The Cloud x ไทยประกันชีวิต
แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

โชคดี ปรโลกานนท์ หรือ ลุงโชค คือชายหนวดขาวยาวเฟิ้มเจ้าของ ‘สวนลุงโชค’ สวนวนเกษตรบนพื้นที่กว่า 100 ไร่ แห่งบ้านคลองทุเรียน ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา

เขาใจดี และรักไผ่มาก ดูได้จากกอไผ่ใหญ่น้อยที่ปลูกเรียงรายตั้งแต่ทางเข้าอย่างกับเป็นเจ้าเรือน 

ที่นี่มีไผ่ทั้งหมดกว่า 100 สายพันธุ์ เขามักได้รับสายพันธุ์ไผ่อันหลากหลายจากแขกผู้มาเยือน มีเจ้าไผ่เลี้ยงเป็นตัวเอก ลักษณะกอสูง สง่า สีเขียวเข้มสด และแข็งแรง ไผ่ชนิดนี้เติบโตได้ดีในภาคอีสาน 

ลุงโชคคือผู้ใช้ชีวิตด้วยภูมิปัญญาการใช้ไผ่มาหลายสิบปี และพลิกผืนดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ด้วยการทำวนเกษตร หรือการทำเกษตรบนพื้นที่ป่าด้วยการปลูกพืชหลากหลายชนิด แล้วให้พืชพันธุ์เหล่านั้นได้เติบโตอย่างเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันตามธรรมชาติ 

เขาตั้งใจลดรอยเท้าทางนิเวศด้วยการผลิตสินค้าจากไผ่ หนึ่งในทรัพยากรธรรมชาติที่คุ้มค่ายั่งยืนที่สุด เพราะโคนจรดปลายของไผ่ 1 ต้น ทุกส่วนล้วนนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ตั้งแต่เป็นอาหาร ทำข้าวของเครื่องใช้ ไปจนถึงสร้างอาคารขนาดมหึมาได้เป็นหลังๆ 

ทุกครั้งที่ไผ่สักต้นถูกตัด จะไม่มีส่วนใดถูกทิ้งขว้าง ถือเป็นรูปแบบการผลิตที่สร้างทั้งเศรษฐกิจและความยั่งยืนให้เติบโตงอกงาม สวนไผ่ลุงโชคจึงไม่ได้มีแค่ไผ่ แต่มีภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพที่เขาเรียนรู้ สั่งสม และส่งต่อ มาตลอดชีวิต

โต๊ะปูนสีเทาตั้งอยู่กลางสวนพร้อมโคมไฟเล็กๆ คือที่นั่งพูดคุยระหว่างเรากับชายวัย 62 ปี มีฉากหลังเป็นกอไผ่เลี้ยงในจำนวนที่เกินจะนับไหว แสงแดดอุ่นยามเช้า ลมเอื่อยพัดมาไม่ขาดสาย พร้อมน้ำฝางใบเตยอุ่นๆ ช่วยให้ใจรู้สึกสงบลง ก่อนบทสนทนาใต้เงาไผ่อันร่มเย็นจะเริ่มขึ้น เสียงยอดไผ่กระทบกันดังกังวานเหมือนพวกมันกำลังบอกเราอย่างดีใจว่า 

“ยินดีต้อนรับผู้มาเยือนจากเมืองใหญ่ สู่สวนไผ่ลุงโชค”

01

โชคดีที่มีไผ่

พื้นเพเดิมของลุงโชคเป็นคนพัทลุง เขาเดินทางไปเรียนไกลบ้านเกิดตามค่านิยมของคนใต้สมัยก่อน หลังจากที่เรียนจบ ปวส. ช่างกลเกษตรจากวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา ลุงโชคก็ออกเดินทางอีกครั้งไปยังแดนเหนือ ร่ำเรียนวิชาเกษตรพืชไร่จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ แต่หลังเรียนจบ เขาก็ไม่กลับพัทลุงตามที่พ่อหวัง 

โชคตัดสินใจมาปักหลักที่โคราชในปี 2525 ช่วยงานขายรถพี่ชายคนโตอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะเริ่มลงทุนปลูกข้าวโพดบนที่ดิน 100 ไร่ ตามความตั้งใจไฟแรงของเด็กหนุ่มเกษตร 

“ทำๆ ไปมันไม่เหมือนที่เราเรียนมาเลย มีปัจจัยที่คุมไม่ได้เยอะแยะ ปัญหาดินฟ้าอากาศ ดินไม่ดี ราคาไม่ได้ ลุงทำอยู่สี่ปีก็เลิกเลย แล้วมาแต่งงานกับป้าที่เป็นชาวบ้านอยู่ที่นี่ ย้ายเข้ามาอยู่ที่ดินแปลงนี้ขนาดห้าสิบไร่ ภาษาอีสานเขาเรียกที่ดินตรงนี้ว่า มูลมัง หมายถึงสมบัติบรรพบุรุษ เป็นสินสมรสที่ครอบครัวเขายกให้” ลุงโชคเล่าให้ฟัง พลางจิบน้ำฝางจากแก้วใบน้อย  

หลังแต่งงาน ลุงโชคเริ่มปลูกผลไม้ แต่สุดท้ายก็ตายหมดเพราะเมื่อก่อนไม่มีระบบน้ำรองรับในฤดูแล้ง จนเขาได้พบจุดหักเหของชีวิตเมื่อได้รู้จักกับ พ่อผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ที่ต้องการแก้ปัญหาความล้มเหลวในระบบเกษตรเชิงเดี่ยว นั่นทำให้โชคในวัย 30 ปี ได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำเกษตรใหม่ เป็นรูปแบบวนเกษตรในผืนที่ดินของตน

“แรกๆ ลุงไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะเราเรียนในห้องเรียนมาอีกอย่างหนึ่ง พ่อผู้ใหญ่วิบูลย์พูดเรื่องของฐานชีวิต การพึ่งตนเอง แต่เราเรียนมาเพื่อทำเงิน ทำเกษตรต้องให้ได้ปริมาณเยอะ ต้องได้คุณภาพดี ต้องใช้เคมี เครื่องมือ เครื่องจักร และเงินทุน เราถูกสอนมาอย่างนั้น แต่พ่อผู้ใหญ่วิบูลย์บอกว่า ต้องมีกินก่อน เขาบอกว่า ที่โชคทำอยู่ตอนนี้ โชคไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเลยนะ ถ้าทำเพื่อตัวเองจริงๆ มันต้องกินได้สิ คุณทำเพื่อไปขายแล้วก็ไปซื้อของกิน เราเข้าใจเลยว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยดูแลตัวเองเลย 

“สิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตนอกจากการหายใจคือเรื่องกิน ทำไมเรามีที่ดินแต่เราไม่ปลูกของกินล่ะ ปัจจัยสี่เราต้องสร้างขึ้นมาก่อน มีของกิน มีพืชที่เป็นยาสมุนไพร มีไม้ใช้สอย หลังจากนั้นลุงปรับหมดเลย ผืนดินที่ปลูกอะไรไม่ขึ้น ลุงก็เอาไผ่มาปลูกก่อน เพราะเห็นพ่อตาปลูกไผ่ตรงนี้แล้วมันรอด เราค้นพบว่าที่ดินของเรา อากาศของเรา นิสัยของเรา เหมาะกับไผ่ เพราะไม่ต้องไปยุ่งตัดแต่งรดน้ำ แต่ไม้ผลที่เราเคยหวังนี่ไม่ใช่ แล้วมาดูไผ่สิ ทั่วประเทศเจอปรากฏการณ์เอลนีโญ ไผ่เรายังอยู่ได้” เขาจึงตั้งใจปลูกไผ่และเพาะพันธุ์ไผ่มาเรื่อยๆ จนปัจจุบัน 

วิถีชีวิตส่วนตัวของลุงโชคในวัยที่กำลังเป็นคุณปู่นั้นเรียบง่ายมาก หลังจากที่เสียภรรยาไป ลุงก็ใช้ชีวิตกับลูกชายทั้งสอง ช่วยกันดูแลงานบ้านและกิจการในสวนไผ่ ลุงโชคคือคนที่พิถีพิถันในกิจวัตรประจำวันของตัวเองมากคนหนึ่ง ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาสอนให้เขาเป็นคนเช่นนี้

“เราชอบใช้ชีวิตสบายๆ แต่ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย ชีวิตต้องมีกรอบและเป็นขั้นเป็นตอน ตื่นเช้าขึ้นมาต้องทำสิ่งที่ใกล้ตัวก่อนคือเอาลมหายใจดีๆ เข้าสู่ร่างกายให้ออกซิเจนเข้าสู่ปอด ช่วยฟอกเลือดให้เป็นเลือดดีและไปหล่อเลี้ยงสมอง คนส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติกันเพราะมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก เสร็จแล้วก็ล้างหน้าแปรงฟัน ขับถ่าย แล้วก็กินน้ำ 

“พอเราเตรียมตัวเองเสร็จก็จะมาศาลานี้ก่อน ปัดกวาดที่ทำงานให้เรียบร้อย เพราะมันหมายถึงสิ่งแวดล้อม ต้องถูกสุขลักษณะ ถ้าฝนไม่ตกเราก็ไปรดน้ำต้นไม้ เพราะต้นไม้คือผู้ให้ เรามีเพื่อนเป็นต้นไม้ เรากิน เราอยู่กับเขามากกว่าอยู่กับคนซะอีก เราชอบสิ่งไหนเราต้องดูแลสิ่งนั้น ฝึกให้เป็นนิสัยจากสิ่งเล็กๆ ที่ใกล้ตัวในแต่ละวัน 

“ลุงทำงานไปจนถึงสี่โมงเย็น แล้วไปปั่นจักรยาน จะกลับมาอีกทีตอนหกโมงหรือทุ่ม อาบน้ำ ดูโทรศัพท์ ดูข่าวสาร สามทุ่มเข้านอน ลุงไม่กินข้าวเย็นเพราะไม่สบายตัว แต่ก่อนเราไม่ได้ต่างอะไรจากคนอื่นนะ กินเหล้า ดูดบุหรี่ แต่งตัวตามแฟชั่น ใส่กางเกงยี่ห้อแพงๆ รองเท้าแพงๆ แต่พอถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกเองว่าชีวิตแบบนั้นมันไม่ใช่ เราเปลี่ยนมาใช้ชีวิตแบบนี้ร่วมสิบปีแล้ว

“คนรุ่นใหม่ ณ ปัจจุบันทำงานหนักมาก เช้ามาต้องรีบไปทำงาน ผ้าห่มที่นอนไม่เคยปัดเลย เรารีบเร่งกับบางอย่างแต่ว่าสูญเสียการดูแลสิ่งใกล้ตัวไป พอเข้าวัยกลางคนก็สุขภาพแย่ บางคนไม่เคยได้อยู่กับพ่อกับแม่เลย ลุงว่าเราต้องดูแลรากเหง้าหรือที่มาของชีวิตเรานะเพราะเขาคือครู ถ้าเราละเลยสังคมที่เล็กที่สุด แล้วจะอาจหาญไปดูแลสังคมใหญ่ได้ยังไง”

02

ไผ่ดีเพราะมีโชค

ไผ่เลี้ยง ไผ่รวก ไผ่มันหมู ไผ่ซางหม่น และไผ่ตง คือพันธุ์ไผ่หลักของสวนแห่งนี้ ลุงโชคเชื่อว่าไผ่เป็นพืชที่ไม่มีทางหายไปจากโลก เพราะโดยลักษณะ ไผ่คือพืชที่เกิดมาคุ้มครองโลก ระบบรากที่ดี ลำต้นสูงขึ้นไปรับแสง ทนต่อโรคและสภาพอากาศ ช่วงหน้าฝนทำหน้าที่เป็นฟองน้ำดูดซับน้ำ ช่วงหน้าแล้งหาวิธีเอาตัวรอดได้ด้วยการทิ้งใบแล้วมีชีวิตอยู่รอดจากคลอโรฟิลล์ตามลำต้น แถมยังอายุยืนตั้งแต่สามสิบปีจนถึงหนึ่งร้อยปี แล้วแต่สายพันธุ์

“ไผ่เป็นพืชมหัศจรรย์มาก เขาปรับตัวเก่ง แล้งแค่ไหนก็ไม่ตาย พวกเขาหยั่งรู้ได้ว่าปริมาณน้ำฝนจะมีขนาดไหน” ลุงโชคพูดขึ้นพร้อมสายตามองไปยังกอไผ่เลี้ยงข้างโต๊ะ

 “เมื่อก่อนลุงปลูกแบบนักอนุรักษ์ เคยมีคนมาขอซื้อไผ่ลุง ลุงบอกว่า ไผ่ผมเหมือนลูกสาว คนมาซื้อเหมือนคนมาสู่ขอจะแต่งงาน เราต้องรู้ว่าเอาไปทำอะไร ถ้าเอาไปอยู่ริมชายหาดไว้แขวนหอย ลุงไม่ขายหรอก มันไม่เกิดคุณค่าอะไร ถ้าเอาไปทำเก้าอี้หรือบ้านสวยๆ ให้ฟรียังได้เลย 

“สองปีที่ผ่านมาตอนลุงอายุครบหกสิบ มีคำถามจากสังคมว่า ลุงโชคให้ปลูกแต่ต้นไม้แล้วจะอยู่ได้ยังไง มีรายได้ยังไง ลุงเลยคิดว่าเราต้องทำให้ชัดเจนสักที เราปลูกต้นไม้จนสิ่งแวดล้อมมันโอเคแล้ว ดินได้รับการฟื้นฟูแล้ว พายุพัดมาสวนเราก็ไม่เป็นไรเพราะไผ่ป้องกันให้ได้ ช่วงหน้าแล้งใบก็ร่วงมาสร้างหน้าดินให้อุดมสมบูรณ์ มันชัดเจนมากเรื่องตัวชี้วัดสิ่งแวดล้อม”

“ด้านเศรษฐกิจล่ะทำยังไง เพราะเราอยู่ในโลกทุนนิยมนี่” 

“ลุงมานั่งคิดเลยนะ ถ้าจะตัดไผ่หนึ่งลำส่วนโคนจะเอาทำอะไร ส่วนกลางเอาไปทำอะไร ส่วนปลายจะเอาไปทำอะไร เพิ่มมูลค่าให้เขาดีกว่า ตัดเสร็จเอาไปแช่บอแรกซ์ป้องกันไม่ให้มอดกิน แล้วเอามาทำเป็นเก้าอี้ ที่ใส่เทียน กรอบรูป ไม้แขวนเสื้อ หลอดไผ่ หรือถ่านใบโอชาร์ อย่างน้อยลำหนึ่งขายได้สองร้อยบาท ถ้าตัดขายเฉยๆ ได้ยี่สิบบาทเอง ถ้าใครจะปลูกไผ่เพื่อขายลำ ไปเป็นยามดีกว่า ลุงเปิดโรงเรียนป่าไผ่เพื่อต้องการให้สังคมเข้าใจไผ่อย่างจริงจัง ไม่ใช่ปลูกตามกระแส” 

โรงเรียนป่าไผ่ของลุงโชคถูกสร้างขึ้นด้วยเหตุผลข้อเดียว คือลุงโชคอยากทำในสิ่งที่ตัวเองชอบเท่านั้น แล้วค่อยแสวงหากำไรสูงสุดจากความสุขในการเพิ่มมูลค่าให้ไม้ไผ่

โรงเรียนป่าไผ่แห่งนี้ต้อนรับแขกแทบทุกวัน ชายผู้นี้ยินดีกับการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้คน ตั้งแต่การปลูกไผ่ การดูแลไผ่ต้นเล็กในโซนอนุบาล การเล่าเรื่องให้ความรู้พันธุ์ไผ่ต่างๆ ทั้งยังมีอาคารแปรรูปสินค้าจากต้นไผ่ที่ได้มาตรฐาน เป็นอาคารแปรรูปไม้ไผ่หลังใหญ่ลักษณะสูงโปร่ง ด้านในมีบ่อแช่ลำไผ่และลานตากแห้ง เพื่อเตรียมพร้อมก่อนแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ตามแต่จะสร้างสรรค์ ลูกชายคนโตของเขากำลังดูแลงานในส่วนนี้อยู่

“ตอนนี้ถือว่าไผ่ตอบโจทย์เบ็ดเสร็จให้กับตัวลุงนะ ถ้าไม่มีไผ่ ลูกไม่ได้อยู่กับลุง ถึงแม้ว่าลุงจะมีที่เยอะแยะ มีไม้พยุง แล้วจะไปทำอะไรต่อ แต่ไผ่ทำให้ลูกลุงเอาไปต่อยอดงานได้ เพราะฉะนั้น ลุงไม่จำเป็นต้องมีเงินเยอะ แต่ลุงอยากอยู่กับลูกต่างหาก อันนี้คือเรื่องใหญ่ในมุมมองของลุง เพราะตอนเด็กเราไม่ได้อยู่กับพ่อแม่เลย พอเราแก่เฒ่าก็ไม่อยากเป็นแบบนั้น ลูกชายลุงเขามีโชคชะตาที่ทำให้ต้องกลับมาอยู่ที่นี่เหมือนกัน” 

03

การอนุรักษ์ที่กินได้

ไผ่แต่ละชนิดแปลงร่างเป็นได้ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันบ้าน สวนลุงโชคแห่งนี้มีผลิตภัณฑ์จากไผ่หลายอย่าง เช่น ถ่านดูดกลิ่น เทียนไผ่ พวงกุญแจ แก้วไม้ไผ่ และที่เราสนใจที่สุดคือหลอดไม้ไผ่

หลอดไม้ไผ่กลิ่นหอมในซองผ้าฝ้าย มีจุดเริ่มต้นในวันที่ลุงโชคเห็นข่าวเต่าทะเลตายเพราะหลอดพลาสติก 

ต้นไผ่ลำเล็กหลายสายพันธุ์สามารถเอามาแปรรูปเป็นหลอดใช้ได้ดี โดยมี เก่ง-บริพัตร สุนทร เป็นลูกทีมคิดค้นหาวิธีการผลิตหลอดไม้ไผ่คุณภาพดีที่ใช้ซ้ำได้หลายครั้ง

“ไผ่แต่ละสายพันธุ์ทำหน้าที่ต่างกัน เราจึงต้องเข้าใจธรรมชาติการใช้งานของเขา ไผ่จีนเอามาทำเป็นหลอดได้ ไผ่เลี้ยงเอาไปก่อสร้างบ้าน ไผ่ตงเอาไปกินหน่อ ไผ่มันหมูเอาไปทำไม้ตะเกียบหรือไม้เสียบลูกชิ้น และทุกไผ่ที่ลุงเก็บไว้สามารถเอาไปทำเป็นเชื้อเพลิงได้” ลุงโชคอธิบาย ก่อนที่เก่งจะเดินเข้ามาพร้อมผลิตภัณฑ์จากไผ่ที่เขาตั้งใจทำขึ้นมาอย่างประณีต 

ปกติหลอดไผ่สดจะมีอายุไม่เกินสัปดาห์ โจทย์สำคัญของพวกเขาจึงเป็นการยืดอายุการใช้งานวัสดุทดแทนพลาสติกให้ได้ เก่งเลยหาวิธีการทำหลอดไม้ไผ่ให้แห้งโดยไม่ต้องใช้สารเคมี และใช้ใบไผ่แห้งที่มีอยู่เป็นตัวให้ความร้อน

หลังจากตัดไผ่มาทำความสะอาดด้านนอกและด้านในเสร็จแล้ว เก่งจะเอาไผ่ไปต้ม แล้วอบเพื่อไล่ความชื้น ก่อนจะลำเลียงหลอดไผ่ไปตากแดดให้แห้งเพื่อขับสีให้สวย เขาจะเอาหลอดทั้งหมดไปอบอีกครั้งหนึ่ง แล้วแต่งหลอดให้สวยงามในขั้นสุดท้าย ก่อนเก็บในห่อผ้าอย่างดีเพื่อรอขาย ทั้งหมดนี้ใช้เวลาทำเจ็ดวัน ยืดอายุหลอดให้ใช้งานเป็นสามถึงหกเดือน

“มันเป็นแค่หลอดธรรมดาที่ช่วยบ่งบอกว่าคุณช่วยดูแลโลก ไผ่เป็นพืชที่ยั่งยืน มันเติบโตขึ้นมาทดแทนได้ ยิ่งคุณใช้เท่าไหร่ ก็ยิ่งเกิดกลุ่มผู้ปลูกไผ่เพิ่มมากขึ้น มลภาวะที่เกิดจากการใช้หลอดพลาสติกก็ลดลงทีละนิด และเป็นการสร้างวินัยให้เรารู้จักที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า” เก่งว่าอย่างนั้น ซึ่งเราก็เห็นด้วย

ปัจจุบัน เก่งยังคงผลิตหลอดไม้ไผ่ตามออร์เดอร์ที่รับจำนวนจำกัด เพราะเป็นงานทำมือที่ต้องอาศัยเวลาและความใส่ใจในการทำ ซึ่งละเลยขั้นตอนใดไม่ได้

“เราใช้เวลาและมีหลายขั้นตอนในการผลิต ทำให้หลอดมีราคาสูงกว่าท้องตลาด เราตั้งราคาไว้เท่ากับเป็นการส่งเสริมลดมลภาวะจากพลาสติกและส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในตัวด้วยครับ ที่สำคัญคือ คุณไม่ได้ใช้แค่ครั้งเดียว คุณใช้ได้หลายครั้ง แค่มีคนเปลี่ยนจากการใช้หลอดพลาสติกมาเป็นหลอดไม้ไผ่แทน เราก็ดีใจแล้ว” 

พวกเขาทำให้เห็นว่า การอนุรักษ์ที่แท้จริงคือการปลูกความเข้าใจในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างถูกต้องต่างหาก

04

ดิน น้ำ ดง ไพร

สิ่งหนึ่งที่ลุงโชคพยายามบอกกับหลายคนคือ เกษตรกรจำเป็นต้องรู้ว่าที่ดินของตัวเองเป็นอย่างไร ไม่ใช่ทำเกษตรตามสูตร

“ที่จริงลุงใช้หลักของ ร.9 คือระเบิดจากภายใน ทำจากเล็กไปใหญ่ หมายถึงต้องรู้ตัวเจ้าของ ต้นทุนเราเป็นยังไง ที่ดินเราราบมาอย่างนี้ ตรงนั้นเป็นที่ตาน้ำ ตรงนั้นเป็นที่ดินไม่ดี พื้นที่แต่ละส่วนต้องรู้หมด เราวางระบบว่าพืชตัวไหนต้องการน้ำ ก็ให้มันอยู่ใกล้น้ำ ส่วนพวกไผ่ ไม้พะยูง ไม้ตะเคียน ไม่ต้องการน้ำมาก ก็ปลูกบนที่สูงห่างจากแหล่งน้ำออกมา” ต้นไม้ทั้งหมดอยู่ได้โดยธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็น

ถัดจากศาลาภูมิปัญญาไทยไปตามทางเดินเข้าสวน ข้างทางเป็นที่อยู่ของบ่อน้ำที่ลุงโชคขุดเอาไว้ เพราะพื้นที่บริเวณนี้ปลูกพืชไม่ได้เนื่องจากมีน้ำบ่ามาตลอด ลุงเลยต้องขุดบ่อแล้วฝังท่อลงนาข้าวไปตามลำดับ บริเวณนี้จะมีน้ำซึมมาเองตลอดในช่วงฤดูฝน แม้ปีนี้จะแล้งที่สุดในรอบ 50 ปี แต่น้ำในบ่อยังคงมีอยู่เพราะได้ต้นไม้รอบๆ ช่วยพยุงไว้ 

เราเริ่มเดินสำรวจสวนและสัมผัสได้ถึงแดดช่วงเที่ยงที่เริ่มร้อนขึ้น แต่อากาศในนี้ยังคงเย็นสบาย มีเงาจากต้นไม้ใหญ่ริมทางปกร่มให้

ลุงโชคปลูกไม้แดง ไม้พะยูง ตะเคียนทอง ไว้เป็นไม้ระยะยาว ส่วนใต้ไม้ใหญ่มีเหล่าต้นจั๋งใบเขียวสดอยู่เต็มไปหมด ในดงต้นจั๋ง เราสังเกตเห็นร่องน้ำเล็กๆ พร้อมหนองน้ำอีกด้านของทางเดิน

“ตรงนี้เป็นร่องคลองธรรมชาติ ทำหน้าที่เป็นตัวกรองน้ำ น้ำไหลมาตรงที่กักน้ำก็จะตกตะกอน ลุงปลูกพืชน้ำเป็นตัวดูดซับ ทำตามหลักของ ร.9 น้ำจะไหลลงไปข้างล่าง ตรงร่องที่เราขุดให้ลึกขึ้น” ลุงโชคอธิบาย

เราเดินต่อไปตามทางที่มีหญ้ารก อากาศเย็นขึ้นเรื่อยๆ พร้อมต้นไม้ข้างทางที่หนาทึบ กอดอกก้ามปูสีส้มสดขึ้นข้างทางสวยงาม ต้นชะอมที่ป้าชอบ ตอนนี้สูงชูยอดจนเลยหัวเราเล็กน้อย ส่วนกระท้อน มะเฟือง ลองกอง ที่ลุงเคยตั้งใจไว้ขาย ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งอาหารของกระรอกและกระแต ส่วนต้นไทรใหญ่ใกล้มุมทางโค้งทำหน้าที่เป็นโรงอาหารของเหล่านกป่า

“ลุงปลูกไทร เมื่อก่อนโดนคนหาว่าบ้า แต่เราเห็นว่าไทรเป็นระบบนิเวศให้กับนก นกมากินลูกไทรแล้วกินแมลงด้วย เอาเมล็ดพันธุ์ที่เขากินจากที่อื่นมาที่นี่ด้วย จุดเริ่มแรกของสวนมาจากตรงนี้แหละ ลุงสร้างศาลา ปลูกผัก ปลูกกล้วย ปลูกไม้ผลอยู่ตรงนี้ 

“อันนี้ต้นมะเดื่อปล้อง ส่วนต้นมะค่านี้อายุสามสิบปีแล้ว เมื่อก่อนปลูกจั๋งไว้เป็นไม้ประดับส่งขายในโคราชกับกรุงเทพฯ พร้อมดอกหน้าวัวของป้า แต่ตอนนี้ปลูกไว้เฉยๆ ให้เป็นระบบนิเวศแล้ว” ชายชุดม่อฮ่อมพูดเสร็จ ก็เดินนำเราไปตามทางซุ้มไม้ไผ่กลับไปยังศาลาเพื่อทานข้าว

“เมื่อก่อนตอนป้ายังอยู่ ถ้ามีคนมาหา ป้าจะทำกับข้าวให้กิน แต่ตอนนี้ป้าไม่อยู่แล้ว”  

ลมเย็นพัดผ่านมาอีกครั้งหลังลุงพูดจบ เสียงยอดไผ่กระทบดังระงมทั่วบริเวณ สายตาเราเหลือบไปเห็นกระรอกน้อย 2 ตัวกำลังกระโดดตามยอดไม้ หามื้อเที่ยงกินอย่างสบายใจ  

05

คน ป่า ไผ่

“ลุงว่าตอนนี้ชาวบ้านแถวนี้เขาอยู่กันแบบยั่งยืนหรือยัง” เราถามขึ้นหลังกินข้าวเสร็จ

“ชีวิตอยู่บนเส้นด้าย ไม่มีอะไรพึ่งตนเองเลย ทำอาชีพเหมือนกับเล่นการพนัน ไม่รู้ออกหัวหรือออกก้อย ใช้ชีวิตไม่ต่างอะไรกับชีวิตในสังคมเมือง คือต้องมีเงิน เขาไม่ยอมเปลี่ยนมาทำแบบนี้เพราะเห็นผลช้า แต่ถ้าคิดดีๆ แบบของลุงก็ไวนะ ปลูกปีแรกอาจจะต้องลงทุน ยังไม่มีผลตอบแทน แต่พอปีที่สอง ไผ่เริ่มตั้งลำได้ ก็สามารถขยายพันธุ์ได้ เป็นรายได้แล้ว พวกเขาอยู่ในกระแสบริโภคนิยม และไม่รู้ว่าจะปรับตัวให้อยู่กับกระแสนี้ได้อย่างไร

“เราไม่รู้ตัวเลยว่า เราใช้ชีวิตที่ยึดโยงกับร้านค้าสะดวกซื้อไปแล้ว เราบริโภคยาสะดวกและยาสบาย จนคิดว่าการทำอะไรเองยุ่งยาก แค่หุงข้าว ทำกับข้าวยังยุ่งยาก เราเลยติดการซื้อ แล้วต้องเร่งทำงานเพื่อหาเงินให้มากขึ้น ลุงไม่ได้บอกว่าห้ามซื้อทั้งหมดนะ แต่อยากให้คนปรับตัวกัน ค่อยๆ ปรับทีละนิดทีละหน่อยเดี๋ยวก็เป็นไปเอง ถ้าเราไม่มีสติ ไม่รู้เท่าทัน เราจะกลายเป็นเหยื่อกระแสบริโภคนิยม สมัยก่อนไม่ได้รุนแรงขนาดนี้

“เวลาใครมาหาลุง ลุงจะบอกว่าคุณไม่ต้องทำอย่างผมหรอก คิดอย่างผมสิ แล้วเอาวิธีคิดของผมไปปรับใช้กับวิถีชีวิตของคุณในเมือง ผมไม่ได้บอกให้คุณทำนา แต่คุณกินอะไรก็ให้รู้รากเหง้าว่าสิ่งที่คุณกินมีประโยชน์ขนาดไหน มาจากไหน คุณใช้พลังงาน คุณก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ไม่ใช่สักแต่คิดว่าฉันมีปัญญาจ่ายค่าไฟ ฉันมีปัญญาซื้อน้ำมัน ฉันจะเปิดไฟกี่หลอดก็ได้ ใช้น้ำเท่าไหร่ก็ได้ คิดอย่างนั้นไม่ได้แล้วนะตอนนี้” ลุงโชคอธิบาย

ในช่วงชีวิตหนึ่ง ลุงโชคได้ลงแรงและลงใจฟื้นฟูเขาแผงม้าให้กลับคืนมาเขียวขจีเหมือนเดิม โดยใช้หลักวนเกษตร ความตั้งใจของลุงไม่มีอะไรมาก แค่อยากเห็นผืนป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์จากความรับผิดชอบต่อธรรมชาติของผู้คน

“เราไม่ต้องการเห็นรัฐปลูกป่าที่เป็นแถวเป็นแนว เราอยากเน้นการมีส่วนร่วม เน้นความยั่งยืน เราเหมือนจะปลูกสะเปะสะปะไปเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่ปลูกทิ้งปลูกขว้าง เราดูแล เฝ้าสังเกตธรรมชาติ ฤดูไหนควรทำอะไร สักพักป่าก็กลับคืนมา สัตว์ป่าก็กลับคืนมา เพราะมีอาหาร มีน้ำ มีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย”

“ลุงเรียนรู้อะไรจากไผ่บ้าง” เราถามขึ้นพร้อมสังเกตเห็นสีหน้าชื่นใจของลุงโชค 

“เยอะแยะ ดูลำไผ่นะ สีเขียวใช่ไหม หน้าฝนก็เขียว หน้าร้อนก็เขียว แล้งก็เขียว มันไม่เปลี่ยนสีเลยนะ เพราะงั้นคนก็อยากเปลี่ยนสีตาม จะในสถานะหรือฤดูกาลไหนก็ให้เป็นอย่างนั้น ให้คงเส้นคงวา ซื่อสัตย์ซื่อตรงเหมือนไม้ไผ่ ไผ่มันอ่อนน้อมถ่อมตน เราต้องเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนเหมือนไผ่ และไผ่อยู่กันเป็นกอ เขาเป็นพืชสังคม มีหลายอายุอยู่ด้วยกัน แต่ไม่เคยทะเลาะกัน (หัวเราะ)”

Writer

Avatar

นิภัทรา นาคสิงห์

ตื่นเช้า ดื่มอเมริกาโน เลี้ยงปลากัด นัดเจอเพื่อนบ่อย แถมยังชอบวง ADOY กับ Catfish and the bottlemen สนุกดี

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล