รถโดยสารจอดให้ลงฝั่งตรงข้ามของคริสตจักรไมตรีจิต เราเดินต่อไปเพียงไม่กี่ก้าวก็เห็นป้ายซอยนานาตั้งเด่นอยู่หน้าที่ทำการไปรษณีย์ไทย 

เรานัดพบกับนักวาดภาพเมือง หลุยส์-ศุภชัย วงศ์นพดลเดชา หรือที่รู้จักกันในนาม Louis Sketcher เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือเล่มใหม่ที่เพิ่งออกมาได้ไม่นานอย่าง ‘Bangkok Shophouses – ตึกแถวกรุงเทพฯ และชีวิตชาวย่าน’ ซึ่งอาคารร้าน Wallflowers Cafe ที่เรากำลังจะไปนั่งพูดคุยกัน ก็ถูกบันทึกอยู่ในหนังสือรวมภาพสีน้ำเล่มนี้ด้วย

ท่ามกลางตึกเก่าและชาวย่านที่กำลังเริ่มต้นวันทำงาน เรามองเห็นชายคนหนึ่งนั่งไขว่ห้างอยู่บนเก้าอี้หน้าประตูบ้านที่ปิดสนิท แวบแรกเราคิดว่าเขาคงจะเป็นเจ้าของบ้านที่มานั่งสูดอากาศยามเช้า แต่เมื่อเดินเข้าไปใกล้ขึ้น จึงเห็นว่ามือข้างหนึ่งของเขากำลังประคองไอแพดที่เปิดโปรแกรมวาดภาพเอาไว้ และมืออีกข้างก็จรดปากกาสร้างลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์

ชายคนนั้นเงยหน้าขึ้นลงระหว่างแบบกับภาพร่าง เราไม่กล้าเข้าไปรบกวนสมาธิจนใกล้ถึงเวลาพูดคุย หลุยส์จึงลุกจากเก้าอี้ตามคำเชิญชวนของเราเข้าไปในร้าน และเริ่มเล่าการเดินทางของหนังสือเล่มใหม่นี้ให้ฟัง

'Bangkok Shophouses' บันทึกตึกเก่าและชีวิตชาวย่านผ่านหนังสือสีน้ำของ Louis Sketcher
'Bangkok Shophouses' บันทึกตึกเก่าและชีวิตชาวย่านผ่านหนังสือสีน้ำของ Louis Sketcher

01
Moments

Bangkok Shophouses ถือเป็นหนังสือรวมผลงานเล่มที่ 2 ของหลุยส์ เพราะก่อนหน้านี้เขาเคยออกหนังสือเรื่อง ‘Moments in Bangkok’ มาก่อนแล้วใน พ.ศ. 2562 โดยใช้ประสบการณ์จากการเดินวาดภาพเล่นกว่า 6 ปี (พ.ศ. 2555 – 2561) มารวบรวมเป็นไดอารี่ บันทึกช่วงเวลาอันหลากหลายในกรุงเทพมหานคร

ความแตกต่างระหว่างหนังสือทั้งสองเล่มคือ Moments in Bangkok เป็นการสเก็ตช์ภาพเมืองกรุงมีตั้งแต่สตาร์บัคส์ในสยามสแควร์วัน การนั่งเรือด่วนเจ้าพระยา ไปจนถึงพระราชวังพญาไท และชั่วโมงรถติดที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ขณะโมเมนต์ในเมืองหลวงมีทั้งช่วงเร่งรีบและผ่อนคลาย หนังสือ Bangkok Shophouse กลับนำเสนอภาพอีกมุมของกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยอดีตและความทรงจำ ผ่านลายเส้นที่ให้ความรู้สึกเนิบช้า ละมุน อบอุ่น และคิดถึงอย่างน่าประหลาด

'Bangkok Shophouses' บันทึกตึกเก่าและชีวิตชาวย่านผ่านหนังสือสีน้ำของ Louis Sketcher

“เราเริ่มวาดภาพจริง ๆ ตอนปี 4 ตอนนี้ก็ 9 ปีแล้ว โห! 9 ปีแล้วหรอ!?” เขาทำหน้าเหลือเชื่อก่อนจะเล่าต่อ

“แต่ที่มาทำเป็นงานวาดรูปอย่างเดียว ปีนี้น่าจะปีที่ 5 เพราะก่อนหน้านี้เป็นสถาปนิก งานอดิเรกของเราคือการเดินวาดรูปในเมือง มันก็จะเห็นว่ามีตึกแถวสวย ๆ อยู่ เริ่มจากที่เราชอบ อยากจะวาด แต่ถ้าวาดเป็นวิวทิวทัศน์อาจจะเก็บรายละเอียดได้ไม่มาก เราอยากจะวาดปูนปั้น ช่องแสงต่าง ๆ จึงค่อย ๆ สะสมมา เห็นเยอะก็อยากรวบรวมให้เป็นหมวดหมู่ ประกอบกับไม่ค่อยมีคนทำจึงเกิดเป็นหนังสือเล่มนี้”

ตั้งแต่ออกหนังสือเล่มแรก หลุยส์ก็มีความคิดจะทำโปรเจกต์นี้แล้ว อาคารในคลังของเขาเพิ่มพูนกว่าแต่ก่อนมาก ยิ่งได้แรงบันดาลใจจากศิลปินสีน้ำชาวโปแลนด์ในประเทศญี่ปุ่นอย่าง Mateusz Urbanowicz ผู้สะบัดแปรงบันทึกภาพตึกรามบ้านช่องได้อย่างละเอียดงดงามในหนังสือ ‘Tokyo Storefront’ ยิ่งทำให้แพสชันของเด็กสถาปัตย์คนนี้พุ่งขึ้นจนฉุดไม่อยู่

เบื้องหลังหนังสือเล่มใหม่ของนักวาดภาพเมือง ‘Louis Sketcher’ ที่บันทึกตึกเก่าด้วยสีน้ำ และเล่าความทรงจำผ่านตัวอักษร

“เสน่ห์ของเมืองเก่าคือความเป็นท้องถิ่นของพื้นที่นั้น ๆ ทำให้เห็นวิถีชีวิตที่เก่ากว่าในเมืองสมัยใหม่ เป็นชีวิตที่เราคุ้นเคย ให้อารมณ์ Nostalgic และตัวตึกก็มีความทรงจำ เข้าถึงได้ง่าย เป็นมิตร การเรียนสถาปัตย์ทำให้เราชอบรายละเอียดของตัวตึก เห็นแล้วจะตั้งคำถามว่านี่มันสร้างปีอะไร เป็นศิลปะของยุคสมัยไหน จนเรารู้สึกว่าเมืองที่มีบรรยากาศแบบเก่าก็น่ารักดี ประกอบกับชีวิตชีวาในแถวนั้น มีร้านอาหาร มีแกลเลอรี่ โรงเรียน คาเฟ่ รวมกันแล้วมันมีเสน่ห์”

หลุยส์คัดเลือกตึกจากความชอบ จากนั้นจึงแบ่งเป็นย่าน โดยพยายามให้ครอบคลุมที่สุด เขาถึงขั้นซื้อแผนที่กรุงเทพฯ มาเพื่อปักหมุดสถานที่ที่คัดเลือกเอาไว้แล้ว

“มันมีกระจุกบ้าง เพราะเมืองชั้นในจะมีตึกเก่าเยอะ ถ้าตรงไหนยังโล่ง เราก็จะไปสำรวจดูว่ามีอะไรมาเติมได้ไหม ตึกหนึ่ง ย่านหนึ่งจะไม่ค่อยซ้ำ แต่สมัยก่อนจะวาดเยาวราชทั้งแถวเลยนะ แต่เก็บเอาไว้ก่อน อาจจะเป็น Side Project ในอนาคต”

ขณะที่เขาเริ่มเล่า ตึกด้านข้างก็มีเสียงเลื่อยไฟฟ้าดังแทรกเข้ามาจนเราชะงัก เมื่อหันไปมองจึงเห็นชาวย่านกำลังหั่นน้ำแข็งอย่างขยันขันแข็งอยู่ข้าง ๆ ห่างไม่เกิน 3 เมตร หลุยส์บอกว่า แบบนี้เรียลมาก แต่ถึงจะเสียงดังก็หยุดความสนุกของเบื้องหลังหนังสือเล่มนี้ไม่ได้

02
Methods

เบื้องหลังหนังสือเล่มใหม่ของนักวาดภาพเมือง ‘Louis Sketcher’ ที่บันทึกตึกเก่าด้วยสีน้ำ และเล่าความทรงจำผ่านตัวอักษร

“อันนี้คือดัมมี่-แบบร่างครับ” หลุยส์หยิบกองกระดาษหลากหลายไซส์ขึ้นมาวางบนโต๊ะ กระดาษสีขาวแผนใหญ่ที่สุดมีภาพร่างขนาดเท่าหนังสือเล่มจริง รอยดินสอสีและรอยดินสอตวัดไปมาพอให้เจ้าตัวรู้ว่าจะจัดวางองค์ประกอบของหน้าหนังสืออย่างไร ส่วนกระดาษปอนด์แผ่นเล็กสีเหลืองนวลทำหน้าที่ต่างกัน เพราะนั่นคือภาพตึกที่วาดขึ้นด้วยสีน้ำ พู่กัน และดินสอของจริง ก่อนจะถูกนำมาสแกนย่อ-ขยายลงไปตอนจัดหน้า

หลุยส์เริ่มคิดก่อนว่า เขาจะเดินทางไปยังย่านใดบ้าง โดยคิดจากภาพกว้างแล้วจึงตีกรอบให้เล็กลง เพื่อให้การเดินทางเก็บข้อมูลของเขาง่ายขึ้น เดิมทีเขาอยากจะเก็บภาพย่านเก่าทั่วกรุงเทพฯ ให้ครบ จากพระนครยาวไปถึงสยาม สีลม ทองหล่อ อ่อนนุช แต่ก็เกรงว่าหนังสือคงจะเสร็จประมาณ พ.ศ. 2600 เขาจึงเลือกเพียงแค่ย่านเก่าฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีก่อน

“เราใช้ระบบเดินสำรวจตามสถานที่จริง ถ่ายภาพ กิน ๆ ๆ ๆ และนำรูปกลับมาวาดที่บ้าน นั่งวาดในห้องแอร์ ไม่ได้ไปตรงนั้นและนั่งวาด จะไม่เหมือนเล่มก่อนที่สเก็ตช์ในที่จริง รายละเอียดจึงต่างกันแบบคนละเรื่อง เล่มนี้ละเอียดกว่ามาก”

เราเปิดหนังสือตามไปพร้อมฟังคำอธิบายจากเจ้าของผลงาน ความละเอียดนั้นราวกับผู้อ่านได้ไปยืนอยู่หน้าตึกในช่วงเวลาที่เขาวาดด้วย

ม้วนผ้าเรียงรายอยู่หน้าร้านค้าโดยมีเชือกเส้นเล็กผูกไว้ไม่ให้ล้มเกลื่อนถนน นั่นคือร้านอุษา ส่าหรี เซ็นเตอร์ แห่งย่านพาหุรัด

เพลาล้อ ยางรถยนต์ เศษเหล็ก และอะไหล่เชียงกงกองพะเนิน นั่นคือชุมชนตลาดน้อย

ป้ายไฟสีแดง-เขียวละลานตา ตักอักษรจีนลอยฟ้าเหนือร้านค้าสตรีทฟู้ดเจ้าเก่า นั่นคือย่านเยาวราช

เสื้อผ้าแขวนบนราวเรียงรายอยู่ตามทาง สลับกับร้านขายยา และร้านอาหารอันหลากหลาย นั่นคือตลาดวังหลังแห่งฝั่งธนบุรี

ผู้คนใส่หน้ากากอนามัยสะท้อนชีวิตช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด คือสิ่งที่หลุยส์ชั่งใจว่าจะใส่หรือไม่ เพราะในบางภาพ เขาก็ตัดสินใจไม่วาดผ้าปิดปาก เพื่อระลึกถึงคืนวันอันสดใสและวุ่นวาย เช่น ถนนข้าวสารที่เคยครื้นเคร้งกว่าในปัจจุบัน

เบื้องหลังหนังสือเล่มใหม่ของนักวาดภาพเมือง ‘Louis Sketcher’ ที่บันทึกตึกเก่าด้วยสีน้ำ และเล่าความทรงจำผ่านตัวอักษร

“มีบางโมเมนต์ที่ถ่ายไม่ทันก็เติมเข้าไปเองบ้าง เช่น เรือ รถเข็น รถสามล้อ แอบเหมือนทำธีสิส เพราะในช่วงท้ายของหนังสือ เราใส่รูปแบบสถาปัตยกรรมไปด้วยแบบคร่าว ๆ เป็นชื่อเรียกรวม ๆ นะ เพราะตึกแถวในไทยแบ่งอย่างชัดเจนยาก เรารีเสิร์ชเยอะ และให้รุ่นน้องที่เชี่ยวชาญช่วยตรวจ”

เราพลิกไปที่ด้านหลังของเล่มจนพบหัวข้อ Shophouse Styles ซึ่งจะบอกลักษณะตึกแถวในแต่ละรัชสมัยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 – 7 พร้อมตัวอย่างภาพและที่ตั้งของตึกแต่ละแบบว่าหาดูได้ที่ไหน ตรงนี้ทำให้เราได้ลองประมาณเล่น ๆ ว่า ตึกแถวที่เราเติบโตมาน่าจะเป็นสถาปัตยกรรมประมาณรัชกาลที่ 5 แต่อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการแบ่งแบบคร่าว ๆ เท่านั้น

หลังนอกเรื่องคุยถึงบ้านของตัวเอง หลุยส์ก็เล่าถึงทีมงานของเขาต่อ รวมแล้วหนังสือเล่มนี้มีทีมงานทั้งหมด 3 คน ได้แก่หลุยส์ รับหน้าที่ดูแลเนื้อหา วาดภาพ เรียบเรียง และออกแบบรูปเล่ม พัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน รับหน้าที่บรรณาธิการ และ คุณัชญ์ ชวนพิพัฒน์พงศ์ รับหน้าที่ผู้แปลภาษาอังกฤษ

“เราว่ามันเป็นเรื่องที่คนต่างชาติเองก็อยากรู้ เรามองไปถึงว่ามันจะวางขายตามสนามบิน เหมือนเปิดประตูให้คนรู้จักหน้าตาของกรุงเทพฯ มีออเดอร์ของต่างประเทศเยอะเหมือนกัน”

นอกจากเนื้อหาที่อัดแน่นด้วยเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของชาวย่าน ซึ่งแขกจากต่างประเทศที่มาเยือนย่อมมีโอกาสได้สัมผัสของจริง ลายเส้นและการลงสีของหลุยส์ก็เป็นที่ชื่นชอบของคนหลากหลายกลุ่มเช่นกัน

เบื้องหลังหนังสือเล่มใหม่ของนักวาดภาพเมือง ‘Louis Sketcher’ ที่บันทึกตึกเก่าด้วยสีน้ำ และเล่าความทรงจำผ่านตัวอักษร

“เทคนิควิธีการวาดเมืองเก่ากับทิวทัศน์เมืองทั่วไปก็คล้าย ๆ กัน สังเกตและเขียนด้วยรูปร่างรูปทรง แต่การเปลี่ยน Subject จะเปลี่ยนอารมณ์ อุปกรณ์ก็เปลี่ยน ในหนังสือเล่มนี้จะเป็นปากกาหัวพู่กัน เส้นจะไม่สม่ำเสมอ สีน้ำจะได้อารมณ์ระหว่างทำ นอกจากนี้ก็มีใช้ดินสอ EE ที่ให้อารมณ์นุ่มกว่า ถ้าเป็น Landscape เราจะใช้ดินสอ ตึกจะใช้พู่กัน มันทำให้เรากลับไปชอบงานดินสอด้วย เพราะพิมพ์ออกมาแล้วนุ่มกำลังดี เทากำลังสวย บางทีงานปากกาจะรู้สึกสีตึ้บไปหน่อย”

เราถามเขาต่อว่าทำไมถึงไม่ใช้โปรแกรมวาด เพราะเห็นเขาพกไอแพดมาด้วยในวันนี้

“โปรแกรมในปัจจุบันก็วาดได้ แต่เรา Appreciate งานมือที่สุด และมันออกมามีชีวิต สัมผัสพู่กันกับการลงปากกาในโปรแกรมมันเทียบกันไม่ได้ แค่สะดวกสบายขึ้น ก็ต้องดูแล้วแต่งานไปว่าวันนี้เราจะไปไหนและวาดอะไร”

เขาหยิบดัมมี่ขึ้นมาเปิดให้เราดูอีกครั้ง พร้อมอธิบายถึงการจัดเรียงว่า ก่อนหน้านี้คิดจะย่อขนาดอาคารลง เพื่อใส่หลายอาคารในหนึ่งหน้า แต่พอมองแล้วกลับรู้สึกแน่นเกินไปจึงเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ส่วนลายเส้นที่เห็นบนกระดาษดัมมี่ก็เกิดจากการใช้สีไม้ร่างตึกไว้ก่อนเพื่อดูการจัดเรียง

“งานพิมพ์ทำกี่ครั้งก็เหมือนเรียนใหม่ทุกรอบ (หัวเราะ) แก้เยอะมากครับ ทำดัมมี่อย่างเดียวน่าจะ 1 ปี เพราะทำหนังสือด้วย ทำงานด้วย สอนด้วย พอโควิด-19 ระบาดรอบแรก งานยุ่ง ๆ ก็หายไปจนได้มาทำหนังสือ ช่วงวาดจริง 1 หน้าคู่ใช้เวลาประมาณ 1 วัน ต้องมีวินัยหนักมาก พอโควิด-19 รอบ 2 ก็พัก ๆ ไป ค่อยกลับมาทำ ตอนจบบทแรก (บทพระนคร) แอบพักไป 2 – 3 เดือน ประมาณครึ่งเล่มคือช่วงที่ท้อที่สุด แต่เราก็ทำเพื่อให้ทุกวันงานเดินต่อได้ เราอยากเห็นหนังสือเล่มนี้ออกมา เอาจริง ๆ อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดคือตัวของเราเองว่า เราจะรักษาวินัยได้มากแค่ไหน”

หลังฝ่าฟันจนทำดัมมี่เสร็จเรียบร้อย ศิลปินก็ได้เวลาสะบัดแปรงสร้างงานจริง โดยช่วงที่เขาวาดภาพตึกและอาคารในย่านเก่า เขาจะปล่อยใจให้ลื่นไหลไปกับอารมณ์ ณ ช่วงเวลานั้น ไม่คิดอะไรในหัวจนมีเวลาสังเกตรายละเอียดบนภาพที่ไม่เคยมองเห็น

เบื้องหลังหนังสือเล่มใหม่ของนักวาดภาพเมือง ‘Louis Sketcher’ ที่บันทึกตึกเก่าด้วยสีน้ำ และเล่าความทรงจำผ่านตัวอักษร

“สำหรับเนื้อหา เราเป็นคนไม่ค่อยเจ๊าะแจ๊ะ ในหนังสือเล่มนี้จึงน้อยมากที่มาจากการสัมภาษณ์ ส่วนมากเป็นการรีเสิร์ชเอา เน้นการสังเกตของเราด้วย มันจะไม่เหมือนตอนที่ทำ Moments in Bangkok ชุมชนป้อมมหากาฬ อันนั้นได้คุยกับชาวบ้าน”

เมื่อเตรียมข้อมูลและวาดภาพเสร็จแล้วจึงนำไปสแกน (ความคมชัด 300 dpi) เพื่อจัดเลย์เอาต์ครั้งสุดท้าย ซึ่งกินเวลาไปอีกประมาณ 3 เดือน หลุยส์แนะนำว่าหากวาดงานปากกา ขนาดชิ้นงานขั้นต่ำควรเท่ากับขนาดที่พิมพ์ เพื่อที่เวลาสแกน สเกลเส้นจะได้ไม่โตผิดปกติ หลังจากนั้นจึงส่งพิมพ์และส่งมอบความทรงจำของผู้เขียนสู่อ้อมกอดของผู้อ่านเป็นอันจบงาน

เบื้องหลังหนังสือเล่มใหม่ของนักวาดภาพเมือง ‘Louis Sketcher’ ที่บันทึกตึกเก่าด้วยสีน้ำ และเล่าความทรงจำผ่านตัวอักษร

03
Memories

หนุ่มจรัญฯ ผู้มีชีวิตประจำวันอยู่แถวเมืองเก่า เริ่มเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่วัดราชบพิธฯ จนเข้ามหาวิทยาลัยจึงศึกษาในสาขาสถาปัตยกรรมไทยและรู้จักวัดเยอะขึ้น ต่อมาได้เป็นนักวาดภาพเมือง (Urban Sketcher) เลยทำให้ใช้ชีวิตอยู่ละแวกย่านเก่าบ่อยกว่าก่อน ทั้งร้านหนังสือ ร้านอาหาร และร้านกาแฟประจำก็อยู่แถวนี้ เราจึงไม่แปลกใจนักหากความทรงจำที่เขาได้สัมผัสโดยตรงและโดยอ้อม จะแปรเปลี่ยนเป็นแพสชันอันแรงกล้าในการเผยแพร่อีกหลายมุมเมืองที่ผู้คนไม่เคยดื่มด่ำ

“ภาพที่เราชอบที่สุดคือตลาดน้อย ชอบที่นี่ เราเดินไปใช้ชีวิตแถวนั้นบ่อยเลยรู้สึกผูกพันกับตัวย่าน เป็นตึกที่อยากวาดมานาน งานปูนปั้นตรงนี้ (ชี้ไปที่หลังคาบ้านจีน) ค่อนข้างสมบูรณ์ มีอีกฝั่งสวยมาก แต่เราเลือกตรงนี้เพราะอยากเก็บเชียงกง ได้ข่าวว่าเขาขายเหล็กกองนี้ไปแล้ว”

เจ้าของผลงานทราบดีว่า หนังสือเล่มนี้คือบันทึกประวัติศาสตร์และความทรงจำเล่มสำคัญ เขาเริ่มเปิดไปยังตึกที่กลายเป็นเพียงความทรงจำไปแล้วจริง ๆ ให้เราดู

เบื้องหลังหนังสือเล่มใหม่ของนักวาดภาพเมือง ‘Louis Sketcher’ ที่บันทึกตึกเก่าด้วยสีน้ำ และเล่าความทรงจำผ่านตัวอักษร

“ตึกนี้ ห้างทองโซวเซ่งเฮง กันสาดตรงนี้เขารื้อไปแล้ว กลายเป็นโครงเหล็กโล้น ๆ อันนี้ (ห้างทองเซ่งซุ่นหลี) ก็รื้อแล้ว หน้าต่างถอดออก ป้ายก็รื้อลง เราชอบป้ายนี้ที่สุดในเยาวราชเลยนะ มันสวย การใช้สีก็แปลกกว่าที่อื่น เพราะห้างทองอื่นจะสีเขียว ขาว แดง แต่อันนี้สีสวย มันทำให้เรารู้ว่าในช่วงเวลาหนึ่ง ตึกแถวในกรุงเทพฯ มีหน้าตาแบบนี้ แต่ไม่ถือว่าเป็นพงศาวดาร มันคือการแคปเจอร์ช่วงเวลานั้น ๆ มาเป็นเหมือนไดอารี่”

เบื้องหลังหนังสือเล่มใหม่ของนักวาดภาพเมือง ‘Louis Sketcher’ ที่บันทึกตึกเก่าด้วยสีน้ำ และเล่าความทรงจำผ่านตัวอักษร

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ตึกที่หลุยส์วาดหลายแห่งล้มหายตายจากไปไม่ต่างจากผู้คนที่ถูกกาลเวลาชะล้าง แต่นอกจากตึกที่ถูกทุบทิ้งแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่พบคือการเปลี่ยนหน้าตาของตึก ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้เปลี่ยนไปในทางที่น่าพึงพอใจสักเท่าไหร่

“หลัง ๆ เราก็เริ่มปลง ถ้าเป็นตึกที่ชอบจะแอบเสียดาย แต่ก็เข้าใจว่าเมืองมีพลวัตที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ อยู่แล้ว ส่วนใหญ่ที่เห็นปัญหาคือ เขาจะไม่ค่อยดูแล อาจเพราะหาช่างทำงานได้ยาก เช่น งานปูนปั้น หรืองานไม้ฉลุ จะโดนรื้อหรือทุบทิ้งเยอะ ไปจนถึงเรื่องสี มันค่อนข้างสำคัญนะ เพราะเป็นโทนของเมืองเก่า พอทาใหม่ก็ไม่รู้ไปเลือก Pantone ไหน มันจะแปร่ง ๆ หน่อย แต่เราก็เชื่อว่ายังมีผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลได้อยู่ ทุกปัญหาต้องมีการพูดคุยและแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ด้วย” หลุยส์เน้นย้ำ

ถึงจะเปลี่ยนไป แต่อย่างน้อยใจช่วงเวลาที่ตึกเหล่านั้นอยู่ในสายตาของศิลปินคนนี้ เขาก็บันทึกมันเอาไว้ในหนังสือหรือภาพวาดอื่น ๆ แล้ว

“อย่างน้อย อยากให้คนที่มาอ่านหนังสือเล่มนี้รู้ว่า ของเหล่านี้มีเรื่องราว มีที่มา และมีคุณค่า การที่ตึกเหล่านี้ค่อย ๆ ตายไป หมายถึงเมืองเราอาจจะทันสมัยมากขึ้น แต่เสน่ห์มันน้อยลง นี่คือจุดของเมืองเก่าที่นักท่องเที่ยวอยากจะมาชมหรือเปล่า เพราะห้างสรรพสินค้าเขาก็มี ความทันสมัยเขาก็มี เราทันสมัยแต่มีเสน่ห์ไปด้วยกันก็ได้”

การเห็นคุณค่าของวิถีชีวิต อาคาร ตึกเก่า จำต้องอาศัยการทำงานร่วมกันทั้งระบบ หนังสือเล่มนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทำงานนั้น อย่างน้อยคนอ่านอาจได้โอกาสมองหา และมองเห็นคุณค่าของตึกเก่ามากขึ้นเช่นเดียวกับผู้เขียนหนังสือเล่มนี้

หลังจากพิชิตหนึ่งในไมล์สโตนได้อย่างน่าภาคภูมิใจแล้ว ในอนาคต นอกจากย่านเยาวราชที่เจ้าตัวชื่นชอบ เขาบอกว่าอยากจะเก็บย่านเจริญกรุง รวมถึงย่านอื่น ๆ ที่ยังมีเรื่องราวอันน่าสนใจเพิ่มเติมด้วย ซึ่งไม่รู้ว่าอะไรจะมาถึงก่อนกัน ระหว่างผลงานในอนาคตกับพื้นที่ว่างเปล่าของตึกที่เคยตั้งอยู่

เบื้องหลังหนังสือเล่มใหม่ของนักวาดภาพเมือง ‘Louis Sketcher’ ที่บันทึกตึกเก่าด้วยสีน้ำ และเล่าความทรงจำผ่านตัวอักษร

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

A.W.Y

ช่างภาพจากเชียงใหม่ที่ชอบของโบราณ ยุค 1900 - 1990