“มานอนค้างไหม”
“นอนตรงไหนพี่”
“นอนกับแมวได้”
“นอนในกรงแมวน่ะเหรอครับ”
นั่นคือบทสนทนาระหว่างผมกับ จูดี้-จุรีพร ไทยดำรงค์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสร้างสรรค์ GREYnJ UNITED ถ้าแนะนำกันเร็ว ๆ เธอเป็นครีเอทีฟโฆษณาชื่อดังของโลก ผมโทรหาเธอเพราะได้ยินข่าวว่า เธอเพิ่งทำ ‘Suan Meow Mae Wang’ บ้านแมวสุดสวยเสร็จหมาด ๆ เป็นบ้านแมวในกรงขนาดใหญ่มาก อยู่กลางธรรมชาติที่อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วย้ายแมวจรจัด 63 ตัวที่เลี้ยงไว้ในบ้านที่สุขุมวิทไปอยู่ที่เชียงใหม่แทน
คุยไปคุยมา เธอเล่าเรื่องเบื้องหลังการตัดสินใจซื้อที่ดินขนาดเกือบ 200 ไร่ผืนนี้เมื่อ 5 ปีก่อน แล้วก็ลงมือปลูกต้นไม้อย่างจริงจังกว่า 50,000 ต้น จนเขาลูกนี้จากที่เคยแล้งก็กลับมามีน้ำอีกครั้ง แถมยังมีสัตว์อย่างหมาจิ้งจอก นกยูง ไก่ป่า กระต่ายป่า กลับคืนมาในพื้นที่ เธอเรียกงานนี้ว่า Mae Wang Project จากนั้นก็สร้างบ้านที่ Mae Wang Sanctuary ทำบ้าน ศาลา และบ้านแมว ตอนนี้เธอใช้เวลาอยู่ที่นี่เดือนละ 3 สัปดาห์ ทำสวนผลไม้อินทรีย์ ปลูกผักกินเอง ตอนนี้บ้านที่ออกแบบใหม่ยังไม่เสร็จ เธอเลยพักในบ้านไม้หลังเล็ก ๆ ซึ่งเป็นที่พักของคนงานสวนส้มเดิม
ไหน ๆ ก็ไปถึงเชียงใหม่ ผมเลยขอสัมภาษณ์เธอ 3 เรื่อง เพื่อลง 3 คอลัมน์
อย่างแรก พอดแคสต์ Coming of Age เล่าเรื่องจุดเปลี่ยนครั้งต่าง ๆ ในชีวิตวัย 56 ปี
อย่างที่สอง คอลัมน์ Cloud of Thoughts คุยเรื่องบ้าน 3 หลังของเธอ การเปลี่ยนจากคนทำโฆษณามาอยู่กับธรรมชาติ (รออ่านได้เดือนหน้า)
อย่างที่สาม เรื่องราวของบ้านแมวหลังนี้
เราน่าจะใช้เวลาคุยกันทั้งวัน พี่จูดี้เลยถามว่า แทนที่ผมจะบินไปเชียงใหม่แบบไปเช้าเย็นกลับ อยากพักที่นี่สักคืนไหม
“เอาสิพี่” ผมก็อยากมีประสบการณ์นอนในกรงแมวเหมือนกัน
1
เฉียดชั่วโมง เราก็เดินทางจากสนามบินเชียงใหม่มาถึงวัดถ้ำน้ำฮูซึ่งอยู่ด้านหน้า Mae Wang Sanctuary รถขับเคลื่อนสี่ล้อค่อย ๆ พาเราขึ้นเนินน้อย ๆ ไปตามทางลูกรัง วิวสองข้างทางเริ่มเปลี่ยนจากนาข้าวเป็นสวนส้มที่ครึ้มขึ้นเรื่อย ๆ แล้วพวกเราก็มาถึงบ้านของพี่จูดี้ที่เธอดัดแปลงบ้านไม้ซึ่งเป็นที่พักธรรมดา ๆ ของชาวสวน ให้ดูสวยอบอุ่นและมีเสน่ห์
เธอต้อนรับพวกเราด้วยเครื่องดื่มที่มีน้ำส้มจากสวนของเธอเป็นส่วนผสมหลัก พอจิบจบ พี่จูดี้ก็ชวนเราไปเดินชมพื้นที่รอบ ๆ บ้าน แล้วมาหยุดที่กำแพงไม้ไผ่ซึ่งเจาะช่องประตูเป็นวงกลม พอผลักด้านข้างของวงกลมให้ประตูหมุน เราก็เข้ามาสู่พื้นที่ของบ้านแมวที่ยังมีประตูด้านในอีกชั้นกันแมวออก



มุมหนึ่งในกรงแมวเป็นบ้านไม้ไผ่สองชั้นที่สร้างแบบโปร่งโล่งแต่เส้นสายสวยดีเหลือเกิน บ้านหลังนี้อยู่ติดกับต้นสัก ซึ่งมีนกฮูกแวะเวียนมาทำรัง พอขึ้นมาบนบ้าน เลยให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บนบ้านต้นไม้


2
“พี่ไม่ได้ชอบแมวมากสักเท่าไหร่นะ” พี่จูดี้หรี่เสียงเพลงแจ๊สจากลำโพง Marshall ลงก่อนเริ่มบทสนทนา เธอเล่าว่า เมื่อ พ.ศ. 2538 กรุงเทพฯ ยังเต็มไปด้วยหมาจรจัด เธออยากร่วมบรรเทาปัญหานี้ เลยเอาอาหารไปให้หมาจรจัดแถวออฟฟิศย่านทาวน์อินทาวน์ ให้ทุกวันจนหมาคุ้นเคย แล้วพาสัตวแพทย์ไปทำหมัน ป้องกันการเพิ่มจำนวน ทำแบบนี้อยู่เนิ่นนาน ต่อมามีหน่วยงานต่าง ๆ แก้ปัญหานี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายหมาจรจัดในกรุงเทพฯ ก็ลดจำนวนลง

“แต่แมวเพิ่มจำนวนขึ้น เห็นแล้วก็อยากไปช่วยให้เขาทุกข์น้อยลง” พ.ศ. 2554 พี่จูดี้เลยเริ่มออกให้อาหารแมวเพื่อสร้างความคุ้นเคยแถวบ้านย่านสุขุมวิทและแถวออฟฟิศย่านพระรามสี่ แล้วจับทำหมัน แต่หลายตัวก็ปล่อยไว้ที่เดิมไม่ได้เพราะป่วย ต้องเอามารักษา
แมวตัวแรกที่เธอนำมาเลี้ยงในบ้าน เป็นลูกแมวจากเกาะยาวน้อย ที่เจ้าของคะยั้นคะยอให้เธอช่วยรับไป ถ้าปล่อยไว้คงอดตาย เอามาเลี้ยงได้ไม่ทันไร และยังไม่ทันพาไปทำหมัน มันก็ท้องและคลอดลูกให้เธอเลี้ยงเพิ่ม

“แมวบางตัวที่เราไปให้อาหารโดนงูเหลือมรัดแล้วรอดมาได้ บางตัวติดกาวดักหนูมา แต่ละตัวโชกโชนมาก เราก็ต้องเอามาเลี้ยง อย่างตัวนี้ชื่อกะปู๋ โดนกัดไส้ทะลัก แม่บ้านไปเจอมา อุ้มกลับมามือข้างหนึ่งถือตัว อีกข้างถือไส้ เราก็ต้องพาไปรักษา” เธอพูดถึงแมวที่เดินมาคลอเลียที่แข้งขา ซึ่งดูเป็นแมวสุขภาพดีแบบไม่เหลือร่องรอยบาดแผลแล้ว พี่จูดี้จำชื่อแมวได้ทุกตัว เช่นเดียวกับจำได้แม่นว่า แต่ละตัวไปเอามาจากไหนในสภาพไหน
พวกมันก็เหมือนจะรู้ชื่อตัวเองเช่นกัน เพราะแค่พี่จูดี้เรียกชื่อ พวกมันก็พร้อมจะเดินมาหา

3
พี่จูดี้เก็บแมวมาเลี้ยงในบ้านย่านสุขุมวิทจนมีเกือบ 80 ตัว ทุกห้องมีแต่แมว แม่บ้าน 2 คนมีงานหลักคือทำความสะอาดกรงแมว แต่ถึงจะทำความสะอาดทั้งวัน การที่แมวจำนวนมากใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ร่วมกันในห้อง ก็ไม่ค่อยเป็นผลดีกับสุขภาพแมวและคนนัก
พ.ศ. 2564 พี่จูดี้จึงอยากย้ายแมวทั้งหมดออกไปอยู่ที่อื่น เธอตัดสินใจเปลี่ยนตึกแถว 4 ชั้น 2 คูหาย่านห้วยขวางของตัวเองให้กลายเป็นคาเฟ่แมว เพื่อให้แมวมีที่ทางมากขึ้น ออกแบบเสร็จและได้ผู้รับเหมาเรียบร้อย เธอก็เปลี่ยนใจ


“เราอยากให้แมวมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่อยู่บ้านยังมีสนามหญ้า ถ้าไปอยู่ตึก มีแค่ดาดฟ้าเล็ก ๆ ที่เหลือก็ต้องอยู่ในห้องแอร์เหมือนเดิม ก็เลยล้มโครงการนี้” พี่จูดี้เล่าถึงการตัดสินใจในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งช่วงนั้นเธอย้ายไปอยู่เชียงใหม่เป็นหลัก ติดอินเทอร์เน็ตให้เร็วพอจะประชุมออนไลน์ได้ เมื่อได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาตินาน ๆ เธอก็สดชื่นขึ้น จึงอยากให้แมวได้สดชื่นแบบเธอบ้าง แต่พอคนใกล้ชิดของเธอทราบข่าวก็มีแต่เสียงคัดค้าน

“แมวเป็นนักล่า เขากลัวว่าพอเอาแมวจำนวนเยอะๆ ไปอยู่ป่า มันจะล่านกสูญพันธุ์หมด แต่เราไม่ได้ปล่อยแมว ไม่ได้เลี้ยงกระจัดกระจาย เราล้อมรั้วมิดชิด แต่เขายังได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ” พี่จูดี้พูดจบก็อุ้มแมวที่นอนอยู่ตรงเท้าขึ้นมาเล่น
4
โจทย์ในการออกแบบสิ่งปลูกสร้างใน Mae Wang Sanctuary ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นบ้านของเธอ ศาลา และบ้านแมว ต้องกลมกลืนกับธรรมชาติ มาพึ่งพาธรรมชาติ ไม่ใช่มาควบคุมธรรมชาติ จึงไม่มีการตัดต้นไม้ใหญ่แม้สักต้น สภาพพื้นที่ก็ยังรักษาไว้แบบเดิม ผู้ที่ออกแบบหลักคือ Bamboo Family ส่วนรายละเอียดของบ้านแมวเป็นงานออกแบบของ นัท-ณัฐวุฒิ มัชฌิมา เจ้าของ Mutchima Studio สถาปนิกผู้ที่เคยได้รับรางวัลในการออกแบบบ้านที่ทำให้แมวอยู่ด้วยได้อย่างมีความสุข นัทคือผู้ออกแบบคาเฟ่แมวย่านห้วยขวางของพี่จูดี้ที่ไม่ได้เกิดขึ้น เขาจึงนำแนวคิดหลายอย่างมาปรับให้เป็นบ้านแมว
“ถ้ามองลงมาจะเห็นภาพรวมของบ้านแมวเป็นรูปแมวนอนขด ครัวเป็นหู บ้านดินเป็นหาง” พี่จูดี้ชี้ให้ดูบ้านดินขนาดย่อม 3 หลัง หลังแรกสุดเป็นห้องพยาบาลให้น้ำเกลือแมวป่วย อีก 2 หลังเป็นที่อยู่ของแมว มีชั้น มีที่นอนให้นอน สบายเหมือนรีสอร์ต นอนได้หลังละ 20 ตัว


แล้วก็ยังมีลูกเล่นประเภทสะพานแมว เต็นท์แมว และที่นอนของแมวที่อยู่ตามชั้นตามตู้ ซึ่งกระจายอยู่ทุกที่


รวมถึงน้ำตกและระบบพ่นละอองน้ำที่จะช่วยดักฝุ่นควันที่เกิดขึ้นทุกปีในช่วงหน้าแล้งจากการเผานาและเผาป่าด้วย

ช่วงลิ้นจี่สุกตอนเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พี่จูดี้ย้ายแมวจำนวน 63 ตัวจากบ้านที่สุขุมวิทมาอยู่ที่นี่ เป็นการเอาแมวใส่กล่องแล้วใส่รถขนมา รอบแรก 36 ตัว มาถึงที่นี่ตอนกลางคืน
“มาถึงแมวทุกตัวแตกตื่นมาก วิ่ง ร้อง บางตัวขี้แตกมาในรถ เราก็ห่วงมาก คืนนั้นแทบไม่ได้นอน แต่พอเช้ามาทุกอย่างสงบ แมวนอนตามบ้านโน้นบ้านนี้สบายใจ บางตัวเป็นโรคผิวหนังมา ไม่กี่วันก็ดีขึ้นเลย” พี่จูดี้เล่าถึงพลังของธรรมชาติซึ่งแมวทุกตัวคุ้นเคยดี เพราะมันเป็นแมวที่เคยอยู่กับดินกับทรายข้างถนนมาก่อน
5
“ช่วงที่บ้านพี่ยังสร้างอยู่ เราก็อยากอยู่ในนี้ เลยสร้างบ้านขึ้นมาอีกหลัง จะได้อยู่ใกล้ ๆ แมว” พี่จูดี้พูดถึงบ้านไม้ที่เรากำลังนั่งคุยกันอยู่ ชั้นล่างสุดเป็นบ้านแมว เต็นท์แมว และโต๊ะยาวให้นั่งเล่นได้ ยกพื้นขึ้นมาเป็นลานไม้ท่ามกลางธรรมชาติ นั่งดูวิวเล่นกับแมวได้สบาย ปีนขึ้นไปอีกชั้นเป็นห้องนอน


ถ้าใครชอบแมวให้นอนเปิดมุ้งไว้ แมวจะเข้ามานอนด้วย


ส่วนห้องน้ำต้องเดินออกไปนอกกรงแมว จะเจอทั้งห้องน้ำและอ่างอาบน้ำกึ่งกลางแจ้งวิวธรรมชาติที่ชวนให้แช่น้ำจนไม่อยากลุก


นี่คือบ้านแมวและการนอนในกรงแมวที่พี่จูดี้ชวนผมมาลองพัก
6
ตอนนี้มีแมวอยู่ที่นี่ 63 ตัว ยังเหลือแมวที่เป็นโรคติดต่ออยู่ที่บ้านกรุงเทพฯ อีก 11 ตัว ใช้อาหารเม็ดวันละ 2 กิโลกรัม อาหารกระป๋องวันละ 4 กระป๋อง แค่ค่าอาหารก็หลายหมื่นบาทต่อเดือน ยังไม่รวมค่าจ้างคนดูแลที่เชียงใหม่อีก 4 คน กรุงเทพฯ อีก 2 คน นั่นทำให้พี่จูดี้เริ่มคิดถึงการเปลี่ยนบ้านหลังนี้เป็นที่พักแบบ Airbnb ให้คนได้มาพัก รวมถึงขายผลไม้ออร์แกนิกในสวนให้คนมาเที่ยว น่าจะช่วยค่าใช้จ่ายในการดูแลแมวได้บ้าง

“มาพักผ่อนได้ หนีความวุ่นวายมาทำงานที่นี่ก็ได้ มีอินเทอร์เน็ต ประชุมออนไลน์ได้ จะแวะมากินกาแฟอย่างเดียวก็ได้ ถ้ามาค้างเราก็มีอาหารเช้า ขนม ผลไม้ให้ ผลไม้เราเยอะอยู่แล้ว เอาแมวมาพักด้วยก็ได้”
เท่าที่ผมสังเกต แมวทุกตัวที่นี่สุขภาพดีมาก อ้วนท้วนสมบูรณ์ ขนสะอาดสะอ้าน และชอบรับแขก พร้อมที่จะเดินเข้ามาเล่นกับคนแปลกหน้า ผิดกับภาพแมวจรจัดที่กายและใจบอบช้ำในจินตนาการของหลายคน

พี่จูดี้บอกว่า พวกมันได้รับการดูแลสุขภาพกายสุขภาพใจอย่างดี ก็เลยน่าฟัดอย่างที่เห็น ส่วนนิสัยรับแขก และจะไม่ชวนแมวของแขกทะเลาะมาจาก
“พี่คุยกับแมวทุกตัว พวกเขารู้เรื่องนะ เราพยายามอธิบายให้เขาเข้าใจว่า เราตั้งใจทำให้เขาขนาดนี้ เวลามีคนมาก็ช่วยกันต้อนรับหน่อย เขาก็เข้าใจ” นั่นคือเหตุผลว่าทำไมแมวทั้งหมดถึงเล่นกับผู้แปลกหน้าอย่างเราราวกับเลี้ยงดูกันมาเนิ่นนาน
ใครอยากนอนในกรงแมว ท่ามกลางแมว 63 ตัว สวนส้ม และธรรมชาติร่วม 200 ไร่ จัดกระเป๋าแล้วกดจองผ่าน Airbnb ได้แล้วที่ คลิก
