เดือนพฤษภาคม หรือในภาษาอิตาเลียนคือ Maggio (มัจโจ) มาจากภาษาละตินซึ่งขอไม่เขียนนะ เอาเป็นว่ามันแปลว่า เดือนแห่งพระนางเมยา แม่ของเมอร์คิวรี หรือเฮอร์มีส ภาษาอังกฤษถึงชื่อ May ไง

เดือนนี้ เป็นเดือนที่สวยที่สุดของปีในอิตาลี เราสัมผัสถึงความเชื่อว่างามและสดชื่นของเดือนนี้ได้ผ่านสำนวนอิตาเลียน

Fresca/bella come una rosa di maggio แปลว่า สดชื่น / สวยงามราวกับดอกกุหลาบในเดือนพฤษภาคม

Aspettar che venga maggio แปลตรงตัวว่า รอให้ถึงเดือนพฤษภาคมก่อน ให้ความหมายคล้ายๆ อดเปรี้ยวไว้กินหวาน

Il maggio della vita แปลตรงตัวว่า เดือนพฤษภาคมของชีวิต ซึ่งก็คือ วัยหนุ่มสาว นั่นเอง

นอกจากนั้นแล้ว เดือนนี้ยังมีชื่อเล่นว่า เดือนแห่งดอกกุหลาบ (Il mese delle rose) อีกด้วย

Maggio พฤษภาคมของอิตาลี เดือนแห่งกุหลาบ วันแรงงาน รถโฟล์กเต่า และนโปเลียน
ดอกจี้ (สร้อยคอ) แห่งเดือนพฤษภาคม
ภาพ : pixabay.com

ความสดชื่นและดอกไม้ที่ผลิบานย่อมนำมาซึ่งหมู่ภมรมาคลอเคล้า และหนึ่งในนั้นคือแมงประเภทหนึ่งซึ่งชุมมากในช่วงเดือนนี้ จนได้ชื่ออิงตามเดือนพฤษภาคมว่า Maggiolino ซึ่งคำนี้ก็เป็นชื่อภาษาอิตาเลียนของรถโฟล์กเต่า ขอแสดงความเสียใจด้วยว่า คำนี้มิได้แปลว่า เต่าทอง อย่างที่บางท่านเข้าใจมาตลอดชีวิต หากแต่ภาษาไทยของแมงตัวนี้คือ แมงอีนูน 

นี่ยังแอบคิดว่า ถ้าเราเรียกรถโฟล์กรุ่นนั้นว่ารุ่นแมงอีนูน จะมันขนาดไหน

สำหรับฉันพอพูดถึงเดือนพฤษภาคม ก็มีสิ่งที่แวบขึ้นมาในหัวอยู่บ้างโดยไม่ต้องค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม สิ่งแรกคือวันแรงงาน

55555 จะเลี่ยงได้ยังไง ก็ในเมื่อมันเป็นวันต้นเดือนออกจะหราขนาดนั้น วันแรงงานนั้นเป็นวันสำคัญในอิตาลี เพราะอิตาลีให้ความสำคัญแก่แรงงานมาก ในรัฐธรรมนูญอิตาลีย่อหน้าแรกบอกไว้เลย ความว่า 

“อิตาลีเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยสร้างอยู่บนพื้นฐานแรงงาน อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวอิตาเลียนผู้ใช้อำนาจนั้นตามรูปแบบและบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”

วันแรงงานในอิตาลีมีอะไร

เอาแบบโลกสวยนะ ก็มีคอนเสิร์ต แต่ถ้าเอาความรู้สึกจริงๆ พอพูดถึงวันแรงงานในอิตาลี ฉันจะนึกถึงการเดินขบวน (คนอิตาเลียนจะเกลียดฉันไหม) แต่จะแตกต่างจากสไตรค์นะ อันนั้นนัดหยุดงาน ซึ่งเกิดในอิตาลีกันจนไม่แปลกแล้ว การเดินขบวนในวันแรงงานนั้น มักจะเป็นการเดินขบวนเพื่อกระตุ้นเตือนอะไรบางอย่าง ปลุกจิตสำนึกของคุณค่าของแรงงานที่แบกประเทศไว้แทบจะทั้งหมด ฯลฯ 

Maggio พฤษภาคมของอิตาลี เดือนแห่งกุหลาบ วันแรงงาน รถโฟล์กเต่า และนโปเลียน
คอนเสิร์ตวันแรงงานใน ค.ศ. 2006
ภาพ : commons.wikimedia.org
Maggio พฤษภาคมของอิตาลี เดือนแห่งกุหลาบ วันแรงงาน รถโฟล์กเต่า และนโปเลียน
การเดินขบวนวันแรงงานใน ค.ศ. 2009
ภาพ : commons.wikimedia.org

พูดถึงแรงงานแล้ว ก็พาลไปนึกถึงอีกเรื่องคือเรื่องพวกงานฝีมือต่างๆ ด้วย

สิ่งที่อิตาลีดูจะแตกต่างจากไทยอย่างเห็นได้ชัด คือการให้คุณค่าของอาชีพที่ไม่แตกต่างกันมากนัก จริงอยู่การเป็นหมอหรือเป็นอาจารย์ก็อาจจะมีผู้นับหน้าถือตาหรือเงียบฟังนิดหน่อย แต่ก็เป็นเรื่องที่หมอหรืออาจารย์ท่านนั้นสันทัดเท่านั้น ไม่ใช่ขึ้นชื่อว่าเป็นอาจารย์หรือหมอ ก็เชื่อมั่นศรัทธาจนแทบจะเอาทองคำเปลวไปปิดเสียหมด คนอาชีพอื่นก็ได้รับการยอมรับนับถือในฐานะมนุษย์ไม่ต่างกัน

ขอยกตัวอย่างคนใกล้ตัว 2 คน คนหนึ่งเป็นเพื่อนของเพื่อน เป็นลูกช่างไม้ประจำเมืองเซียน่า อนึ่ง คำว่าช่างไม้สำหรับคนอิตาเลียนไม่ใช่คนสร้างบ้าน แต่หมายถึงช่างทำเฟอร์นิเจอร์ เพื่อนคนนี้สมมติว่าชื่อเปาโล เปาโลน้อยคนนี้ (ตอนที่รู้จักกันก็อายุราวๆ 18 เห็นจะได้) เวลาไปเข้าสังคมที่ไหน (ในเซียน่า) พอแนะนำตัวบอกว่าชื่อเปาโล ผู้คนก็ต้อนรับด้วยดีแล้ว แต่พอถามถึงว่าบ้านอยู่ตรงนั้น ก็จะมีคนทักว่านั่นมันบ้านของช่างคนนั้นนี่ เปาโลก็จะบอกว่า ใช่ พ่อผมเอง เท่านั้นล่ะ ผู้คนก็จะแซ่ซ้องเอ็ดอึง ใครข้างๆ มาบอกว่าเป็นนักบินยังไม่ตื่นเต้นเท่านี้

อีกคนคือช่างทำเครื่องประดับ เป็นครูของเพื่อนผู้ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่มหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่ ณ ขณะนี้ ฉันจำชื่อจริงท่านไม่เคยได้ เรียกกันแต่ว่า มาเอสโตร (Maestro) มาเอสโตรท่านนี้เวลาเดินอยู่ในเซียน่าเนี่ย ผู้คนก้มหัวทักทายกันหัวถนนท้ายถนน ตาเป็นประกายเหมือนเจอเซเล็บก็มิปาน

ด้วยความที่อาชีพใดๆ ก็มีเกียรติเช่นนี้ สิ่งที่ตามมาด้วยคือ การไม่ให้คุณค่ากับปริญญาเกินกว่าที่ควรจะเป็นสักเท่าไหร่ หากคุณถามคนอิตาเลียนว่าเรียนจบอะไร เขาก็อาจจะตอบว่า ม.ปลาย แต่ถ้าเป็นพวกช่างฝีมือ ก็อาจจะตอบว่า ม.ต้น แต่ให้สังเกตสีหน้า คุณจะไม่เห็นความน้อยเนื้อต่ำใจใดๆ เลย เป็นเรื่องปกติมาก คนอิตาเลียนไม่ได้ให้ค่ากับปริญญามากมายนัก ที่จำต้องเรียนเพราะงานที่ต้องทำต้องใช้วุฒิก็เท่านั้น แล้วงานจำนวนไม่น้อย อยากจะกล่าวว่าส่วนใหญ่แต่ก็มิได้มีตัวเลขมายืนยัน ก็มักไม่ค่อยต้องการวุฒิปริญญาด้วย คนที่เรียนมหาวิทยาลัยเอง เรียนๆ แล้วเลิกไปเมื่อได้งานก็เยอะ สำหรับเขา มันไม่มีอะไรจริงๆ 

เคยถามเปาโล เพื่อนที่เล่าให้ฟังข้างต้นว่า ทำไมเขาไม่เรียนต่อ เขาทำหน้างง แล้วตอบว่า ก็ถ้าเขาต้องการเป็นช่างไม้ที่เก่งเหมือนพ่อ ถ้าเขาไม่ฝึกฝนตั้งแต่เด็กแล้วจะให้เขาไปฝึกตอนไหน แล้วเขาจะเอาปริญญาไปทำไม คำพูดนั้นของเปาโลเหมือนพลุที่แตกปุงปังอยู่บนสมองกะลาของฉัน ยิ่งพอมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วยแล้ว ฉันยิ่งรู้สึกว่าเปาโลพูดไม่ผิดเลย

พูดเรื่องแรงงานไปเสียยาว ฉันนึกถึงอะไรอีกในเดือนพฤษภาคม ฉันนึกถึงวันแม่ วันแม่ในอิตาลีนั้น คือวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม ซึ่งใน ค.ศ. 2021 นี้คือวันที่ 9 พฤษภาคมนั่นเอง 

เรื่องการบูชาแม่นั้น ในประวัติศาสตร์ความคิดความเชื่อของอิตาลี ย้อนไปได้ถึงการบูชาเทพแห่งแผ่นดินในสมัยก่อนคริสตศาสนา ตามมาด้วยการอิงกับพระแม่มาเรียในยุคต่อมา เดือนนี้ยังเป็นเดือนที่อุทิศให้แก่พระแม่มาเรียด้วย ในภาษาอิตาเลียนคำว่า เดือนของพระแม่มาเรีย (Il mese della Madonna หรือ Mese Mariano) ก็คือเดือนพฤษภาคมนั่นเอง

การกำหนดวันแม่แห่งชาติเองก็ไม่ได้เป็นวันนี้แต่แรก ในยุคมุสโสลินียังเคยกำหนดให้เป็นวันที่ 24 ธันวาคมด้วยซ้ำ (ตอนนั้นมีการประกวดแม่ลูกดกด้วยนะ) จากนั้นก็กำหนดให้เป็นวันที่ 8 พฤษภาคมอยู่ตั้งนาน จนกระทั่งย้ายมาเป็นวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ว่ากันว่า เพียงเพื่อให้แน่ใจว่าตรงกับวันหยุดแน่ๆ 

การ์ดวันแม่
ภาพ : www.flickr.com

ถามว่าเด็กอิตาเลียนทำอะไรกันในวันแม่ คำตอบที่ใช้ได้ทั้งกับวันแม่ วันพ่อ วันครู วันปู่ วันย่า ฯลฯ ก็คือ เขียนการ์ด ถ้าเป็นเด็กหน่อยก็จะเขียนด้วยตัวอักษรโย้เย้ มีรูประบายสีเทียน ประกอบด้วยพ่อแม่จูงมือลูกซึ่งอยู่ตรงกลาง (วันพ่อก็วาดรูปเดียวกันนี้) ดอกไม้กลีบระนาบเดียว มีพระอาทิตย์ขึ้นแข่งกับพระจันทร์อยู่คนละฟากกระดาษ อย่างที่พวกเราเคยทำ หอมแก้มแม่ทีหนึ่ง แล้วก็ยกให้แม่เป็นราชินีของบ้านหนึ่งวัน (โถ…) 

การเชิญไปเร้าอารมณ์เค้นน้ำตา ร้องไห้ฮึกฮักกันตัวโยนที่โรงเรียน ไม่พบว่าที่ไหนทำกัน ถ้าเป็นวัยรุ่นก็จะเขียนด้วยถ้อยคำเท่ๆ ซึ้งๆ ถ้าเป็นผู้ใหญ่และมีครอบครัวแล้ว ก็อาจจะโทรศัพท์มาหากันเสียหน่อย ถามว่ามีลืมกันบ้างไหม คำตอบก็คือ ก็คงมีบ้าง แต่สื่อต่างๆ ก็คงคอยเตือนกันอยู่บ้างละ

อีกวันที่คิดถึงในเดือนพฤษภาคม คือ วันที่ 5 พฤษภาคม ในภาษาอิตาเลียน คำนี้คือ Il cinque maggio (อิล ชิงเกว มัจโจ) วันนี้ใน ค.ศ. 1821 เป็นวันที่นโปเลียนเสียชีวิต และบทกวีนี้ก็แต่งขึ้นเพื่อสดุดีและรำลึกถึงมหาบุรุษท่านนี้ โดย อเลซซานโดร มันโซนี (Alessandro Manzoni, 1785 – 1873) นักประพันธ์เอกแห่งศตวรรษที่ 19 คนเดียวกับที่แต่งนวนิยายคลาสสิกเรื่อง I promessi sposi (สัญญาสมรส) ที่คนอิตาเลียนทุกคนต้องรู้จัก มันโซนีเมื่อทราบข่าวการเสียชีวิตของนโปเลียนก็สะเทือนใจมากและแต่งกวีบทนี้เสร็จภายใน 3 วัน และแพร่สะพัดไปอย่างกว้างขวาง แม้มีกฎออสเตรียห้ามก็ตาม

Napoleon Bonaparte
ภาพ : commons.wikimedia.org
อเลซซานโดร มันโซนี
ภาพ : www.flickr.com

หากถามว่าทำไมต้องแต่งให้นโปเลียน ประการแรกตอบง่ายๆ คือ ก็เขารักเขาบูชาของเขา จะไปอะไรกับเขา ฮึ แต่หากตอบแบบพยายามกวนน้อยกว่านี้อีกนิดก็คือ นโปเลียนเป็นบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ หลายคนอาจจะรู้จักว่าเขาเป็นคนฝรั่งเศส แต่จริงๆ แล้ว ด้วยเลือดเนื้อและจิตวิญญาณของเขานั้นคือคนอิตาเลียน เกาะคอร์ซีกา (Corsica) เมื่อตอนที่เขาเกิดนั้น เพิ่งไปเป็นของฝรั่งเศสได้ปีกว่าๆ เท่านั้นเอง ดังนั้น พ่อแม่ของเขาจึงเป็นคนอิตาเลียนโดยแท้ นอกจากนั้นแล้ว นโปเลียนยังเคยดำรงตำแหน่ง ‘ราชาแห่งอิตาลี’ ระหว่าง ค.ศ. 1805 – 1814 ด้วย 

อาจฟังดูว่าฉันช่างเป็นนักวรรณคดีศรีอักษรศาสตร์โดยแท้ ที่พอพูดถึงเดือนพฤษภาคม ก็มีจิตประหวัดคิดถึงกวีนิพนธ์ขึ้นมา ความจริงสารภาพว่า ฉันเคยมีประวัติเด๋อๆ กับกวีนิพนธ์บทนี้ตอนเรียนอยู่โบโลญญา อาจารย์ผู้สอนพูดถึงงานชิ้นนี้แต่ฉันไม่รู้จักมาก่อน ฟังไปก็จดไปพลางคิดว่า เอ๊ ทำไมอาจารย์เอาแต่พูดถึงวันที่ 5 พฤษภาคม กลับบ้านมาค้นมาอ่านดูอีกทีถึงได้รู้ จากนั้นใครพูดถึงวันนี้เป็นภาษาอิตาเลียน ฉันก็ไม่นึกถึงอะไรอื่นอีกเลยนอกจากนโปเลียนและมันโซนี

สิ่งสุดท้ายที่จะกล่าว (หากแต่เป็นสิ่งแรกที่นึกถึง แต่ไม่กล้าขึ้นต้นเรื่อง เพราะดูโรแมนติกเกิน) ฉันนึกถึงดอกไม้อย่างหนึ่งของอิตาลี ซึ่งหน้าตาเหมือนราชพฤกษ์หรือดอกคูนมาก ชื่อ Maggiociondolo หรือ Ciondolo di maggio (มัจโจชนโดโล-ชนโดโล ดิ มัจโจ) อันมีความหมายเหมือนกัน คือ จี้ (สร้อยคอ) แห่งเดือนพฤษภาคม

พฤษภาคมปีนี้ ไม่ว่าที่อิตาลีหรือที่ไหน คงไม่ได้น่ารื่นรมย์เหมือนอย่างเคย ขออวยพรให้เดือนพฤษภาคมทั้งของอิตาลีและของไทยกลับมา ‘สดชื่นและสวยงามเหมือนเดือนพฤษภาคม’ อีกครั้งโดยเร็ว ☺

แหล่งข้อมูล

tg24.sky.it/

Nicola Zingarelli, lo Zingarelli 2021: Vocabolario della lingua italiana, a cura di Mario Camella, Beata Lazzarini, Andrea Zaninello

Writer

Avatar

สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์

‘ครูก้า’ ของลูกศิษย์และลูกเพจ ผู้เชื่อ (ไปเอง) ว่าตัวเองเป็นครูสอนภาษาอิตาเลียนมือวางอันดับหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ หัวหน้าทัวร์ผู้ดุร้าย นักแปลผู้ใจเย็น ผู้เชิดหุ่นกระบอกมือสมัครเล่น และนักเขียนมือสมัครเล่นเข้าไปยิ่งกว่า