ถ้ามองจากสายตาของนก เราจะเห็นแหล่งน้ำ ล้อมรอบด้วยพื้นที่สีเขียวโดยมีต้นจามจุรีแผ่กิ่งก้านสร้างร่มเงาอยู่ใจกลางพื้นที่ โดยมีอาคารที่พักอาศัยความสูง 8 ชั้น 2 อาคารโค้งเรียงตัวล้อมต้นไม้ใหญ่ในจังหวะที่พอดิบพอดี

ในยุคที่นักลงทุนจำนวนมากมองว่า การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้คุ้มค่า ต้องตัดใจตัดต้นไม้ใหญ่ออกไปบ้าง คุณพงศธร จอม สาลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟินน์ ดิเวลลอปเม้นท์ ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เขาจึงตั้งใจสร้างคอนโดมิเนียม FYNN Asoke ในซอยสุขุมวิท 10 ให้ออกมาตามภาพในย่อหน้าแรก เพื่อยืนยันว่า การพัฒนากับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้ ถ้ามีการออกแบบที่ดีพอ เราก็อยู่ร่วมกับต้นไม้ใหญ่ได้อย่างมีคุณภาพ

“สิ่งต่างๆ ที่มนุษย์คิดขึ้นมา ผ่านไปสักพักก็จะมีคนคิดสิ่งใหม่มาทดแทน แต่ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องรอให้ถึงเวลาจึงจะเห็นผล อย่างต้นจามจุรีนี้ต้องปลูกแล้วรออีก 60 ปีถึงจะได้แบบนี้ ต้นจามจุรีต้นนี้คือความหมายที่แท้จริงของโปรเจกต์นี้เลย” คุณพงศธรเริ่มต้นอธิบายถึง ‘แก่นของพื้นที่’ ซึ่งเป็น ‘แก่น’ การทำงานของ ‘FYNN’ เช่นกัน

ความเขียวขจีผู้เป็นเจ้าบ้าน

เมื่อต้องพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเก็บต้นไม้ใหญ่เอาไว้ ทางเลือกร้อยแปดพันทางก็ถูกโยนเข้ามาในที่ประชุม

“การเก็บต้นไม้ขนาดยักษ์เอาไว้”

“การล้อมต้นไม้และย้ายไปให้ผู้ที่ต้องการต้นไม้ใหญ่”

หรือ “การล้อมแล้วย้ายไปยังบริเวณอื่นของโครงการ”

ยิ่งถ้าเป็น “การตัดต้นไม้ให้ราบไปเลย” ก็จะยิ่งสะดวกสบายต่อการออกแบบในขั้นตอนการก่อสร้าง ตารางเมตรในการขายก็จัดได้เต็มพื้นที่

แต่ทางเลือกสุดท้ายที่ฟินน์ตัดสินใจคือ การเก็บต้นจามจุรียักษ์อายุ 60 ปีนี้ไว้ในพื้นที่เดิมของเขา

“เรามีพรสวรรค์มีความสามารถเท่าไหร่ เราต้องดึงมันออกมาให้เต็มที่ที่สุด เราไม่เสียอะไรเลยนะ นอกจากเราจะต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นแค่นั้นเอง” คุณพงศธรเอ่ยถึงการตัดสินใจที่เพิ่มความท้าทายให้ตัวเขาทีมงานและทีมออกแบบ ซึ่งเขาบอกติดตลกว่า

“มันเป็นโอกาสที่จะได้แสดงฝีมือของทีมงาน เป็นแคนวาสผืนใหญ่ที่จะได้เพนต์อย่างสุดฝีมือ”

แปลงจากที่ดินและตึกเป็น ‘บ้าน’

ในฐานะเดเวลอปเปอร์ การเพิ่ม ‘คุณค่า’ ให้ขนานไปกับมูลค่าการสร้างความหมายที่แข็งแรงให้แต่ละโปรเจกต์เหมือนเป็นดีเอ็นเอของฟินน์และสิ่งที่คุณพงศธรยึดถือ

“เราต้องช่วยเลือกทำเล สร้างสิ่งที่มีคุณค่าในราคาที่ลูกค้าสร้างกำไรได้เหมือนกัน” คุณพงศธรเล่าถึงหลักการทำงาน

“สำหรับผม ที่พักอาศัยต้องมีทั้งคอมมูนิตี้และคอนเทนต์ พื้นที่ 2 ไร่นี้เป็นซอยเดียวที่ทะลุได้จากสวนเบญจกิติ มีต้นไม้ใหญ่อยู่กลางพื้นที่ ไม่ต้องไปเล็งหาต้นไม้ที่ไหน เราจะมีพื้นที่สีเขียวทั้งในโครงการและนอกโครงการ”

พร้อมรับความยากตั้งเเต่วันแรก

ไพทยา บัญชากิติคุณ พาร์ตเนอร์บริษัท Atom Design และ อรรถพร คบคงสันติ เจ้าของสตูดิโอ TROP ทีมสถาปนิกและทีมภูมิสถาปนิกเข้ามารับหน้าที่สร้างสรรค์โครงการ

“เราออกแบบหลายทางเลือกมาก ทำอย่างไรถึงจะเก็บต้นไม้ไว้โดยยังรักษาคุณภาพของโครงการเอาไว้ได้ อาคารจะเป็นแบบแยกตึกหน้าหลังอาคารรูปตัว C จนมาลงตัวที่อาคารรูปตัว I แบ่งซ้ายขวา” คุณไพทยาสถาปนิกผู้ดูแลโครงการเริ่มต้นเล่า

เขาอธิบายต่อถึงความโค้งเว้าของอาคารว่ามาจากการสร้างพื้นที่ในจังหวะที่พอเหมาะพอดีกับฟอร์มกิ่งก้านของต้นไม้ไปพร้อมๆ กับสุนทรียะในการอยู่อาศัย ซึ่งคุณพงศธรเน้นถึงความเป็นบ้านในทุกสัมผัส อย่างการกลับเข้ามาถึงเมื่อจอดรถต้องมองเห็นต้นไม้ก่อน ได้ยินเสียงน้ำ หรือแม้กระทั่งการได้กลิ่น

กระจกโค้งถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว ทำให้ห้องนั่งเล่นยื่นออกไป มีการมองเห็นที่ไกลขึ้น
โดยช่วยให้ห้องฝั่งตรงข้ามมองเข้ามาห้องของเรายากขึ้น นอกจากส่วนต่างของพื้นที่ในการสร้างอาคารที่ต้องเสียไปเพื่อรักษาต้นไม้ ยังมีความลำบากที่ทวีคูณขึ้นในขั้นตอนการก่อสร้างอีกด้วย ดังนั้น ทีมงานต้องพยายามอย่างดีที่สุดในการรักษาต้นไม้ให้ดำรงชีวิตได้ตลอดการก่อสร้าง เพื่อให้คุ้มค่ากับเวลาและค่าใช้จ่ายที่เสียไป

“เราใช้เวลาในการปรับผังและจัดการเรื่องระบบจอดรถร่วมหลายเดือน เพราะเราต้องมีที่จอดรถใต้ดินที่ต้องขุดดินทั้งพื้นที่ ดังนั้น เราต้องเก็บถังดินเอาไว้ โดยปรึกษากับรุกขกร และกันพื้นที่รอบต้นไม้จากแกนต้นไว้ 12 เมตร” คุณไพทยาเล่าถึงขั้นตอนการดูแลต้นไม้ระหว่างก่อสร้าง เขาบอกว่าน้ำปูนคือสิ่งที่ต้องระวังมากที่สุด เพราะปูนอาจทำให้รากต้นไม้หายใจไม่คล่อง

ดังนั้น แนวกันดินคือสิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อเริ่มการก่อสร้าง

เราจะเก็บต้นไม้กันท่าไหน

“ถามว่ายากไหม แน่นอนว่ายากขึ้นมาก เพราะมันไม่ใช่แค่ต้นไม้แต่มันเป็นต้นจามจุรียักษ์ การที่คุณไพทยา สถาปนิก กับคุณพงศธรตัดสินใจเก็บต้นไม้ไว้ทำให้งานยากขึ้น เเต่คุ้มค่า เพราะเราไม่มีทางหาต้นไม้แบบนี้ได้
ถ้าเราล้อมต้นไม้ใหญ่มาเราจะไม่ได้ฟอร์มนี้เลย แต่เราต้องตัดกิ่งออกบ้างเพราะต้นไม้อายุขนาดนี้รากแผ่กระจายทั่วผิวดิน เมื่อเราขุดดินเพื่อก่อสร้าง รากจะหายไปบางส่วน เราต้องตัดกิ่งลดการคายน้ำให้เขายังอยู่ได้” คุณอรรถพรเสริมในเรื่องการจัดการกับภูมิทัศน์โดยมีต้นจามจุรีเป็นศูนย์กลาง

“เราใช้การสแกนแบบสามมิติว่าเราต้องเเต่งกิ่งไหนบ้างเพื่อให้เขาอยู่รอดได้ การที่เรามีต้นไม้ใหญ่หน้าห้อง
เราได้เห็นเขาในระยะใกล้ระดับเดียวกัน ซึ่งต่างจากการมองต้นไม้จากด้านล่าง” คุณอรรถพรเสริมต่อว่า

“การได้เห็นต้นไม้ในระยะประชิดแบบนี้ทำให้เราสัมผัสได้ถึงระบบนิเวศบนต้นไม้ที่มีนก กระรอก เป็นของเเถม การคงต้นจามจุรีต้นนี้ไว้เป็นสิ่งที่เราถกเถียงกันเยอะ ทำงานกันหนัก เป็นการสร้างคุณค่าเเละความหมายในตัวของโครงการได้เองก็โดยไม่ต้องสร้างเรื่องราวเสริม” คุณไพทยากล่าวทิ้งท้าย

การออกแบบโดยใช้กระจกเป็นวัสดุภายนอกอาคารจะช่วยสะท้อนกิ่งไม้ของต้นจามจุรีที่ต้องเล็มทิ้งไปให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ระบบแสงในสระที่ออกแบบจากรากของต้นไม้ เมื่อถึงเวลากลางคืนเราจะเหมือนได้เห็นรากของต้นไม้ใต้สระว่ายน้ำ สัมผัสถึงต้นจามจุรีของแต่ละห้องที่จะมองเห็นต้นไม้ในมุมที่ต่างกัน

หมดสมัยตัดป่า สร้างเมือง

“สมัยนี้ไม่เหมือนสมัยพ่อผมเเล้วที่ต้องตัดป่าเพื่อสร้างโรงงาน เป็นยุคที่เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เราอยู่ได้เเละสิ่งเเวดล้อมก็อยู่ต่อไป เราต้องบาลานซ์ให้ได้ FYNN Asoke เป็นเหมือนอีกหนึ่งหมุดหมายของเราว่าฟินน์จะดำรงอยู่ไปเพื่ออะไร” คุณพงศธรพูดถึงจุดยืนของโครงการ ก่อนจะทิ้งท้ายว่า

“สิ่งที่เรากำลังทำเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย เราไม่รู้หรอกว่า สุดท้ายแล้วผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างที่เราคิดไหม แต่เรารู้ว่า เราจะตั้งใจดูแลต้นไม้ต้นนี้ให้ดีที่สุดในทุกขั้นตอน อย่างน้อยก็น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆ โครงการเห็นว่า การพัฒนากับสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันได้”

Writer

Avatar

วิชุดา เครือหิรัญ

เคยเล่าเรื่องสั้นบ้างยาวบ้าง ในต่างเเเพลตฟอร์ม เล็กบ้างใหญ่บ้างออกมาในรูปแบบบทสัมภาษณ์ นิตยสาร เว็บไซต์ นิทรรศการไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ ตอนนี้กำลังเป็นส่วนเล็กๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย เเละยังคงเล่าเรื่องต่อไป

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan