ตอนเช้าเราเพิ่งไถอินสตาแกรม @lolaytoon เห็น นินจา ลูกคนเล็กของโลเลถือขวดสี หมุนตัว ประทับวงกลมหลายวงลงบนลานบ้าน ตอนเย็นเราก็นั่งรถมาถึงหัวหิน และมาดูวงกลมเหล่านั้นที่แห้งแล้วด้วยตาตัวเอง
โลเล-ทวีศักดิ์ ศรีทองดี เป็นศิลปินชาวไทยที่ทำงานศิลปะหลายแขนง แต่ก็มีสไตล์เป็นเอกลักษณ์ชัดเจนมาก ๆ จนยากที่ใครจะเหมือน
บังเอิญมากที่หลังจากเรามาเยี่ยมบ้านเขาแค่วันเดียว ‘เด็กดิน’ ประติมากรรมที่เขาทำร่วมกับ ติ้ว-วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ก็เป็นที่พูดถึงในโลกโซเชียลขึ้นมา เมื่อเพจข่าวราชบุรีเรียกร้องให้ย้ายเด็กดินไปอยู่ใน ‘ที่ที่เหมาะสม’ นอกเมืองเก่า เพราะภาพลักษณ์ที่ไม่สื่อถึงความเป็นราชบุรี
งานศิลปะเป็นประเด็นเสมอ แต่นี่แหละถึงทำให้มันพิเศษ เพราะงานศิลปะไม่เคยเป็นแค่งานวาดรูป แค่งานปั้น แต่ใจความของมันมักนำพาการถกเถียงมาสู่สังคมมนุษย์
เขาอายุเข้า 53 ปีแล้ว เดินทางไปทำงานศิลปะมาก็หลายประเทศทั่วโลก ปัจจุบันนี้เขามีชีวิตพาร์ตครอบครัวมากขึ้น เลี้ยงลูก เล่นกับลูก ยังคงสนุกไม่ต่างจากเดิม แต่ก็เห็นแง่มุมใหม่ ๆ ของชีวิตที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในวัยอื่น
ณ บ้าน-ร้านกาแฟ-สตูดิโอ แห่งนี้ เขาจะมาเล่าให้ฟังถึงเมล็ดพันธุ์ความเป็นนักทดลองของเขาที่ส่งผ่านไปยังลูก ๆ โดยไม่ต้องสอน ไม่ต้องแนะนำ จนทุกวันนี้ โรมัน และนินจาก็จัดได้ว่ามั่วเก่ง (ตามพจนานุกรมของโลเล ‘มั่ว’ เป็นคำที่ดีมาก) และทำงานสร้างสรรค์ในรูปแบบที่คิดค้นขึ้นมาเอง
ขอเชิญก้าวเข้ามาพบความหรรษาของพ่อแม่ลูกนักศิลปะพร้อมกับเราได้เลย
นักทดลองตัวพ่อ
เราเริ่มบทสนทนาในสตูดิโอ ด้วยการพูดถึง Solo Exhibition ชื่อว่า ‘Ju Ju’ ที่เพิ่งจบไปของโลเล ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ธีมคือ ‘วรรคตอนชีวิต’ เล่าถึงงานของเขาในช่วงเวลาต่าง ๆ
เช่นโปรเจกต์ ‘Monslolita’ เล่าถึงเมืองนาริตะ จากที่เป็นเมืองที่รุ่งเรือง ก็กลายเป็นเมืองที่ถูกทอดทิ้ง ไม่มีวัยรุ่น มีแต่คนแก่กับเด็ก เมื่อโลเลได้ไปอยู่ที่เมืองนั้น ก็เกิดไอเดียมอนสเตอร์ในเมืองขึ้นมา แล้วก็มีงานชื่อ ‘Hero’ เล่าถึงสงครามโลกและบุคคลสำคัญที่อยู่ในสงคราม
ที่ผ่านมา โลเลแทบจะไม่ได้เล่าเรื่องของตัวเองในงานศิลปะเลย “มันเป็นเรื่องส่วนตัว” เขาบอกอย่างนั้น แต่ตอนนี้ครอบครัวกลับทำให้เขาเล่าความคุกรุ่นส่วนตัวลงในงานมากมายโดยที่เขาเองก็ไม่ทันรู้ตัว
“เราเล่าเรื่องสัมพันธภาพ วัยที่แตกต่าง เรื่องเจเนอเรชัน เรื่องการศึกษา มันมาจากลูกหมดเลย แล้วก็ตั้งคำถามกับความเป็นผู้ใหญ่ จากอดีตที่เราเชื่อว่าอยู่นานแล้วจะเป็นรุ่นใหญ่ ทุกคนต้องฟัง มันก็ไม่ใช่แบบนั้น”
ที่พิเศษคือ คราวนี้โลเลเจอเพื่อนใหม่ชื่อ แฮม-ฐาณิศร์ สินธารัตนะ (Ham Tanid) เป็นนักเรียนดนตรีแจ๊สที่เจอกันโดยบังเอิญ ซึ่งตั้งแต่เจอกันวันนั้น ชีวิตของทั้งโลเลและแฮมก็เปลี่ยนไป ต่างคนต่างได้เข้าไปในโลกของอีกคน และทำงานสร้างสรรค์ด้วยกันอย่างสนุกสุดเหวี่ยง
“เขาเป็นนักทดลองคนหนึ่ง” โลเลภูมิใจนำเสนอสุด ๆ เขาถูกใจแฮมที่อิมโพรไวส์ดนตรีขึ้นมาจากโน้ต 2 โน้ต เขาจึงชวนแฮมเล่นซนกับซาวนด์ต่าง ๆ ในโลก ซึ่งในนิทรรศการก็มีการคอลแล็บกันระหว่างเขากับแฮมเป็นไฮไลต์
โลเลอินกับแฮมมาก ๆ และพูดถึงเพื่อนต่างวัยคนนี้ด้วยตาเป็นประกาย พลางเปิดอัลบัม RhizomE x Ju Ju ที่ทำด้วยกันให้เราฟัง เปิดอินสตาแกรมโปรเจกต์ @voicewoice ที่ทำด้วยกันให้เราดู และนั่นก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญอะไรเลย เขาเองก็เป็นนักทดลองที่มาก่อนกาลเช่นกัน
หากถามว่าโลเลเป็นศิลปินที่ทำงานประเภทไหนคงตอบได้ยาก ด้วยความชอบทดลองของเขา เขาจึงทำงานหลายมีเดียมากที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้
โลเลสนใจศิลปะเพราะแม่ แม่ของเขาเรียนมาไม่มากนัก แต่ต้องดูแลน้องเยอะ แม่จึงเป็นคนชอบแก้ปัญหา ใช้ทักษะที่มีทำมันให้ได้
“ช่วงเด็ก ๆ คลุกคลีกับการประดิษฐ์ของมากเลย เพราะว่าเราไม่มีของเล่น แม่ก็จะบอกว่าทำอย่างนี้ได้นะ ๆ กาวก็ไม่ต้องไปซื้อแม่บอกใช้ข้าวได้ เราก็เอาข้าวมาทำว่าวเล่นเอง” แม่ที่เรียนเย็บผ้ามา ก็สอนโลเลเย็บผ้า จนเขารับจ้างปักชื่อตอนมัธยมได้ เรียกว่าเขาได้สกิลล์นักประดิษฐ์มาจากแม่
เขาเลือกเรียนต่อ ปวช. ที่ไทยวิจิตรศิลป์ เมื่อจบ ม.3 และเอนทรานซ์เข้าคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อจบ ปวช.
“เราอยากไปให้สุดเลย ก็คือ Fine Art เรื่องประยุกต์คิดว่าฝึกเองได้” เขาทำงาน Fine Art ส่งอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย ส่วนที่เหลือเขาก็ทำเล่น ๆ ไว้ดูเอง วันดีคืนดีก็รวมผลงานที่ทำเล่นใส่แฟ้ม เดินเข้าไปสำนักพิมพ์ Image จนได้งานทำตั้งแต่เรียนยังไม่จบ
เมื่อเรียนจบมา โลเลได้ทำงานศิลปะหลายหลายแขนงดั่งใจฝัน ทั้งวาดภาพประกอบ ออกแบบมิวสิกวิดีโอ ออกแบบคอสตูม ไปจนถึงการเป็นนักเขียน ซึ่งนอกจากในไทย เขาก็ได้ไปเฉิดฉายในประเทศต่าง ๆ ในโลกด้วย
“มีคนที่อยู่ในวงการ Fine Art สมัยก่อนเขาบอกกับเราเหมือนกันว่าควรทำงานศิลปะให้มันแข็งแรงไปเลย ไม่ต้องไปทำอย่างอื่น แต่เราชอบไง เราชอบทำหลาย ๆ อย่าง ก็เลือกตามที่เราชอบดีกว่า คิดว่ามันเป็นความสนุก” โลเลกล่าวอย่างมั่นใจ
การเรียนคณะจิตรกรรมฯ ทำให้เขามีพื้นฐานศิลปะที่แน่นมาก เขาเรียนวาดรูปเหมือน ปั้นคนก็เหมือน เพราะฉะนั้น การสละสิ่งที่ตัวเองมีก็เป็นเรื่องยากไม่น้อย เขาต้องหาตัวเองว่าจะทำยังไงให้สไตล์ลงตัว แบบที่จะเด็กก็ไม่เด็ก จะ Naive ก็ไม่ Naive
“ผมชอบความมั่วด้วยแหละ มั่วไปในที่สุดแล้วเราก็จะเจอความมั่วที่เป็นแพทเทิร์น”
ทุกวันนี้เขามาไกลจากแบบแผนเดิม ๆ และออกไปเจอสิ่งที่เป็นตัวเองมาก ๆ ใครเห็นงานก็เดาได้ว่านี่แหละคืองานของโลเล ศิลปินที่ทำงานหลากหลายคนนั้น ศิลปินที่ไม่เคยหยุดทดลองไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่
นักทดลองเลี้ยงลูก
โลเลเป็นคนอุดรฯ เกิดที่อุดรฯ แต่ย้ายมาหัวหินทันทีที่ลืมตาดูโลก เพราะพ่อเป็นตำรวจพลร่มประจำการที่หัวหิน ซึ่งหลังจากนั้นพ่อก็ได้ย้ายไปทำงานหลายที่ โลเลก็ย้ายตามพ่อไป ออกจากหัวหินตั้งแต่ ป.4 แต่สุดท้ายแม่ของเขาก็กลับมาปลูกบ้านที่หัวหิน เมืองที่แม่สบายใจที่สุด
เขามีโอกาสตามแม่มาอยู่ในภายหลัง เพราะอยากอยู่ในบรรยากาศพื้นที่บ้านกว้าง ๆ ไปทะเล ไปภูเขาได้ตลอดเวลา เขาซื้อที่ดินและปลูกบ้านอยู่กับ แพร คู่ชีวิตที่เจอกันสมัย Hi5 กำลังบูม
จากปากคำของแฟน แพรเป็นคนตาดี รู้จังหวะในการกดชัตเตอร์กล้อง วาดรูปก็เป็น ตีกลองก็ได้ แม้จะตีไม่เก่งก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะวง HAPPYBAND ที่เล่นด้วยกันกับโลเลต้องการคนตีกลองไม่เก่งแต่มีชีวิตชีวา โลเลบอกว่าในชีวิตเขาเจอคนที่อยู่ด้วยแล้วสนุกมาก ๆ จำนวนหนึ่ง แพรก็คนหนึ่ง เพื่อนผู้ล่วงลับที่เล่นเบสในวง HAPPYBAND ก็คนหนึ่ง และล่าสุดก็คือแฮมคนนั้นเอง
“ตั้งแต่ย้ายมาหัวหิน เราคิดว่าชีวิตการทำงานศิลปะนี่เละเทะไปแล้วนะ ลูกก็เล็ก ไม่มีเวลา เหมือนตัดขาดงานที่กรุงเทพฯ ไปเลย” โลเลพูดติดตลก “เมื่อก่อนเคยวาดฝันว่าจะอยู่ในสตูดิโอ ทำงานศิลปะทั้งวัน แต่สุดท้ายมันก็ไม่สำคัญ เราเป็นแค่คนคนหนึ่งเท่านั้นเอง”
อยู่ที่นี่แพรชงกาแฟดำจริงจัง และเปิดร้านกาแฟให้คนอื่นมาร่วมจิบกาแฟในบ้านด้วย จากที่โลเลกินกาแฟไม่เป็น เขาก็เริ่มอินตามแพร เริ่มรับรู้ถึงความสุนทรีของรสชาติ จากกาแฟก็ไปถึงรสอื่น ข้าวสวย น้ำเปล่า โลเลกลายเป็นคนตั้งใจดื่มด่ำกับทุกแง่มุมของชีวิต
“ครอบครัวทำให้ความซีเรียสของเราเปลี่ยนไป เราเป็นผู้ชาย ก็ทำเป็นเท่ ฟังเมทัล พอมีลูกก็ได้ดู Peppa Pig ดู Dora เล่านิทาน ร้องเพลง Twinkle Twinkle Little Star ให้ลูกฟังทุกวัน” เขาพูดไปหัวเราะไป “แล้วเราก็รู้สึกว่า ที่จริงโลกมันก็น่าอยู่นะ ถ้าเรามองเห็นแง่มุมแบบนั้น”
จากที่เป็นคนเนี้ยบ ๆ จริงจังกับการจัดของ เมื่อมีลูกก็ต้องทำใจกับลูก ขณะที่เรากำลังคุยกัน เด็ก ๆ ก็ทำงานศิลปะไปด้วย บางทีก็เลอะออกมานอกเฟรมไม่น้อย แต่โลเลเวอร์ชัน 2023 ก็เห็นว่ามันสวยขึ้นมาเสียอย่างนั้น
“ไม่เป็นไร้! ไม่เป็นไร! ได้!” เขายืนยัน
“บางทีนั่งมองแล้วก็ลองปล่อยให้มันเป็น ดูว่ามันจะไปถึงไหน พอถ่ายรูปมาแล้วก็ เอ้อ! ถึงจะรกมันก็ดูสวยเนอะ เราเลยรับได้กับเรื่องพวกนี้ ชีวิตมีสีสันดี มีลูกนี่สนุกมากฮะ” โรมันและนินจาก็คงเป็นอีกสองคนที่จัดอยู่ในลิสต์ ‘ผู้คนสนุก ๆ’ ของโลเล
พี่ว่าพี่เลี้ยงลูกสไตล์ไหน – เราถาม
“เราเลี้ยงลูกกันเอง ทำเองทุกอย่างเลย แต่เป็นคนที่ไม่รู้เรื่องอะไร บางทีแพรก็ศึกษาตามกูเกิล” เขาบอกกับเรายิ้ม ๆ ดูเหมือนว่าการเลี้ยงลูกจะเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ทดลองสำคัญ
โลเลเชื่อว่าการได้อยู่ใกล้ ๆ กัน จะทำให้มีแรงดึงดูดซึ่งกันและกัน ตอนที่เขาเป็นแฟนกับแพร เขาก็ตัวติดกันตลอด เมื่อมีสมาชิกเพิ่มมาอีกสองก็ยังเป็นเหมือนเดิม ทุกเช้าเขากับแพรจะต้องพากันไปส่งลูกที่โรงเรียน เย็นก็ไปรับด้วยกัน วันไหนโลเลมีงานที่กรุงเทพฯ ก็ขนกันไปทั้งบ้านแม้จะต้องลาโรงเรียนก็ตาม เพราะแบบนี้ เขาถึงเชื่อว่ายังคอนเนกต์กับลูก เขารู้ว่าลูกคิดอะไร
เพราะอยู่ใกล้กัน ทุกวันนี้ความสนใจของโลเลและลูก ๆ จึงส่งผลซึ่งกันและกันมาก
“ผมประดิษฐ์ โรมันก็ทำ นินจาก็ทำตามพี่ ผมดูนินจาพับกระดาษ ผมก็อยากพับบ้าง” โลเลเล่า เราเซอร์ไพรส์กับเรื่องนี้เหมือนกัน คิดว่าลูกจะเป็นฝ่ายได้รับอิทธิพลจากเขาเป็นหลัก
เขาชอบฟังเพลง เล่นดนตรี โรมันก็ซึมซับมาอย่างเต็มที่และเริ่มจับกีตาร์บ้าง ตอนเล็ก ๆ โลเลมักกลัวลูกทำเครื่องดนตรีแพง ๆ เสียหายจนต้องคอยเบรกลูก แต่เมื่อเวลาผ่านคนก็เปลี่ยน ตอนนี้เขาปล่อยลูกเล่นเต็มที่
“ไม่ส่งเรียนนะ” เขาประกาศกร้าว
โรมันเล่นท่อนเปิดในตำนานของ Smoke on the Water ให้เราฟังอย่างคล่องแคล่วได้ก็เพราะฟังเอง หาเสียงเอง ไม่ได้เข้าเรียนกีตาร์ตามหลักสูตร หนำซ้ำพ่อที่เล่นกีตาร์ก็ไม่คิดแม้แต่จะสอนลูก
เพราะทำเอง ไม่มีใครไปจ้องมอง โรมันก็เลยยังสนุกกับกีตาร์ ทั้งยังรู้สึกภูมิใจที่ตัวเองทำได้ และโลเลก็รู้สึกดีอย่างที่สุดที่โรมันได้สนุกกับการทดลองเหมือนที่เขามีโอกาสทำ กับงานศิลปะเองก็เช่นกัน โลเลปล่อยให้ลูกมั่วอย่างสนุกสนาน ทุกวันนี้ลูก ๆ จึงสนุกกับศิลปะไม่มีเบื่อ
แม่ของโลเลอาจจะปล่อยให้เขาทำเองด้วยวิถีชีวิตของแม่ แต่มาถึงรุ่นลูกของศิลปินอย่างเขาบ้าง เราคิดว่าเขาปล่อยลูก ๆ เพราะเขาคิดมาอย่างดีแล้ว น่าสนใจว่าอนาคตโรมันกับนินจาจะเติบโตไปทางไหน
นักทดลองตัวลูก
ชาว The Cloud ได้นั่งดูโรมันกับนินจาทำงานศิลปะในสตูดิโอกันอยู่พักใหญ่
สำหรับโรมัน ต้องบอกตามตรงว่าเท่มาก เขามีเทปสีน้ำเงินอยู่ในมือ มีภาพอยู่ในหัว จากนั้นก็จัดการดึงเทปไปติดบนเฟรมผ้าใบอย่างคล่องแคล่ว ออกมาเป็นรูปน้องหมา แซลมอน ที่ยืนสองขาแบบคน
“ผมอยากให้หมาของผมมันอยู่กับผมได้ฮะ นอนข้าง ๆ กัน เป็นเพื่อนกันได้เลยฮะ เวลาผมอยู่ที่บ้านผมก็ต้องเล่นกับน้อง ถ้าเกิดผมมีหมาก็คงเป็นเพื่อนได้อีกคนหนึ่ง แล้วถ้าหมาช่วยปลูกต้นไม้กับแม่ผมได้ก็คงจะดี จะได้ช่วยแม่ไม่ให้แม่เหนื่อย”
ส่วนนินจาน้องเล็กก็กำลังวาดวงกลมหลากสี โดยมีคุณแม่คอยเป็นลูกมือ
“นินจาทำเป็นวง ๆ เหมือนแบบนั้นน่ะสิ ชอบให้เส้นมันกลมต่อกัน” นินจาพูดถึงวงกลมที่ลานบ้าน
“เขาชอบอะไรวง ๆ อย่างพวกไข่” พี่ช่วยน้องที่ยังพูดไม่เก่งอธิบายเพิ่ม “ผมคิดว่าเขาน่าจะชอบเพราะโลกนี้มีของที่เป็นวงกลมอยู่เยอะ เช่น กระจกบ้านก็เป็นวงกลม ล้อรถก็เป็นวงกลม ไฟก็เป็นวงกลม ทุกอย่างเป็นวงกลมหมดเลย”
สิ่งที่ลูกชอบตั้งแต่เล็ก พ่อแม่อย่างโลเลและแพรคอยสังเกตอยู่เสมอ
“โรมันเขาชอบแกะเทป ตอนไปภาคใต้เขาติดเทปเป็นครั้งแรก เราก็ เออ! สวยดีนะ สักพักโรมันก็หยิบสีดำมาบีบใส่ เราก็เฮ้ย โรมันทำอะไรอะ มันก็ไม่เห็นรูปดิ ปรากฏว่าโรมันแกะเทปออก แล้วโรมันก็ขยายไอเดียนั้นไปสู่งานชิ้นใหญ่” ตอนนี้โรมันก็ภูมิใจในแนวทางนี้ เพราะได้ค้นพบด้วยตัวเอง โลเลบอกว่า เพราะแบบนี้มันถึง ‘แข็งแรง’ เขาจึงแอบดูมากกว่าจะเข้าไปสอนอย่างที่หลายคนคิด
โรมันชอบมอเตอร์ไซค์พอ ๆ กับที่ชอบงานประดิษฐ์ พ่อแม่ไม่อยากให้เขาขี่เพราะกลัวอันตราย เขาก็เลยจัดการดัดแปลงจักรยานของตัวเองจนไม่ยอมกินข้าวกินน้ำ นำกระดาษลัง นำเทปมาติดให้เสียดสีกับล้อ จนเสียงขณะขับเหมือนมอเตอร์ไซค์วิบากจริง ๆ (ไม่ได้โม้ ทีม The Cloud ที่ได้ไปฟังยืนยันได้เรียงคน!)
เพราะคนเข้าใจผิดอยู่บ่อย ๆ โรมันจึงเคยถามพ่อเหมือนกันว่า ทำไมทุกคนไม่เชื่อว่าเขาคิดเอง แต่โลเลก็ปลอบลูกว่า สิ่งนั้นไม่สำคัญเท่าการที่โรมันรู้อยู่แก่ใจ
“ส่วนสไตล์ของนินจาจะย้วย ๆ มาสตูดิโอนี่นะ บางทีก็ตั้งเฟรมไว้ เสียเวลาผสมสีแล้วใส่ขวดตั้ง ๆ ไว้ เสร็จแล้วแม่ก็เรียกกินข้าว แต่ถ้าเวลามันได้ นินจาก็จะทำเสร็จ” โลเลเล่าถึงลูกคนเล็กด้วยความเอ็นดู “นินจาชอบเอาขวด เอาลูกโป่งไปใส่น้ำแล้วแช่เย็น เราก็ไม่รู้ว่าจะเกิดเป็นงานอะไรของนินจา แต่รู้สึกว่าเขาเอนจอยกับอะไรแบบนี้”
เมื่อเราขอนินจาดูบ้าง แม่แพรก็เชียร์อัปลูกด้วยการบอกว่า “ไปเอาให้พี่เขาดูสิ เจ๋งมากเลยนะ” เจ้าตัวเล็กเลยวิ่งตัวปลิวนำเราขึ้นไปถึงตู้เย็นชั้นบนของบ้าน แล้วหยิบลูกโป่งใส่น้ำแช่แข็งออกมาให้เราดู 3 – 4 ลูก
เราถามโลเลว่า ในฐานะศิลปิน เขาได้ให้ความเห็นอะไรกับงานลูกบ้างรึเปล่า แต่เขาก็ยังยืนยันว่าไม่เลย เว้นแต่ว่าลูกทำเสร็จจึงชมไปจากใจจริง
“จะไปคอมเมนต์ทำไม” เขาว่า “ทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้ ถ้าชิ้นต่อไปเขาไม่อยากทำเหมือนเดิมแล้ว แต่เราไปบอกเขา เขาก็จะจำสิ่งที่เราบอกว่าพ่อไม่ชอบแบบนี้ เขาก็จะสับสนใจความคิดอีก สู้ไม่บอกดีกว่า เราก็แค่เป็นพวกพ้องที่ทำไปกับเขาด้วย”
เขาเชื่อว่าการที่ได้เติบโตมากับศิลปะและเสียงเพลง ดีงามตรงที่ลูก ๆ จะได้สัมผัสคำว่า ‘เอร็ดอร่อย’ กับโมเมนต์ปัจจุบันในชีวิต เหมือนกับตอนที่ James Brown เต้นฟังกี้ เหมือนกับการที่เปิดน้ำอาบแล้วเย็นสบาย เหมือนกับการที่ตักข้าวเข้าไปแล้วได้สัมผัสกับรสชาติ
“ถ้าเขามีความสุขกับเรื่องพวกนี้ เขาจะรู้สึกว่าชีวิตมันมีความหมายมาก”
หากแบ่งชีวิตด้วยคำว่า ‘วรรคตอน’ อย่างที่โลเลใช้ในนิทรรศการ วรรคตอนปัจจุบันนี้ก็เป็นช่วงที่เขาชื่นชอบ ทว่าเขาก็คิดถึงทุกช่วงเวลาที่เคยผ่านมา คิดถึงสิ่งที่เขาเป็นในตอนนั้น คิดถึงตอนลูกยังเล็กแล้วต้องล้างขวดนม แต่มาวันหนึ่งลูกก็เลิกกินนมขวด ไม่ต้องล้างอีกต่อไปแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป มันก็ผ่านไปจริง ๆ
“สิ่งที่ค้นพบตอนนี้ คือผมไม่เชื่อถืออะไรแบบจริง ๆ จัง ๆ เลย สิ่งที่ผ่านมาเป็นแค่หลักฐานว่าเราทำอะไร แต่เชื่อไม่ได้ว่าเรามาถูกหรือผิดทาง” ศิลปินพูดทิ้งท้าย “กับลูก ๆ เราก็ไม่คาดหวังว่าเขาจะเป็นศิลปิน เป็นอะไร แต่เราคิดว่าเขาน่าจะมีความสุข”