“วันนี้สตูลฝนตก…”

คีตญา อินทรแก้ว เจ้าของร้านหนังสือความกดอากาศต่ำทักทายเราด้วยสภาพอากาศยามเย็นของเมืองสตูล ก่อนเราจะชวนเธอเชื่อมบทสนทนาขนาดยาว ว่าด้วยการกลับบ้านเกิดมาเปิดร้านหนังสืออิสระแห่งแรกของจังหวัด

ความกดอากาศต่ำ เมื่อสาวนักอ่านกลับบ้านเกิดมาเปิดร้านหนังสืออิสระแห่งแรกของสตูล

บริเวณซอยแคบเรียงรายด้วยบ้านเช่าหลังกะทัดรัด เกือบต้นซอยมีร้านหนังสือมองเห็นเด่นสง่า บางคนเผลอมองแวบแรกเดาว่าเป็นคาเฟ่ของคนรักคาเฟอีน แถมป้ายติดไว้ว่า ‘ความกดอากาศต่ำ’ รับรองว่าต้องฉงนกันบ้างว่า 

‘เครื่องดื่มรสขม กองหนังสือสูงท่วมหัว และการพยากรณ์อากาศ’ มาบรรจบพบเจอกันตอนไหน

สาวใบหน้าคมไม่ได้ตั้งใจให้สถานที่ตรงหน้าเป็นร้านเครื่องดื่มหรือร้านหนังสือมากกว่ากัน แต่อยากให้คุณมานั่งจิบกาแฟแก้วร้อนแกล้มกับหนังสือที่คุณเลือกสรรรสชาติเอง จะสุข เศร้า เหงา รัก ระคนคิดถึง คลอเคล้ากันไป

อีกหนึ่งสิ่งที่ร้านหนังสืออิสระแห่งนี้พยายามเป็น คือพื้นที่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่ในย่านผ่านตัวหนังสือ คนทำหนังสือ คนเขียนหนังสือ และคนอ่านหนังสือ เพื่อหวังให้ท้องฟ้าเมืองสตูลปลอดโปร่งและแจ่มใสอีกครั้ง

ความกดอากาศต่ำ เมื่อสาวนักอ่านกลับบ้านเกิดมาเปิดร้านหนังสืออิสระแห่งแรกของสตูล

ชีวิตมีคลื่นเล็กน้อยถึงปานกลาง

ย้อนราว 5 ปีก่อน ช่วงยักแย่ยักยันจะกลับบ้านดี ไม่กลับบ้านดีของคีตญา มีจุดเปลี่ยนสำคัญคือ คุณพ่อ

“เรากลัวว่าจะอยู่ที่นี่ได้มั้ย เพราะเราใช้ชีวิตอยู่สตูลน้อยมาก เข้าไปเรียนกรุงเทพฯ ตั้งแต่มอหนึ่ง วัยเด็กเราแทบไม่มีมุมมองที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมหรือการใช้ชีวิตเลย คิดกลับไปกลับมาหลายรอบ จนช่วงที่พ่อไม่สบาย ก็ตัดสินใจกลับบ้านทันที สำหรับเรามันเป็นการตัดสินใจที่ดีนะ” เธอเล่าพลางเสริมว่า “ตอนนั้นลูกชายเราอายุสี่ขวบพอดี”

“แล้วเด็กหญิงคีตญาตอนนั้นเป็นนักอ่านด้วยหรือเปล่า” เราถาม

“เราเขียนสมุดบันทึกก่อน มีเยอะเป็นลังเลย ตอนเรียนกรุงเทพฯ มันเป็นช่วงที่เราไม่รู้จะคุยกับใครก็เลยเริ่มอ่านหนังสือ เราเริ่มจากอ่านการ์ตูนก่อน แล้วก็นิตยสาร วารสารข่าว อ่านคอลัมน์ประจำใน มติชนสุดสัปดาห์ แล้วค่อยขยับมาเป็นหนังสือเล่ม แต่ช่วงที่เราอ่านเยอะและการอ่านขยายออกไปก็ตอนมาคบกับพ่อของลูก” นักอ่านหัวเราะร่า

คีตญายุติอาชีพประจำและเดินทางกลับบ้านมาพร้อมครอบครัว เธอและ ศิริวร แก้วกาญจน์ พ่อของลูกและคู่ชีวิต พ่วงตำแหน่งเจ้าของสำนักพิมพ์ผจญภัย (กวีและนักเขียนมือรางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2550) ตกลงปลงใจด้วยกันว่าจะเปิดร้านหนังอิสระด้วยต้นทุนที่พวกเขามี จากความคิดเริ่มก่อร่างสร้างตัวเป็นร้านหนังสือในพื้นที่บ้านเช่าหลังหนึ่งของคุณพ่อ เธอว่าข้อดีคือไม่ต้องเสียค่าเช่า เป็นการลดต้นทุนให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้ร้านหนังสืออยู่ได้นานที่สุด 

ความกดอากาศต่ำ เมื่อสาวนักอ่านกลับบ้านเกิดมาเปิดร้านหนังสืออิสระแห่งแรกของสตูล

ความกดอากาศต่ำ

วันแรกของการเปิด ‘ความกดอากาศต่ำ’ เป็นวันเดียวกันกับการเปิด ‘ความกดอากาศต่ำ’

ใช่ ร้านหนังสือความกดอากาศต่ำเปิดตัวหนังสือ ความกดอากาศต่ำ วันเดียวกันกับการเปิดร้านหนังสือความกดอากาศต่ำ เขาและเธอชวนเพื่อนพ้องน้องพี่วงการนักเขียนมาร่วมพยากรณ์อากาศผ่านตัวอักษรด้วยโจทย์เดียวกัน ‘ความกดอากาศต่ำ’ บ้างตีความเป็นกวี ความเรียง เรื่องสั้น ฯลฯ ตามแต่ความถนัด และวันแรกของการเปิดร้านมีการแสดงอ่านบทกวีเคล้าคลอหยอกล้อกับดนตรีอะคูสติก แปลกหู-แปลกตาจนเพื่อนของคีตญาสะกิดถามว่า ทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ

ความกดอากาศต่ำ เมื่อสาวนักอ่านกลับบ้านเกิดมาเปิดร้านหนังสืออิสระแห่งแรกของสตูล

“เขานึกภาพไม่ออกว่าการอ่านบทกวีจะกลายเป็นโชว์ มันใหม่มากสำหรับคนสตูล”

คนรักหนังสือสองคนกำลังบุกเบิกและเริ่มต้นหน้าหนังสือเล่มใหม่ไปพร้อมกับนักอ่านที่นี่

“หลายคนบอกเราว่าจะอยู่ได้เหรอ ไม่มีนักอ่านแล้ว ร้านแบบนี้กับสตูลไม่เข้ากัน ตั้งแต่ชื่อแล้ว”

เรากลับหลงรักชื่อร้านหนังสือร้านนี้ตั้งแต่แรกเห็น 

“ตอนนั้นหมอกควันจากอินโดนีเซียเข้ามาทางสตูล แล้วความกดอากาศต่ำเป็นอากาศก่อนที่ฝนจะตก ส่วนใหญ่สตูลเป็นแบบนั้น ฝนตกตลอดทั้งปี เราอยากได้ชื่อที่มันเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่เราอยู่ อีกอย่างถ้าแปล Low Pressure Area แยกกันมันจะกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่มีความกดดัน เป็นพื้นที่ที่มันสบาย เราเลยมีนัยแฝงไว้สองสามความหมาย”

เห็นมั้ย ออกจะน่ารัก ชื่อนี้เข้ากับเมืองสตูลที่สุดแล้ว

คีตญาบอกเราว่า คาแรกเตอร์เฉพาะตัวเป็นเสน่ห์ของร้านหนังสืออิสระ ถ้าอย่างนั้น ความกดอากาศต่ำ จากที่เพ่งสังเกตคงเป็นผู้หญิงลักษณะช่างคุย ประเภทที่โผล่ยิ้มหวานต้อนรับนักอ่านผู้มาเยือน และพร้อมรับฟังทุกเรื่องราว

ความกดอากาศต่ำ เมื่อสาวนักอ่านกลับบ้านเกิดมาเปิดร้านหนังสืออิสระแห่งแรกของสตูล
ความกดอากาศต่ำ เมื่อสาวนักอ่านกลับบ้านเกิดมาเปิดร้านหนังสืออิสระแห่งแรกของสตูล

“เราไม่ค่อยเท่ ไม่ค่อยคูลด้วย” เธอหัวเราะ

“เหมือนเราแหละ บางวันก็เปรี้ยว บางวันก็มินิมอล บางวันก็ลายดอก ค่อนข้างยืดหยุ่นและมีสีสัน”

สถานที่ตรงหน้ามีความเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และเป็นตัวเธอมากกว่าชายหนุ่มคู่ชีวิตอยู่เยอะเสียหน่อย เธอว่ามันมีพลังงานของเธอซ่อนอยู่ทุกจุด “เรากันเองเหมือนมาบ้านเพื่อน คอยเป็นที่ปรึกษาอยู่หลังเคาน์เตอร์”

“ด้วยความที่เราอ่านหนังสือ ทำหนังสือ เราจะรู้จักหนังสือทุกเล่มที่เลือกมาวางในร้าน บางครั้งล้วนแต่เป็นหนังสือที่เราอยากจะอ่านเองและเราก็อยากให้คนอื่นอ่านด้วย เราเลยแลกเปลี่ยนพูดคุยกับนักอ่านได้ทุกอย่างเกี่ยวกับหนังสือที่เขาสนใจ การแลกเปลี่ยนมุมมองและการพูดคุยมันสำคัญกับนักอ่านนะ” เธอแถมข้อดีอีกข้อของการเดินเข้าร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ร้านนี้ และเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ว่าทำไมร้านหนังสือเล็กๆ ถึงไม่อยากเป็นร้านหนังสือใหญ่ๆ 

นักอ่านกระจายเป็นบางพื้นที่

“ช่วงปีแรกนักอ่านค่อนข้างน้อย แต่ว่าตอนนี้ดีขึ้นมาก” เจ้าของร้านหนังสือเปรย

พัฒนาการการอ่านของคนสตูลขยับเพิ่มระดับเลเวลขึ้นทีละน้อย จากเดินมาอุดหนุนเครื่องดื่มรสอร่อย ก็เริ่มหยิบจับและเปิดหนังสือขึ้นมาอ่าน บางคนซื้อเล่มแรก กลับมาซื้อเล่มที่สอง สาม และสี่ โดยมีคีตญาเป็นไกด์คอยแนะนำ

“ในความรู้สึกเราอาจมีลูกค้าแบบนี้ไม่เยอะเท่าไหร่ แต่เราชื่นใจนะ มันทำให้เห็นการเติบโตของนักอ่าน และการอ่านที่มีคุณภาพมากขึ้น ตอนนี้เรายึดปากซอยมาเป็นนักอ่านของที่นี่ได้หมดแล้ว” เธอยิ้มด้วยความดีใจ (มาก)

สตูลยังคงมีร้านหนังสือหลงเหลืออยู่บ้าง ทว่าเป็นร้านหนังสือฉบับเก่าแก่ที่เน้นขายแบบเรียน ส่วนร้านหนังสือตรงหน้าเราเป็นร้านหนังสืออิสระที่เน้นขายหนังสือค่อนข้างตามใจเจ้าของร้าน หมายถึงเธอและเขาเป็นคนเลือกหนังสือที่มีความเป็น ‘ความกดอากาศต่ำ’ เข้ามาวางจำหน่าย มีทั้งวรรณกรรมของนักเขียนไทยและวรรณกรรมแปล ประวัติศาสตร์ งานวิชาการ หนังสือสำหรับเด็ก หนังสือจากสำนักพิมพ์ผจญภัย และสำนักพิมพ์ที่เป็นมิตรสหายกัน ฯลฯ

ความกดอากาศต่ำ เมื่อสาวนักอ่านกลับบ้านเกิดมาเปิดร้านหนังสืออิสระแห่งแรกของสตูล

“เราเพิ่งพรีออเดอร์ คืนปีเสือ ของพี่จเด็จ ผลตอบรับดีมาก” เธอหยิบผลงานรวมเรื่องสั้นเด็ดดวงของ จเด็จ กำจรเดช นักเขียนรางวัลซีไรต์ที่หมุนเวียนออกหนังสือใหม่แทบทุกปี ทั้งนวนิยาย บทกวี และวรรณกรรมเยาวชน

จากการสำรวจด้วยสายตาตลอดเวลาเกือบ 5 ปีของคีตญา นักอ่านเมืองสตูลค่อนข้างเป็นวัยผู้ใหญ่ คงเป็นเพราะบุคลิกของร้านที่เธอตั้งใจให้นักอ่านมาจิบกาแฟแกล้มกับหนังสือ โดยเฉพาะนักอ่านที่เป็นข้าราชการและบุคลากรสาธารณสุข มีจำนวนเยอะมากจนเจ้าของร้านยังแปลกใจ (ในทางที่ดี) มีนักอ่านวัยนักศึกษาบ้างที่กลับบ้านมาเยี่ยมครอบครัวหลังปิดเทอมจากรั้วมหาวิทยาลัย “เด็กพอโตหน่อยเขามีคำถาม บางทีหาคนคุยด้วยไม่ได้ก็มาที่นี่”

เธอเล่าเรื่องน่าเอ็นดูของนักอ่านให้เราฟังว่า มีเด็กหญิงคนหนึ่งมาอ่าน สังหารจอมทัพอัสวิน เล่มหนาของ ฮารูกิ มูรากามิ (Haruki Murakami) ทุกวันจนจบเล่ม รวมระยะเวลากว่าอาทิตย์ แม้คีตญาจะคะยั้นคะยอให้หยิบยืมหนังสือของเธอกลับไปอ่านที่บ้านให้สบายใจ เด็กสาวก็ยืนกรานขออ่านที่นี่ ด้วยเหตุผลว่ามีสมาธิมากกว่า และได้มาแวะเยือนที่ร้านด้วย

“มีวันหนึ่งเขาขี่มอเตอร์ไซค์มาที่ร้าน บอกเราว่าไปเที่ยวมา แล้วนึกถึงเรา เลยซื้อดอกไม้มาฝาก”

ความงดงามของการอ่านเบ่งบานเป็นช่อดอกไม้สีสวยที่วางอยู่บนโต๊ะไม่ไกลจากสาวเจ้าของร้าน

“น้องเขาทำให้เรานึกถึงตอนเด็ก บ้านที่เราโตมาไม่มีหนังสือสักเล่ม พ่อแม่เราก็ไม่อ่าน ตอนเรียนมัธยม เราได้เงินอาทิตย์ละห้าร้อยรวมทุกอย่าง จะซื้อหนังสือสักเล่มต้องเก็บเงินหลายวัน” เธอเว้นช่วงส่งยิ้มก่อนจะเสริมว่า “ความจริง แค่เขามีความคิดว่าอยากจะอ่าน เราก็ดีใจแล้ว บางทีหนังสือที่ไม่ได้วางขายในร้านแต่เป็นหนังสือเราเอง ถ้าเขาถามปุ๊บ แล้วเรามีพอดี เราก็ยินดีให้เขาเอาไปอ่าน แล้วมาคุยกันว่าอ่านแล้วเป็นยังไงบ้าง” คีตญาอยากส่งต่อนิสัย ‘นักอ่าน’ 

ความกดอากาศต่ำ เมื่อสาวนักอ่านกลับบ้านเกิดมาเปิดร้านหนังสืออิสระแห่งแรกของสตูล

ร้านหนังสือที่มีใจเป็นส่วนมาก

“เรามีกลุ่มไลน์ร้านหนังสืออิสระด้วยนะ เวลาลูกค้ามาหาหนังสือ ถ้าร้านเราไม่มีก็จะไลน์หากันว่าร้านไหนมีบ้าง เราก็จะให้ลูกค้าทักอีกเพจหนึ่งไป ซึ่งมันน่ารัก เพราะว่าพวกเรามีสินค้าที่คล้ายกัน แต่เราไม่กลัวเลยว่าลูกค้าของเราจะไปเป็นลูกค้าของอีกร้านแล้วเขาจะไม่กลับมาหาเรา เรามีความจริงใจกับนักอ่าน เราเชื่อว่าเขาจะกลับมาหาเรา

“นี่แหละร้านหนังสืออิสระ บางทีมันอิสระมากจนไม่มีอะไรมาควบคุมได้” เจ้าบ้านยิ้มหวาน

เธอและเขาให้ความหมายของร้านหนังสืออิสระ กว้างไกลกว่าการเป็นเพียงร้านหนังสือ ตามที่เธอว่า อิสระมาก มากจนจะกลายเป็นอะไรก็ได้ มากจนไม่มีอะไรมาควบคุมได้ ซึ่งเป็นกำไรที่เขาแถมให้กับคนในย่านด้วยความเต็มใจ มีทั้งจัดทอล์กขนาดย่อม ชวนศิลปินและนักเขียนมาแบ่งปันแรงบันดาลใจและวิธีคิด วิธีเขียน อาทิ จิระนันท์ พิตรปรีชา, วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, จำลอง ฝั่งชลจิตร ฯลฯ ที่พร้อมใจล้อมวงสนทนาอย่างเป็นกันเองกับบรรดานักอ่านเมืองสตูล

“เราพยายามเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของเมืองเล็กๆ เมืองนี้ เราพยายามสร้างแรงกระเพื่อม โยนก้อนหินลงน้ำ โดยเราใช้หนังสือ ใช้การอ่าน แทรกลงไป ไม่ให้รู้สึกว่าการเข้าร้านหนังสือโอ่อ่าน่ากลัว หรือหนังสือบางประเภทต้องปีนบันไดอ่าน เราอยากให้เขาคุ้นชินกับวัฒนธรรมการเข้าร้านหนังสือ สำหรับเราเรื่องพวกนี้สำคัญนะ”

ความกดอากาศต่ำ เมื่อสาวนักอ่านกลับบ้านเกิดมาเปิดร้านหนังสืออิสระแห่งแรกของสตูล
ความกดอากาศต่ำ เมื่อสาวนักอ่านกลับบ้านเกิดมาเปิดร้านหนังสืออิสระแห่งแรกของสตูล

“ในฐานะนักอ่าน คนทำหนังสือและเจ้าของร้านหนังสือ เรื่องพวกนี้สำคัญกับคนสตูลยังไง” เราถาม

“บางทีเด็กรุ่นนี้เขามีคำถามเยอะ ข่าวสารมันไหลเร็วมาก เขาคุยกับคนที่บ้านหรือครูไม่ได้ ร้านเราเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่เขาเข้ามาแลกเปลี่ยนความเห็น มันเป็นความงดงามที่เราเห็นจากพัฒนาการการอ่านของเขา

“หนังสือมันต่อยอดและสร้างมิตรภาพ เราทำร้านหนังสือขึ้นมา เพราะเราอยากเปลี่ยนภาพจำและความขึงขังของร้านหนังสือให้เข้าถึงง่ายขึ้น พอเราสร้างการรับรู้ว่าร้านหนังสือยินดีต้อนรับทุกคนนะ มันดีกับเขาในระยะยาว

“เราจะดีใจมากถ้าร้านหนังสือของเราจุดประกาย หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ใครสักคนได้ หรือเปิดโลกของเขาให้กว้างขึ้น มันเป็นความสุขเล็กน้อยของคนทำร้านหนังสือ การเติบโตของนักอ่านก็คือการเติบโตของเราด้วย”

ร้านหนังสืออิสระแห่งแรกของเมืองสตูลเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่จะทำให้นักอ่านสบายใจยามเข้ามาเยือน 

จงหอบมวลความสุขและมรสุมความทุกข์ มาคลายกังวลให้ฟ้าหลังฝนในหัวใจกลับมาแจ่มใสอีกครั้ง

“ตอนนี้ฝนยังปรอยอยู่เลย” คีตญาเอ่ย

เราหันมองนอกหน้าต่างก่อนจะตอบเธอ

“กรุงเทพฯ ก็อ้าวแล้วค่ะ” 

“แสดงว่าความกดอากาศเริ่มต่ำแล้ว” เธอบอกลาเราด้วยคำพยากรณ์สภาพอากาศของเมืองหลวง

ความกดอากาศต่ำ เมื่อสาวนักอ่านกลับบ้านเกิดมาเปิดร้านหนังสืออิสระแห่งแรกของสตูล

ความกดอากาศต่ำ

ที่ตั้ง : เลขที่ 949 หมู่ 4 ถนนยนตรการกําธร ตำบลคลองขุด อำเภอเมืองฯ จังหวัดสตูล

วัน-เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 11.00 – 18.00 น.

Facebook : Low-Pressure Area : ความกดอากาศต่ำ

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล