.

ก้นบนเท้า

ซี่ไม้ไผ่

เขียวชาขม

.

ไฮขุไทย ๆ ที่อุ้มเขียนขึ้นในใจ ตอนนั่งอยู่บนระเบียงวัดนานเซ็นที่เกียวโตเมื่อ 20 กว่าปีก่อน (จิแปลว่าวัด เขียนแล้วก็อย่าไปเรียกวัดนานเซ็นจิ) แปลกดีที่ยังจำได้เสมอ และนึกชมตัวเองที่บรรยายพิธีชงชาไว้ได้ไม่เลวทีเดียว

ค่ะ อุ้มชอบชงชา เคยไปเรียนกับเซ็นเซที่เมืองไทยเมื่อนานมาแล้ว แต่บารมีไม่ถึง ก็เลยไม่ได้ถูกส่งไปโรงเรียนอูราเซ็งเกะที่เกียวโตกับเขา เพราะ 3 สำนักที่สืบสายตรงพิธีชงชามาจาก เซ็น โนะ ริคคิว (Sen no Rikyū) บิดาแห่งพิธีชงชา คือ Omotesenke, Urasenke และ Mushakōjisenke ล้วนมีโรงเรียนอยู่ที่เกียวโตทั้งสิ้น คือถ้าใครตั้งใจจริงจังอยากจะแสวงหาหนทางแห่งชา ก็ต้องหาทางไปเรียนที่สำนักใดสำนักหนึ่งในสามแห่งนี้ล่ะ

ถามว่าทำไมอุ้มถึงชอบพิธีชงชาหรือที่เรียกว่า ชาโนหยุ (Chanoyu) ตอบอย่างปรัชญาหน่อยก็ต้องบอกว่า เพราะมันคือศิลปะขั้นสูงที่ประณีต ละเมียดละไม มีความลึกซึ้ง ทุกการเคลื่อนไหวแม้แต่ที่เล็กที่สุดก็ล้วนมีความหมาย ทำให้ได้รู้จักตัวเอง ได้เป็นคนละเอียดอ่อนขึ้น มีสมาธิขึ้น

ตอบอย่างบ้าน ๆ ฟังกันเองไม่ต้องออกสื่อ ก็ต้องบอกว่าเพราะชอบกินขนมที่มากับน้ำชา (หัวเราะ) แหม ก็มันสวยจะตาย… เนอะ

ในชีวิตนี้ ก็เลยมีความฝันอยู่ 3 – 4 อย่าง 

หนึ่ง คืออยากมีบ้านญี่ปุ่นอยู่ที่ต่างจังหวัดไทย แล้วมี Teahouse หรือกระท่อมชงชาอยู่ในบริเวณเดียวกัน 

สอง คืออยากมีถ้วยราขุเทพ ๆ แค่ 1 ใบในชีวิต ใครดูหนังเรื่อง Rikkyu อาจจะจำฉากที่ริคคิวไปยืนดูถ้วยที่ถูกคีบออกมาจากเตาเผาค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีดำได้ สิริยากรก็ติดตาตรึงใจมาก วันหนึ่งอยากจะเผาถ้วยของตัวเองกับเขาบ้าง 

สาม คืออยากไปฝากตัวเป็นศิษย์สำนักชงชาที่เกียวโต คือนี่ก็ชัดเจนมากว่าบ้านกับถ้วยมาก่อนเลย วิชาไม่มี จึงควรจะไปเรียนเสียให้จัดเจน เพราะวิชานี้ฝึกปรือกันไปทั้งชีวิตก็ไม่จบสิ้น 

และสี่ อยากทำขนมกินกับน้ำชา ที่เรียกว่า วากาชิ (หรือบางคนเรียกชากาชิ) ได้จัง ที่ไหนก็ไม่มีสอน

ฝันแล้วก็ไปตื่นที่เชียงใหม่ค่ะ

คือบ่ายวันหนึ่งเดิน ๆ อยู่ แล้วไม่รู้จะไปนั่งกินขนมที่ไหน เสิร์ชอินเทอร์เน็ตก็เห็นมีแต่ร้านกาแฟสวย ๆ ก็เบื่อแล้ว ก็เลยเปิด Google Maps จิ้มไปเรื่อย ๆ ตรงย่านที่อยู่ตอนนั้น คือแถวช้างคลาน แล้วไปเจอร้านหนึ่งเข้า ชื่อ ‘Magokoro มีใจให้มัทฉะ’ หืมมม มีใครมีใจให้มัทฉะเหมือนตู มี Ceremonial Green Tea มีขนมวากาชิสวยด้วย พาลูกกับสามีไปเลยจ้า

Magokoro มีใจให้มัทฉะ ร้านชาเชียงใหม่ที่ อุ้ม สิริยากร กลับไทยแล้วชอบจนต้องขอสัมภาษณ์
Magokoro มีใจให้มัทฉะ ร้านชาเชียงใหม่ที่ อุ้ม สิริยากร กลับไทยแล้วชอบจนต้องขอสัมภาษณ์

 นึกว่าอยู่เกียวโตอ่ะยูวววว!

คือชาดีมาก ใช้เวลาอ่านเมนูอยู่นานมาก ไม่ใช่เดินเทิ่ง ๆ เข้าไปสั่ง มัทฉะลาเต้! หรือโฮจิฉะลาเต้! แล้วเขาจะให้คุณหยุด นึกออกไหม เขาจะถามต่อว่าเอาเกรดไหน แพงสุด ซับซ้อนสุด หรือแพงน้อยลงมา แต่ว่าก็ยังโอเค บ้านมี 4 คน ลูกจะกินขนมกินน้ำส้มยูสุเจลลี่อะไรอีก เอาแพงน้อยสุดมาค่ะ! แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังดีเกินมาตรฐานมากเลยนะ

สั่งเสร็จมานั่งขัดสมาธิตรงสวน โอย ทำไมทำถึง สวนดี นอกชานดี ถาดเถิดใส่ชากับขนมมาเสิร์ฟก็ดี ถามน้องพนักงานว่าเจ้าของเป็นคนญี่ปุ่นเหรอคะ ทำไมเข้าใจจิตวิญญาณความเป็นญี่ปุ่นขนาดนี้ เขาบอกไม่ใช่ค่ะ คนไทยธรรมดานี่ล่ะค่ะ (ฮ่า ๆ ชอบคำตอบนี้)

กลับมาถึงพอร์ตแลนด์ ก็เลยรีบไลน์ไปบอกก้องว่า พี่จะสัมภาษณ์เจ้าของร้านนี้ พี่ทนไม่ไหวอีกต่อไป พี่อยากรู้จักเขา ก้องต้องให้พี่เขียน! ก้องก็ไลน์กลับมาพรมน้ำดับไฟว่าด้วยวลีสั้น ๆ ว่า เอาเลยครับพี่

ก็เลยจะมาแนะนำให้รู้จักน้องฟ้าใสกับน้องเป้ง เจ้าของร้านค่ะ

Magokoro มีใจให้มัทฉะ ร้านชาเชียงใหม่ที่ อุ้ม สิริยากร กลับไทยแล้วชอบจนต้องขอสัมภาษณ์

อุ้ม : น้องคะ พี่ประทับใจร้านน้อง ๆ มาก เคยอยู่ญี่ปุ่นเหรอคะ

ฟ้า : ไม่เคยเลยค่ะ ฟ้าเป็นคนเชียงใหม่ แล้วก่อนหน้านี้ทำงานอยู่กรุงเทพฯ เป็น Financial Auditor ส่วนเป้งเป็นนักวิจัยให้บริษัทที่ปรึกษาทางการตลาด ทีนี้พอถึงช่วงหนึ่งก็เริ่มไม่อยากอยู่กรุงเทพฯ แล้ว เลยคุยกันกับเป้งว่าเรากลับไปอยู่เชียงใหม่กันมั้ย จะได้อยู่ใกล้ ๆ ครอบครัวฟ้า แต่ว่าจะทำอะไรดี

เป้ง : ผมชอบดื่มชาอยู่แล้ว ฟ้าใสชอบทำขนม ก็เลยเปิดร้านขายชากัน ตอนแรกเป็นห้องแถวเล็ก ๆ คูหาเดียว มืด ๆ อยู่ติดกับร้านปัจจุบันนี้ครับ ชื่อ ‘มีใจให้มัทฉะ’ ผมชงชา ฟ้าใสทำขนม ช่วงแรก ๆ ก็ทำกันเอง 2 คน มีโต๊ะเล็ก ๆ อยู่ 3 โต๊ะ ไม่ได้คิดเลยว่าจะมาไกลถึงจุดนี้

ฟ้า : แรก ๆ ง่ายมาก ๆ แค่เอาโต๊ะมาตั้ง เอาโคมไฟมาตั้ง แล้วก็พิมพ์เมนูกันเอง มีอุปกรณ์แค่กาน้ำร้อน ถ้วย แล้วก็ชาเซ็น (แปรงชงชาทำจากไม้ไผ่) ตู้เย็นเล็ก ๆ 1 ตู้ พอเริ่มไปไหวก็ซื้อถังน้ำแข็ง (หัวเราะ)

อุ้ม : เห็นร้านปัจจุบันแล้วนึกภาพไม่ออกเลย

Magokoro มีใจให้มัทฉะ ร้านชาเชียงใหม่ที่ อุ้ม สิริยากร กลับไทยแล้วชอบจนต้องขอสัมภาษณ์
Magokoro มีใจให้มัทฉะ ร้านชาเชียงใหม่ที่ อุ้ม สิริยากร กลับไทยแล้วชอบจนต้องขอสัมภาษณ์
ร้านเก่า

เป้ง : จำได้ว่าเปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 1 เมษายน ปี 2017 ครับ ถัดจากนั้นมา 1 ปีนิด ๆ ค่อยมาเป็น Magokoro Teahouse ที่เห็นในปัจจุบัน

อุ้ม : ทำไมถึงคิดว่าจะขยายเป็นร้านใหญ่ได้คะ

ฟ้า : พอเราเริ่มทำร้านเล็ก ก็เริ่มรู้สึกว่ามีคนที่สนใจชาเหมือนเราเยอะเหมือนกัน แล้วพอเรามีประสบการณ์มากขึ้นจากการทำ ได้คุยกับลูกค้าที่มีความรู้ กับศึกษาเพิ่มเติมเอง ได้ไปเยี่ยมไร่ชาต่าง ๆ เราก็รู้สึกว่าชามีคุณค่ามาก ๆ กว่าเกษตรกรจะปลูก กว่าจะผ่านกระบวนการต่าง ๆ แล้วกลับมาดูร้านเราตอนนั้นก็รู้สึกว่า มันไม่ได้เลยอะ (หัวเราะ) เลยรู้สึกอยากจะทำให้มันดีขึ้น

Magokoro มีใจให้มัทฉะ ร้านชาเชียงใหม่ที่ อุ้ม สิริยากร กลับไทยแล้วชอบจนต้องขอสัมภาษณ์

อุ้ม : เคยเรียนชงชามั้ยคะ

เป้ง : ผมเคยไปแลกเปลี่ยนโครงการสั้น ๆ ที่ญี่ปุ่น หลังจากเปิดร้านมีใจให้มัทฉะ ก็เลยมีเพื่อนญี่ปุ่นหลายคน มีเซ็นเซชาวญี่ปุ่นที่ประกอบพิธีชงชามาตั้งแต่รุ่นพ่อ สอนผมเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับชา แล้วก็ได้ไปพิธีชงชา อย่างนี้ครับพี่อุ้ม คือเราเริ่มจากสนใจเรื่องชา พอทำไปแล้วรู้เรื่องของมัน ก็ยิ่งชอบมากขึ้นเรื่อย ๆ มีเรื่องที่น่าค้นหามากมาย ไม่ว่าจะเรื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือพิธีชงชา ก็ได้เรียนจากเซ็นเซกับเพื่อน ๆ ญี่ปุ่นครับ ตอนนั้นไปหลายที่มาก

อุ้ม : รู้ได้ยังไงว่าจะต้องไปที่ไหนคะ เพราะคนญี่ปุ่นนี่ปกติอะไรที่ดีที่สุดเขาจะเก็บไว้บริโภคกันเอง ไม่ค่อยส่งออกมาให้คนข้างนอกเนอะ

เป้ง : แรก ๆ เราก็ไปที่ที่เขาแนะนำก่อน อย่างอุจิ เกียวโต แต่พอถึงเวลาที่เราจะหาชาเพื่อมานำเสนอจริง ๆ เราเริ่มรู้แล้วว่า ในแวดวงชาของญี่ปุ่นอย่างที่อุจิหรือเกียวโตเขามีความสัมพันธ์กับไร่ชาต่าง ๆ มายาวนาน เราก็เลยอยากไปถึงต้นตอคือไร่ชาเลย ซึ่งลำบากมาก

ฟ้า : พูดญี่ปุ่นก็ไม่เป็นทั้งคู่

เป้ง : ก็เสิร์ชอินเทอร์เน็ตแล้วถามเพื่อนญี่ปุ่นเอาครับ แล้วเราก็หิ้วเป้ไปไร่ชาเลย โชคดีที่ตามไร่ที่เราไปยังพอสื่อสารภาษาอังกฤษได้บ้าง อาจจะไม่ได้เข้าใจกันทุกเรื่อง แต่เราก็ไปเล่าเจตนากับความตั้งใจของเราให้เขาฟัง เอารูปร้านให้ดู ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่เขาเอ็นดู เพราะเขาก็ดีใจที่มีคนเห็นคุณค่าของสิ่งที่เขาทำเหมือนกัน

อุ้ม : เพราะคนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นเองก็สนใจเรื่องเหล่านี้น้อยลงมากด้วยเนอะ

ฟ้า : ใช่เลยค่ะ

Magokoro มีใจให้มัทฉะ ร้านชาเชียงใหม่ที่ อุ้ม สิริยากร กลับไทยแล้วชอบจนต้องขอสัมภาษณ์
Magokoro มีใจให้มัทฉะ ร้านชาเชียงใหม่ที่ อุ้ม สิริยากร กลับไทยแล้วชอบจนต้องขอสัมภาษณ์

อุ้ม : น้อง ๆ อายุเท่าไหร่กันคะ

ฟ้า : 31 กับ 32 ค่ะ

อุ้ม : ถือว่าอายุน้อยมาก เทียบกับความถึงของสิ่งที่ทำ น้อง ๆ เข้าใจสิ่งนี้มากจริง ๆ

ฟ้า : ฟ้าคิดว่า ชาเนี่ย ไม่ใช่เราไปเข้าคอร์สออกมาแล้วจะทำได้หรือเข้าใจเลย แต่มันคือประสบการณ์ที่ได้จากการทำ ทั้งจากที่เราทำเอง จากลูกค้าที่เหมือนมาเป็นครูให้กับเรา รวมถึงไร่ชาที่เมตตาเรามาก ให้เวลา ให้ความรู้กับเรา จนเราค่อย ๆ สั่งสมความรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าถามว่าตอนนี้รู้เยอะมากมั้ย ก็ไม่ได้คิดว่ามันสิ้นสุดแค่นี้

อุ้ม : คิดว่าตัวเองมาไกลแค่ไหน เทียบจากชาที่ชงเมื่อตอนเป็นร้านเล็ก ๆ กับตอนนี้

ฟ้า : มากกกเลยค่ะ (หัวเราะ)

Magokoro มีใจให้มัทฉะ ร้านชาเชียงใหม่ที่ อุ้ม สิริยากร กลับไทยแล้วชอบจนต้องขอสัมภาษณ์

อุ้ม : แล้วสอนเด็ก ๆ ในร้านยังไงคะ เพราะเขาก็คงไม่ได้มีความรู้เรื่องชามากเท่าน้อง ๆ

ป้ง : เราพยายามใช้หลักที่เรียกว่า Omotenashi ซึ่งหมายถึงการบริการด้วยใจ อย่างใส่ใจ เปรียบเสมือนกับลูกค้าไม่ใช่ลูกค้า แต่เป็นญาติสนิทมิตรสหายของเรา พอพนักงานใส่ใจในสิ่งที่ทำ เขารู้ว่าคนที่มา ตั้งใจมาหาเพราะอยากดื่มชาหรือดื่มด่ำบรรยากาศ เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด

ฟ้า : เราทำเทรนนิ่งน้องที่เข้ามาใหม่อยู่แล้วค่ะ แล้วก็ต้องคอยให้เขาชงให้เราชิม แต่จริง ๆ แล้วน้อง ๆ หน้าร้านนี่คือเป็นคนที่ชงได้ดีมาก ๆ นะคะ เพราะเขาชงทุกวัน วันละหลาย ๆ ถ้วย แล้วการชงก็แน่นอนว่าต้องใช้สมาธิ การเรียนรู้ของแต่ละคนก็จะสูงมากเลย

Magokoro มีใจให้มัทฉะ ร้านชาเชียงใหม่ที่ อุ้ม สิริยากร กลับไทยแล้วชอบจนต้องขอสัมภาษณ์
Magokoro มีใจให้มัทฉะ ร้านชาเชียงใหม่ที่ อุ้ม สิริยากร กลับไทยแล้วชอบจนต้องขอสัมภาษณ์
‘มีใจให้มัทฉะ’ ร้านชาที่เชียงใหม่ของหนุ่มสาวผู้หลงใหลในชา และเอาพิธีชงชามานำเสนอใหม่ให้ง่ายขึ้น

อุ้ม : พี่เป็นคนชอบชาที่อูมามิ กับดื่มจบแล้วยังหอมอบอวลอยู่ในคอนาน ๆ ซึ่งเป็น Profile เดียวกับที่ร้านเลย จริง ๆ แล้วนี่เป็นคุณลักษณะที่ดีของชาเหรอคะ หรือว่าเป็นสิ่งที่น้อง ๆ เลือกนำมาเสนอ

เป้ง : จากที่ทำมาหลาย ๆ ปี เราพบว่าแนวทางการเลือกชาของเรา จะเลือกชาที่สมดุลน่ะครับ แล้วมัทฉะที่เป็นเกรดพิธีชงชาหรือเกรดสูงหน่อย มีแนวโน้มที่จะมีความอูมามิเพิ่มกว่าชาที่เกรดรองลงมา ความขมความฝาดควรจะน้อย มีรสหวานปลาย และการดื่มแล้วกลิ่นยังอบอวลอยู่ในปากในคอนาน ๆ นี่ก็ถือว่าเป็นคุณสมบัติที่ดี

อุ้ม : รู้จักไร่ชาทุกแห่งที่เอามาขายมั้ยคะ

ฟ้า : ถ้าเป็นชาที่ร้านทุกตัวเราไปที่ไร่หมดเลยค่ะ

‘มีใจให้มัทฉะ’ ร้านชาที่เชียงใหม่ของหนุ่มสาวผู้หลงใหลในชา และเอาพิธีชงชามานำเสนอใหม่ให้ง่ายขึ้น
‘มีใจให้มัทฉะ’ ร้านชาที่เชียงใหม่ของหนุ่มสาวผู้หลงใหลในชา และเอาพิธีชงชามานำเสนอใหม่ให้ง่ายขึ้น

อุ้ม : พี่รู้สึกว่าร้านของน้อง ๆ เอาพิธีชงชามานำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น เพราะแม้แต่ไปญี่ปุ่นเราจะหาโอกาสไปร่วมพิธีชงชาก็คงจะยาก หรือร้านชาที่เป็นแบบนี้ก็ไม่ได้เจอมากเท่าไหร่ คำถามคือในพิธีชงชาจริง ๆ แขกที่มาจะมีความเคารพผู้ชงชาสูงมาก ในขณะที่คนมาร้าน Magokoro มีหลายรูปแบบ จะทำยังไงให้เรายังคงคุณค่าของชาไว้ได้โดยที่คนอาจจะมาเพื่อแค่ถ่ายรูปไปลงไอจี

เป้ง : อย่างน้อยเรารักษาสุนทรียะบางอย่างที่คล้ายคลึงกับการไปร่วมพิธีชงชา ความสงบบางอย่าง ถ้าลูกค้าไม่เยอะเกินไป (หัวเราะ) ที่ได้จากการจิบชา ชมสวน ทานวากาชิ หรือถ้าสนใจเรื่องราวอื่น ๆ เราก็ใส่ไว้ในเมนู ซึ่งผมก็ต้องยอมรับว่าชักจะหนาไป (หัวเราะ) 

แต่เราก็พยายามเล่าเรื่องเกี่ยวกับชา บางท่านเคยไม่เคยไปร่วมพิธีชงชา แล้วถามก็มีเยอะ บางท่านรู้อยู่แล้วบ้าง อันนี้ก็ไม่ยาก หรือบางท่านก็เพลิดเพลินกับสิ่งต่าง ๆ ที่ผมบอก ทั้งที่ไม่เคยมีความรู้อะไรเกี่ยวกับชาก็มี แต่ถ้าวันหนึ่งเขาไปได้ร่วมพิธีชงชา สิ่งเหล่านี้มันอาจจะย้อนกลับมาหาเขาว่า ที่ Magokoro มีชา มีอุปกรณ์ มีวิธีการดื่มแบบนี้นะ

ฟ้า : เพราะเราก็ควรจะให้ลูกค้าทุกประเภทได้อย่างน้อยมีโอกาสดื่มชาคุณภาพดีที่เรานำเสนอ และมีประสบการณ์ที่ดีเกี่ยวกับชาในแบบที่เราพอจะหาให้ได้

อุ้ม : ก็จริงนะคะ คือน้อง ๆ นำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดในทุกด้าน ใครได้อะไรกลับบ้านก็ได้ไป อย่างพี่ตอนที่ไปคนเยอะ ก็ยังมีโมเมนต์ที่สงบสบายจึ๊งนึง แล้วต้องมานึกต่อเองที่บ้าน หรืออย่างเมนูนี่เห็นแล้วก็รู้ว่ามีอะไรอยากจะเล่าเยอะมาก แต่พี่ก็เกรงใจน้องเขามากเลย เพราะแบบไปยืนอ่านแล้ว ตกลงพี่จะสั่งอะไรดีคะน้อง มันเยอะมากเลยค่ะ (หัวเราะ) นี่ขนาดรู้เรื่องชาอยู่บ้างยังมือเย็น คืออยากจะอ่านมากกว่านี้ แต่คนข้างหลังยืนคอย อ้าวน้องไม่รับการ์ดเหรอคะ แต่พี่สแกน QR Code ไม่ได้ ย้ากกก…

ฟ้า : (หัวเราะ) นี่ก็เป็นเรื่องที่เรายังพยายามอยู่นะคะ ว่าจะทำยังไงให้คนรู้ว่าชาแต่ละตัวมันมายังไง แต่ก็รู้ว่ามีข้อจำกัดจริง ๆ ทั้งเรื่องเวลาด้วย ก็ยังรู้สึกว่าทำได้ไม่ดี

อุ้ม : ไม่ใช่ ๆ ค่ะ ทำดีแล้ว ทำต่อไป คือร้านน้อง ๆ เนี่ย พี่รู้สึกว่า 4 ส่วนที่โดดเด่นมาก หนึ่ง เรื่องชา เราคุยกันไปแล้ว สอง คือขนม สาม คือบรรยากาศ และสี่ คือการสื่อสาร คือพี่เป็นพวกบ้าสื่อสาร แล้วก็รู้สึกว่าน้อง ๆ ทำได้ดีในทุกช่องทาง อะเรามาแยกคุยกันเป็นเรื่อง ๆ เอาเรื่องขนมก่อน

‘มีใจให้มัทฉะ’ ร้านชาที่เชียงใหม่ของหนุ่มสาวผู้หลงใหลในชา และเอาพิธีชงชามานำเสนอใหม่ให้ง่ายขึ้น
‘มีใจให้มัทฉะ’ ร้านชาที่เชียงใหม่ของหนุ่มสาวผู้หลงใหลในชา และเอาพิธีชงชามานำเสนอใหม่ให้ง่ายขึ้น

ฟ้า : ชอบทำขนมตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วค่ะ เริ่มจากเค้กอะไรแบบนี้ แต่พอเรียนหนังสือก็ร้างไป แล้วพอมาทำมีใจให้มัทฉะทีแรกมีแค่ชาอย่างเดียว ก็คิดว่าลูกค้าน่าจะอยากทานขนมด้วย เลยเริ่มกลับมาทำ แล้วเหมือนเครื่องติดอะค่ะ จนคิดว่า เอ๊ะ หรือนี่เป็นสิ่งที่เราชอบจริง ๆ (ยิ้ม) หลังจากนั้นก็พยายามพัฒนา จากบราวนี่ง่าย ๆ หลังจากนั้นเริ่มอินมากขึ้น ก็เริ่มหาส่วนผสม หารสสัมผัส หรือรูปแบบขนมใหม่ ๆ ว่าเหมาะกับชาและเครื่องดื่มต่าง ๆ ที่เรามี

อุ้ม : แล้ววากาชิ (ขนมญี่ปุ่นสำหรับทานคู่กับชา) นี่มายังไงคะ

ฟ้า : พอเริ่มศึกษาเรื่องชา วากาชิมันก็เป็นส่วนหนึ่งอย่างช่วยไม่ได้ แล้วก็พบว่าขนมที่กินกับชามันมีหลายแบบมาก ๆ แล้วก็มีเสน่ห์ โดยเฉพาะเนริกิริ (Nerikiri ขนมญี่ปุ่นที่ทำจากถั่วขาวกวนและแป้งข้าวเหนียว) คือทำได้ยังไงนะ ถึงมีแบบที่หลากหลาย แล้วก็มีความอ่อนช้อยได้ขนาดนั้น เราก็เริ่มศึกษาเองว่าเขาทำกันยังไง ซื้อถั่วมาหลายแบบมาก ทั้งกระป๋องสำเร็จรูป กวนมาแล้ว ถั่วดิบของไทย ของญี่ปุ่น เอามาต้ม อะ ต้มนานแค่ไหน ใช้น้ำเท่าไหร่ ไฟแรงแค่ไหน จุดเดือดเท่าไหร่ถึงจะเปลี่ยนน้ำ 

เจอปัญหาตรงไหนก็กลับไปเสิร์ชอีก ต้มเสร็จแล้วก็ต้องมาบด เอาเปลือกออก ช่วงนั้นคือนอนดึกมาก เพราะทำแล้วต้องทำต่อเนื่อง ทิ้งไว้เราก็ไม่รู้ว่าผิวสัมผัสมันเปลี่ยนไปยังไง จะเสียมั้ย จะบอกว่าวากาชินี่ภูมิใจมากเหมือนกัน (หัวเราะ) เพราะมันยากมาก แล้วก็ไม่ได้ไปเรียน เพราะไม่รู้ว่าจะไปเรียนที่ไหน ตอนเปิด Magokoro นี่ต้องลูกค้าสั่งเท่านั้นถึงจะปั้น แล้วฟ้าต้องแสตนด์บายเลย เพราะเราเองก็ยังไม่เชี่ยวชาญมาก ยังทำไม่ได้เยอะ แต่พอทำไปเรื่อย ๆ มีประสบการณ์มากขึ้น ก็เออ เราทำได้เนอะ

‘มีใจให้มัทฉะ’ ร้านชาที่เชียงใหม่ของหนุ่มสาวผู้หลงใหลในชา และเอาพิธีชงชามานำเสนอใหม่ให้ง่ายขึ้น
‘Magokoro มีใจให้มัทฉะ’ ร้านชาที่เชียงใหม่ของหนุ่มสาวผู้หลงใหลในชา และเอาพิธีชงชามานำเสนอใหม่ให้ง่ายขึ้น

อุ้ม : แล้วพิมพ์ต่าง ๆ เอามาจากไหนคะ

ฟ้า : เคยคิดว่าพิมพ์จะเป็นทางออกของการทำทีละเยอะ ๆ แต่ปรากฏว่ามันไม่ใช่ซะทีเดียวค่ะ เพราะทำแล้วมันก็ออกมาเหมือน ๆ กัน ถามว่าสวยมั้ย ก็สวยนะคะ เพราะเขาก็คราฟต์พิมพ์มาอย่างดี แต่เราเองแหละที่รู้สึกว่าคนยังไม่ค่อยรู้จัก จะทำยังไงให้มันสวยที่สุด ดีที่สุด คุ้มค่ากับการที่ลูกค้าสั่ง ให้เขารู้ว่าเราตั้งใจและใช้เวลามากจริง ๆ นะในแต่ละชิ้น ก็เลยต้องเอาให้มันสุด ๆ ไปเลยดีกว่า

อุ้ม : คือทำเป็นวัน แต่ทานแค่แป๊บเดียวหมด

ฟ้า : ทานหมดก็ยังดีนะคะ

อุ้ม : มีคนทานไม่หมดให้เราต้องเอาไปทิ้งด้วยเหรอคะ

ฟ้า : มีค่ะ! (หัวเราะ) ปวดหัวใจมาก ๆ แต่ก็เข้าใจนะคะว่ามันไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคนอยู่แล้ว

อุ้ม : เพราะคนไทยชอบพูดว่าขนมญี่ปุ่นสวย แต่ไม่อร่อยเนอะ

ฟ้า : หวานนนนน อะไรแบบนี้ แต่จริง ๆ แล้วมันต้องเอาไว้ทานคู่กับชาถึงจะพอดีกัน

‘Magokoro มีใจให้มัทฉะ’ ร้านชาที่เชียงใหม่ของหนุ่มสาวผู้หลงใหลในชา และเอาพิธีชงชามานำเสนอใหม่ให้ง่ายขึ้น
‘Magokoro มีใจให้มัทฉะ’ ร้านชาที่เชียงใหม่ของหนุ่มสาวผู้หลงใหลในชา และเอาพิธีชงชามานำเสนอใหม่ให้ง่ายขึ้น

อุ้ม : แล้วขนมหน้าตาฝรั่งเศส ๆ ล่ะคะ สวยมากเลย อร่อยมากด้วย

ฟ้า : อันนั้นก็ทดลองเองอีกเหมือนกันค่ะ (หัวเราะ) เสียหายไปเป็นมูลค่ามากมายด้วย คือกว่าจะมาเป็นเวอร์ชันปัจจุบัน เราเปลี่ยนส่วนผสมไปตามความสามารถของเรา มีความซับซ้อน มีเลเยอร์มากขึ้น พยายามนำเสนออะไรที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

อุ้ม : ถามได้มั้ยคะว่าเอาเงินทุนมาจากไหน เพราะชาที่หามาก็แพง ต้องบินไปญี่ปุ่นบ่อย ๆ ด้วย ส่วนผสมของขนมต่าง ๆ ก็แพง

เป้ง : ก็เป็นเงินที่เราเก็บหอมรอมริบกันมานี่แหละครับ เพราะพวกเราทำงานที่กรุงเทพฯ กันมาช่วงหนึ่ง ขาดเหลือนิดหน่อย คุณพ่อ คุณแม่ คุณป้า คุณน้า ช่วยกัน (หัวเราะ)

‘Magokoro มีใจให้มัทฉะ’ ร้านชาที่เชียงใหม่ของหนุ่มสาวผู้หลงใหลในชา และเอาพิธีชงชามานำเสนอใหม่ให้ง่ายขึ้น
‘Magokoro มีใจให้มัทฉะ’ ร้านชาที่เชียงใหม่ของหนุ่มสาวผู้หลงใหลในชา และเอาพิธีชงชามานำเสนอใหม่ให้ง่ายขึ้น
‘Magokoro มีใจให้มัทฉะ’ ร้านชาที่เชียงใหม่ของหนุ่มสาวผู้หลงใหลในชา และเอาพิธีชงชามานำเสนอใหม่ให้ง่ายขึ้น

อุ้ม : ทำไมมาตั้งร้านอยู่แถวช้างคลานคะ

เป้ง : พอดีเป็นที่ของญาติ ๆ ครับ บังเอิญว่างช่วงที่เราทำร้านแรกพอดี

ฟ้า : ถ้าอยู่กรุงเทพฯ ก็คงยากที่จะได้บ้านมีบริเวณแบบนี้ เพราะเราไม่ได้มีเงินเยอะ

อุ้ม : เป็นบ้านเก่าเหรอคะ

ฟ้า : ค่ะ โครงเดิมหมดเลยค่ะ แค่เติมกระจกหน้าต่างกับนอกชาน

อุ้ม : ใครออกแบบคะ

ฟ้า : เป็นเพื่อนสมัยเรียนมัธยมค่ะ เขาจบสถาปัตย์ มช. ก็ไปถามว่าช่วยออกแบบให้หน่อยได้มั้ย เพื่อนก็บอกว่าได้เลย เขาเก่งด้วย

เป้ง : ส่วนตรงสวนนี่เพื่อนผมสมัยประถมเป็นคนออกแบบครับ

อุ้ม : น้อง ๆ นี่เรียนโรงเรียนวัดเส้าหลินกันเหรอคะ มีแต่เพื่อนเป็นจอมยุทธ์

เป้ง : (หัวเราะ) จริง ๆ ปรับมาหลายรอบด้วยครับ ตอนแรกเป็นสวนหินสีขาว แต่มีต้นมะม่วงเก่าแก่รอบ ๆ สวนที่เราไม่ตัดทิ้ง แล้วมันร่มไป ต้นไม้ที่ลงใหม่ก็เลยตายเยอะ เลยต้องปรับตามพื้นที่มาเป็นสวนที่เห็นในปัจจุบันนี้

อุ้ม : แต่ก็รู้สึกญี่ปุ๊นญี่ปุ่นนะคะ พี่จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่ามีต้นมะม่วง นึกว่าคามิเลีย

ฟ้า : หน้ามะม่วงนี่รู้สึกแน่ค่ะ มะม่วงหล่น (หัวเราะ) แต่คนคงเข้าใจ

Magokoro มีใจให้มัทฉะ ร้านชาเชียงใหม่ที่ อุ้ม สิริยากร กลับไทยแล้วชอบจนต้องขอสัมภาษณ์

อุ้ม : สถานที่ไปละ มาเรื่องสุดท้าย การให้ความรู้คน เพราะสิ่งที่น้อง ๆ ทำต้องการการอธิบายเยอะเหมือนกัน ใครเป็นคนดูแลโซเชียลมีเดียคะ ขอเดาว่าเป็นน้องฟ้า เพราะในไอจีนี่มีค่ะ ๆ ตลอดเลย

ฟ้า : (หัวเราะ) เป้งเป็นคนทำค่ะ

เป้ง : (หัวเราะ) ตอนแรก ๆ ที่ทำ เราอยากให้แบรนด์ขายตัวเอง ไม่ควรขายตัวเรา 2 คน แต่แรก ๆ เดี๋ยวก็เป็นผู้ชาย เดี๋ยวก็เป็นผู้หญิง สับสน (หัวเราะ) แต่พอทำ ๆ ไปเรารู้สึกว่า Magokoro น่าจะมีความเป็นผู้หญิงมากกว่านะ ผมเลยเขียนไปแบบมีค่ะ (หัวเราะ)

อุ้ม : แล้วทำไมถึงเรียกชาว่า “เธอ”

เป้ง : ผมรู้สึกว่าชาของเรามีคาแรกเตอร์อ่อนหวาน สมดุล นุ่มนวล คนดื่มแล้วมีความรู้สึกเป็นผู้หญิงมากกว่า ผมจินตนาการเชื่อมโยงไปแบบนั้น ช่วงหนึ่งก็เลยแทนชาว่าเธอ แต่รู้สึกว่าคนเข้าใจยาก งง ๆ ว่าเธอคนนี้คือใคร (หัวเราะ) ตอนนี้เลยไม่ได้ใช้แล้ว

ฟ้า : เราเองก็ค้นหาตัวเองไปด้วยเหมือนกันในระยะเวลาที่ผ่านมา แล้วก็โตขึ้นมากเหมือนกัน ถ้าตามดูก็จะเห็นว่าเราผ่านอะไรมาบ้าง เปลี่ยนอะไรไปเยอะ

อุ้ม : แรก ๆ ใช้แต่ภาษาอังกฤษด้วย เพราะลูกค้าเป็นต่างชาติเหรอคะ

เป้ง : คือเราคิดว่าถ้าเป็นภาษาอังกฤษเนี่ย คนไทยอย่างน้อยก็อ่านหรือแปลได้ แต่ถ้าเขียนเป็นภาษาไทย ต่างชาติจะเข้าใจได้ยากกว่า ตอนแรกเลยเขียนเป็นภาษาอังกฤษ แต่สุดท้ายปรากฏว่าลูกค้าเราเป็นคนไทยมากกว่า เดี๋ยวนี้เลยเน้นเป็นภาษาไทย

อุ้ม : ลูกค้าคนไทยมากขึ้นเพราะช่วงโควิดด้วยมั้ยคะ

เป้ง : ใช่ครับ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักท่องเที่ยวไทยที่มาเชียงใหม่เยอะ โดยเฉพาะวันหยุด แต่คนเชียงใหม่เองจะไม่ชอบความพลุกพล่าน ก็จะมาช่วง Low Season

ฟ้า : ถ้าเป็นช่วงวันหยุดยาวนี่คนเชียงใหม่ก็จะเลี่ยงเลยค่ะ

อุ้ม : นี่บอกตรง ๆ พี่ก็แอบลังเลนะ เพราะกลัวลง The Cloud แล้ว เดี๋ยวจะต้องนั่งตักกันกินเหมือนร้านอื่นอีก แล้วถ้าคนมาเยอะมาก ๆ จริง ๆ จะทำยังไงอ่ะคะน้อง

เป้ง : ผมเคยคิดเรื่องนี้ไว้เหมือนกัน แล้วก็มีแอปฯ QueQ ครับ จองแล้วค่อยมาตอนใกล้ ๆ ถึงเวลาก็ได้ แต่ต้องยอมรับว่าพื้นที่เราจำกัด

ฟ้า : อย่างช่วงปีใหม่หรือวันหยุดยาวนี่ก็คิวยาวเหมือนกัน

อุ้ม : พี่แอบสารภาพว่าตอนไป พี่อยากนั่งตรงนอกชานใช่มั้ย ก็ส่งพลังมาคุให้คนที่นั่งอยู่ช่วยลุกเร็ว ๆ เพราะมันมีแค่สองสามที่เอง สงสารเลย แล้วพอตัวเองได้นั่ง ก็เวรกรรม เกรงใจคนอยากมานั่งต่ออีก เลยนั่งนานไม่ได้ ไว้คราวหน้าก่อนไปพี่จะแอบไลน์ถามก่อนนะคะว่าช่วงไหนว่าง ๆ มั่ง

ฟ้า : ช่วงเงียบก็เงียบเลยนะคะ ช่วงเช้า ๆ ตอนร้านเปิดนี่จะเหมือนร้านเป็นของเรา หรืออย่างเดือนที่ไม่มีวันหยุด กันยาฯ นี่ก็เงียบค่ะ

อุ้ม : ดีด้วยนะคะ จะได้ดื่มชาตอนเช้า เพราะพี่ดื่มคาเฟอีนบ่าย ๆ ไม่ค่อยได้

เป้ง : มันดูเหมือนคนเยอะนะครับ เพราะลูกค้าจะมาพร้อม ๆ กันช่วงบ่าย คนไทยอยากดื่มชาตอนบ่ายกับหลังกินข้าวกลางวัน

ฟ้า : ทั้งที่จริง ๆ ชาเหมาะกับการดื่มตอนเช้ามากกว่าอีกนะคะ

อุ้ม : ชาโปรดของแต่ละคน

เป้ง : ผมเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แต่ตอนนี้ชาที่ผมดื่มทุกวันคือเซ็นฉะครับ เพราะผมเลือกชาที่อูมามิกว่าเซ็นฉะทั่วไปนิดหนึ่ง ดื่มแล้วลื่นคอ ชุ่มคอ แต่วันหนึ่งอาจจะดื่มหลายตัว

ฟ้า : ทุกวันนี้ไปไหนก็พกกาชาไปด้วย

เป้ง : มาไกลมาก (หัวเราะ) ชีวิตลำบากขึ้นเรื่อย ๆ

ฟ้า : แต่ก่อนนี้ฟ้าดื่มมัทฉะลาเต้ แต่ตอนนี้ดื่มมัทฉะเย็นแบบไม่ใส่นมค่ะ คือเป็นชาเกรดสูงหน่อยใส่น้ำกับน้ำแข็งเลยค่ะ เพราะเป็นคนชอบอะไรเย็น ๆ พอดื่มมัทฉะแล้วรู้สึกว่าเราสงบและมีสมาธิขึ้นจริง ๆ

อุ้ม : พูดถึงมัทฉะลาเต้ อีกหน่อยน้อง ๆ จะไปทำฟาร์มโคนมกันหรือเปล่าคะ เห็นทำอะไรต้องทำให้ถึง เครื่องทำน้ำแข็งยังต้องสั่งมาจากญี่ปุ่น

ฟ้า : ช่วงหนึ่งเคยคิดจะทำวิปปิ้งครีมเองจากนมในเชียงใหม่มาแล้วนะคะ (หัวเราะ)

เป้ง : ไหน ๆ พี่อุ้มแซวแล้ว ก็แอบเล่าว่าจริง ๆ ผมเคยไปคุยกับคณะสัตวแพทย์ที่ มช. มาแล้วด้วยครับ (หัวเราะ)

ฟ้า : เหมือนเป็นคนบ้า (หัวเราะ)

เป้ง : แต่รู้สึกว่ายังไม่ได้ อย่าเสี่ยงดีกว่า

อุ้ม : อ้าว แต่อย่างพี่เขยพี่เป็นคนสวิส จะกินชีสกรูแยร์ก็ต้องเป็นจากวัวที่กินหญ้าต้นฤดูใบไม้ผลิ มีผลิตแค่ 2 เดือนอะไรแบบนี้ เหมือนจะเรื่องเยอะ แต่คนที่มีประสบการณ์ก็จะยิ่งมีความละเอียดในการรับรู้รสชาติ ถือว่าน้อง ๆ สอนให้คนมีความละเมียดละไมมากขึ้นกับชานะคะ

เป้ง : ในอดีตสิบกว่าปีที่แล้ว เราเองก็เคยเป็นคนที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับชามากนัก ดูวันนี้ เรามาอยู่ตรงนี้ได้ยังไง เพราะฉะนั้น คนที่มาดื่มชาที่ร้านของเรา วันหนึ่งเขาอาจจะไปเปิดร้านชาก็ได้

ฟ้า : เรารู้สึกดีใจแทนคนที่ทำชาในญี่ปุ่นด้วย เพราะคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ ๆ ดื่มชาน้อยลง ส่วนใหญ่จะดื่มชาขวดมากกว่า คนทำชาก็เป็นห่วงเรื่องนี้เหมือนกัน คนที่จะไปประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกชาก็น้อยลงเรื่อย ๆ ที่เหลืออยู่ก็เป็นคนที่ทำมาหลาย ๆ รุ่น คนรุ่นใหม่ก็ไม่อยากทำต่อ พอเดี๋ยวนี้ทั้งโลกให้ความสนใจกับมัทฉะมากขึ้น เขาก็มีกำลังใจที่จะทำต่อไป มีคนญี่ปุ่นรุ่น ๆ เรา เพิ่งเคยมาดื่มมัทฉะที่ร้านเราที่เชียงใหม่ก็มี (ยิ้ม) แล้วเขาประทับใจ เราก็ดีใจค่ะ

‘Magokoro มีใจให้มัทฉะ’ ร้านชาที่เชียงใหม่ของหนุ่มสาวผู้หลงใหลในชา และเอาพิธีชงชามานำเสนอใหม่ให้ง่ายขึ้น

จบการคุยกับน้อง ๆ 2 คนที่ประสบการณ์เข้มข้นแต่สมดุลกลมกล่อม เหมือนโคอิฉะที่พวกเขาชง สมกับชื่อร้านที่เพื่อนญี่ปุ่นแท้ ๆ มอบให้ เพราะมาโกโคะโระ Magokoro ( 真心 ) คือความจริงจัง จริงใจ เอาหัวใจใส่ลงไปในสิ่งที่ทำ คือความซาบซึ้งต่อความงามและคุณความดีในชีวิต เหมือนกับสิ่งที่น้องเป้งกับน้องฟ้าใสใส่ไว้ในทุกรายละเอียดของร้าน

.

ชาวานวาง

เสียงน้ำไหล

มีใจให้มาโกโคะโระ

.

ภาพ : www.facebook.com/magokoro.teahouse

Writer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์