วัดแห่งนี้เป็น 1 ใน 5 มหาบูชาสถานของประเทศเมียนมาและเป็นหนึ่งเดียวที่ไม่ใช่เจดีย์ วัดแห่งนี้ถือเป็น The Must ใครก็ตามที่ไปเมืองมัณฑะเลย์ครั้งแรกจะต้องไปชมสักครั้ง พระพุทธรูปที่ประดิษฐานเป็นประธานของวัดแห่งนี้เปรียบดั่งพระแก้วมรกตของเมียนมา พระพุทธรูปองค์นี้ยังถือเป็น ‘พระพุทธรูปที่มีชีวิต’ เพราะพระพุทธเจ้าได้ประทานลมหายใจไว้ให้

ผมเกริ่นมาขนาดนี้ เชื่อว่าหลายคนน่าจะนึกออกแล้วว่าผมกำลังพูดถึงที่ไหน หลายท่านน่าจะเคยไป หรืออย่างน้อยก็เคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามกันมาบ้าง วันนี้ผมจะขอพาทุกท่านไปชมวัดมหามัยมุนี เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาครับ

พระมหามัยมุนี พระพุทธรูปมีชีวิตหนึ่งเดียวในเมียนมาที่มีพิธีล้างพระพักตร์ แปรงพระทนต์ ทุกเช้า

วัดมหามัยมุนีแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2328 โดย พระเจ้าโบดอพญา หรือ พระเจ้าปดุง กษัตริย์แห่งราชวงศ์อลองพญาเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปที่มีชื่อเดียวกับวัด คือพระมหามัยมุนี โดยสร้างขึ้นทางตอนเหนือของเมืองอมรปุระ เมืองหลวงในเวลานั้น ต่อมาวัดแห่งนี้กลายเป็นวัดสำคัญของอาณาจักร ไม่ว่าจะต่อพระมหากษัตริย์ พระมเหสี หรือแม้แต่บรรดาเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง

แต่ใน พ.ศ. 2427 เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ ทำให้พระมหามัยมุนีได้รับความเสียหายทั้งองค์ ทองคำเปลวที่ปิดบนองค์พระละลายออกมา ซึ่งต่อมามีการนำทองคำเปลวกลับไปปิดที่องค์พระพุทธรูปดังเดิม และวัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่โดย พระเจ้าธีบอ หรือ พระเจ้าสีป่อ ถวายพระราชทรัพย์ในการบูรณะมากถึง 18,360 รูปีเลยทีเดียว (สมัยโน้นนิยมระบุงบประมาณการบูรณะด้วยสกุลเงินนี้ แม้แต่ตอนที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ซ่อมวัด ยังมักระบุจำนวนเงินด้วยสกุลรูปีเช่นกัน) และทำนุบำรุงวัดอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เล่าถึงวัดไปแล้ว จะไม่เล่าถึงพระพุทธรูปเลยก็กระไรอยู่ ดังนั้น ก่อนจะไปชมความงามของอารามแห่งนี้ ขออนุญาตเล่าถึงพระมหามัยมุนีสักหน่อย

พระพุทธรูปที่ชาวเมียนมานิยมเรียกว่า ‘พระมหามัยมุนี’ นี้ ตามตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 689 ในรัชกาลของพระเจ้าจันทสุริยะ ณ กรุงธัญญวดี เมืองหลวงของอาณาจักรยะไข่ ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมายังอาณาจักรยะไข่ ในครั้งนั้นพระเจ้าจันทสุริยะขอพระพุทธเจ้าสร้างรูปเคารพเพื่อประดิษฐานที่เมืองธัญญวดี ซึ่งพระองค์ประทานอนุญาตพร้อมกับประทานพระเกศาไว้ให้เป็นเครื่องบูชา ตำนานยังเล่าต่ออีกว่า รูปเคารพนี้สร้างขึ้นโดยพระอินทร์และพระวิศวกรรมให้มีลักษณะเหมือนกับพระพุทธเจ้าทุกประการ เมื่อสร้างเสร็จพระพุทธเจ้าประทานลมหายใจสู่รูปเคารพ ทำให้รูปเคารพนี้มีชีวิตและแสดงอาการลุกขึ้นถวายการต้อนรับพระพุทธเจ้า แต่พระองค์ตรัสห้ามไว้ ก่อนเสด็จกลับได้ประทานนามให้กับพระพุทธรูปองค์นี้ว่า ‘จันทสาร’

ก่อนจะไปต่อ ขออนุญาตพักสักครู่ ท่านผู้อ่านสังเกตเห็นความผิดปกติบางอย่างในตำนานนี้ไหมครับ ตำนานกล่าวว่า พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 689 นั่นหมายความว่าสร้างขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 689 ปี แล้วท่านจะมาประทานลมหายใจให้แก่พระพุทธรูปนี้ได้อย่างไร อีกประการหนึ่ง ในสมัยพุทธกาลไม่เคยปรากฏการสร้างพระพุทธรูปด้วยซ้ำ การสร้างพระพุทธรูปครั้งแรกเกิดขึ้นในอินเดียราวพุทธศตวรรษที่ 6

ตรงนี้หลายคนอาจจะนึกเถียงผมอยู่ในใจว่า ถ้าผมบอกว่าไม่มีการสร้างพระพุทธรูปในสมัยพุทธกาล แล้วพระพุทธรูปที่สร้างจากไม้แก่นจันทน์แดงที่พระเจ้าปเสนทิโกศลสร้างขึ้นมาล่ะ ตำนานพระแก่นจันทน์แดงนี้มีอยู่ในอินเดียจริงครับ แต่ก็ไม่เก่าไปถึงสมัยพุทธกาลเช่นกัน เพราะหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่พูดถึงเรื่องนี้คือบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนที่เดินทางไปยังอินเดียในราวพุทธศตวรรษที่ 10 เท่านั้น และหากการสร้างพระพุทธรูปเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลจริง เหตุใดในรัชกาลของพระเจ้าอโศกมหาราชจึงไม่มีการสร้างพระพุทธรูปแม้แต่องค์เดียว อันนี้ลองเก็บไปคิดกันนะครับ

มาต่อกันเรื่องพระมหามัยมุนี ส่วนแรกผมพูดถึงข้อมูลด้านตำนานไป ลองมาดูข้อมูลทางประวัติศาสตร์บ้าง หลักฐานเก่าแก่ที่สุดกล่าวถึงพระมหามัยมุนีอยู่ในพงศาวดารยะไข่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 ในฐานะพระพุทธรูปสำคัญที่สุดของอาณาจักร ที่ไม่ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะทรงย้ายเมืองหลวงไปเมืองอื่นๆ ก็ยังเสด็จมานมัสการและบูรณปฏิสังขรณ์อยู่เสมอ 

และด้วยความที่กษัตริย์ยะไข่อุปถัมภ์วัดแห่งนี้เสมอมา ทำให้วัดนี้มีทรัพย์สินมีค่ามากมาย จึงกลายเป็นเป้าหมายของการปล้นหลายครั้ง บางครั้งถึงกับปล้นชิงจากองค์พระพุทธรูปเลยก็มี มีถึงขั้นที่ยกเอาพระมหามัยมุนีไปเลยทีเดียว แต่ก็ไม่เคยมีครั้งใดที่ทำได้สำเร็จ 

จนกระทั่งพระเจ้าปดุงส่งกองทัพไปยึดอาณาจักรยะไข่ได้ใน พ.ศ. 2327 และอัญเชิญพระมหามัยมุนีไปยังเมืองอมรปุระ โดยแยกพระพุทธรูปออกเป็น 3 ส่วนแล้วนำขึ้นตะเฆ่ (พาหนะลากจูงที่รองรับด้วยท่อนซุง) ชักลากข้ามภูเขาก่อนจะลงเรือการะเวกมาตามแม่น้ำอิระวดีล่องมาจนถึงเมืองอมรปุระ ซึ่งการเคลื่อนย้ายครั้งนี้กินเวลากว่า 4 เดือน เมื่อมาถึง พระเจ้าปดุงได้เสด็จลงไปในแม่น้ำจนน้ำเสมอด้วยพระศอเพื่อถวายการต้อนรับด้วยพระองค์เองเลยทีเดียว

ทีนี้ พออัญเชิญไปแล้วชาวยะไข่ที่เคยกราบไหว้พระมหามัยมุนีมาอย่างยาวนานล่ะ พวกเขาจะกราบไหว้อะไร ปรากฏว่าได้มีการสถาปนาพระพุทธรูปทรงเครื่ององค์หนึ่งขึ้นมา ซึ่งหากดูเผินๆ มีลักษณะคล้ายพระมหามัยมุนี แถมยังมีตำนานเล่าว่าหล่อขึ้นจากสำริดที่เหลือจากการหล่อพระมหามัยมุนีด้วย ไม่เท่านั้น ยังเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า ‘พระมหามัยมุนี’ เช่นกัน 

แต่ถ้าลองดูในรายละเอียดจะพบว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีส่วนที่ต่างจากพระมหามัยมุนีอยู่หลายประการ จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อราว 90 ปีก่อนพร้อมกับการบูรณะพื้นที่โดยรอบ ซึ่งมีอายุไล่เลี่ยกับพระเจ้าพาราละแข่งที่วัดหัวเวียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนครับ 

อนึ่ง ผมยังไม่เคยไปยะไขเลยขอนำรูปจากอินเทอร์เน็ตมาให้ชมนะครับ

อีกเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระมหามัยมุนีที่จะไม่พูดไม่ได้ ก็คือการล้างพระพักตร์ครับ เนื่องจากการเป็น ‘พระพุทธรูปที่มีชีวิต’ ของพระพุทธรูปองค์นี้ ทำให้มีพิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนีจัดขึ้นในทุกๆ เช้า เสมือนว่าพระพุทธรูปองค์นี้ตื่นจากบรรทม พิธีนี้จะเริ่มในราวตี 4 ของทุกวัน โดยเจ้าอาวาสของวัดเป็นผู้ประกอบพิธี 

พิธีกรรมเริ่มจากวงมโหรีขับกล่อม นำแปรงสีฟันมาสีพระทนต์ นำน้ำมาล้างพระพักตร์ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำน้ำหอมทานาคามาเช็ดถูพระพักตร์ แล้วจึงชำระพักตร์ด้วยผ้าที่ศาสนิกชนนำมาถวาย และถวายการปรนนิบัติด้วยการนำพัดมาโบกถวาย 

หลังจากทำพิธีล้างพระพักตร์แล้วจะนำภัตตาหารมาถวายให้พระมหามัยมุนีฉันเป็นอันเสร็จพิธี กระทำเช่นนี้ทุกเช้า ส่วนศาสนิกที่เข้าร่วมในพิธีจะนั่งกันอยู่บริเวณด้านหน้า โดยพื้นที่ส่วนหน้าสุดเบื้องหน้าพระมหามัยมุนีจะเป็นของฆราวาสผู้ชาย ถัดออกไปจะเป็นของฆราวาสผู้หญิงครับ 

พระมหามัยมุนี พระพุทธรูปมีชีวิตหนึ่งเดียวในเมียนมาที่มีพิธีล้างพระพักตร์ แปรงพระทนต์ ทุกเช้า

สันนิษฐานกันว่าการล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนีนี้น่าจะได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูในอินเดีย เพราะรูปเคารพของเทพเจ้าต่างๆ ในศาสนาฮินดูจะได้รับการบูชาเสมือนมีชีวิตเช่นกัน ในกรณีของพระมหามัยมุนีนี้บ้างระบุว่าพิธีล้างพระพักตร์เพิ่งมีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2531 อย่างไรก็ตาม น่าจะมีพิธีกรรมปรนนิบัติถวายพระพุทธรูปองค์นี้อย่างพิเศษมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว แต่ไม่ทราบรายละเอียดว่ามีลำดับขั้นตอนเป็นอย่างไร

ทีนี้ หลังจากคุยเรื่องพระ เรื่องวัด มานาน ได้เวลาที่เราจะไปชมวัดกันจริงๆ สักทีแล้วครับ

พระมหามัยมุนี พระพุทธรูปมีชีวิตหนึ่งเดียวในเมียนมาที่มีพิธีล้างพระพักตร์ แปรงพระทนต์ ทุกเช้า

วัดแห่งนี้มีวิหารพระมหามัยมุนีเป็นประธานของวัด ตัวอาคารมีลักษณะผสมผสานระหว่างศิลปะพม่าและศิลปะตะวันตก เนื่องจากอาคารหลังปัจจุบันเป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2428 ออกแบบโดย เฮนรี่ ฮอยน์-ฟ็อกซ์ (Henry Hoyne-Fox) สถาปนิกชาวอังกฤษ 

ภายในอาคารประดิษฐานพระมหามัยมุนี พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ซึ่งแม้ตามตำนานจะกล่าวว่าพระมหามัยมุนีสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 689 แต่จากรูปแบบของพระมหามัยมุนี สันนิษฐานกันว่าน่าจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 10 – 11 ซึ่งเทียบได้กับรูปพระโพธิสัตว์ที่พบในอาณาจักรยะไข่ ณ สถานที่ซึ่งเคยประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้ แต่พระพักตร์ของพระองค์น่าจะเกิดจากการบูรณะในสมัยต่อมาโดยอิงรูปแบบดั้งเดิมเอาไว้

องค์พระมหามัยมุนีมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องสวมมงกุฎยอดแหลม มีสังวาลย์รูปกากบาทประดับทับทรวงตรงกลาง นอกจากนี้ ยังประดับด้วยวัตถุมีค่า ไม่ว่าจะเป็นไข่มุก เพชร มรกต ทับทิม อย่างมากมายทั้งบนมงกุฎและพระวรกาย ซึ่งเครื่องทรงทั้งหมดถอดออกได้เช่นเดียวกับพระแก้วมรกต โดยเครื่องทรงชุดปัจจุบันน่าจะเป็นของที่พระเจ้าสีป่อถวายเมื่อ พ.ศ. 2427 

พระมหามัยมุนี พระพุทธรูปมีชีวิตหนึ่งเดียวในเมียนมาที่มีพิธีล้างพระพักตร์ แปรงพระทนต์ ทุกเช้า

รอบๆ วิหารพระมหามัยมุนียังมีอาคารที่น่าสนใจอีกนะครับ ไม่ว่าจะเป็นอาคารจัดแสดงภาพวาดสีน้ำมันบอกเล่าประวัติของพระมหามัยมุนีตามตำนาน นับแต่เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดกษัตริย์ยะไข่ แต่ที่ไม่ควรพลาดคงจะเป็นอาคารที่เก็บรักษารูปหล่อสำริด ซึ่งแต่เดิมมีอยู่กว่า 30 รูปแต่ปัจจุบันเหลือเพียงช้างเอราวัณ 1 รูป สิงห์ 3 รูป และเทวรูป 2 รูปเท่านั้น รูปหล่อสำริดนี้ไม่ได้สร้างขึ้นในเมียนมานะครับ แต่สร้างขึ้นที่อาณาจักรขอมในศิลปะแบบบายน (ตรงกับรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7) ครับผม

วัดมหามัยมุนี

อ้าว แล้วรูปหล่อศิลปะขอมมาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร มา ผมจะเล่าให้ฟัง

เมื่อ พ.ศ. 1966 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยาแห่งกรุงศรีอยุธยาบุกตีเมืองนครธมได้สำเร็จ ในครั้งนั้นรูปหล่อสำริดเหล่านี้ถูกขนย้ายกลับมายังกรุงศรีอยุธยา ต่อมาใน พ.ศ. 2112 เมื่อพระเจ้าบุเรงนองยึดกรุงศรีอยุธยาได้ พระองค์ทรงมีรับสั่งให้ขนย้ายรูปหล่อเหล่านี้มายังเมืองหงสาวดี (หรือเมืองพะโคในปัจจุบัน) 

จนเมื่อกรุงหงสาวดีถูกกองทัพยะไข่และตองอูร่วมกันโจมตีจนแตกพ่าย รูปหล่อทั้งหมดจึงถูกเคลื่อนย้ายไปวัดมหามัยมุนี เมืองยะไข่ ก่อนที่พระเจ้าปดุงจะขนย้ายพระมหามัยมุนีและรูปหล่อสำริดทั้งหมดลงมายังเมืองอมรปุระหลังจากที่พระองค์ตีเมืองยะไข่สำเร็จ เรียกว่าย้ายไปย้ายมาหลายหนเลยทีเดียว แถมยังมีการซ่อมแซมโดยช่างเมียนมาอีกด้วย ลองสังเกตดูนะครับว่าสิงห์สำริดที่แม้ร่างจะเป็นศิลปะขอม แต่หัวกลับเป็นศิลปะพม่าครับ

วัดมหามัยมุนี

แถมให้อีกสักเรื่อง ประติมากรรมสำริดทั้งหมดนี้แต่เดิมตั้งเรียงกันในอาคารและเข้าไปสัมผัสได้ ชาวเมียนมาเชื่อว่าหากเจ็บป่วยที่ใดให้ลูบไปที่บริเวณนั้น จะช่วยทำให้อาการเจ็บป่วยทุเลาลง แต่ปัจจุบันมีทั้งแนวกั้น ทั้งยกขึ้นสูง ทำให้ไม่สามารถเข้าไปสัมผัสได้เหมือนเดิมอีกแล้ว

วัดมหามัยมุนี

อีกจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักมองข้ามไป นั่นก็คือทางเดินเข้าไปยังวิหารพระมหามัยมุนี ผมเชื่อว่าพอพูดถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะเถียงผมในใจ “มองข้ามที่ไหน ไม่ว่าใครก็ต้องเดินผ่านทางเดินเหล่านี้สิ” แน่นอนครับ ทุกคนที่จะเข้าไปนมัสการพระมัยมุนีจะต้องผ่านทางเดินนี้แน่ๆ รวมถึงหลายท่านอาจจะเคยแวะซื้อของฝากจากบริเวณนี้ด้วย 

แต่เคยลองสังเกตไหมครับว่าทางเดินเข้าไปยังพระมหามัยมุนีบางด้านมีลักษณะไม่เหมือนกัน ใช่แล้วครับ ทางเดินที่มีอยู่ทั้งหมด 4 ทางนั้น ครึ่งหนึ่งเป็นทางเดินที่บูรณะขึ้นใหม่ แต่อีกครึ่งหนึ่งยังเป็นทางเดินโบราณ และในส่วนทางเดินโบราณนี่แหละครับที่มีอัญมณีอีกชิ้นของวัดแห่งนี้ซ่อนอยู่ นั่นก็คือภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณสมัยราชวงศ์คองบอง จิตรกรรมเหล่านี้เขียนขึ้นราว พ.ศ. 2435 มีเรื่องราวทั้งพุทธประวัติ เทพนพเคราะห์ กลุ่มดาว รวมถึงสถานที่สำคัญหลายแห่งเช่นรอยพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์ของเมียนมาอย่างชเวเสตตอก็ถูกเขียนไว้บริเวณนี้ 

แต่เหตุที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นภาพชุดนี้ ก็เพราะว่าทางเดินที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ใช้เข้าไปนั้นเป็นทางเดินใหม่ซึ่งไม่มีภาพเหล่านี้ ใครอยากชม ภาพนี้จะอยู่บริเวณทางเดินฝั่งทิศใต้และทิศตะวันตกครับ ลองสังเกตทางเดินที่ดูเก่าๆ หน่อย

วัดมหามัยมุนี
วัดมหามัยมุนี
วัดมหามัยมุนี

เห็นไหมครับว่าวัดพระมหามัยมุนีแห่งนี้มีอะไรมากกว่าแค่พิธีล้างพระพักตร์และพระมหามัยมุนี ใครมีโอกาสไปชม ไม่ว่าจะไปตอนเช้าเพื่อดูพิธีหรือตอนไหน ลองสละเวลาสักนิด เดินชมรอบๆ สักหน่อย รับประกันว่าท่านจะไม่ผิดหวังแน่นอน

ป.ล. หากต้องการถ่ายภาพนิ่งหรือถ่ายวิดีโอที่วัดแห่งนี้จะต้องเสียเงินนะครับ โดยเขาจะให้สติกเกอร์มาติดที่หน้าอกครับผม ถ้าใครอยากจะถ่ายแนะนำให้จ่ายเงินแล้วเอาสติกเกอร์มาติดนะครับ อย่าแอบถ่ายเลย คิดซะว่าเงินส่วนนี้ก็จะนำไปบำรุงวัดครับ และถ้าอยากจะขึ้นไปปิดทองพระมหามัยมุนีก็ซื้อทองคำเปลวได้ที่วัดครับ แต่เฉพาะผู้ชายเท่านั้นนะครับที่จะเข้าไปปิดทองได้


เกร็ดแถมท้าย

  1. ชื่อ ‘พระมหามัยมุนี’ ของพระพุทธรูปองค์นี้มีความหมายว่า ‘ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่’ นอกจากชื่อนี้พระพุทธรูปองค์นี้ยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น พยาจี ซึ่งแปลว่า พระใหญ่ ยาไคน์เซดี ซึ่งแปลว่า พระ (เมือง) ยะไข่ หรือ อาระกันเซดี ซึ่งแปลว่า พระ (เมือง) อาระกัน หลายคนอาจจะงงว่าทำไมถึงเรียกพระพุทธรูปว่า เซดี หรือ เจดีย์ นั่นก็เพราะว่า คำคำนี้ในภาษาบาลีมีความหมายว่า สิ่งที่มีไว้ระลึกถึง ดังนั้น จึงกินความรวมถึงวัด พระพุทธรูป เจดีย์ พระธรรม และสิ่งอื่นๆ ที่มีไว้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเอาไว้ในคราวเดียวเลยครับ 
  2. ในประเทศไทยมีพระมหามัยมุนีจำลองอยู่หลายองค์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน พระพุทธมหามัยมุนี วัดไทยวัฒนาราม จังหวัดตาก หรือพระพุทธสัพพัญญูประสิทธิมงคล วัดทุ่งโป่ง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ดังนั้น หากใครยังไม่อยากเดินทางไปถึงเมียนมาก็เดินทางไปนมัสการพระพุทธรูปเหล่านี้ได้เช่นเดียวกัน
  3. ส่วนใครที่สนใจจะเดินทางไปนมัสการพระพุทธรูปองค์นี้ เลือกเดินทางไปกับบริษัททัวร์ได้ ซึ่งมีหลายบริษัทที่จัดพาทุกท่านไปชมพิธีล้างพระพักตร์ มีทั้งทัวร์เฉพาะมัณฑะเลย์-พุกาม หรือแม้แต่ทัวร์ 5 มหาบูชาสถาน หรือถ้าท่านจะเดินทางไปด้วยตัวเอง ไปได้ด้วยการเดินและติดต่อรถ ไม่ว่าจะเป็นรถสามล้อหรือรถแท็กซี่ในตัวเมืองให้ไปส่งได้ โดยนัดหมายกันล่วงหน้าสักเล็กน้อย ถ้าหากท่านต้องการอยู่ในแถวหน้าๆ แนะนำให้ไปเช้าสักหน่อย ส่วนดอกไม้สำหรับบูชาจะเตรียมมาเองหรือไปหาซื้อที่หน้าวัดก็ทำได้เช่นกันครับ
  4. ใครยังไม่เคยไปวัดมหามัยมุนีแต่อยากเห็นขั้นตอนพิธีการการล้างพระพักตร์สามารถดูได้ใน YouTube เลยครับ มีเยอะแยะเลย แต่ถ้าจะแนะนำขอแนะนำ 2 วิดีโอครับ มีรายการ หนังพาไป ตอนสายโลหิต และรายการ เปิดตำนานกับเผ่าทอง ทองเจือ ตอนมัณฑะเลย์ ครับผม 

หรือหากใครสนใจอ่านเรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระมหามัยมุนี และ 5 มหาบูชาสถาน ขอแนะนำหนังสือชื่อ พระมหามัยมุนีและเจดีย์สำคัญในพม่า เขียนโดย สุระ พิริยะสงวนพงศ์ และหนังสือ Sacred Sites in Burma ของ Donald M. Stadtner ครับ เพราะผมเองก็ใช้หนังสือทั้งสองเล่มนี้เป็นหนังสืออ้างอิงสำหรับการเขียนบทความฉบับนี้ครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ