ฉันมีนัดดื่มน้ำชายามบ่าย
ไม่ใช่ในสวนกุหลาบของราชินีหัวใจผู้ร้ายกาจจาก อลิซในแดนมหัศจรรย์ (ค่อยยังชั่ว) แต่เซ็ตน้ำชาถูกตั้งรอฉันไว้ใน ‘ป่า’ โดย ปั้น-นภัสชล ตั้งนุกูลกิจ

ป่าของปั้นเต็มไปด้วยพืชนานาพันธุ์จาก 3 เขตภูมิอากาศ มีบ้างที่ชินตา อย่างเห็ด กล้วยไม้ โบตั๋น และบางดอกก็ไม่คุ้นทั้งชื่อทั้งหน้า แต่ถูกนำมารวมกันไว้ด้วยจินตนาการ
ป่าของปั้น ดอกไม้ไม่ได้ขยายพันธุ์ผ่านความช่วยเหลือของผึ้งงานผสมเกสร แต่เป็นขั้นตอนการทำงานศิลปะกับกระดาษสารพัดเทกซ์เจอร์ ตัด บิด ติด จัดช่อ รวมถึงแต่งด้วยวัสดุอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวของเธอ
ป่าของปั้นไม่ได้อยู่ห่างไกล แต่อยู่ในห้องจัดนิทรรศการเล็กๆ ภายในรั้วรอบของ The Jam Factory
ป่านี้คือนิทรรศการงานศิลปะจากกระดาษที่มีชื่อว่า Lost in Greenland

ชายป่า
คงยากจะบอกว่าจุดเริ่มต้นของความเป็นป่าอยู่ตรงไหน เราไม่อาจชี้ได้ว่าต้นไม้ต้นหนึ่งทำให้เกิดป่าฉันใด เราก็ไม่อาจชี้จุดเริ่มต้นของนิทรรศการ Lost in Greenland ได้ฉันนั้น
อาจเริ่มมาจากที่ปั้นชอบทำงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ปักผ้า ถักนิตติ้ง จัดขวดโหล ปั้นของจิ๋ว งานคราฟต์ที่เริ่มจากวิชาการงานพื้นฐานอาชีพในโรงเรียนเหล่านี้ผ่านมือเล็กๆ ของเธอมาหมดแล้ว
อาจเริ่มมาตั้งแต่วันที่เธอได้ไปช่วยรุ่นพี่ทำพร็อพให้งานแต่งงานระหว่างติวศิลปะตอนมัธยมปลาย จนได้รู้ตัวว่าอยู่กับกระดาษแล้วมีความสุขมากที่สุด
อาจเริ่มก่อตัวในวันใดวันหนึ่ง ตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่ปั้นนั่งปั้นเซรามิกสารพัดสีอย่างที่เธอชอบใจในช็อปที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แต่อาจมาเข้มข้นขึ้นเมื่อปั้นเรียนจบออกมา แล้วได้เข้าทำงานเป็นนักจัดดอกไม้ให้กับ Plant House ที่ทำให้เธอได้เห็นดอกไม้เดิมในมุมใหม่ ตั้งตูม แย้มกลีบ บาน ร่วงโรย และได้เห็นดอกไม้ใหม่ที่ไม่เคยเผยความงามตรงหน้าเธอมาก่อน
“การทำงานเป็น Florist ที่ Plant House มีผลกับนิทรรศการนี้มาก เมื่อก่อนเราชอบดอกไม้ แต่เรายังไม่ได้อินไปถึง Anatomy ของเขา แต่ตอนทำงานที่ Plant House ถ้ามีดอกไม้ที่ใช้ไม่หมด เราก็แกะออกมาทำดอกไม้แห้ง หรือมาโพรเซสทำอย่างอื่น เราเลยได้เห็นเขาในแบบอื่นนอกจากการเห็นหน้าดอกปกติ เป็นแง่มุมที่หลากหลายขึ้น ก่อนทำงานจัดดอกไม้เราอาจไม่เคยมองดอกตูม ดอกไม่สมบูรณ์ หรือดอกที่บานเกินไป แต่พอมาจัดดอกไม้เอง เราได้เห็นว่า จริงๆ เขาสวยไปหมดทุกแง่” ปั้นเล่า
ประสบการณ์การทำงานศิลปะและความหลงใหลในดอกไม้ได้หยั่งรากลงดินในหัวใจของเธอ จนวันหนึ่งที่ The Jam Factory มารดน้ำ และนำไปสู่การทาบกิ่งขยายพันธุ์ให้กลายงานนิทรรศการ ที่มีใจความหลักอยากชวนให้ผู้มาเยือนได้ลองมองดอกไม้ผ่านสายตาของปั้น และใช้เทคนิคการตัดกระดาษที่เธอถนัดมานำเสนอ


Tropical Forest
ป่าเขตร้อนแห่งสีสันและความหลากหลาย
ปั้นบอกฉันว่า เธอออกแบบนิทรรศการ Lost in Greenland ให้คนเดินผ่านพื้นที่ป่าเขตร้อนก่อน จึงไล่เรียงไปที่เขตอบอุ่น จนถึงหนาว ซึ่งฉันแอบคิดเองในใจว่า เป็นเพราะความหลงในในสีสันของเธอเป็นแน่
“คาแรกเตอร์ในการทำงานศิลปะของปั้น ตั้งแต่การทำเซรามิกจนถึงจัดดอกไม้ คือการจับคู่สี คนอื่นบอกว่า ปั้นมีคู่สีเฉพาะของตัวเองที่ดูแล้วรู้เลยว่าเป็นเราทำ ซึ่งเราเป็นคนเอนจอยกับการจัดคู่สี โดยเฉพาะสีเขียวและม่วงก่ำๆ นี่ชอบเป็นพิเศษ
“เราชอบอะไรที่สนุก ไม่ใช่ว่าเป็นดอกไม้แล้วจะหวานอย่างเดียว พี่สาวบอกว่า เราชอบอะไรประหลาดๆ ด้วยซ้ำ
“คนมักถามว่าเวลาทำงานเราเริ่มคิดจากอะไร บางชิ้นเริ่มจากสีพื้นหลังก่อน ถ้าปั้นอยากทำอะไรจะทำสิ่งนั้นก่อน แล้วค่อยเพิ่มสิ่งที่เรารู้สึกว่าเข้ากับงานนั้นไปเรื่อยๆ ปั้นเลือกจากสีที่ชอบก่อน เช่นงานนี้อยากใช้สีชมพู เอาสีชมพูมาวางก่อนแล้ว แล้วค่อยคิดว่าวางสีชมพูกับสีอะไรแล้วสวย งานมันเลยเซอร์ไพรส์เราในตอนจบทุกครั้ง บางทีก็ดีกว่าที่คิดไว้ แต่ถ้ายังไม่ใช่ เราจะเติมจนกว่าจะใช่ ทุกงานต้องสมบูรณ์สำหรับเราก่อนเสมอ”

พอได้ฟังปั้นเล่าตัวตนและวิธีการคิดงานของเธอดังนี้ เมื่อเดินเข้ามาในนิทรรศการฉันเลยไม่แปลกใจที่ได้พบกับสีสันละลานตาของดอกไม้ รวมถึงดอกไม้หน้าตาไม่ธรรมดาที่กระจายตัวอยู่ทุกมุม
“อุณหภูมิที่ต่างกันส่งผลต่อสีของดอกไม้ บางพันธุ์ขึ้นในป่าหลายเขตอากาศแต่สีไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นป่าเขตร้อนเหมือนในเมืองไทยดอกไม้จะสีค่อนข้างสด เป็น Vivid Tone ฟอร์มของเขาจะเป็นสามเหลี่ยม เป็นมุมแหลม ซึ่งเกิดจากอากาศที่ร้อน
“อย่าง Orchid (กล้วยไม้) ที่เป็นดอกไม้ไทย เราสนุกกับการต้นหาข้อมูลมาก ในงานนี้มี Monkey Orchid ชื่อนี้เพราะหน้าตาเหมือนลิง มี Spider Orchid ที่กลีบเขาเหมือนขาแมงมุม น่ารักมาก” ศิลปินสาวเล่าอย่างหลงใหล ฉันแอบสังเกตได้ว่ากล้วยไม้เหล่านี้มีคู่สีที่เธอชอบ
โซนดอกไม้ในป่าเขตร้อนนี้จึงเป็นโซนเล่าตัวตนปั้นอย่างแท้จริง

Temperate Forest
ป่าที่อบอุ่นเหมือนเทพนิยาย
เมื่อเดินทางขึ้นเหนือมาถึงพื้นที่ของป่าเขตอบอุ่นในนิทรรศการ ฉันก็สัมผัสได้ถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปผ่านดอกไม้กระดาษที่อยู่ในโซนจัดแสดง
“ในเขตอบอุ่น อากาศเย็นลง รูปฟอร์มของดอกไม้หรือต้นไม้เขาก็จะมนขึ้น เป็นเส้นกลมมน หน้าดอกมีหน้าตาน่ารัก” ปั้นเล่า เห็นได้ชัดว่าผลงานดอกไม้กระดาษในโซนนี้เป็นสีพาสเทลมากขึ้น
แม้ปั้นจะบอกกับฉันว่า เธอไม่ถนัดการทำงานสีขาวดำ แม้แต่ตอนจัดดอกไม้สีขาวเขียวก็ยังรู้สึกยากสำหรับเธอ แต่ในโซนนี้กลับมีดอกไม้สีขาวในขาว ที่เธอใช้วัสดุที่มีความโปร่งแสงต่างกัน อย่างกระดาษไข เลื่อมสี มาช่วยให้ดอกไม้ขาวดูมีมิติมากขึ้น


หรือแม้แต่การเลือกใช้สำลีเป็นวัสดุเสริมเพื่อสร้างเทกซ์เจอร์ให้กับดอกไม้จิ๋วที่อยู่รวมกันเป็นพุ่มพู่อย่าง Water Hemlock ก็เป็นจินตนาการที่ทำให้งานนั้นน่าประทับใจ
ดูเหมือนว่าเธอจะก้าวข้ามความท้าทายของตัวเองไปได้อย่างสวยงามแล้ว
นอกจากดอกไม้แล้ว ในป่าเขตอบอุ่นยังมีเจ้าเห็ดหลากหลายชนิดที่เคยซ่อนตัวอยู่ตามขอนไม้หรือโขดหิน แต่ปั้นก็นำพวกมันออกมาจัดแสดงด้วย
“เห็ดเองก็มีความน่าสนใจ ตอนแรกเราชอบเพราะให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในเทพนิยาย แต่เมื่อเราค้นหาข้อมูลไปก็จะพบว่า เห็ดสีแดงจุดเหลืองที่เราเห็นกันคุ้นเคยจากภาพประกอบนิทานนั้นมันมีพิษ
“ซึ่งเวลามีคนมาชมงาน เขาเห็นชื่อดอกไม้ที่เราติดไว้คู่กันแล้วนำไปเสิร์ชต่อ เรารู้สึกว่าน่ารักมาก ในส่วนนี้เรามีชิ้นงานที่แยกส่วนดอกไม้ ให้เห็นชิ้นส่วนข้างในของเขาด้วย ถ้าทำให้คนเรียนชีววิทยาได้สนุกขึ้นอีกนิดก็คงดี” ฟังที่ปั้นเล่า ฉันก็พยักหน้าเห็นด้วย ถ้าสมัยเรียนมัธยมฯ มีนิทรรศการแบบนี้ วิชาวิทยาศาสตร์คงให้ความรู้สึกเหมือนเกมลงทัณฑ์น้อยลงสำหรับฉัน


“เพราะฉะนั้น ปั้นถึงไม่ครอบกระจกรอบผลงาน เพราะรู้สึกว่าอยากให้ผู้ชมได้มองใกล้ๆ ได้เห็นดอกไม้ในสิ่งที่เขาเป็นจริงๆ” ปั้นบอกกับเรา พลางจัดแต่งผลงานของเธอให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ไปด้วย
ดูเหมือนว่านอกจากป่าเขตอบอุ่นจะเผยให้เห็นสีสันของพืชที่เปลี่ยนไป ยังได้คลี่คลายตัวตนของปั้นในฐานะศิลปินและสิ่งที่เธอเชื่อเช่นกัน
Taiga Forest
ป่าเมืองหนาวที่สีเทาไม่ได้แปลว่าเหงา
โซนสุดท้ายของ Lost in Greenland ได้พาเราไปสำรวจชีวมวลที่เราไม่คุ้นตา
“สังเกตว่าดอกไม้โซนนี้มีขนาดเล็ก ปั้นเลยออกแบบการจัดแสดงให้อยู่บนกำแพง เพื่อจะได้เห็นพวกเขาในมุมมองที่ต่างออกไปจากสองเขตอากาศที่ผ่านมา” ปั้นเล่า ระหว่างเราเดินข้ามผ่านเส้นละติจูดเข้าสู่โซนป่าไทก้า “แปลกใจเหมือนกันที่คนชอบโซนนี้กันเยอะ”
“เมื่อเข้าเขตหนาว ดอกไม้จะไม่ค่อยบาน แต่สิ่งที่น่าสนใจในบริเวณนั้นคือมอส หญ้า ที่มีฟอร์มแปลกๆ หรือถ้ามีดอกไม้โทนสีเขาจะหม่นเหมือนอากาศ เหมือนเรามองผ่านเลนส์สีเทา ทุกอย่างในธรรมชาติเขามันเชื่อมโยงกันไปหมดในความเป็นจริง

“อย่างดอกกุหลาบป่านี้ ชื่อวงศ์เขาคือ Rosa Acicularus อาจจะหน้าตาคล้ายกับโบตั๋น เพราะเขาอยู่ในวงศ์เดียวกัน จริงๆ งานนี้ปั้นตั้งใจทำให้ออกมามีกลิ่นของความจีนร่วมสมัยด้วยนะ ตอนที่ทำผลงาน ปั้นอินกับแนวนั้นพอดี”
คำอธิบายของปั้นทำให้เราได้รู้ว่า เธอเป็นบุคคลที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างผู้เชี่ยวชาญและศิลปินที่คลั่งไคล้ดอกไม้
และการใช้เวลาเกือบปีไปกับการค้นคว้าวิจัย หาข้อมูล และเตรียมงานนิทรรศการนี้ ทำให้เธอมีปรัชญาการมองโลกผ่านมุมมองของธรรมชาติอยู่ด้วยเช่นกัน
“ดอกไม้ทุกดอกมีความงามในแบบของตัวเอง แม้จะเป็นพันธุ์เดียวกัน ต้นเดียวกัน แต่รูปร่างและสีจะไม่มีทางเหมือนกัน นอกจากเขาจะสวยแล้ว ยังมีเรื่องเล่าและมีฟังก์ชันในตัวเอง
“เหมือนกับเวลาจัดดอกไม้ สำหรับปั้น ถ้ามีแต่หน้าดอกสวยๆ จะจัดให้สวยได้ยาก แต่ถ้ามีดอกที่บานเกินไปบ้างหรือตูมบ้าง ชิ้นงานจะสวยขึ้นสำหรับเรา มีใหญ่บ้าง เล็กบ้าง งานมันคอมพลีต ดูมีชีวิตมากขึ้น ความสวยสำหรับเราคือความไม่สมบูรณ์
“ในนิทรรศการนี้มีงานอยู่มากกว่าสี่สิบชิ้น ทุกชิ้นเรารู้สึกว่าเราทำจังหวะแบบนั้นได้ครั้งเดียว การหักของเส้นก้าน การตัดเส้นดอก ไม่มีทางจะทำซ้ำได้อีกแล้ว
“สีเขียวที่ฉาบกำแพงห้องจัดแสดงนี้ก็เป็นสีเขียวที่ปั้นมองธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นเขียวนี้ในสายตาปั้น หากเป็นกรีนแลนด์ของคนอื่นอาจจะเป็นเขียวคนละโทนกันก็ได้ เพราะเราต่างมีมุมมองที่ไม่เหมือนกัน” ปั้นกล่าวยิ้มๆ ทิ้งท้าย


ไม่มีสิ่งใดในธรรมชาติที่เหมือนกัน
ไม่มีสิ่งใดที่สมบูรณ์
ไม่มีความงามใดที่เป็นมาตรฐาน
เพราะธรรมชาติมีความหลากหลาย และความหลากหลายเป็นธรรมชาติ
ขอบคุณเวลาน้ำชาในป่าของปั้นที่ทำให้ฉันเข้าใจสิ่งนั้น
ไปเดินหลงกลางดงดอกไม้ในป่า 3 เฉดสีได้ที่นิทรรศการ Lost in Greenland ตั้งแต่วันนี้ถึง 25 ตุลาคม 2563 ที่ The Jam Factory เข้าชมฟรี และอยากแนะนำให้ทุกคนอ่านสูจิบัตรที่วางอยู่หน้างาน เพราะปั้นเป็นคนเขียนเอง
