22 พฤศจิกายน 2018
2 K

สัจธรรมของมนุษย์ คือไม่มีสิ่งใดอยู่อย่างโดดเดี่ยว มีกลางวันก็ต้องมีกลางคืน มีสีขาวก็ย่อมอยู่ตรงข้ามกับสีดำ ความท้าทายของชีวิตของเราจึงเป็นเหมือนกับการจัดการสิ่งที่ไม่เข้าคู่เหล่านี้อย่างไรให้สมดุลในชีวิตประจำวันของเราให้ได้มากที่สุด

ความสนใจในความสมดุลอยู่ในห้วงความคิดของ ลูคัส ไพรซ์ (Lucas Price) เช่นกัน

เขาคือศิลปินจากลอนดอนผู้สนใจงานจิตรกรรมในรูปแบบ Hyper-real Painting หรือภาพเขียนที่เหมือนความจริงยิ่งกว่าเหมือน

ถ้าเรียกง่ายๆ ก็คือ ภาพวาดที่แรกเห็นทำให้ผู้ชมคิดว่าเป็นภาพถ่าย แต่หากใช้เวลาพินิจงานชั่วครู่ใหญ่ๆ จะมองเห็นฝีแปรงและรายละเอียดอันน่ามหัศจรรย์ที่พร้อมจะรุกเร้าสมาธิของผู้ชมราวกับมีมนตร์ขลังซ่อนตัวอยู่

Lucas Price

01

“ตั้งแต่ยังเด็ก ผมถูกรายล้อมด้วยสิ่งสวยงาม”

เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจกับเขาในการเริ่มต้นทำงานศิลปะ จะเรียกว่าเซอร์ไพรส์ก็เป็นได้ เพราะผลงานส่วนใหญ่ที่เราเห็นจากปลายปากกาและถังพ่นสเปรย์มักเป็นงานในรูปแบบสตรีทอาร์ตดุดันเสียเป็นส่วนมาก

แต่หากย้อนเวลากลับไปถึงต้นตอที่แท้จริงแล้วมาจากความละเอียดอ่อนของศิลปะที่รายรอบชีวิตประจำวันของเขาจากฝีมือของแม่และป้า

“แรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะของผม จริงๆ แล้วก็มาจากแม่และป้าที่คลุกคลีอยู่กับพวกของเก่างานแอนทีก งานปักเสื้อผ้า หรืองานจิวเวลรี่ เรียกว่าตั้งแต่ยังเด็กผมถูกรายล้อมด้วยสิ่งที่สวยงามจากครอบครัวอยู่เสมอ”

Lucas Price Lucas Price

02

“ศิลปะสร้างความเข้าใจโลก”

จากแรงบันดาลใจพัฒนาเติบโตขึ้นเป็นงานศิลปะที่สร้างความพิเศษด้วยเทคนิคและคาแรกเตอร์ในการทำงาน แม้จะมีแรงขับเคลื่อนจากความสนใจในเรื่องรอบตัวอย่างแข็งแกร่ง แต่ก็ไม่ใช่ทุกอย่างจะเป็นอย่างหวังเสมอไป

“สำหรับผมตอนนี้ก็เรียกว่าใกล้ความสำเร็จของตัวเองแล้วล่ะ แต่ถ้าถามถึงเรื่องการทำงาน ย่อมก็ต้องเคยถูกปฏิเสธเหมือนกัน แต่ผมมองว่าการปฏิเสธก็เหมือนกับการใช้ชีวิตนั่นแหละ ในการใช้ชีวิตแต่ละวันเราก็ต้องถูกปฏิเสธ เราก็แค่ต้องรับมือกับมันให้ได้ และทำหน้าที่แก้ไขปัญหาต่อไป”

Lucas Price Lucas Price

เครื่องมือในการทำงานศิลปะของไพรซ์มักอยู่ในรูปแบบของงานเพนติ้ง ทุกเรื่องสำหรับการทำงานของเขามีเหตุผลรองรับอยู่เบื้องหลังเสมอ

“ผมเลือกทำงานเพนติ้งก็เพราะว่างานวาดภาพทำให้ผมสร้างงานในทิศทางอย่างที่ต้องการได้ ผมจะเลือกทำหนัง ทำหนังสือ หรืองานประเภทอื่นๆ ก็ได้ แต่อย่างงานประเภทอื่นที่ว่ามาอาจต้องใช้เวลามากหน่อยในการทำงาน อย่างงานภาพถ่ายก็ต้องรอจังหวะเวลาที่เหมาะสม

“หรืองานหนังสือก็มีกระบวนการที่เกี่ยวข้องมากมาย แต่จริงๆ การทำงานพวกโฟโต้บุ๊กก็อยู่ในความคิดของผมเหมือนกัน เพราะผมก็ไม่อยากติดอยู่กับแค่การทำงานเพนต้ิง

“ตั้งแต่สมัยยังเด็ก เราอาจมีภาพอุดมคติที่ว่าการจะเป็นศิลปินที่ดีคือการสร้างภาพวาดที่ดี ผมจึงเริ่มต้นจากการทำงานเพนติ้งเป็นอย่างแรก”

แน่นอนว่างานหลายชิ้นของเขามีศักยภาพในการพัฒนาต่อไปเป็นสื่อในรูปแบบอื่นๆ การที่ไพรซ์ได้เห็นผลงานของเขาในสื่อที่แตกต่างออกไป น่าจะทำให้ทั้งคนทำงานและผู้ชมตื่นเต้นได้เช่นกัน

Lucas Price

03

“จากผืนผนังคอนกรีต สู่ผืนผ้าพลิ้วไหวในงานอินทีเรีย”

ในนิทรรศการศิลปะ The Duality โดย AP Thailand ที่จัดขึ้นที่ Hype Gallery (MRT พระราม 9) เป็นอีกหนึ่งงานที่ท้าทายไพรซ์มากงานหนึ่ง จากการเปลี่ยนพื้นที่ของการทำงานจากบนผืนผ้าใบหรือผนังคอนกรีต มาเป็นการทำงานบนผืนผ้าและงานออกแบบภายใน ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกของเขากับการทำงานศิลปะบนพื้นที่เช่นนี้

“สถาปนิกหรืออินทีเรียดีไซเนอร์มีหน้าที่แก้ปัญหาให้กับพื้นที่ ผมว่าศิลปินก็เช่นกัน ศิลปินก็มีหน้าที่แก้ไขปัญหาเหมือนกันแต่ในแง่มุมที่ต่างออกไปทั้งในเรื่องวิธีการ วัสดุ และผลงานที่ปรากฏ งานสถาปัตยกรรมย่อมต้องทำผลงานที่ตอบกับความต้องการของผู้ใช้งานให้ครบถ้วน

“ทั้งเรื่องการใช้งาน ความสวยงาม แน่นอนว่าบ้านย่อมขาดหลังคาไม่ได้ งานศิลปะก็ย่อมมีแง่มุมที่เติมเต็มความต้องการทางด้านจิตใจเช่นกัน ผมว่าทั้งสองเรื่องนี้มีฟอร์มบางสิ่งบางอย่างที่เหมือนกัน เหมือนกับเป็นเรื่องลึกลับบางอย่างที่ทำให้เกิดพลังต่อผู้คน”

Lucas Price, Life Asoke Hype Lucas Price

ถ้าอย่างนั้นแล้ว หลังคาสำหรับงานศิลปะคืออะไร?

“ผมคิดว่าคือความต้านทานนะ ความต้านทานต่อเรื่องจำพวกกฎเกณฑ์ อย่างการทำงานบนพื้นที่ต่างๆ บางทีก็จัดจำแนกไม่ได้หรอกว่าจะอยู่ในหมวดหมู่แบบไหน หลังคาก็เหมือนกับการจำเป็นต้องทำบางสิ่งบางอย่าง เหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนา

“ซึ่งจำเป็นต้องมีคำถามและการแสดงให้เห็นถึงข้อมูลใหม่ๆ ผ่านทางคำถามและคำตอบ ซึ่งทำให้เกิดพลวัตในรูปแบบใหม่ ลองนึกถึงหลังคาที่จะต้องมีการยึดตรึงกันระหว่างโครงสร้างกับตัวหลังคา ผมไม่คิดว่าการลงมือทำอะไรบางทีจะสูญเปล่าหรอก สำหรับผมการทดลองสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสองอย่างย่อมสร้างผลอะไรบางอย่างเสมอ”

เช่นเดียวกันกับผลงานศิลปะและอินทีเรียดีไซน์สำหรับที่พักอาศัยของ Life Asoke Hype ในครั้งนี้ ที่เขาเลือกนำเสนอผ่านชื่อ ‘Domestic Vandalism’ ที่ใช้ผลงานศิลปะในรูปแบบของการทำงานที่เขาคุ้นเคยมาเปลี่ยนพื้นที่ในการทำงาน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสองสิ่งที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงอย่างงานอาร์ตแบบสตรีทและความหรูหราของการใช้ชีวิตบนพื้นที่พักอาศัย

Lucas Price, Life Asoke Hype Lucas Price

จากลวดลายพ่นบนผนังคอนกรีตมาสู่การสร้างลวดลายบนผืนผ้า พร้อมกับภาพจิตรกรรมจากถังดับเพลิงสีเงินแวววาว หนึ่งในอุปกรณ์ทำงานของเขาที่สร้างลายเซ็นของงานภาพวาดแบบ Hyper-real Painting

ภาพถ่ายโพลารอยด์ และการตกแต่งด้วยงาน Typography ของไฟนีออน ตัวแทนของแสงสีในเมือง เป็นเหมือนกับการเรียงร้อยเรื่องราวของบทกวีผ่านทางข้าวของที่จับสัมผัสใช้งานได้จริง และมองเห็นความแตกต่างระหว่างความแข็งกร้าวของงานสตรีตกับความอ่อนนุ่มของผืนผ้า

สภาวะภายนอกและภายในจิตใจที่ขัดแย้งแต่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกันผ่านพลังอันลึกลับของศิลปะที่ช่วยประนีประนอมความขัดแย้งระหว่างสองสิ่งจากสองขั้วจนผสานกลายเป็นเรื่องราวเดียวกันในห้องพักแห่งนี้Lucas Price, Bangkok Art Biennale 2018

นิทรรศการศิลปะ ‘The Duality’ ครั้งนี้จัดในความร่วมมือกับเทศกาลศิลปะ Bangkok Art Biennale 2018

จากคอนเซปต์ Beyond Bliss ผ่านการตีความกรุงเทพฯ ด้วยสายตาของศิลปินรับเชิญทั้ง Lucas Price และศิลปินไทย O Terawat x Tarida กับการสร้างสรรค์พื้นที่อยู่อาศัยของ AP Thailand บนนิยามใหม่ของงานศิลปะ

งานจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 15 ธันวาคม ที่ Hype Gallery MRT สถานีพระราม 9 แผนที่คลิกดูได้ที่นี่

Lucas Price, Bangkok Art Biennale 2018

Writer

Avatar

ณัฐนิช ชัยดี

อดีตนักเรียนสัตวแพทย์ผู้ หลงใหลในเส้นสายสถาปัตยกรรม ก่อนผันตัวเองมาเรียน'ถาปัตย์ และเลือกเดินบนถนนสายนักเขียนหลังเรียนจบ สามสิ่งในชีวิตที่ชอบตอนนี้คือ การได้ติ่ง BNK48 ไปญี่ปุ่น และทำสีผม

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ