ปัง! หลังจากปิดประตูรถ คนขับเหยียบคันเร่งไปตามแผนที่ที่ฉันปักหมุด รถเลี้ยวซ้ายที เลี้ยวขวาที จากถนนใหญ่ผ่านหมู่บ้านคนพลุกพล่าน จนจำนวนหลังคาบ้านเริ่มน้อยลง ต้นไม้สีเขียวเข้ามาแทนที่ เริ่มลึก…ลึกเข้าไปทุกที ชักจะหวั่นในใจ

รถจอดนิ่ง…โล่งอก ถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย ฉันเดินลงจากรถเข้าไปยัง ‘สวนชีววิถี’ เพื่อพูดคุยกับ กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และ บุญฤทธิ์ ขอดิลกรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท แปลน แอสโซซิเอตส์ จำกัด เกี่ยวกับสวนการเรียนรู้ทางการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร

พูดให้เข้าใจง่าย คือชวนกันไปเรียนรู้วิถีการกินดี อยู่ดีด้วยพืชผักสวนครัว เครื่องปรุงปลอดสารพิษ และการออกแบบอาคารหลังสวยให้ตอบโจทย์การใช้งานอย่างยั่งยืน

ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรงการเกษตร

ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรงการเกษตร

1

  “มูลนิธิชีววิถีเป็นองค์กรที่ทำข้อมูลเรื่องการเกษตร เราคิดมาโดยตลอดว่า อยากมีพื้นที่ที่แบ่งปันประสบการณ์ความรู้ได้ มีที่สำหรับปล่อยของของตัวเอง ก็เลยตัดสินใจชวนมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน มาซื้อที่ดินจำนวน 2.5 ไร่ เป็นของมูลนิธิชีววิถี 1.5 ไร่ และเป็นของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน 1 ไร่” กิ่งกรเล่าถึงการจับมือกันของสองมูลนิธิหัวใจสีเขียว

ภายในพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าแบ่งออกเป็น 2 ด้าน อาคารด้านซ้ายเป็นของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน อาคารด้านขวาเป็นของมูลนิธิชีววิถี ทั้งสองอาคารหันหน้าเข้าหากัน ตรงกลางเป็นพื้นที่ใช้ร่วมกัน มีทั้งแปลงพืชผักสวนครัว เรือนเพาะกล้า บ่อปลา เล้าไก่ นิทรรศการพันธุกรรม และร้านกาแฟที่จำหน่ายกะปิ น้ำปลา

ผลงานการออกแบบทั้งหมดเป็นฝีมือของบุญฤทธิ์ ขอดิลกรัตน์ และเพื่อนพ้องร่วมใจกันทำให้ทั้งสองมูลนิธิพี่น้องแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย

“เราทำงาน 2 อย่าง งานวิชาชีพก็ทำเพื่อความอยู่รอด แต่เราอยากช่วยเหลือสังคมด้วย เพื่อเป็นพื้นฐานในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้น้องๆ รุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานกับเรา” สถาปนิกหนุ่มเฉลยจุดประสงค์ที่แท้จริงให้ฉันฟัง

ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรงการเกษตร

ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรงการเกษตร

2

  มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ถนัดทำเกษตรทางเลือกและพยายามลดการใช้สารเคมี ส่วนมูลนิธิชีววิถีเน้นการกิน กินและกิน กินอย่างหลากหลาย ฟื้นฟูการกินของทุกคนให้กลับมาดีกว่าเดิม
“สวนชีววิถีมีครัวเยอะ เรามีทั้งครัวสตาฟฟ์ ครัวจัดเลี้ยง แล้วก็ครัวเวิร์กช็อป”

  หลังจากทราบจำนวนครัว ฉันปักใจเชื่อแล้วว่าสวนชีววิถีให้ความสำคัญกับการกินจริงๆ และเข้าใจความหมายของเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก ผ่านการกินอาหารดี ไม่ใช่การกินอาหารหรูหรา เสิร์ฟโดยเชฟยอดฝีมือ แต่เป็นการกินผักดีปลอดสารพิษ เครื่องปรุงดีจากอุตสาหกรรมพื้นบ้าน เป็นมื้อเรียบง่ายที่สบายใจ เพราะเรารู้จักแหล่งที่มาของวัตถุดิบ รู้จักกระบวนการผลิต เชื่อมั่นได้ว่าปลอดภัยหายห่วง

แต่กระบวนการที่จะได้ผักดี ต้องเริ่มจากอะไร ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก เริ่มจากดินดี!

กินดี ดินดี ผักดี เครื่องปรุงดี กิ่งกรนำทุกอย่างมาบวกลบคูณหาร สร้างหลักสูตรการเรียนรู้แบบครบวงจร เหมาะกับการเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับครอบครัว

ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรงการเกษตร

ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรงการเกษตร

3

กิ่งกรชวนฉันทำความรู้จักกับ 3 หลักสูตร ผ่านการกิน การทำ และการดู

หลักสูตรดินดี

การปลูกพืชปลูกผักฟังดูง่าย เอาดินใส่กระถาง ใส่เมล็ดพันธุ์ลงไป ใครๆ ก็ทำได้ แต่หลักสูตรดินจะพาเราไปทำความเข้าใจเรื่อง ‘ดินดี’ เช่น การบำรุงดิน การเตรียมดินเพื่อปลูกในกระถางสำหรับพืชรากลึกและพืชรากตื้น การเตรียมดินสำหรับปลูกพืชชนิดต่างๆ เพราะพืชแต่ละชนิดต้องการความชื้น ความร่วนซุยของดิน ไม่เหมือนกัน รวมถึงการเก็บเมล็ดพันธุ์ การเพาะเมล็ดพันธุ์ การเพาะกล้า สำหรับจำหน่ายและแบ่งปัน แถมยังสอนการหมักปุ๋ยจากขยะในครัวเรือนอีกด้วย

หลักสูตรกินดี

หลักสูตรนี้มีเป้าหมายเพื่อให้คนกินผักมากขึ้น เน้นเรื่องการประกอบอาหาร การเลือกวัตถุดิบ มีทั้งหลักสูตรผักตามฤดูกาล หลักสูตรทำอย่างไรให้เด็กกินผักพื้นบ้าน หรือหลักสูตรพ่อแม่ลูกทำครัวด้วยกัน อาจจะมีเวิร์กช็อปเชฟส์เทเบิลขนาดเล็ก คุยกันเรื่องที่มาของวัตถุดิบแบบจริงจัง รวมถึงการจัดการอาหารของคนเมืองแบบรายสัปดาห์ ตอนเย็นเตรียมอุปกรณ์ ตื่นเช้ามาพร้อมปรุง เพื่อช่วยให้การกินมีคุณภาพมากขึ้น สร้างความมั่นใจในการปรุงอาหาร หรือประยุกต์ความเป็นท้องถิ่นกับความเป็นเมืองผ่านมื้ออาหารก็ย่อมได้

หลักสูตรเครื่องปรุงดี

ถ้าใครรู้สึกว่าลิ้นของตนเองไม่สามารถรับรสอาหารแบบธรรมชาติได้สักเท่าไร กินอะไรแล้วไม่นัว ไม่โดนลิ้นเสียที แสดงว่า ‘ลิ้น’ ของคุณกำลังมีปัญหา เพราะปัจจุบันลิ้นกับจมูกของเราถูกทำลายด้วยอาหารที่หน้าตา รสชาติ ละม้ายคล้ายกันไปหมด และเราดันคุ้นกับรสชาติแบบนั้นเสียด้วย หลักสูตรนี้จึงชวนมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ เปลี่ยนทั้งความรู้ เปลี่ยนทั้งลิ้น รู้จักสัมผัส รู้จักรส รู้จักกลิ่น เพื่อเรียกคืนความรู้ เรียกคืนลิ้น เรียกคืนจมูก

  เวิร์กช็อปถัดไป กิ่งกรและเครือข่ายกินเปลี่ยนโลกอยากจะชวนทุกคนไปชิมน้ำปลาเพื่อให้รู้ความต่างของน้ำปลาแต่ละแบบ เค็มมากเค็มน้อยก็สุดแล้วแต่ว่าลิ้นใครจะรับรสได้ดีกว่ากัน และเพื่อบอกเป็นนัยว่า ความเค็มมันเป็นธรรมชาติ แต่ความไม่เค็มที่หลายๆ คนเคยชิมในน้ำปลาบางยี่ห้อ มันไม่เป็นธรรมชาติ อาจเกิดจากกระบวนการผลิตที่ทางโรงงานใส่สารบางอย่างลงไปเพื่อกลบความเค็ม

ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรงการเกษตร

ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรงการเกษตร

4

  หลังจากพูดคุยพอหอมปากหอมคอ กิ่งกรพาฉันเดินออกกำลังขาสำรวจพื้นที่สีเขียว ผ่านอาคารไม้สองชั้น ด้านบนเป็นออฟฟิศของเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก เครือข่ายไทยแพน ฯลฯ ด้านล่างเป็นห้องจัดประชุม สัมมนา คนทั่วไปจับจองใช้บริการได้ ไม่ไกลจากด้านหน้าเป็นครัวเวิร์กช็อป ลักษณะคล้ายครัวของรายการแข่งขันทำอาหารชื่อดัง มีครัวหลักด้านหน้า และสเตชัน สำหรับผู้มาร่วมกิจกรรม ความพิเศษของห้องนี้คือ สามารถเคลื่อนย้ายสเตชันให้กลายเป็นห้องโล่งได้ ผนังด้านหนึ่งมีจอผ้าสีขาวสำหรับฉายหนัง หากมีโอกาสเธอจะชวน Documentary Club มาฉายหนังกันสักหลายๆ รอบ

สถาปนิกยังเสริมด้วยว่า วัสดุทั้งหมดที่ใช้ก่อร่างสร้างอาคารล้วนรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด อย่างไม้ก็เป็นไม้จากบ้านเก่า คละพันธุ์ไม้ คละขนาด สั้นยาวหนาบาง ผนังสีแดงอมส้มฉาบด้วยดินเหนียว เผื่อวันหนึ่งตัวอาคารเสื่อมโทรม วัสดุทุกอย่างก็จะกลับคืนสู่ธรรมชาติ

ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรงการเกษตร

ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรงการเกษตร

ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรงการเกษตร

5

เดินมาถึงสวนเขียวชอุ่มตรงกลางพืชผักสวนครัวละลานตาหลายชนิด มีหนึ่งชนิดที่เธอภูมิใจนำเสนอ ‘คะน้าทางเลือก’ หรือผักไชยา เอาไปใส่ในราดหน้าอร่อยอย่าบอกใคร เพราะจะให้รสกลมกล่อมตามธรรมชาติ การเลือกปลูกพืชผักจะเน้นความหลากหลายของสายพันธุ์ เช่น ปลูกถั่วหลายชนิด ปลูกพริกหลายชนิด ต้องเป็นผักกินได้ เพราะจะสามารถนำไปใช้ประกอบอาหารได้และใช้สำหรับกิจกรรมเวิร์กช็อป บริเวณร้านกาแฟเธอก็ปลูกส้มจี๊ด ต้นหม่อน เสาวรส เผื่อวันข้างหน้าเติบโตได้ผลอวบอ้วนก็จะจับมาคั้นน้ำทำเครื่องดื่ม

ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรงการเกษตร

ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรงการเกษตร

  สวนชีววิถีเน้นความหลากหลายของสายพันธุ์พืชและสัตว์ เพราะมูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทย ส่งเสริมเรื่องพันธุกรรมมาโดยตลอด และสนับสนุนให้ชาวบ้านจัดการพันธุกรรมได้ด้วยตนเอง โดยมีนิทรรศการพันธุกรรมขนาดย่อมเพื่อการเรียนรู้ไว้บริเวณท้ายสวน

ระหว่างเดินไปเดินมาเธอก็จะสอดแทรกเกร็ดความรู้ให้ฉันตลอดทาง

ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรงการเกษตร

ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรงการเกษตร

“ในบ่อปลามีหอยเชอรี่ ต้องเลี้ยงเป็ดเอาไว้กินหอยเชอรี่” กิ่งกรชี้ให้ดูบ่อปลา

“ดอกไม้สีสวยรอบๆ ปลูกไว้เพื่อล่อแมลง ล่อมาไว้ตรงนี้ จะได้ไม่ไปกัดกินผักของเรา”

ดีจัง ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีก็ไม่ต้องใช้ ให้ธรรมชาติแก้ปัญหากันเอง ฉันแอบคิดในใจ

ส่วนอาคารของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน มีห้องสมุดและห้องประชุม ห้องพักคล้ายเรือนนอนสำหรับเครือข่ายชาวบ้าน บุญฤทธิ์ตั้งใจออกแบบตัวอาคารให้กลมกลืนกับผู้ใช้งาน คล้ายบ้านไม้ยกสูงของคนไทยสมัยก่อน

นอกจากสวนชีววิถีจะเป็นพื้นที่การเรียนรู้แบบครบวงจร ทั้งด้านการเกษตรและการกินเพื่อชีวิตที่ดี

ในอนาคตสวนชีววิถีจะทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนใกล้เคียง จัดตลาดนัดขนาดย่อม ชวนชาวบ้านนำผลผลิตเข้ามาขาย เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีและส่งเสริมให้ชุมชนได้เก็บเกี่ยวผลผลิตที่ปลอดสารพิษมาแบ่งปันให้พวกเราจับจ่ายใช้สอยกันด้วย

ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรงการเกษตร ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรงการเกษตร

สวนชีววิถี Growing Diversity Park

ที่ตั้ง : 3/12 ซอยบางอ้อ 2 ถนนไทรม้า 22 หมู่ 6 ตำบลไทรม้า อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000
Facebook สวนชีววิถี Growing DiversityPark
www.gdpark.asia

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan