“ลองนิก่ะ” ประโยคทางเหนือที่แปลเป็นภาษากลางได้ว่า “ลองอันนี้สิ” ดังขึ้นจากหนุ่มลำพูนเบื้องหน้าฉัน 

เราเจอกันในงาน Local Enterprise Social Expo 2022 ‘คน-ของ-ตลาด’ ภายใต้การดูแลของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ที่รวบรวมหลากหลายธุรกิจในชุมชนต่าง ๆ มาพูดคุย แลกเปลี่ยน และพัฒนาผู้ประกอบการไปสู่การสร้างผลกำไรเชิงธุรกิจควบคู่กับกำไรทางสังคม จนเกิดเป็นสังคมธุรกิจที่มีฐานของชุมชนเข้มแข็ง เป็นหนึ่งเดียว เกื้อกูล และยั่งยืน 

ปอนด์-ปิยะพันธ์ สุรินทร์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Longniga ร่วมกับวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผลิตลำไยบ้านเหล่าดู่ ยื่นสินค้าที่ทำจากผลไม้บ้านเกิดให้ฉันดู บนขวดแปะฉลากเผยชื่อแบรนด์ ‘Longniga (ลองนิกา)’ ที่พ้องมาจากประโยคเชื้อเชิญให้รู้จักเมื่อสักครู่ 

ปอนด์-ปิยะพันธ์ สุรินทร์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Longniga ไซรัปลำไยเคี่ยวเตาฟืนบ้านเหล่าดู่ หมู่บ้านใน จ.ลำพูน ที่ปลูกลำไยทุกหลัง

นี่คือน้ำตาลลำไยสกัดเข้มข้นที่ทำจากลำไยสด 100 เปอร์เซ็นต์ เก็บเกี่ยวผลผลิตจากสวนในชุมชนมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ พูดอย่างสัตย์จริง ฉันเพิ่งเคยได้ยินชื่อน้ำตาลลำไยครั้งแรก แต่ความหวานนั้นดึงดูดใจเกินกว่าจะเก็บไว้ชิมคนเดียว 

เสน่ห์ของบ้านเหล่าดู่ อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน คือแทบทุกครัวเรือนจะมีสวนลำไยเป็นของตัวเอง ทุกเจนเนอเรชันไม่ว่าเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ต่างเติบโตท่ามกลางอาณาจักรลำไยที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนบ้านเหล่าดู่ไปแล้ว และนั่นเป็นเหตุผลที่เขาเลือกมาทำแบรนด์นี้เพื่ออนุรักษ์ไม่ให้มันหายไป

“น้ำตาลลำไยยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก ผมเลยอยากแนะนำให้รู้จัก” 

เพราะอยากให้คนรู้ว่าน้ำตาลลำไยนั้นมีอยู่จริง แถมเก๋าเกมในเรื่องคุณประโยชน์ที่น้ำตาลสังเคราะห์ให้ไม่ได้ ทั้งช่วยปรับสมดุลร่างกาย มอบความกระปรี้กระเปร่า และยังเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาหลับไม่สนิท (ดูทรงแล้ว ท่าจะเหมาะกับคนวัยทำงานอย่างเรา ๆ) โดยใช้กรรมวิธีแบบฉบับของชาวบ้าน คงกลิ่นฟืนอ่อน ๆ จากการเคี่ยวลำไยลูกโตอย่างประณีต แถมธุรกิจนี้ยังช่วยต่อลมหายใจสวนลำไยในท้องถิ่น ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน ที่ประสบปัญหาลำไยราคาตก แต่ต้นทุนสูงขึ้น จนบางบ้านเลือกจะวางมือจากสวนที่ฟูมฟักกันมารุ่นสู่รุ่น ไปหาทางรอดอื่น และเพื่อไม่ให้สวนลำไยที่บ้านเหล่าดู่รักต้องหายไปจนหมด ปอนด์จึงมุ่นมั่นที่จะทำให้สวนลำไยกลับมามีชีวิต ผ่านการสร้างแบรนด์ที่ทำให้คนในชุมชนรอดไปด้วยกัน

นอกจากทางรอดด้านเศรษฐกิจ Longniga ยังคำนึงถึงทางรอดด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการยึดมั่นในหลัก Zero Waste สร้างระบบนิเวศสะอาดในชุมชน โดยนำขยะจากลำไยไปทำปุ๋ยหมุนเวียน ทำให้ทุกกระบวนการผลิตไม่หลงเหลือขยะรบกวนธรรมชาติไว้แม้แต่ชิ้นเดียว จนได้รับรางวัลหมู่บ้านดีเด่นจากทางจังหวัด

Longniga ไซรัปลำไยเคี่ยวเตาฟืนบ้านเหล่าดู่ หมู่บ้านใน จ.ลำพูน ที่ปลูกลำไยทุกหลัง
Longniga ไซรัปลำไยเคี่ยวเตาฟืนบ้านเหล่าดู่ หมู่บ้านใน จ.ลำพูน ที่ปลูกลำไยทุกหลัง

แบรนด์ที่เติบโตมาพร้อมสวนลำไย

เจ้าของแบรนด์วัย 36 ปีคนนี้ เดิมทีไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็นเกษตรกร แม้จะโตมากับสวนลำไย แต่เขากลับมีเส้นทางหลังเรียนจบไม่ต่างจากคนหมู่มากในสังคม นั่นคือการเป็นพนักงานออฟฟิศ ทำอยู่ 2 ปีก็คิดถึงอนาคตบั้นปลาย เมื่องานประจำนั้นมีอายุงาน และเด็กรุ่นใหม่ก็พร้อมจะผลัดเปลี่ยนขึ้นมาทำในตำแหน่งเดียวกันได้เสมอ ตอนนั้นเองที่ทำให้เขาคิดถึงสวนผลไม้ประจำบ้าน

“ความน่ารักของหมู่บ้านเหล่าดู่คือทุกบ้านปลูกสวนลำไย บ้านผมก็ปลูก ผมโตมากับลำไย ได้รดน้ำ เลี้ยงดู คลุกคลีกับมัน แต่ยังไม่ถึงขั้นสนใจอยากจะต่อยอดอะไร เพราะตอนนั้นพ่อแม่ผมเขาดูแลอยู่ ทีนี้หลังจากได้ลองไปทำงานที่กรุงเทพฯ ผมก็เริ่มคิดว่า เราเป็นลูกคนเดียว ยังไงคงต้องได้กลับไปทำงานที่สวนแน่ ๆ แถมเกษตรกรมันเป็นอาชีพอิสระ ไม่ต้องเข้างานหรือเลิกงานตรงเวลาแบบที่ชาวออฟฟิศส่วนใหญ่ทำ ผมว่ามันไม่กดดันดี”

ปอนด์เลือกกลับมาเป็นเกษตรกรทั้งที่ยังหนุ่ม โดยให้เหตุผลว่าอายุยังไม่มาก อาจจะยังมีเรี่ยวแรงในการคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ ให้กับสวนลำไยได้ดีกว่า เพราะเขากลัวว่าหากกลับมาในวัยเกษียณจะไม่มีพลังเท่าตอนนี้ แต่เมื่อกลับมา เขาพบกับปัญหาที่ชาวบ้านเจอคือราคาลำไยตก สวนทางกับต้นทุนการปลูกที่สูงขึ้น จึงเกิดการรวมกลุ่มวิสาหกิจขึ้นมา

Longniga ไซรัปลำไยเคี่ยวเตาฟืนบ้านเหล่าดู่ หมู่บ้านใน จ.ลำพูน ที่ปลูกลำไยทุกหลัง

“ตอนแรกผมและชาวบ้านรวมตัวกันทำปุ๋ยหมัก เพื่อจะมาลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากปุ๋ยราคาแพงขึ้น ส่งผลกระทบต่อคนในชุมชน เราเลยเอาเศษซากที่เหลือจากการเกษตรทั้งใบลำไย มูลสัตว์ และนำเอาองค์ความรู้เรื่องปุ๋ยไม่กลับกองที่เราเรียนรู้มาจากที่แม่โจ้มาทำกัน แต่มันก็ยังไม่พอช่วยให้เกิดการจ้างงานคนในหมู่บ้านหรือไปต่อได้ เพราะหลายบ้านแบกต้นทุนไม่ไหว เลิกปลูกไปกลางคัน ลำไยในหมู่บ้านเลยลดลงเรื่อย ๆ และผมก็ไม่อยากให้ชุมชนที่มีเสน่ห์เรื่องลำไยมันหายไป เลยเริ่มคิดเรื่องการแปรรูป”

“ผมทดลองหลายอย่าง ทั้งเอาไปต้มเบียร์ เริ่มแบ่งสัดส่วนการปลูกพืชชนิดอื่น เช่น โกโก้และเลม่อน ที่อนาคตเราอาจจะเอามาดัดแปลงทำอะไรสักอย่างควบคู่กับลำไยได้ ประจวบเหมาะกับผมได้พูดคุยกับอาจารย์ด้านแปรรูปอาหารและสมุนไพรท่านหนึ่ง เขาแนะนำให้ผมรู้จักน้ำตาลลำไยสกัด เราเลยเห็นช่องทางว่า ทุกวันนี้คนในท้องถิ่นทำลำไยอบแห้งกันเยอะแล้ว แต่แทบจะไม่มีใครรู้จักน้ำตาลลำไย หรือไปเสิร์ชกูเกิลซื้อน้ำตาลลำไยมาใช้ เราเลยอยากลองทำ เพื่อให้คนได้รู้จักสิ่งนี้ และรู้ว่ามันมีดี แล้วก็มีอยู่จริงนะ”

หนุ่มลำพูนคนนี้พยายามแนะนำน้ำตาลลำไยในรูปแบบไซรัปตรงหน้าให้ฉันรู้จักอย่างตั้งใจ ไม่ต่างจากแนะนำเพื่อนใหม่ให้รู้จัก เขาบอกว่าเพื่อนคนนี้เป็นน้ำตาลผลไม้ มีคุณประโยชน์หลายด้าน โดยศึกษาจากงานวิจัยต่าง ๆ ว่าเมล็ดของมันนั้นมีคนเอาไปทำยาหม่อง แก้ปวดเข่า ปวดข้อ และขึ้นชื่อว่าความหวานจากแหล่งธรรมชาติ ไร้การปรุงแต่ง คุณประโยชน์ที่ได้จึงดีต่อร่างกายอย่างไม่ต้องสืบ แน่นอนว่าเหมาะกับผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวเบาหวาน ความดัน หรือหัวใจ บริโภคได้ทั้งแบบเพียว ๆ เป็นซอฟต์ดริงก์ให้ร่างกายสดชื่น หรือใส่ปรุงอาหารตามใจชอบ… ฟังดูแล้วเพื่อนใหม่แบรนด์นี้น่าสนใจไม่ใช่น้อย

Longniga ไซรัปลำไยเคี่ยวเตาฟืนบ้านเหล่าดู่ หมู่บ้านใน จ.ลำพูน ที่ปลูกลำไยทุกหลัง

เสน่ห์น้ำตาลลำไยจากวิถีชุมชน

Longniga เลือกใช้ลำไยพันธุ์อีดอลูกโตซึ่งนิยมปลูกในบ้านเหล่าดู่ เนื่องจากเป็นที่ต้องการของกลุ่มลูกค้าคนจีนที่แวะเวียนมาจับจ่ายใช้สอยในหมู่บ้านอยู่แล้ว แต่การนำลำไยมาสกัดเป็นน้ำตาลนั้น ต้องคว้านเอาแต่เนื้อออกมาหลายกิโลกรัมเพื่อเอาออกมาใช้ต่อหนึ่งขวด ปอนด์จึงคิดว่าจะทำอย่างไรดีให้ขั้นตอนการผลิตรวดเร็วขึ้น คำตอบที่ได้คือใช้เครื่องคว้านเอา ทว่าหากใช้เครื่องคว้าน ต้องแลกมากับการไม่จ้างแรงงานในหมู่บ้าน ซึ่งผิดจากความตั้งใจแรกของเขาอยู่พอสมควร

“เรามานั่งคิดกันในกลุ่ม และเลือกใช้แรงงานคนเหมือนเดิม เพราะเราอยากกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน ให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วม ถึงรู้ว่ามันอาจจะช้ากว่าเครื่องจักร แต่เขาได้มีส่วนร่วมแน่ ๆ ตอนนี้อาจจะมองว่าช้า แต่ผมมองว่าทำบ่อย ๆ ความเร็วจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับความชำนาญ”

ความมุ่งมั่นของปอนด์ มอบจุดเด่นให้กับแบรนด์อย่างหนึ่ง คือการสร้างรายได้หมุนเวียนกันเองในชุมชน แต่ละคนในวิสาหกิจมีหน้าที่ต่างกัน คนหนึ่งหาผลผลิต อีกคนส่งต่อลำไยไปให้กลุ่มแม่บ้านช่วยกันคว้าน อีกคนไปหาตลาด อีกหน้าที่ทำการดีลกับเกษตรอำเภอ และเกษตรจังหวัด รวมถึงการออกงานอีเวนต์ต่าง ๆ ที่ทำการแบ่งหน้าที่กันไป จึงอาจตอบได้ว่าแบรนด์ Longniga เข้ามาช่วยให้ทั้งชาวบ้านมีรายได้จากปัญหาทางเศรษฐกิจ และปลุกให้บ้านเหล่าดู่ยังเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยลำไยอีกครั้ง

น้ำตาลลำไยจากฝีมือคนในชุมชน ผ่านการลองผิดลองถูก แรก ๆ ความตั้งใจแรกของปอนด์ คืออยากผลิตเป็นน้ำตาลกรวด ใช้แทนน้ำตาลทรายสังเคราะห์ แต่เมื่อทดลองแล้วไม่เวิร์ก เพราะน้ำตาลลำไยจะคืนตัวเป็นของเหลวได้ง่ายเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนไป เขาจึงเบนเข็มมาทำรูปแบบไซรัปแทน 

เริ่มจากลองใช้ลำไยแบบไม่ปอกเปลือกก่อน ช่วงแรกได้รสชาติเฝื่อน ๆ กินยาก เขาจึงลองแกะเปลือกเหลือแต่เมล็ด ก็ยังมีรสเฝื่อนอยู่ ถัดมาเลยลองเอาเมล็ดออก เหลือไว้แค่เฉพาะเนื้อ แน่นอนว่าอร่อย กินง่าย แต่ประโยชน์ที่ติดมากับเมล็ดนั้นหายไป ปอนด์เลยค่อย ๆ ทดลองใส่เมล็ดเข้าไปเรื่อย ๆ และดูว่าประมาณเท่าไหร่ถึงจะไม่เฝื่อน ไม่ฝาด จนได้น้ำตาลลำไยที่ยังคงประโยชน์ของเมล็ดลำไยไว้อยู่ แต่รสชาติยังคงความหวานนุ่ม ควบคู่กับการใช้เสน่ห์ชุมชนที่เครื่องจักรมอบให้ไม่ได้ คือการเคี่ยวน้ำตาลด้วยฟืนบนกระทะไปเรื่อย ๆ จนได้ความหวานที่ 50 บริกซ์ ทำให้ได้กลิ่นฟืนอ่อน ๆ ตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้าน

Longniga แบรนด์น้ำตาลลำไยลำพูน ตั้งใจอนุรักษ์ผลไม้ซึ่งเป็นหัวใจของบ้านเหล่าดู่ และสร้างอาชีพให้ชุมชน

น้ำตาลลำไยที่เป็นมิตรกับคนและสิ่งแวดล้อม

แนวคิด ‘ไม่หยุดอยู่กับที่’ เป็นสิ่งที่ปอนด์ยึดมั่นมาตลอด 2 ปีในการทำแบรนด์ วันนี้เขาได้ช่วยให้สวนลำไยอยู่คู่บ้านเหล่าดู่เป็นของดีประจำถิ่นต่อไป ได้ช่วยเหลือคนในชุมชนผ่านการจ้างงาน และยังมีเครือข่ายพันธมิตรที่คอยเกื้อหนุนกันในชุมชน ผ่านการแตกไลน์เป็นโปรดักต์ลำไยฟรีซดรายฝืมือคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านเดียวกัน

นอกจากนี้ยังสร้างระบบนิเวศในชุมชนด้วยกระบวนการ Zero Waste ซึ่งทำให้การผลิตไซรัปในหมู่บ้านไม่มีของเสียหลงเหลือแม้แต่น้อย ด้วยการทำปุ๋ยหมักจากกากลำไย

“สิ่งที่เหลืออยู่จากกระบวนการล้างคว้านลำไย คือเปลือกและเมล็ด ซึ่งก่อนหน้านี้หมู่บ้านเราทำปุ๋ยจากใบลำไยอยู่แล้ว และทุกครัวเรือนมักจะนำเศษอาหารหรือเศษใบไม้จากบ้านตัวเองมาทับกันบนกองปุ๋ย ตอนนี้ก็แค่เพิ่มเอาเปลือกและเมล็ดลงไปในกองปุ๋ยด้วย เพื่อให้ชุมชนของเราไม่มีขยะ เพราะผมไม่อยากให้กองขยะนั้นเน่าเสียหรือถูกเผาทิ้ง จนเกิดปัญหามลพิษตามมา”

ไม่แปลกใจว่าทำไมบ้านเหล่าดู่ถึงกลายเป็นชุมชนสะอาด ได้รับรางวัลหมู่บ้านดีเด่นจากทางจังหวัดได้ เพราะนี่คือการหมุนเวียนทรัพยากรภายในให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง

แบรนด์ชุมชนที่อยากขยายสู่โลกภายนอก

“การดื่มไซรัปลำไยที่เราแนะนำ คือก่อนนอน 1 ช้อน จะช่วยให้หลับลึก ตื่นเช้ามาจะสดชื่น ส่วนช่วงเช้าดื่มได้อีก 1 ช้อนเพื่อฟื้นฟูร่างกาย หากนำไปปรุงอาหาร ใช้ทดแทนน้ำตาลทรายได้เลย ทั้งชงกาแฟ ใส่แทนน้ำผึ้งกินผสมมะนาว หรือกับอาหารคาว ก็ต้ม ผัด แกง ทอด โดยไม่ทำให้รสชาติอาหารเสีย” ปอนด์อธิบายให้ฟัง เขาเสริมว่าปัจจุบันแบรนด์ Longniga ยังเน้นทำธุรกิจแบบ Made to Order อยู่ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ยังเป็นคนในเกษตรอำเภอและคนในจังหวัด แต่ในอนาคตเขาตั้งใจขยายฐานลูกค้าออกนอกชุมชน เพื่อให้คนได้รู้จักน้ำตาลลำไยมากขึ้น และเพื่อจับทางความต้องการของลูกค้านอกชุมชนให้แม่นยำ ซึ่งถือเป็นการบ้านที่ท้าทาย

Longniga แบรนด์น้ำตาลลำไยลำพูน ตั้งใจอนุรักษ์ผลไม้ซึ่งเป็นหัวใจของบ้านเหล่าดู่ และสร้างอาชีพให้ชุมชน

“พวกเราอยากนำสินค้าออกไปสู่สายตาคนแต่ละจังหวัดให้มากขึ้น เพราะการได้พบปะพูดคุยกับลูกค้าตามงานอีเวนต์ หรือเอาสินค้าไปไปแนะนำให้ชุมชนอื่น ๆ ได้เห็น ได้รู้จัก มันทำให้เรานำฟีดแบ็กกลับมาพัฒนาแบรนด์ต่อไป”

“ผมเคยคิดว่าน้ำตาลลำไยที่ช่วยเรื่องการหลับลึก กลุ่มลูกค้าส่วนมากน่าจะเป็นช่วงอายุ 40 – 60 ปี ซึ่งมีปัญหานอนยาก แต่พอได้เอาแบรนด์เราไปออกงานจริง ๆ กลับพบว่า คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาถาม เข้ามาสนใจ เป็นช่วงวัย 30 ต้น ๆ ถึง 30 ปลาย ๆ ซึ่งคือวัยทำงานที่มีปัญหานอนยากและชอบตื่นมากลางดึก ทำให้เราได้ข้อคิดว่า บางทีจากสมมติฐานที่ตั้งไว้ อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คิดทั้งหมด เราจึงต้องพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อย ๆ

Longniga แบรนด์น้ำตาลลำไยลำพูน ตั้งใจอนุรักษ์ผลไม้ซึ่งเป็นหัวใจของบ้านเหล่าดู่ และสร้างอาชีพให้ชุมชน

“ทุกวันนี้เราพอมองลูกค้าออกว่าเป็นกลุ่มรักสุขภาพ เรารู้ว่าลูกค้าคือใคร แต่เรายังเข้าถึงเขาไม่ทั่วถึง นี่ยังเป็นโจทย์ที่พวกเราต้องจัดการต่อไป” นั่นทำให้ปอนด์พาแบรนด์ Longniga ของเขามาแนะนำให้คนรู้จักในงาน Local Enterprise Social Expo 2022 ‘คน-ของ-ตลาด’ ในครั้งนี้

“ในอนาคตผมจะผลักดันให้ชาวบ้านผลิตสินค้าเป็นของตัวเองได้ และทางวิสาหกิจจะช่วยกันพัฒนาทางด้านการตลาด เพื่อให้คนในชุมชนได้เห็นว่า เรายังมีทิศทางอื่นนอกจากขายลำไยสด แต่มันแปรรูปเป็นอะไรได้อีกหลายอย่าง”

ปอนด์-ปิยะพันธ์ สุรินทร์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Longniga แบรนด์น้ำตาลลำไยลำพูน ตั้งใจอนุรักษ์ผลไม้ซึ่งเป็นหัวใจของบ้านเหล่าดู่ และสร้างอาชีพให้ชุมชน

แนวคิดของปอนด์ไม่ต่างอะไรจากคอนเซ็ปต์ ‘คน-ของ-ตลาด’ เพราะเขาต้องการมุ่งเน้นให้ทั้งระบบเติบโตอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ ต้นน้ำที่เริ่มจาก ‘คน’ ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการประกอบธุรกิจ ถัดมาคือ ‘ของ’ ที่มาจากวัตถุดิบซึ่งโดดเด่นในชุมชน และปิดท้ายด้วย ‘ตลาด’ ที่เน้นการพัฒนาแบรนด์ให้ลงไปอยู่ในใจของลูกค้าหลาย ๆ คน

หากตอนนี้คุณมองหาความหวานให้กับร่างกาย น้ำตาลลำไยถือเป็นตัวเลือกใหม่ที่แวะเวียนมาทักทายคุณท่ามกลางสารพัดน้ำตาลในตลาด แต่ต่างกันตรงที่ผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ Longniga เป็นน้ำตาลลำไยที่นอกจากช่วยดูแลร่างกายจากสารให้ความหวานที่เกิดจากธรรมชาติแล้ว ยังช่วยดูแลคนในชุมชนผ่านการจ้างงาน และหล่อเลี้ยงสิ่งแวดล้อมด้วยวิถีชุมชนที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ เพื่อให้ทั้งคน ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อม เติบโตไปพร้อม ๆ กัน

Writer

Avatar

พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ

นัก (ชอบ) เขียนบ้ากล้องที่ชอบถ่ายรูปตัวเองเป็นพิเศษ เสพติดเสียงธรรมชาติ กลิ่นฝน และสีเลือดฝาดบนใบหน้า ที่ใช้เวลาเขียนงานไปพร้อมๆ กับติ่งอปป้าอย่างใจเย็น

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ