นั่งรถผ่าน BTS สถานีเพลินจิต และชิดลม เคยสงสัยมั้ยว่าใครเป็นคนตั้งชื่อเหล่านี้

คำตอบคือพระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) มหาเศรษฐีเจ้าของที่ดินไพศาล ตั้งแต่บริเวณสถานีรถไฟฟ้านานาจดคลองแสนแสบ

นายเลิศคนนี้เอง ที่เป็นต้นเค้าของคำว่า ‘เริ่ดสะแมนแตน’

เทิ่ง สติเฟื่อง (บรรยงค์ เสนาลักษณ์) นักแสดงและนักจัดรายการทีวีในยุคแรกของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม คิดคำศัพท์ ‘เริ่ดสะแมนแตน’ มาใช้ในรายการจนเป็นที่นิยม

คำนี้แผลงมาจากชื่อ ‘เลิศสะมันเตา’ ของนายเลิศที่วัยรุ่นยุคเก่าหมายถึงความเลิศหรูเป็นยอด บ้างก็ว่าชื่อนี้เป็นชื่อที่พ่อของนายเลิศตั้งให้ตอนเด็กๆ โดยเอาคำว่า สมันตา สมาสกับคำว่า เลิศ หมายถึง ดีเลิศเหนือสิ่งที่อยู่โดยรอบ ดีเหนือใคร ดีไม่เหมือนใคร

และบ้างก็ว่าแผลงมาจากห้างสรรพสินค้าหรูหราชื่อ Samaritaine (สะมาริแตน) ที่ปารีส 

ไม่ว่าจะเป็นชื่อไหน ธุรกิจของนายเลิศก็รุ่งเรืองและแปลกไม่เหมือนใคร จนกลายเป็นหนึ่งในพ่อค้าชาวสยามที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในยุคนั้น

ชีวิตเลิศ

จากเสมียนหนุ่มผู้ช่วยแหม่มแม็คฟาร์แลนด์ ดูแลธุรกิจขายน้ำหวานโซดา หรือน้ำมะเน็ดนำเข้าจากสิงคโปร์ นายเลิศเปิดโรงงานน้ำแข็ง จนได้รับฉายาว่า ‘ผู้ปั้นน้ำเป็นตัว’ และรับช่วงต่อกิจการน้ำมะเน็ดจากแหม่มชาวอเมริกัน

ตามมาด้วยกิจการอื่นๆ เช่น ห้างสรรพสินค้าห้างแรกที่มีเจ้าของกิจการเป็นคนไทย เป็นตึกสูง 7 ชั้นแถวเจริญกรุง ชื่อห้างนายเลิศ นำเข้าสินค้าจากเมืองนอก เช่น จักรซิงเกอร์ ผลไม้กระป๋องยุโรป จักรยาน สังกะสี นอกจากนี้ยังมีธุรกิจโรงแรม Hotel de la Paix ที่มีบาร์นายเลิศ โด่งดังเรื่องการเสิร์ฟวิสกี้ ออน เดอะ ร็อก เนื่องจากนายเลิศเป็นทั้งผู้นำเข้าแอลกอฮอลล์ และเจ้าของโรงงานน้ำแข็ง

แต่กิจการที่ทำให้นายเลิศเป็นที่รู้จักไปทั้งพระนครจริงๆ คือ ธุรกิจรถเมล์ขาว นายเลิศเริ่มจากเปิดกิจการรถม้าให้เช่าพร้อมสารถีเสร็จสรรพ และรถเมล์ม้าลาก ก่อนจะใช้ความรู้จากธุรกิจคมนาคมมาสร้างรถเมล์ขาว คนขับสวมเครื่องแบบสีขาวคล้ายกะลาสีกับหมวกทรงหม้อตาลดูสะอาดสะอ้าน เป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมจากชาวบ้านมาก เพราะมีสโลแกนว่า สุภาพ ซื่อสัตย์ ประหยัด ทันใจ เอากำไรแต่น้อย บริการผู้มีรายได้น้อย

อีกเหตุผลที่รถเมล์นี้เป็นที่จดจำ เพราะเมื่อรถแล่นจะส่งเสียงกึงกังโครมครามล่วงหน้า ชาวบ้านจึงขนานนามรถเมล์นี้ว่า อ้ายโกร่ง

บ้านปาร์คนายเลิศ, เลิศ เศรษฐบุตร, บ้านไม้สัก,บ้านและสวน, รถเมล์คันแรก, เลิศสะแมนแตน

ยังไม่หมดเท่านี้ นายเลิศยังมีธุรกิจเรือเมล์ขาวให้บริการในคลองแสนแสบ พร้อมเปิดตลาดเฉลิมโลก หรือตลาดนายเลิศใกล้ๆ กัน ใครมาซื้อมาขายของที่ตลาดนี้ จะมีโปรโมชั่นขึ้นเรือเมล์ขาวและรถเมล์ขาวได้ฟรี แถมยังเป็นคนใจบุญสุนทาน นำเรือออกไปบริการช่วยเหลือคนฟรีๆ เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาภักดีนรเศรษฐ แม้ไม่ได้รับราชการ

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้บริจาคเงินให้โรงพยาบาลเลิดสิน เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นสาธารณประโยชน์ ทั้งยังบริจาคที่สร้างโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ และโรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ อีกด้วย

นายเลิศเป็นเจ้าของที่ดินมากมายในพระนคร เขาตัดสินใจขยายพื้นที่ออกไป ด้วยการซื้อที่ดินแถวสุขุมวิทในสมัยต้นรัชกาลที่ 6 ซึ่งสมัยนั้นเป็นทุ่งนาที่เรียกว่าทุ่งบางกะปิ มีราคาเพียงตารางวาละ 8 สตางค์เท่านั้น

เรื่องราวของบ้านปาร์คนายเลิศ เรือนไม้เก่าแก่ และสวนต้นไม้ยักษ์ จึงเริ่มขึ้น

บ้านปาร์คนายเลิศ, บ้านรีโนเวท, เลิศ เศรษฐบุตร, บ้านไม้สัก

บ้านและสวน

นายเลิศตั้งใจพัฒนาพื้นที่ประมาณ 60 ไร่ แถวเพลินจิตเป็นบ้านพักตากอากาศ นอกจากบ้านหลักที่สี่พระยา โดยออกแบบเรือนไม้สักหลังใหญ่ไว้อยู่อาศัยใน พ.ศ. 2458 สั่งให้คนขุดคลองสมคิดหน้าบ้านเชื่อมต่อกับคลองแสนแสบ พร้อมจ้างสถาปนิกอิตาเลียนมาออกแบบสวนหย่อนใจอย่างปาร์คฝรั่ง โดยนอกจากใช้พักผ่อนกับครอบครัวแล้ว นายเลิศยังเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมในวันอาทิตย์ และให้ลูกเสือเข้ามาพักแรม

ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติสิริ บุตรสาวคนเดียวของนายเลิศเล่าว่า การนั่งรถจากบ้านมาตากอากาศที่นี่ใช้เวลาถึงครึ่งวัน และสมัยที่ยังไม่แบ่งขายที่ดินครึ่งหนึ่งให้สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรที่ย้ายออกจากบางรัก คุณพ่อสั่งให้ขุดสระน้ำใหญ่และชิงช้าให้คนกระโดดน้ำเล่น ตัวท่านผู้หญิงเองก็เล่นโครเกต์ แบดมินตัน และบางครั้งก็ลงไปพายเรือในสระ

ระยะแรกเรือนรับรองที่นี่มีเพียงบ้าน ใน เรือนไม้สักชั้นเดียวแบบจตุรมุข ยกพื้นใต้ถุนโล่ง หลังคาปั้นหยายกจั่วซ้อน 3 ชั้น มุงกระเบื้องดินเผาเคลือบ พื้นบ้านเป็นชิ้นไม้สักที่เรียงแนบกัน เป็นไม้ที่เหลือจากการสร้างสะพานพระราม 6 แต่ไม้ส่วนใหญ่ในบ้านมาจากโรงเลื่อยของนายเลิศเอง เนื่องจากนายเลิศเคยเปิดธุรกิจอู่ต่อเรือเดินสมุทรอยู่ระยะหนึ่งที่นี่ ทำให้มีไม้สักขนาดใหญ่มากมาย

บ้านปาร์คนายเลิศ, เลิศ เศรษฐบุตร, บ้านไม้สัก,บ้านและสวน, รถเมล์คันแรก, เลิศสะแมนแตน บ้านปาร์คนายเลิศ, เลิศ เศรษฐบุตร, บ้านไม้สัก,บ้านและสวน, รถเมล์คันแรก, เลิศสะแมนแตน

ต่อมาครอบครัวของนายเลิศย้ายมาอาศัยที่บ้านปาร์คเป็นการถาวร จึงต่อเติมเรือนไม้เข้าไปอีกหนึ่งหลังให้เชื่อมต่อกัน นายเลิศเป็นผู้ออกแบบเอง โดยเอาถ่านมาเขียนแบบแปลนบนพื้นให้ช่างดู

หลังจากนั้น พื้นที่ส่วนหนึ่งของปาร์คก็กลายเป็นอู่รถเมล์ขาว ทั้งใช้จอดและซ่อมบำรุงรถเมล์ เรือเมล์ ทั้งยังมีบ้านพักพนักงานเรียงราย และปั๊มน้ำมันสำหรับเติมรถเมล์อีกด้วย

ระเบิดลง

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น นายเลิศอายุ 70 ปี

ธุรกิจของนายเลิศประสบปัญหาจากสงคราม ห้างสรรพสินค้าต้องปิดตัวเพราะรับสินค้ายุโรปมาขายไม่ได้ ต้องซื้อขายกับญี่ปุ่นเท่านั้น กิจการโรงน้ำแข็งก็หยุดชะงัก ค่าเงินบาทไทยต่ำลงไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

เนื่องจากบ้านปาร์คนายเลิศอยู่ติดกับสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร คู่สงครามของญี่ปุ่น ทหารอาทิตย์อุทัยจึงบุกเข้ามาในบริเวณบ้าน และอยู่เฝ้าในบริเวณปาร์คถึง 4 ปี ระหว่างนั้นมีระเบิดโจมตีฝ่ายสัมพันธมิตรที่พลาดเป้าตกลงมาในปาร์คหลายครั้ง รวมทั้งหมด 22 ลูก

ครั้งหนึ่งตกลงมาหน้าบ้านเป็นหลุมลึก ทางบ้านปาร์คนายเลิศจึงปรับปรุงหลุมนั้นเป็นสระบัว

บ้านปาร์คนายเลิศ, เลิศ เศรษฐบุตร, บ้านไม้สัก,บ้านและสวน, รถเมล์คันแรก, เลิศสะแมนแตน

และบ้านปาร์คนายเลิศจึงมีหลุมหลบภัยขนาดลึก 10 เมตรไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ปัจจุบันกลายเป็นบ่อน้ำเล็กๆ

“พอหวอมาทีก็ขนของขึ้นรถ…หมดหวอก็ขับกลับมา คงเหลือแต่นายเลิศคนเดียวที่ไม่ยอมทิ้งบ้านไป…” ศ. ดร. สมพงษ์ จุ้ยสิริ เล่าไว้ในหนังสือ 100 ปีแห่งความเป็นเลิศ

“กูไม่ไป! …ด้วยความเป็นคนใจแข็ง แต่วันที่ระเบิดลงมาโดนบ้าน ระเบิดตูม เศษดินกระจายใส่หน้า ล้มก้นกระแทก… ตั้งแต่นั้นก็ยอมไปเลย แต่หวอหมดท่านก็รีบกลับก่อนเพราะเป็นห่วงบ้าน”

1 ปีก่อนสงครามสิ้นสุด ระเบิดตกลงมาที่เรือนฝั่งตะวันตก บ้านเสียหายทั้งหลังจนพลิกตะแคงขึ้นมา นายเลิศรอจนสงครามจบลง แล้วสร้างเรือนไม้ขึ้นใหม่แทนของเดิม สังเกตได้ว่าเรือนที่บูรณะจะสีอ่อนกว่า เพราะใช้ไม้แดงและไม้เต็งแทนไม้สัก และใช้เงิน 1 แสนบาทในการซ่อมแซม

หลังจากนายเลิศ และ คุณหญิง สิน ภักดีนรเศรษฐ ผู้เป็นภรรยาเสียชีวิตลง ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ก็อาศัยอยู่ที่บ้านปาร์คนายเลิศจวบจนสิ้นอายุขัย

คุณเล็ก-ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร ทายาทรุ่น 4 ของนายเลิศ ตัดสินใจเปลี่ยนเรือนไม้สักหลังงามเป็นพิพิธภัณฑ์ของครอบครัว โดยใช้เวลาปรับปรุงแล้วเสร็จในปี 2015 และเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมทุกวันพฤหัสบดี และวันศุกร์ ทั้งยังรับจัดเลี้ยงงานต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานหมั้น

ปัจจุบันภายในเรือนไม้เป็นอย่างไรบ้าง เราจะพาเข้าไปดู

บ้านปาร์คนายเลิศ, บ้านรีโนเวท, เลิศ เศรษฐบุตร, บ้านไม้สัก

เปิดบ้านใหม่

เมื่อเข้ามาถึงตัวบ้าน สิ่งแรกที่จะเห็นคือห้องรับแขกหรือห้องนั่งเล่น ภายในมีภาพถ่ายเก่าของครอบครัวนายเลิศ เช่นภาพถ่ายนายเลิศบนรถม้ากับสัตว์เลี้ยงคือลูกเสือดาวชื่อเจ้าแต้ม ภาพท่านผู้หญิง เลอศักดิ์ สมบัติศิริ และสามี คุณพินิจ สมบัติศิริ อดีตอธิบดีกรมศาสนา รองอธิปดีกรมศิลป์ และสถาปนิกในกรมศิลปากร

บ้านปาร์คนายเลิศ, เลิศ เศรษฐบุตร, บ้านไม้สัก,บ้านและสวน, รถเมล์คันแรก, เลิศสะแมนแตน

นอกจากนี้ยังมีแผ่นไม้เพนต์ลายวิถีชีวิตคนไทย ผลงานสุวรรณี สุคนธา นักเขียนนวนิยายเรื่อง น้ำพุ

รอบตัวบ้านมีของสะสมเก่าแก่ของตระกูล ทั้งของนายเลิศ และพระยาศรีเสนา (ศรีเสนา สมบัติศิริ) บิดาของคุณพินิจ สมบัติศิริ ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ เอกอัครราชทูตไทยคนแรกประจำประเทศญี่ปุ่น และองคมนตรีไทย

ของสะสมน่าสนใจมีทั้งของขวัญจากราชวงศ์ทั่วโลกที่เคยแวะมาพำนัก เช่น ราชวงศ์ญี่ปุ่น สวีเดน และธงผ้าจากภูฏาน เป็นของขวัญจากสมเด็จย่าของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก

นอกจากนี้ยังมีเครื่องถ้วยชามสมัยบ้านเชียง ลูกปืนวินเชสเตอร์ครบชุด ไม้เท้าสะสมของพระยาศรีเสนา และของเก่าแก่อื่นๆ อีกมาก

บ้านปาร์คนายเลิศ, เลิศ เศรษฐบุตร, บ้านไม้สัก,บ้านและสวน, รถเมล์คันแรก, เลิศสะแมนแตน บ้านปาร์คนายเลิศ, เลิศ เศรษฐบุตร, บ้านไม้สัก,บ้านและสวน, รถเมล์คันแรก, เลิศสะแมนแตน

ห้องหนึ่งจัดแสดงชุดและข้าวของเครื่องใช้ของท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ผู้หญิงไทยคนแรกๆ ที่ไปเรียนที่ญี่ปุ่น เป็นอดีตเจ้าของโรงแรมสวิสโฮเทล ปาร์คนายเลิศ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหญิงคนแรกของไทย และคนรักต้นไม้ที่ปลูกต้นไม้ใหญ่ทั่วปาร์คนายเลิศจนร่มรื่นเขียวขจี

บ้านปาร์คนายเลิศ, บ้านรีโนเวท, เลิศ เศรษฐบุตร, บ้านไม้สัก

บ้านปาร์คนายเลิศ, เลิศ เศรษฐบุตร, บ้านไม้สัก,บ้านและสวน, รถเมล์คันแรก, เลิศสะแมนแตน

สะพานเชื่อมเรือน 2 หลังเป็นไม้ที่เรียงล็อกกันพอดีแบบปาร์เกต์สวยงาม ทำให้พื้นแน่นไม่เอี๊ยดอ๊าด เกิดจากช่างฝีมือเยี่ยมตั้งแต่ก่อนยุคมีเครื่องไสไม้ รอยถากไม้ด้วยมือยังเห็นได้ทั่วโครงไม้ของตัวบ้าน

ถัดมามีห้องอาหาร ด้านหน้าเก็บเครื่องถ้วยลายคราม มีดาบลายครามและแจกันลาย จปร. สวยงาม นอกจากนี้ยังมีห้องพระเก่า ตู้พระธรรมอายุ 200 กว่าปี

บ้านปาร์คนายเลิศ, บ้านรีโนเวท, เลิศ เศรษฐบุตร, บ้านไม้สัก

เดินออกไปอีกนิดจะเจอครัวของคุณหญิงสิน มีตั่งไม้ที่ท่านใช้นั่งกำกับแม่ครัวให้ทำกับข้าวเลี้ยงสมาชิกครอบครัว แขกเหรื่อ และบริวารหลักร้อย ร่ำลือกันว่าสูตรอาหารคุณหญิงอร่อยมาก

ตรงข้ามห้องครัวคือเรือนแพที่ใช้เป็นท่าขึ้นลงเรือ สมัยก่อนคลองเป็นหน้าบ้าน ห้องครัวจึงเป็นจุดแรกที่จะได้เห็น

ส่วนห้องคอนกรีตของเรือนนี้มีห้องเดียว คือห้องน้ำแบบโบราณ สร้างขึ้นเมื่อสมัยนายเลิศชราแล้ว นับเป็นบ้านแรกๆ ที่มีชักโครกแบบโบราณ

นอกจากตัวบ้าน ที่นี่ยังมีรถเมล์ขาวสภาพใหม่เอี่ยมให้ชม และเรือเมล์ขาว 2 ลำ ชื่อสะมันเตา กับ ฆง ซึ่งนายเลิศต่อร่วมกับคนงาน และเคยล่องไปถึงเชียงใหม่อีกด้วย

จุดสังเกตสิ่งที่เป็นของนายเลิศ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ รถ หรือเรือ คือตราวงกลมมีกากบาทด้านในเหมือนขนมกงสีแดง ดูคล้ายตรากาชาด นายเลิศตั้งใจสื่อถึงพรหมวิหาร 4 หลักที่ใช้ในการดำรงชีวิตตลอดมา

ถ้าอยากเข้ามาชมอาณาจักรของนายเลิศแบบเต็มๆ ที่นี่เปิดทุกวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ วันละ 3 รอบ ได้แก่ 11 โมง บ่าย 2 โมง และบ่าย 4 โมงเย็น

บ้านปาร์คนายเลิศ

ที่อยู่: 2/2 ถนน วิทยุ แขวง ลุมพินี เขต ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

ขอบคุณข้อมูลทั้งหมดจาก บ้านปาร์คนายเลิศ และ หนังสือ ‘100 ปีแห่งความเป็นเลิศ’

ถ้าอยากรู้เรื่องการรีโนเวตบ้านหลังนี้ และเยี่ยมชมสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยที่กำลังจะย้ายออกจากย่านเพลินจิต สมัครมา Walk with The Cloud 09 : The Embassy & The Park ได้ที่นี่เลย

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล