The Cloud เคยไปเยี่ยมสตูดิโอ ‘Madmatter’ เมื่อ 4 ปีก่อน

Madmatter ในวันนั้นเป็นแบรนด์น้องใหม่ที่เพิ่งได้รางวัล DEmark Award 2017 จากหมวกรุ่น Five Patch Cap ของตัวเองไปหมาด ๆ พร้อมคำชื่นชมและยอดขายเกือบหมื่นใบ จากการใช้ผ้าจากเสื้อผ้ามือสองมาทำเป็นสินค้าใหม่ เป็นแบรนด์เล็ก ๆ ที่มีแนวคิดใหญ่ หวังอยากสร้างความยั่งยืนด้วยดีไซน์

4 ปีผ่านไป หากคุณลองเลื่อนดูฟีดบนอินสตาแกรมของแบรนด์จะพบความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากผลิตภัณฑ์สีสันเรียบง่าย รูปแบบเรียบง่าย รูปถ่ายเรียบ ๆ สบาย ๆ มาเป็นสินค้าสีสันสดใส ดีไซน์ทันสมัย และมีความแฟชั่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยมีแค่หมวกและกระเป๋า ก็เพิ่มเสื้อ กางเกง รองเท้า หรือแม้กระทั่งของใช้ในบ้าน 

การรีแบรนดิ้งครั้งนี้คือ ‘เฮือกสุดท้าย’ ที่ แท็ป-ปธานิน งามกิจเจริญลาภ และ แจ๊ส-ธนิสรา โพธิ์นทีไท มีให้กับ Madmatter ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นโฉมใหม่สุดเปรี้ยวอย่างที่เราเห็นนั้นไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเป็นไปไม่ได้

การรีแบรนดิ้งของ Madmatter ที่ทำให้แบรนด์แฟชั่นรักษ์โลกอยู่รอดในโลกทุนนิยม

บทสนทนาในวันนี้จึงต่างจากเมื่อ 4 ปีที่แล้ว 

แบรนด์โตขึ้น คนทำแบรนด์ก็โตขึ้น 

สองผู้ก่อตั้งไม่ได้ต่อสู้กับความสมดุลระหว่างธุรกิจกับดีไซน์อีกต่อไป พวกเขาได้คำตอบที่ตามหา และกำลังสร้างแบรนด์ให้อยู่ได้ในโลกทุนนิยมนี้ โดยคงไว้ซึ่งความตั้งใจดี ๆ ที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืนในอนาคต

01

Madmatter เริ่มต้นจากแพสชัน จากความชอบในเสื้อผ้ามือสอง แท็ปและแจ๊สจึงตั้งใจนำมาปรับเปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์เจ๋ง ๆ และก็เจ๋งจริงอย่างที่คิด เพราะจำนวนขายพุ่งสูงเกือบหลักหมื่น แต่พวกเขาสังเกตว่าไม่ค่อยมีลูกค้าถ่ายรูปสินค้าแล้วติดแท็กกลับมา

“เราเลยรู้สึกว่า หรือเขาไม่ภูมิใจในของของเราหรือเปล่า เลยมานั่งคุยกันว่าเพราะอะไร ก็พบว่าตัวคนทำยังไม่ภูมิใจ ยังไม่เชื่อในแบรนด์ตัวเองเลย เราอยากทำของเจ๋ง ๆ แต่ไม่เชื่อว่ามันจะเติบโตเป็นธุรกิจได้ ซึ่งเราคิดผิด” แจ๊สเล่าให้ฟัง ทำให้นึกถึงบทสัมภาษณ์กับ The Cloud เมื่อ 4 ปีก่อน ที่สองนักออกแบบต้องปวดใจกับการทำธุรกิจ พวกเขาเลือกทำแบรนด์ Accessories มากกว่าเสื้อผ้า เพราะตลาดเสื้อผ้าใหญ่มากและไม่คิดว่าจะสู้ไหว

“เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เรายังคลำทางไม่เจอ ตอนเริ่มต้นเลยเป็นการต่อสู้ระหว่างดีไซน์กับธุรกิจที่เราหาสมดุลไม่ได้ พอเริ่มมาจากฝั่งอาร์ตและดีไซน์มา ตลอด 4 – 5 ปีที่ผ่านมาก็เลยถูกฝั่งธุรกิจมารบกวนเรื่อย ๆ

การรีแบรนดิ้งของ Madmatter ที่ทำให้แบรนด์แฟชั่นรักษ์โลกอยู่รอดในโลกทุนนิยม

“วันนั้นเรื่อง Sustainability ยังใหม่มากในบ้านเรา วิธีการผลิตสินค้าจากเสื้อผ้ามือสองซับซ้อนกว่า  ถ้าเราอัปสเกลธุรกิจก็จะมีปัญหาด้านการผลิต แต่ถ้าเปลี่ยนจากเสื้อผ้ามือสองเป็นวัสดุอย่างอื่นคนจะโอเคไหม มันจะ Commercial ไปไหม มันจะไม่ยั่งยืนหรือเปล่า เราต่อสู้กับสิ่งนี้มาตลอด”

แม้จะมียอดขายเข้ามาตลอด แต่คนทำไม่มีความสุข และเพราะข้อจำกัดเรื่องวัสดุเลยทำให้ไม่สามารถขยายธุรกิจอย่างที่ตั้งใจไว้ ทั้งคู่เลยตัดสินใจใช้ ‘เฮือกสุดท้าย’ ในการปรับแบรนด์ใหม่ ทำของที่ตัวเองก็อยากใช้ ที่ภูมิใจกับมัน ทิ้งทวนทุกอย่างเหมือนคนไม่มีอะไรจะเสีย 

และถ้าเฮือกสุดท้ายยังไม่สำเร็จ ก็จะไม่ทำ Madmatter ต่อไป

การรีแบรนดิ้งของ Madmatter ที่ทำให้แบรนด์แฟชั่นรักษ์โลกอยู่รอดในโลกทุนนิยม

02

การรีแบรนดิ้งมีหลายระดับ บางแบรนด์ยกเครื่องใหม่ทั้งหมด บางแบรนด์อาจแค่เปลี่ยนโลโก้และอาร์ตไดเรกชัน สำหรับ Madmatter เรียกได้ว่าเปลี่ยนแทบทุกอย่าง ตั้งแต่วัสดุ กล่องพัสดุ สินค้า ไปจนถึงข้อจำกัดที่น้อยลง 

สิ่งแรกที่แท็ปและแจ๊สเริ่มทำคือการขยายโจทย์ให้ตัวเอง ศึกษาเรื่อง Sustainability มากขึ้นว่านอกจากเรื่องวัสดุแล้ว อะไรจะช่วยให้สินค้าชิ้นหนึ่งยั่งยืนได้บ้าง และทำใจยอมรับว่า ตราบใดที่ยังมีการผลิตของใหม่และผู้คนยังมีการบริโภคอยู่ ก็ต้องส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว

“เราเปลี่ยนความคิดว่าจะไม่เครียดกับตัวเอง เราเป็นแบรนด์แฟชั่นที่สนใจเรื่องนี้มากกว่าคนอื่น ก็ทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แต่มันไม่มีทางช่วยได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าจะเอาร้อยคือต้องไม่ผลิตอะไรใหม่เลย”

การรีแบรนดิ้งของ Madmatter ที่ทำให้แบรนด์แฟชั่นรักษ์โลกอยู่รอดในโลกทุนนิยม
การรีแบรนดิ้งของ Madmatter ที่ทำให้แบรนด์แฟชั่นรักษ์โลกอยู่รอดในโลกทุนนิยม

การตัดสินใจใหญ่คือเลิกใช้วัสดุจากเสื้อผ้ามือสองที่เป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ เพราะทำยาก ทำให้โรงงานไม่อยากผลิตให้ ถ้ายอมผลิตก็เป็นการไปรบกวนการทำงานปกติของเขา หรือถ้าถึงขนาดต้องขอให้โรงงานเปลี่ยนเครื่องจักรก็ไม่ยั่งยืน ที่สำคัญราคาสูงและใช้เวลานาน ซึ่งส่งผลต่อไปที่การขายให้ลูกค้าและการขยายธุรกิจ แล้วเปลี่ยนมาใช้วัสดุเดดสต็อกแทน ถ้าสินค้าไหนใช้วัสดุค้างโรงงานไม่ได้ ก็จะสื่อสารกับลูกค้าอย่างจริงใจ ให้เขาได้เลือกเอง 

พวกเขาเข้มงวดกับวัสดุที่ใช้น้อยลง เพื่อให้ขยายธุรกิจให้โตขึ้นได้ และพิถีพิถันกับสินค้าทุกชิ้น ไม่ว่าจะใช้วัสดุแบบไหน ต้องออกแบบดี เป็นวัสดุที่ดี ผ้าดี ตัดเย็บดี ยืดอายุการใช้งานให้ยาวขึ้น ทำให้อยู่กับลูกค้าได้นาน ๆ ซึ่งช่วยลดการใช้ทรัพยากรได้อีกทางหนึ่ง

03

แจ๊สเล่าว่า แต่ก่อนเวลาใครถามเรื่องแบรนด์ เธอจะย้ำเสมอว่า จริง ๆ ภาพในหัวมันดีกว่าที่เห็น ซึ่งแท็ปเสริมว่า

“ต้องถอยกลับมาว่า เราทำแบรนด์แฟชั่น คนซื้อของเราจากหน้าตาที่สวยก่อน สตอรี่ข้างหลังคือสิ่งที่เพิ่มคุณค่าอีกที ตอนแรกเราเลือกผิดจุด คิดว่าการรักษ์โลกคือจุดขายให้ลูกค้าสนใจเรา ตอนรีแบรนดิ้งเลยคิดใหม่หมด” 

โชคดีที่ทั้งสองได้รู้จักกับ ‘Studio Marketing Material’ สตูดิโอออกแบบที่เป็นลูกค้า ผู้อาสาทำการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ให้

กล่องพัสดุ

การรีแบรนดิ้งของ Madmatter ที่ทำให้แบรนด์แฟชั่นรักษ์โลกอยู่รอดในโลกทุนนิยม

เริ่มที่โจทย์เรื่องกล่องของแจ๊ส ต้องสวยและไม่สร้างขยะเพิ่ม 

“กล่องสวย ๆ ที่ใช้กันจะซ้อนสองชั้น แต่เราอยากทำแค่กล่องเดียว เขาเลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นข้างในกล่องต้องเป็นสีเขียว พอถึงมือลูกค้าสามารถพลิกด้านในออกมา แล้วให้กล่องสีน้ำตาลด้านนอกที่มีแปะชื่อที่อยู่ตราไปรษณีย์ไปอยู่ด้านใน ลูกค้าก็เอากล่องไปใช้ได้ต่อ

“หรือข้าง ๆ กล่องมีพื้นที่ที่ไม่ได้ส่งผลต่อการใช้งาน เขาเสนอให้ตัดกระดาษตรงนี้ออกมาแล้วทำเป็นแท็กสินค้าแทน”

เบื้องหลังจากรีแบรนดิ้งของ Madmatter จากแบรนด์หมวกกระเป๋าจากเสื้อผ้ามือสอง สู่แบรนด์แฟชั่นรักษ์โลกที่ตั้งใจอยู่รอดในโลกทุนนิยม

กล่องพัสดุของ Madmatter กลายเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์ควบคู่ไปกับสินค้าดีไซน์เท่ กลายเป็นวัฒนธรรมที่ลูกค้าต้องหยิบกล้องมาถ่ายวิดีโอ Unboxing แล้วแท็กกลับมาที่ร้าน ทำให้รู้ว่าความภาคภูมิใจของคนทำได้ส่งต่อผ่านสินค้าไปถึงคนรับอย่างตั้งใจเป็นที่เรียบร้อย

สี Corporate

สีเขียวไม่ได้ตั้งต้นจากความกรีนหรือรักษ์โลกอย่างที่คาดเดา แต่เพราะเห็นประโยชน์ของการมีสีประจำแบรนด์ที่ทำให้คนจดจำได้ดี ถ้าพูดถึง Acne Studios จะนึกถึงสีชมพู ถ้าเป็น Hermès นึกถึงสีส้ม แล้วสีเขียวกำลังอยู่ในเทรนด์ตอนนั้น ตัดกับกล่องสีน้ำตาลก็สวยดูดี แถมยังลงตัวไปกับคอนเซ็ปต์หลักของแบรนด์อีกด้วย

เบื้องหลังจากรีแบรนดิ้งของ Madmatter จากแบรนด์หมวกกระเป๋าจากเสื้อผ้ามือสอง สู่แบรนด์แฟชั่นรักษ์โลกที่ตั้งใจอยู่รอดในโลกทุนนิยม

วัสดุ

นอกจากการเปลี่ยนมาใช้วัสดุค้างสต็อก และหากจำเป็นต้องใช้วัสดุอย่างอื่นก็จะสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาแล้ว Madmatter ตั้งใจจะไม่นำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ ด้วยเหตุผลเรื่องทรัพยากรที่ใช้ในการขนส่ง แต่เลือกใช้วัสดุในประเทศ ซึ่งต้องทำการบ้านหนักและใช้เวลานานกว่าหลายเท่า

สินค้า

เมื่อหลายปีก่อนพวกเขาไม่เคยคิดจะทำเสื้อผ้า เพราะคิดว่าสู้กับแบรนด์ที่มีอยู่ในโลกออนไลน์ไม่ไหว ยังไม่นับแบรนด์เกาหลีดี ๆ อีกมากมาย ทั้งที่ผู้ก่อตั้งชื่นชอบเสื้อผ้าด้วยกันทั้งคู่

การรีแบรนด์ครั้งนี้พวกเขาตัดสินใจลงว่ายในตลาดที่เคยกลัวมาก่อน โดยใช้ดีไซน์และแนวคิดเรื่องความยั่งยืนประกอบกันเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจ

ไอเท็มหลักของแบรนด์คือ เสื้อยืดและหมวก หลังจากนั้นค่อย ๆ แตกเป็นสินค้าประเภทอื่น ๆ อย่างเสื้อเชิ้ต สเวตเตอร์ แก้ว จาน หรือรองเท้า 1 คอลเลกชันคือ 1 โปรเจกต์ ปี 2021 ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีประมาณ 10 – 15 โปรเจกต์ ความถี่ 2 อาทิตย์ครั้งถึงเดือนละครั้ง แต่ละครั้งอาจจะไม่ได้ผลิตเยอะมาก ซึ่งตอบโจทย์การค้าขายออนไลน์ที่ต้องอาศัยความรวดเร็ว

“เราวาง Year Plan เลยตั้งแต่ต้น แก้ไขปัญหาที่แต่ก่อนทำคอนเทนต์ไม่สม่ำเสมอ สินค้าใหม่ก็มา ๆ หาย ๆ ตอนมาฮือฮาจริง แต่ก็เว้นหายไปนาน ซึ่งไม่ตอบโจทย์ธรรมชาติออนไลน์ในปัจจุบันที่ต้องการความสม่ำเสมอ”

Madmatter ทำงานร่วมกับทั้งศิลปินและแบรนด์ เช่น Mustard Sneakers, Gongkan, Coundsheck และยังมีอีกหลายโปรเจกต์ในปี 2022 นี้

“จะตายเอา” ทั้งคู่หัวเราะ “แต่มันสนุก ปี 2021 ปีเดียวได้เจอคนเยอะกว่า 5 ปีที่ผ่านมาอีก เรามีความสุขกับการทำงานมากกว่าทุก ๆ ปีที่ผ่านมา”

เบื้องหลังจากรีแบรนดิ้งของ Madmatter จากแบรนด์หมวกกระเป๋าจากเสื้อผ้ามือสอง สู่แบรนด์แฟชั่นรักษ์โลกที่ตั้งใจอยู่รอดในโลกทุนนิยม

ร้าน

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา Madmatter ขายผ่านช่องทางออนไลน์และฝากขายตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านต่าง ๆ ปัญหาที่พบคือร้านจัดของรกจนหาไม่เจอ พวกเขาไม่อยากให้ลูกค้าของแบรนด์ต้องเจอประสบการณ์แบบนั้น

“สินค้าของเราราคาไม่ถูก จุดแข็งของเราคือวัสดุที่ดี จึงจำเป็นมาก ๆ ที่ลูกค้าต้องเห็นของจริง จับของจริง เราเจอฟีดแบ็กเยอะบนออนไลน์ว่า เขาชอบแต่ไม่กล้าซื้อ อยากไปลองไซส์ก่อน เราเลยตัดสินใจเปิดหน้าร้านเหมือนโชว์รูมที่สยามดิสคัฟเวอรี่ ผลคือหลายคนกลับมาบอกว่า ผ้าสวยกว่าในรูปเยอะเลย”

04

ถ้าต้องขึ้นเวที TED Talks บอกเล่าบทเรียนที่ได้เรียนรู้จาก Madmatter จะเป็นเรื่องอะไร – เราถาม

ทั้งคู่นิ่งคิดอยู่พักใหญ่ ยอมรับว่าคำถามนี้ยากมาก ไม่ใช่ยากเพราะพวกเขาไม่รู้ แต่เพราะมีเยอะแยะเต็มไปหมด จนไม่รู้จะจักหยิบยกเรื่องไหนขึ้นมาก่อน

แท็ปเรียนรู้เรื่องการรู้จักตัวเอง ต้องยอมรับว่าธรรมชาติ พื้นเพ และเป้าหมายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน 

“ธุรกิจยั่งยืนไม่จำเป็นต้องเล็กหรือมีกฎเกณฑ์อะไรมากมาย คนสเกลใหญ่ก็ช่วยในแบบของเขา คนสเกลกลางก็ช่วยในวิธีของเขา คนสเกลเล็กก็อีกแบบหนึ่ง ทำในแบบของตัวเอง ถ้าธรรมชาติของเราคือคนทำธุรกิจ ทำให้บางอย่างอาจจะไม่ยั่งยืนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่ต้องกังวลว่ามันจะผิด หรือถ้าคุณเน้นอาร์ต เน้นดีไซน์มากกว่าก็ไม่เป็นไร ยอมรับไปว่ามันอาจจะสเกลอัปไม่ได้มากเท่าไหร่”

แจ๊สเองคิดคล้าย ๆ กัน เธอบอกว่า

เบื้องหลังจากรีแบรนดิ้งของ Madmatter จากแบรนด์หมวกกระเป๋าจากเสื้อผ้ามือสอง สู่แบรนด์แฟชั่นรักษ์โลกที่ตั้งใจอยู่รอดในโลกทุนนิยม

“มีช่วงที่เราสับสนในตัวเอง ใจเราอยากทำธุรกิจให้ได้เงิน แต่แบรนด์เราเป็นแบรนด์รักษ์โลก ทุกคนจะตกใจกับเราหรือเปล่า สุดท้ายเราต้องจริงใจกับตัวเอง อย่างเราให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม แต่ก็สนใจการทำธุรกิจด้วย Madmatter เลยออกมาในวิธีแบบนี้ 

“มีน้องหลายคนที่กำลังทำแบรนด์มาปรึกษาว่า ‘พี่ ๆ หนูเครียดมากเลย หนูรู้สึกว่าแค่แกนที่หนูปักลงไปบนผ้ามันก็ไม่ยั่งยืนแล้ว’ เมื่อก่อนเราอาจเป็นแบบนั้น ตอนนี้รู้แล้วว่าไม่ต้องไปเครียดขนาดนั้น แต่ต้องพยายามบาลานซ์ทุกอย่างให้ได้”

Madmatter จึงวางตัวเองเป็นอีกฟันเฟืองที่ช่วยผลักดันเรื่องนี้ในแบบที่พวกเขาทำได้ ในแบบที่แบรนด์พวกเขายังอยู่รอดต่อไปได้ ด้วยการผลิตสินค้าคุณภาพดี ใช้วัสดุค้างสต็อกมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และออกแบบให้ลูกค้าใช้ไปได้นาน ๆ

เบื้องหลังจากรีแบรนดิ้งของ Madmatter จากแบรนด์หมวกกระเป๋าจากเสื้อผ้ามือสอง สู่แบรนด์แฟชั่นรักษ์โลกที่ตั้งใจอยู่รอดในโลกทุนนิยม

05

4 ปีผ่านมา มีแบรนด์พร้อมเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนเกิดขึ้นใหม่มากมาย ทั้งแบรนด์ใหญ่ที่เริ่มขยับตัวเข้ามาหยิบจับประเด็นนี้ แบรนด์เล็ก ๆ ที่อยากเปลี่ยนแปลงโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ส่วนลูกค้าที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เพิ่มขึ้นไปพร้อมกัน

ปลายทางที่อยากเติบโตไปในตลาดโลกของ Madmatter จากการคุยกับ The Cloud ครั้งนั้น มาวันนี้ทั้งคู่ลดความคาดหวังลง ทำโจทย์ให้ง่าย และลงมือทำให้สำเร็จไปทีละขั้นตอน ทำธุรกิจในประเทศให้ดีก่อน แล้วจะค่อย ๆ เติบโตไปในที่สุด 

ทุกวันนี้มีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศมากมาย ส่วนใหญ่เป็นคนชอบแฟชั่นที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็ก ๆ คุณภาพที่ดี และรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยในเวลาเดียวกัน 

เพื่อนสนิทของแจ๊สและแท็ป ผู้มองการเติบโตของแบรนด์นี้มาตลอดเสริมว่า “สำหรับคนนอก เรามองว่าลูกค้าสนใจเรื่องความยั่งยืน แต่เขาก็ไม่ได้อยากใช้แฟชั่น ‘ถุงผ้านี้รักษ์โลก’ หรืออะไรแบบนั้น เขายังอยากใช้สินค้าแฟชั่นอยู่ และเลือกแบรนด์นี้ที่ดีไซน์และคุณภาพ”

Madmatter จึงกลายเป็นทางเลือกของคนเหล่านั้น 

“เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเรื่องความยั่งยืน ไม่ต้องตะโกนให้ดัง แต่แทรกซึมไปเนียน ๆ ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในฝั่งผู้บริโภคและคนทำธุรกิจ ให้เป็นแนวทางว่าเขาทำอย่างเราได้ และอยากขยายธุรกิจให้ได้ สร้างระบบให้ทุกคนมาช่วยเราทำงานได้ เหนื่อยน้อยลง แต่คุณภาพทุกอย่างต้องเหมือนเดิม” 

เพราะวางแผนยาวแต่คาดหวังไปทีละส่วน ความสุขของสองนักออกแบบ ณ ตอนนี้จึงไม่ใหญ่จนกลัวเจ็บ และไม่เล็กจนมองไม่เห็นจุดหมาย 

หากใครก็ตามนึกถึงแบรนด์ Sustainable Fashion ในประเทศไทย ทั้งแท็ปและแจ๊สอยากให้ Madmatter ติด 3 อันดับแรกในใจเขา 

เบื้องหลังจากรีแบรนดิ้งของ Madmatter จากแบรนด์หมวกกระเป๋าจากเสื้อผ้ามือสอง สู่แบรนด์แฟชั่นรักษ์โลกที่ตั้งใจอยู่รอดในโลกทุนนิยม

Lessons Learned

  • จริงใจกับตัวเอง รู้จักตัวเองให้ดีก่อน แล้วจึงหาวิธีการทำธุรกิจที่ตรงกับความตั้งใจของตัวเอง อย่างที่ Madmatter ค้นหาการทำธุรกิจยั่งยืนใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาที่เจอและข้อจำกัดที่เคยมีเรื่องการผลิต 
  • ลดความคาดหวังบางอย่าง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโต ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งความตั้งใจและคุณค่าที่มีมาตั้งแต่วันแรก
  • ทำธุรกิจที่ตัวเองภูมิใจก่อน แล้วลูกค้าจะสัมผัสความภูมิใจนั้นได้ผ่านสินค้าและบริการที่เราตั้งใจทำออกไป

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล