เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้เดินทางไปยังประเทศพม่าเพื่อสำรวจงานศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวิทยานิพนธ์ของตัวเอง นอกเหนือจากนั้นผมก็ได้แวะไปเที่ยวยังวัดวาอารามอีกหลายแห่งที่ไม่ได้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวมากนัก จากจำนวนวัดที่ไปทั้งหมดหลายสิบวัด มีอยู่ 2 วัดซึ่งปรากฏร่องรอยของชาวกรุงเก่าของเราแต่ก่อนที่ไปฝากฝีมือเอาไว้ในประเทศพม่า ก็เลยอยากจะเอามาเล่าสู่กันฟังและบอกต่อ โดยเราจะเริ่มจากวัดที่เป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยมากกว่าก่อนกับ วัดมหาเตงดอจี

ถ้าเราเอ่ยชื่อวัดมหาเตงดอจี (Maha Thein Taw Gyi) เมื่อหลายสิบปีก่อน รับประกันได้เลยว่าไม่มีคนไทยคนไหนรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อ แต่ว่านักวิชาการชาวพม่าน่าจะรู้จักที่นี่อยู่แล้ว จนเมื่อ พ.ศ. 2545 กลุ่มนักวิชาการไทยได้ไปสำรวจที่วัดแห่งนี้และพบหลักฐานของงานช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาที่นี่ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการตามหาหลักฐานงานช่างอยุธยาในเมืองพม่า แต่สำหรับคนนอกวงวิชาการ วัดแห่งนี้ก็ยังถือว่าแทบไม่เป็นที่รู้จักอยู่ดี

จนเมื่อไม่เกิน 10 ปีที่ผ่านมามีการพูดถึงวัดแห่งนี้มากขึ้นผ่านสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ ทั้งสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการพูดถึงสถูปที่เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรที่ได้รับการบูรณะเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ทำให้วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในหมู่ประชาชนทั่วไป ทำให้ทัวร์หลายคณะที่เดินทางไปยังเมืองมัณฑะเลย์เพิ่มวัดแห่งนี้เข้าไปอยู่ในโปรแกรมด้วย

วัดมหาเตงดอจีตั้งอยู่ที่เมืองสะกาย (Sagaing อ่านว่า สะกาย) ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับเมืองมัณฑะเลย์ อารมณ์เหมือนกรุงเทพฯ-ธนบุรี ไม่ปรากฏว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นโดยใครและเมื่อใด แต่ตัววัดตั้งอยู่ในหมู่บ้านที่ชาวบ้านเล่าว่าเป็นชุมชนของพวกยวนเตง อ๊ะๆ ยวนนี้ไม่ใช่ญวนนะครับ ยวนหรือโยนกคือชาวล้านนา ญวนคือชาวเวียดนาม สะกดกันคนละตัวนะเออ

วัดมหาเต็งดอจี, พม่า

ปัญหานี้จะสามารถคลี่คลายได้ไม่ใช่ด้วยฝีมือของโคนัน แต่เป็นฝีมือของนักประวัติศาสตร์ศิลปะนั่นเอง จากรูปแบบของตัววิหารที่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ส่วนฐานแอ่นท้องสำเภาเล็กน้อย หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นนี้สามารถกำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 24 ซึ่งตรงกับราชวงศ์คองบอง ซึ่งราชวงศ์นี้เป็นราชวงศ์สุดท้ายของประเทศพม่า

แม้โดยภาพรวมอาคารหลังนี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นศิลปะพม่าแบบ 100% ทว่าการแอ่นท้องสำเภานี้ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของงานช่างสมัยอยุธยาตอนปลายที่ช่างพม่าไม่รู้จัก นี่จึงถือเป็นร่องรอยแรกของฝีมือช่างอยุธยาที่อาคารหลังนี้

พอเข้าไปด้านในเราจะเห็นภาพรวมของภายในที่เป็นโทนสีขาว ผนังด้านล่างตกแต่งด้วยกระเบื้อง พื้นปูพรมสีแดง ที่ด้านในสุดมีพระพุทธรูป 3 องค์ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีแค่องค์เดียวเท่านั้น ซึ่งพระประธานเป็นพระพุทธรูปศิลปะพม่า พอแหงนขึ้นไปบนเพดานก็เจอเพดานโค้งที่เต็มไปด้วยดาวเพดานซึ่งเป็นลวดลายที่นิยมอยู่ในศิลปะพม่าเช่นกัน

วัดมหาเต็งดอจี, พม่า

แล้วไหนล่ะ งานช่างแบบอยุธยาที่ผมโม้ให้ฟังตอนแรก

จุดแรกคือลวดลายกระหนกที่อยู่เหนือพระพุทธรูปประธานขึ้นไป เราจะเห็นลายเครือเถาช่อหางโตก้านขดเส้นเพรียวบาง ปลายกระหนกสะบัดพลิ้ว ลวดลายแบบนี้เป็นลายแบบหนึ่งที่นิยมอยู่ในศิลปะอยุธยาตอนปลาย ลองเปรียบกับลวดลายบนหน้าบันวัดไผ่ล้อม วัดร้างในจังหวัดเพชรบุรีนี้ดูสิครับ แม้จะต่างเทคนิคกัน ที่หนึ่งเป็นจิตรกรรม อีกที่หนึ่งเป็นปูนปั้น แต่เห็นไหมครับว่าคล้ายกันขนาดไหน

วัดมหาเต็งดอจี, พม่า วัดมหาเต็งดอจี, พม่า

แต่เอ๊ะ ช่อหางโต หางโตนี่มันคือหางอะไร คำตอบก็คือ หางสิงโตนั่นเอง ลองสังเกตสิครับจะเห็นว่าลวดลายนี้มีลักษณะคล้ายกับหางของสิงโตอยู่เหมือนกันนะครับ

จุดที่สอง ให้ยืนหันหลังให้พระพุทธรูปประธานแล้วมองแหงนขึ้นไปในตำแหน่งเดียวกับลายช่อหางโต เราจะพบกับบุษบก 9 ยอดประดิษฐานพระพุทธรูปขนาบสองข้างด้วยเครื่องสูงมากมาย เช่น ฉัตร หรือ ตุง บุษบก 9 ยอดถือเป็นอาคารที่มีฐานานุศักดิ์สูงที่สุดในงานสถาปัตยกรรมไทยประเพณี พระที่นั่งสรรเพชญปราสาทแห่งพระราชวังหลวงอยุธยา พระที่นั่งที่ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญของราชสำนักและเป็นที่รับแขกบ้านแขกเมืองของพระมหากษัตริย์ครั้งกรุงศรีอยุธยาก็เคยมียอด 9 ยอดเช่นเดียวกัน

วัดมหาเต็งดอจี, พม่า

อีกทั้งรูปลักษณะของยอดบุษบกนี้ก็แตกต่างจากปยาทาด ปราสาทในศิลปะพม่าอย่างชัดเจน เทียบกับยอดปราสาทของพระราชวังมัณฑะเลย์ดูสิครับ แม้จะเป็นของที่สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดใน พ.ศ. 2533 แต่ก็สร้างขึ้นตามแผนผังและแบบจำลองที่อังกฤษได้ทำเอาไว้ ดังนั้น แม้จะไม่ประณีตเท่า แต่ยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมพม่าเอาไว้ทุกประการ

วัดมหาเต็งดอจี, พม่า

ยังไม่รวมกรอบที่ล้อมรอบบุษบกองค์นี้ที่เป็นลายเส้นสินเทา เส้นหยักฟันปลาที่ใช้ในการแบ่งภาพที่นิยมอยู่ในศิลปะอยุธยาตอนปลาย แตกต่างจากศิลปะพม่าที่นิยมใช้เส้นโค้งในการแบ่งภาพ

วัดมหาเต็งดอจี, พม่า

ทว่าในภาพนี้ก็ยังมีการแทรกลักษณะของศิลปะพม่าเอาไว้อยู่บ้าง เช่น ฉัตร จะสังเกตว่ามีฉัตรอยู่ 2 แบบ คือฉัตรที่เป็นร่มชั้นเดียวกับฉัตรที่เป็นร่มซ้อนชั้น ฉัตรแบบชั้นเดียวเป็นลักษณะของฉัตรแบบพม่า ในขณะที่ฉัตรซ้อนชั้นเป็นฉัตรแบบไทย รวมไปถึงพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในบุษบก ถ้าใช้พลังซูมของกล้องส่องทางไกลหรือกล้องถ่ายรูปมองเข้าไปจะเห็นว่า พระพุทธรูปองค์นี้นั่งขัดสมาธิเพชร (อ่านว่า ขัด – สะ – หมาด เพ็ด) ท่านั่งที่จะเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้างซึ่งนิยมอยู่ในศิลปะพม่าและศิลปะล้านนา แต่ไม่ใช่ศิลปะอยุธยาที่นิยมนั่งขัดสมาธิราบ ซึ่งจะเห็นฝ่าพระบาทแค่ข้างเดียว ไม่เชื่อลองเทียบกับภาพพระอดีตพุทธเจ้าจากวัดช่องนนทรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหลักฐานจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าที่สุดในกรุงเทพมหานครได้เลยครับว่าท่านั่งแตกต่างกันอยู่

วัดมหาเต็งดอจี, พม่า วัดมหาเต็งดอจี, พม่า

และจุดที่สาม ให้ยืนแล้วหันไปฝั่งไหนก็ได้ จะพบว่าที่ผนังทั้งสองฝั่งมีการตกแต่งด้วยภาพพระอดีตพุทธเจ้าจำนวนมากเรียงอยู่ในแถวแนวนอน (ซึ่งภาพบริเวณฝั่งซ้ายมือของพระประธานจะเหลือชัดเจนมากกว่าอีกฝั่งหนึ่ง) พระอดีตพุทธเจ้าเหล่านี้คือพระพุทธเจ้าที่ได้เคยตรัสรู้มาแล้วในอดีตตามความเชื่อที่ว่าก่อนหน้าที่พระพุทธเจ้าศากยมุนีจะตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เคยมีพระพุทธเจ้าตรัสรู้มาก่อนแล้วมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งการเขียนจิตรกรรมฝาผนังเช่นนี้เป็นที่นิยมทั้งในประเทศไทยและประเทศพม่า

วัดมหาเต็งดอจี, พม่า

แต่ลองสังเกตให้ดีจะเห็นว่ารอบพระเศียรของพระอดีตพุทธเจ้าแต่ละพระองค์จะมีรัศมีเปลวไฟอยู่ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ไม่พบในจิตรกรรมพม่าที่นิยมเขียนเป็นรัศมีล้อมรอบพระอดีตพุทธเจ้าทั้งองค์ ไม่ใช่แค่พระเศียร แต่พบได้ทั่วไปในศิลปะอยุธยาตอนปลาย เช่น วัดช่องนนทรี กรุงเทพมหานคร

วัดมหาเต็งดอจี, พม่า วัดมหาเต็งดอจี, พม่า

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าภาพพระอดีตพุทธเจ้านี้จะเป็นงานช่างแบบไทยแท้ 100% เพราะถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าระหว่างพระอดีตพุทธเจ้าแต่ละพระองค์จะมีฉัตรหรือร่มสีขาวคั่นกลาง ซึ่งการนำฉัตรมาคั่นระหว่างกลางนี้เป็นลักษณะที่พบได้ในศิลปะพม่า ดังเช่นตัวอย่างที่จิตรกรรมฝาผนังในถ้ำติโลกคุรุ ซึ่งเป็นจิตรกรรมฝาผนังสมัยนยองยาน (อ่านว่า ยอง – ยาน พยายามควบเสียง นย ด้วย) ราชวงศ์ก่อนหน้าราชวงศ์คองบอง ต่างจากจิตรกรรมสมัยอยุธยาอย่างชัดเจน

วัดมหาเต็งดอจี, พม่า

นี่จึงถือเป็นหลักฐานสำคัญ ที่แม้จะมีการผสมผสานศิลปะพม่าเข้าไปแต่ก็ยังเห็นร่องรอยของงานช่างครั้งกรุงเก่าอย่างชัดเจน สอดคล้องกับหลักฐานที่ประวัติศาสตร์ที่กล่าวว่ามีการกวาดต้อนผู้คนจากกรุงเก่ามายังพม่า ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ช่างเขียน ช่างฟ้อน ช่างแกะสลัก ฯลฯ โดยให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในละแวกเมืองอังวะ เมืองหลวงในสมัยนั้น เช่น มินบู สะกาย ชเวโบ และมนยวา จึงน่าเชื่อได้ว่าพื้นที่ในบริเวณละแวกวัดมหาเตงดอจีแห่งนี้ในอดีตน่าจะเคยเป็นที่อยู่ของเหล่าผู้คนจากกรุงเก่าและได้อยู่อาศัยสืบต่อกันมา ผสมผสานกับคนพม่าจนกลายเป็นพลเมืองพม่าในที่สุด แต่พวกเขาเหล่านี้ก็ยังได้ทิ้งฝีแปรงเชิงช่างเอาไว้เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้ว่า พวกเขาเคยอาศัยอยู่ที่นี่

เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดมหาเตงดอจีตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองสะกาย วิธีการเดินทางมาที่นี่ที่สะดวกที่สุดคือเหมารถแท็กซี่จากเมืองมัณฑะเลย์มา คนขับแท็กซี่ส่วนใหญ่รู้จักที่นี่ดีแต่ควรติดแผนที่ในมือถือหรือแผนที่ในกระดาษไว้ด้วย หรือหากคุณมั่นใจในสกิลภาษาพม่าจะเดินทางมากันเองก็ได้
  2. เนื่องจากปกติวิหารหลังนี้ไม่ได้เปิด ควรบอกให้คนแท็กซี่ช่วยแจ้งพระในวัดให้มาเปิดให้เนื่องจากพระที่วัดแห่งนี้ส่วนใหญ่สื่อสารภาษาอังกฤษหรือไทยไม่ค่อยได้
  3. ไม่ควรเดินทางมาวัดนี้ในช่วงเวลาเพลเนื่องจากว่าพระอาจไม่สะดวกจะมาเปิดวิหารหลังนี้ให้ เพราะจะมีพระหรือเณรรูปหนึ่งรอปิดประตู
  4. หากมีเวลาเหลือ ผมแนะนำให้ไปชมถ้ำติโลกคุรุที่ตั้งอยู่ในเมืองสะกายเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เราเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างฝีมือช่างพม่ากับฝีมือช่างอยุธยา โดยการจะเข้าไปชมที่นี่ต้องไปติดต่อที่พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปและประวัติศาสตร์ (Buddha and History Museum) เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำกุญแจไปเปิดประตูให้นะครับ อนึ่ง ควรจะเตรียมไฟฉายหรือแบตมือถือให้พร้อม เพราะด้านในมืดมาก

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ