19 พฤศจิกายน 2020
6 K

The founder of ANGKRIZ. 

English teacher and student of the world. 

Sometimes he walks, sometimes he runs. Always, he learns.

นี่คือข้อความที่ ครูลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ เขียนนิยามความเป็นตัวเองไว้ในอินสตาแกรม

ครูลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์ ครูผู้นิยามตัวเป็นนักเรียนของโลกใบนี้ที่มีพลาด มีเรื่องที่ไม่รู้

นอกจากการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่รักของเด็กๆ พิธีกรและดีเจที่รักของผู้ฟัง ในอีกมุมหนึ่ง ครูลูกกอล์ฟคือหนึ่งคนที่ออกมาแสดงมุมมองความคิดเห็น แชร์ประสบการณ์ และเสนอทางแก้ปัญหาในประเด็นสังคมต่างๆ อยู่เสมอ 

เริ่มจากเรื่องความหลากหลายทางเพศ ที่ได้ยืนหยัดพิสูจน์ความสามารถของตัวเองจนเป็นที่ยอมรับจากครอบครัวและสังคมโดยไม่มีข้อกังขาใดๆ ต่อมาได้ประกาศตัวในการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง จนเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Little Big Green และในช่วงเวลานี้ ก็เป็นคนหนึ่งที่ออกมาพูดถึงเรื่องสื่อ ประชาธิปไตย และการอยู่ร่วมกันในสังคม

ในมิติต่างๆ ที่เขาออกมาขับเคลื่อนนั้น สิ่งสำคัญที่เขาให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ ครอบครัว

สำหรับครูลูกกอล์ฟแล้ว ดูเหมือนว่าทุกอย่างเริ่มได้จากครอบครัว ทั้งการรับฟัง ทำความเข้าใจ และยอมรับความแตกต่างให้ได้ ครอบครัวล้วนสร้างพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม

ถึงคนจะคิดว่าการทำหน้าที่เป็นครูผู้สอนได้เปรียบในการขับเคลื่อนสังคมได้ แต่เขากลับยอมรับว่า ในความเป็นจริงแล้วความเป็นครูไม่ได้ทำให้ตัวเองดีหรือเก่งกว่าคนทั่วไป 

เขาบอกว่า ตัวเองคือนักเรียนคนหนึ่งของโลกใบนี้ ที่มีผิดพลาด ไม่รู้ และต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิต

“What we know is a drop, what we don’t know is an ocean.” 

คือข้อความที่ทำให้ตัวเขาเองได้กลับมาครุ่นคิดจนตกตะกอน และอยากฝากให้ผู้อ่านทุกคนได้นำไปขบคิดหลังจากอ่านบทสนทนานี้จบลงเช่นกัน

ครูลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์ ครูผู้นิยามตัวเป็นนักเรียนของโลกใบนี้ที่มีพลาด มีเรื่องที่ไม่รู้

01 

ครูผู้สอน

เราเห็นคุณออกมาแชร์ความคิดเห็นในประเด็นสังคมตั้งแต่ความเท่าเทียมทางเพศ Hate Speech การลดขยะพลาสติก ไปจนถึงการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความเห็นที่แตกต่าง จุดเริ่มต้นมาจากตรงไหน

ไม่สามารถบอกได้ว่ามันเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ อยากให้ลองแยกแบบนี้ดีกว่า ถ้าในฐานะที่ลูกกอล์ฟเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่มาที่ไปของเรามักจะอยู่ตรงกลางที่คอยประนีประนอมมาโดยตลอด 

อย่างในบ้าน ในครอบครัว เราต้องเป็นคนที่พยายามหาทางคุยกับคุณพ่อ พยายามหาทางออกให้คุณแม่ เราเป็นพี่คนโตที่คอยดูแลน้อง ว่าน้องคนนี้มีปัญหาอะไร เวลาไปโรงเรียน เราเป็นหัวหน้าห้อง ผู้นำเชียร์ เป็นกรรมการนักเรียน ตอนอยู่มหาวิทยาลัยก็เป็นพี่ประธานเชียร์ที่อยู่ระหว่างรุ่นน้องที่เพิ่งเข้ามากับรุ่นพี่ที่อยู่มาก่อน 

ถ้ามองแบ็กกราวด์ที่เล่ามานี้คือ เรามักจะเป็นจิ๊กซอว์ที่เป็นตัวเชื่อมปัญหาหลายๆ อย่าง หรือพูดสั้นๆ คือ การที่เป็นแบบนี้ เป็นเพศนี้ มันเป็นเบ้าหลอมที่หล่อหลอมให้เราทางหาออกให้ได้เสมอ เพื่อเอาตัวรอดให้ได้ เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต้อง Negotiate ตลอดเลย บางครั้งเราชนะ บางครั้งแพ้ เลยเป็นนิสัยที่ติดตัวมา

พอมาเป็นครู ทักษะที่ว่านี้เข้มข้นขึ้นไหม

ลูกกอล์ฟเรียกตัวเองว่าเป็นผู้สอน เป็น Instructor หรือ Tutor อะไรก็ตาม ก็เป็นตำแหน่งที่สังเกตดีๆ ว่า เราต้องพยายามเชื่อมโยงกับเด็ก ที่อยู่ด้วยกันเองแล้วตีกัน และเชื่อมโยงเด็กกับพ่อแม่ที่อยู่คนเจเนอเรชันด้วย ซึ่งเราอาจมีคุณสมบัติของผู้ฟังที่ดี คือถ้าเป็นผู้พูดเราอาจไม่ได้เก่งในทุกแง่ แต่ถ้าเป็นผู้ฟังเราค่อนข้างฟังละเอียด เราจึงมักเป็นตัวเชื่อมเสมอ เช่นแม่มีปัญหามา ก็คุณครูคะ คุยให้หน่อย หรือนักเรียนก็มาขอว่า พี่คุยกับแม่ให้หน่อย เป็นอย่างนี้มาตลอด

แล้วถ้ามองในแง่วงการบันเทิง ในรายการ พุธทอล์ค พุธโทร ก็เห็นได้ชัดว่าเราก็ยังเป็นตัวเชื่อมระหว่างคนที่โทรเข้ามา พยายามหาทางว่า เขาต้องทำยังไงจึงจะแก้ปัญหาได้ สุดท้ายทั้งหมดที่เล่ามา มันจึงหล่อหลอมให้เราคิดว่า บางครั้งถ้าเสียงของเรามีประโยชน์ แล้วเราเชื่อมอะไรบางอย่างแล้วหาทางออกได้ เราก็ทำก็ได้

ครูลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์ ครูผู้นิยามตัวเป็นนักเรียนของโลกใบนี้ที่มีพลาด มีเรื่องที่ไม่รู้

การออกมาพูดประเด็นสังคมใหม่ๆ ที่ไม่ค่อยมีใครพูดกัน ย่อมมีเสียงที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทำไมคุณถึงยอมแลก

ตอนนี้ออก ไม่ออก โดนหมด เราก็เลือกที่จะซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตัวเองดีกว่า อย่างที่เราออกมาแชร์เรื่องข้อมูลคนละชุดของผู้ปกครองและนักเรียน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราเป็นเด็กนิเทศ รู้ดีว่าสื่อทำงานอย่างไร มี Agenda หรือขอลิงก์ไปถึงการเลือกตั้งของอเมริกาที่มีสื่อทั้งซ้ายจัด ขวาจัด แน่นอนว่าประเทศประชาธิปไตยย่อมทำได้ แต่ถ้าไม่มีใครอยู่ตรงกลางเสนอความเป็นจริงว่าเป็นยังไง มันตายนะ อยู่กันไม่ได้หรอก

เวลาเราดูข่าว ลูกกอล์ฟขีดเส้นใต้เลยว่า ชอบดูข่าวที่เป็นแบบรายงานข่าวมากกว่าการเล่าข่าวแบบใส่ความคิดเห็น เพราะทัศนคติไม่ใช่ความจริง แต่กลายเป็นว่าตอนนี้คนชอบข่าวแบบเล่าข่าว เพราะการรายงานข่าวมันน่าเบื่อ เพราะมีแค่ความจริงแบบนี้ แล้วคุณไปเลือกเอง และในประเทศไทยการเล่าข่าวถูกทำให้เป็นเรื่องปกติแล้ว คนก็ไม่กลับไปดูอะไรที่น่าเบื่อ แต่เรายังเป็นคนคนนั้นอยู่ ยังชอบดูการรายงานข่าวมากกว่าการเล่าข่าว 

สิ่งที่คุณเป็นห่วงมากที่สุดในตอนนี้คืออะไร

ถ้ามองให้แคบลง วันนี้ลูกกอล์ฟเป็นห่วงอย่างเดียวคือสถาบันครอบครัว เมื่อเราทำอาชีพนี้ เราเห็นว่ามันเปราะบางแค่ไหน เราเห็นความแตกต่างของสองชุดข้อมูลระหว่างพ่อแม่กับเด็ก เพราะเรายืนอยู่ตรงกลางจริงๆ เราอยู่กับเด็กที่เล่นทวิตเตอร์ และพ่อแม่ที่เล่นแต่เฟซบุ๊กแล้วก็รับข่าวอีกช่องทาง 

มันเหมือนบางทีสิ่งที่ต้องคุยกันตรงๆ เพื่อหาทางออกดีๆ และต้องคุยกันดีๆ กลับคุยไม่ได้ แต่ละฝ่ายที่เอียงอยู่แล้วก็จะหาความจริงซึ่งไม่รู้เป็นความจริงหรือเปล่า บางทีก็เป็นทัศนคติของตัวเอง บางหลักฐานของฝ่ายตัวเอง บางครั้งก็เป็น Fake News ของทั้งสองฝ่ายอีก ไม่มีสื่อที่กลางหรือน่าเชื่อถือพอที่จะทำ Fact Check ให้ทั้งสองฝ่าย เราเห็นปัญหาไหม และถ้าได้ทำความเข้าใจระบบอัลกอริทึม ซึ่งอยากให้ทุกคนไปดูสารคดีเรื่อง Social Dilemma ของ Netflix ก็ได้ ซึ่งสารคดีใช้คำว่า ‘เป็นภัยต่อประชาธิปไตย’ เลยนะ เพราะทำให้เราจะเห็นแค่ข้อมูลฝั่งตัวเองเสมอ และถูกรายล้อมด้วยชุดข้อมูลเดียวหมด

เวลานี้เราจึงแค่อยากยกประเด็นให้กับสังคมว่า ตอนนี้ประชาธิปไตยเริ่มตั้งแต่ในบ้านนี่แหละ ถ้ามองภาพใหญ่คงมีอีกหลายสิ่งที่ต้องคุยกัน แต่วันนี้ลูกกอล์ฟอยากให้โฟกัสที่สถาบันครอบครัวก่อน เมื่อเราออกมาพูดในมุมของเราวันนี้ มีพ่อแม่หลายคนทักมาว่า ขอบคุณมาก ใจเย็นขึ้นเยอะเลย 

ตอนนี้ เสียงหลักๆ ก็จะเป็นเรื่องการห่วงสถาบันครอบครัว เพราะการเรียกร้องหลายอย่างในโลกนี้ต้องใช้เวลา แต่คนที่อยู่กับเราไปตลอด ไม่ว่าการเรียกร้องข้างนอกจะเป็นอย่างไรก็คือครอบครัวของเรา

คุณเน้นเรื่องครอบครัวเป็นพิเศษ เพราะประสบการณ์ส่วนตัวด้วยหรือเปล่า

เราเคยเป็นเด็กที่อยู่ในบ้านที่ไม่อบอุ่น เรารู้เลยว่ามันจะเป็นที่บ่มเพาะมนุษย์ที่อันตรายมาก การอยู่ในบ้านที่ร้อนเป็นนรกของเราทุกคน ถ้าเรามองสถานการณ์โลกปัจจุบัน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง มันร้อนพอแล้ว มันต้องมีสักที่บนโลกนี้ที่เย็นให้เราบ้าง ดังนั้น ลูกกอล์ฟคิดว่าสิ่งนี้สำคัญมาก 

เราไม่ได้บอกให้เด็กฟังพ่อแม่อย่างเดียวนะ เราพยายามบอกพ่อแม่ว่า โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ข้อมูลมันคนละชุด อย่างน้อยถ้าเป็นไปได้ ไม่มีวิธีรับมือก็ช่วยรับฟัง และอย่าไล่เขาออกจากบ้าน อย่างน้อยให้เขากินอิ่มนอนหลับ

จริงๆ แล้วมันเป็นการเริ่มฝึกประชาธิปไตยที่บ้านให้ทั้งกับผู้ปกครองและเด็ก และได้ฝึกอะไรหลายๆ อย่าง ถ้ามันเริ่มที่ครอบครัว จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนใจคนบางครั้งต้องใช้เวลานาน ทั้งการสร้างค่านิยมใหม่ การเปลี่ยนความเชื่อบางอย่างที่คนเชื่อมาทั้งชีวิต ต้องระวังสารที่จะสื่อ และวิธีที่จะสื่อสารหรือเปล่า หรือมันต้องปรับทั้งคู่หรือเปล่า

แต่ตอนนี้สิ่งที่ต้องยอมรับความจริงคือ โลกมันเปลี่ยนแปลง มันไม่มีอะไรที่หนีสัจธรรมข้อนี้ได้ เราต้องเตือนสติให้ทุกคนอยู่กับการเปลี่ยนแปลงให้ได้

ครูลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์ ครูผู้นิยามตัวเป็นนักเรียนของโลกใบนี้ที่มีพลาด มีเรื่องที่ไม่รู้
ครูลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์ ครูผู้นิยามตัวเป็นนักเรียนของโลกใบนี้ที่มีพลาด มีเรื่องที่ไม่รู้

คิดว่าการเป็นครูได้เปรียบหรือเสียเปรียบในการผลักดันประเด็นด้านสังคมต่างๆ อย่างไรบ้าง

เอาเป็นว่า ถ้าวันนี้ไม่สอนหนังสือ ถ้าเราไม่มีอิทธิพลต่อเด็กขนาดนี้ เราจะแสดงความเห็นได้มากกว่านี้ บางทีก็เป็นความกระอักกระอ่วนว่าฉันอยากแสดงอะไรบางอย่างในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แต่ในความเป็นมนุษย์ฉันดันมาพร้อมสิ่งนี้ ที่เป็นความน่าเชื่อถือหรืออิทธิพลบางอย่างที่อาจส่งผลต่อเด็ก 

กลายเป็นว่าความเป็นครูทำให้พูดบางเรื่องได้ยากกว่า

เราว่าการเป็นครูยากนะ เพราะว่าโรงเรียนควรเป็นสถานที่ที่ปล่อยให้เด็กทุกคนมีความคิดทุกแบบ เป็นทุกเพศได้ และมีโอกาสแสดงออกถึงความเป็นตัวเองโดยไม่มีใครมาตัดสิน มันควรเป็นสถานที่แบบนั้น ซึ่งเราก็เคยพลาด เคยมีช่วงที่เราเคยใช้ทัศนคติของเราโน้มน้าวให้เด็กอินไปตามเรา โดยที่ไม่ได้เสนอความจริงในรูปแบบอื่น แล้วก็ไม่ได้ให้เขาไปค้นหาความจริงเองในรูปแบบอื่นเช่นกัน

มีนักเรียนคนหนึ่งทักมาเมื่อไม่นานนี้ ในช่วงที่ลูกกอล์ฟต้องออกมาขอโทษว่าตัวเองเคยใช้ Hate Speech เราต้องออกมาขอโทษทันทีเลย เพราะในวันนั้นที่มีการชุมนุมในอดีต เราใช้คำพูดที่โหดร้ายรุนแรง โดยที่ตัวเองก็ได้ข้อมูลมาไม่ครบ เรามีแค่ข้อมูลชุดนั้น ทั้งที่ตอนนั้นก็อายุประมาณยี่สิบห้า ยี่สิบหกแล้ว เราโตแล้ว ควรรู้ดีกว่านั้นได้แล้ว แต่ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากออกมารับผิด

คราวนี้นักเรียนที่ทักมา เขาบอกว่า ขอบคุณพี่มากเลยที่ออกมาขอโทษ เพราะตอนนั้นหนูเห็นต่างจากพี่มากๆ ในเรื่องการเมือง นักเรียนใช้คำว่า เขารู้สึก Uncomfortable เวลาอยู่ในห้องเรียน แต่เหตุผลที่ยังเรียนอยู่เพราะชอบ เราฟังแล้วก็ เออ ทำไมเราไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้พูดบ้างว่าเขาคิดยังไง

หรือวันนี้พูดตรงๆ ถึงเรื่องผูกโบขาวหรือชูสามนิ้ว ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับอะไรก็ตาม เราที่เป็นผู้สอน ควรบอกหรือบังคับให้เด็กต้องผูกโบขาวหรือเปล่า หรือเราไม่ควรไปด่าเด็กว่า Ignorant หรือเปล่า ถ้าเป็นวันนี้เราควรเปิดโอกาสให้เขาพูดหรือเปล่า สมมติว่าเขาไม่เห็นด้วยกับอันนี้ เพราะอะไร เห็นด้วยเพราะอะไร ทำยังไงให้อยู่ด้วยกันได้ ตอนนี้เริ่มเห็นความลำบากใจของความเป็นครูผู้สอนไหม

อีกอย่างเราต้องยอมรับว่าในแง่ที่ว่า ประเทศของเรา อาจารย์มากมายใช้ความเป็นอำนาจนิยม ถูกไหม ดังนั้น ลูกกอล์ฟที่ไม่ได้เป็นคนใช้อำนาจนิยม ยิ่งต้องรับฟัง ในโรงเรียนของลูกกอล์ฟ เราบอกเลยว่า นี่คือพื้นที่ของเด็กทุกคน ไม่ว่าข้างนอกจะเป็นยังไง เมื่อเข้ามาในโรงเรียนแล้ว เด็กที่ไม่รู้เรื่องการเมือง เด็กที่ทะเลาะกับพ่อแม่ เด็กที่อาจดูช่องนั้นช่องนี้ หรือเด็กที่ไม่โอเคกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เขาต้องอยู่ร่วมกันในห้องเรียนของเรา และเราเปิดกว้างมาก

02

นักเรียนของโลกใบนี้

เท่าที่เล่ามา คุณรู้สึกไหมว่าการเป็นครูแบกรับความคาดหวังต่างๆ ไว้มากเหมือนกันนะ

ล่าสุดในทวิตเตอร์เราเปลี่ยนชื่อแอคเคาต์เป็น Student of the World แล้วนะ เพราะรู้สึกว่าฉันไม่เห็นต้องมานั่งแบกอะไรเลย ฉันก็เป็นนักเรียนคนหนึ่งของโลกใบนี้ แล้วก็ปรับความเป็นส่วนตัวในทวิตเตอร์ที่มีคนติดตามอยู่ล้านกว่าคนให้เป็น Private 

ต้องยอมรับว่าประเทศเรามีการตีกรอบคนเยอะมาก สมมติว่าเป็นหมอต้องไม่กินเหล้าสูบบุหรี่ เป็นครูหรือติวเตอร์ต้องเป็นคนดี แต่หยุด! ฉันเป็นมนุษย์เหมือนกัน ฉันก็เป็นมนุษย์ที่มีโกรธ มีพลาด มีเรื่องที่ไม่รู้อยู่ แต่ฉันพยายามและอยากเป็นคนที่ดีขึ้น อย่าตีกรอบกันเลย ต้องยอมรับก่อนว่า ความคิดแบบนี้เราอาจได้มาจากเมืองนอกที่ครูก็มีหลายแบบ สูบบุหรี่ เห้ย ครูก็ดูเปรี้ยว มีรอยสักเต็มตัว ครูก็เป็นมนุษย์นะ

ครูลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์ ครูผู้นิยามตัวเป็นนักเรียนของโลกใบนี้ที่มีพลาด มีเรื่องที่ไม่รู้

การมองโลกแบบเปิดกว้างที่ได้รับมาจากการเรียนในต่างประเทศ เป็นสาเหตุที่คุณหยิบวัฒนธรรมที่ส่งเสริม Critical Thinking มาใช้ผ่านรายการ ถกถาม ด้วยใช่ไหม

มาก (เน้นเสียง) เพราะรู้สึกว่ามันไม่มีพื้นที่นี้ มันมีน้อยเกินไปกับโลกสมัยนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ลองคิดกันดูว่า เราเคยถกถาม ถกถามนะไม่ใช่ถกเถียง หรือแลกเปลี่ยนความเห็นแบบใช้ความคิดเชิงวิเคราะห์ พูดข้อมูลของเราและเถียงกันบนหลักของเหตุผล บวกกับการมีความเห็นใจกันและมีความเคารพกันครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ในประเทศนี้

คิดไม่ออกเลย

ทุกบทเรียนมันดูน้อยไปหมดเลย มันไม่มีแม้แต่ให้เราคุยกันว่า ทำไมเราต้องเรียนภาษาอังกฤษ หนูว่ายังไง หรือทำไมต้องไปโรงเรียน มันมีแต่ข้อมูลๆ แม้กระทั่งที่บ้าน ค่านิยมการคุยกันยังน้อยเลย ใช่หรือเปล่า 

แล้วจากการที่เราได้ไปเมืองนอก ซึ่งยอมรับว่าอาจจะพูดไม่ได้มาก เพราะเราก็เคยไปแค่สองที่ คือเยอรมนีตอนเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน กับที่อังกฤษ แต่เราได้เห็นว่าคนเขากล้าจังเลย พูดไม่หยุด พูดมาก่อน ผิดถูกช่างมัน แล้วก็แชร์กัน ซึ่งมนุษย์เราก็ควรต้องเป็นอย่างนั้นไหม แต่ที่บ้านเราคือไม่มี

บวกกับสื่อบ้านเราไม่ค่อยทำรายการแบบที่เอาคนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แล้วก็สร้างค่านิยมให้คนถกเถียงกันด้วยเหตุผล หรือบางทีสื่อที่ทำคนก็ไม่ดูเพราะว่าไม่ Mass แต่พอสื่อที่คนดูเยอะก็ไม่ทำ 

คุณคิดว่าสื่อมีความสำคัญต่อการสร้างวัฒนธรรมการถกถามมากแค่ไหน

ลูกกอล์ฟรู้สึกว่าสื่อมีความสำคัญมากนะ แต่คนที่เป็นสื่อกลับทำให้บ้านเมืองเละเทะมากเลย เพราะมันเป็นเรื่องของเรตติ้งและเงินทั้งนั้น ไม่อย่างนั้นเราจะผลิตข่าวประสาทแดกมาทำไม ไปคิดเอาเองว่ามีกี่ข่าว แล้วเราได้ประโยชน์อะไรจากมัน จนสร้างความบิดเบี้ยวในสังคมไปหมด

ถ้าวันหนึ่งสังคมไทยมีบรรยากาศของการที่จะถกถามกันได้จะเกิดประโยชน์อะไรบ้าง

ถ้าเคยดูรายการ ถกถาม จะเห็นว่ารายการนี้เปิดโอกาสให้คนบ้ง (ผิดพลาด) ได้ มันชัดเจนมาก บางเรื่องลูกกอล์ฟก็ไม่รู้ บางเรื่องคนที่มาก็ไม่รู้ แล้วก็ไม่ต้องมีใครเป็นพิธีกร ต่างคนก็แสดงความคิดเห็นกัน

คุณกำลังแสดงให้เห็นว่า ครูหรือใครๆ ก็ไม่รู้ได้เท่ากัน

ใช่ มันชัดมาก ทำไมเราจะพลาดไม่ได้ ขนาดในรายการ ถกถาม ตอน LGBTQ มีคนถามว่า Q ย่อมาจากอะไร เราก็บอกว่า เราเข้าใจว่า Queer แล้วก็มีคนคอมเมนต์เข้ามาว่า ครูลูกกอล์ฟไม่รู้ได้ยังไง มันไม่รู้ได้เว้ย เพราะต่อให้ฉันเป็น LGBTQ มันก็มีบางเรื่องที่ฉันไม่รู้เกี่ยวกับตัวฉันได้ 

มันต้องเปิดโอกาสให้คนพลาดได้ และนี่คือแบบจำลองที่ดี เพราะเวลาที่เราเรียกให้คนมาคุยในรายการ เราไม่ได้ให้เขาทำการบ้านก่อน โจทย์ของรายการคือ ‘ไม่ได้ให้ทุกคนมาอวดฉลาด’

เราอยากให้เหมือนเป็นคนในครอบครัวมาคุยกัน แล้วอยู่ดีๆ ลูกก็ถามอะไรขึ้นมา จึงเป็นที่มาว่าเราไม่มีพิธีกร เราจะมีแค่ Topic แล้วให้คนห้าคนมาพร้อมกับคำถามคนละสามถึงห้าข้อ แล้วก็โยนคำถามไปตรงกลางโดยไม่ต้องเตรียมตัวหาข้อมูลกันมาก่อน เราอยากให้แสดงความคิด ณ ตอนนั้นเลย ทุกคนไม่รู้ได้ บ้งได้ พลาดได้ พอเราคุยกันเราก็ได้เรียนรู้ เพราะฉะนั้น บ้งไปเหอะ (เน้นเสียง)

ลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์ ครูผู้นิยามตัวเป็นนักเรียนของโลกใบนี้ที่มีพลาด มีเรื่องที่ไม่รู้

ตรงกับชื่อ Student of the World ของคุณเลยนะ ที่เราต่างคนก็ต่างเป็นผู้ที่ต้องเรียนรู้บนโลกใบนี้

ใช่ ลูกกอล์ฟเพิ่งดูซีรีส์เยอรมนีที่ชื่อว่า Dark แล้วมีคำกล่าวหนึ่งที่เป็นหลักของเรื่อง ซึ่งมันเหมือนเป็นการตบหน้าทุกคน และนำมาสู่การตกตะกอนของการเปลี่ยนชื่อครั้งใหญ่นี้ นั่นคือ “What we know is a drop, what we don’t know is an ocean.” (สิ่งที่เรารู้เป็นเพียงหยดน้ำ สิ่งที่เราไม่รู้คือมหาสมุทร) และมีคนบอกว่า ‘ว่ากันว่า’ คำกล่าวนี้เป็นของไอแซก นิวตัน

พอลงท้ายแบบนี้ มันก็เลยกลายเป็นคำกล่าวที่เราอยากไปค้นคว้าเพิ่มว่าตกลงเป็นของใคร เห็นไหม ตอนแรกค้นก็เจอว่า ไอแซก นิวตัน กล่าว แต่เราเกิดไม่ทัน เราก็พิมพ์หาต่อ หลายข้อมูลที่เจอก็บอกว่าไม่มีข้อพิสูจน์นะ แต่คำกล่าวนี้มักจะบอกว่า น่าจะมาจากไอแซก นิวตัน มันเลยเป็นคำที่ตบหน้าเราจริงๆ 

ไม่ผิดเลยที่สิ่งที่รู้วันนี้ ที่เราคิดว่ารู้มาก มันเป็นเพียงแค่หยดน้ำ แล้วสิ่งที่เราไม่รู้ล่ะ คำกล่าวนี้ใช้ได้กับทุกเรื่องจริงๆ นะ

03

หนึ่งคนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

สำหรับในด้านการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่ม Little Big Green ของคุณก่อตั้งมาได้ปีกว่าแล้ว ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ตอนนี้ Little Big Green ได้เปิดตัวเป็นบริษัทแล้ว มีโปรเจกต์มากมายที่อยากให้ไปติดตามกันในเฟซบุ๊ก Little Big Green จะเห็นสิ่งที่เราทำในระหว่างทางปีกว่าๆ เรามีการสร้างภาคีที่เรียกว่า Earth Tone ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรสีเขียวมากมายในประเทศ เหมือนเป็นเฉดสีเขียวหลากหลายเฉดมารวมตัวกัน ก็ทำให้การทำงานดีขึ้น

แต่ตอนนี้เป็นช่วง COVID-19 ที่เราเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ แล้วก็แอบรู้สึกลำบากใจเหมือนกันนะว่าเดินทางครั้งเดียวสร้างขยะพลาสติกเยอะมาก เยอะกว่าทั้งชีวิต

ในสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างนี้ เราควรต้องทำอย่างไร

ยิ่งต้องเห็นความสำคัญของช่วงที่เราลดขยะพลาสติกลงได้ เพราะมันมีบางเวลาที่เราทำไม่ได้ เช่น ตอนนี้ลูกกอล์ฟติดอยู่ในสถานกักตัว เราก็รีเควสอะไรไม่ได้ น้ำดื่มก็ต้องมาเป็นพลาสติก ทุกอย่างที่เป็นอาหารต้องห่อพลาสติก เพื่อป้องกันการสัมผัสและเป็นไปตามมาตรการ

จากวันแรกๆ ที่ทำงานด้านนี้ คุณออกตัวว่าตัวเองยังเป็นเฉดสีเขียวอ่อน วันนี้ดูคุณเป็นเฉดสีที่เข้มขึ้นมากเลยนะ

เราว่าต้นไม้ทุกต้นที่ได้รับการดูแลก็จะดีขึ้นนะ ในแง่ส่วนตัวเราก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะเหมือนกัน ตอนนี้เรามาถึงขั้นที่เริ่มตัดสิ่ง Overconsumption แล้ว เริ่มใส่เสื้อผ้าวนแล้ว เพราะว่าลูปที่ซื้อมาทั้งชีวิตมันใหญ่มากพอแล้ว แต่การทำแบบนี้ก็ส่งผลเยอะนะ การที่เราหยุดซื้อเสื้อผ้า หมายถึงว่าต้องหยุดอุดหนุนเพื่อนหลายคน ซึ่งบางครั้งเราเป็นท่อน้ำเลี้ยงของร้าน แต่เราก็ต้องขอโทษจริงๆ

ถ้าจะมีการซื้อก็ต้องเป็นของมือสอง หรือไม่ก็ตัดเสื้อผ้าใส่เองโดยเลือกผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เป็นผ้าทดใหม่ ต้องเป็นผ้าที่เหลืออยู่ในโลกนี้ เราทำมาได้สักพักแล้ว มันมีความละเอียดอ่อนเยอะขึ้น เราพยายามจะไม่สร้างวัตถุดิบใหม่ เราอยากตัดตรงนี้ออกไปให้เยอะ 

ตอนนี้เราอาจไม่ได้หยุดซื้อไปร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ตัดไปแปดสิบถึงเก้าสิบเปอร์เซ็นค์ก็ถือว่าเยอะแล้ว แต่ก่อนเสื้อผ้าใส่ซ้ำไม่ได้ ตอนนี้คือใส่ซ้ำไปเถอะ ใครที่อ่านถึงท่อนนี้อยากบอกว่า สำหรับคนที่มีเสื้อผ้าเยอะ อยากให้คิดว่าตอนนี้เราขาดเหลืออะไร เสื้อผ้าที่ซื้อมาตลอดสามสี่ปี หรือห้าปี มันใช้ได้ทั้งชีวิตแล้วนะ

ลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์ ครูผู้นิยามตัวเป็นนักเรียนของโลกใบนี้ที่มีพลาด มีเรื่องที่ไม่รู้

หลายคนอาจมองว่าทำอย่างคุณได้ยากเหมือนกันนะ ในฐานะที่คุณก็เป็นแบบอย่างในการรักษาสิ่งแวดล้อม อยากบอกอะไร

เราเป็นคนหนึ่งที่อยากให้คนทำตามแล้วเดินไปด้วยกันดีกว่า ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่า เวลาที่เราจะทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อม เราต้องทำให้มันได้จริง อันไหนที่เราทำได้ก็ต้องทำ มันยากมากเลยนะที่เราจะใช้ชีวิตแบบ Zero-waste หรือตัดทุกอย่างออกไป 

ถ้าพูดตามตรง เราก็ยังทำงานอยู่ มีคนที่ต้องดูแล มีคนที่ขายงานให้เรา มีการทำงานกับลูกค้าในบางโปรเจกต์ สุดท้ายเราก็กลายเป็นผู้บริโภคแล้วก็เป็นผู้ผลิตด้วย ตอนนี้ที่โรงเรียนลูกกอล์ฟก็เปลี่ยน เวลาส่งของต้องใช้แพ็กเกจจิ้งที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เมื่อไม่นานมานี้ คุณได้ร่วมโปรเจกต์กับ SOS EARTH และได้ลงพื้นที่เก็บขยะในคลองลาดพร้าว ได้ไปเห็นสภาพจริงว่ายังมีขยะพลาสติกและขยะต่างๆ ในคลองมากมายมหาศาล คุณรู้สึกอย่างไร

ทำให้รู้ว่าเราต้องมีเสียงที่ดังขึ้น และการเดินทางมันไม่มีวันสิ้นสุด ความรู้สึกก็มีทั้งสิ้นหวังและมีหวัง สิ้นหวังก็เพราะรู้สึกว่าขยะเยอะจังเลย ไม่มีทางแก้ได้เลย มีหวังคือคนตระหนักจากแต่ก่อน แต่ก็ยังไม่พอ เรารู้สึกว่ามันสำคัญมากจริงๆ ที่เราต้องรีบหาทางออกเรื่องการเมืองได้แล้ว ประเทศอื่นๆ เขาไปประเด็นอื่นกันแล้ว เรายังติดอยู่ที่ว่าเธอรักหรือไม่รักประเทศนี้ แล้วมันไปต่อยาก

ประเด็นสิ่งแวดล้อมควรมาได้แล้ว โลกมันจะอยู่ไม่ได้แล้ว ลองไปใช้วิทยาศาสตร์ ไปดูหลักฐานที่มันเกิดขึ้น ขยะที่มันเกิดขึ้น สุดท้ายคือ มันไม่สามารถทำได้แค่ประชาชนแล้ว มันต้องไปด้วยกันทั้งหมดแล้ว ประชาชน เอกชน รัฐ นี่คือเรื่องจริง

ลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์ ครูผู้นิยามตัวเป็นนักเรียนของโลกใบนี้ที่มีพลาด มีเรื่องที่ไม่รู้
ลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์ ครูผู้นิยามตัวเป็นนักเรียนของโลกใบนี้ที่มีพลาด มีเรื่องที่ไม่รู้

ความยากของการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือการลดขยะพลาสติกในตอนนี้คืออะไร

ถ้าพูดง่ายๆ คือมันมีผลไปทั้งยวง ใช่ เราควรทำให้คนตระหนักเรื่องนี้ แต่เอาแบบนี้ดีกว่า สมมติว่ามีเวทมนตร์ทำให้หกสิบล้านคนในประเทศตื่นมาแล้วตระหนักว่าไม่ใช้หลอดพลาสติก ใช้ถุงผ้าที่มีอยู่ ทุกคนพกปิ่นโต เราลดขยะได้เยอะมาก แต่ในภาคอื่นล่ะ ภาคเอกชนที่สร้างขยะขึ้นมา คิดดูว่าเรากินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซองทำไง เห็นไหม ถ้าภาคเอกชนหรือผู้ผลิตไม่เปลี่ยน ก็ทำไม่ได้

ถามว่าภาคเอกชนจะเปลี่ยนยังไง เขาไม่เปลี่ยนหรอกถ้ารัฐบาลไม่บังคับ ลูกกอล์ฟคุยกับกลุ่ม Earth Tone ว่าต้องผลักดันเป็นกฎหมายให้ได้ว่าคนที่สร้างขยะหรือทุกคนที่ได้ประโยชน์และได้เงินจากสิ่งที่สร้างขึ้นมา ต้องเสียค่าจัดการขยะด้วย บริษัทใหญ่ๆ ทั้งหมด หรือเราทุกคนที่ได้กำไรจากมันก็ต้องรับผิดชอบขยะที่เราสร้างขึ้น

ถ้าพูดให้เห็นภาพด้วยความเป็นจริง ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก ก็แพ็กเกจจิ้งมาเป็นแบบนี้ แล้วทำไมต้องเป็นของผู้รับผิดชอบอย่างเดียวในเมื่อคุณก็ไม่มีทางเลือกให้

ตอนนี้กลายเป็นว่าภาคประชาชนกำลังตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น แล้วภาครัฐทำอะไรมากน้อยแค่ไหน

รัฐบาลมีการเคลื่อนไหวบ้าง แต่ช้า ลูกกอล์ฟคุยกับทีมงานว่ายังมีความเข้าใจผิดอยู่ เช่น กิจกรรมหรืองานที่จัดเพื่อสิ่งแวดล้อมสร้างขยะเยอะมาก คือถ้าเริ่มผิดก็จบแล้ว สมมติคุยเรื่องวันสิ่งแวดล้อมแต่ในงานมีการยิงเม็ดโฟม กลิตเตอร์ สร้างมาสคอตที่ใช้แล้วทิ้ง ทำป้ายไวนิลป้ายผ้าหรืออะไรก็ตามที่ใช้แล้วทิ้งทันที ถามหน่อยว่า ผิดแล้วไหม ลูกกอล์ฟคิดว่าการสร้างอะไรพวกนี้ บางทีมันเป็นแค่ผลงาน

04

ตัวตน

ลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์ ครูผู้นิยามตัวเป็นนักเรียนของโลกใบนี้ที่มีพลาด มีเรื่องที่ไม่รู้

เห็นคุณเขียนสรุปเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิตแต่ละช่วงเมื่อวันเกิด คุณเรียนรู้อะไรในช่วงชีวิตวัย 35 นี้บ้าง

รู้สึกว่าชีวิตก็แค่นี้เอง ยิ่งโตยิ่งรู้สึกว่าจะตายวันตายพรุ่งก็ไม่รู้ ถ้าเรายอมรับความจริงได้ มนุษย์ตายได้ค่ะทุกคน (หัวเราะ) ทำไมจะตายไม่ได้ล่ะ เพื่อนและคนรู้จักเราก็ตายไปแล้วตั้งหลายคน ยังเด็กทั้งนั้นเลย พอตายแล้วก็จบ ที่ผ่านมาไม่นับ ดังนั้น จึงสำคัญที่ปัจจุบันว่าเราจะทิ้งอะไรไว้ให้คนอื่นบ้าง แค่นี้ดีกว่า

การทำประโยชน์ให้คนอื่นทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้นไหม

มันทำให้เรารู้ว่าเราต้องทำมากกว่านี้ และเราทำเองคนเดียวไม่ได้ มนุษย์เราทุกคนต้องมีคนช่วย เรามหัศจรรย์แค่ไหน เราก็ไปคนเดียวไม่ได้ในหลายๆ เรื่อง ดังนั้น จึงเอามาประยุกต์ใช้ได้ว่า ในวันนี้เราอยากเปลี่ยนแปลงอะไรในเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก เราต้องมีคนช่วย เราต้องไปด้วยกัน การจะไปด้วยกันควรเริ่มต้นจากการเปิดบทสนทนาดีๆ ยังมีความจำเป็นอยู่

ลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์ ครูผู้นิยามตัวเป็นนักเรียนของโลกใบนี้ที่มีพลาด มีเรื่องที่ไม่รู้

รู้สึกยังไงที่วันนี้ตัวตนและเสียงของครูลูกกอล์ฟขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ในสังคมได้

จริงๆ คือเรารู้สึกดีใจที่มีคนมาติดตามนะ เวลาที่เราเดินทางเราไม่รู้หรอกว่าวันหนึ่งปลายทางจะเป็นยังไง เราก็แค่ออกเดินทาง ตอนทำโรงเรียนก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะมาไกลได้ไหม หรือจะไม่ไหวตั้งแต่ปีแรก ตอนทำรายการ English Room ก็ไม่รู้หรอกว่าจะรอดมาถึงสี่ปี หรือทำโครงการ Little Big Green หรือรายการ ถกถาม เราก็ไม่รู้ฟีดแบ็กหรอก

การใช้โซเชียลมีเดียหรือการอยู่ในวงการ เราก็ไม่รู้เช่นกัน วันนี้เราดีใจที่คนมาตาม แต่อย่าลืมว่าหลายคนที่คุณเห็นตรงนี้ก็เป็นมนุษย์เหมือนคุณนี่แหละ ในแง่นี้เราเท่ากัน เราพลาดได้เท่าคุณ กลัวได้เท่าคุณ

สำหรับคุณที่ออกมาผลักดันประเด็นสังคมในมิติต่างๆ เสมอ คิดเห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงอย่างไร 

สำหรับลูกกอล์ฟแล้ว การเปลี่ยนแปลงเริ่มได้จากที่บ้านคุณเอง วันนี้ถ้ารู้สึกว่าอยากฝึกความอดทนหรืออะไรบางอย่าง อยากให้เห็นว่ามันมีความยากแค่ไหน ให้เปลี่ยนคนในบ้านที่เห็นต่างจากเราให้ได้ ปลายทางคุณอาจจะรู้เลยว่า อาจต้องเปลี่ยนเป็นการอยู่กับเขา เพราะว่าเราเปลี่ยนเขาไม่ได้เลย

การเปลี่ยนใครสักคนให้ได้เป็นเรื่องยากมาก กับคนในบ้านเรายังทำไม่ได้เลย แล้วคนอื่นที่เขาไม่รู้จักคุณ เขาจะมาแคร์คุณเหรอ

ยกตัวอย่างง่ายๆ แค่ให้ป๊ะป๋ารักเราได้ยังใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี เราก็ไม่เคยหยุดเรียกร้องให้พ่อรักเราให้ได้ เราไม่หยุด เราเรียกร้องทุกวัน แต่เราไม่ได้ชนะตั้งแต่วันแรกไง เราก็ไม่สิ้นหวัง เราก็ซื่อสัตย์กับเสียงของเราอยู่เสมอ จบ เท่านี้เอง

ภาพ : LG and Friends

พบครูลูกกอล์ฟและติวเตอร์จากสถาบันกวดวิชาชื่อดังระดับประเทศ ทั้งครูพี่วิน พี่ยู ครูอาร์ม ครูพี่หวาย พี่เอ๋ พี่ภูมิ พี่เฟรนด์ ครูพี่หมอโอ๋ พี่ปั้น พี่โหน่ง พี่เต้ย พี่ฟาร์ม พี่เคน ดร.พี่เบียร์ และ ดร.พี่บิ๊ก ที่จะมาถ่ายทอดเนื้อหา O-NET GAT PAT วิชาสามัญ และวิชาแนะแนวอาชีพ รวมทั้งเทคนิคการทำข้อสอบ TCAS64 อย่างเข้มข้น เพื่อมอบความรู้ให้น้องๆ นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการศึกษาต่อได้สำเร็จ 

ในโครงการ ‘สหพัฒน์แอดมิชชั่น’ ทบทวนความรู้สู่มหาวิทยาลัย ครั้งที่ 23 ติวเข้มออนไลน์ ‘Live Streaming Class ติวฟรีแบบใหม่ อยู่ไหนก็ติวได้’ จัดโดย บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผลิตภัณฑ์ มาม่า บิสชิน มองต์เฟลอ และริชเชส

น้องๆ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่สนใจติวเข้มออนไลน์รูปแบบใหม่ เก็บทุกเม็ดติดต่อกัน 6 วันเต็ม ลงทะเบียนได้ทาง www.sahapatadmission.com การติวออนไลน์เริ่มแล้วตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2563 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Fanpage : Sahapat Admission หรือ โทร. 06 4163 3449, 06 4836 3990

Writer

Avatar

เชิญพร คงมา

อดีตเด็กยอดนักอ่านประจำโรงเรียน ชอบอ่านพอๆ กับชอบเขียน สนุกกับการเล่าเรื่องราวรักการเที่ยวเล่น ติดชิมของอร่อย และสนใจธรรมะ