หากเรามองไปรอบๆ ตัว สำรวจคนใกล้ชิดและคนรู้จักที่ผ่านมาตลอดชีวิต ความเป็นไปได้ที่เราจะค้นพบคือในบรรดาคนเหล่านั้น มีคนจำนวนหนึ่งอยู่ในกลุ่มหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQI เขาคนนั้นอาจเป็นสมาชิกในครอบครัวเพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน หรือคนที่แวะเวียนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ตลอดช่วงชีวิตของเรา คำถามในใจที่ควรถามตัวเองต่อไปก็คือ แล้วเรารู้จักและเข้าใจพวกเขามากแค่ไหน เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าความเข้าใจที่เรามีนั้นถูกต้องและเหมาะสมตรงตามสิ่งที่พวกเขาต้องการ

The Cloud ชวนทุกคนไปหาคำตอบร่วมกัน ผ่านโครงการพัฒนาข้อเสนอแนะต่อการพัฒนารูปแบบและระบบสนับสนุนสมาชิกครอบครัว เพื่อน คู่ชีวิต และผู้ให้บริการสุขภาพ เพื่อส่งเสริมสุขภาวะของประชากรกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีความตั้งใจสำคัญคือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ทุกคนในสังคม เข้าถึงกลุ่มความหลากหลายทางเพศอย่างเข้าใจ

LGBTQI 4P โปรเจกต์ที่ช่วยให้ทุกคนรอบตัวของ LGBTQI เข้าใจและปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม

เปิดวงสนทนากับตัวแทนคณาจารย์จากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะกำลังสำคัญของการศึกษาตลอดโครงการนี้ นำโดย ดร.อดิศร จันทรสุข หัวหน้าโครงการ พร้อม อาจารย์สกล โสภิตอาชาศักดิ์, อาจารย์ติโหมะ ตะปะหนิ โอะหยะเน็น (Timo Tapani Ojanen) และ อาจารย์คริสเตียน ดาโกตา ฟรีแมน (Christian Dakota Freeman) ร่วมด้วย

“ปัญหาเรื่อง Gender Equality ในกลุ่มความหมากหลายทางเพศคือการไม่ค่อยถูกพูดถึง และไม่มีระบบดูแลที่จะช่วยให้พวกเขาดำเนินชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีความเป็นมนุษย์ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าทำไมโครงการที่พวกเรากำลังช่วยกันทำถึงมีความจำเป็น โดยเฉพาะในสังคมของเราตอนนี้”

สิ่งที่อาจารย์อดิศรเริ่มต้นเกริ่นขึ้นมา เปิดโอกาสให้เราได้ทบทวนถึงมุมมอง ความจริง และมายาคติ ที่ประจักษ์อยู่ในสังคมไทย ภาพของกลุ่มหลากหลายทางเพศที่ถูกล้อเลียน ถูกเลือกปฏิบัติ และไม่ได้รับการยอมรับ ร้ายแรงกว่านั้นคือการถูกกลั่นแกล้งหรือถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งหมดคือการกระทำที่กำลังลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่เราทุกคนไม่อาจนิ่งเฉยได้อีกต่อไป

บทสนทนาต่อไปนี้จึงไม่เพียงช่วยทำให้คำถามในใจของเรากระจ่างขึ้น แต่ยังมีพลังมากพอที่ทำให้ทุกคนตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันด้วยเคารพความหลากหลายทางเพศ รวมถึงเปลี่ยนแปลงมุมมอง และวิธีการปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างเท่าเทียม โดยไม่มีข้อแม้ในใจหรือเงื่อนไขเรื่องเพศใดๆ

01

เชื่อมช่องว่างระหว่าง LGBTQI และ 4P

อาจารย์อดิศรเล่าจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ว่า “ที่ผ่านมา ทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคมเอง ต่างพยายามทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเหมาะสม ลดการใช้ความรุนแรง สร้างเสริมสุขภาวะและสิทธิทางกฎหมายให้กับประชากรกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมาโดยตลอด เมื่อผมมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนัก 9 ถึงแนวทางที่จะขยายการทำงานกับกลุ่ม LGBTQI ผมจึงมองต่อไปว่ายังมีประเด็นหรือมิติไหนอีกบ้าง ที่อาจารย์อย่างพวกเราจะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานเพื่อสนับสนุนและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ โดยเฉพาะการลดช่องว่างและระยะห่างให้ทุกคน”

อย่างที่เราทุกคนทราบกันดีว่า ‘สถาบันครอบครัว’ คือหน่วยพื้นฐานของสังคมที่สำคัญที่สุด แต่สำหรับกลุ่ม LGBTQI ส่วนใหญ่ พวกเขาไม่สามารถเปิดเผยตัวตนออกมาอย่างสะดวกใจ อาจเป็นเพราะเงื่อนไขและความคาดหวังบางอย่างของสมาชิกในครอบครัว กลุ่มเพื่อน รวมไปถึงคนอื่นๆ ที่อยู่รอบข้าง เมื่อไม่มีใครมองเห็นตัวตนที่พวกเขาเป็นอย่างเข้าใจ ความต้องการของกลุ่ม LGBTQI จึงไม่ได้รับการตอบสนองและสนับสนุนอย่างที่ควรจะเป็น

การมองไปยังฐานรากหรือก้นบึ้งของช่องว่าง ทำให้อาจารย์อดิศรค้นพบสาเหตุซึ่งจะนำไปสู่แนวทางปฏิบัติที่ไม่ใช่แค่สร้างสะพานเพื่อเชื่อมต่อระยะห่าง แต่เป็นความพยายามร่วมกันของทุกคน ทุกฝ่าย เพื่อสมานช่องว่างเหล่านั้น

“โครงการนี้จึงเป็นการทำงานทั้งกับกลุ่ม LGBTQI เอง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก และกลุ่มคนใกล้ชิดกับประชากรผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือที่เรียกว่า 4P ได้แก่ Parents and Family (พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครอบครัว) Pairs (เพื่อน) Partners (คนรักและคู่ชีวิต) และ Professional Healthcare (ผู้ให้บริการทางสุขภาพ) เพื่อสร้างความเข้าใจและการตระหนักรู้ในการดูแลสุขภาวะทางกายและอารมณ์ของกันและกัน”

LGBTQI 4P โปรเจกต์ที่ช่วยให้ทุกคนรอบตัวของ LGBTQI เข้าใจและปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม
LGBTQI 4P โปรเจกต์ที่ช่วยให้ทุกคนรอบตัวของ LGBTQI เข้าใจและปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม

02

ฟังเสียงของใจจากชีวิตที่หลากหลาย

ในขั้นตอนการทำงานของโครงการแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือการทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) และศึกษาเครื่องมือที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ส่วนที่สองเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มตัวอย่างประชากร LGBTQI และ 4P เพื่อทำความเข้าใจประสบการณ์ชีวิต ซึ่งหลักสำคัญที่สุดของการสัมภาษณ์ คือการพูดคุยเพื่อรับฟังปัญหาและสิ่งที่ปรารถนาในชีวิตที่สังคมมองข้ามไป

“สังคมไทยปัจจุบันก็ยังมีความเข้าใจต่อพวกเขาที่หลากหลายมาก กลุ่มเป้าหมาย LGBTQI แต่ละกลุ่มจึงอยู่ในบริบทและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน ทำให้แต่ละคนมีประสบการณ์ชีวิตต่างกัน ดังนั้นในระหว่างสัมภาษณ์ ข้อมูลที่เราให้ความสนใจอย่างมาก จึงเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเผชิญสภาวะยากลำบาก ที่ทำให้พวกเขาเข้าถึงบริการทางสุขภาพไม่ได้ รวมไปถึงความต้องการให้ช่วยเหลือดูแลและสนับสนุนในด้านที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีเท่าเทียมกับคนอื่นในสังคม

“ส่วนกลุ่ม 4P เราจะเข้าไปทำความเข้าใจกับเขาก่อนว่าเขาเข้าใจกลุ่ม LGBTQI ในแง่มุมไหนบ้าง คิดว่ากลุ่มคนเหล่านี้ต้องการอะไร แล้วตัวเขาเองจะให้การสนับสนุนคนกลุ่มนี้ได้อย่างไร” อาจารย์อดิศรเน้นยำถึงหัวใจของการสัมภาษณ์

ข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการสัมภาษณ์จะกลายเป็นฐานมั่นที่แข็งแรง เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาเครื่องมือใหม่สำหรับสนับสนุนสุขภาวะของกลุ่ม LGBTQI ในมิติต่างๆ อย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานชัดเจน ไม่ใช่เพียงแค่ทางร่างกาย แต่รวมถึงทางจิตใจ ทางสังคม และทางปัญญา

“โครงการนี้เป็นการศึกษานำร่อง คาดว่าจะเก็บข้อมูลเสร็จภายในสิ้นปี และได้ผลการศึกษาช่วงต้นปีหน้า แล้วเราจะนำเครื่องมือใหม่ที่ได้ไปขยายผลต่อ โดยทดลองใช้งานจริงกับประชากรกลุ่ม LGBTQI และ 4P หวังว่าสุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่สำเร็จออกมาจะนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอให้กับหน่วยงานของรัฐ ในการสร้างกลไกหรือเครือข่ายเพื่อดูแลกลุ่ม LGBTQI และ 4P อย่างเป็นรูปธรรม” อาจารย์สกลอธิบายเพิ่มเติม

LGBTQI 4P โปรเจกต์ที่ช่วยให้ทุกคนรอบตัวของ LGBTQI เข้าใจและปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม
LGBTQI 4P โปรเจกต์ที่ช่วยให้ทุกคนรอบตัวของ LGBTQI เข้าใจและปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม

03

ยอมรับความจริงและตัวตนที่ทุกคนเป็น

ในประเทศไทยมีงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มความหลากหลายทางเพศประสบปัญหาการถูกรังแกและกลั่นแกล้งเสมอ ทั้งจากคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน ในสถานศึกษา ในสถานที่ทำงาน แม้กระทั่งในสถานที่สาธารณะ ยิ่งไปกว่านั้นคือคนที่ดูเหมือนหรือมีลักษณะการแสดงออกคล้ายกับคนกลุ่มนี้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใช่ประชากรกลุ่มนี้หรือเปล่า ก็จะถูกเหมารวมและกลั่นแกล้งไปด้วย สะท้อนให้เห็นว่าทัศนคติของคนในสังคมยังมองว่ากลุ่ม LGBTQI อยู่ในสถานะไม่เท่าเทียม ทำให้คนกลุ่มนี้มีแนวโน้นเป็นโรคซึมเศร้าและมีอัตราฆ่าตัวตายในระดับสูง ซึ่งเป็นปัญหาวิกฤตในสังคม

อาจาย์ติโหมะ ตะปะหนิ โอะหยะเน็น ยกตัวอย่างทฤษฎีเพื่อให้เห็นสาเหตุที่ชัดเจนมากขึ้น “ถ้ามองในเชิงทฤษฎีมนุษย์ทุกคนย่อมมีความเครียดอยู่แล้ว แต่ถ้าหากเขาเป็นชนกลุ่มน้อย ไม่ว่าจะด้วยชาติพันธุ์ สีผิว หรือเพศ เขาจะมีความเครียดมากกว่าคนกลุ่มอื่น การได้รับความเข้าใจและแรงสนับสนุนจากคนรอบข้าง จะช่วยให้คนคนนั้นมีความเข้มแข็งทางใจ และจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้

“แล้วความเข้าใจผิดส่วนหนึ่งมาจากทฤษฎีสายจิตวิเคราะห์ที่เชื่อว่า LGBTQI เกิดจากการเลี้ยงดู ซึ่งทำให้พ่อแม่หลายคนรู้สึกผิด เพราะเข้าใจว่าตนเองเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกเป็น LGBTQI พ่อแม่จะโทษกันไปมา จนเกิดเป็นปัญหาครอบครัวที่ไม่ได้รับการแก้ไข นี่คือประเด็นใหญ่ที่เห็นได้บ่อยในการประชุมวิชาการนานาชาติ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ต้องหาทางออกร่วมกัน”

ย้อนกลับมามองในประเทศ หลายคนอาจบอกว่าสังคมไทยเปิดกว้างและมีพื้นที่ให้กับกลุ่ม LGBTQI แต่อาจารย์อดิศรยืนยันว่าเป็นการเปิดกว้างแบบมีเงื่อนไข

“หากเข้าไปถามคนอื่นๆ ว่า รับได้ไหมเมื่อลูก พี่น้อง หรือเพื่อนสนิท เปิดเผยว่าเป็น LGBTQI คนจำนวนหนึ่งจะชะงักทันที นั่นแปลว่าหากกลุ่มคน LGBTQI เป็นคนที่อยู่ไกลตัวออกไป เขายอมรับได้ไม่มีปัญหา สิ่งนี้กำลังอธิบายความจริงของสังคมที่ดูผิวเผินเหมือนจะเปิดกว้าง แต่จริงๆ แล้วยังมีกำแพงบางอย่างปิดกั้นอยู่ตลอดเวลา คนใกล้ชิดหรือคนที่อยู่รอบตัวจึงมีแนวโน้มผลักความรับผิดชอบที่ตัวเองต้องรับรู้พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ แกล้งทำเป็นไม่รู้ เลือกที่จะไม่พูดถึงเลย หรือคนที่เป็นคู่รักเป็นเพศเดียวกัน จะรู้สึกไม่สะดวกใจหากต้องเปิดเผยความสัมพันธ์ในที่สาธารณะ เพราะรู้สึกว่าอาจไม่ได้รับการต้อนรับหรือถูกเลือกปฏิบัติ เพื่อทำลายกำแพงเหล่านั้น ผมคิดว่าพวกเรายังคงต้องทำงานกันอีกค่อนข้างเยอะ”

LGBTQI 4P โปรเจกต์ที่ช่วยให้ทุกคนรอบตัวของ LGBTQI เข้าใจและปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม

04

เตรียมเครื่องมือผ่าตัดความคิดอคติกีดกัน

ในต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับประชากรกลุ่ม LGBTQI จะมีเครื่องมือมาตรฐานกลางที่เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับสหวิชาชีพหรือผู้ให้บริการสาธารณสุข ซึ่งอธิบายรายละเอียดเป็นลำดับขั้นตอนว่าควรและไม่ควรทำอะไรบ้าง รวมถึงการตั้งกลุ่มผู้ปกครองและผู้สนับสนุนกลุ่มหลากหลายทางเพศให้ได้รับสิทธิอย่างเสมอภาค เพราะเขาตระหนักในคุณค่าความเป็นมนุษย์ ทุกคนจึงต้องได้รับการปฏิบัติที่ดีเหมือนกัน

สำหรับเครื่องมือในประเทศไทยก็พอมีอยู่บ้าง แต่ยังไม่ครอบคลุม อย่างคู่มือของมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยฯ ใช้วิธีสัมภาษณ์พ่อแม่ที่มีลูกเป็นกะเทย ร่วมกับทำเวิร์กช็อปแบ่งปันประสบการณ์ แล้วสรุปออกมาเป็นคำแนะนำและแนวทางปฏิบัติสำหรับครอบครัวที่มีลูกเป็นกะเทย จุดประสงค์สำคัญของโครงการนี้ คือการสร้างเครื่องมือที่ช่วยลดอคติในใจ และเปิดมุมมองของทุกคนในสังคมไทย

“ที่ประเทศนิวซีแลนด์มีเครื่องมือเกี่ยวกับการใช้ภาษากับคนกลุ่ม LGBTQI เพื่อระวังการใช้คำ ไม่ให้กดทับหรือสร้างความรู้สึกแบ่งแยกหรือเหยียด หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Spectrum เพื่อสื่อความหลากหลายของเพศ ขณะที่ระบบในสังคมไทยยังพยายามจับคนเข้ากล่องเพศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องสร้างเครื่องมือให้ความรู้กับคนในสังคมต่อไป รวมทั้งกับตัวกลุ่ม LGBTQI ด้วยว่า เขาเป็นอะไรก็ได้เท่าที่เขาอยากเป็น โดยไม่จำเป็นต้องพาตัวเองตกลงไปอยู่ในกล่องใดกล่องหนึ่ง” 

อาจารย์อดิศรเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างก่อนอธิบายต่อ “อีกเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญ คือ PFLAG ซึ่งอาจารย์ติโหมะและอาจารย์คริสเตียนได้ศึกษากับกลุ่มประชากรในเอเชีย”

PFLAG เริ่มต้นจากการเป็นกลุ่มสนับสนุนสมาชิกครอบครัวและเพื่อนของกลุ่ม LGBTQI ซึ่งมีเป้าหมายการทำงานหลักๆ 3 ด้าน คือ สนับสนุนตัวบุคคล ให้การศึกษา และผลักดันให้เกิดกฎหมายที่ตอบสนองความต้องการประชากรกลุ่ม LGBTQI นอกจากนี้ PFLAG ยังเป็นพื้นที่ชุมชนที่ให้คนกลุ่มนี้ได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ คอยสนับสนุนทางความคิดและความรู้สึกระหว่างกัน ลดความกังวลใจและการเผชิญปัญหาอย่างโดดเดี่ยว

อาจารย์ติโหมะอธิบายว่า “ในประเทศไทยยังไม่มีกลุ่มสนับสนุนลักษณะนี้อย่างเป็นทางการ สาเหตุสำคัญคือครอบครัวคนไทยยึดโยงกับความเชื่อทางวัฒนธรรมค่อนข้างเยอะ อย่างครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนหรือครอบครัวคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม ลูกชายคือความหวังที่จะสืบเชื้อสายของตระกูลต่อไป การเป็น LGBT จึงขัดต่อธรรมเนียมของครอบครัวและหลักศาสนา”

LGBTQI 4P โปรเจกต์ที่ช่วยให้ทุกคนรอบตัวของ LGBTQI เข้าใจและปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม

05

เพียงแค่ลงมือทำ ทุกคนคือผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง

เมื่อถามถึงความท้าทายในการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดและความเชื่อ อาจารย์ทุกคนพูดตรงกันว่า ความยากคือการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและการได้รับความไว้วางใจ เพื่อให้เขาเปิดเผยเรื่องราวส่วนตัวมากๆ ในชีวิตอย่างความต้องการทางเพศและความรู้สึกอื่นๆ ที่พวกเขาเก็บงำไว้ในใจเพียงผู้เดียวเสมอมา เพราะกลุ่ม LGBTQI บางกลุ่มเป็นประชากรที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ โอกาสที่คณะทำงานจะได้เข้าไปทำความรู้จักก็ยากขึ้นไปอีก เช่น Intersex หรือคนที่มีสรีระร่างกายหรืออวัยวะเพศที่กำกวม

อีกประเด็นหนึ่งที่ท้าทายไม่แพ้กัน คือการทำงานสวนทางกับการนำเสนอของสื่อกระแสหลักในสังคม ซึ่งยังคงใช้อัตลักษณ์ของกลุ่ม LGBTQI เพื่อความตลกขบขัน หรือสื่อว่าเป็นกลุ่มคนมีความต้องการทางเพศสูง เมื่อคนส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลจากสื่อ ก็ยิ่งทำให้เหมารวมว่าคนกลุ่มนี้ต้องเป็นแบบนี้ และไม่สนใจข้อมูลใหม่ๆ ที่เข้ามาช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะเริ่มมีสื่อที่นำเสนอความเป็นคนธรรมดาทั่วไปของกลุ่ม LGBTQI แต่ก็ยังอยู่ในพื้นที่จำกัดเฉพาะกลุ่ม

ทุกครั้งไม่ว่าใครก็ตามลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม สิ่งที่ตามมาเสมอคือการถูกตั้งคำถาม รวมถึงการถูกต่อต้านจากคนที่มีความคิดเห็นต่าง ซึ่งคนที่ทำงานเพื่อขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจะเข้าใจสัจธรรมข้อนี้ดีที่สุด อาจารย์อดิศรก็เป็นคนหนึ่งในนั้น

“เป็นเรื่องปกติถ้าจะมีคนมองว่าเป็นการทำงานเพื่อสนองต่อกลุ่มของตัวเอง เหมือนกับที่กลุ่มประชากรผู้หญิงข้ามเพศถูกมองว่าพวกเขาทำงานเพื่อช่วยเหลือคนกันเอง เราต้องพยายามเปลี่ยนวิธีการมองของคนในสังคมว่าสิ่งที่เราทำไม่ใช่เรื่องเฉพาะกลุ่ม แต่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยคนทั้งสังคมลุกขึ้นมาร่วมกันแก้ไขความคิด อคติ และสร้างการเปลี่ยนแปลง 

“นี่คือสิ่งที่โครงการพยายามสร้างให้เกิดขึ้น เราถึงต้องการทำงานกับกลุ่ม 4P เพราะเรามองว่าคนรอบข้างเหล่านี้อาจไม่ได้เป็นประชากรกลุ่มความหลากหลายทางเพศโดยตรง แต่อย่างน้อยเขาควรเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างระบบสนับสนุนกลุ่ม LGBTQI ไม่ปล่อยให้คนกลุ่ม LGBT ทำงานอย่างหนักแต่เพียงฝ่ายเดียว เหมือนในต่างประเทศที่มี Straight Alliances หรือกลุ่มคนรักต่างเพศ ซึ่งรวมตัวกันเป็นเครือข่ายสนับสนุนการทำงานของคนกลุ่ม LGBTQI

“ในหลายๆ ประเทศมีก็การตั้งคำถามถึงความสำคัญของการทำงานหรือทำวิจัยเกี่ยวกับกลุ่ม LGBTQI เหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้วผลการศึกษาคือหลักฐานที่ยืนยันว่าพวกเขาประสบปัญหาเพราะสังคมที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการถูกคุกคามไม่ว่าจะทางใดก็ตาม 

“ดังนั้น เราต้องการ Changemaker หรือคนธรรมดาที่มองเห็นปัญหา และลุกขึ้นมาลองผิดลองถูกเพื่อช่วยแก้ไขปัญหานั้น จนสร้างการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แล้วความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ เหล่านี้ ก็จะขยายไปสู่คนรอบตัวเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ขับเคลื่อนสังคมและโลกไปในทางที่ดียิ่งขึ้นต่อไปได้” อาจารย์คริสเตียนบอกเหตุผลที่ทุกคนควรให้ความสำคัญกับกลุ่ม LGBTQI

LGBTQI 4P โปรเจกต์ที่ช่วยให้ทุกคนรอบตัวของ LGBTQI เข้าใจและปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม
LGBTQI 4P โปรเจกต์ที่ช่วยให้ทุกคนรอบตัวของ LGBTQI เข้าใจและปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม

06

เชื่อมั่นและเคารพในความเป็นมนุษย์

Human Rights หรือการดำรงอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับมนุษย์คนอื่น โดยไม่มีเรื่องเพศเข้ามาเป็นเงื่อนไข คือประเด็นที่สังคมไทยยังไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร เพราะคนไทยจำนวนไม่น้อยยังคงผลิตซ้ำชุดวิธีคิดเดิมๆ เพื่อกดทับคนไม่ให้ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

“ปัญหาเรื้อรังหนึ่งที่พบระหว่างทำงานคือ ประชากรกลุ่ม LGBTQI มักจะคิดว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาเป็นความผิดของตัวเอง เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรเรียกร้องอะไร หรือการถูกเลือกปฏิบัติจากคนรอบข้างก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้ว เขาต้องยอมรับสภาพหรือเงื่อนไขที่เกิดขึ้นให้ได้

“แล้วคำพูดที่ว่า ‘เป็นอะไรก็ได้ ขอแค่เป็นคนดีก็พอ’ คือการลดทอนความเป็นคนลงว่าเขาควรมีชีวิตในแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น เวลาอยู่ในพื้นที่สาธารณะอย่าเป็นตัวของตัวเองมากเกินไป พยายามอย่าทำให้คนอื่นรู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายใจ เขาเป็นแบบนี้ก็แย่อยู่แล้ว นี่คืออคติหรือมายาคติในสังคมที่เราต้องช่วยกันคลี่คลาย และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องใหม่” อาจารย์อดิศรเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง Human Rights และกลุ่ม LGBTQI

อาจารย์คริสเตียนเล่าเพิ่มเติมถึงข้อควรระวังสำหรับผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ซึ่งพบปัญหาระหว่างการศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้ว่า “ถึงแม้ทุกคนจะมีเจตนาช่วยเหลือกลุ่ม LGBTQI แต่ถ้าหากมีความเข้าใจที่ผิดหรือคลาดเคลื่อนไป ก็อาจส่งผลต่อวิธีการช่วยเหลือที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ตรงประเด็นได้เหมือนกัน ยิ่งทำให้กลุ่ม LGBTQI รู้สึกไม่สบายใจ โดยเฉพาะการแนะนำวิธีเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นที่ยอมรับของสังคม หากเปลี่ยนไม่ได้ก็จะกลายเป็นคนโทษตัวเอง การเปิดเผยตัวตนจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นสิทธิส่วนบุคคล ท้ายที่สุดแล้วด้วยความกลัวคนอื่นจะผิดหวัง หรือกลัวว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับ กลุ่ม LGBTQI ส่วนใหญ่จึงเลือกเก็บและปิดบังตัวตนไว้ นำมาซึ่งความรู้สึกไม่ดีต่อตัวเองและคนรอบข้าง”

โครงการนี้จึงพยายามวิเคราะห์ข้อมูลและศึกษาเครื่องมือที่จะมาช่วยให้กลุ่ม LGBTQI ในสังคมไทย เปิดเผยตัวเองออกมาได้อย่างสบายใจมากที่สุด ด้านครอบครัวและคนรอบข้างเองก็วางท่าทีและช่วยสนับสนุนกลุ่ม LGBTQI ได้อย่างเหมาะสม ตามหลักสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต้องได้รับ

ความพยายามของโครงการ เริ่มต้นจากกลุ่มคนที่มองเห็นปัญหา แล้วหาทางแก้ไขอย่างมีระบบ โดยสรรหา รวบรวม และปรับใช้เครื่องมือต่างๆ รวมถึงเผยแผ่ความรู้ที่ถูกต้อง ด้วยความหวังสูงสุดว่าโครงการนี้จะเป็นต้นแบบการศึกษาที่นำไปสู่การพัฒนากลไก เพื่อช่วยดูแลประชากรกลุ่มความหลากหลายทางเพศและคนรอบข้างได้ในอนาคต

นอกเหนือจากการช่วยเหลือเชิงกฎหมายและนโยบายจากภาครัฐและหน่วยงานที่ข้องเกี่ยว พวกเขาไม่ใช่คนกลุ่มแรกและกลุ่มเดียวที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมขึ้นในสังคม เพราะการสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ย่อมต้องอาศัยระยะเวลาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถือเป็นการทำงานที่หยุดไม่ได้ ไม่มีวันสิ้นสุดลง และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในสังคมด้วย

นั่นจึงหมายความว่า ในฐานะมนุษย์ เราทุกคนล้วนเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการประกอบสร้าง ผลักดัน และขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ให้เกิดขึ้นและคงอยู่ต่อไปได้

LGBTQI 4P โปรเจกต์ที่ช่วยให้ทุกคนรอบตัวของ LGBTQI เข้าใจและปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม

ขอขอบคุณ 

  • คณะวิจัยโครงการพัฒนาข้อเสนอแนะต่อการพัฒนารูปแบบและระบบสนับสนุนสมาชิกครอบครัว เพื่อน คู่ชีวิต และผู้ให้บริการสุขภาพเพื่อส่งเสริมสุขภาวะของประชากรกลุ่มความหลากหลายทางเพศ
  • คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ดร.อดิศร จันทรสุข (หัวหน้าโครงการ), อาจารย์สกล โสภิตอาชาศักดิ์, ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล, Mr.Timo Tapani Ojanen, Mr. Christian Dakota Freemen
  • คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • อาจารย์รณภูมิ สามัคคีคารมย์
  • สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  • คุณสุมาลี โตกทอง

Writer

Avatar

ตนุภัทร โลหะพงศธร

ร่ำเรียนมาทางด้านจิตวิทยาคลินิก ก่อนจะเปลี่ยนเส้นทางชีวิตมาเป็นนักเขียนเต็มเวลา เชื่อมั่นว่าการพูดคุยและรับฟังอย่างใส่ใจความรู้สึกของกันและกันจะนำไปสู่บทสนทนาที่ดีและมีพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิต

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ