หมู่แมกไม้สีเขียวขจีสุดลูกหูลูกตาเบื้องหน้า คืออาณาบริเวณของอุทยานธรรมชาติที่เพิ่งปรับปรุงใหม่เอี่ยม ในเขตพื้นที่การศึกษาย่านศาลายา ‘มหาวิทยาลัยมหิดล’ ป้ายปูนขนาดใหญ่สะดุดตา ประดับนูนด้วยตัวอักษรและโลโก้รูปต้นไม้หลากสีซ้อนทับกัน ระบุชื่อสถานที่ด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า ‘อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ’

อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ

อาณาจักรเขียวขนาด 140 ไร่แห่งนี้ เป็นบ้านหลังใหญ่ให้กับสมุนไพรธรรมชาติหายากกว่า 800 ชนิด โดยมีภารกิจหลักคือการเป็นศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรไทยและธรรมชาติวิทยาแนวใหม่ ที่มุ่งสอนภูมิปัญญาและสร้างประสบการณ์จริงในการใช้สมุนไพรไทยที่ดูเหมือนไกลตัว ให้เข้าใกล้ชีวิตประจำวันของคนทั่วไปมากขึ้น

ความพิเศษประการสำคัญที่บอกว่าอุทยานแห่งนี้เป็นพื้นที่บริการสังคมสำหรับทุกคนในสังคม คือการออกแบบด้วยแนวคิด ‘การออกแบบเพื่อมวลชน’ (Universal Design) ซึ่งเอื้อต่อการใช้งานสำหรับคนทั่วไป ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยสมรรถภาพด้านต่างๆ เพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถมาเรียนรู้ และเยี่ยมชมอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติได้อย่างเท่าเทียมกัน

ถ้าพร้อมแล้ว หายใจสูดอากาศบริสุทธิ์ แล้วเข้าห้องเรียนธรรมชาติแสนร่มรื่น ไปเรียนรู้และค้นเสน่ห์ของสมุนไพรไทยอย่างใกล้ชิด ในอาณาจักรเขียวที่เปลี่ยนอากาศร้อนอบอ้าว ให้กลายเป็นวันที่ผ่อนคลายกาย สบายหัวใจไปด้วยกัน

01

ปอดสีเขียวของคุณ (ทุกคน)

ก่อนจะมาเป็น ‘อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ’ พื้นที่นี้เคยเป็นสวนสมุนไพรที่มีชื่อว่า ‘สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ’ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานชื่อให้ 

 ด้วยอุดมการณ์ของ ศ. ดร.ณัฐ ภมรประวัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ หัวหน้าภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่อยากให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีแหล่งอนุรักษ์สมุนไพรไทย เพื่อการศึกษาของนักศึกษาเภสัชศาสตร์และเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียว ที่ช่วยเพิ่มอากาศบริสุทธิ์สู่ร่างกายของบุคลากรในวิทยาเขต 

ท่านจึงเลือกหยิบพื้นที่ 38 ไร่ มาเนรมิตสิ่งที่วาดฝันไว้ให้เกิดขึ้นจริงในปี 2524 ภายใต้การดูแลของภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ ก่อนขยายเป้าหมายให้ใหญ่ขึ้นด้วยการเพิ่มพื้นที่เป็น 140 ไร่ ไว้รวบรวมสมุนไพรกว่า 800 ชนิด และเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ประชาชนทุกกลุ่มรวมถึงผู้พิการ ได้เปิดประสบการณ์ เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาและเป็นแหล่งสร้างงานวิจัยขยายสายพันธุ์สมุนไพรหายากหรือใกล้สูญพันธ์ุ เพื่ออนุรักษ์ให้คงอยู่จนถึงปัจจุบัน 

ที่สำคัญยังตอบโจทย์การเป็นพื้นที่ Public Space ภาพน่ารักที่เห็นเป็นประจำทุก 6 โมงเช้าคือ บรรดาผู้สูงอายุต่างพากันมาวิ่งจ็อกกิ้งในบรรยากาศแสนสงบ แถมยังเป็นพื้นที่ยอดฮิตที่บรรดานักศึกษาใช้หลบหลีกความวุ่นวาย มาซบร่มเงาใต้ต้นไม้ใหญ่เพื่ออ่านหนังสือเตรียมสอบ 

02

อาณาจักรใบไม้

“อาคารนี้รูปทรงเหมือนใบไม้ 3 ใบเลย” ฉันอุทานหลังสังเกตรูปทรงอาคารที่ยืนอยู่มาสักพัก

“ทีมนักออกแบบของอุทยานจงใจสร้างสถาปัตยกรรมให้เป็นรูปใบไม้ 3 ใบ ไว้เป็นแลนด์มาร์กประจำอุทยาน ตั้งอยู่ด้านข้างหอประชุมใหญ่มหิดลสิทธาคารที่มีโครงสร้างอาคารมาจากช่อดอกกันภัย สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย จึงดีไซน์ให้ ‘อาคารใบไม้สามใบ’ นี้อยู่เคียงข้างดอกไม้มงคลอย่างสง่าสงาม” อาจารย์เตย-ดร.ภญ. เบญญากาญจน์ พงศ์กิจวิทูร อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้อาสาเป็นไกด์พาชมความพิเศษและสวยงามของอุทยานแห่งนี้ช่วยอธิบายเพิ่มเติม 

ด้วยความเป็น Green University ของมหาวิทยาลัยมหิดล ทีมออกแบบจึงแอบแฝงรายละเอียดน่ารักๆ ที่ฉายภาพธรรมชาติ ผ่านโครงสร้างสถาปัตยกรรมไว้รอบๆ พื้นที่ ทั้งอาคารใบไม้สามใบ ลานนานาสมุนไพร สวนสมุนไพร ลานไม้เลื้อย สวนสมุนไพรเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุ ลานสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ลานสมุนไพรวงศ์ขิง และศาลาหมอชีวกโกมารภัจจ์  

หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าสถาปัตยกรรมของพื้นที่ทั้งหมดเป็นรูปทรงต้นไม้ เช่น หลอดไฟทรงใบไม้ เสาอาคารทรงกิ่งไม้ หรือลานนานาสมุนไพรที่จัดวางพืชพรรณให้คล้ายดอกไม้ขนาดใหญ่

‘น่ารักจัง’ ความคิดในหัวที่ผุดขึ้นมาอย่างแรก หลังจากฟังอาจารย์เตยเล่ารายละเอียดเล็กๆ ที่แฝงไปด้วยความใส่ใจของอุทยานแห่งนี้ 

03

อยู่บ้าน

‘All Plants Are Medicine’ 

คำโปรยที่ติดกับรูปหมอชีวกโกมารภัจจ์บิดาแห่งการแพทย์แผนไทยและแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าในอดีตกาล ข้อความนี้ติดอยู่ที่หน้าโซนแนะนำระหว่างทางเข้าไปยังห้อง ‘นิทรรศการสมุนไพรภูมิปัญญาไทยสู่สากล’ ใต้อาคารใบไม้สามใบ ที่เล่าเรื่องราวของคุณหมอคนเก่งขณะเดินทางเข้าป่าเพื่อหาว่าต้นไม้ต้นไหนบ้างที่ไม่เป็นยา ก่อนพบว่าไม่มีสักต้นที่ไม่เป็น 

ฟังแล้วน่าสนใจไม่น้อยที่พืชผักสมุนไพรของเราดูวิเศษกว่าที่คิด 

อาจารย์เตยเปิดประตูขนาดใหญ่ของห้องนิทรรศการ พร้อมพาเดินเข้าไปเยี่ยมชม ด้านในแบ่งออกเป็น 4 โซน เริ่มจาก ‘โซนภูมิปัญญาแห่งตะวันออก’ มีสื่อวีดิทัศน์บรรยายถึงภูมิปัญญาการแพทย์ที่บอกเล่าความเชื่อสมัยก่อนในเรื่องการรักษาสมดุลของธาตุทั้งสี่ในร่างกาย ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ หรือที่เรียกกันว่าธาตุเจ้าเรือน ซึ่งหากไม่สมดุลกันแล้วล่ะก็ จะเกิดการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ ได้ 

เดินมาอีกไม่กี่ก้าวก็ถึงโซนที่ 2 ‘เภสัชกรรมแผนไทย’ ฉันนึกไปถึงบทเรียนคาบวิทยาศาสตร์สมัยมัธยม ที่ในหนังสือมักบอกชื่อของพืชชนิดเดียวกัน แต่มีหลายชื่อเรียก 

อาจารย์เตยชี้ไปที่ภาพของสับปะรดตรงหน้า พร้อมอธิบายเหตุผลที่เราต้องรู้ชื่อวิทยาศาสตร์ของพืช ว่าแต่ละประเทศเรียกชื่อพันธุ์ไม้ไม่เหมือนกัน แต่มีชื่อกลางเพียงชื่อเดียวที่ทุกประเทศใช้เรียกเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เช่น  Ananas comosus เป็นชื่อกลางที่ถูกต้องสำหรับใช้เรียกสับปะรดในระดับสากล

อีกจุดที่เด่นชัดของโซนนี้คงหนีไม่พ้นโต๊ะสีขาวโค้งขนาดใหญ่ ที่ถูกวางองค์ประกอบด้วยเภสัชวัตถุ หรือส่วนประกอบของตำรับยาไทยหลากสรรพคุณ บรรจุไว้ในขวดโหลสีใสจำนวนมาก โดยสรรพคุณของสมุนไพรเหล่านี้ถูกแบ่งตามรสของเครื่องยา 10 รส ประกอบด้วย ฝาด หวาน เมาเบื่อ ขม เผ็ดร้อน มัน หอมเย็น เค็ม เปรี้ยว และรสที่ 10 ‘ไม่มีรส’

ฉันขมวดคิ้วอย่างสงสัย ว่าโลกใบนี้มีอะไรที่ไม่มีรสด้วยเหรอ ก่อนที่อาจารย์เตยจะเฉลยความสงสัยว่ามันคือรสจืด และหากอยากรู้ว่าไม่มีรสมันเป็นยังไง ให้ลองเล่นกาชาปองดู

ห้ะ! คิ้วของฉันขมวดเป็นปมอย่างสงสัยอีกครั้ง เมื่อสิ่งที่เห็นอยู่ข้างหน้าคือตู้หยอดเหรียญขนาดกะทัดรัดที่หน้าตาคล้ายกับตู้กาชาปองของเล่นในญี่ปุ่น อาจารย์เตยอธิบายว่าหากหยอดเหรียญลงไป จะมียาลูกกลอนที่เป็นรสยา 1 ใน 10 ให้ชิม เช่น รสหอมเย็นจากดอกไม้ รสฝาดจากกล้วยดิบ หรือรสเมาเบื่อจากพืชวงศ์กลอย เป็นต้น 

ไม่กี่นาทีถัดมา เราเดินมาถึงโซน ‘วิทยาศาสตร์พิสูจน์ภูมิปัญญา’ ที่มีตู้เก็บส่วนผสมของตำรับยาหอมนวโกฐและตัวอย่างยาแผนปัจจุบัน ไว้ให้ผู้คนทดลองดมกลิ่นของสมุนไพรเหล่านี้ได้อย่างง่ายๆ 

และโซนสุดท้ายก่อนออกไปชมสวนสีเขียวคือ โซน ‘ย้อนมองภูมิปัญญารักษาสุขภาพ’ ที่เน้นย้ำการกินเพื่อให้สุขภาพดี พร้อมให้ความรู้และบอกเคล็ดลับด้านสมุนไพรที่สามารถปลูกเองในบ้าน เช่น วิธีสะกัดพญายอรักษาแผลในปาก วิธีเตรียมลูกประคบสมุนไพร หรือแม้กระทั่งบอกสูตรอาหารไว้ทำกินเองในบ้านก็มี

“เราอยากให้ทุกคนปลูกสมุนไพรกินเองในบ้านเพื่อรักษาสุขภาพ มากกว่าการป่วยแล้วค่อยตามหายากิน” อาจารย์เตยพูดยิ้มๆ

04

อุดม (สุข) สมบูรณ์

ท้องฟ้าเปิดกว้าง สายลมพัดอ่อนๆ พรรณไม้สีเขียวเย็นตา วันนี้ช่างเหมาะแก่การพักผ่อนเสียเหลือเกิน 

ใช่แล้ว อาจารย์เตยกำลังพาฉันเดินชมพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่เต็มไปด้วยพืชผักสมุนไพรหลากชนิด แม้ด้านหน้าจะมีจักรยานและรถรางไว้ให้บริการ แต่สำหรับฉัน การเดินคงเป็นอะไรที่ทำให้ใกล้ชิดและสัมผัสมันได้มากที่สุด 

เราเริ่มเดินจากลานนานาสมุนไพร สองข้างทางเต็มไปด้วยสมุนไพรชื่อแปลกที่มีป้ายบอกสรรพคุณของมัน เช่น โกฐจุฬาลำพาไทย แก้ไข้ แก้ไอ กระบือเจ็ดตัว ขับน้ำคาวปลาหลังคลอด หรือแม้แต่สมุนไพรชื่อคุ้นเคยอย่าง สมอไทย ที่มีฤทธิ์เป็นยาระบายก็ทำให้ฉันคิดถึงสมอผัดหมูรสเปรี้ยวฝีมือแม่ขึ้นมา

   ระหว่างจดจ่อกับการสำรวจพันธุ์ไม้ตามเส้นทาง สองเท้าของฉันพลันต้องหยุดเดิน เมื่อเสียงนกหลากพันธุ์ร้องดังขึ้นเรียกร้องความสนใจจนต้องหันไปมอง ฝั่งขวามือตรงนี้เรียกว่า ‘หอดูนก’ ที่ยอดด้านบน สามารถมองเห็นทัศนียภาพอันกว้างใหญ่ที่บรรจบกันระหว่างท้องฟ้าและแอ่งน้ำ 

จากตรงนี้ เดินไปอีกหน่อยจะพบกับ ‘ศาลากลางน้ำ’ ที่บรรยากาศเงียบสงบจนได้ยินเสียงร้องของธรรมชาติ อาจารย์เตยเล่าให้ฟังว่ามีคนพบนกโพระดก วงศ์นกพญาไฟหรือนกน้ำ มาทำรังและโบยบินทั่วท้องฟ้าอยู่บ่อยครั้ง

05

ความรู้รอบสวน

เดินถัดมาไม่ไกลเท่าไหร่จะเห็น ‘สวนสมุนไพร’ ที่จัดวางพรรณไม้ชื่อคุ้นหูไว้อย่างร่มรื่น ทั้งย่านาง ขี้เหล็ก มะขามป้อม มะดัน  หอมแดง การบูร หรือมะหาด ซึ่งที่ตรงนี้นี่แหละ ที่นักศึกษามักหยุดจอดจักรยาน เพื่ออ่านหนังสือเตรียมสอบกันมากที่สุด 

เมื่อพูดถึงกลุ่มนักศึกษาวัยรุ่น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน พวกเขาเริ่มให้ความสนใจเทรนด์รักสุขภาพมากขึ้น ทำให้การเรียนรู้เรื่องสมุนไพรไทยไม่ใช่เรื่องไกลตัว 

“พอเทรนด์สุขภาพกำลังมา พ่อค้าหลายท่านก็นำสมุนไพรมาโฆษณาหรือเคลมสรรพคุณโดยไม่มีข้อมูลวิชาการรับรอง ทำให้เกิดการใช้สมุนไพรแบบผิดๆ ทางอุทยานจึงส่งเสริมการใช้สมุนไพรควบคู่กับการให้ข้อมูลทางหลักวิชาการ โดยมีอาจารย์ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ที่ทำวิจัยด้านสมุนไพรอย่างชำนาญมารับรองตรงนี้” อาจารย์เตยอธิบาย

แสงแดดรำไรที่ส่องแปลงด้านหน้าแยงสายตาฉันเข้าอย่างจัง จะว่าไป ลานตรงนี้ดูจะผิดแปลกกว่าที่เดินผ่านมา อาจเป็นเพราะเป็นพื้นที่โล่งแจ้งที่จำแนกสมุนไพรไม้เลื้อยอย่างเป็นระเบียบ เพื่อให้แสงแดดส่องทั่ว 50 ชนิดได้อย่างสะดวก 

อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ

ทันทีที่เดินเข้าไป ฉันถูกต้อนรับด้วยกลิ่นหอม (มาก) คล้ายกลิ่นอ่อนของสบู่เด็ก อาจเป็นเพราะเจ้าดอก ‘เล็บมือนาง’ สีชมพูบานเย็นนี้เป็นนางฟ้าแม่ทูลหัวที่คอยดูแลเด็กขาดสารอาหารให้แข็งแรงได้ 

เราเดินไปเรื่อยๆ ผ่านกวาวเครือขาว มะลิวัลย์ บอระเพ็ด จนอาจารย์เตยพามาหยุดที่พลู เธอยิ้มและหันมาถามว่า “รู้ไหมอะไรกินกับเมี่ยง อะไรกินกับหมาก” ฉันตอบผิด อาจารย์จึงบอกยิ้มๆ ว่า หลายคนที่มาก็ตอบคำถามนี้ผิดเหมือนกัน อาจเพราะทุกวันนี้สมุนไพรไทยดูห่างไกลจากชีวิตประจำวันคนรุ่นใหม่

คำตอบที่ถูกต้องคือ ‘ชะพลูกินกับเมี่ยง ใบพลูกินกับหมาก’

06

ภาพไร้สี ที่สัมผัสได้

เราเดินมาถึง ‘ลานสมุนไพรเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุ’ ที่ได้รับรางวัล Universal Design ให้เป็น Wheelchair Accessible การันตีว่าพื้นที่นี้เข้าถึงได้ทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะผู้พิการ 

ด้วยความใส่ใจของอุทยานที่ดีไซน์แปลงนี้ให้ตอบโจทย์ความสะดวกต่อผู้สูงอายุและผู้พิการ ทั้งการสร้างอักษรเบรลล์และทางเดินสำหรับคนตาบอด พัฒนาร่วมกับอาจารย์สอนนักเรียนตาบอดจากวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้เข้าใจถึงวิถีชีวิตของผู้พิการ โดยการจัดแปลงต้นไม้ให้ต่ำลง เพื่อให้ผู้ป่วยวีลแชร์สามารถเอื้อมไปสัมผัส ดมกลิ่น และชิมรสได้  

เกณฑ์การเลือกต้นไม้ในโซนนี้ อาจารย์เตยอธิบายว่า จะเลือกชนิดที่มีเทกซ์เจอร์จำง่าย มีกลิ่น และมีรสชาติเฉพาะ เช่น ชุมเห็ดไทยที่มีใบโค้งมนหลายแฉก เนียมหูเสือที่ใบหยักถี่ แถมกลิ่นเหมือนออริกาโนในพิซซ่าเป๊ะ (เหมือนจริงๆ ขอคอนเฟิร์ม) และรดด้วยน้ำสะอาดปลอดสารเคมี ทำให้ผู้พิการหรือนักท่องเที่ยวสามารถเด็ดชิมได้อย่างปลอดภัย

อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ

อาจารย์เตยยื่นผักตัวจิ๋วที่ลักษณะคล้ายดอกไม้สีเหลืองขนปุยใส่มือฉัน ด้วยความอยากลองฉันรีบคว้าเข้าปากโดยไม่ทันได้ถาม เผ็ดมาก! รสเผ็ดจนขมของพืชที่มีฉายาว่าหม่าล่าเมืองไทย ‘ผักคราดหัวแหวน’ สร้างความชาให้ปลายลิ้นของฉันอยู่หลายนาที 

พืชอีกชนิดที่ฉันได้ลองชิมคือ หญ้าหวานที่หวานสมชื่อ อาจารย์เตยบอกว่า แม้จะให้รสหวานกว่าน้ำตาล 300 เท่า แต่พืชชนิดนี้ไม่ทำให้อ้วนแต่อย่างใด 

07

เขยิบมาใกล้กัน

หลังจากใช้เวลาจวนครึ่งวัน เราเดินมาหยุดกันที่ ‘ลานสมุนไพรเพื่อสุขภาพ’ ที่มีต้นดอกกรรณิการ์เรียงรายด้วยหลอดกลีบดอกสีส้มสวยชวนมอง 

อาจารย์เตยบอกว่าทางอุทยานมีการจัดกิจกรรมทำวุ้นจากสีธรรมชาติ ที่สาธิตการนำหลอดกลีบดอกของกรรณิการ์มาสกัดเพื่อให้ได้สีเหลือง และนำมาทำวุ้นจากสีธรรมชาติด้วยตนเอง และยังมีสีอื่นๆ อีก ได้แก่ สีเขียวจากใบเตย สีน้ำเงินจากอัญชัน และสีแดงจากกระเจี๊ยบ 

อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมขยายพันธุ์สมุนไพร กิจกรรมอัดพรรณไม้แห้งด้วยแผง Herbarium ซึ่งเป็นการเก็บตัวอย่างพรรณพืชเพื่อใช้อ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ ทำมาเนิ่นนานหลายร้อยปี ตั้งแต่ยุคชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) โดยนำส่วนต่างๆ ของพืชมาทับให้แบนและแห้งเพื่อให้ง่ายต่อการเก็บ ซึ่งต้องเห็นรายละเอียดของต้น ดอก ใบ ครบถ้วน และอีกหลายกิจกรรมที่จะทำให้คุณได้ใกล้ชิดธรรมชาติกว่าที่เคย

ก่อนออกจากที่นี่ อาจารย์เตยขอหยุดหยิบผลสีเขียวเล็กๆ ของต้นโคกกระออมด้านซ้ายมือให้เราชม เธอค่อยๆ บรรจงแกะผลของมันอย่างช้าๆ ราวกับว่าจะเสกของวิเศษขึ้นมา

อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ

และใช่ ของตรงหน้ามันวิเศษจริงๆ เพราะมันคือเมล็ดสีเขียว 3 เมล็ด ที่ซ่อนลายรูปหัวใจสีขาวน่ารักไว้ รอคอยที่จะกล่าวทักทายเพื่อนสนิทที่เห็นคุณค่าของมัน

ก็คงเหมือนกับอุทยานสิรีรุกขชาติแห่งนี้ ที่ซ่อนความวิเศษของสมุนไพรจากธรรมชาติไว้ รอวันที่คุณมาสัมผัสและใกล้ชิดมันดูสักครั้ง



อัตราค่าเข้าชม

เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ฟรี

บุคคลทั่วไป: 100 บาท

นักเรียน/นักศึกษา: 50 บาท

ชาวต่างชาติ: 250 บาท

นักศึกษาและบุคลากร ม.มหิดล: ฟรี

อัตราค่าวิทยากรนำชม กลุ่มละ 15-30 คน/รอบ (บาท/คน): 30 บาท

สาธิต กลุ่มละ 15-30 คนต่อ 1 กิจกรรม (บาท/คน): 60 บาท

สาธิต กลุ่มละ 15-30 คนต่อ 1 กิจกรรม (บาท/คน): 60 บาท

เวลาทำการ

วันพุธ–วันอาทิตย์ เวลา 06.00 – 18.00 น. (ห้องนิทรรศการเปิดเวลา 09.00–16.00 น.)



Writer

Avatar

พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ

นัก (ชอบ) เขียนบ้ากล้องที่ชอบถ่ายรูปตัวเองเป็นพิเศษ เสพติดเสียงธรรมชาติ กลิ่นฝน และสีเลือดฝาดบนใบหน้า ที่ใช้เวลาเขียนงานไปพร้อมๆ กับติ่งอปป้าอย่างใจเย็น

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan