“ลื้อบอกกลับมาเที่ยวนี้เพื่อจะไปราชการที่แม่ฮ่องสอน ไปทำอาราย” คำถามจากพ่อถึงผม ผู้ซึ่ง
เพิ่งถูกส่งตัวจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยให้ไปทำงานที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟุกุโอะกะ ประเทศญี่ปุ่นได้เกือบ 6 เดือน

เป็นคำถามง่าย ๆ สไตล์บทสนทนาระหว่างพ่อกับลูก แต่ขอยอมรับว่าผมต้องใช้เวลาเรียบเรียงความคิดอยู่ประมาณหนึ่งเลยทีเดียวว่าจะตอบอย่างไรให้ป๊า นักธุรกิจที่เกษียณแล้ววัย 84 เข้าใจถึงความเกี่ยวข้องของทริปนี้กับภารกิจด้านการทูตที่ผมได้ทำมาร่วม 25 ปีแล้ว 

“อ๋อ ก็เอาหมอไปตรวจร่างกายครับ แต่คราวนี้เป็นการพาหมอที่เชี่ยวชาญด้านขยะจากญี่ปุ่น ไปตรวจระบบบริหารจัดการขยะชุมชนของเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนและเทศบาลตำบลปาย” ผมพยายามยกอุปมาอุปไมยมาอธิบายให้ป๊าเข้าใจ

ท่านที่เคยผ่านตางานเขียนของผมใน The Cloud มาบ้าง ก็คงจะคุ้น ๆ ครับว่า ในฐานะนักการทูตคนหนึ่ง ผมมีความตั้งใจที่จะ ‘ผลิตงานเขียนที่สะท้อนเรื่องราวดี ๆ ที่ได้พบได้เห็นในขณะไปประจำการในต่างประเทศ เพื่อจุดประกายให้ใครก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ นำไปใช้เพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศไทย’
ด้วยเห็นว่าภารกิจดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของ ‘การทูตเพื่อประชาชน’
ดังนั้น การไปแม่ฮ่องสอนของผมครั้งนี้จึงเป็นการต่อยอดความตั้งใจข้างต้น เพื่อแปลง ‘ตัวหนังสือ’ ไปสู่การ ‘ลงมือทำ’ โดยมีแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่นำร่อง หรือที่ศัพท์สมัยใหม่เรียก ‘แซนด์บ็อกซ์’

คำถามคือ ทำไมต้องเป็นเรื่องการบริหารจัดการขยะ และทำไมต้องที่แม่ฮ่องสอน

ตอบแบบสั้น ๆ ทว่าเป็นข้อเท็จจริง คือผมรู้จักมักคุ้นกับ คุณชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนปัจจุบัน เพราะเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องจากสถาบันการศึกษาเดียวกัน และเผอิญเป็นแฟนตัวยงของทีมฟุตบอลอังกฤษที่เคยรุ่งเรืองในยุค 80 เหมือนกัน จึงถามท่านไปในช่วงเดือนแรก ๆ ที่ผมไปประจำการที่ฟุกุโอะกะและท่านเพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ ว่า หากแม่ฮ่องสอนต้องการเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practices) จากฟุกุโอะกะเรื่องหนึ่ง จังหวัดสนใจเรื่องอะไร ซึ่งหลังจากที่ท่านผู้ว่าฯ ได้ประชุมกันภายในจังหวัด ‘การบริหารจัดการขยะชุมชน’ ก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหัวข้อที่สนใจจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับญี่ปุ่น โดยมีเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนและเทศบาลตำบลปายเป็นพื้นที่นำร่อง

น่าจะเลือกหัวข้อไม่ผิดครับ เพราะหากใครได้มาเที่ยวญี่ปุ่น คงสังเกตได้ว่าบ้านเมืองเขาสะอาด
(แม้จะหาถังขยะตามท้องถนนได้ยากมาก จนต้องพกติดตัวทั้งวันเพื่อกลับไปทิ้งที่บ้านหรือที่โรงแรม!!!) เพราะมีแนวปฏิบัติด้านขยะที่เป็นเลิศมาก ตั้งแต่ต้นน้ำหรือ ‘การกำเนิดขยะ’ ซึ่งมีกฎหมายที่ชัดเจนและบังคับใช้จริง กลางน้ำหรือการที่ผู้ทิ้งต้อง ‘คัดแยกขยะ’ นำกลับไปใช้ใหม่ เพื่อให้เหลือขยะไปสู่การเผากำจัดหรือฝังกลบน้อยที่สุด และปลายน้ำหรือการกำจัดขยะซึ่งมีเทคโนโลยีต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเตาเผาขยะระบบปิดที่เผาจนขี้เถ้ากลายเป็นเกลือ! โรงเผาขยะผลิตไฟฟ้า หรือโรงงานรีไซเคิลวัสดุนั้น ๆ เป็นการเฉพาะ เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย แผงโซลาร์พาแนล 

ท่านที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นคงเข้าใจแนวปฏิบัติข้างต้นเป็นอย่างดี เพราะการทิ้งขยะในญี่ปุ่นมีกระบวนการและขั้นตอนที่ยุ่งยากมากเมื่อเทียบกับของไทย ทั้งการต้อง ‘ซื้อถุงขยะใส’ จากเทศบาลท้องถิ่น โดยหากไม่ใช้ถุงขยะของเทศบาล ขยะของเราก็จะไม่ถูกเก็บไปจากหน้าบ้านเรา และหากใช้ถุงขยะฉลากผิดสี ขยะก็จะไม่ถูกเก็บไปเช่นกัน (สำหรับเทศบาลที่ผมอยู่ สีแดงสำหรับขยะเผาได้รวมถึงเศษอาหาร สีน้ำเงินสำหรับขยะเผาไม่ได้ เช่น กระป๋องอะลูมิเนียม ฝาขวด และสีเหลืองสำหรับขวดแก้วและขวดพลาสติก) และการมาเก็บขยะแต่ละประเภทแยกกันเฉพาะตามวันที่กำหนดเท่านั้น (สำหรับเทศบาลที่ผมอยู่ ขยะเผาได้รวมถึงเศษอาหาร เก็บเฉพาะคืนวันพุธและคืนวันอาทิตย์ ขยะเผาไม่ได้เก็บเดือนละครั้งในคืนวันอังคารที่ 2 และขยะขวดรีไซเคิลเก็บเดือนละครั้งเช่นกันในคืนวันอังคารที่ 4) ตลอดจนการซื้อตั๋วทิ้งขยะพิเศษสำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะชิ้นใหญ่ 

อ่านไม่ผิดครับ ถุงขยะที่นั่นต้อง ‘ซื้อ’ และเป็นถุงโปร่งใสเพื่อให้เห็นของข้างใน ซึ่งหากถุงขยะของเราไม่ถูกเก็บไปเพราะเราใช้ถุงขยะฉลากผิดสีหรือทิ้งไม่ถูกวันของประเภทขยะที่เก็บ เราก็จะถูกมองจากเพื่อนบ้าน (หากหลายครั้งเข้า ก็อาจพัฒนาเป็น ‘นินทา’) และใช่ครับ สำหรับขยะขวดรีไซเคิลต่าง ๆ ทั้งกระป๋องอะลูมิเนียม ขวดแก้ว และขวดพลาสติก รถขยะมารับแค่เดือนละ 1 ครั้ง

หลังจากฝ่ายจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้กำหนดพื้นที่นำร่องและเลือกหัวข้อแล้ว ภารกิจการทูตขยะ ๆ ของผมและสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟุกุโอะกะจึงอุบัติขึ้น โดยเริ่มจากการประสานงานกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัดฟุกุโอะกะ เพื่อขอรับคำแนะนำผู้เชี่ยวชาญที่เหมาะสม และการประสานงานกับฝ่ายจังหวัดและเทศบาล เพื่อวางแผนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำกำหนดการลงพื้นที่ศึกษาข้อเท็จจริง และเมื่อทุกอย่างลงล็อก คณะจากสถานกงสุลใหญ่ฯ และผู้เชี่ยวชาญด้านขยะ 2 ท่าน คือ ศ.ดร. Koji Takakura และคุณ Ken Sawada ซึ่งมีประสบการณ์นับสิบ ๆ ปีในด้านการวางระบบบริหารจัดการขยะให้กับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ได้ลงพื้นที่กันเมื่อวันที่ 19 – 23 สิงหาคม พ.ศ. 2567

ตลอดช่วง 5 วันของการลงพื้นที่ ฝ่ายจังหวัดทั้งเทศบาลเมืองปายและเมืองแม่ฮ่องสอนได้จัดกำหนดการให้คณะแบบ ‘จัดใหญ่จัดเต็ม’ ด้วยหวังให้คณะได้รับทราบสภาพและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในเวลาที่จำกัด 

ที่เขตเทศบาลตำบาลปาย ซึ่งมีพื้นที่ 2.4 ตร.กม. ประชากร 2,000 ครัวเรือน รวม 3,000 กว่าคนแต่ต้อนรับนักท่องเที่ยวปีละ 400,000!!! ผลิตขยะประมาณ 6 – 12 ตันต่อวัน (ขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยว โดยคนไทยสร้างขยะเฉลี่ยต่อวันที่ 1.12 กิโลกรัม) คณะได้หารือกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงคณะกรรมการ ‘ถนนคนเดินเมืองปาย’ อันเลื่องชื่อ ได้ตื่นตี 4 ครึ่งไปดูการทำงานของรถเก็บขยะ และได้ลงพื้นที่บ่อฝังกลบขยะ (ซึ่งยังคงมีพื้นที่เพียงพอในการฝังกลบได้อีกหลายสิบปี ทว่ามีประเด็นความเสี่ยงจากที่ตั้งที่ติดกับสนามบินปายและห่างแม่น้ำปายเพียง 900 เมตร และยังไม่มีการวางระบบน้ำชะขยะมูลฝอย)

สำหรับเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีพื้นที่ 6 ตร.กม. ประชากร 4,000 ครัวเรือน รวม 7,000 กว่าคนแต่มีประชากรแฝง (รวมนักท่องเที่ยว) รวมวันละ 20,000 คน ผลิตขยะประมาณ 10 – 12 ตันต่อวัน นอกจากการลงพื้นที่บ่อฝังกลบขยะ (ซึ่งมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ที่จำกัด ทำให้ต้องหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยยืดอายุการเต็มของบ่อฝังกลบ) คณะได้หารือกับโรงเรียนห้องสอนศึกษา ในพระอุปถัมภ์ฯ และโรงพยาบาลศรีสังวาลย์เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะของหน่วยงาน ได้ดูแหล่งกำเนิดขยะที่ตลาดสายหยุดของเทศบาล ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านค้าในพื้นที่ต่าง ๆ และได้ดูศูนย์เรียนรู้การแปลงขยะเป็นปุ๋ยหมักและอิฐปูทางเท้า ตลอดจนธนาคารขยะรีไซเคิลของชุมชน

เมื่อเสร็จสิ้นการลงพื้นที่ของแต่ละเทศบาลแล้ว ก่อนแยกย้ายกันไป คณะได้ประชุมสรุปผลกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น พร้อมกับให้ผู้เชี่ยวชาญได้ประเมินผลการ ‘ตรวจร่างกาย’ ในเบื้องต้น เพื่อให้แนวทางและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงระบบบริหารจัดการขยะของเทศบาล

ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นทั้ง 2 คนต่างเห็นตรงกันว่า เมื่อเทียบกับอีกหลายพื้นที่ที่ทั้ง 2 ท่านเคยไปวางระบบให้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ใช้การกำจัดขยะแบบฝังกลบเช่นเดียวกัน (ซึ่งเป็นวิธีที่พบมากที่สุด เนื่องจากมีต้นทุนต่ำ ทำได้ง่ายและเร็วกว่าวิธีอื่น และเหมาะกับจำนวนขยะที่ไม่ถึง 300 ตันต่อวัน) ทั้งเทศบาลเมืองปายและแม่ฮ่องสอนมี ‘ต้นทุน’ การจัดการขยะที่ดี โดยหลายอย่างเป็นแบบอย่างให้พื้นที่อื่น ๆ
ทั้งในไทยและในต่างประเทศได้ด้วย เช่น

  • โครงการถนนปลอดถัง จัดเก็บเป็นเวลา สะอาดตาก่อนสว่าง ของเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งใช้การนัดเวลาให้ประชาชนนำขยะมาวางหน้าบ้านแทนการทิ้งเมื่อใดก็ได้ในถังขยะหน้าบ้านของตนเอง เพื่อป้องกันการหมักหมมของขยะและทัศนะที่อุจาด (ซึ่งมาตรการนี้คล้ายกับแนวปฏิบัติในการเก็บขยะของญี่ปุ่น)
  • การมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการในการบริหารจัดการขยะ โดยเฉพาะที่ถนนคนเดินเมืองปาย ซึ่งผลิตขยะถึงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของขยะที่เทศบาลเก็บได้ทั้งหมด ดังนั้น การหารือกันเพื่อปรับแนวปฏิบัติ หรือนำร่องมาตรการใหม่ ๆ ที่นี่ ก็หมายถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของการกำจัดขยะของเทศบาลได้แล้วเกือบครึ่ง! โดยผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นได้แนะนำให้มีมาตรการที่ ‘ดึงนักท่องเที่ยว’ ให้มามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะด้วย ซึ่งหากทำได้ ก็อาจเป็น ‘จุดขาย’ ใหม่ในด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดด้วย 
  • ธนาคารขยะรีไซเคิลชุมชน ซึ่งให้แต่ละครัวเรือนแยกขยะขวดพลาสติก แล้วทุกวันที่ 6 ของเดือน ให้นำมาส่งให้ผู้นำชุมชนนำไปขายต่อ โดยครัวเรือนที่นำขยะมาขายจะได้เงินฝากในสมุดบัญชีตามปริมาณขยะที่นำมาให้ แต่จะเบิกได้ตามเงื่อนไขที่ชุมชนตกลงกัน เช่น ที่เทศบายตำบาลปาย ให้ครัวเรือนที่มีเงินในบัญชีครบ 300 บาท เบิกเป็นค่าฌาปนกิจของบุคคลในครอบครัวได้ โดยธนาคารจะสมทบให้ 20 เท่าของยอดเงินสะสม
  • การนำขยะเศษอาหาร เศษผักผลไม้มาทำปุ๋ยอินทรีย์จากการย่อยของไส้เดือน และนำปุ๋ยที่ได้คืนให้ครัวเรือนที่แยกขยะ โดยผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นได้แนะนำให้ตั้ง ‘โรงแรมไส้เดือน’ (Worm Hotels) ไว้ในจุดที่มีขยะเศษอาหาร เศษผักผลไม้มาก เช่น หน้าตลาดสด เพื่อให้ประชาชนนำขยะประเภทนี้มาทิ้งให้หมักเป็นปุ๋ยได้เลย แทนการจัดรถไปจัดเก็บขยะอินทรีย์กลับมาหมักที่เทศบาล
  • ระบบการแยกขยะขององค์กรขนาดใหญ่ เช่นที่โรงเรียนห้องสอนศึกษา ในพระอุปถัมภ์ฯ และโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ ซึ่งทำได้อย่างมีมาตรฐานและชัดเจน ทั้งขยะทั่วไป ขยะเปียก ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย 

อย่างไรก็ดี ในเรื่องการแยกขยะ ประเด็นน่าสนใจที่คณะได้ตรวจพบจากการสอบถามนักเรียนมัธยมปลายหญิง 2 คนที่เป็นผู้นำเสนอข้อมูลการบริหารจัดการขยะของโรงเรียน คือนักเรียนแยกขยะได้เฉพาะตอนอยู่ที่โรงเรียน เนื่องจากมีถังขยะสี ๆ แยกประเภทไว้รองรับการคัดแยกขยะถึง 15 จุดทั่วโรงเรียน แต่เมื่อกลับไปที่บ้านหรือไปที่ตลาดเทศบาล กลับไม่พบถังขยะสี ๆ ให้แยกขยะ! 

คณะจึงได้ถามนักเรียนต่อเนื่องถึงสิ่งที่อยากให้ภาครัฐดำเนินการเพื่อให้มีการแยกขยะที่ครบวงจร นักเรียน 2 คนเดิมจึงได้ตอบอย่างฉะฉานว่า “ขอให้มีถังขยะแยกสีในทุกพื้นที่ และให้มีกฎหมายการคัดแยกขยะที่ชัดเจน” ซึ่ง คุณมัลลิกา จีนาคำ นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอนที่นั่งฟังอยู่ด้วยกัน ได้กล่าวในภายหลังว่า เทศบาลตระหนักถึง ‘ข้อต่อ’ ที่ขาดหายไปของการ (ไม่) แยกขยะแล้ว ซึ่งสะท้อนถึงการมี ‘ระบบนิเวศ’ (Ecosystem) ของการบริหารจัดการขยะที่ยังไม่สมบูรณ์ 

ในส่วนของคำแนะนำเบื้องต้น ดร. Takakura เสนอให้เทศบาลทั้ง 2 แห่งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะของผู้ประกอบการและภาคประชาชน โดยเฉพาะ ‘นักท่องเที่ยว’ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะนำไปสู่การลดปริมาณขยะ ตามแนวคิด ‘ขยะเป็นศูนย์’ (Zero Waste) เนื่องด้วยเห็นว่าเป็นวิธีที่ยั่งยืนที่สุดในการจัดการกับปัญหา โดยได้ยกตัวอย่างเมืองโอซากิ จังหวัดคาโกะชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีประชากรไม่ต่างจากของเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนมากนัก มาเป็นกรณีศึกษาของเมืองที่ลดปริมาณขยะได้มากถึง 87 เปอร์เซ็นต์ในเวลาเพียง 9 ปี จากการดำเนินนโยบาย 3R (Reduce / ลด, Reuse / นำกลับมาใช้ใหม่, Recycle / รีไซเคิล) อย่างจริงจัง 

ในเรื่องการนำกลับมาใช้ใหม่ ผู้เขียนได้กล่าวเสริมในที่ประชุมสรุปผลว่า น่าจะเป็นเหตุผลที่ธุรกิจขายของมือสองเฟื่องฟูมากในญี่ปุ่น ซึ่งหลายร้านก็เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวไทย อาทิ 2nd STREET, HARD OFF, BOOKOFF และ ACB เพราะเขาได้สร้างระบบนิเวศให้การทิ้งขยะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะชิ้นใหญ่ ๆ พร้อมกันนี้ จึงได้แนะนำให้เทศบาลทั้ง 2 แห่งส่งเสริมให้มีร้านค้าขายสินค้ามือสองนำร่องในพื้นที่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการนำกลับมาใช้ใหม่อย่างเป็นรูปธรรม

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจรู้สึกเหมือนกันว่า มันเส้นผมบังภูเขาอะไรเช่นนี้!!! เพราะขณะที่เราไขว่คว้าหานวัตกรรมเจ๋ง ๆ ในการกำจัดขยะ เรามักมองข้ามหรือหลงลืมสิ่งสำคัญ (ที่สุด) ที่ผู้เชี่ยวชาญชี้จุดไว้ คือการเร่งสร้างระบบนิเวศที่เปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) ของคนทิ้งขยะ!!! 

“ป๊า ตรวจร่างกายเสร็จแล้ว หมอบอกว่าเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนและปายไม่ต้องผ่าตัดใหญ่นะ แค่เสริมวิตามินไม่กี่ตัวก็พอแล้ว” ผมกล่าวกับพ่อหลังจากกลับจากแม่ฮ่องสอนในค่ำคืนก่อนการเดินทางกลับไปทำ ‘การทูตเพื่อประชาชน’ ต่อที่จังหวัดฟุกุโอะกะ

Writer & Photographer

Avatar

โกศล สถิตธรรมจิตร

นักการทูตไทยที่มีความตั้งใจว่าอยากผลิตงานเขียนที่สะท้อนเรื่องราวดีๆ ที่ได้พบได้เห็นในขณะไปประจำการในต่างประเทศ เพื่อจุดประกายให้ใครก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ นำไปใช้เพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศไทย จบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ อดีตพนักงานบริษัททัวร์ อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของไทย และเคยประจำการในฐานะนักการทูตในสหรัฐฯ (นิวยอร์ก และลอสแอนเจลิส) และเมืองหนึ่งทางตอนใต้ของจีน