13 สิงหาคม 2022
58 K

‘ทรงวาด’ อาจไม่ใช่ชื่อถนนที่คุ้นหูคนทั่วไปนัก

แต่ถ้าขยายความว่าเป็นถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่ขนานกับสำเพ็งและเยาวราช ปลายทางเป็นท่าเรือราชวงศ์ หลายคนคงนึกภาพตึกแถวสไตล์ยุโรปที่ทอดยาวริมทางได้แล้ว

ถนนเส้นนี้ถือกำเนิดขึ้นจากปลายปากกาของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อลดความแออัดของบ้านเรือนในสำเพ็งอันเป็นมูลเหตุของเพลิงไหม้บ่อยครั้ง พร้อมกันนั้นก็ช่วยเชื่อมการคมนาคมระหว่างแม่น้ำสายใหญ่กับชุมชนชาวจีนไปในตัวด้วย

จากเส้นทางที่ ‘ทรงวาด’ บนแผนที่ ถนนเส้นนี้ได้พัฒนาเป็นพื้นที่แห่งโอกาส ซึ่งเปิดกว้างให้คนทุกชาติทุกศาสนาได้สร้างฐานะ เป็นที่มาของโกดังค้าข้าว ร้านค้าเครื่องเทศ วัดไทย มัสยิด โรงเรียน และศาลเจ้าจีน รวมทั้งตึกเก่าที่สรรค์สร้างขึ้นจากการผสมผสานของศิลปะหลายเชื้อชาติ

แม้ในวันนี้ถนนทรงวาดจะดูไม่คึกคักเหมือนอดีตยุครุ่งเรือง ด้วยตัวเมืองที่ขยับขยาย พื้นที่เศรษฐกิจจึงแผ่กว้างออกไปไกลจากย่านเมืองเก่า ถึงกระนั้นความสวยคลาสสิกของหมู่ตึกแถวและทำเลที่ตั้งติดแม่น้ำสำคัญของกรุงเทพฯ ก็ทำให้พื้นที่แห่งโอกาสซึ่งพร้อมนำพาคนกลุ่มใหม่ ๆ มาใช้ชีวิตอยู่ที่ถนนร้อยปีแห่งนี้ไม่เคยขาดสาย

13 ร้านใหม่ของนักสร้างสรรค์ย่านทรงวาด เติมสีสันให้ย่านเก่าของอากงอาม่ามีชีวิตชีวา

กลาง พ.ศ. 2565 กลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ในย่านทรงวาดได้จับมือกันสร้างเครือข่ายในชื่อ ‘Made in ทรงวาด’ และยังตั้งใจจัดเทศกาลทรงวาดในช่วงปลายปี เพื่อเปิดภาพลักษณ์ใหม่ให้ถนนสายนี้กลับมาคึกคัก เติมเต็มบรรยากาศอันเงียบเหงาให้ทรงวาดพลิกฟื้นสู่วันคืนที่เคยมีชีวิตชีวาอีกครั้ง 

จะมีร้านอะไรบ้าง ขอเชิญทุกท่านทัศนาได้ ณ บัดนี้

01
บ้านทรงวาด

ตึกเก่าอายุร่วมศตวรรษที่กลายร่างเป็น Airbnb ให้เช่าเหมาหลัง

บ้านทรงวาด : 13 ร้านใหม่ของนักสร้างสรรค์ย่านทรงวาด เติมสีสันให้ย่านเก่าของอากงอาม่ามีชีวิตชีวา

อาคารหัวมุมแห่งนี้คือที่ตั้งของบ้านพักสุดเก๋นามว่า บ้านทรงวาด

ใน พ.ศ. 2561 อิน-อินทุกานต์ คชเสนี สิริสันต์ และ โอ๊ต-อาทิตย์ สิริสันต์ สองสามีภรรยาชาวสุขุมวิทผู้หลงใหลย่านเมืองเก่า และใฝ่ฝันอยากเปิดกิจการเล็ก ๆ ประเภทที่พักแรมของตัวเอง ด้วยความบังเอิญที่ทั้งคู่มาพบประกาศให้เช่าตึกเก่าริมถนนทรงวาดซึ่งเป็นมรดกตกทอดมานานกว่า 90 ปี เพียงแรกเห็น ทั้งสองคนก็รู้แล้วว่า นี่คือที่ที่ใช่สำหรับการสานฝันของพวกเขาให้เป็นจริง

โอ๊ตใช้เวลากว่า 6 เดือนในการออกแบบ ก่อสร้าง และตกแต่งอาคารเก่าเป็นที่พักแบบ Holiday Home Rental ในชื่อ ‘บ้านทรงวาด’ มี 4 ห้องนอน 1 ห้องนั่งเล่น เหมาะกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากรุงเทพฯ เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ เพราะผู้เข้าพักจะต้องเช่าทั้งหลัง เมื่อทำการจองจะได้รับรหัสกดประตูเข้าบ้าน และจะครอบครองรหัสผ่านนั้นตลอดเวลาเข้าพัก ไม่มีล็อบบี้หรือพื้นที่ส่วนกลางให้คนนอกเข้ามาเพ่นพ่านเพื่อให้ผู้พักได้รับความเป็นส่วนตัวอย่างแท้จริง

“ต่างชาติชอบที่นี่เพราะเป็นโลเคชันที่ดีสำหรับการท่องเที่ยว จะไปท่าเรือราชวงศ์เดิน 2 นาทีก็ถึง จะไปเยาวราช 5 นาทีก็ถึง จะไป MRT วัดมังกร 8 นาทีก็ถึงแล้ว” อินกล่าวถึงจุดเด่นอีกด้านของบ้านทรงวาดที่เปิดมาเข้าปีที่ 4 แต่ต้องชะงักไปด้วยพิษโควิด-19

“ตอนนี้ลูกค้าเริ่มกลับมาแล้วค่ะ มาเต็มเลย ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวมาพักอยู่กัน 3 – 4 วัน นานที่สุดก็ประมาณ 10 วัน นอกจากโลเคชันจะใกล้แล้ว ยังมีครบทุกองค์ประกอบที่ชาวต่างชาติอยากมาอยู่ เช่นมี Pantry Room เล็ก ๆ มีเครื่องซักผ้าให้” เจ้าของบ้านทรงวาดบอกกับเรา

ที่ตั้ง : 835 ถนนทรงวาด แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100

วัน-เวลา : จองล่วงหน้า 

โทร : 08 9891 9122

Facebook : Baan Song Wat

02
เอฟ.วี

คาเฟ่ขนมและเครื่องดื่มไทยที่ ‘ไม่มีใครเอา’

เอฟ.วี : 13 ร้านใหม่ของนักสร้างสรรค์ย่านทรงวาด เติมสีสันให้ย่านเก่าของอากงอาม่ามีชีวิตชีวา

ภายนอกของ เอฟ.วี อาจดูเหมือนกับอาคารพาณิชย์ของคนไทยเชื้อสายจีนที่มีดกดื่นในย่านนี้ แต่เมื่อสายตาเยี่ยมกรายเข้าไปในร้าน ไม่ว่าใครหน้าไหนก็ต้องตะลึงลานกับความพิลึกกึกกือของคาเฟ่สีทึมที่ตกแต่งฝาผนังด้วยภาพเขียนเชิงนามธรรมอวลกลิ่นอายของจีนหรือญี่ปุ่น กระถางปลูกกล้วยทั้งต้น หนำซ้ำยังมีเรือนไม้แบบอีสานหลังใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่เหนือเคาน์เตอร์บาร์

ที่นี่คือคาเฟ่สุดแหวกแนวที่เกิดขึ้นจากความคิดของ โอ-โอภาส จันทร์คำ ซึ่งใช้ชีวิตช่วงต้นอยู่ที่ประเทศอังกฤษ แต่เพราะความรักในเกษตรกรรมและธรรมชาติตั้งแต่เด็ก เมื่อหวนกลับมาอยู่บ้านเกิด เขาจึงได้พบว่าของดีที่ประเทศไทยในสายตาเขา กลับกลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่เห็นคุณค่า

13 ร้านใหม่ของนักสร้างสรรค์ย่านทรงวาด เติมสีสันให้ย่านเก่าของอากงอาม่ามีชีวิตชีวา

“คอนเซ็ปต์ของร้านคือ ‘ไม่มีใครเอา’ ภาษาอังกฤษคือ ‘Unwanted’ พื้นฐานของประเทศไทยคือเกษตรกรรม เป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่ขณะที่โลกก้าวไปข้างหน้า มีใครเอาอะไรบ้างในกระดูกสันหลังของชาติ” โอภาสอธิบายที่มาของคาเฟ่ที่ไม่เหมือนใคร

เรือนไทยหลังนี้เคยเป็นบ้านในจังหวัดมุกดาหารที่ถูกทิ้งร้างเพราะเจ้าของบ้านเสียชีวิตไปหลายปี ตึกที่ตั้งร้านก็ถูกปักป้ายขายไว้นาน แต่ขายไม่ออก เครื่องดื่มและขนมหวานหลายเมนูก็ปรุงขึ้นจากพืชผลที่ไม่ใช่แนวตลาดนิยม แม้แต่ชื่อร้าน เอฟ.วี ที่ย่อมาจาก ‘Fruits and Vegetables’ ที่โอภาสว่าฟังดูธรรมดาเสียจนไม่มีใครเอาคำพื้น ๆ เช่นนี้มาตั้งชื่อร้าน

ต้องลองไปจิบเครื่องดื่ม กินขนม ชมเรือนไม้อีสานจากที่ซ่อนตัวอยู่ในตึกแถวย่านชาวจีนสักครั้ง แล้วคุณจะได้คำตอบว่า ร้านเจ๋ง ๆ นี้ ‘ไม่มีใครเอา’ จริงหรือเปล่า

ที่ตั้ง : 827 ถนนทรงวาด แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100

วัน-เวลา : เปิดทุกวัน 10.00 – 19.00 น.

โทร : 08 1866 0533

Instagram : FV_BKK 

03
อี-กา

ร้านอาหารไทยที่รวมวัตถุดิบประจำอำเภอทั่วไทยมาเสิร์ฟถึงที่

อี-กา : 13 ร้านใหม่ของนักสร้างสรรค์ย่านทรงวาด เติมสีสันให้ย่านเก่าของอากงอาม่ามีชีวิตชีวา

ออกจากร้าน เอฟ.วี มาแล้วก็อย่าเพิ่งเร่งร้อนไปไหนต่อ แค่เพียงเหลียวตามองทางขวามือ คุณจะได้พบร้านลำดับต่อไปที่น่าทำความรู้จัก

อี-กา ด้วยชื่ออาจไม่สื่อว่าร้านนี้ขายอะไร ครั้นได้เห็นฉายาพ่วงท้ายว่า ‘Thai Neighborhood Cooking’ หลายคนจึงรู้ว่าที่นี่เป็นร้านอาหารไทยที่ให้ความอร่อยในแบบบ้าน ๆ !

กะแจะ-ศิริวรรณ ธรณนิธิกุล ดีไซเนอร์ผู้ให้กำเนิดอี-กา เผยว่าร้านนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘It’s Happened to be A Closet’ แบรนด์เสื้อผ้าและร้านอาหารที่มีชื่อเล่นว่า อิส_แฮพ_เพ่น แต่ละร้านของเธอจะมีชื่อเล่นเป็นสัตว์เสมอ ไล่มาจาก ‘Fox’ (A Fox Princess KITCHEN) ที่ให้บริการอาหารอิตาเลียนจานกะทัดรัดในสยามพารากอน เซ็นทรัล ชิดลม ลาดพร้าว และท่าเตียน ตามด้วย ‘Rabbit’ หรือ a) pink rabbit + Bob ซึ่งเสิร์ฟเค้กที่ท่าเตียน สวนจตุจักร Central Outlet สุวรรณภูมิ และที่ทรงวาดนี่เอง

13 ร้านใหม่ของนักสร้างสรรค์ย่านทรงวาด เติมสีสันให้ย่านเก่าของอากงอาม่ามีชีวิตชีวา

เมื่อต้องคิดแบรนด์อาหารไทยที่สะท้อนถึงความเรียบง่าย แจะจึงเลือกนกกามาเป็นชื่อและสัญลักษณ์ประจำร้าน เพราะว่า “อีกาเป็นสัตว์ที่ฉลาด จริงใจ ชนพื้นเมืองในอเมริกาและอินเดียถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ดี หมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดี ชื่อก็เรียกง่าย ไม่กระแดะด้วย”

ค่าที่เจ้าของร้านเดินทางบ่อย เลยได้ลิ้มรสชาติอาหารเลิศรสของหลาย ๆ ถิ่นในเมืองไทย เธอพบว่าวัตถุดิบที่ถูกปากนั้นไม่ได้มาจากแหล่งเดียวกัน วัตถุดิบที่แจะและทีมงานร้านอี-กา เลือกใช้จึงผ่านการเฟ้นหามาจากทั่วสารทิศ อาทิ เครื่องแกงไตปลาจากอำเภอสิชล นครศรีธรรมราช เครื่องแกงป่าอำเภอท่าม่วง กาญจนบุรี เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงจิตวิญญาณความเป็น Thai Neighborhood Cooking โดยแท้จริง

ที่ตั้ง : 829 ถนนทรงวาด แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100

วัน-เวลา : เปิดทุกวัน ยกเว้นวันพุธ 10.00 – 22.00 น.

โทร : 08 1565 2028

Instagram : ega_bangkok 

04
PLAY Art House

แกลเลอรี่ศิลปะใต้โกดังเก็บรองเท้า

PLAY Art House : 13 ร้านใหม่ของนักสร้างสรรค์ย่านทรงวาด เติมสีสันให้ย่านเก่าของอากงอาม่ามีชีวิตชีวา

เลียบเลาะไปตามแนวอาคารพาณิชย์สีจืดที่ส่วนใหญ่ปิดประตูเหล็กยืดไว้ชั่วนาตาปี ครั้นมาถึงหน้า PLAY Art House ย่อมมีสักอึดใจที่สายตาของเราต้องหยุดนิ่งเพื่อพิจารณาดูสีน้ำเงินที่ฉาบทาต่อเนื่องกันถึง 3 คูหา เหล็กดัดลายสวยบนหน้าต่าง ตลอดจนหัวเสากรีกที่ปรากฏอยู่ทั้งด้านหน้าอาคาร และในโลโก้ทรงกลมซึ่งแขวนเด่นอยู่หน้าประตูทางเข้า

บิดาของ อุ๊ย-เกียรติวัฒน์ ศรีจันทร์วันเพ็ญ ซื้อตึกแถวอายุเกินร้อยปีแห่งนี้มาเมื่อหลายสิบปีก่อน เพื่อทำธุรกิจภัตตาคารอาหารจีน แต่เปิดมาได้ไม่กี่ปี ภัตตาคารก็ปิดตัวลง ลูกชายซึ่งหวนกลับไปจับธุรกิจทำรองเท้าของตระกูลจึงนำอาคารหลังนี้มาใช้ทำโกดังเก็บรองเท้านานถึง 20 ปี แต่ด้วยใจรักในศิลปะทุกแขนง เลยชักชวนศรีภรรยาให้ลองเปิดพื้นที่ชั้นล่างเป็นแกลเลอรี่แสดงงานศิลปะ และย้ายข้าวของในโกดังไปไว้ชั้นบน

13 ร้านใหม่ของนักสร้างสรรค์ย่านทรงวาด เติมสีสันให้ย่านเก่าของอากงอาม่ามีชีวิตชีวา

ชื่อ ‘PLAY Art House’ นี้ก็มีที่มาสุดแสนหวาน เพราะพี่อุ๊ยกับภรรยาพบรักกันเมื่อตอนเรียนคณะนิเทศศาสตร์ สาขาศิลปะการแสดง ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และที่มีโลโก้รูปหัวเสากรีก ก็เพราะมันเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่ตึกแถวคูหานี้ตั้งแต่ครั้งคุณพ่อผู้ล่วงลับซื้อตึกนี้มาทำภัตตาคาร

ผลงานที่จัดแสดงใน PLAY Art House จัดขึ้นในรูปแบบนิทรรศการเวียนซึ่งคู่รักหัวใจศิลป์เลือกเฟ้นมาเป็นอย่างดี โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนเด่นคนดังมาจากไหน ขอแค่มีผลงานที่ฝีมือดีเข้าตา แกลเลอรี่ใต้โกดังสินค้าแห่งนี้ก็พร้อมที่จะให้โอกาส

ที่ตั้ง : 993 ถนนทรงวาด แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100

วัน-เวลา : เปิดวันอังคาร-พฤหัส 11.00 – 16.00 น. และวันศุกร์-อาทิตย์ 11.00 – 18.00 น. 

โทร : 09 9252 9191 และ 09 1048 7187

เว็บไซต์ : playarthouse.com 

05
MESA 312 Cultural Lab

สตูดิโอออกแบบกราฟิกของสาวสเปนผู้ตกหลุมรักทรงวาด

MESA 321 Cultural Lab : 13 ร้านใหม่ของนักสร้างสรรค์ย่านทรงวาด เติมสีสันให้ย่านเก่าของอากงอาม่ามีชีวิตชีวา

เจ้าของสถานที่ในลิสต์ของเรา โดยส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ชาวบ้านย่านทรงวาดมาแต่เกิด บ้างมาจากพื้นที่อื่นในกรุงเทพฯ บ้างมาจากต่างจังหวัด แต่ไม่มีใครจากบ้านมาไกลเท่าเจ้าของสตูดิโอแห่งนี้

มีเรียม รูเอดา (Myriam Rueda) คือบุคคลที่เรากำลังพูดถึง กราฟิกดีไซเนอร์สาวชาวสเปนคนนี้จากบ้านเกิดในเมืองบาร์เซโลนามาดำเนินชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 แม้จะเคยกลับบ้านที่แดนกระทิงดุไปแล้วหนหนึ่ง แต่ความผูกพันที่มีต่อเมืองไทยยังร่ำร้องให้เธอกลับมาที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง และไม่เคยย้ายไปอยู่ไหนเป็นการถาวรอีกเลยตลอดสิบกว่าปีที่ล่วงมา

13 ร้านใหม่ของนักสร้างสรรค์ย่านทรงวาด เติมสีสันให้ย่านเก่าของอากงอาม่ามีชีวิตชีวา

กลาง พ.ศ. 2563 คุณมีเรียมเกิดสะดุดตากับความงดงามอ่อนช้อยของศิลปะบนตึกแถวเก่าย่านทรงวาด ด้วยความช่วยเหลือจากพี่อุ๊ยแห่ง PLAY Art House เธอจึงได้เปิดสตูดิโอขนาดเล็กที่นี่

นอกจากห้องทำงานประจำของคุณมีเรียมแล้ว บางครั้งเธอก็ใช้ที่นี่เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ประเทศสเปน หรือภาษาสเปน เพราะเธอยังมีอาชีพเสริมเป็นอาจารย์สอนภาษาสเปนให้แก่นักเรียนและนักศึกษาชาวไทยด้วย

“Mesa เป็นภาษาสเปน แปลว่า ‘โต๊ะ’ เป็นของสำคัญที่นำผู้คนมาร่วมทำงานและสนุกไปด้วยกัน” มีเรียมกล่าวด้วยภาษาอังกฤษติดสำเนียงสแปนิช ก่อนชี้ให้เราดูตารางจัดเวิร์กชอปที่แน่นขนัด ทั้งสอนวาดรูปสีน้ำ สอนถ่ายภาพ ฉายภาพยนตร์สเปนพร้อมเสวนากับผู้กำกับชาวสเปน เป็นต้น

ที่ตั้ง : 943 ถนนทรงวาด แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100

วัน-เวลา : เปิดวันอังคาร – อาทิตย์ 10.30 – 18.00 น. (โปรดนัดล่วงหน้า)

โทร : 08 7076 5080

Facebook : mesa312

Instagram : mesa_312_

06
Pieces Café & Bed

คาเฟ่ ห้องพัก ร้านสัก 3 in 1

Pieces Café & Bed : 13 ร้านใหม่ของนักสร้างสรรค์ย่านทรงวาด เติมสีสันให้ย่านเก่าของอากงอาม่ามีชีวิตชีวา

ร้านหน้าแคบปากตรอกสะพานญวนของสองสาว เหมียว-ปิยาภา วิเชียรสาร และ พิม-ชโลชา นิลธรรมชาติ ตั้งชื่อมาอย่างจงใจให้อ่านได้ทั้ง ‘Pieces’ และ ‘พิเศษ’

ตัวร้านนี้ก็ทั้งพิเศษและแยกส่วนได้เป็น Pieces (ชิ้น ๆ) สมชื่อ เริ่มจากร้านกาแฟชั้นล่างสุดซึ่งเปิดเฉพาะวันศุกร์ถึงอาทิตย์ รับลูกค้าเป็นรอบ รอบละไม่เกิน 5 ที่ นั่นหมายความว่าลูกค้าที่อยากมาจิบกาแฟทานขนมที่พิเศษนี้จะต้องจองเข้ามาล่วงหน้า

13 ร้านใหม่ของนักสร้างสรรค์ย่านทรงวาด เติมสีสันให้ย่านเก่าของอากงอาม่ามีชีวิตชีวา

“ช่วงโควิดเราก็ปรับตัวไม่ให้มีของเหลือทิ้ง เลยเปลี่ยนระบบเป็นเปิดจองแล้วให้ลูกค้าทานขนมเป็นคอร์ส ถ้าจองเข้ามาก็จะได้ทานขนม 3 อย่าง เครื่องดื่ม 3 อย่างค่ะ” เหมียวบอกยิ้ม ๆ ก่อนที่พิมจะช่วยเสริมว่า “ร้านกาแฟก็จะเปิดทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เพราะเราสองคนจะอบขนมปังทุกวันพฤหัส เพื่อดูว่าลูกค้าจองเข้ามากี่คน แล้วค่อยวางแผนค่ะ”

เยี่ยมชมชั้นล่างเสร็จแล้ว เชิญขึ้นบันไดไปชมชั้นสาม ชั้นนี้ใครเห็นเป็นต้องทึ่ง เพราะด้านหนึ่งของห้องนี้เป็นเตียงคิงไซส์ใหญ่คับผนังห้อง ส่วนอีกด้านที่เชื่อมสู่ระเบียงตึกครบเครื่องด้วยชุดเฟอร์นิเจอร์และข้าวของซึ่งห้องพักในโรงแรมพึงมี

“เป็นที่พักที่ค่อนข้างเงียบนะคะ ลูกค้าส่วนใหญ่ ถ้ามาก็จะเป็นเพราะว่าตรงทรงวาดมันเงียบ แต่เดินไปรอบ ๆ อย่างเยาวราช หัวลำโพง มันวุ่นวายหมดเลย แต่เดินจากตรงนี้ไปได้หมด” สองสาวช่วยกันเล่า “ลูกค้าที่มาก็จะชอบพักคนเดียวแบบอินดี้ ๆ อยากอยู่คนเดียว ซื้อไวน์มาดื่มในห้องคนเดียว”

เดิมห้องพักของพิเศษมี 2 ห้อง แต่ตอนนี้ลดเหลือห้องเดียวที่ชั้นบนสุด เพราะห้องที่ชั้นสองถูกเจียดเนื้อที่ไปทำร้านสักด้วยมือ ซึ่งเป็นความท้าทายครั้งใหม่ที่เหมียวกับพิมกำลังจะประเดิมฝีมือเร็ว ๆ นี้

ที่ตั้ง : 214 ถนนทรงวาด แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100

วัน-เวลา : ร้านกาแฟเปิดวันศุกร์-อาทิตย์ ต้องจองล่วงหน้า 

โทร : 09 1052 9562

Facebook : Pieces café & bed

07
A Thing That Is Pieces Studio

สตูดิโอพิเศษที่ออกแบบสิ่งละอันพันละน้อยด้วยความสนุก

A Thing That Is Pieces Studio : 13 ร้านใหม่ของนักสร้างสรรค์ย่านทรงวาด เติมสีสันให้ย่านเก่าของอากงอาม่ามีชีวิตชีวา

ถัดเข้ามาในตรอกจาก Pieces Café & Bed อีกนิดเดียว เป็นสตูดิโอออกแบบสุดมันของเหมียวและพิม ซึ่งไม่ได้มีแค่คอมพิวเตอร์ แต่มีทั้งจักรเย็บผ้า เครื่องตัดโลหะ ไปจนถึงเครื่องมือสำหรับงานพลาสติกรีไซเคิล 

A Thing That Is Pieces Studio รับทำงานออกแบบความคิดสร้างสรรค์ ทำงานศิลปะ ออกแบบแบรนด์ ออกแบบผลิตภัณฑ์ และออกแบบตกแต่งบรรยากาศครบครัน สองสาวนิยามอาชีพที่หลากหลายของตนว่า ‘รับจ้าง’ 

“ปัจจุบันนี้ไว้ใช้ทำงานประดิษฐ์ให้ลูกค้า และมีเครื่องมือสำหรับงานจากพลาสติกรีไซเคิลด้วย เป็นความชอบและความสนใจส่วนตัว และเมื่อได้มาอยู่ในย่านนี้ทำให้เห็นขยะพลาสติกที่เยอะมาก ๆ คงดีถ้าขยะพลาสติกบางส่วนเปลี่ยนมาเป็นงานศิลปะ สร้างเรื่องราวและชีวิตใหม่ให้กับขยะพลาสติก เราชอบขั้นตอนวิธีการทำ รู้สึกตื่นเต้นแถมสนุก ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ในทุกขั้นตอนเลย” 

พิมและเหมียวชอบการทำงานที่หลากหลายไม่จำกัดกรอบ และเป็นนักผุดโปรเจกต์ร้อยแปดพันเก้า การมีพื้นที่สำหรับทดลองทำงานชิ้นใหญ่ ๆ ทำให้พวกเธอสนุกกับการค้นหามากขึ้น ปัจจุบันทั้งคู่กำลังสนใจศึกษาการรีไซเคิลพลาสติกและวัสดุเหลือใช้อย่างจริงจัง ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ใช่แค่ตอบโจทย์การรักษ์โลก แต่ยังเป็นความท้าทายสำหรับนักออกแบบที่ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ด้วย ปัจจุบันสตูดิโอยังไม่ได้เปิดให้เข้าชม แต่ในอนาคตจะจัดกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะ รอติดตามกันได้เลย 

ที่ตั้ง : ถนนทรงวาด แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100

วัน-เวลา : นัดหมายล่วงหน้า 

โทร : 09 1052 9562

Instagram : athing_thatispieces สำหรับงานพลาสติกรีไซเคิล และ pypopeningspace สำหรับงานออกแบบ

08
Aoon Pottery

สตูดิโอปั้นเซรามิกและช่างปั้นเซรามิกรุ่นใหม่

Aoon Pottery : รวม 13 กิจการโดยพลังคนรุ่นใหม่แห่งทรงวาด สารพันกิจกรรมกิน ดื่ม เที่ยว ช้อป เรียนรู้ และสนุกกับถนนหลังไชน่าทาวน์

ถ้าคุณซื้อถ้วย จาน ชามที่ทำจากเซรามิกในรอบ 5 ปีหลัง ภาชนะชิ้นนั้นของคุณอาจกำเนิดจากสตูดิโอของ อุ่น พอทเทอรี (Aoon Pottery) ก็ได้นะ

บนชั้นสองของตึกแถวสีขาวที่ตกแต่งภายในสไตล์มินิมอล เป็นทั้งที่ทำงานและจัดแสดงผลงานจากแป้นหมุนของสองพี่น้องผู้หลงใหลงานเซรามิกทำมือ ง้วน-พลเสฏฐ์ กับ ฮง-ธเนสร์ โลหะชาละธนกุล

“เราว่างานอุตสาหกรรมมันก็จะให้เรื่องปริมาณ ให้เรื่องความสม่ำเสมอ แล้วก็ราคา แต่ไม่สามารถกำหนดความหนาบางในแต่ละใบได้ แต่ถ้าเป็นงานปั้นมือ คนปั้นอย่างเราควบคุมมันได้”

ง้วนพูดขึ้นพลางส่งตัวอย่างแก้วน้ำงานปั้นฝีมือเขาที่เบาดุจขนนก “ความหนาบางนั้นจะส่งผลกับเรื่องความสมดุลและความรู้สึก จริง ๆ แก้วน้ำใบนี้อาจจะมีน้ำหนักมากกว่าใบที่เราคิดว่าหนัก แต่ถ้าสมดุลดี มันก็จะไม่หนัก พวกทำมือก็จะกำหนดสิ่งนี้ได้”

รวม 13 กิจการโดยพลังคนรุ่นใหม่แห่งทรงวาด สารพันกิจกรรมกิน ดื่ม เที่ยว ช้อป เรียนรู้ และสนุกกับถนนหลังไชน่าทาวน์

สำหรับง้วนแล้ว เซรามิกไทยคือเซรามิกจากแหล่งดินในไทย ปั้นโดยคนไทย ให้คนไทยใช้ เขาเชื่อว่าดินในไทยแม้แต่แหล่งที่หลายคนว่าแย่ก็ยังมีดีหากรู้จักใช้ จึงเป็นเหตุให้เขาเสาะแสวงดินไทยจากทั่วประเทศมาทดลองปั้น ทั้งตั้งเป้าว่าจะต้องรู้จักแหล่งดินและชุมชนผลิตเซรามิกทั่วทุกภูมิภาค

ก่อนหน้านี้ Aoon Pottery เคยเปิด Testing Room ที่ชั้นล่างของสตูดิโอ ทำให้หลายคนเข้าใจว่าที่นี่คือคาเฟ่ แต่ง้วนบอกว่าเปล่าเลย เขาทำทุกอย่างเพื่อให้คนได้ทดลองใช้เซรามิกทำมือและเปิดใจใช้งานปั้นในชีวิตประจำวันต่างหาก 

ในวันนี้ Aoon Pottery เป็นสตูดิโอทำงานเซรามิกจริงจัง และสถานที่ฝึกหัดนักปั้นเซรามิกโดยเฉพาะ หากต้องการหัดทำเพื่อความสนุก ง้วนแนะนำสถานที่เวิร์กชอปดี ๆ ได้มากมาย แต่จุดประสงค์ของคนรักงานปั้น คือการสร้างช่างปั้นมือโปรรุ่นใหม่ให้เมืองไทย

“ที่นี่จะมีรับแค่คนที่อยากเป็นช่างปั้นจริง ๆ ก็จะไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย ให้มาฝึกงานแลก ทำงานแลกครับ”

ที่ตั้ง : 2/8 ซอยแยกปทุมคงคา แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100

วัน-เวลา : นัดล่วงหน้า 1 วันเพื่อเข้าชม

โทร : 08 9447 7161

Facebook : aoon pottery

09
We didn’t land on the moon since 1987 

บาร์จากเชียงใหม่ที่ย้ายความสนุกมาอยู่กรุงเทพฯ

We didn’t land on the moon since 1987  ; รวม 13 กิจการโดยพลังคนรุ่นใหม่แห่งทรงวาด สารพันกิจกรรมกิน ดื่ม เที่ยว ช้อป เรียนรู้ และสนุกกับถนนหลังไชน่าทาวน์
รวม 13 กิจการโดยพลังคนรุ่นใหม่แห่งทรงวาด สารพันกิจกรรมกิน ดื่ม เที่ยว ช้อป เรียนรู้ และสนุกกับถนนหลังไชน่าทาวน์
ภาพ : We didn’t land on the moon since 1987 

ติดกับ Aoon Pottery คือบาร์เล็ก ๆ จากเชียงใหม่ที่ย้ายมาเปิดในย่านไชน่าทาวน์ หลังจากสถิตย์อยู่เมืองเหนือมา 9 ปี โดย ปิลัน หรือ ลัน ผู้เป็นเจ้าของได้บอกว่า ร้านนี้เป็นเสมือนจดหมายบอกรักของเขาต่อร้านของเขาและคนหลาย ๆ คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เรื่องราวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของส่วนตัว แว่นตาพ่อ จดหมายเพื่อนสนิท หรือกระเป๋าเดินทาง ได้ถูกบรรจุและรวมกันอยู่ในทุกอณูของร้านอย่างมีเรื่องมีราว 

ร้านนี้เน้นค็อกเทลง่าย ๆ คลาสสิก เช่น Mojito, Old Fashion, Gin Tonic, Long Island และเบียร์ขวดเล็ก เป็นต้น เหมาะกับมานั่งชิลล์เหมือนอยู่บ้านเพื่อนที่ไม่ต้องมีจริตมากมายอะไร ราคาไม่แพง 150 – 260 บาท อาหารง่าย ๆ เช่น ไข่กระทะ ฮอทด็อก ก็พร้อมเสิร์ฟให้ทานเล่น 

ข้าง ๆ กันที่รอวันเปิดเร็ว ๆ นี้ คือร้านขายของชำสุดเปรี้ยวของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา เจ้าของคอลัมน์ ‘วัตถุปลายตา’ ที่เข็ดฟันที่สุดของ The Cloud แค่ส่องประตูร้านก็สัมผัสได้ถึงความแซ่บของสินค้าทั่วไทยและงานดีไซน์ที่รอวันเปิดตัว

รวม 13 กิจการโดยพลังคนรุ่นใหม่แห่งทรงวาด สารพันกิจกรรมกิน ดื่ม เที่ยว ช้อป เรียนรู้ และสนุกกับถนนหลังไชน่าทาวน์

ที่ตั้ง : ซอยแยกปทุมคงคา แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100

วัน-เวลา : เปิดวันพุธ-เสาร์ 13.00 – 00.00 น.

โทร : 08 5499 6245

Instagram : wedidntlandonthemoonsince1987

10
LUK Hostel & Rise Cafe

โฮสเทล-คาเฟ่ ขวัญใจต่างชาติกลางซอยสำเพ็ง

LUK Hostel & Rise Cafe : รวม 13 กิจการโดยพลังคนรุ่นใหม่แห่งทรงวาด สารพันกิจกรรมกิน ดื่ม เที่ยว ช้อป เรียนรู้ และสนุกกับถนนหลังไชน่าทาวน์

จากถนนทรงวาดอันเงียบเชียบ แค่ทะลุซอกเล็กซอยน้อยไม่กี่อึดใจ คุณก็จะมาถึง ‘ซอยวานิช 1’ หรือ ‘สำเพ็ง’ ที่พลุกพล่านด้วยคนค้าขาย มอเตอร์ไซค์ขนส่งที่วิ่งผ่ากลาง หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เหลียวซ้ายแลขวาด้วยความตื่นตาในย่านพาณิชย์ที่เรืองรองมาตั้งแต่แรกสถาปนากรุงเทพฯ

LUK Hostel เกิดขึ้นได้เพราะมีคนกลุ่มหลังสุด ตึกหลังนี้ได้รับการรีโนเวตจากอาคารสำเพ็งพลาซาในอดีต เป็นโฮสเทลและคาเฟ่แสนชิคที่ดึงดูดสายตาทุกคู่ที่สัญจรผ่าน ด้วยผนังปูนเปลือยทั้งภายในและภายนอก ดาดฟ้าชั้น 6 ยังมี RISE Bar เป็นบาร์ลับหุ้มหลังคาเรือนกระจกที่ต้อนรับลูกค้าทุกคน ทั้งแขกในและนอกโฮสเทล

รวม 13 กิจการโดยพลังคนรุ่นใหม่แห่งทรงวาด สารพันกิจกรรมกิน ดื่ม เที่ยว ช้อป เรียนรู้ และสนุกกับถนนหลังไชน่าทาวน์

“เปิดมาได้ 4 – 5 ปี พอช่วงโควิดก็ปิดไป 2 ปี เพิ่งกลับมาเปิดใหม่สักพักนี่ล่ะค่ะ” อุ้ม-วิภาวี กิตติเธียร ผู้จัดการทั่วไปบอกด้วยแววตาเปี่ยมความหวัง “ตอนแรกเข้าใจว่าคนยังไม่ค่อยเที่ยวเท่าไหร่ แต่ปรากฏว่าไม่ได้มีแค่เราที่อึดอัด ต่างชาติเขาก็อัดอั้นอยากมาเที่ยวเหมือนกัน”

เราเรียกที่นี่ว่า ‘โรงแรมคนรุ่นใหม่’ ได้เต็มปาก เพราะนอกจากจะก่อตั้งโดยทีมคนหนุ่มไฟแรงอย่าง ศานนท์ หวังสร้างบุญ ลูกค้าที่เข้าพักโรงแรมส่วนใหญ่ก็เป็นนักท่องเที่ยวยุโรปอายุน้อยที่มาไทยพร้อมกระเป๋าแบ็กแพ็ก และความตั้งใจจะค้นหาตัวเองก่อนเข้าวัยผู้ใหญ่

“จริง ๆ แล้ว จะทรงวาดหรือที่นี่ก็เป็นย่านเดียวกันทั้งนั้นแหละค่ะ เราไม่อยากกั้นความเป็น Neighboorhood ของเราด้วยถนน เพราะยังไงเราก็อยู่ฝั่งตรงข้ามกัน เป็นย่านเดียวกัน เป็นคนรุ่นใหม่ที่ยังมีจิตใจรุ่นใหม่คล้าย ๆ กัน ยังอยากทำอะไรที่น่าสนใจเพื่อพัฒนาย่านของเราร่วมกัน” คุณอุ้มกล่าวถึงสาเหตุที่ LUK Hostel เข้าร่วมโปรเจกต์ Made in Songwat แม้โรงแรมของเธอจะไม่อยู่บนถนนทรงวาดก็ตาม

ที่ตั้ง : 382 – 384 – 386 ซอยวาณิช 1 แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100

วัน-เวลา : เปิดทุกวัน 24 ชั่วโมง

โทร : 09 2280 3385

Facebook : LUK Hostel – ลุก โฮสเทล 

11
Restaurant POTONG

ร้านอาหารไทย-จีน เจ้าของรางวัล Best Restaurant in The World

ภาพ : วรุตม์ ไฉไลพันธุ์

อดีตร้านขายยาจีนยี่ห้อ ‘ปอคุนเอี๊ยะป้อ’ ของต้นตระกูลชาวจีนฮกเกี้ยนในตึก 5 ชั้น สไตล์ชิโน-ยูโรเปียน เมื่อผลัดใบสู่ทายาทรุ่นที่ 5 อย่าง เชฟแพม-พิชญา อุทารธรรม ซึ่งใฝ่ฝันอยากเปิดร้านอาหารของตัวเองตั้งแต่เด็ก ร้านขายยาสมัยคุณเทียด (ปู่ของปู่) จึงได้รับการขัดสีฉวีวรรณใหม่ เป็น Fine Dining Restaurant กลางซอยสำเพ็ง

อาหารฝีมือเชฟแพมไม่ใช่ทั้งอาหารจีนแบบที่หารับประทานได้ในเมืองจีน และก็ไม่ใช่อาหารไทยในเมืองไทย แต่เป็นอาหารไทยปนจีนของชาวจีนโพ้นทะเลที่ถูกนำมาตีความใหม่และผสานกับความรู้สมัยใหม่ของเชฟแพม เพื่อสื่อถึงตัวตนของเชฟซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีน

“คอนเซ็ปต์หลักของ ‘โพทง’ คือกาลเวลา อยากให้ลูกค้าสร้างความทรงจำที่นี่ ไม่ว่าจะตึกเก่าปนใหม่ ไปจนถึงมื้ออาหารที่มีกาลเวลาเป็นแม่ครัว โดยวัตถุดิบและเครื่องปรุงที่นี่ทำเองแทบทั้งหมด” ต่อ-บุญปิติ สุนทรญาณกิจ คู่ชีวิตของเชฟแพมกล่าวถึงแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังร้านของเขากับภรรยา

ภาพ : วรุตม์ ไฉไลพันธุ์

โพทงมีอาหารมากกว่า 20 คอร์ส แต่ละเดือนมื้ออาหารจะมีสลับหมุนเวียนทีละอย่าง รสชาติของร้านนี้ได้รับการการันตีคุณภาพจาก Condé Nast Traveler Hot List 2022 ให้เป็น Best Restaurant in the World มาแล้ว

อิ่มท้องกับอาหารฝีมือเชฟแพมแล้ว หากเข็มสั้นนาฬิกาชี้เลข 5 อย่าลืมแวะขึ้นไปเพลินอารมณ์กับเครื่องดื่มและบรรยากาศใน Opium Bar บาร์ลับที่อวลด้วยกลิ่นอายแหล่งแฮงก์เอาต์ของนิวยอร์ก ผสมความเป็นไชน่าทาวน์เยาวราชยามค่ำคืนด้วยนะ

ที่ตั้ง : 442 ซอยวาณิช 1 แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100

วัน-เวลา : ปิดวันอังคาร-วันพุธ 

โทร : 08 2979 3950 (จองโต๊ะล่วงหน้าเท่านั้น)

Facebook : Restaurant.Potong 

12
กู่หลงเปา

ซาลาเปาสูตรแต้จิ๋วโบราณที่ส่งต่อความอร่อยมา 5 ชั่วอายุคน

กู่หลงเปา : รวม 13 กิจการโดยพลังคนรุ่นใหม่แห่งทรงวาด สารพันกิจกรรมกิน ดื่ม เที่ยว ช้อป เรียนรู้ และสนุกกับถนนหลังไชน่าทาวน์

นานกว่าร้อยปีแล้วที่ครัวร้าน ‘เตียท่งเซ้ง’ หรือ ‘กู่หลงเปา’ ตั้งมั่นอยู่ในทรงวาด

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ร้านซาลาเปาแต้จิ๋วที่มีกรรมวิธีทำมือแบบโบราณแห่งนี้ได้เปลี่ยนมือเจ้าของจากรุ่นสู่รุ่น จนกระทั่งมาถึงรุ่นที่ 5 อย่าง นัท ที่ดูแลร้านร่วมกับอากู๋ (ลุง) มือปั้นซาลาเปาผู้ช่ำชอง

ด้วยมันสมองและสองมือของหนุ่มอนาคตไกล นัทได้ปรับปรุงแบรนดิ้งของร้านกู่หลงเปาให้ทันสมัยยิ่งขึ้น เช่น ทำช่องทางติดต่อออนไลน์ ออกแบบสินค้าใหม่ ๆ อย่างซาลาเปาอบ คิดค้นแพ็กเกจจิ้งที่ช่วยให้ซาลาเปาของร้านส่งไปขายไกลถึงเชียงใหม่หรือหาดใหญ่ได้ กระทั่งชื่อแบรนด์ใหม่ว่า ‘กู่หลงเปา’ เขาก็เป็นคนต้นคิด ขณะเดียวกันก็ไม่ลดทอนคุณค่าทางกาลเวลาของร้าน

รวม 13 กิจการโดยพลังคนรุ่นใหม่แห่งทรงวาด สารพันกิจกรรมกิน ดื่ม เที่ยว ช้อป เรียนรู้ และสนุกกับถนนหลังไชน่าทาวน์

ผลงานชิ้นล่าสุดของนัทคือการนำ ‘กู่หลงเปา’ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ ‘Made in Songwat’ เป็นการยืนกรานว่าร้านซาลาเปาร้อยปีของตระกูลเขาไม่ใช่ร้านเก่าเก็บ หากเป็นร้านเก๋าที่พร้อมปรับตัวเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านไปอย่างเร็วรี่

“ผมอยู่แถวสามแยกหมอมีมาตั้งแต่เกิด ประมาณ 30 กว่าปี ไม่ค่อยได้มาทรงวาด แต่ตัวครัวตั้งอยู่ในแหล่งทรงวาดมาร้อยกว่าปีแล้ว เมื่อประมาณ 3 ปีมานี้ก็ได้มาทรงวาดบ่อยขึ้น มารู้จักแต่ละร้านมากขึ้น ผู้คนแถวนี้เฟรนด์ลี่มาก ส่วนตัวคิดว่าถ้าเราชอบทรงวาดอยู่แล้ว ก็อยากทำให้สิ่งที่เราชอบเป็นที่รู้จัก และเข้าถึงได้ในวงกว้าง”

สูตรการทำซาลาเปาของกู่หลงเปายังเป็นสูตรแต้จิ๋วดั้งเดิมเมื่อศตวรรษที่แล้ว ไม่ได้ปรับเป็นอื่น มีเพียงการตลาด การขาย การสร้างแบรนด์เท่านั้น ที่นัทอยากเปลี่ยนเป็นขายส่งให้มากขึ้น

“ตอนนี้อยากจะทำครัวเป็นโชว์รูมครับ เป็นห้องกระจกที่คนผ่านมาเห็น ถ้าชอบก็ซื้อไปกินได้”

ที่ตั้ง : หน้าร้าน 660 – 662 ถนนเจริญกรุง แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100

วัน-เวลา : วันจันทร์-เสาร์ 09.00 – 17.00 น.

โทร : 09 5797 5747

Facebook : GuLongBaoSalapao

13
โรงกลั่นเนื้อ

ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่กำลังรอวันเปิดตัว

โรงกลั่นเนื้อ : รวม 13 กิจการโดยพลังคนรุ่นใหม่แห่งทรงวาด สารพันกิจกรรมกิน ดื่ม เที่ยว ช้อป เรียนรู้ และสนุกกับถนนหลังไชน่าทาวน์

ท้ายสุด สุดท้าย… ขอพาไปพบน้องคนสุดท้องของชาว Made in Songwat อย่าง ‘โรงกลั่นเนื้อ’ ซึ่งยังรอวันอวดโฉมอย่างเป็นทางการในวันที่บทความนี้เผยแพร่

“จะเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวครับ ชื่อว่า ‘โรงกลั่นเนื้อ’” กอล์ฟ-พลัฏฐ์ นิธิพิพิธชัย เท้าความขณะพาเราชมห้องแถวที่ยังปกปิดมิดชิด “ด้วยความที่หุ้นส่วนเขาชอบกิน เราก็คิดว่าจะทำยังไงให้มันอร่อย บวกความนั่งสบาย บวกกับศิลปะและวัฒนธรรมของถนนเส้นนี้ ก็คงจะเอาไปใส่”

กอล์ฟเผยว่าเขาหลงใหลในถนนทรงวาดมานานแล้ว เพราะชอบที่อยู่ริมแม่น้ำ คับคั่งด้วยตึกรามสวย ๆ จนดึงดูดให้มาเดินชมได้ไม่รู้เบื่อ

“มาเดินแล้วมันสวย มีร้านน่าสนใจเยอะเต็มไปหมด เรารู้สึกว่าอยากมาทำตรงนี้ ผมรู้สึกว่ามันจะเป็นนามสกุลที่ดีถ้าหากร้านแรกของผมมันจะมีนามสกุลทรงวาด แล้วถ้าในอนาคตร้านนี้เป็นที่พูดถึง เราก็จะรู้สึกว่าได้นำความเป็นทรงวาดติดตัวไปด้วยครับ”

เมนูของ ‘โรงกลั่นเนื้อ’ จะมีอะไรโดดเด่น ผู้ก่อตั้งร้านขออุบไว้ก่อน แต่เขารับประกันว่าจะต้องตรึงตาตรึงใจให้ผู้คนอยากกลับมาเยือนทรงวาดอีกแน่นอน

 

Writers

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์