16 กันยายน 2021
23 K

งานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่สีเขียวในเมืองต่อผู้คน ตั้งแต่ทำให้มีสุขภาพดีและมีอายุยืนยาวขึ้นได้ จากการมีพื้นที่ไว้ขยับขยายยืดเส้นร่างกาย หมู่มวลต้นไม้ในเมืองช่วยพยุงสุขภาพจิตของผู้คน ไปจนถึงความจริงปวดใจที่ว่า คนรุ่นใหม่โสดมากขึ้น เพราะพวกเขาไม่มีพื้นที่ส่วนกลางเอาไว้พบปะหรือสร้างสัมพันธ์กับใคร ซึ่งนักวิจัยก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า สวนสาธารณะอาจช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยเช่นกัน

การได้มารับฟังแนวคิดการออกแบบพัฒนาสวนลุมพินีในวาระครบรอบ 100 ปี ใน ค.ศ. 2025 จึงเป็นโอกาสที่มีความหมายเหลือเกินสำหรับฉัน ไม่ใช่แค่เพราะฉันโสดหรอก… (ดักคอไว้ก่อน) แต่เป็นเพราะฉันตระหนักแล้วว่า สวนสาธารณะมีความสำคัญมากแค่ไหนต่อชีวิตของคนกรุงเทพฯ 

สวนลุมพินีโฉมใหม่ แนวคิดใหม่ ที่เราจะเห็นในวาระฉลองครบ 100 ปี ในปี 2025
สวนลุมพินีโฉมใหม่ แนวคิดใหม่ ที่เราจะเห็นในวาระฉลองครบ 100 ปี ในปี 2025

ว่าแล้วก็ขอเชิญทุกท่านนั่งลงรอบเก้าอี้ม้าหิน ไม่ไกลจากประตูทางเข้าลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 ในเวลาใกล้พระอาทิตย์ตกเกือบ 6 โมงเย็น แล้วเงี่ยหูฟังจาก คุณเอิร์ธ-พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร และ อาจารย์กช-กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกที่รับผิดชอบการออกแบบสวนลุมฯ ใหม่ให้กรุงเทพมหานครในคราวนี้ เจ้าของผลงานภูมิสถาปัตย์ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ สวนกลางเมืองซึ่งทำหน้าที่เก็บน้ำฝนป้องกันน้ำท่วม อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี สวนสาธารณะของประชาชนทุกคน และ เจ้าพระยาสกายปาร์ค การเปลี่ยนสะพานด้วนให้กลายเป็นสวนสาธารณะบนสะพาน

สวนลุมพินีโฉมใหม่ แนวคิดใหม่ ที่เราจะเห็นในวาระฉลองครบ 100 ปี ในปี 2025

ณ ทางเข้าสวน

กรุงเทพมหานครมีโครงการ Green Bangkok 2030 ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ตามมาตรฐานสากล สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร จึงเดินหน้าปรับปรุงสวนสาธารณะ 11 แห่งรอบกรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้น ค.ศ. 2020 คุณเอิร์ธบอกว่า โครงการพัฒนาสวนลุมฯ คือการต่อยอดวิสัยทัศน์นั้น ซึ่งเต็มไปด้วยความท้าทายในหลายมิติ

“เวลาเราไปนิวยอร์ก เรานึกถึง Central Park ไปลอนดอน ก็นึกถึง Hyde Park ถ้าพูดถึงกรุงเทพฯ ก็ต้องนึกถึงสวนลุมฯ” คุณเอิร์ธเปิดฉากเล่า “การปรับปรุงสวนลุมฯ ในวาระครบรอบร้อยปี ไม่ใช่แค่การซ่อมบำรุง เพราะบางปัญหาแค่ซ่อมคงไม่พอ เราต้องมองให้ยาวออกไป โดยยึดเอาพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 6 ที่ทรงมีพระราชดำริไว้เมื่อครั้งกำเนิดสวนสาธารณะแห่งนี้ใหม่ๆ คือ 

‘เพื่อพระราชทานความศุขสำราญแก่ประชาชน แลเปนเครื่องประดับพระมหานคร’ (สจช. ร.7 ม.16/1) 

“นี่คือโจทย์หลักของกรุงเทพมหานคร นำโดยสำนักสิ่งแวดล้อมและผู้ออกแบบของเรา ว่าจะทำอย่างไรให้สวนลุมฯ ทำหน้าที่นั้นได้ดีกว่าเดิม ด้วยมุมมองของคนในยุคศตวรรษที่ 21 พร้อมกับมองไปอีกร้อยปีข้างหน้าด้วย”

โอกาสแบบนี้ร้อยปีมีครั้ง ผู้ว่าฯ จึงอยากทำให้ดีที่สุด โดยมีกระบวนการที่ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกัน สมกับที่สวนลุมพินีเป็นสวนสาธารณะประจำเมือง

สวนลุมพินีโฉมใหม่ แนวคิดใหม่ ที่เราจะเห็นในวาระฉลองครบ 100 ปี ในปี 2025

กรุงเทพมหานครและสำนักสิ่งแวดล้อม เจ้าของโครงการ จึงเชิญทีมนักออกแบบที่มีความสามารถหลากหลายทีมมาประกวดแบบ ผู้ชนะคือบริษัท Landprocess ของอาจารย์กช ซึ่งอัดแน่นไปด้วยทีมที่ปรึกษามากประสบการณ์จากหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น รศ.นิลุบล คล่องเวสสะ และ รศ.ดร.รุจิโรจน์ อนามบุตร สองปรมาจารย์ด้านสวนสาธารณะ ศ.กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ ผู้บุกเบิกวงการภูมิสถาปัตย์ไทยที่เคยออกแบบปรับปรุงสวนลุมพินีเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว อ.รณฤทธิ์ ธนโกเศศ และ อ.ดร.วิภากร ธรรมวิมล ที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์-ภูมิทัศน์วัฒนธรรม คุณหัทยา สิริพัฒนากุล เลขาธิการ Icomos Thai ผศ.ภาวิณี อินชมภู และ ครูต้อ-ธราดล ทันด่วน รุกขกรรุ่นแรกของเมืองไทย ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยา อ.ดร.ดนัย ทายตะคุ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศภูมิทัศน์ ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ วิศวกรด้านน้ำ ทีม G49 ซึ่งเชี่ยวชาญด้านป้ายสัญลักษณ์ในพื้นที่สาธารณะ (Signage) ร่วมด้วยเครือข่ายนักนิเวศแนวหน้าของประเทศอีกมากมาย สมกับเป็นพื้นที่สาธารณะของทุกคน

ความท้าทายของสวนประจำเมือง

“สวนลุมฯ มีชีวิตอยู่แล้ว มีคนใช้งานทุกวัน แต่ก็มีปัญหาเรื้อรังเยอะมาก ความท้าทายของงานนี้คือ ทำยังไงให้วาระนี้เป็นการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของเมือง ไม่ใช่แค่การจัดสวนสวย” อาจารย์กชเริ่มเล่าวิธีตีโจทย์

“พอดูแผนที่อุณหภูมิย้อนหลังหลายๆ ปี พบว่าพื้นที่ที่ว่าเขียวนั้นร้อนขึ้นเรื่อยๆ ต้นไม้ดูเหมือนอุดมสมบูรณ์ แต่ทรุดโทรมไปเยอะ ชนิดพันธุ์ไม่หลากหลาย แล้วมีปัญหาน้ำเน่าเสีย ส่วนกรุงเทพฯ ก็ยังมีความท้าทายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำท่วม PM 2.5 น้ำแล้ง เราเป็นภูมิสถาปนิกที่มีแนวทางชัดเจนในการแก้ปัญหาพวกนี้ อยากพัฒนาสุขภาพเมืองผ่านการพัฒนาสุขภาพของสวนลุมฯ”

สวนลุมพินีโฉมใหม่ แนวคิดใหม่ ที่เราจะเห็นในวาระฉลองครบ 100 ปี ในปี 2025
ร่างแรกของสวนลุมพินีโฉมใหม่

“การพัฒนาสวนลุมฯ ไม่ง่ายเหมือนสร้างสวนใหม่จากศูนย์ เพราะต้นไม้ที่มีอยู่มีปัญหา มีสิ่งที่ต้องแก้อยู่แล้ว แล้วก็เป็นสวนสาธารณะที่มีความทรงจำ มีประวัติยาวนาน ทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ที่นี่เป็นผืนดินที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานให้ประชาชน จึงเป็นศักดิ์เป็นศรีและมีเรื่องราวอยู่ในความทรงจำของผู้คนมากมาย เราจะเก็บสิ่งเหล่านี้ให้ยังคงอยู่อย่างไร และสัดส่วนของสิ่งใหม่ที่จะเพิ่มเข้าไปคืออะไร ต้องไม่ใช่แค่งานออกแบบสวยๆ แต่เราจะเก็บความทรงจำเก่าและใส่ความใหม่ให้อยู่คู่กับคนไปอีกร้อยปีได้อย่างไร” ภูมิสถาปนิกสาวอธิบาย

แม้ว่าจะไม่มีใครรู้คำตอบที่ถูกต้อง แต่ทีมนักออกแบบก็พยายามคิดถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสวนแห่งนี้ให้ครอบคลุมที่สุด

5 แนวคิดใหม่ของสวนลุมพินี

แนวความคิดที่อาจารย์กชเสนอกับกรุงเทพมหานคร ไม่ได้เป็นไอเดียใหญ่ไอเดียเดียว แต่เป็น 5 แนวคิดที่จะกลายเป็นหัวใจของสวนลุมพินี

สวนลุมพินีโฉมใหม่ แนวคิดใหม่ ที่เราจะเห็นในวาระฉลองครบ 100 ปี ในปี 2025
ภาพฝันของการเปิดพื้นที่รองรับกิจกรรมหลากหลายในอนาคต

หนึ่ง ประวัติศาสตร์

อาจารย์กชเลือกใช้แนวแกนเดิมแล้วสร้างเรื่องราวเพิ่มขึ้น เช่น เพิ่มชื่อถนนสวนลุม 100 ปี

สอง พื้นที่ผสานความหลากหลายทางวัฒนธรรม

“สวนสาธารณะในต่างประเทศมีอะไรสนุกๆ หรือเป็นแหล่งเรียนรู้ สวนลุมฯ ก็เป็นแบบนั้นได้ เราเรียนรู้เรื่องอะไรก็ได้จากในสวน ถ้าเราเป็นเด็ก เราคงอยากรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ตอนนี้แทบไม่มีอยู่แล้วในเมือง สวนอาจกลายเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องต้นไม้ นก นิเวศวิทยาเมือง แล้วก็มีมิติเรื่องศิลปวัฒนธรรมด้วย เราจะทำเรื่องนี้ในโซนตึกที่ไม่ได้ใช้งาน เช่น ห้องสมุด ซึ่งตอนนี้เหมือนไม่ได้มาอ่านหนังสือในสวน เราต้องทลายกำแพงของสถาปัตยกรรมกับพื้นที่โดยรอบให้กลายเป็นเนื้อเดียวกัน”

สาม Modern Recreation

คนอาจจะคุ้นเคยกับการมาสวนลุมฯ เพื่อรำไทเก๊กหรือวิ่งออกกำลังกาย แต่คนรุ่นใหม่มีรูปแบบการออกกำลังกายหลากหลายกว่านั้นมาก สวนจึงต้องปรับตัวตาม

ภารกิจรีดีไซน์ 'สวนลุมพินี' สวนสาธารณะแห่งแรกของไทยครบรอบ 100 ปี กับการปรับปรุงปอดสีเขียว 360 ไร่ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับชาวกรุงเทพฯ ทุกคน
ภาพไอเดียลานกิจกรรมที่สอดรับกับคนทุกวัย

อาจารย์พรพรรณ ฟูตระกูล เป็นอาจารย์ด้านภูมิสถาปัตยกรรมรุ่นใหญ่ ชี้ประเด็นว่า สวนลุมฯ มีทั้งพื้นที่ที่ถูกใช้งานมากเกินไปจนเบียดเสียด เช่น รำไทเก๊กหรือวิ่ง และพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกใช้งานอย่างเต็มที่อีกมาก น่าจะเพิ่มพื้นที่สำหรับกิจกรรมใหม่ๆ สนุกๆ ได้อีก แต่ก็ต้องดูแลอากงอาม่าที่ใช้งานอยู่ด้วย” อาจารย์กชเล่าความคิดอันบรรเจิดต่อว่า

“เราอยากเพิ่มพื้นที่ของ Paddle Board คายัค และเซิร์ฟสเก็ต ส่วนปัญหาเรื่องจักรยานกับคนวิ่งที่ต้องสลับเวลากันใช้ก็ต้องออกแบบเส้นทางใหม่ คนจะได้มาออกกำลังกายกันมากๆ จะได้มีสุขภาพที่ดีขึ้น”

ภารกิจรีดีไซน์ 'สวนลุมพินี' สวนสาธารณะแห่งแรกของไทยครบรอบ 100 ปี กับการปรับปรุงปอดสีเขียว 360 ไร่ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับชาวกรุงเทพฯ ทุกคน
อนาคตที่สวนลุมพินีเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรม

สี่ การออกแบบสำหรับผู้ใช้ทุกคน 

“การออกแบบของเราจำคำนึงถึงคนแก่ คนพิการ รวมถึงคนไร้บ้านด้วย ซึ่งมีจำนวนสามร้อยถึงสี่ร้อยคน ยุคหนึ่งเราถูกสอนให้ออกแบบเพื่อให้คนกลุ่มนี้ใช้งานไม่สะดวก อย่างเช่น ม้านั่งที่เป็นคอนกรีตและมีแกนกลางกั้น ป้องกันไม่ให้เขาเข้ามานอน

“ถึงวันนี้ กระบวนทัศน์ของโลกเปลี่ยนไปแล้ว พื้นที่สาธารณะควรรองรับการใช้งานของทุกคน เมื่อการออกแบบไม่เอื้อ เขาก็ไปใช้ห้องน้ำคนพิการเพื่อต่อคิวกันอาบน้ำ หรือกลุ่ม LGBTQ ที่อาจจะไม่สะดวกเข้าห้องน้ำผู้ชายหรือห้องน้ำผู้หญิง” อาจารย์กชสรุปว่านี่คือสิ่งที่ทีมของเธอต้องแก้ปัญหา

และยังย้ำอีกว่า นี่คือแนวคิดเบื้องต้นที่เสนอเพื่อประกวดแบบเท่านั้น งานออกแบบจริงต้องผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนก่อน ถึงจะได้แบบที่นำไปสร้างจริง

กระบะทรายเพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต

ห้า Climate Action Park

อาจารย์กชเก็บไฮไลต์ในการออกแบบไว้เล่าเป็นเรื่องสุดท้าย “เราอยากทำให้สวนลุมฯ แสดงถึง ความพยายามของกรุงเทพฯ ในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องน้ำ ฝุ่น PM 2.5 และพื้นที่สีเขียวในเมืองที่ไม่เพียงพอ” 

ภารกิจรีดีไซน์ 'สวนลุมพินี' สวนสาธารณะแห่งแรกของไทยครบรอบ 100 ปี กับการปรับปรุงปอดสีเขียว 360 ไร่ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับชาวกรุงเทพฯ ทุกคน
มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืน

“สวนลุมฯ มีพื้นที่สามร้อยหกสิบกว่าไร่ ซึ่งใหญ่มาก เป็นที่ใจกลางเมืองแปลงสุดท้ายผืนใหญ่และมีต้นไม้เยอะขนาดนี้ ที่นี่จึงมีบทบาทในการช่วยเมืองลดฝุ่น ช่วยรับน้ำฝน หรือแม้แต่ทำความสะอาดแหล่งน้ำที่อยู่ในสวนไม่ให้เน่า โดยใช้แนวคิดของธรรมชาติมาช่วย ปัญหาของเมืองคือ ธรรมชาติกลับมาฟื้นคืนชีพไม่ได้เร็วพอ เราจึงอยากสร้างสภาวะที่อำนวยให้ธรรมชาติกลับมาฟื้นตัวด้วยตัวเองได้ (Regenerative City) สวนลุมฯ ก็จะอุดมสมบูรณ์มากกว่านี้ 

“หลายเมืองในต่างประเทศ มีสวนสาธารณะที่แก้ปัญหาของเมืองนั้นๆ ถ้าเราจะสร้างที่นี่ให้เป็นผู้นำเรื่องการแก้ปัญหาเมือง ก็ต้องตอบโจทย์ความท้าทาย ความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นกับเมืองในอนาคตให้ได้ เช่น ในสภาวะแห้งแล้งสุดๆ จะใช้น้ำจากที่ไหนในการรดน้ำต้นไม้สามร้อยกว่าไร่ เรามีการคิดเรื่องระบบเก็บน้ำฝนที่พอเพียงหรือเปล่า เป็นต้น”

หากเข้าใจไม่ผิด นี่คือการเปิดโอกาสให้ธรรมชาติในสวนได้แสดงศักยภาพออกมามากกว่าที่เคย และอาจช่วยย้ำเตือนให้มนุษย์เห็นความสำคัญของธรรมชาติได้อีกครั้ง 

“เรามองเรื่องอาหารด้วยนะ ไม่ใช่แค่อาหารของคนอย่างเดียว แต่หมายถึงอาหารของแมลงอย่างผึ้งด้วย” อาจารย์กชเสริมอีกเมื่อเห็นว่าฉันสนใจประเด็นความท้าทายแห่งอนาคตเป็นพิเศษ “มีพื้นที่ให้คนมาเช่าที่ทำแปลงปลูกของตัวเอง ลองคิดดูว่าทุกวันนี้เราใช้น้ำไปเท่าไหร่กับการรดน้ำหญ้า และไม่เกิดประโยชน์อะไรนอกจากแค่มอง ถ้าเปลี่ยนมาใช้น้ำเหล่านั้นรดพืชผักหรือไม้ยืนต้นกินได้ ไม่ใช่แค่ไม้ดอก แต่เป็นไม้ดอกที่มีน้ำหวาน เป็นอาหารของผึ้ง ผีเสื้อ แมลงผสมเกสรที่ช่วยขยายพันธุ์ต่อชีวิตต้นไม้ ดอกไม้ ซึ่งเราตั้งใจเลือกให้เป็นพรรณไม้พื้นถิ่น ฟันเฟืองธรรมชาตินี้จะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับสวนมากขนาดไหน

“เราพยายามเสนอเรื่อง Urban Farming มาตลอด ในทุกโอกาสที่ทำได้ เพราะคิดว่ามันดีกับผู้คนในปัจจุบันที่ต่างโหยหาอาหารที่ดี ขาดการพึ่งพาตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่วิกฤตโรคระบาดสร้างข้อจำกัดให้การขนส่งพืชผักผลไม้ คนกรุงเทพฯ กำลังเผชิญหน้ากับการขาดความมั่นคงทางอาหาร มิติเหล่านี้เราใส่ไว้ใน Proposal แต่จะเกิดจริงหรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนว่าซื้อไอเดียนี้ไหม”

ฉันได้แต่ตอบติดตลกกับคู่สนทนาไปว่า ‘รับชำระด้วย QR Code ไหมคะ’ เพราะมนุษย์กรุงเทพฯ อย่างฉันซื้อไอเดียนี้ตั้งแต่ยังไม่ขายแล้ว!

สวนลุมพินี ที่มีคำกริยาเพิ่มมากขึ้น

สุดท้ายแล้วสวนลุมพินีในวันที่อายุครบ 100 ปีจะมีหน้าตาเปลี่ยนไปมากมายขนาดไหน แค่คิดตามก็อดตื่นเต้นไม่ได้ 

“สวนลุมพินีจะครบร้อยปี ใน ค.ศ. 2025 แต่ว่าเราต้องเริ่มทำแล้ว ต้องขอบคุณท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ที่เป็นผู้ริเริ่มและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ผลักดันให้โครงการนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา มันไม่ใช่ง่ายๆ เลย” นักออกแบบสวนอธิบายถึงกระบวนการปรับปรุงครั้งใหญ่ต่อ

“เราจะไม่ปิดสวน แต่จะทำงานไปทีละโซน เป็นงานประณีตที่เราค่อยๆ ทำไปทีละจุด ทำให้เห็นด้านต่างๆ ของสวนชัดเจนขึ้น ซึ่งต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะนี่คือสวนของทุกคนค่ะ”

ภารกิจรีดีไซน์ 'สวนลุมพินี' สวนสาธารณะแห่งแรกของไทยครบรอบ 100 ปี กับการปรับปรุงปอดสีเขียว 360 ไร่ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับชาวกรุงเทพฯ ทุกคน

“เดี๋ยวเราจะมีแคมเปญต่างๆ ที่เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งแชร์ความทรงจำ ประสบการณ์ แนวคิดการพัฒนาสวนลุมฯ เปิดประเด็นให้ทุกคนช่วยกันแสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์ว่าสวนนี้จะเป็นอะไรได้อีก หรือแม้แต่ปัญหาที่ต้องแก้ 

“โครงการนี้เราเป็นผู้ออกแบบ แต่เราอยากทำตัวเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการออกแบบ (Design Facilitator) ถ้าเล่นบทเป็นผู้ออกแบบอย่างเดียวคงแก้ปัญหาได้ไม่รอบ เราต้องเรียนรู้ใหม่เกือบทั้งหมด เรียนจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ใช้งานจริง ผ่านกระบวนการพูดคุยหลายสิบเวที ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ อะไรที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบสวนสาธารณะที่ดีบ้าง มากไปกว่ากายภาพของแบบ เราอยากให้กระบวนการออกแบบสวนลุมพินี เป็นโมเดลให้การออกแบบพื้นที่สาธารณะอีกนับร้อยทั่วกรุงเทพฯ” ตัวแทนกลุ่มนักออกแบบกล่าวอย่างจริงจัง

“เมื่อปรับปรุงเสร็จแล้ว ที่นี่จะเป็นมากกว่าแค่สวนสาธารณะ” สถาปนิกสาวให้คำมั่น “เราอยากให้มีคำกริยาในสวนลุมฯ เยอะกว่านี้ ไม่ใช่แค่มาวิ่ง แต่มารดน้ำผัก พาหมามาวิ่งในบางพื้นที่ที่เป็น Dog Park ได้ไหม อาจารย์พานักศึกษามาเรียนในสวน มีสนามเด็กเล่นที่ใช้ธรรมชาติออกแบบ เพื่อให้เด็กได้มีพื้นที่ของเขา สัญญาว่าจะไม่สเปกแบบที่เอาของสำเร็จรูปมาใช้ แต่จะเป็นหินจริง น้ำจริง เราอยากก้าวไปอีกขั้นให้คนได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น ไม่ใช่แค่มองอย่างหรือวิ่งผ่าน แต่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับป่าในเมือง หรืออย่างน้อยที่สุด แค่มีมุมร้านกาแฟดีๆ จะดีแค่ไหน” อาจารย์กชเล่าด้วยตาเป็นประกาย

ภารกิจรีดีไซน์ 'สวนลุมพินี' สวนสาธารณะแห่งแรกของไทยครบรอบ 100 ปี กับการปรับปรุงปอดสีเขียว 360 ไร่ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับชาวกรุงเทพฯ ทุกคน

อาจารย์ไก่ (รณฤทธิ์ ธนโกเศศ) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ในทีมของเรา เคยพูดสิ่งนี้แล้วทำให้เราใจฟู น้ำตารื้น มีแรงฮึดลูกใหญ่ เขาบอกว่า 

“ผมหวังว่าในอีกสามปีข้างหน้า หลังความหม่นหมอง ซบเซาของโรคระบาด เราจะได้มีความชื่นมื่น เฉกเช่นงานใหญ่ที่เคยถูกยกเลิกไปเมื่อร้อยปีที่แล้ว (สยามรัฐพิพิธภัณฑ์) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดสวนลุมพินีของเราในวันนี้ จะได้มีโอกาสกลับมาสร้างชีวิตชีวาให้สวนลุมฯ ในรูปแบบใหม่ และทำให้ประชาชนมีความสุขสำราญอีกครั้ง” 

ก่อนพระอาทิตย์จะลับ คุณเอิร์ธทิ้งท้ายว่า “โครงการนี้ เราอยากฟังเสียงของทุกคนในฐานะคนกรุงเทพฯ มาช่วยกันเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของสวนลุมฯ ไปด้วยกัน ทุกคนติดตามความเคลื่อนไหวและสาระดีๆ เกี่ยวกับการปรับปรุงครั้งนี้ได้ที่ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก สวนลุม 100 ปี ทีมงานสัญญาว่าจะนำทุกความคิดเห็นไปทบทวน เพื่อพัฒนาสวนสาธารณะที่ดีที่สุดสำหรับทุกๆ คนต่อไปครับ”

แทบไม่ต้องเดาว่างานนี้เป็นงานที่ทีมงานต้องแบกความกดดันอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะเป็นโปรเจกต์ใหญ่ที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมหาศาล แต่อาจารย์กชก็บอกว่าเธอไม่ได้กำลังสู้กับสิ่งนี้อยู่คนเดียว แต่มีแรงสนับสนุนจากหลายฝ่าย และพร้อมจะให้สาธารณชนเป็นคนช่วยหาคำตอบที่ถูกต้องให้กับเธอว่า สวนลุมพินีควรมีหน้าตาเช่นไรในท้ายที่สุด

ในฐานะมนุษย์กรุงเทพฯ คนหนึ่งก็ขอเอาใจช่วย 

และลุ้นไปด้วยว่าเราจะได้เห็นโฉมหน้าใหม่ที่เอื้อเฟื้อต่อผู้ใช้งานอย่างเรามากขึ้นขนาดไหน ในวันที่สวนลุมฯ อายุครบ 100 ปี

ภาพ : Landprocess

ข้อมูลอ้างอิง

www.jrf.org.uk

www.newscientist.com

Writer

Avatar

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล

นักออกแบบ-สื่อสารเพื่อความยั่งยืน ที่อยากเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านชีวิต บทสนทนา และแบรนด์ยาสีฟันเม็ดเล็กๆ ของตัวเอง