1. Architect to Artist
“ผมรู้สึกกังวลมากที่จะเปิดตัวงานศิลปะของผมสู่โลกใบนี้ เพราะผมรู้สึกว่าศิลปะเป็นการเอาจิตวิญญาณออกมาจัดแสดง” บิล เบนสลีย์ (Bill Bensley) กล่าวตรงทางเข้านิทรรศการ LOVE CAMP EXPLORE DREAMS ของเขา “ผมกังวลว่าจะถูกเรียกว่าเป็นตัวตลก หรือไม่ดีพอ… แต่คุณรู้ไหม ถ้าหากคุณจะสร้างงานศิลปะที่ตรงใจทุกคนล่ะก็ สุดท้ายคุณก็จะมีแค่ผ้าใบว่างเปล่า”
แน่นอนว่าในห้องจัดแสดงขนาดใหญ่ 4 ห้องของบิล ปราศจากผ้าใบว่างเปล่าอย่างสิ้นเชิง ตรงกันข้าม มันอัดแน่นไปด้วยสรรพสีสันความสนุกสนานตระการตา งานกว่า 150 ชิ้นในหลากหลายเทคนิค ตั้งแต่จิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ ไปจนถึงประติมากรรมรูปตัวละครหมุนได้ขนาดยักษ์ ล้วนเล่าเรื่องผู้คนและสถานการณ์จากมุมมองและอารมณ์ขันของบิล ประหนึ่งว่าผู้ชมกำลังเดินเล่นอยู่ในหัวสมองของเขา อีกทั้งเขามีสไตล์ที่ชัดเจนมาก (ชวนให้คิดถึงลัทธิ Fauvism) จนหลาย ๆ ครั้งเราเกือบลืมไปว่า ผู้ชายอายุ 60 กว่าที่กำลังนำชมแต่ละภาพบนฝนังอย่างกระตือรือร้นคนนี้ ที่จริงแล้วเป็นสถาปนิกชื่อดังระดับโลก และเพิ่งหันมาจับพู่กันวาดรูปอย่างจริงจังมาเพียง 3 ปีเท่านั้น!


2. Imagination
ถ้าเราจะทำความเข้าใจโลกของบิล ก็ต้องย้อนกลับไปดูพื้นหลังเขาสักนิด บิล เบนสลีย์ เป็นชาวอเมริกันโดยกำเนิด เกิดวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ซึ่งตามโหราศาสตร์จะบอกว่าได้รับอิทธิพลจากทั้ง 2 ราศี คือมีความมุมานะแบบชาวราศีมังกร และช่างฝันแบบชาวราศีกุมภ์ ซึ่งก็ไม่ผิดนัก เขาเติบโตท่ามกลางสวนส้มในรัฐแคลิฟอร์เนียกับคุณพ่อผู้เป็นนักวิจัยวิศวกรรมให้นาซ่า
หลังจบการศึกษาที่ฮาร์วาร์ด บิลได้ย้ายมาทำงานที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ซึ่งเขาตกหลุมรักกับผู้คน วัฒนธรรม และภูมิประเทศ จนตัดสินใจตั้งรกราก เปิดบริษัท Bensley Design สาขาแรกที่กรุงเทพฯ ในปี 1989 และที่บาหลีปี 1990 โปรเจกต์แรก ๆ ของสตูดิโอเขาเป็นงานภูมิสถาปัตย์และออกแบบสวนต่าง ๆ แล้วค่อย ๆ ขยายไปทำตกแต่งภายใน จนได้ออกแบบทั้งโรงแรมเลยในที่สุด
“คำขวัญของผมคือ Lebig gila, Lebih Baik” บิลชิ้นให้เราดูป้ายภาษาอินโดนีเซียที่ห้อยอยู่เยื้อง ๆ กับงานของเขา “มันแปลว่า ยิ่งแปลกยิ่งดี… เราไม่ควรจะหยุดอยู่กับสิ่งดาษดื่น ถ้าเราทำสิ่งที่ต่างไปจากคนอื่น ๆ ได้ ยิ่งถ้ามันเป็นสิ่งที่คนไม่เคยเห็นมาก่อนยิ่งดี”

บิลบอกว่าเขาต้องการเปลี่ยนนิยามของความ ‘หรูหรา’ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จากวัตถุที่สิ้นเปลืองมาเป็นประสบการณ์ที่รักษ์โลก เขายึดมั่นในปรัชญานี้ในการเนรมิตรีสอร์ตกว่า 200 แห่ง ใน 30 ประเทศทั่วโลกตลอด 30 ปีที่ผ่านมา แต่ละโปรเจกต์ของเขาล้วนไม่ธรรมดา อาทิ Four Seasons Tented Camp Golden Triangle ในจังหวัดเชียงราย ที่นอกจากเป็นโรงแรมสไตล์แคมป์ปิ้งระดับหรูหราแห่งแรกของบิลแล้ว ยังเป็นพื้นที่อนุรักษ์ช้างป่าด้วย
ที่โรงแรม Four Seasons เกาะสมุย เขาใช้แนวคิด Minimal Intervention คือออกแบบรอบ ๆ ต้นไม้และภูมิทัศน์เดิมทั้งหมด เพื่อคงเส้นทางการไหลของน้ำตามธรรมชาติไว้
ที่ประเทศกัมพูชา เขากว้านซื้อที่ดินในแทบเถือกเขาคาร์ดามอน เพื่อสร้าง Shinta Mani Wild โรงแรมที่แขกต้องโหนตัวจากเส้นสลิง Zipline 380 เมตร ผ่านยอดไม้และน้ำตกเพื่อเข้าไปที่พัก (พร้อมรับจินโทนิกเป็น Welcome Drink) แต่สิ่งที่น่าทึ่งกว่านั้นคือ รายได้ทั้งหมดจากโรงแรมบริจาคให้มูลนิธิเพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้และฆ่าสัตว์ อีกทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนท้องถิ่นอีกด้วย

3. Outsider
“ในทุก ๆ วันตลอด 40 ปีที่ผ่านมา กุญแจสำคัญในการทำงานของผม คือการรายล้อมตัวเองด้วยคนที่เก่งกว่าผม” พวกเขาเหล่านั้นเป็นแรงบันดาลใจบิลพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อย ๆ
หนึ่งในคนเก่งที่บิลพูดถึงนี้คือ ศิลปินชื่อ เคท เสปนเซอร์ (Kate Spencer) โดยบิลเลือกภาพของเธอมาตกแต่งห้องแต่ละห้องในโปรเจกต์ที่ Kittitian Hill “งานของเธอมหัศจรรย์มาก” เธอเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เขาจับพู่กันและวาดภาพอย่างจริงจัง “เมื่อผมได้เริ่มแล้วผมก็หยุดไม่ได้ ทำให้ทุกครั้งที่ผมเดินทางไปไซต์งานสถานที่ต่าง ๆ ต้องติดเหล่าดินสอและพู่กันไปด้วย”
และถึงแม้ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาบิลจะเดินทางน้อยลงเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่การวาดรูปของเขายังดำเนินอย่างต่อเนื่อง (แถมมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ!) บิลเล่าว่าพอตื่นนอนปุ๊บ เขาจะวาดรูปก่อนไปออฟฟิศ หลังเลิกงานเขาก็จะพาเจ้าสุนัขทั้ง 6 ของเขาไปวิ่ง จากนั้นกลับบ้านมาก็จะวาดรูปก่อนนอนเป็นกิจวัตรทุกวันไม่มีเว้น โดยแนวศิลปะที่บิลสนใจคือภาพเขียนที่ทำโดยชาติพันธุ์ท้องถิ่น หรือ Primitive Art เพราะมันทำให้เขารู้สึกว่าเขาเองก็ทำได้ และเป็นศิลปะที่เข้าถึงง่าย มีอารมณ์ขัน
“ผมเรียกตัวเองว่าศิลปินคนนอก (Outsider Artist) เพราะผมเป็นคนนอกจริง ๆ สำหรับวงการวิจิตรศิลป์ และผมไม่เสแสร้งที่จะเป็นอย่างอื่น”
4. Solo Exhibition
หลังจากที่เขาได้จัดการประมูลผลงานไปเมื่อปีที่แล้ว โชว์นี้เป็นงานนิทรรศการเต็มรูปแบบครั้งแรกที่ River City Bangkok ของบิล โดยงานของเขาถูกนำมาร้อยเรียงเป็น 4 ช่วงตามชื่ออย่างตรงไปตรงมา

ส่วนแรกคือ ‘LOVE’ ที่บิลบอกว่า “พูดถึงความรักที่เรามีให้กันและกันระหว่างมนุษย์ ไปจนถึงความรักที่มีให้โลกใบนี้” ภาพแรกที่เราจะเห็นเมื่อเข้าไปด้านในเป็นภาพวาดลายเส้นขนาดใหญ่ “จริง ๆ แล้วมันเป็นกระดาษขนาด A3 จำนวน 44 แผ่นต่อกัน” บิลชี้ให้เราดู “มันเป็นขนาดที่ผมวางบนตักแล้ววาดได้ตอนที่อยู่บนรถตู้ บนเครื่องบิน หรือที่ไหนก็ได้ รวม ๆ แล้วใช้เวลาประมาณปีครึ่ง ภาพนี้เกี่ยวกับบ้านของเราในกรุงเทพฯ”
ตรงกลางภาพมีผู้ชายเปลือยนอนนวยนาดอยู่ ล้อมรอบไปด้วยรายละเอียดยิบยับที่สื่อถึงตัวตนและความสนใจของผู้วาด เขาชี้ให้เราดูโซนที่เป็นรูปงานเลี้ยงดินเนอร์ในฝันของเขา รอบโต๊ะนั้นมีแขกเป็นคนดังมากมายอย่าง Basquiat, Andy Warhol, Picasso, Albert Einstein, Frank Lloyd Wright ฯลฯ ส่วนตรงหัวโต๊ะคือรูปตัวบิลเอง และที่ขาดไม่ได้ด้านขวามือติดกันคือ คุณหนึ่ง-จิระชัย เร่งทอง คู่รักคู่ชีวิตของคุณบิลที่รู้จักกันมากว่า 30 ปี

“จิระชัยชอบปลูกสับปะรดสีมาก” บิลบุ้ยใบ้ไปที่ภาพที่เต็มไปด้วยพันธุ์พฤกษาสีสดทรงแปลกตาที่อยู่เยื้อง ๆ กัน “ที่สวนของเรานั้นแน่นเอี้ยดไปด้วยต้นไม้ อย่างรูปนี้จะเห็นคนสวนทูนต้นไม้ไว้เหนือหัว เหมือนจะถามว่า ให้ผมวางมันตรงไหนครับ จิระชัย” เราตั้งข้อสังเกตกับบิลว่าเขาสามารถนำหลากหลายสีสันมาผสมกันในภาพได้อย่างลงตัว
“ผมชอบใช้สีเยอะ ๆ ในงานของผมนะ ผมเชื่อว่าสิ่งเดียวในโลกที่ควรถูกแยกสีคือการซักผ้า!”
ในโซนที่สอง ‘CAMP’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเข้าค่าย แต่เป็นการ ‘เล่นใหญ่’ เป็นคำที่มักใช้พูดถึงลักษณะเฉพาะของชาวเพศสภาพที่หลากหลาย “จากการได้มาอยู่ที่นี่เป็นเวลานาน ผมรักประเทศไทยด้วยหลาย ๆ เหตุผล โดยเฉพาะการเปิดกว้างของผู้คน” บิลค่อย ๆ เล่าเบื้องหลังของแต่ละภาพให้เราฟัง


ไม่ว่าจะเป็น ‘Eva and Eve’ ภาพที่เขาวาดคู่หญิงรักหญิงในสวนสวรรค์ ‘Hasan just loves his new pair of Guccis’ รูปชาวมุสลิมที่คงความเปรี้ยวด้วยแว่นตาแฟนชั่นสุดเก๋ ‘Isan Diva’ เกย์อีสานสุดเลิศเชิด ภาพลูกครึ่งผิวสีผู้เป็นที่รักของทุกคนในตลาดปากคลองตลาด ‘Bangkok loves Me’, ‘It’s not who you marry that matter, it’s who you divorce’ ภาพนายแบบใส่บูทคาวบอยคู่โปรดของบิล ไปจนถึงภาพแอบสแตร็กต์ที่ได้แรงบันดาลใจจากแดร็กควีนชื่อดังอย่าง Rupaul ฯลฯ



เรียกได้ว่าเป็นโซนที่เราได้เห็นคารมคมคาย การจิกกัด และอารมณ์ขันของศิลปินผ่านการใช้คำและข้อเขียน ทั้งที่อยู่บนผืนผ้าใบเอง ไปจนถึงการตั้งชื่องานด้วย “ภาพเหล่านี้เล่าเรื่องชุมชน LGBTQ ในประเทศไทยผ่านสายตาของผม โดยเฉพาะกลุ่มที่มักจะมาปาร์ตี้กันตอนสุดสัปดาห์ที่บ้านของผม”
นอกจากนี้บนผนังห้องโซนนี้ยังมีชุดงานเชิงทดลองที่น่าสนใจ โดยบิลบอกเราว่ามีช่วงหนึ่งเขาเลือกศิลปินที่เขาชอบวันละหนึ่งคน เพื่อเป็นโจทย์ในการสร้างภาพของวันนั้น ๆ ผลที่ได้คือภาพบางภาพก็มีการเล่นสีแบบโกแกง บางภาพมีทรงเรขาคณิตแบบปิกัสโซ่ และบางภาพมีการวาดรายละเอียดระยิบระยับแบบคลิมต์
“เวลาเป็นมัณฑกร ผมมักจะเปลี่ยนสไตล์ไปเสมอ ๆ เพื่อให้ลูกค้ากลับมาจ้างเราอีก การวาดภาพผมก็ทดลองหาสไตล์ใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน”

พูดถึงการค้นหา ห้องถัดไปมีธีมคือ ‘EXPLORE’ มีศิลปะที่เล่าถึงการเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ของเขา ซึ่งบิลบอกว่าการเดินทางถือเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจหลักของเขา เราได้เห็นภาพสถาปัตยกรรมที่คุ้นตาจากหลายเมืองหลายประเทศ ทั้งโบสถ์จากโปรตุเกส ตึกจากหลวงพระบาง ตัวมอมและเจดีย์อย่างล้านนา เมืองในอเมริกาใต้ ฯลฯ แต่มีงานจำนวนไม่น้อยที่พูดถึงพูดคนหมู่เกาะปาปัว ที่บิลพบเจอในช่วงปี 2019



“ผมนั่งเรือที่ชื่อว่า Kudanil Explorer ไปสำรวจหมู่เกาะที่มีวิถีชีวิตอย่างดั้งเดิม ไร้การรบกวนจากโลกสมัยใหม่ เนื่องจากผมพูดภาษาอินโดนีเซีย นอกจากผมจะได้เรียนรู้เรื่องราวท้องถิ่นแล้ว พวกเขายังให้ผมสเก็ตซ์รูปของพวกเขาด้วย!”
ส่วนห้องสุดท้ายชื่อว่า ‘DREAMS’ แปลตรงตัวว่า ‘ความฝัน’ ซึ่งเป็นห้องที่เราชอบที่สุดด้วยหลาย ๆ เหตุผล เริ่มจากชุดภาพในห้องนี้มีจินตนาการที่โลดโผนกว่าห้องอื่น แถมมีชุดภาพหนึ่งที่บิลบอกว่าอยากจะต่อยอดเป็นหนังสือนิทานเด็ก (เราคิดว่าเหมาะมาก ๆ) “ภาพเหล่านี้ผมเริ่มวาดกับหลาน ๆ ของผม พวกเขาอายุ 3 ขวบ 5 ขวบ และ 7 ขวบ การได้ฟังพวกเขาคุยกันเกี่ยวกับศิลปะ ช่วยปรับความคิดของผมให้ไม่ยึดติดกับสัดส่วนที่ถูกต้อง”
เยื้อง ๆ กันยังมีประติมากรรมหน้าคน 2 คนที่ห้อยลงมาจากเพดาน เราประทับใจแบกกราวนด์ของมัน เป็นภาพเขียนห้องนอนลายเส้นสีฟ้าที่สวยมาก ๆ ผนังนี้เหมือนเป็นการผสานทักษะทางมัณฑนศิลป์ของบิล เข้ากับวิจิตรศิลป์อย่างตัว นอกจากนั้นงานในห้องนี้ยังมีการลดทอนกว่าห้องอื่น ๆ บางชิ้นเป็นเส้นรูปดอกบัวซ้อนกัน บางชิ้นเป็นทรงธรรมดาแต่ชูเทคนิคที่บิลใช้ขี้ผึ้งและไฟ (!) ในการเผามันขึ้นมา อีกทั้งยังมีประติมากรรมลอยตัวทรงประหลาดกลางห้องอีกหลายชิ้น เมื่อมาอยู่รวมกันแล้วสร้างบรรยากาศของจักรวาลมหัศจรรย์ในหัวของบิลได้อย่างน่าสนใจ
อ้อ อีกอย่างที่เราประทับใจมาก ๆ คือ ตลอดพื้นที่นิทรรศการนี้มีมุมเก้าอี้สวย ๆ ให้ผู้ชมนั่งดูงานอย่างชิลล์ ๆ ไม่เกร็งเหมือนหอศิลป์ทั่วไป สมแล้วกับการเป็นนักออกแบบพื้นที่มือหนึ่งจริง ๆ
5. Conservationist Dream
ในห้องนี้บิลบอกเล่าถึง ‘ความฝัน’ อันสูงสุดของเขากับเราด้วย “โฟกัสหลักของผมตลอดหลายปีที่ผ่านมาคือการได้ช่วยคนที่กัมพูชา และได้เป็นนักอนุรักษ์ที่แท้จริง (Real Conservationist) งานผมที่กัมพูชาเป็นสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง มันทำให้ชีวิตผมมีจุดหมาย” รายได้ทั้งหมดจากการขายงานในนิทรรศการนี้ บิลจะมอบให้กับการดำเนินงานของมูลนิธิ ShintaMani Foundation ที่กัมพูชาเพื่อพัฒนาและเลี้ยงชีพคนยากไร้ที่นั้น

ควบคู่ไปกับอีกโจทย์ที่บิลให้ความสำคัญมาก ๆ คือการป้องกันการลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ ในป่าคาร์ดามอม ซึ่งเป็นถิ่นทุรกันดารใหญ่แห่งสุดท้ายของเอเชีย โดยบิลบอกว่าเงินบริจาค 1,000 ดอลลาร์ สามารถจ้างงานหน่วยลาดตระเวนโดย The Wildlife Alliance ได้ 20 วัน ในเวลานั้นพวกเขายึดเลื่อยไฟฟ้าได้กว่า 3,000 ชิ้น และปกป้องรักษาพื้นที่ป่าได้หลายร้อยเฮกเตอร์
“น่าเศร้าที่ในช่วงการระบาดของโควิด เราต้องทำงานหนักขึ้น เนื่องจากกิจกรรมผิดกฎหมายเหล่านี้เพิ่มขึ้นสูงมาก” เงินจำนวนนี้ยังสามารถเป็นทุกการศึกษาที่โรงเรียน ShintaMani Hospitality Training School ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เปิดขึ้นพร้อมกับโรงแรมของเขาตั้งแต่ปี 2014 เพื่อสร้างโอกาสและหารายได้ให้กับคนด้อยโอกาสในท้องถิ่น ซึ่งตอนนี้มีนักเรียนที่จบไปแล้วเกือบ 300 คน ทุกคนหาอาชีพและเลี้ยงคนในครอบครัวตัวเองได้ ทำให้ต่อมามีการตั้งกองทุนและสหกรณ์เพื่อพัฒนาการกินอยู่ของคนในชุมชนด้วย
“ผมหวังว่าอนาคตจะได้ทำงานเกี่ยวกับการ Recycling, Upcycling และการสร้างโรงแรมที่ช่วยผู้คน ช่วยสังคม และช่วยการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน”
สุดท้ายการชมนิทรรศการนี้ทำให้เรารู้ว่า แม้เขาจะเปลี่ยนสื่อไป แต่แก่นสารหัวใจความเป็นนักอนุรักษ์ในงานของ บิล เบนสลีย์ ยังคงเดิมชัดเจน

นิทรรศการ LOVE CAMP EXPLORE DREAMS โดย Bill Bensley
เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันที่ RCB Galleria 1 ชั้น 2
ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/RiverCityBangkok
โทรศัพท์ 02 237 007