดียกลางเมืองเชียงใหม่ รักษากายใจผู้คนด้วยหลักอายุรเวท

สิรินทร์ใช้คำว่า ‘ลอง’ เพื่อบอกเป็นนัยว่า โปรเจกต์ในการรีโนเวตพื้นที่จากปางช้างเก่าสู่สถานรีทรีตของครอบครัวนั้น ยุ่งยากซับซ้อนกว่าที่เธอคาดการณ์ไว้หลายตลบ เนื่องจากในบริเวณพื้นที่กว้างกว่า 33 ไร่ มีโครงสร้างอาคารของเดิมตั้งตระหง่านวางท่าเป็นเจ้าถิ่นอยู่แล้ว ระยะเวลาและเงินทุนในการปัดฝุ่นแปลงโฉมที่ดินผืนนี้จึงค่อย ๆ ยักย้ายขยายตัวขึ้นตามกัน ลูกครึ่งตาคมผู้เรียนจบด้านการออกแบบมาโดยตรงอย่างสิรินทร์ มองว่าควรใช้การรีโนเวตแทนการก่อสร้างใหม่ จึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่ดีและเหมาะสมที่สุด

“เราเลือกทำงานกับช่างในท้องถิ่น อย่างลุงช่างไม้ที่เคยทำงานกับเรา ทุกวันนี้เขาก็ยังทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ชิ้นใหม่ ๆ เก๋ ๆ ให้เราตลอด เหมือนเป็นคนในครอบครัวเราด้วยอีกคน อย่างที่บอก เราไม่ได้คิดว่าที่นี่เป็น Business ขนาดนั้น”

สิรินทร์ชี้แจงแถลงไขตัวอาคารแต่ละส่วนให้เราฟังอย่างใจเย็น ชวนให้เรามองเห็นโครงสร้างของสถานรีทรีตท่ามกลางผืนป่า ขุนเขา และใบไม้ใบหญ้าเขียวขจีผ่านเสียงใส ๆ เริ่มกันที่ตัวอาคารบ้านไม้ 4 หลัง สำหรับเป็นห้องพักของแขกผู้มาเยือน วิวด้านหน้าคือคุ้งน้ำใสแจ๋วเย็นเฉียบ เหมาะแก่การนั่งสมาธิและทำโยคะยามเช้า เมื่อเห็นรูปภาพ ขอกระซิบว่าที่นี่ตกแต่งห้องพักอย่างประณีตทุกซอกทุกมุม หากไม่บอกก็นึกว่าเป็นรีสอร์ตระดับหลายดาว แต่สิ่งที่แปลกไปจนชวนให้สงสัย คือขวดแก้วใบใหญ่ที่ตั้งอยู่บนโต๊ะหัวเตียง

Mahi Retreat สถานรีทรีตไทย-อินเดียกลางเมืองเชียงใหม่ รักษากายใจผู้คนด้วยหลักอายุรเวท
Mahi Retreat สถานรีทรีตไทย-อินเดียกลางเมืองเชียงใหม่ รักษากายใจผู้คนด้วยหลักอายุรเวท

“ที่นี่เราให้ความสำคัญกับเรื่อง Zero Waste เลยพยายามลดขยะที่ไม่จำเป็นให้ได้มากที่สุด อย่างน้ำดื่มไว้บริการลูกค้า เราก็จะมีโหลที่ติดฟิลเตอร์กรองน้ำจากแสงยูวี ใช้ใส่น้ำสะอาด ลูกค้าเอาขวดแก้วในห้องพักมาเติมน้ำกลับไปดื่มได้ ไม่ต้องใช้ขวดพลาสติก

“รวมถึงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด อย่างสบู่ แชมพู ที่เรามีไว้ให้ในห้องพัก กับผลิตภัณฑ์ซักล้างทั้งหมด เราก็เลือกใช้แบบ Non-chemical เพราะจริง ๆ แล้วทั้งการกิน การอยู่ ทุกอย่างมันก็เกี่ยวข้องกันหมด เราทำแค่ปลายทางไม่ได้”

เดินต่อจากห้องพักไม่เกิน 20 ก้าวก็พบกับห้องครัวและห้องอาหารขนาดกว้าง สิรินทร์ลากเสียงยาวจนเราเข้าใจว่ากว้างมากจริง ๆ เพราะนอกจากใช้เป็นที่รับประทานอาหารร่วมกันแล้ว ห้องครัวและห้องอาหารแห่งนี้ยังใช้เป็นสถานที่สำหรับเรียนคุกกิ้งคลาสอาหารมังสวิรัติอีกด้วย เยื้องกันคือ Mahi Shala ที่มีฟังก์ชันเป็นเลาจน์และล็อบบี้อย่างเป็นทางการ แต่พอเอาเข้าจริง สิรินทร์ก็เคยใช้พื้นที่ตรงนี้สำหรับการสอนโยคะ ฉายหนัง และจัดแคมป์ไฟดูดาวตอนกลางคืนในคอร์สต่าง ๆ อยู่เหมือนกัน

“เราไม่ได้จำกัดว่ากิจกรรมนี้ต้องจัดตรงไหน เวลามีคนมาเช่าพื้นที่ทำรีทรีตของตัวเอง เขาใช้พื้นที่ของเราได้ทั้งหมดเลย เขาอยากทำกิจกรรมตรงไหนก็ทำเลย ถ้าจะทำอาหารเอง ขอแค่เป็นมังสวิรัติเท่านั้น” สิรินทร์ย้ำพร้อมเสียงหัวเราะ

ส่วน Sangha Shala คืออาคารหลังเดียวที่เป็นแบบอินดอร์และมีเครื่องปรับอากาศ เมื่อมองปราดไปจะสังเกตได้ไม่ยาก เพราะเจ้าอาคารหลังน้อยแห่งนี้ปลีกตัวตั้งอยู่คนละฝั่งกับเพื่อน ๆ ที่เหลือทั้งหมด ใช้เป็นห้องประชุมหรือจัดคลาสกิจกรรมที่ต้องการใช้พื้นที่ในอาคารได้ ส่วนพื้นที่ที่เหลือทั้งหมด แวดล้อมไปด้วยศาลาน้อยใหญ่ที่อดีตเคยใช้เป็นที่ขึ้นช้าง แต่ปัจจุบันถูกจับแต่งองค์ทรงเครื่องกลายเป็นลานกว้างสำหรับทำโยคะ ออกกำลังกาย และนั่งสมาธิไปเป็นที่เรียบร้อย นอกจากนี้ยังมีคุ้งน้ำ บ่อเลี้ยงห่าน คอกม้า และสวนผักออร์แกนิกที่ครอบครัวของเธอช่วยกันบรรจงหว่านเมล็ดทีละเล็กละน้อย จนทุกวันนี้ได้ผลผลิตมากพอจะเอามาทำอาหารให้แขกผู้มาเยือนรับประทาน ความน่ารักคือบางครั้งก็มีลูกค้ามาขอแจม เก็บผักไปเข้าครัวทำอาหารทานเองด้วยเหมือนกัน

Mahi Retreat สถานรีทรีตไทย-อินเดียกลางเมืองเชียงใหม่ รักษากายใจผู้คนด้วยหลักอายุรเวท

จากธรรมชาติ สู่ร่างกาย

เราตื่นเต้นมากขึ้นไปอีก เมื่อรู้ว่าเจ้าบ้านคนเก่งกำลังจะเล่าถึงคอร์สรีทรีตที่เคยเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้

น้ำเสียงของเธอบ่งบอกและขับเน้นถึงความสนุกหรรษาที่ผสมลงตัวเข้ากับความเงียบสงบได้อย่างกลมกล่อม

“คอร์สรีทรีตแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณสามถึงสี่วันค่ะ เราดูแลทุกอย่างให้ กิจกรรม ที่พัก อาหารการกิน แต่ละคอร์สมีกิจกรรมไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าครั้งนั้นเราอยากนำเสนออะไร เช่น คอร์สสอนอายุรเวท เป็นคอร์สโยคะ คุกกิ้งคลาส หรือการทำดีท็อกซ์”

อย่างคอร์สแรก ๆ ที่ได้ Art of Living Foundation มาเป็นกูรูช่วยจัดกิจกรรม คือกิจกรรมสอนเทคนิคการหายใจเข้าออกให้รู้สึกผ่อนคลาย ร่างกายปลอดโปร่ง โดยการหายใจเร็ว-ช้าเป็นจังหวะ แนะนำว่าควรทำเป็นประจำ 10 – 15 นาทีทุกวัน 

สถานรีทรีตตามศาสตร์ชาวอินเดีย บำบัดเยียวยากายใจให้แข็งแรงได้ด้วยหลักสมดุลธรรมชาติ
สถานรีทรีตตามศาสตร์ชาวอินเดีย บำบัดเยียวยากายใจให้แข็งแรงได้ด้วยหลักสมดุลธรรมชาติ

คอร์สต่อมาที่ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะแขกไปใครมาก็ต่างติดใจกันยกใหญ่ คือคอร์สรีทรีตโดยการทำดีท็อกซ์ด้วยน้ำเกลือ แม้จะมีชื่อที่ออกเสียงยากและไม่คุ้นหูคนไทยอย่าง Shank Prakshalana Detox แต่รับรองว่ากระบวนวิธีไม่ยากตามชื่ออย่างแน่นอน สาวเจ้ากระซิบบอกว่าดีท็อกซ์ชนิดนี้ถือเป็น Recommend Detox ที่ถูกบอกต่อกันหนาหูในแวดวงคนเล่นโยคะ ทำเพียงแค่ครั้งเดียวต่อปีแต่ดีต่อร่างกายอย่างชะงัด 

นั่นคือการดื่มน้ำเกลือเพื่อล้างลำไส้ให้ใสกิ๊ง จากนั้นทานอาหารสูตรเฉพาะที่เรียกว่า Kitchari (คิตชารี) ซึ่งทำมาจากข้าวบาสมาติ ถั่วเหลืองเลาะเปลือก กี (เนยอินเดีย) และสมุนไพร เพื่อให้อาหารเหล่านั้นเข้าไปทำหน้าที่ปูพื้นรสชาติและรสสัมผัสใหม่ให้ลำไส้เราทั้งหมด เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จพิธี ที่เหลือคือการทานอาหารเบา ๆ ปรุงรสน้อย ๆ และดีต่อลำไส้ตลอด 3 – 4 วันเพื่อรักษาสมดุลให้กับร่างกาย จบคอร์สนี้ไปแล้ว แขกที่เข้าร่วมรีทรีตจะรู้สึกได้ทันทีว่าร่างกายเบาโปร่งขึ้นอย่างเหลือเชื่อ 

สถานรีทรีตตามศาสตร์ชาวอินเดีย บำบัดเยียวยากายใจให้แข็งแรงได้ด้วยหลักสมดุลธรรมชาติ

“อาหารที่ใส่กีเยอะ ๆ ไม่อร่อยหรอกค่ะ” เธอหัวเราะ “แต่พอเราล้างพวกสิ่งตกค้างออกไปจากลำไส้ทั้งหมดแล้ว มันอร่อยขึ้นได้เฉยเลย เพราะร่างกายจะรับรสชาติของอาหารทุกอย่างได้เร็วและดีขึ้นมาก” สิรินทร์ให้เหตุผล

ส่วนดาวเด่นของ Mahi Retreat เห็นทีจะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากคุกกิ้งคลาสอาหารมังสวิรัติ 

เป็นที่รู้กันในบรรดานักชิมย่านสีลมว่า อาหารอินเดียฝีมือของคุณแม่สุเกชนั้นไม่เป็นสองรองใคร ลูกค้าจากร้านสุอนันดาเกินกว่าครึ่งจึงขอลงคอร์สตามมาเรียน และจดสูตรการทำอาหารมังสวิรัติของเธอกันถึง Mahi Retreat จังหวัดเชียงใหม่

“ทุกคนชอบมาก เพราะแม่สอนเข้าใจง่าย คนทั่วไปก็เข้าใจมากขึ้นว่ามังสวิรัติคืออะไร การปรุงแบบอายุรเวทคืออะไร และคุณแม่ไม่ได้สอนแค่วิธีการคุกกิ้งอย่างเดียว แต่สอนถึงทฤษฎีในเชิงลึกด้วย เช่น วัตถุดิบหลักในวันนี้คือถั่ว ก็จะเริ่มจากอธิบายว่าถั่วมีแบบไหนบ้าง คนแต่ละธาตุเหมาะจะทานถั่วอะไร มีเทคนิควิธีการทำอาหารตามหลักอายุรเวท ที่ช่วยทำให้กินเข้าไปแล้วรู้สึกสบายท้อง อย่างเวลาต้มถั่วต้องไม่ปิดฝา เพราะจะช่วยทำให้แก๊สออกจากเมล็ดถั่วได้ดีขึ้น เมื่อทานเข้าไปท้องก็จะไม่อืด”

สถานรีทรีตตามศาสตร์ชาวอินเดีย บำบัดเยียวยากายใจให้แข็งแรงได้ด้วยหลักสมดุลธรรมชาติ
สถานรีทรีตตามศาสตร์ชาวอินเดีย บำบัดเยียวยากายใจให้แข็งแรงได้ด้วยหลักสมดุลธรรมชาติ

เจ้าบ้านอธิบายต่อว่า การปรุงอาหารตามหลักอายุรเวทให้ความสำคัญกับรสชาติ โดยต้องมีครบ 6 รสชาติในมื้อเดียว คือ หวาน เปรี้ยว เค็ม ฝาด ขม และ ฉุน คุณแม่สุเกชจะสอนลงลึกถึงรายละเอียดว่า แต่ละรสชาติมีธาตุอะไรเป็นส่วนประกอบ รสนี้มีสรรพคุณช่วยเรื่องอะไร คนแต่ละธาตุควรกินรสไหน หรือกินรสใดได้มากกว่ารสอื่น ๆ สิรินทร์บอกว่าแม้จะเป็นเพียงเรื่องอาหารการกิน แต่หากเลือกชิมไม่ถูกรส ไม่ถูกธาตุ ก็อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้เหมือนกัน ยกตัวอย่าง สิรินทร์เป็นคนธาตุลม ซึ่งมีรสขมเป็นรสประจำธาตุ ถ้าหากเธอกินอาหารรสขมมาก ๆ ภายในร่างกายก็จะมีแก๊สมากเกินไป ส่งผลให้เธออาจเกิดอาการปวดหัวตามมาได้

ส่วนวัตถุดิบที่นำมาเข้าครัวแต่ละครั้ง คุณแม่สุเกชก็เสาะหาจากแปลงผักออร์แกนิกรอบบ้านบ้าง พืชผลตามฤดูกาลบ้าง หรืออาศัยการถามจากแขกผู้เยือนว่า อยากเรียนรู้เกี่ยวกับอาหารชนิดใดมากเป็นพิเศษบ้าง เมนูที่นักเรียนคุกกิ้งคลาสต่างทึ่งและชอบมาก คือน้ำจิ้มจากเปลือกบวบที่สุเกชคิดสูตรเอง แม้ไม่มีชื่อเรียกเฉพาะตัวให้จดลงในเมนู แต่ความน่าสนใจอยู่ที่การนำเปลือกบวบ ชิ้นส่วนของผักพื้นบ้านไทยที่เราไม่คาดคิดว่าจะนำมาทำอาหารได้ มาปรุงให้กลายเป็นเครื่องจิ้มรสอร่อย ใช้ทานกับข้าวก็ได้ จิ้มกับโรตีก็ดี

สถานรีทรีตตามศาสตร์ชาวอินเดีย บำบัดเยียวยากายใจให้แข็งแรงได้ด้วยหลักสมดุลธรรมชาติ

จากวันนี้ สู่ Mahi Retreat ในอนาคต 

เท่าที่ฟังมา เราทั้งตื่นหูและตื่นตาเมื่อได้รู้ว่าการทำรีทรีตไม่ได้จำกัดอยู่แค่การทำสมาธิหรือนั่งโยคะเพียงอย่างเดียว เพราะที่นี่ได้รังสรรค์ความสนุกสนานและความแปลกใหม่ลงในคลาสกิจกรรมได้อย่างเหลือเชื่อ จนเราเกือบลืมว่านี่คือสถานรีทรีต

ในอนาคต Mahi Retreat มีแพลนขยับขยายพื้นที่สำหรับคลาสรีทรีทอื่น ๆ อีกไหม – เราถาม

“มีเยอะแยะเลยค่ะ อย่างที่เริ่มทำไปแล้วคือคอร์สของ คุณหมอแอดริช (Dr. Adrish Brahmadatta) ท่านเป็นหมอสอนอายุรเวทและโยคะอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เราเองก็เคยไปเรียนกับเขา เขาเคยมาจัดรีทรีตของตัวเองครั้งแรกที่ Mahi Retreat เรากับคุณหมอเลยไปปรึกษากับทางมหาวิทยาลัยมหิดลด้วย ว่าอยากให้นักเรียนที่เรียนกับอาจารย์ มาทำกิจกรรมที่นี่กันต่อ

“ส่วนเราสนใจการเต้นแบบอินเดีย ความพิเศษคือการที่ต้องมีจุดเชื่อมต่อกันในร่างกาย อย่างนั่งสมาธิหรือทำโยคะ เราต้องเอานิ้วหรือเอามือมาชนกัน การเต้นแบบอินเดียก็มีเทคนิคแบบนั้นเหมือนกัน ถ้าเป็นไปได้ก็อยากถ่ายทอดให้คนเข้าใจเรื่องนี้ด้วย”

เพราะโควิด-19 เจ้ากรรม จึงทำให้โปรแกรมเปิดคอร์สน้องใหม่อีกหลายรายการต้องหยุดชะงักไปเสียก่อน แต่รับรองว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว สิรินทร์และครอบครัวจันทร์ศรีชวาลา ไม่รอช้าที่จะรังสรรค์ความหรรษาครั้งใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ใครแวะไปลองคอร์สไหนกันแล้วบ้าง อย่าลืมแวะมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะ 

สถานรีทรีตตามศาสตร์ชาวอินเดีย บำบัดเยียวยากายใจให้แข็งแรงได้ด้วยหลักสมดุลธรรมชาติ

จากครอบครัวจันทร์ศรีชวาลา สู่ผู้อ่าน

เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงตอนท้าย เราต่างสัมผัสได้ว่าอายุรเวทศาสตร์และ Mahi Retreat มีอะไรให้น่าค้นหาไม่รู้จบอย่างที่เธอพูดไว้ไม่มีผิด แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าศาสตร์การดูแลสุขภาพทางเลือกในปัจจุบันนั้นมีให้เลือกเรียนรู้และทดลองอีกมาก 

เอกลักษณ์และความพิเศษที่ทำให้อายุรเวทศาสตร์เก่าแก่ที่มีอายุกว่า 5,000 ปี แขนงนี้ ยังได้รับความนิยมและสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน เราเห็นตรงกันกับสิรินทร์ว่าคือการเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างเข้าใจและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ 

“มันคือการดูแลสุขภาพที่เราไม่ต้องพึ่งอะไรจากภายนอกเลย เพราะเราทำให้สมดุลและดีจากภายใน เราไม่เคยต้องไปหาหมอด้วยอาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่เคยต้องนอนโรงพยาบาล เจ็บตรงไหน ปวดตรงไหน เราก็พยายามหาวิธีแก้จากต้นเหตุก่อน ไม่ใช่เอะอะอะไรก็กินยาอย่างเดียว เหมือนกันกับการทำรีทรีต บางคนอาจมองว่าทำยากและต้องฝืนร่างกาย แต่จริง ๆ แล้วมันคือการกลับไปสู่วิถีการกินอยู่ตามแบบธรรมชาติเดิม ๆ นี่เอง ถ้ามาด้วยความตั้งใจจริง เราว่าไม่มีอะไรยากเกินนะคะ”

ปลายสายปิดท้ายบทสนทนาด้วยน้ำเสียงใสแจ๋ว ไม่บอกก็รู้ว่าเธอดีใจไม่น้อยที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวการดูแลสุขภาพในฉบับของตัวเองให้เราฟัง นอกจากนี้ เธอฝากเคล็ดลับจากศาสตร์อายุรเวทมายังคุณผู้อ่านที่รักทุกท่านที่อาจต้อง Work from Home 

คุณผู้อ่านบางคนอาจมีอาการปวดหัว เหนื่อยล้า และเมื่อยตาจากกการจ้องคอมพิวเตอร์นาน ๆ

เธอว่าให้ลองนำผงเมล็ดยี่หร่าผสมน้ำและบีบมะนาวใส่ รับรองว่าได้ผลไม่แพ้กินยาแก้ปวดเลยทีเดียว 

สถานรีทรีตตามศาสตร์ชาวอินเดีย บำบัดเยียวยากายใจให้แข็งแรงได้ด้วยหลักสมดุลธรรมชาติ

Mahi Retreat

ที่ตั้ง : เลขที่ 55 ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : ติดต่อล่วงหน้า

โทรศัพท์ : 08 1405 7999Facebook : mahiretreat

Writer

Avatar

ณัฐชา เกิดพงษ์

นักฝึกเขียน ผู้มีกาแฟและหมาปั๊กเป็นปัจจัยที่ 5 และเพิ่งค้นพบว่าการอยู่เฉยๆ ยากพอๆ กับการนอนให้ครบ 8 ชั่วโมง

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ