ภาพยนตร์ Steve Jobs (ค.ศ. 2015) ถ่ายทำโดยใช้ฉากจริงที่โรงมหรสพ (Opera House) ในนครซานฟรานซิสโก โดยมีฉากการถกเถียงระหว่างตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรชื่อดังอย่าง Steve Wozniak หรือ Andy Hartsfield ในโรงมหรสพ

ในชีวิตจริง แม้แต่การเปิดตัวคอมพิวเตอร์ที่มีชื่อว่า NeXT ในนครซานฟรานซิสโก สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ก็ยังได้เชิญนักไวโอลินมาเล่น Bach Concerto in A Minor คู่กับคอมพิวเตอร์ใหม่ของเขา ในโรงมหรสพอีกด้วย โรงมหรสพในสหรัฐอเมริกามักถูกมองว่าเป็นจุดสูงสุดของศิลปะและเทคโนโลยีในยุคนั้นๆ และเป็นสัญลักษณ์สำคัญด้านวัฒนธรรมของพวกเขา 

“The Best Engineers are Artists.” เป็นคำพูดที่เราจะได้ยินอยู่เสมอในสหรัฐอมริกา

โรงลิเกป้อมมหากาฬ : อดีต Bangkok Opera House แบบท้องถิ่นที่เปิดเวทีดีเบตให้สังคมไทย
ภาพ : ศานนท์ หวังสร้างบุญ
โรงลิเกป้อมมหากาฬ : อดีต Bangkok Opera House แบบท้องถิ่นที่เปิดเวทีดีเบตให้สังคมไทย
ภาพ : ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ร่วมงานลิเกในป้อมมหากาฬ ซึ่งถูกจัดแปลงร่างให้เป็นโรงละครกลางแจ้ง และเป็นปรากฏการณ์แปลกประหลาดที่เกิดขึ้นคืนเดียวเท่านั้น ในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2559 มีการจัดการพูดคุยโต้วาทีและเล่นละครล้อการเมือง ตั้งคำถามท้าทายอำนาจในรูปแบบการการเล่นลิเก มีการปิ้งย่างอาหารขาย (ควันโขมง) พร้อมเครื่องดื่มก่อนและหลังลิเก รวมทั้งยังพูดคุยถกเถียงในประเด็นเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ ในโลกออนไลน์อย่างถึงพริกถึงขิง

ในเวลานั้น ผมเองก็ไม่เคยรู้ว่าจริงๆ แล้วป้อมมหากาฬเคยเป็นพื้นที่ซุ้มลิเกโบราณมากก่อน ผมเพียงแต่ตะลึงกับบรรยากาศและเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดผ่านรูปแบบลิเก และบรรยากาศการแชร์ไอเดียก่อนและหลังรายการระหว่างผู้คนกันเอง

โรงลิเกป้อมมหากาฬ : อดีต Bangkok Opera House แบบท้องถิ่นที่เปิดเวทีดีเบตให้สังคมไทย
บรรยากาศลิเกป้อมมหากาฬ เดือนกันยายน ค.ศ. 2016

“บรรยากาศลิเกต้องเริ่มเล่นตอนค่ำ” 

หัวหน้าซุ้มลิเกกล่าวต้อนรับ และบอกเล่าว่าการเล่นลิเก มีรากฐานมากจากแขกมาเลและแขกเปอร์เซีย ก่อนจะเริ่มบทพูด จะมีการออกแขก หรือการเล่นดนตรีก่อนตัดเข้าฉากลิเก

โรงลิเกป้อมมหากาฬ : อดีต Bangkok Opera House แบบท้องถิ่นที่เปิดเวทีดีเบตให้สังคมไทย
โรงลิเกป้อมมหากาฬ : อดีต Bangkok Opera House แบบท้องถิ่นที่เปิดเวทีดีเบตให้สังคมไทย
เรือแสนแสบเทียบท่าที่โรงลิเก Opera House ป้อมมหากาฬ
ภาพ : ศานนท์ หวังสร้างบุญ และ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์

เรื่องหลายอย่างที่พูดไม่ได้ในสังคมโบราณ ก็พูดได้ในบริบทของการเล่นลิเก ไม่ว่าเรื่องเซ็กส์ (มีรหัสลับที่คนดูจะรู้ เช่นการเอาดอกไม้ ‘เสียบหู’ ฯลฯ) เรื่องการล้อเลียนเจ้าหรือขุนนางชั้นสูง โดยใช้เรื่องราวเก่าๆ จากเรื่องเล่าโบราณอย่างเช่น พระรถเสน หรือ แม่นาคพระโขนง มาใช้เป็นโครงเรื่อง แต่จะมีการขับร้องสดๆ โดยไม่ได้เตรียมการมาก่อน โดยนำเรื่องสังคมการเมืองปัจจุบันเข้ามาเกี่ยวโยงด้วย

ในคืนวันที่ 25 กันยายน ตัวละครที่ปรึกษาเจ้าแม่ในเรื่อง พระรถเสน เสนอให้เธอ ‘อุ้มฆ่า’ พระรถเสน โดยใช้วิธีถูกทำให้ตาย หรือทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งได้เรียกเสียงตะลึงจากผู้ชมในลักษณะ Dark Comedy

อมาตยา เซน (Amartya Sen) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชาวอินเดียเคยนำเสนอว่า วัฒนธรรมการถกเถียงเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในหนังสือ The Argumentative Indian เขามองว่าการถกเถียงที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมของชาวอินเดีย เป็นแรงผลักสำคัญให้เกิดนักคิดสำคัญทางด้านปรัชญา การค้า และคณิตศาสตร์ในอดีต อีกทั้งในปัจจุบันก็ยังเป็นตัวสร้างนักคิดทางด้านทฤษฎีคอมพิวเตอร์ระดับโลกจำนวนมาก 

โรงลิเกป้อมมหากาฬ : อดีต Bangkok Opera House แบบท้องถิ่นที่เปิดเวทีดีเบตให้สังคมไทย

นักเขียน มัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwell) มองว่าแม้แต่เกาหลีใต้ ก็ยังต้องนำวัฒนธรรมการถกเถียง มาใช้กับสายการบินของพวกเขา

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว คนเกาหลีพบว่าเครื่องบินตกบ่อยมาก และดูจากทักษะของนักบินแล้ว ก็ไม่น่าเป็นเพราะพวกเขาไร้ความสามารถในการบิน เพียงแต่ว่าเครื่องบิน Boeing นั้นออกแบบมาให้มีผู้ช่วยกัปตัน ทำหน้าที่โต้แย้งกัปตันในทุกกรณีที่จำเป็น กลไกของการถกเถียงหรือดีเบตนั้นถูกออกแบบมาพร้อมๆ กับเครื่องยนต์กลไกอื่นๆ ในเครื่องบิน Boeing ซึ่งออกแบบภายใต้วัฒนธรรมของสหรัฐอเมริกา

แต่ในวัฒนธรรมของเกาหลี การเถียงกัปตันเป็นเรื่องมิควรทำ และผู้ช่วยกัปตันก็ไม่นิยมทำกัน ต่อมาอีกหลายสิบปี พวกเขาตั้งคณะกรรมการสืบสวนจนพบว่าเครื่องบินที่ตกนั้น ส่วนใหญ่แล้วผู้ช่วยกัปตันมักรู้ข้อมูลบางอย่างล่วงหน้า (ที่กัปตันไม่รู้) แต่ไม่กล้าแสดงความเห็นคัดค้านกัปตันอย่างตรงไปตรงมา ทำให้เวลาฉุกเฉิน กัปตันและผู้ช่วยร่วมมือกันไม่ได้อย่างเต็มที่ ทำให้กลไกที่ Boeing ออกแบบไว้พังทลาย

โรงลิเกป้อมมหากาฬ : อดีต Bangkok Opera House แบบท้องถิ่นที่เปิดเวทีดีเบตให้สังคมไทย

3 ปีที่แล้ว ทีมฟุตบอลเด็กไทยเข้าไปติดอยู่ในถ้ำหลวงเชียงราย หาทางออกไม่ได้ ในขณะที่น้ำกำลังขึ้นมาปิดปากถ้ำ 

ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายคิดนอกกรอบได้อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมไทย เขาเปิดเวทีขอความช่วยเหลือในการระดมความคิดจากทั่วโลก เขาสามารถเปิดเวทีดีเบตระดับโลกขึ้นมาได้อย่างเหลือเชื่อ เพื่อระดมสมองค้นหานวัตกรรมช่วยชีวิตเด็กจากทั่วทุกมุมโลก มีนวัตกรรมเรือดำน้ำจาก อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ส่งเข้ามาร่วมด้วย รวมทั้งทีมดำน้ำของอังกฤษ

โรงลิเกอย่างที่เคยมีที่ป้อมมหากาฬ จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ กทม. ควรสนับสนุนให้มี ไม่ใช่เพื่อเพื่อโปรโมตการท่องเที่ยว แต่เพื่อสร้างวัฒนธรรมการตั้งคำถาม ระดมความคิดต่าง และการปราศรัย

ในโลกออนไลน์ ตัว Algorithm ของ Facebook มักโชว์ให้เราเห็นแต่คนที่เห็นด้วยกับเรา หรือคนที่เราเคยไปกด Like ทำให้แนวคิดที่เห็นต่างและข้อโต้แย้งที่น่าสนใจตกหล่นไปจาก Newsfeed ของเราได้ พื้นที่จริงในเมืองอย่างโรงลิเกที่ป้อมมหากาฬ ซึ่งเกิดขึ้นมาเพียงเสี้ยวเวลาเล็กๆ ในเราเห็นในวันนั้น จึงน่าจะเป็นจุดชี้นำให้ผู้ว่า กทม. ในอนาคตทดลองทำ

น่าเสียดายว่าหลังจากวันนั้นไม่นาน ชุมชนลิเกและบ้านไม้ทั้งหมดในป้อมมหากาฬก็ถูกรื้อทิ้งทั้งหมด กลายเป็นสนามหญ้าที่โล่งเตียน สะอาด ไร้ผู้คนและความคิด

โรงลิเกป้อมมหากาฬ : อดีต Bangkok Opera House แบบท้องถิ่นที่เปิดเวทีดีเบตให้สังคมไทย
โรงลิเกป้อมมหากาฬ : อดีต Bangkok Opera House แบบท้องถิ่นที่เปิดเวทีดีเบตให้สังคมไทย
โรงลิเกป้อมมหากาฬ : อดีต Bangkok Opera House แบบท้องถิ่นที่เปิดเวทีดีเบตให้สังคมไทย
โรงลิเกป้อมมหากาฬ : อดีต Bangkok Opera House แบบท้องถิ่นที่เปิดเวทีดีเบตให้สังคมไทย
Shakespeare Globe Theater ในกรุง London ถูกรื้อแล้วสร้างใหม่กว่า 3 ครั้ง ตั้งแต่ ค.ศ. 1599 มาจนถึงการสร้างใหม่ครั้งสุดท้าย ค.ศ. 1997 โดยชุมชนการละครของอังกฤษ หลังเปลี่ยนมือทางการเมือง
ภาพ : shakespearesglobe.com

โชคดีที่ชุมชนที่จัดลิเกในป้อมมหากาฬนี้ยังมีตัวตนอยู่จริงในโลกออนไลน์ (ในปัจจุบัน) และพร้อมเป็นที่ปรึกษาได้ หากในอนาคตจะมีการสร้างโรงลิเกและชุมชนบ้านไม้ที่ป้อมมหากาฬขึ้นมาใหม่จริงๆ (ในรัฐบาลอนาคต) และโชคดีที่มหาวิทยาลัยศิลปากรได้รวบรวมแบบบ้านไม้ทั้งหมด และเทคนิคการก่อสร้างในชุมชนเอาไว้ทุกหลัง

ผมมองว่าศิลปินในชุมชนป้อมมหากาฬหลายท่านอาจไม่อยากกลับมาอยู่ที่ป้อมอีกครั้ง แต่ก็ไม่แน่ครับ ถ้าเราสามารถสร้างป้อมกลับมาเป็นโรงมหรสพลิเกที่มีชื่อเสียงของโลก มีการเล่นลิเกล้อการเมืองอเมริกา ล้อการเมืองจีน ผมมองว่าเราไม่เพียงแต่สร้างวัฒนธรรมการดีเบตขึ้นมาในสังคมไทย แต่ยังดึงต่างชาติเข้ามาร่วมวงดีเบต ระดมความคิดเรื่องต่างๆ กับเราได้อีกด้วย 

แม้ว่าปรากฏการณ์ ‘โรงลิเก Opera House‘ ที่เกิดขึ้น ณ ป้อมมหากาฬในคืนวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2559 จะเกิดขึ้นเพียง One Night Stand ก็ตาม แต่มันก็ทำให้เราพอจะเห็นภาพร่างการพัฒนาเมืองในอนาคตได้เหมือนกัน

Writer & Photographer

Avatar

ยรรยง บุญ-หลง

จบการศึกษาจาก University of California, Berkeley เป็นสมาชิกสมาคมสถาปนิกอเมริกัน ปัจจุบันทำงานเป็นสถาปนิกออกแบบโรงเรียนสาธารณะในย่าน Silicon Valley