The Cloud x TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง 

คนสารคามภูมิอกภูมิใจที่บ้านของพวกเขาเป็น ‘เมืองการศึกษา’ ไม่ว่าจะโรงเรียนประถม มัธยม วิทยาลัยอาชีวะ และมหาวิทยาลัยชั้นนำ ต่างอัดแน่นกันอยู่ในตักสิลานครนี้ จนเป็นแหล่งผลิตกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศชาติมาช้านาน ไม่เพียงแต่การศึกษาสมัยใหม่ ตามบ้านต่าง ๆ ก็ยังเป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่รวมภูมิปัญญา หัตถกรรมพื้นบ้านที่ขึ้นชื่อ อย่างผ้าไหมทอมือและงานจักสานที่มีเอกลักษณ์ เป็นองค์ความรู้ที่สืบทอดต่อกันมาแต่โบราณ

ถึงอย่างไรเหล่าเจ้าของบ้านใหญ่ใจกลางภาคอีสานหลังนี้ก็ยังบอกว่า มหาสารคามเป็นเมืองรองของรองอีกทีหนึ่ง เพราะไม่ค่อยมีสถานที่ท่องเที่ยวอะไรมากมายเหมือนเพื่อนจังหวัดข้างเคียง ภูเขาก็ไม่มีอย่างใครเขา แต่เสน่ห์ของที่นี่คือความเป็นเมืองทางผ่านที่สงบเงียบ ใช้ชีวิตแบบคนพื้นถิ่นที่ผูกพันกับวัดวาในพระพุทธศาสนา มีพระบรมธาตุนาดูนเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน สะท้อนความสำคัญในอดีตของพื้นที่จังหวัดมหาสารคามที่มีมานานนับพันปี

Take Me Out ครั้งนี้เราขออาสาแง้มม่านบ้านเพื่อนถิ่นสะดืออีสาน ที่ดูเหมือนหน้าฉากจะขึ้นชื่อแต่เรื่องการเรียนการศึกษา เสาะหากิจการและกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ที่อยู่เบื้องหลัง น่าสังเกตว่าหลายคนเป็นลูกหม้อที่เล่าเรียนจากสถานศึกษาในจังหวัด ซึ่งพวกเขามีความตั้งใจอยากผลักดันให้คนภายนอกรู้ว่า แม้จะเป็นเมืองรองแต่ก็มีดีไม่แพ้ใคร 

ลูกหลานเมืองสารคามนำเสนอเรื่องราวบ้านเกิดผ่านร้านกาแฟหลายสไตล์ที่ผลัดกันหยิบเอากลิ่นอายลูกอีสานมาใช้อย่างสนุก เฟอร์นิเจอร์เครื่องหวายดีไซน์ร่วมสมัยจากวัสดุในพื้นที่ สวนผักอินทรีย์กลางผืนดินแล้งที่ส่งขึ้นห้างถึงเมืองหลวง และคณะหมอลำหุ่นที่ถ่ายทอดศิลปกรรมของเมืองสารคามด้วยการแสดงของเยาวชนในท้องถิ่น

ชวนเก็บทั้ง 10 สถานที่เข้าลิสต์ หลังโควิด-19 เตรียมตัวให้พร้อม รับรองคุณจะฮักนะสารคาม

01

Friends film lab

แล็บล้างฟิล์มของหนุ่มสารคามที่อยากสนับสนุนวงการฟิล์มในบ้านเกิด

Friends film lab, แล็บล้างฟิล์มของหนุ่มสารคามที่อยากสนับสนุนวงการฟิล์มในบ้านเกิด

หลายปีมานี้กระแสกล้องฟิล์มกลับมาบูมอีกครั้ง แล็บล้างฟิล์มตามหัวเมืองใหญ่เหมือนฟื้นคืนชีวิต อำนวยความสะดวกให้สายสแน็ปทั้งรุ่นใหม่รุ่นเก่าในท้องถิ่นได้มีร้านล้าง-สแกน และเลือกซื้อฟิล์มถ่ายภาพกันได้ง่ายขึ้น

หลังจาก เล็ก-เอกพงษ์ เลิศสกุณี โลดแล่นอยู่ในบริษัทใหญ่ที่จำหน่ายเครื่องล้าง-สแกนฟิล์มมากว่าสิบปี เมื่อถึงจุดอิ่มตัวจึงลาออกมาเป็นเจ้านายตัวเอง พร้อมกับความคิดอยากเปิดร้านฟิล์มเล็ก ๆ ที่บ้านเกิด ก่อนเปิดร้านเขาทำการบ้านอยู่พักใหญ่ คอยดูทิศทางลมของกระแสการถ่ายภาพฟิล์มว่าจะพัดผ่านเมืองรองแห่งนี้แรงแค่ไหน เล็กพบว่าคึกคักไม่ต่างจากเมืองอื่น Friends film lab แล็บล้างฟิล์มกลางเมืองมหาสารคามจึงเกิดขึ้น โดยมีโจทย์ตั้งต้นว่าอยากช่วยนักเรียนนักศึกษาในพื้นที่ให้มีแล็บล้างฟิล์มใกล้ ๆ ไม่ต้องเอาม้วนฟิล์มข้ามแดนไปล้าง-สแกนไกลถึงจังหวัดข้างเคียง 

10 สถานที่ม่วนซื่นมหาสารคาม เมืองตาฮักที่ครบทั้งคาเฟ่ ฟิล์มแล็บ และโรงละครหมอลำหุ่น
10 สถานที่ม่วนซื่นมหาสารคาม เมืองตาฮักที่ครบทั้งคาเฟ่ ฟิล์มแล็บ และโรงละครหมอลำหุ่น

ไม่ว่าจะเป็นฟิล์มสี ฟิล์มขาว-ดำ หรือฟิล์มสไลด์ จนกระทั่งฟิล์มหนัง ฟิล์มบูด แล็บเพื่อมิตรภาพแห่งนี้ยินดีรับล้างและสแกนด้วยราคาฉันเพื่อนสมชื่อ แถมเรื่องคุณภาพวางใจได้ เพราะเล็กยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังงานซ่อมและดูแลเครื่องล้างฟิล์มในกรุงเทพฯ อีกหลายร้านที่ถ้าเอ่ยชื่อต้องมีร้องอ๋อ และเล็กกำลังมองหาจุดดร็อปม้วนฟิล์มถ่ายแล้วให้ใกล้กับสถานศึกษาต่าง ๆ ในจังหวัดมากที่สุด เพื่อเพิ่มช่องทางให้ลูกค้าได้ฝากฟิล์มมาล้างที่นี่กันง่ายขึ้น

เล็กเล่าว่าการเปิดแล็บฟิล์มทำให้พบปะกับเพื่อนวัยเด็กอีกครั้ง รวมถึงเพื่อนใหม่ในนามลูกค้าที่แวะมาขอคำปรึกษาเรื่องกล้อง เรื่องฟิล์ม อยู่เนือง ๆ เป็นความสุขที่ได้รับ พร้อมกับรันวงการฟิล์มในท้องถิ่นให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ที่ตั้ง : 10​ ซอยนครสวรรค์ 32 ตำบลตลาด อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม 44000 (แผนที่

วัน-เวลาทำการ: ทุกวัน เวลา 11.00 – 20.00 น.

โทรศัพท์ : 08 6332 1691

Facebook : Friends film lab

02

โรงละครหมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา

โรงละครกลางบ้านสุดม่วนกุ๊บ ของลูกอีสานผู้เปลี่ยนกระติ๊บเป็นหุ่นหมอลำ

โรงละครหมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา

เสียงแคนคลอเสียงพิณ เคล้าคำร้องหมอลำลอยมาจากหมู่บ้าน เป็นสัญญาณว่า คณะหมอลำหุ่น เด็กเทวดา กำลังจะเริ่มทำการแสดงแล้ว 

ย้อนที่มาไปหลายปีก่อน ครูเซียง-ปรีชา การุณ นักทำหุ่นกระบอก ได้เข้ามาเจอเข้ากับละครเงาอีสานหรือหนังบักตื้อ มรดกของบ้านดงน้อย อำเภอนาดูน ซึ่งแต่เดิมหนังชนิดนี้นิยมเล่นในท้องเรื่อง สังข์สินไซ วรรณกรรมท้องถิ่นที่มักเขียนเป็นภาพฮูปแต้มอยู่ตามสิมเก่าแก่ของวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน เมื่อมาลงพื้นที่เต็มตัว ครูเซียงเห็นว่าพ่อใหญ่แม่ใหญ่แห่งบ้านดงน้อยมีความสามารถด้านงานจักสาน ทำตะกร้า และกระติ๊บใช้กันในชีวิตประจำวัน เลยปิ๊งไอเดียเกิดเป็นหุ่นกระติ๊บที่ใช้วัสดุจากท้องถิ่น สวมผ้าซิ่น พาดผ้าขาวม้า มองแวบแรกก็รู้ว่ามาจากถิ่นที่ราบสูง

โรงละครหมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา
โรงละครหมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา

ส่วนเรื่องราวที่เลือกมาใช้ทำการแสดง นอกจาก สังข์สินไซ สุดฮิตที่รีเมกเล่นซ้ำกันอยู่บ่อย ๆ แล้ว หมอลำหุ่นรุ่นใหม่ยังเพิ่มเรื่องราวให้ม่วนยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องเล่า ตำนาน และวรรณกรรมพื้นบ้านทั้งหลาย ในรูปแบบของหมอลำ โดยขอแรงพ่อครูแม่ครูในหมู่บ้านช่วยถ่ายทอดทักษะการร้องลำ และการเล่นดนตรีพื้นบ้านให้กับเด็ก ๆ ในท้องถิ่น กลายเป็นคณะหมอลำที่ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม

ทุกวันนี้โรงละครหมอลำประจำบ้านดงน้อยทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้านไว้คอยต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยือน หากดูหมอลำหุ่นจบแล้วติดลม อยากใช้ชีวิตท่ามกลางท้องนา ก็มีโฮมสเตย์ที่ชวนสัมผัสวิถีชาวอีสานอย่างเต็มอิ่ม และเสิร์ฟอาหารพื้นบ้านให้ได้ลองด้วย

ตอนนี้โรงละครหมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา กำลังปรับปรุง เพิ่มแสงสีที่นั่งใหม่ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป คงเสร็จสมบูรณ์พร้อมพอดี รอให้ทุกคนได้ไปพบกับความม่วนกุ๊บฉบับคนนาดูนอีกครั้ง

ที่ตั้ง : บ้านดงน้อย ตำบลนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม 44180

วัน-เวลาทำการ : ติดต่อล่วงหน้า

โทรศัพท์ : 09 3083 5298

Facebook : หมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา

03

Miso home cafe

โฮมคาเฟ่สไตล์เกาหลี ที่มีมาการองเป็นทีเด็ดประจำร้าน

Miso home cafe, โฮมคาเฟ่สไตล์เกาหลี ที่มีมาการงเป็นทีเด็ดประจำร้าน

미소 (Miso) ในภาษาเกาหลี แปลว่า รอยยิ้ม และยังเป็นชื่อลูกคนเล็กของ แตงโม-อภิญญา เอ ออร์เดรย์ เธอเลือกเอาคำนี้มาตั้งเป็นชื่อร้าน เพราะอยากเชื่อมโยงรอยยิ้มเข้ากับความสุขของตัวเองและลูกค้าที่ได้มาเจอกัน

“เราทำเพราะมันเป็นความสุข ยิ่งเห็นคนกินขนมและเครื่องดื่มของเรา เขามีความสุข เราก็ยิ่งดีใจ”

Miso home cafe, โฮมคาเฟ่สไตล์เกาหลี ที่มีมาการงเป็นทีเด็ดประจำร้าน

ที่มาที่ไปเกิดจากประสบการณ์เที่ยวมาแล้วทั่วโลก พบเจอร้านรวงมากมาย สร้างแรงบันดาลใจให้อยากมีคาเฟ่เมื่อกลับเมืองไทย จึงลงมือรีโนเวตโรงรถของบ้านให้กลายเป็นร้านสีขาวสะอาดตา บวกกับแตงโมมีแฟนเป็นชาวเกาหลี ร้านเลยปกคลุมไปด้วยมวลของคาเฟ่เกาหลี ตั้งแต่ภายนอกร้าน การตกแต่ง จนถึงเมนูเครื่องดื่มและขนม

คาเฟ่แห่งนี้ต่อท้ายด้วยโฮมคาเฟ่ ไม่ใช่เพียงเพราะร้านอยู่ในบริเวณบ้านเท่านั้น แต่ขนมก็เป็นโฮมเมดสไตล์ฝรั่งเศสตามที่แตงโมสังเกตมาจากร้านในเกาหลี โดยจะลงมือทำเองทุกวัน ส่วนกาแฟประจำร้าน ก็เลือกใช้เมล็ดกาแฟที่ดื่มง่ายเพียงชนิดเดียว แต่ถูกปากสำหรับคนทั่วไป หากอยากดื่มรสเข้มขึ้น หวานน้อยลง หรือต้องการรสชาติแบบไหน เพียงกระซิบบอกบาริสต้าประจำร้านได้เลย เป็นความตั้งใจที่อยากให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนชงดื่มเองที่บ้าน 

Miso home cafe, โฮมคาเฟ่สไตล์เกาหลี ที่มีมาการงเป็นทีเด็ดประจำร้าน
Miso home cafe, โฮมคาเฟ่สไตล์เกาหลี ที่มีมาการงเป็นทีเด็ดประจำร้าน

แต่ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือความเด็ดดวงของมาการองประจำร้าน มีมากมายควรค่าแก่การลิ้มลองถึง 10 รสชาติ อาทิ เชดดาชีส พีช เลมอน ราสเบอร์รี ฯลฯ และแตงโม ยังออกแบบรสชาติให้แบ่งเป็น 2 โทน คือรสเปรี้ยวและรสไม่เปรี้ยว ประกบด้วยฝาหรือเชลล์ทำจากอัลมอนด์สีพาสเทลไม่ฉูดฉาด ถ่ายภาพมุมไหนก็ออกมาอบอุ่นดูดี (น่ากินด้วย)

แม้จะเพิ่งเปิดได้ไม่นาน แต่ผลตอบรับจากชาวมหาสารคามดีเกินคาด เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า 

คนที่นี่พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ!

ที่ตั้ง : บ้านโนนเดื่อ หมู่ที่ 10 ตำบลแวงน่าง อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม 44000 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 10.00 – 19.00 น.

โทรศัพท์ : 09 9624 6365

Facebook : Miso home cafe 미소 홈 카페

04 

MUG Espresso House

ร้านกาแฟและน้ำผักผลไม้สกัด จุดแวะพักคนรักสุขภาพ

MUG Espresso House, ร้านกาแฟและน้ำผักผลไม้สกัด จุดแวะพักคนรักสุขภาพ

อาคารไม้หลังเก่าอายุกว่า 80 ปี อดีตหอพักในตัวอำเภอเมืองมหาสารคาม เป็นที่ตั้งของ MUG Espresso House ร้านกาแฟน่ารักที่เกิดขึ้นจากความมักกาแฟของ แอน-บุณฑริกา คุณะสาร

ตอนที่มีโอกาสได้ไปเรียนภาษาที่ออสเตรเลียอยู่ช่วงหนึ่ง ความชอบในกลิ่นกาแฟต่อยอดไปถึงการเรียนบาริสต้าขั้นเบสิก เมื่อถึงวันที่ต้องโบกมือลาแดนจิงโจ้ มีสิ่งหนึ่งที่ขึ้นเครื่องบินติดใจสาวอีสานคนนี้มาด้วย นั่นคือวัฒนธรรมในการดื่มกาแฟของคนที่นั่น 

MUG Espresso House, ร้านกาแฟและน้ำผักผลไม้สกัด จุดแวะพักคนรักสุขภาพ
MUG Espresso House, ร้านกาแฟและน้ำผักผลไม้สกัด จุดแวะพักคนรักสุขภาพ

ตอนทำงานในร้านอาหาร เธอสังเกตว่าลูกค้ามักเป็นคนคุ้นหน้าคุ้นตา กลับมาร้านเดิมอยู่ตลอด แอนอยากให้วัฒนธรรมการเข้าร้านกาแฟของคนไทยมีความสนิทกันเช่นนั้น จึงทำร้านให้ออกมาอบอุ่นเป็นกันเอง พร้อมบริการด้วยความจริงใจ จนลูกค้าหลายคนเอ่ยปากว่า “มาที่นี่แล้วรู้สึกเหมือนมาบ้านเพื่อน”

ไม่เพียงแต่กาแฟที่ลูกค้าหลายคนชอบใจ ทางร้านยังมีเครื่องดื่มผักปั่นและน้ำผลไม้แยกกาก เป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าสายเฮลท์ตี้ แอนเล่าที่มาที่ไปว่าเกิดจากตัวเองเป็นคนกินผักยาก เมื่อมีโอกาสได้ไปต่างประเทศ เห็นคนที่นั่นกินน้ำผักสดปั่นกันเป็นเรื่องปกติ เลยลองเอาผักเคลที่หาได้ในบ้านเราหยิบใส่เครื่องปั่นดูบ้าง ปรับสูตรให้ถูกปากคนไทย ผสมผลไม้ต่าง ๆ จนได้เป็นเครื่องดื่มที่ถูกอกถูกใจคนรักสุขภาพ และเป็นอีกทางเลือกให้คนที่กินผักยากได้มาทดลองชิมดู ก่อนที่จะอัปเลเวลขึ้นไปถึงขั้นกินผักสดเป็นใบ ๆ ไม่แน่อาจจะรักการกินผักไปเลยโดยไม่รู้ตัว

MUG Espresso House, ร้านกาแฟและน้ำผักผลไม้สกัด จุดแวะพักคนรักสุขภาพ

แวะมาทักทายแอนที่รอต้อนรับผู้มาเยือนอยู่หลังบาร์กาแฟได้ทุกวันที่ร้านเปิด นอกจากเครื่องดื่มแล้ว ยังมีอาหารง่าย ๆ รสชาติดี และเบเกอรีโฮมเมดไว้บริการด้วย

ที่ตั้ง : 13 ซอยนครสวรรค์ 18 ตำบลตลาด อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม 44000 

วัน-เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 08.00 – 19.00 น. (ยกเว้นวันจันทร์)

Facebook : MUG Espresso House

05

T’taste. Khamriang.

คาเฟ่เล่าเรื่องราววัฒนธรรมที่ราบสูงผ่านศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น

T’taste. Khamriang. คาเฟ่เล่าเรื่องราววัฒนธรรมที่ราบสูงผ่านศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น
T’taste. Khamriang. คาเฟ่เล่าเรื่องราววัฒนธรรมที่ราบสูงผ่านศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น

ขามเรียงคือชื่อของหมู่บ้านเงียบ ๆ แห่งหนึ่งในอำเภอกันทรวิชัย ความคึกคักเข้ามาพร้อมกับการขยายพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน บ้านเรือนดั้งเดิมจึงผลัดกันเปลี่ยนมือกลายเป็นหอพักและร้านอาหาร 

ธี-ธีรวัฒน์ เจียงคำ เป็นลูกหลานบ้านขามเรียง เกิดและเติบโตในครอบครัวที่อุดมไปด้วยทักษะด้านภูมิปัญญาพื้นบ้าน มียายกับป้าที่เป็นมือทอผ้า ส่วนลุงก็เป็นหมอลำ งานศิลปะจึงซึมซับจนเข้าขั้นหลงใหล เมื่อเรียนจบทางด้านนาฏศิลป์และวัฒนธรรมจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และได้เข้าไปเรียนต่อในเมืองหลวง ธีเก็บเอาความคิดถึงบ้านกลับมาแปลงโฉมบริเวณบ้านของครอบครัว ศูนย์กลางของชุมชนที่เพื่อนบ้านมักมานั่งโสเหล่จับเข่าคุยกันประจำตั้งแต่อดีต ให้กลายเป็นคาเฟ่ที่สอดแทรกงานศิลปะ นาฏศิลป์ และหัตถกรรมพื้นบ้าน ภายใต้ชื่อ T’taste. Khamriang. 

T’taste. Khamriang. คาเฟ่เล่าเรื่องราววัฒนธรรมที่ราบสูงผ่านศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น

พื้นที่นี้เป็นมากกว่าคาเฟ่ที่ลูกค้ามากินดื่มแล้วกลับ เพราะธีอยากให้ที่นี่คอยบอกเล่าเรื่องราวของชาวอีสาน ผ่านสิ่งต่าง ๆ ในบ้าน เช่น ผ้าไหมเก่าเก็บที่ธีสะสมไว้หลายปี และกี่ทอผ้าคู่บ้านคู่เรือน ยามคุณป้าลงมานั่งทอผ้าหรือล้อมวงกินข้าว เธอเล่าติดตลกว่า เหมือนกับกำลังจัดแสดงนิทรรศการวิถีชาวบ้านอยู่ในแกลเลอรี หรือบางครั้งลานกลางบ้านก็เปลี่ยนหน้าที่เป็นเวทีการแสดงเซิ้งขนาดย่อม ๆ ให้ลูกค้าที่มาเยือนได้นั่งชม แค่เราได้ฟังก็รู้สึกม่วนซื่นตามไปด้วย

T’taste. Khamriang. คาเฟ่เล่าเรื่องราววัฒนธรรมที่ราบสูงผ่านศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น

นอกจากนี้ ถ้าหากโอกาสดีตรงกับช่วงงานบุญประเพณี บรรยากาศในร้านก็จะประดับตกแต่งให้เข้ากับช่วงเทศกาลนั้น ๆ อย่างงานบุญสงกรานต์ที่ผ่านมา ธีเอาผ้าพระบฏมาติดทั่วบ้าน จัดมุมให้คนได้มาสรงน้ำพระ เป็นการรักษาวัฒนธรรมและชวนคนรุ่นใหม่มาเรียนรู้ฮีตหรือประเพณีที่แทบจะเลือนหายไปแล้วในปัจจุบัน 

“นึกถึงตอนอยู่ที่อื่นแล้วคิดถึงบ้าน เราอยากให้ลูกค้ามาแล้วเหมือนได้กลับมาบ้าน” ธีพูดถึงคอนเซ็ปต์ร้านที่คิดไว้ ซึ่งก็สมดั่งใจ เพราะหลายครั้งที่ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลายเหมือนอยู่บ้าน จนมาขอเสื่อไปเลือกมุมปูใต้ต้นไม้เองเลยก็มี

ที่ตั้ง : 83 หมู่ 20 ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม 44150 

วัน-เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 10.00 – 22.00 น.

โทรศัพท์ : 09 3327 9090

Facebook : T’taste. Khamriang. 

06

De PLOY Cafe & Bakery

ร้านเค้กของสาววาปีปทุม ผู้เชื่อว่าของอร่อย ให้ไกลแค่ไหนคนก็ซื้อ

De PLOY Cafe & Bakery, ร้านเค้กของสาววาปีปทุม ผู้เชื่อว่าของอร่อย ให้ไกลแค่ไหนคนก็ซื้อ
De PLOY Cafe & Bakery, ร้านเค้กของสาววาปีปทุม ผู้เชื่อว่าของอร่อย ให้ไกลแค่ไหนคนก็ซื้อ

อำเภอวาปีปทุมโด่งดังเรื่องงานฝีมือ มีกลองยาวและผ้าไหมเป็นของดีเชิดหน้าชูตา แม้ De PLOY Cafe & Bakery จะเป็นร้านเล็ก ๆ และไม่ได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่ว่า แต่เค้กหลากหลายหน้าตาในร้านก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พลอย-อัญมณี ตุลาโชติกุล ซึ่งเป็นเจ้าของนั้น มีเลือดด้านงานศิลป์ของชาววาปีปทุมอย่างเต็มตัว

จุดเริ่มต้นของร้าน เกิดจากความชอบของพลอยที่ตระเวนเที่ยวคาเฟ่ต่าง ๆ สั่งสมประสบการณ์จากการได้ลองชิมเค้กและขนมหลากหลายชนิด จนเข้าไปเรียนคอร์สทำขนมเพิ่มเติมเป็นจริงเป็นจัง สุดท้ายจึงตัดสินใจลาออกจากอาชีพครู แล้วก้าวเข้าสู่วงการเบเกอรีอย่างเต็มตัว พลอยเล่าว่าไม่ใช่เพียงแค่ความชอบเท่านั้นที่ทำให้เกิดร้านนี้ แต่ความตั้งใจอีกอย่างของเธอ คืออยากให้คนแถวอำเภอวาปีปทุมได้ลองชิมเค้กรสชาติดีที่หาโอกาสกินได้ยากด้วย

De PLOY Cafe & Bakery, ร้านเค้กของสาววาปีปทุม ผู้เชื่อว่าของอร่อย ให้ไกลแค่ไหนคนก็ซื้อ
De PLOY Cafe & Bakery, ร้านเค้กของสาววาปีปทุม ผู้เชื่อว่าของอร่อย ให้ไกลแค่ไหนคนก็ซื้อ

ในทุก ๆ วัน เธอจะลงมือทำเค้กในตอนเย็น แล้วลุกขึ้นมาแต่งหน้าเค้กในตอนเช้าของอีกวัน จัดวางลงหน้าร้านในช่วงเที่ยง ทำแบบนี้เป็นกิจวัตร รับรู้กันในหมู่ลูกค้าประจำว่าเค้กร้านนี้สดใหม่เสมอ และเมื่อฤดูกาลเปลี่ยน พลอยจะคอยหาผลไม้ในช่วงนั้น ๆ รวมถึงที่มีเฉพาะในท้องถิ่น เช่น มะม่วง มะยงชิด มาทำเป็นเมนูพิเศษให้ลองชิม สำหรับช่วงนี้หากแวะไปที่ร้าน พลอยนำเสนอไดฟูกุไส้ชาเขียวถั่วแดง ทำจากแป้งสูตรเฉพาะ เหนียวนุ่มหนึบถูกใจ และเลมอนทาร์ตเอาใจคนรักความสดชื่น เป็นเคิร์ดเลมอนที่หอมเปรี้ยวอมหวาน พลอยรับประกันว่า “ชิ้นเดียวไม่พอ ต้องกินอีก”

ไม่เพียงแค่หน้าตาและรสชาติที่หลายคนติดใจ จนเกิดเป็นธุรกิจรับหิ้วจากคนในเมืองเป็นล่ำเป็นสัน ส่วนภายในร้านก็ตกแต่งดีงามดูโคซี่ ซื้อกลับบ้านก็ดี นั่งที่ร้านก็เลิศ ฉะนั้นหากมีโอกาสผ่านไปอำเภอวาปีปทุม ไปชิมกันนะ

ที่ตั้ง : 554 หมู่ 3 ตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม 44120 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 09.00 – 18.00 น. (ยกเว้นวันอาทิตย์) 

โทรศัพท์ : 08 8562 6345

Facebook : De PLOY Cafe & Bakery

07

CALM Coffee & Co 

สโลว์บาร์แห่งแรกในสารคามที่ถ่ายทอดลูกอีสานผ่านรสชาติกาแฟ

CALM Coffee & Co, สโลว์บาร์แห่งแรกในสารคามที่ถ่ายทอดลูกอีสานผ่านรสชาติกาแฟ

เมฆ-อานุภาพ เกียรติจินดารัตน์ กลับมายังถิ่นเก่าที่เรียนมาตั้งแต่ชั้นมัธยมถึงมหาวิทยาลัยอีกครั้ง เพื่อให้ความสงบเงียบของเมืองนี้ช่วยรักษาตัว ระหว่างนั้นเขามองหากาแฟดื่มตามประสาผู้หลงใหลในคาเฟอีน แต่หาเท่าไหร่ก็ยังไม่ถูกจริต เลยตัดสินใจหอบเอาอุปกรณ์จากร้านกาแฟเก่าที่เคยเปิดในกรุงเทพฯ มาตั้งเป็นร้านป๊อปอัปเล็ก ๆ 

เมฆหวังแค่ว่าเผื่อเจอคอกาแฟที่ชอบเหมือนกัน ไป ๆ มา ๆ ผลตอบรับดีและน่าพอใจ อดีตนักการตลาดออนไลน์จึงรีแบรนด์ใหม่ ย้ายร้านเข้าห้องแถว แล้วเนรมิตจุดนัดพบของคนรักกาแฟขึ้นมากลางอำเภอเมืองมหาสารคาม

CALM Coffee & Co, สโลว์บาร์แห่งแรกในสารคามที่ถ่ายทอดลูกอีสานผ่านรสชาติกาแฟ

คาม (CALM) ร้านกาแฟไซส์กะทัดรัดที่เจ้าของร้านบอกว่า อยากให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลายยามนั่งหน้าบาร์เหมือนรอเพื่อนดริปกาแฟให้ดื่ม ผ่านการคิดอย่างพิถีพิถันตั้งแต่ชื่อร้าน เมฆหยิบเอาพยางค์สุดท้ายของชื่อจังหวัด ‘คาม’ ซึ่งแปลว่าบ้าน หมู่บ้าน มาใช้ และยังพ้องกับภาษาอังกฤษที่เขาอยากสื่อถึงความสงบของสารคาม เป็นไอเดียเท่ๆ ที่สะกิดตั้งแต่ยังไม่ทันผลักประตูเข้าร้าน 

จุดเด่นของที่นี่คือเมล็ดกาแฟ Specialty ที่คัดสรรมาให้นักดื่มเลือกเกือบ 30 ชนิดทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ เมฆกระซิบบอกกับเราว่า เขาเทใจให้กับเมล็ดไทยไปเกินครึ่ง เพราะอยากให้นักดื่มกาแฟในพื้นที่ได้ลองชิมกาแฟจากเมล็ดที่ปลูกในประเทศ และยังเป็นการช่วยสนับสนุนเกษตรกรไทยที่ตั้งใจปลูกด้วย

ความสนุกที่แฝงตัวในความสงบของร้าน คือการนำเอาเอกลักษณ์ในท้องถิ่นมาใช้สร้างคาแรกเตอร์ให้กับเมล็ดกาแฟเบลนด์เฉพาะ ในชื่อ ‘สกายแล็บ’ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมากจากรถสามล้อของชาวอีสาน ที่มีเสียงดังแหลมชวนแสบหูนำตัวรถมาแต่ไกล เมฆแทนด้วยรสหวานนำ เปรี้ยวตาม มี After Tastes ของกาแฟที่อวลอยู่นานในปากหลังจากดื่ม 

CALM Coffee & Co, สโลว์บาร์แห่งแรกในสารคามที่ถ่ายทอดลูกอีสานผ่านรสชาติกาแฟ

ส่วนกาแฟเบลนด์อีกชนิดหนึ่งคือ ‘Golden Monkey’ ที่นำลิงแสมสีทอง สัตว์ประจำถิ่นซึ่งมีเฉพาะในวนอุทยานโกสัมพี อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม มาตั้งชื่อเป็นกาแฟที่ให้รสชาติจากสารพัดผลไม้สีเหลืองของโปรดเจ้าจ๋อ เช่น เสาวรส มะม่วง มะเฟือง มีความเปรี้ยวนำแบบไทย ๆ และสดชื่นสไตล์ผลไม้เมืองร้อน

ยังไม่หมดเท่านี้ ในทุกเดือนจะมีเมนูใหม่ที่เมฆสร้างสรรค์ขึ้นมา อย่างช่วงนี้มี ‘เปียกลำไย’ ขนมไทยที่แม่เคยทำให้กินแต่เด็ก แต่ปรับเป็นกาแฟรสชาติเฉพาะ ราดด้วยครีมกะทิ มีลำไยท็อปด้านบน ช่วยเปิดประสบการณ์การดื่มกาแฟแสนเพลิดเพลินไม่ซ้ำกับที่ไหนแน่นอน จินตนาการตามแล้วต้องลูบปาก รสอร่อยน่าลิ้มมีที่ ‘คาม’ เท่านั้นนะ

ที่ตั้ง : โรงแรมวรัญญูเฮ้าส์แอนด์ รีสอร์ท 163 ตำบลตลาด อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม 44000 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

Facebook : CALM Coffee & Co

08

Kotcher

เสื้อผ้าสตรีทแวร์ของสาวอีสานจากฝีมือแม่ใหญ่ในชุมชน

Kotcher, เสื้อผ้าสตรีทแวร์ของสาวอีสานจากฝีมือแม่ใหญ่ในชุมชน

เสื้อครอปท็อปสีเขียวนีออนสะดุดตา เสื้อเบลเซอร์สีส้มสดใสลายผ้าขาวม้า เป็นจุดเด่นของ Kotcher แบรนด์เสื้อผ้าสตรีทแวร์ที่ใช้ผ้าทอมือของภาคอีสาน อาย-กชกร สาระกุมาร สาวมหาสารคามผู้โตมากับผ้าทอของคุณยายเล่าว่า การทอผ้าเป็นงานอดิเรกยามว่างจากหน้านา เรียกได้ว่าทุกบ้านต้องมีหูกทอผ้าประจำบ้าน เป็นส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอพี่น้องอีสาน จริงจังกันถึงขั้นมีตลาดนัดเพื่อคนทอผ้าตามชุมชน ที่ขายอุปกรณ์กันตั้งแต่ด้ายยันสีย้อมผ้า

10 สถานที่ม่วนซื่นมหาสารคาม เมืองตาฮักที่ครบทั้งคาเฟ่ ฟิล์มแล็บ และโรงละครหมอลำหุ่น
10 สถานที่ม่วนซื่นมหาสารคาม เมืองตาฮักที่ครบทั้งคาเฟ่ ฟิล์มแล็บ และโรงละครหมอลำหุ่น

เสื้อผ้าที่อายออกแบบ เน้นใช้ผ้าฝ้ายเป็นหลัก เพราะนอกจากคุณสมบัติที่ใส่แล้วไม่ร้อน ราคายังจับต้องได้มากกว่าผ้าไหม โดยเลือกใช้ฝ้ายรียูสที่เหลือจากคลังของโรงงาน แต่ละคราวที่ได้มาจึงมีอย่างจำกัด เธอมองว่าความสนุกอยู่ที่การเพิ่มความคิดไปอีกขั้น ว่าจะจัดการสีที่ได้มาแต่ละครั้งยังไง และเสน่ห์ของงานที่ได้ก็ลิมิเต็ด ไม่ซ้ำใคร

ผ้าฝ้ายสีพื้นบ้าง ผ้าขาวม้าอีโป้บ้าง ผลัดกันถูกหยิบไปออกแบบตามโอกาส นอกจากดีไซน์ที่ทันสมัยแล้ว อายยังชวนให้มองคุณค่าของผ้าไปถึงเบื้องหลัง คือนักทอมากฝีมือตามหมู่บ้านที่มีอยู่ทั่วหัวระแหง เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับแม่ ๆ ในชุมชน โดยมีกิมมิกน่ารักชวนอุดหนุนคือ แต่ละคอลเลกชันอายจะบอกที่มาของผ้าทอผืนนั้น ๆ ไว้ด้วย 

ที่ตั้ง : 33/4 ซอย นครสวรรค์ 39/7 ตำบลตลาด อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม 44000 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : ติดต่อล่วงหน้า

โทรศัพท์ : 06 1949 1978

Facebook : Kotcher แฟชั่นผ้าไทยอีสานทอมือ

09

LITIN

เฟอร์นิเจอร์ดีไซน์เก๋จากวัสดุพื้นถิ่นที่กระจายรายได้สู่ชุมชน

LITIN, เฟอร์นิเจอร์ดีไซน์เก๋จากวัสดุพื้นถิ่นที่กระจายรายได้สู่ชุมชน

LITIN แบรนด์เฟอร์นิเจอร์หวายและของตกแต่งบ้านดีไซน์เก๋ ทำจากวัสดุภายในท้องถิ่น ของ ลิตเติ้ล-สมฤทัย บุญใหญ่ ทายาทร้านเฟอร์นิเจอร์ผู้รักในงานออกแบบ และเห็นโอกาสที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน

ผลงานของ LITIN ไม่ได้จบแค่เลือกใช้หวายมาเป็นวัสดุหลัก แต่ยังแทรกความร่วมสมัยผสานเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการนำเอาลวดลายของผ้าทอประจำจังหวัด อย่างลายสร้อยดอกหมาก ดึงมาใส่บนแพตเทิร์นในการสานเฟอร์นิเจอร์ หรือจะเป็นม้านั่งยาวสีขาวสลับดำ ลบภาพจำของเก้าอี้หวายเดิม ๆ ไปหมดสิ้น และที่โดดเด่นควรค่าแก่การพูดถึงคือ เก้าอี้สตูลตัวเด็ดที่พาแบรนด์ไปคว้ารางวัล เป็นการนำเอารูปทรงของตะโพน เครื่องดนตรีพื้นบ้านมาขยายไซส์ แล้วเลือกใช้ผิวหวายที่เหลือระหว่างกระบวนการผลิตมาใช้ในการออกแบบ นอกจากชวนนั่งแล้วยังเป็นมิตรกับโลก

10 สถานที่ม่วนซื่นมหาสารคาม เมืองตาฮักที่ครบทั้งคาเฟ่ ฟิล์มแล็บ และโรงละครหมอลำหุ่น
10 สถานที่ม่วนซื่นมหาสารคาม เมืองตาฮักที่ครบทั้งคาเฟ่ ฟิล์มแล็บ และโรงละครหมอลำหุ่น

ที่สำคัญสินค้าทุกชิ้นผ่านการทำงานร่วมกับชาวบ้านที่เธอคลุกคลีถึงพื้นที่ แจกจ่ายงานตามความถนัด เป็นงานคราฟต์จากฝีมือคนท้องถิ่น จึงรับประกันคุณภาพและคุณค่าที่ได้รับ ถ้าหากกลัวว่าหวายใช้นอกบ้านแล้วจะไม่คงทน เธอมีงานหวายเทียมจากพลาสติกรีไซเคิลผสมกับหวายแท้ ทนทานเพิ่มอายุการใช้งานและรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย

LITIN มีโชว์รูมอยู่ในตัวเมืองมหาสารคาม สำหรับผู้สนใจอยากทดลองนั่งเก้าอี้ดีไซน์ร่วมสมัย หากชอบใจก็ยกกลับไปตั้งที่บ้านได้เลย และยังมีแบรนด์ลูกเป็นทางเลือกสำหรับใครที่อยากได้ของขนาดเล็กไว้แต่งบ้าน ในชื่อ LITIN Home ซึ่งวัสดุไม่จำกัดอยู่เพียงหวาย เพราะเธอบอกว่ายังสนุกกับการตามหาวัตถุดิบธรรมชาติท้องถิ่นจากทั่วประเทศอยู่ตลอด อย่างผักตบชวาและกระจูด ที่เลือกมาใช้รังสรรค์เป็นกระถางต้นไม้ โคมไฟ จนถึงกล่องใส่กระดาษทิชชู

ที่ตั้ง : 412 ถนนแจ้งสนิท ตำบลแวงน่าง อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม 44000 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : ทุกวัน

โทรศัพท์ : 08 2712 5272

Facebook : LITIN

เว็บไซต์ : www.litinfurniture.com

10

แก้วพะเนาว์ Organic Farm 

ฟาร์มผักอินทรีย์ที่ใช้เทคนิคปลูกพืชในทะเลทรายมาใช้กับดินแล้งของอีสาน

แก้วพะเนาว์ Organic Farm, ฟาร์มผักอินทรีย์ที่ใช้เทคนิคปลูกพืชในทะเลทรายมาใช้กับดินแล้งของอีสาน
10 สถานที่ม่วนซื่นมหาสารคาม เมืองตาฮักที่ครบทั้งคาเฟ่ ฟิล์มแล็บ และโรงละครหมอลำหุ่น

แก้วพะเนาว์ Organic Farm เป็นสวนผักสลัดอินทรีย์ที่ดูแลโดย ปลิว-พงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ อดีตนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ได้ไปเรียนรู้วิธีทำเกษตรถึงอิสราเอล ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปลูกผักบนทะเลทรายจนทั่วโลกยอมรับ เขานำองค์ความรู้ที่ได้มาปรับใช้กับผืนดินบ้านเกิดภาคอีสาน บนพื้นที่ที่ทรัพยากรน้ำมีอย่างจำกัดจำเขี่ย 

ตั้งแต่วันแรกที่ลงมือทำหลังเรียนจบ ปลิวพลิกวิธีการทำสวนทำไร่แบบเก่า เป็นสมาร์ทฟาร์มที่จัดการระบบน้ำด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ รดผักเป็นเวลา ไม่เปลืองน้ำ แถมปริมาณก็พอเหมาะพอดี ที่สำคัญทุ่นแรงและเวลาคนปลูกไปได้เยอะ เมื่อทำเองในบ้านแล้วไปได้สวย จึงส่งต่อความรู้ให้ชาวบ้านรอบ ๆ เกิดเป็นเครือข่ายออร์แกนิกสเกลชุมชน 

เกษตรกรรุ่นใหม่แห่งเมืองมหาสารคามตั้งใจให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริมควบคู่ไปกับการปลูกข้าว ผลลัพธ์กลายเป็นแต่ละบ้านปลูกแปลงผักสลัดกันเขียวเต็มหมู่บ้าน เป็นวิถีเกษตรที่ดูแปลกใหม่ไม่คุ้นตา แต่น่าสนับสนุน 

10 สถานที่ม่วนซื่นมหาสารคาม เมืองตาฮักที่ครบทั้งคาเฟ่ ฟิล์มแล็บ และโรงละครหมอลำหุ่น
10 สถานที่ม่วนซื่นมหาสารคาม เมืองตาฮักที่ครบทั้งคาเฟ่ ฟิล์มแล็บ และโรงละครหมอลำหุ่น

เมื่อได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ปลิวยังอาสาทำหน้าที่ช่วยหาตลาดส่งขาย ให้เกษตรกรมีรายได้ตลอดปี ทั้งขายเองที่ฟาร์ม ตลาดใกล้ ๆ ร้านอาหารรอบข้าง รวมถึงส่งผักสดอร่อยปลอดสารไปถึงห้างสรรพสินค้าชั้นนำในกรุงเทพฯ

หากใครสนใจกลเม็ดเคล็บลับในการปลูกผักปลอดสารบนพื้นที่ที่ยากต่อการไปรอด แก้วพะเนาว์ Organic Farm ฟาร์มยินดีเป็นพี่เลี้ยงช่วยสอน เพราะที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรรูปแบบใหม่ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ให้เข้าชมได้ตลอดปี มีเวิร์กชอปสนุก ๆ สำหรับชาวสวนระดับบีกินเนอร์ ตั้งแต่ทำปุ๋ย เพาะกล้า จนถึงวิธีจัดการระบบนิเวศในฟาร์ม 

“ผักสลัดเหล่านี้ไม่ได้มีดีแค่สด อร่อย ปลอดภัย แต่ช่วยส่งต่อความสุขและให้โอกาสกับคนในชุมชนด้วย” ปลิวทิ้งท้ายถึงสิ่งที่ผู้ซื้อจะได้รับกลับไป

ที่ตั้ง : บ้านหนองบัว ตำบลนาภู อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม 44210 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : ทุกวัน สำหรับกิจกรรมกรุณาติดต่อล่วงหน้า

โทรศัพท์ : 06 1339 0734

Facebook : แก้วพะเนาว์ Organic Farm

Writer

Avatar

พณิช ตั้งวิชิตฤกษ์

นักลองฝึกพิสูจน์อักษร ผู้แสร้งเป็นนักลองฝึกเขียน อดีตเป็นนักเรียนภาษา ผู้สนใจเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ รักในมวลรอบข้างที่ดี กาแฟ ชาเขียว และแมวเหมียว

Photographer

Avatar

ธีรชัย ลัญจกรสิริพันธุ์

อดีตช่างซ่อม ปัจจุบันช่างภาพ ลูกชายคนเล็ก ชอบเรียกม่าม๊า เวลาว่างขับแมคโครเล่น ตัวจริงต้องไม่ใส่รองเท้า จ้องกินแต่หมูแดดเดียว