แม่ริม เซรามิค สตูดิโอ คือ โรงงานเซรามิกในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผลิตกระเบื้องและถ้วยชามเซรามิกมามากกว่า 50 ปี และเคยต้อนรับบุคคลมีชื่อเสียงจำนวนมากที่เดินเข้าในโรงงานเพื่ออุดหนุนฝีไม้ลายมือของพวกเขา ตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ, Francis Ford Coppola (ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา) ผู้กำกับชื่อดังจากภาพยนตร์ The Godfather, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ท่านมุ้ย-หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล, ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ พี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ และร่วมงานกับโปรเจกต์ใหญ่ๆ ของประเทศจำนวนมาก 

ผลงานทั้งหมดนี้ล้วนมาจากฝีมือช่างมือดีในโรงงานที่มีจำนวนเพียง 20 คน ซึ่งช่างหลายคนอยู่มาตั้งแต่โรงงานก่อตั้ง แม่ริม เซรามิค ตั้งใจว่าจะยังคงทำงานเซรามิกทุกชิ้นแบบแฮนด์เมด ทำให้โรงงานแห่งนี้ใช้เวลาในการผลิตค่อนข้างนานกว่าโรงงานอื่นที่ใช้ระบบเครื่องจักร กระทั่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เคยเอ่ยปากแซวไว้ด้วยอารมณ์ขันว่า 

“โรงงานแห่งนี้ปิ้งเซรามิกทีละแผ่น ไม่ต่างอะไรกับการทำขนมปังปิ้ง”

แม่ริม เซรามิค โรงงานกระเบื้องแฮนด์เมดเชียงใหม่ที่มีลูกค้าเป็น ผกก. The Godfather

ในเมื่อทำงานได้ช้ากว่าคนอื่น และผลิตคราวละจำนวนมากๆ เท่าโรงงานที่ใช้ระบบเครื่องจักรไม่ได้ แล้วอะไรที่ทำให้ผลงานของ แม่ริม เซรามิค ถูกใจผู้คนมีชื่อเสียงจำนวนมาก เสน่ห์แบบไหนในชิ้นงานของพวกเขาที่ทำให้โรงงานแห่งนี้เคยทำงานให้กับโปรเจกต์ใหญ่ๆ ระดับประเทศ ได้ร่วมงานกับนักออกแบบรุ่นเก๋าและรุ่นใหม่ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน และยังเคยได้รับเกียรติจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ทรงใช้ที่นี่เป็นสถานที่สร้างสรรค์ผลงานเซรามิกของพระองค์หลายครั้ง โดยมี ประดิษฐ์ ศรีวิชัยนันท์ ผู้ก่อตั้งเป็นผู้คอยให้คำแนะนำ

แม่ริม เซรามิค โรงงานกระเบื้องแฮนด์เมดเชียงใหม่ที่มีลูกค้าเป็น ผกก. The Godfather

บัดนี้ประตูโรงงานเปิดออกแล้ว หม่าว-ดลใจ ศรีวิชัยนันท์ ทายาทรุ่นสองกำลังยืนยิ้มแป้นอย่างอารมณ์ดี เชื้อเชิญให้เราก้าวเข้าไปในโรงงานพร้อมฟังเรื่องราวของ แม่ริม เซรามิค สตูดิโอ

บนเส้นทางระหว่างตัวเมืองเชียงใหม่ไปหรือกลับอำเภอแม่ริมอยู่บ้าง เชื่อว่าหลายคนน่าจะคุ้นตากับป้ายที่ปูพื้นหลังด้วยกระเบื้องสีขาว มีกระเบื้องเซรามิกแกะเป็นรูปตัวอักษรสีดำคำว่า ‘แม่ริม เซรามิค’ ป้ายนี้ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าโรงงาน ตั้งอยู่ที่แห่งนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2515 โดยประดิษฐ์ ศรีวิชัยนันท์ ศิลปินเซรามิกชื่อดังของประเทศ ผู้เคยเล่าเรียนศิลปะจากการเป็นศิษย์ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

“คุณพ่อเคยเรียนศิลปะกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ศิลปากร รุ่นเดียวกับ อาจารย์อวบ สาณะเสน พอจบก็มีโอกาสทำงานกับกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนจะได้ทุนโคลัมโบ (Colombo Plan) เป็นทุนที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศญี่ปุ่นต้องชดใช้จากการพ่ายแพ้สงครามด้วยการให้ทุนการศึกษากับนักศึกษาในประเทศที่ตนเองไปบุกรุก ซึ่งเซ็นสัญญาที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เลยใช้เป็นชื่อทุน ส่วนคุณพ่อเดินทางไปเรียนเซรามิก ประเทศญี่ปุ่น พอกลับมาก็ใช้ความรู้ที่เรียนไปช่วยพัฒนาเทคนิคต่างๆ กับไทยศิลาดล” หม่าวเล่าเรื่องราวการเดินทางในชีวิตของพ่อ

“หลังจากทำงานที่ไทยศิลาดลอยู่พักหนึ่ง ตอนนั้นที่กรุงเทพฯ กำลังมีโปรเจกต์สร้างโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัลขึ้นมา ปัจจุบันกลายเป็นห้างพารากอนไปแล้ว ตอนนั้นโรงแรมมีสถาปนิกชาวอิตาลีเป็นผู้ออกแบบ เป็นอาคารทรง Low-rise ถือว่าทันสมัยมาก และเขาตั้งใจออกแบบรูปทรงหลังคาให้คล้ายคลึงกับหมวกของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทีนี้เขาพยายามหาคนที่จะทำกระเบื้องหลังคา ก็มีคนแนะนำชื่อคุณพ่อขึ้นมา ท่านเลยตัดสินใจออกจากไทยศิลาดลมาสร้างสตูดิโอของตัวเองที่แม่ริม โดยผลงานแรกของโรงงานคือ กระเบื้องหลังคาโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล”

แม่ริม เซรามิค จึงเกิดขึ้นมาโดยเลือกที่ตั้งบริเวณอำเภอแม่ริม เนื่องจากใกล้กับแหล่งดินดีที่นำมาใช้ทำงานเซรามิก และเลือกคนในท้องที่มาเป็นช่างในโรงงาน อยู่กันแบบพี่น้อง และยังคงทำงานกับโรงงานมาถึงวันนี้

นอกจากนั้นที่นี่ยังถือเป็นโรงงานแรกๆ ของประเทศที่นำภูมิปัญญาการทำกระเบื้องเซรามิกมาใช้กับงานออกแบบร่วมสมัย ซึ่งกลายเป็นจุดเด่นมาจนถึงปัจจุบัน

แม่ริม เซรามิค โรงงานกระเบื้องแฮนด์เมดเชียงใหม่ที่มีลูกค้าเป็น ผกก. The Godfather
แม่ริม เซรามิค โรงงานกระเบื้องแฮนด์เมดเชียงใหม่ที่มีลูกค้าเป็น ผกก. The Godfather
แม่ริม เซรามิค โรงงานกระเบื้องแฮนด์เมดเชียงใหม่ที่มีลูกค้าเป็น ผกก. The Godfather

“คุณพ่อได้รับอิทธิพลจากคำสอนของอาจารย์ศิลป์เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความขยัน อ่านหนังสือให้เยอะ ซึ่งสิ่งที่พ่อได้มากที่สุดคือเรื่องรสนิยม ก่อนพ่อจะได้เรียนกับอาจารย์ศิลป์ก็เป็นแค่เด็กต่างจังหวัดธรรมดา แต่พอคลุกคลีอยู่กับอาจารย์ ทำให้ท่านได้รับรสนิยมต่างๆ ของอาจารย์ศิลป์มาด้วย คุณพ่อเป็นคนที่ชอบฟังเพลงคลาสสิก ก็เพราะอาจารย์ศิลป์เปิดฟังสมัยที่ท่านเรียนอยู่ ท่านเปิดหูเปิดตาเกี่ยวกับแนวคิดศิลปะต่างๆ ก็เพราะอาจารย์ศิลป์ ศิลปะเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาอยู่ตลอด แม่ริม เซรามิค จึงชอบทุกครั้งเวลาได้ทำงานกับนักออกแบบ ได้ร่วมพัฒนางานไปด้วยกัน”

จุดเด่นอย่างหนึ่งของแม่ริม เซรามิค คืองาน Custom Made หรืองานตามสั่ง เช่น การพัฒนารูปทรง สีของกระเบื้องต่างๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ และแม่ริม เซรามิค ก็ให้เกียรติลูกค้าด้วยการตั้งชื่อกระเบื้องตามชื่อลูกค้า

แต่ละชื่อสนุกมาก ขอยกตัวอย่างให้ฟัง เช่น กระเบื้องสีหม่อมดา เป็นสีกระเบื้องที่เกิดจากความต้องการของ หม่อมหลวงสุดาวดี เกรียงไกร นักออกแบบตกแต่งภายในชื่อดังของไทย กระเบื้องสีเขียวเชียงราย จากลูกค้าชาวเชียงรายคนแรกของโรงงาน กระเบื้องสีเหลืองมัณฑะเลย์ ของโรงแรมดาราเทวี เป็นชื่อเมืองที่โรงแรมนำมาใช้เป็นต้นแบบในการออกแบบ และสีดำฟรานซิส สีดำที่มาจากความต้องการของ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า (Francis Ford Coppola) ผู้กำกับหนังชื่อดังจากผลงาน The Godfather ที่กลายเป็นหนังอมตะขึ้นหิ้งของวงการภาพยนตร์โลก

แม่ริม เซรามิค โรงงานกระเบื้องแฮนด์เมดเชียงใหม่ที่มีลูกค้าเป็น ผกก. The Godfather
เบื้องหลังโรงงานกระเบื้องเซรามิกแฮนด์เมด จังหวัดเชียงใหม่ ที่เชื่อในคุณค่าการสร้างงานด้วยสัมผัสของมนุษย์

“ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า เป็นหนึ่งในลูกค้าที่เราประทับใจมาก ด้วยความที่เราเป็นแฟนหนังของเขา แกเดินทางมาที่โรงงานเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว เพื่อมาหากระเบื้องไปตกแต่งภายในโรงแรมที่กำลังสร้าง แต่ใครจะคิดใช่มั้ยว่า จู่ๆ ผู้กำกับในดวงใจจะเดินเข้ามาในโรงงานของเรา วันนั้นเขาใส่ผ้าขาวม้ามาด้วย พอเห็นหน้าปุ๊บ เราเข้าไปทักอย่างสนิท นึกว่าเพื่อนมาหา เพราะคุ้นหน้าเขามาก ด้วยความที่เรามีเพื่อนเยอะ ก็คิดว่าอาจจะเป็นเพื่อนของเพื่อนก็ได้มั้งถึงได้คุ้นหน้า ก็ทักเขาอย่างสนิทเลย ภรรยาเขาหันมาถามเรา นี่รู้จักกันเหรอ เราก็ตอบเต็มปากเต็มคำเลยว่า Yes! 

“แต่ฟรานซิสบอก No!” หม่าวหยุดหัวเราะอย่างสนุกสนาน “ตอนนั้นเราก็ยังคิดนะ เพื่อนจำเราไม่ได้หรือเปล่าวะ เพราะเราคุ้นหน้าเขามาก จนกระทั่งคุยเรื่องสีกระเบื้องกันเสร็จ เขากลับไป บอกว่าจะส่งอีเมลกลับมาคุยรายละเอียดกันต่อ ทีนี้แหละพออ่านถึงท้ายอีเมลเขาลงชื่อไว้ว่า F.F. Coppola เราหงายหลังตกเก้าอี้ลงไปนั่งกับพื้นเลย อายมาาาาาาาก” เธอลากเสียงยาวเน้นคำ “ใครจะไปนึกไปฝันว่าเขาจะมาโผล่ที่โรงงานเรา ก็ว่าหน้าคุ้น นึกแล้วก็โคตรอายเลย” 

นี่จึงเป็นที่มาของกระเบื้องสีดำฟรานซิสที่แสดงอยู่ท่ามกลางกระเบื้องสีอื่นๆ ในส่วนห้องแสดงผลงาน

เบื้องหลังโรงงานกระเบื้องเซรามิกแฮนด์เมด จังหวัดเชียงใหม่ ที่เชื่อในคุณค่าการสร้างงานด้วยสัมผัสของมนุษย์
เบื้องหลังโรงงานกระเบื้องเซรามิกแฮนด์เมด จังหวัดเชียงใหม่ ที่เชื่อในคุณค่าการสร้างงานด้วยสัมผัสของมนุษย์

“ตอนนั้นที่คุณฟรานซิสมาไทย เขาไม่ได้สั่งแค่กระเบื้องเซรามิกจากเรา แต่ยังสั่งทำตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเพื่อเอากลับไปไว้ใช้ที่โรงแรมด้วย ทีนี้เราก็ลุ้นกันฉิบหายเลย ใครจะพัฒนาได้เสร็จก่อนกัน ถ้าเราทำเสร็จช้ากว่าการพัฒนาตุ๊กตุ๊กไฟฟ้านี้ฉิบหายแน่ๆ ” หม่าวหัวเราะสนุก “แต่สุดท้ายเราก็ทำเสร็จเร็วกว่านะคะ รอดตัวไป” เธอหัวเราะอย่างร่าเริง

พวกเขาตั้งใจไว้ว่าจะทำงานของพวกเขาแบบแฮนด์เมด โดยไม่ใช้เครื่องจักร และด้วยจำนวนช่างฝีมือดีที่มีเพียง 20 คนเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลให้งานของพวกเขาค่อนข้างช้ากว่าโรงงานที่ผลิตด้วยระบบอุตสาหกรรม

“เรามองว่านี่เป็นเอกลักษณ์ที่เราตั้งใจเก็บไว้ แม้ปัจจุบันจะมีเครื่องมาช่วยทุ่นแรง แต่เราก็จะยังเก็บขั้นตอนการตกแต่งที่ทำด้วยมือของช่างเอาไว้ เพราะการที่เราแต่งงานเซรามิกด้วยมือ มันมีน้ำหนัก มีสัมผัสของความเป็นมนุษย์ มันคือ Human Touch ไม่เหมือนงานที่ตัดออกมาด้วยเครื่องจักร ซึ่งแน่นอนว่าเร็วกว่าคนทำเยอะมาก งานก็ออกมาเนี้ยบทุกชิ้นเหมือนกันเป๊ะๆ แต่เรามองว่ามันขาดเสน่ห์ความเป็นมนุษย์ในชิ้นงานไป

“มีครั้งหนึ่งคนอิตาลีมาที่โรงงาน เขาเห็นโอ่ง แล้วถามเราว่าอยากได้โอ่งแบบนี้สักสองร้อยห้าสิบใบ ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ เราก็หัวเราะ บอกเขารอเดี๋ยวนะ ไปหยิบเครื่องคิดเลขแป๊บ โอเค สองร้อยห้าสิบใบ ใช้เวลาทั้งหมดสี่ปีกับอีกสามสิบเอ็ดวัน เขาตกใจ บอกกลับมา What kind of business is this!? (นี่เธอทำธุรกิจแบบไหนกันเนี่ย) 

แม่ริม เซรามิค โรงงานกระเบื้องแฮนด์เมดเชียงใหม่ที่มีลูกค้าเป็น ผกก. The Godfather
แม่ริม เซรามิค โรงงานกระเบื้องแฮนด์เมดเชียงใหม่ที่มีลูกค้าเป็น ผกก. The Godfather

“เราบอกกึ่งหัวเราะกลับไปว่า ‘นี่แหละ ธุรกิจแบบของฉัน’ แม่ริม เซรามิค ตั้งใจจะทำงานแฮนด์เมดตลอดไป เพราะมันคือกระเบื้องแฮนด์เมด เป็นกระเบื้องที่ทำกันแบบสตูดิโอ เราเชื่อว่ามีคนที่ชื่นชอบงานแบบนี้อยู่ เรามีตลาดของเรา โอ่งนั้นเราก็ตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อจะขายแค่ใบเดียว เหมือนงานศิลปะ เราไม่ต้องการจะขายเยอะตั้งแต่แรก

“เราเชื่อว่ากระเบื้องหรืองานเซรามิกที่มีสัมผัสของความเป็นมนุษย์ มันอาจจะไม่เนี้ยบ แต่ก็มีเสน่ห์ของงานฝีมือ ของสิ่งที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ กระเบื้องแต่ละแผ่นมีเรื่องราว สมมติว่ากระเบื้องแผ่นนั้นทำตอนที่พี่คนหนึ่งกำลังชุบสี เวลาทำงานแกชอบเล่าเรื่องสามีไปด้วย ไม่ก็เรื่องละครที่ดูเมื่อคืน เวลาชุบสีจะมีน้ำหนักมืออยู่ ถ้าถึงช่วงเล่าเรื่องที่เข้มข้นมากๆ แกก็จะเค้นหนักมือหน่อย แต่ที่อื่นที่ใช้สเปรย์ ใช้เครื่องจักร มันจะไม่มีอารมณ์ตรงนี้ 

“เรามองว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นตอนนั้นมันคือเสน่ห์ ที่กระเบื้องแต่ละแผ่น ถ้วยชามเซรามิกแต่ละใบไม่เหมือนกัน มันไม่สมบูรณ์หรอก เพราะมีส่วนเสี้ยวของความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ทำอยู่ในงานแต่ละชิ้น เราตั้งใจเก็บตรงนี้ไว้

“เพราะฉะนั้น เวลาที่เราจะรับงาน เราต้องถามพี่ช่างที่ทำในโรงงานก่อนว่า เขาทำให้เสร็จได้เมื่อไหร่ พ่อของเราสนิทกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มาก ตอนท่านย้ายมาอยู่เชียงใหม่ก็สั่งกระเบื้องจากเราไปใช้เยอะมาก ท่านก็เคยแซวความช้าของกระเบื้องเราเอาไว้ว่า เป็นกระเบื้องปิ้งทีละแผ่น” หม่าวหัวเราะให้กับวันวาน

“พอต้องใช้เวลาในการทำตามออเดอร์ต่างๆ เราเลยไม่มีสต็อก ไม่เคยเปิดตลาดอะไรกับเขา เพราะมีออเดอร์เข้ามาตลอด เราไม่มีเวลาไปทำอะไรแบบนั้นจริงๆ เราโชคดีที่เจอลูกค้าที่เข้าใจ เขารู้ว่างานแฮนด์เมดมันมีคุณค่ากับการรองานจากฝีมือของคนทำ หลายคนตั้งใจมากที่จะได้งานจากโรงงานของเรา ซึ่งคุณพ่อสอนเราเสมอว่า ไม่ว่าลูกค้าจะรายใหญ่หรือรายเล็ก เราก็ต้องดูแลเขาให้เท่ากัน บางคนเขาเก็บตังค์แทบตายเพื่อซื้อกระเบื้องเราไปไว้ที่บ้าน 

“บางคนมาวางมัดจำ เขามีสมุดบัญชีตั้งหกเจ็ดเล่มเพื่อไปถอนเงินมาใช้เป็นค่าจ้างเรา ต่อให้เขาขอให้เราทำแค่หนึ่งตารางเมตร เราก็ทำให้ เพราะลูกค้ามีความตั้งใจ มีความต้องการงานของเราจริงๆ ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าน่ารัก เขารอได้ พอได้ชิ้นงานกลับไปก็ดีใจกับกระเบื้องที่ได้ สงสัยเพราะรอนานจนได้สักที” เธอหัวเราะสนุก “ล้อเล่นนะคะ”

กระเบื้องของแม่ริม เซรามิค เป็นงานแฮนด์เมดที่ทำอย่างประณีตทุกแผ่น และผ่านมือช่างฝีมือที่มีประสบการณ์มานานตั้งแต่โรงงานเปิด นับแล้วก็เป็นเวลามากกว่า 50 ปี เมื่อเทียบราคากับคุณภาพที่ได้รับก็ถือว่าไม่สูงเลย โดยจะคิดสีปกติตารางเมตรละ 950 บาท สีพิเศษตารางเมตรละ 1,000 กว่าบาทเท่านั้นเอง

อีกเอกลักษณ์หนึ่งของแม่ริม เซรามิค ก็คือเรื่องของสีกระเบื้องที่ไม่เท่ากัน

เบื้องหลังโรงงานกระเบื้องเซรามิกแฮนด์เมด จังหวัดเชียงใหม่ ที่เชื่อในคุณค่าการสร้างงานด้วยสัมผัสของมนุษย์

“อันนี้เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คนที่มาหาเรา เขาจะเข้าใจธรรมชาติของโรงงานเรา ว่ามันเป็นกระเบื้องแฮนด์เมด มันไม่เนี้ยบนะ และสีมันจะไม่เหมือนกันเป๊ะ ซึ่งเกิดจากตำแหน่งวางกระเบื้องในเตา อันที่แก่ไฟโดนไฟเยอะ ก็จะออกมาคนละสีกับที่โดนไฟน้อยกว่า กระเบื้องของเราจึงต้องวางแบบคละสี ไม่ได้เหมือนกันหมด ซึ่งเรามองว่าเป็นเสน่ห์ มีความเป็นธรรมชาติบางอย่าง แต่บางคนที่ไม่เข้าใจเขาก็จะบอกว่าห่วย ซึ่งเราก็จะเอากระเบื้องของเราคืนมา สุดท้ายพอมีคนทราบข่าว แป๊บเดียวก็มีคนมาซื้อต่อแล้ว เราถึงบอกว่า เรารู้สึกโชคดีเสมอมาที่มีลูกค้าที่เข้าใจงานของเรา”

ปัจจุบันโรงงานแม่ริม เซรามิค ดูแลบริหารโดยทายาทรุ่นที่ 2 สองพี่น้อง หม่าว และ หมึก-กิติกร ศรีวิชัยนันท์ ศิลปินเซรามิก อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เป็นพี่ชาย

ทั้งคู่เลือกเรียนศิลปะที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยความตั้งใจจะกลับมาทำแม่ริม เซรามิค ต่อ โดยหมึกได้ทุนไปศึกษาด้านเซรามิกที่อิตาลี ส่วนหม่าวเรียนต่อด้านบริหารการออกแบบจากประเทศอังกฤษ

“ด้วยความที่เราสามคน พ่อและลูกๆ จบกันมาคนละแนวเลย เวลาคุยงานกันก็จะไปคนละแนว พี่ชายก็อีกแนว พ่อก็อีกแนว ส่วนเราคอยวิจารณ์ทั้งคู่ เพราะเราเรียนการบริหารการออกแบบมา สุดท้ายพ่อชนะ” หม่าวหัวเราะแซวคุณพ่อ “ล้อเล่นนะคะ จริงๆ มันทำให้งานออกแบบของเรามีความหลากหลายและสมดุลมากขึ้น เพราะเรามีหลายมุมมอง

“เวลาออกแบบงาน แม่ริม เซรามิค ไม่ใช่คนที่บ้าตามเทรนด์จนเกินไป ไม่ใช่ว่าเราไม่ยอมรับ เรารู้ว่าตอนนี้คนชอบอะไร ประมาณไหน แต่เราออกแบบอะไรที่ตอบรับกับความทันสมัยจ๋าไม่ได้ กระเบื้องเป็นอะไรที่ติดอยู่กับผนังบ้านหรืออาคารไปอีกนาน ทาสีทับไม่ได้ง่ายๆ จะเปลี่ยนทีก็เรื่องใหญ่ เราจึงพยายามทำอะไรที่ออกมาแล้วคลาสสิก มีความร่วมสมัย กระเบื้องบางแบบเราทำตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ จนตอนนี้รุ่นลูกมาเห็นก็ยังรู้สึกชอบอยู่เลย

“เราต้องการให้มันยืนยาวอยู่เหนือกาลเวลา การออกแบบที่คลาสสิกขนาดนั้นจะต้องดูไม่แรงเกินไป ต้องมีความอบอุ่น ไม่ว่าจะลักษณะของสีหรือรูปทรงตัวกระเบื้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะคนที่อยู่ในโรงงานด้วย กระเบื้องของเราเลยมีสัมผัสของความเป็นมนุษย์ที่อบอุ่นอยู่ ดังนั้น เราเลยไม่เคยทำแคตตาล็อกกระเบื้องเลย เรารู้สึกว่าการมองกระเบื้องจากภาพ ไม่เท่ากับการที่เราส่งตัวอย่างกระเบื้องของจริงไปให้เขาสัมผัส ให้เขาเห็นด้วยตาจริงๆ

“คำที่บอกว่างานชิ้นนี้มีจิตวิญญาณ อาจดูเป็นคำที่ศิลปินมากๆ ดูเข้าใจยาก เข้าไม่ถึง แต่สำหรับกระเบื้องเซรามิก มันเป็นชิ้นงานที่อยู่ในบ้าน อยู่ใกล้ชิดกับตัวเรา และอยู่กับเราไปอีกนาน เราเชื่อว่าลูกค้าที่เห็นงานของแม่ริม เซรามิค ถ้าได้ลองสัมผัส เขาจะเข้าใจในสิ่งที่เราพยายามทำ พยายามรักษาไว้ และความเป็นมนุษย์ในชิ้นงานมีคุณค่าของมันอยู่จริงๆ เราเชื่อว่าใครที่มาเห็นงานที่โรงงานก็จะรับรู้สิ่งนั้นได้เช่นกัน” เธอพูดด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

เบื้องหลังโรงงานกระเบื้องเซรามิกแฮนด์เมด จังหวัดเชียงใหม่ ที่เชื่อในคุณค่าการสร้างงานด้วยสัมผัสของมนุษย์

ผู้ที่สนใจดูงานใน แม่ริม เซรามิค สตูดิโอ โรงงานเปิดทำการตั้งแต่ 09.00 – 17.00 น. (หยุดทุกวันอาทิตย์) 

โดยติดต่อนัดหมายล่วงหน้าที่เบอร์โทรศัพท์ 08 1993 9035 

สำหรับผู้ที่ชอบการ Mix & Match จับคู่กระเบื้องให้ไม่เหมือนใคร ที่แม่ริม เซรามิค สตูดิโอ มีกองกระเบื้องเซรามิกที่ไม่ผ่านเกณฑ์และถูกคัดออกอยู่มาก จึงยินดีให้เข้ามาเลือกซื้อได้ในราคาไม่แพง เพื่อไม่ให้งานที่พวกเขาทำต้องถูกทิ้ง อีกอย่างช่วยลดทรัพยากร และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกการตกแต่งบ้านแบบ Zero Waste ด้วยนะ

Writer

Avatar

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่เชียงใหม่

Photographer

Avatar

A.W.Y

ช่างภาพจากเชียงใหม่ที่ชอบของโบราณ ยุค 1900 - 1990