แต่ก่อน ใครจะซื้อเฟอร์นิเจอร์ไม้คุณภาพดีก็ต้องไปซื้อที่เมืองแพร่ เพราะไม้ทั้งสวย ดีไซน์ก็ดี ขึ้นชื่อว่าเป็นอันดับหนึ่งเรื่องไม้ของภาคเหนือ และไหน ๆ ก็ไปเยือนแล้ว ต้องไม่ลืมแวะไหว้พระธาตุช่อแฮเป็นสิริมงคลก่อนกลับบ้าน ไม่อย่างนั้นจะถือว่าไปไม่ถึง 

เส้นทางท่องเที่ยวฉบับคนต่างถิ่นที่กล่าวมาคงเป็นจังหวัดแพร่ในความทรงจำของนักท่องเที่ยวหลายคนที่เคยไปเยือน แต่กลับแตกต่างจากผู้คนที่เติบโตที่นี่อย่างสิ้นเชิง เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว แพร่ไม่ใช่แค่เมืองที่ขับรถผ่าน แต่เป็นบ้านที่มีเรื่องราวมากมาย

กิ๊ก-กานต์ศิริ พิทยะปรีชากุล สไตลิสต์และแฟชั่นดีไซเนอร์ เจ้าของ Homelynestphrae โฮมสเตย์ดีไซน์สวยบอกอย่างนั้น จากมุมของคนจากบ้านไปแล้วกลับมาอีกครั้ง ทำให้เธอมองเห็นแพร่ในความทรงจำชัดขึ้น ทั้งย่านที่เติบโต ร้านประจำในวัยเด็ก อาหารรสมือคุณยาย และของอร่อยบนถนนเจริญเมือง ที่เป็นแรงบันดาลใจอยากให้เธอเล่าเรื่องเมืองแพร่แบบที่เธอเคยได้สัมผัสให้ทุกคนฟังอีกครั้ง

‘Made in Charoenmuang’ เป็นโครงการที่ชักชวน 5 ร้านดั้งเดิมบนถนนเจริญเมืองและเหล่านักสร้างสรรค์ในเมืองแพร่มากฝีมือ มาร่วมมือกันออกแบบงานดี ๆ และพัฒนาร้านเจ้าเก่าของวัยเก๋าด้วยดีไซน์ใหม่ ๆ โดยยังรักษาเอกลักษณ์และกลิ่นอายของอดีตที่หอมหวานเอาไว้แต่อย่างเดิม

โครงการนี้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA (Creative Economy Agency) ได้ชักชวน กิ๊ก และ ต้า-ศักดิ์สิทธิ์ ภัทรประกฤต จาก Wisdomative กลุ่มนักออกแบบที่ค้าผ้าและงานคราฟต์ มาออกแบบโปรเจกต์สนุก ๆ นี้ด้วยกัน ภายใต้ธีมอบอุ่นอย่าง ‘ฮ่อมคัมโฮม’

ฮ่อม มาจาก ใบห้อมซึ่งใช้ทำสีย้อมผ้าม่อฮ่อมขึ้นชื่อของคนแพร่ 

“คัมโฮม คือการกลับบ้าน” กิ๊กบอกกับเรา

 “เราจะได้เจอเพื่อน ๆ ช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์เท่านั้น เราอยู่บ้านตลอด ใช้ชีวิตแบบเดิมอยู่แล้ว เราเลยถามเพื่อน ๆ ว่าถ้ากลับบ้านมา อย่างแรกที่อยากทำคืออะไร ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากกลับมากินของอร่อยที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารรสมือแม่ หรือของดี ของเด็ดในเมืองแพร่ ร้านสตรีทฟู้ด โลคอลฟู้ด หรือแม้แต่ของฝาก อย่างน้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกแดง น้ำพริกน้ำย้อย ที่สร้างเศรษฐกิจให้แพร่มานาน

“โครงการนี้จึงอยากให้คนที่มาเยือนหวนคิดถึงเมืองแพร่ ว่ากลับบ้านมาแล้วทำอะไร ถ้ามากิน เรานึกถึงย่านเจริญเมืองเป็นอันดับแรก เพราะย่านนี้อาหารอร่อย” 

‘ฮ่อมคัมโฮม’ โปรเจกต์ชวนคนแพร่กลับบ้าน กินของอร่อยจากร้านเจ้าเก่าบนถนนเจริญเมือง

‘เจริญเมือง’ เรียกได้ว่าเป็นถนนเส้นวัฒนธรรมของจังหวัดแพร่ ถนนแห่งนี้ดูดซับประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่เอาไว้มากมาย เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางการค้าของผู้คนในอดีต จะสัญจรไปไหนก็ต้องมาขึ้นรถบนถนนเส้นนี้ ทำให้สองข้างถนนตลอดทั้งสายเต็มไปด้วยร้านรวงมากมาย ทั้งร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม ไปจนถึงโรงมหรสพ ที่ตั้งอยู่ในอาคารทั้งแบบล้านนา ยุโรป และจีน

เมื่อเมืองขยายอาณาเขต ผู้คนบนถนนเส้นนั้นก็เริ่มย้ายออกไปอยู่ข้างนอก แม้แต่ครอบครัวของกิ๊กเองก็ย้ายออกไปห่างจากถนนเส้นเดิมอีก 2 คูหา มีย่านการค้าเกิดขึ้นมากมายเกิดขึ้นทั่วเมือง ‘เจริญเมือง’ ที่เคยเจริญรุ่งเรืองจึงกลายเป็นเพียงเรื่องราวในความทรงจำของผู้คนในยุคสมัยเท่านั้น มีเพียงโอกาสพิเศษอย่างวันสงกรานต์ที่ถนนเส้นนี้จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ในฐานะที่เกิดและเติบโตที่นี่ กิ๊กและต้า จึงนำ ‘อาหาร’ จากร้านดั้งเดิมบนถนนเส้นนี้เป็นประตูเปิดต้อนรับให้คนรุ่นใหม่ที่อยากกลับบ้านและผู้มาเยือน รู้จักกับเจริญเมือง และเข้ามาดู มากิน มาชม ชุบชีวิตเจริญเมืองให้มีชีวาอีกครั้ง

เปี๊ยกกาแฟโบราณ x Kummee Studio

สภากาแฟแห่งแรก ๆ ของเมืองแพร่

เปี๊ยกกาแฟโบราณเป็นร้านกาแฟเก่าแก่ของเมืองแพร่ มีบาริสต้าวัยเก๋าที่คนแพร่รู้จักกันในนาม ‘ป้าเปี๊ยก’ เป็นคนชงอยู่ที่บาร์เล็ก ๆ หน้าร้าน ด้วยความรักในกาแฟ ป้าเปี๊ยกจึงรับไม้ต่อร้านกาแฟจากรุ่นคุณแม่และสานต่อมาถึงปัจจุบัน จนกลายเป็นร้านกาแฟโบราณเจ้าเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่บนถนนเจริญเมือง

‘ฮ่อมคัมโฮม’ โปรเจกต์ชวนคนแพร่กลับบ้าน กินของอร่อยจากร้านเจ้าเก่าบนถนนเจริญเมือง

เดิมร้านตั้งอยู่หน้าตลาดเทศบาล ศูนย์กลางความคึกคัก มีรถโดยสารเข้า-ออกทั้งวัน เพราะสมัยนั้นใครจะไปต่อรถไฟ ก็ต้องมารอรถเมล์ที่นี่ ร้านของป้าเปี๊ยกจึงกลายเป็นสภากาแฟให้ผู้คนแวะเวียนมาสร้างบทสนทนาไปโดยปริยาย

ปัจจุบันร้านย้ายมาอยู่ในคูหาหนึ่งของอาคารบนถนนเจริญเมือง ด้านในประดับประดาด้วยของสะสมเก่าแก่ที่ป้าเปี๊ยกชอบ เมนูเด็ดที่พลาดไม่ได้คือไข่ลวกกับปลาท่องโก๋ร้อน ๆ แต่ที่อร่อยกว่าอาหาร คือบทสนทนาที่เคล้าไปกับบรรยากาศเก่า ๆ ชวนคิดถึง แขกไปใครมาก็ต้องแวะกลับมาทักทายป้าเปี๊ยกคนเดิมเสมอ ป้าเปี๊ยกจึงไม่ใช่แค่คนธรรมดา แต่ยังถือเป็นตำนานที่ยังมีลมหายใจของย่านนี้เลยก็ว่าได้

เพราะป้าเปี๊ยกมีเรื่องราว จึงทำให้ Kummee Studio หยิบเอาความทรงจำเกี่ยวกับป้าเปี๊ยกมาออกแบบเป็นข้าวของ เครื่องใช้ ที่ทำให้นึกถึงป้าเวลาจิบกาแฟ 

โก้-ธัชพงศ์ พัฒนสารินทร์ ผู้มีไอเดียรักการปั้นตุ๊กตา ปัจจุบันเป็นช่างปั้นเซรามิกที่ใช้เทคนิคเขียนลายและเคลือบเผาเอง เมื่อได้ลงพื้นที่และทำความรู้จักกับป้าเปี๊ยก ก็เลยหยิบเอาคาแรกเตอร์อันชัดเจนมาสร้างสรรค์ผลงาน ออกแบบเป็นจาน ชาม แก้วกาแฟลายสวย รวมถึงแผ่นเมนูอาหารที่มีเรื่องเล่าของป้าอวลไปกับไอจากแก้วกาแฟ

เปี๊ยกกาแฟโบราณ

ที่อยู่ : 47/9 ต.ในเวียง อำ.เมืองแพร่ จ.แพร่ 

โทรศัพท์ : 0 5451 1819

แต๋วรวมมิตร x Warpzz Labs Creative Studiooh

ร้านขนมหวาน 50 ปีที่ยังมีรสมือเดิมตั้งแต่รุ่นคุณแม่

ปีนี้เป็นปีที่ 50 ของร้านขนมหวาน ‘แต๋วรวมมิตร’ ชื่อร้านอย่างไม่เป็นทางการที่คนเรียกติดปากจนกลายมาเป็นชื่อร้านจริง ๆ หลังจากป้าแต๋วจากไป ทายาทรุ่นสองก็เข้ามารับช่วงต่อ โดยคงรสมือของยุคป้าแต๋วเอาไว้ด้วยการใช้ทีมงานดั้งเดิมตั้งแต่รุ่นคุณแม่

‘ฮ่อมคัมโฮม’ โปรเจกต์ชวนคนแพร่กลับบ้าน กินของอร่อยจากร้านเจ้าเก่าบนถนนเจริญเมือง

ในยุคของป้าแต๋วร้านเป็นเพิงเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในตลาดอรทัย ทำกันเอง ขายกันเองในครอบครัว มีเมนูเด็ดเป็นซ่าหริ่ม ทับทิมกรอบ และไอศกรีมวานิลลาโฮมเมดที่มีให้เลือกทั้งแบบแห้งและน้ำ แบบแห้งคือไอศกรีมทรงเครื่องทั่วไป แต่ถ้าเป็นแบบน้ำจะพิเศษกว่าตรงที่ราดน้ำกะทิลงไปด้วย ในช่วงหน้าหนาวก็มีเมนูของหวานร้อน อย่างบัวลอย ถั่วดำ เต้าส่วน ท้าทายอุณภูมิหลักสิบปลาย ๆ ของเมืองแพร่ โดยปัจจุบันมีถึง 4 สาขา และยังมีเย็นตาโฟ เต้าหู้ยี้ สูตรคุณพ่ออยู่ในร้านเดียวกันด้วย

ด้วยความที่ทายาทรุ่นนี้เปิดใจเต็มที่รับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย จึงตั้งใจมาเสมออยากรีแบรนด์แต๋วรวมมิตรให้เป็นร้านของหวานสมัยใหม่ เปลี่ยนชื่อให้ใหม่เข้าถึงรุ่นใหม่ได้ง่ายมาตั้งนานแล้ว เมื่อทั้งผู้ประกอบการและนักออกแบบได้มาพบกัน ทั้งคู่กลับพบแนวทางที่ต่างออกไป 

Warpzz Labs Creative Studiooh เป็นสตูดิโอทำงานออกแบบ สอนศิลปะและการแสดง โดย นิปัทม์ สุธิบุตร และ อิช์ค-กัลยทรรศน์ ชูวงษ์ ชาวเมืองแพร่โดยกำเนิดที่กลับบ้านมาสตูดิโอสอนร้อง เต้น เล่นละครในพื้นที่ของตัวเอง อิช์คเป็นแฟนตัวยงของแต๋วรวมมิตรมาตั้งแต่จำความได้ สิ่งที่เธอออกแบบจึงเป็นการเล่าเรื่องป้าแต๋วในความทรงจำให้คนอื่น ๆ ได้รู้จัก

ใครว่าเป็นร้านเชื้อสายจีนต้องสีดำ ขาว แดง เพราะแต๋วรวมมิตรไม่ใช่อย่างนั้น อิช์คจึงออกแบบใหม่ นำเอาสีสันสดใสของซ่าหริ่ม ทับทิมกรอบ และไอศกรีมวานิลลา มาเล่าเรื่องของแต๋วรวมมิตรให้คนรู้จัก เปลี่ยนธีมร้านให้สมัยใหม่ แต่ยังคงไว้ซึ่งตัวตนของป้าแต๋ว 

แต๋วรวมมิตร (สาขาประตูชัย)

ที่อยู่ : ประตูชัย ถ.เจริญเมือง ต.ในเวียง อำ.เมืองแพร่ จ.แพร่

โทรศัพท์ : 08 1939 2456

อ้วนลูกชิ้น x Bowornwong Yodmuang

ลูกชิ้นจิ๋วปิ้งกับโฉมหน้า ‘ลุงอ้วน’ ที่อยากให้คนรู้จัก

อ้วนลูกชิ้นเป็นร้านลูกชิ้นปิ้งเก่าแก่ในแพร่ เปิดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2525 ปัจจุบันรับช่วงต่อโดยทายาทรุ่นสอง

คนที่บุกเบิกทำลูกชิ้นคือลุงอ้วน ผู้เคยเป็นลูกจ้างในร้านก๋วยเตี๋ยว เขาได้ครูพักลักจำวิชาทำลูกชิ้นจากร้าน ก่อนมาหัดทำลูกชิ้นของตัวเองขาย ช่วงแรก ๆ ทำลูกชิ้นเนื้อ แต่หลังจากเกิดโรคระบาดในวัวเลยเปลี่ยนมาเป็นลูกชิ้นหมู ลูกจิ๋ว ทานง่ายอย่างทุกวันนี้ 

‘ฮ่อมคัมโฮม’ โปรเจกต์ชวนคนแพร่กลับบ้าน กินของอร่อยจากร้านเจ้าเก่าบนถนนเจริญเมือง

 ทุก ๆ เย็นลุงอ้วนจะหอบลูกชิ้นใส่รถเข็นพร้อมเตาถ่าน เดินขายไปเรื่อย ๆ ลูกชิ้นปิ้งจนหอม ราดน้ำจิ้มสูตรเด็ดที่เคี่ยวเอง ลูกเล็ก ๆ ทานง่าย กลายเป็นที่จดจำของคนเมืองแพร่มาจนวันนี้

ปัจจุบันอ้วนลูกชิ้นมีทั้งแบบขายปลีกและขายส่ง แต่ยังคงเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน เพื่อควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน แม้จะเป็นที่รู้กันของคนแพร่ว่านี่คืออ้วนลูกชิ้น แต่สิ่งที่ยังขาดไปคือตัวตนของลุงอ้วน ที่ไม่มีสิ่งไหน สัญลักษณ์ใดบอกเลยว่าใครคือลุงอ้วน มีใบหน้าค่าตาเป็นแบบไหน นั่นคือสิ่งที่นักออกแบบมองเห็น เป็นโจทย์ใหม่ที่เขาต้องแก้ให้กับอ้วนลูกชิ้น

บวรวงศ์ ยอดเมือง คือนักออกแบบที่เข้ามาจับมือกับลุงอ้วนสร้างประสบการณ์ใหม่ให้อ้วนลูกชิ้นเป็นที่จดจำมากขึ้น เขาเรียนจบทางด้านสิ่งทอ ปัจจุบันเป็นทั้งนักออกแบบและผู้ร่วมก่อตั้ง Ho: BAKE & CRAFT CAFE คาเฟ่ในเมืองแพร่ที่ดีไซน์สวย ออกแบบทั้งพื้นที่และประสบการณ์สำหรับผู้มาเยือนได้อย่างลงตัว

แบรนด์ของอ้วนลูกชิ้นเริ่มเล่าเรื่องตัวเองใหม่ทั้งหมดผ่านส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เปลี่ยนไป มีกระดาษใบเล็ก ๆ อยู่ในซองลูกชิ้นแบบขายส่ง แนะนำว่าอ้วนลูกชิ้นเป็นใคร เป็นลูกชิ้นแบบไหน แนะนำการเก็บรักษา รวมถึงสูตรอาหารง่าย ๆ สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าจะเอาลูกชิ้นไปทำอะไรกิน นับว่ามีความในใจของลุงอ้วนส่งผ่านไปยังคนกินทุกคน

อ้วนลูกชิ้น

ที่อยู่ : ประตูชัย ถ.เจริญเมือง ต.ในเวียง อำ.เมืองแพร่ จ.แพร่ 

โทรศัพท์ : 08 1366 4886

เมืองแพร่พานิช x Kamon Indigo x Woodable Thailand

ร้านขนมของคน 3 รุ่น ที่ทำขนมเปี๊ยะทรงใหม่ด้วยสูตรดั้งเดิม

ร้านขายของฝากดั้งเดิมบนถนนเจริญเมืองที่เปิดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2511 สมัยอาม่าพิสซงยังสาว ยุคนั้นขายขนมไทย ขนมไข่ถ้วยจีบชิ้นละบาท กระทั่งมาถึงรุ่นของลูกชาย เริ่มมีโดนัทโบราณทอดเป็นตัวชูโรง เริ่มอบขนมปังและเบเกอรี่หลากหลายมากขึ้น ก่อนที่จะเข้าถึงรุ่นที่ 3 ซึ่งทำเบเกอรี่สมัยใหม่แทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเค้กเนยสดหรือขนมไหว้เจ้าในเทศกาลต่าง ๆ ของคนจีน แม้จะผ่านไปกี่ยุค หน้าร้านก็ยังคงมีขนมสูตรดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นขนมผิงหรือขนมเปี๊ยะ ซึ่งยังเป็นที่จดจำของคนในละแวกนั้น

‘ฮ่อมคัมโฮม’ โปรเจกต์ชวนคนแพร่กลับบ้าน กินของอร่อยจากร้านเจ้าเก่าบนถนนเจริญเมือง

ในบรรดาขนมจากทุกยุค ขนมเปี๊ยะโบราณขายดีที่สุด ที่เรียกว่าโบราณเพราะเป็นขนมเปี๊ยะลูกใหญ่ แป้งหนึบ ไส้แน่น หวานพอดี มีทั้งไส้ถั่วและไส้ฟัก ซึ่งปัจจุบันไส้ฟักนั้นหากินไม่ง่ายสักเท่าไหร่แล้วในร้านทั่วไป ขนมเปี๊ยะยังขายดีมาตลอด ยิ่งในช่วงเทศกาลไหว้เจ้าของคนไทยเชื้อสายจีน เรียกได้ว่าทำกันแทบไม่ทัน ถึงจะยังขายได้ตลอด แต่นอกเทศกาลก็นับว่ามีคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้นที่จะซื้อกลับไป เพราะขนาดที่กลมใหญ่ อาจเหมาะเป็นของฝากให้ญาติผู้ใหญ่มากกว่าที่จะแวะมาเจอแล้วซื้อกินเล่น อีกทั้งหน้าร้านที่มีแค่ป้าย ‘เมืองแพร่พาณิชย์’ แบบวินเทจ ก็ไม่ได้เรียกให้คนแวะเวียนเข้ามาทำความรู้จักร้านขนมสูตรเด็ดร้านนี้สักเท่าไหร่นัก ถ้าเดิมทีไม่ใช่คนพื้นที่

กุ๊กกิ๊ก-กมลชนก แสนโสภา และ สตางค์-จินตพงศ์ สีพาไชย สองดีไซเนอร์จากจาก Kamon Indigo ผู้ทำงานผ้าซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากแมลงและธรรมชาติ จึงปิ๊งไอเดียหยิบเอา ‘เสือ’ มาเป็นสื่อกลางที่จะชวนให้ทุกคนมาเยือนร้านเบเกอรี่เจ้าเก่าแห่งนี้

พระธาตุช่อแฮชื่อดังของแพร่เป็นพระธาตุปีเสือ ทำให้เราพบเห็นรูปปั้นเสือหรือสัญลักษณ์ของเสือได้ทั่วไปในเมืองแพร่ ไม่ว่าจะเป็นตามถนนหนทาง ศาลหลักเมือง วัด หรือสถานที่ราชการ ก็ล้วนแล้วเต็มไปด้วยเสือทั้งสิ้น

วันนี้เสือตัวหนึ่งได้กระโดดมาเยือนบนโลโก้โฉมใหม่ของแพร่พาณิชย์ เพิ่มโคมจีนเข้าไปเพื่อบอกให้ทุกคนรู้ถึงเรื่องราวของคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งมีประวัติศาสตร์อย่างยาวนานบนถนนเจริญเมือง นอกจากป้ายร้านเรียกแขกแล้ว ขนมเปี๊ยะทรงใหม่ยังชวนคนมามุง เพราะได้กลายร่างจากลูกกลมอวบ มาเป็นรูปเท้าเสือขนาดพอดีคำ ที่ได้ Woodable Thailand สตูดิโอทำงานไม้คุณภาพในเมืองแพร่ มาออกแบบแม่พิมพ์ขนมรูปเท้าเสืออันละเอียดลออให้ พร้อมขายเป็นครั้งแรกในงานนี้ ที่สำคัญ ยังมากับแพ็กเกจใหม่ ซื้อกินก็ได้ ซื้อไปไหว้ก็เท่ไม่หยอกเลยทีเดียว

เมืองแพร่พานิช

ที่อยู่ : 47, 17 ถนนรอบเมือง ต.ในเวียง อ.เมือง, แพร่ 54000

โทรศัพท์ : 0824153992

กะหรี่พัฟ (เจ้แอ้ว) x Chatchaiwat Pottery Studio

กะหรี่ปั๊บของสามพี่น้องที่เปิดมานานกว่า 25 ปี

กะกรี่ปั๊บเจ้แอ้ว (โรจน์ไพบูลย์) เดิมทีเป็นร้านขายข้าวสารเก่าแก่แห่งหนึ่งของเมืองแพร่ เมื่อผู้บุกเบิกซึ่งเป็นคุณพ่อและคุณแม่เริ่มแก่ตัวลง แบกข้าวสารไม่ไหวเหมือนแต่ก่อน เลยตัดสินใจปิดกิจการไป ลูกสาว 3 คนซึ่งเป็นทายาทรุ่นสองจึงออกไอเดียหาของมาขายที่หน้าบ้าน ท้ายที่สุดจึงไปเรียนทำกะหรี่ปั๊บจนมีฝีมือแล้วกลับมาทำขายที่หน้าบ้าน บนรถเข็นโบราณที่มีอายุกว่า 100 ปี 

เมื่อร้านอร่อยเจ้าเก่าและนักสร้างสรรค์ใน จ.แพร่ มารวมตัว ชวนกลับบ้านมาเยือนถนนเจริญเมืองให้คึกคักอีกครั้ง

ทุก ๆ วันภาพชินตาทุกคนเห็นคือคุณป้าทั้งสามคน ช่วยกันปั้นแป้ง กลิ้งแป้ง ผัดไส้ ห่อขนมกันให้เห็นที่หน้าร้าน เรียกได้ว่าแค่ไปนั่งดูก็เพลินแล้ว 

ร้านนี้ได้ ชัชชัยวัตร ชังชู ศิลปินนักปั้นเซรามิกมือฉมังจาก Chatchaiwat Pottery Studio มาร่วมทำงานด้วย เขาเพิ่งย้ายจากเชียงใหม่มาอยู่เมืองแพร่ และรู้จักร้านกะหรี่ปั๊บในมุมของแขกผู้มาเยือน นั่นทำให้เขาเห็นว่าจริง ๆ แล้วร้านนี้แทบไม่ต้องเปลี่ยนอะไร เพราะหน้าร้านที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ทำให้มีชีวิตชีวาและดึงดูดให้คนแวะเข้ามาลองชิมอยู่แล้ว

เขาจึงมีไอเดียอยากทำข้าวของเครื่องใช้ในครัวที่จะตอบโจทย์การปั้นกะหรี่ปั๊บของคุณป้าเสียมากกว่า ทั้งตะแกรงวางขนม รวมถึงถาดรองใบใหญ่ โดยของแต่ละชิ้นนั้นไม่ได้แค่สวยงามและชวนให้นึกถึงเจริญเมืองเพียงเท่านั้น แต่ยังชัชชัยวัชรยังให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดค้น เพื่อทำให้แต่ละชิ้นตอบโจทย์การใช้งานของคนทำขนมอีกด้วย

กะหรี่พัฟ (เจ้แอ้ว)

ที่อยู่ : ถ.รอบเมือง ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ แพร่ 

เรื่องราว แรงบันดาลใจ แนวคิด และกระบวนการออกแบบของนักสร้างสรรค์แต่ละคนที่ทำงานร่วมกับร้านเก่าแก่ ตั้งแต่ตอนเริ่มแรกจนออกมาเป็นผลงานที่ประจักษ์สู่สายตาผู้ชม จะถูกจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ ‘Made in Charoenmuang’ ตั้งแต่วันที่ 20 – 22 พฤษภาคม 2566 ที่ร้านเทียนจี่ตึ๊ง (เดิม) อาคารไม้เก่าแก่ซึ่งเคยเป็นร้ายขายยาแห่งเดียวบนถนนเส้นนั้นใน พ.ศ. 2479

นอกจากนิทรรศการแล้ว ยังมี ‘Little Market’ ตลาดรวมของดีจากร้านเด็ดและงานคราฟต์ของพ่อค้าแม่ค้าเมืองแพร่ หลาย ๆ เจ้าเป็นคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งกลับบ้านมาเปิดร้าน ตั้งใจทำอะไรสนุก ๆ เป็นตลาดที่กิ๊กอยากให้คนมาเยือนเห็นว่าเมืองแพร่ไม่ได้มีแค่อาหารเจ้าดังดั้งเดิม แต่ยังเต็มไปด้วยร้านเล็กร้านน้อย มีวิถีการกินหลายแบบที่น่าสนใจ

อีกหนึ่งดาวเด่นของงานนี้คือ Local Eat & Creative Table ซึ่งมาในธีม ‘กิ๋นข้าวหลังบ้าน x Made in Charoen Muang’ ซึ่งกิ๊กได้นำเอาโปรเจกต์กิ๋นข้าวหลังบ้านที่แต่เดิมจัดขึ้นที่ Homelynestphrae มาไว้ที่นี่

แรกเริ่มเดิมทีกิ๊กได้แรงบันดาลใจมาจากคุณยาย เนื่องจากคุณยายทำอาหารเก่ง ก็เลยชวนคุณยาย คุณแม่ และน้องสาวมาช่วยกันทำอาหารด้วยกัน เปิดครัวให้คนจากข้างนอกมานั่งกินข้าวหลังบ้าน โดยตั้งใจว่าไม่เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน รสมือของคุณยายก็ยังอยู่ในความทรงจำของคนที่มาเยือนเสมอ

ความพิเศษของการยกโต๊ะกินข้าวหลังบ้านกิ๊กมาไว้ที่งานนี้คือ เธอได้นำเมนูเด็ดจากร้านเก่าเจ้าดัง 5 ร้าน ซึ่งเป็นพระเอกของงานมารังสรรค์ใหม่ด้วยรสมือของคุณยาย ไม่ว่าจะเป็นห้อมหวานจากแต๋วรวมมิตร ฟักทองแกงบวชล้านนาสูตรคุณยาย กะหรี่ปั๊บเจ๊แอ้วที่เสิร์ฟพร้อมกับแกงฮังเล ซึ่งไม่ว่าภาพจำถนนเส้นนี้ของทุกคนจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าทุกคนที่มาที่นี่จะจำได้แน่ ๆ ว่าวันนั้นได้กินอะไร 

เปิดให้เข้าชมนิทรรศการตั้งแต่ 20 – 22 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.00 – 19.00 น.

Local Eat & Creative Table 21-22 พฤษภาคม 2565 เวลา 17.00 – 18.30 น. และ 19.00 – 20.30 น. โปรดสำรองที่นั่งล่วงหน้า โทร. 09 2191 4462

ภาพ : Made in Charoenmuang

Writer

Avatar

ซูริ คานาเอะ

ชอบฟังมากกว่าพูด บูชาของอร่อย เสพติดเรื่องตลก และเชื่อว่าชีวิตนี้สั้นเกินกว่าจะอ่านหนังสือดีๆ ให้ครบทุกเล่ม