ถ้ามองจากสายตาของนก เราจะเห็นแหล่งน้ำ ล้อมรอบด้วยพื้นที่สีเขียวโดยมีต้นจามจุรีแผ่กิ่งก้านสร้างร่มเงาอยู่ใจกลางพื้นที่ โดยมีอาคารที่พักอาศัยความสูง 8 ชั้น 2 อาคารโค้งเรียงตัวล้อมต้นไม้ใหญ่ในจังหวะที่พอดิบพอดี
ในยุคที่นักลงทุนจำนวนมากมองว่า การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้คุ้มค่า ต้องตัดใจตัดต้นไม้ใหญ่ออกไปบ้าง คุณพงศธร จอม สาลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟินน์ ดิเวลลอปเม้นท์ ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เขาจึงตั้งใจสร้างคอนโดมิเนียม FYNN Asoke ในซอยสุขุมวิท 10 ให้ออกมาตามภาพในย่อหน้าแรก เพื่อยืนยันว่า การพัฒนากับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้ ถ้ามีการออกแบบที่ดีพอ เราก็อยู่ร่วมกับต้นไม้ใหญ่ได้อย่างมีคุณภาพ
“สิ่งต่างๆ ที่มนุษย์คิดขึ้นมา ผ่านไปสักพักก็จะมีคนคิดสิ่งใหม่มาทดแทน แต่ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องรอให้ถึงเวลาจึงจะเห็นผล อย่างต้นจามจุรีนี้ต้องปลูกแล้วรออีก 60 ปีถึงจะได้แบบนี้ ต้นจามจุรีต้นนี้คือความหมายที่แท้จริงของโปรเจกต์นี้เลย” คุณพงศธรเริ่มต้นอธิบายถึง ‘แก่นของพื้นที่’ ซึ่งเป็น ‘แก่น’ การทำงานของ ‘FYNN’ เช่นกัน

ความเขียวขจีผู้เป็นเจ้าบ้าน
เมื่อต้องพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเก็บต้นไม้ใหญ่เอาไว้ ทางเลือกร้อยแปดพันทางก็ถูกโยนเข้ามาในที่ประชุม
“การเก็บต้นไม้ขนาดยักษ์เอาไว้”
“การล้อมต้นไม้และย้ายไปให้ผู้ที่ต้องการต้นไม้ใหญ่”
หรือ “การล้อมแล้วย้ายไปยังบริเวณอื่นของโครงการ”
ยิ่งถ้าเป็น “การตัดต้นไม้ให้ราบไปเลย” ก็จะยิ่งสะดวกสบายต่อการออกแบบในขั้นตอนการก่อสร้าง ตารางเมตรในการขายก็จัดได้เต็มพื้นที่
แต่ทางเลือกสุดท้ายที่ฟินน์ตัดสินใจคือ การเก็บต้นจามจุรียักษ์อายุ 60 ปีนี้ไว้ในพื้นที่เดิมของเขา
“เรามีพรสวรรค์มีความสามารถเท่าไหร่ เราต้องดึงมันออกมาให้เต็มที่ที่สุด เราไม่เสียอะไรเลยนะ นอกจากเราจะต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นแค่นั้นเอง” คุณพงศธรเอ่ยถึงการตัดสินใจที่เพิ่มความท้าทายให้ตัวเขาทีมงานและทีมออกแบบ ซึ่งเขาบอกติดตลกว่า
“มันเป็นโอกาสที่จะได้แสดงฝีมือของทีมงาน เป็นแคนวาสผืนใหญ่ที่จะได้เพนต์อย่างสุดฝีมือ”
แปลงจากที่ดินและตึกเป็น ‘บ้าน’
ในฐานะเดเวลอปเปอร์ การเพิ่ม ‘คุณค่า’ ให้ขนานไปกับมูลค่าการสร้างความหมายที่แข็งแรงให้แต่ละโปรเจกต์เหมือนเป็นดีเอ็นเอของฟินน์และสิ่งที่คุณพงศธรยึดถือ
“เราต้องช่วยเลือกทำเล สร้างสิ่งที่มีคุณค่าในราคาที่ลูกค้าสร้างกำไรได้เหมือนกัน” คุณพงศธรเล่าถึงหลักการทำงาน
“สำหรับผม ที่พักอาศัยต้องมีทั้งคอมมูนิตี้และคอนเทนต์ พื้นที่ 2 ไร่นี้เป็นซอยเดียวที่ทะลุได้จากสวนเบญจกิติ มีต้นไม้ใหญ่อยู่กลางพื้นที่ ไม่ต้องไปเล็งหาต้นไม้ที่ไหน เราจะมีพื้นที่สีเขียวทั้งในโครงการและนอกโครงการ”
พร้อมรับความยากตั้งเเต่วันแรก
ไพทยา บัญชากิติคุณ พาร์ตเนอร์บริษัท Atom Design และ อรรถพร คบคงสันติ เจ้าของสตูดิโอ TROP ทีมสถาปนิกและทีมภูมิสถาปนิกเข้ามารับหน้าที่สร้างสรรค์โครงการ
“เราออกแบบหลายทางเลือกมาก ทำอย่างไรถึงจะเก็บต้นไม้ไว้โดยยังรักษาคุณภาพของโครงการเอาไว้ได้ อาคารจะเป็นแบบแยกตึกหน้าหลังอาคารรูปตัว C จนมาลงตัวที่อาคารรูปตัว I แบ่งซ้ายขวา” คุณไพทยาสถาปนิกผู้ดูแลโครงการเริ่มต้นเล่า
เขาอธิบายต่อถึงความโค้งเว้าของอาคารว่ามาจากการสร้างพื้นที่ในจังหวะที่พอเหมาะพอดีกับฟอร์มกิ่งก้านของต้นไม้ไปพร้อมๆ กับสุนทรียะในการอยู่อาศัย ซึ่งคุณพงศธรเน้นถึงความเป็นบ้านในทุกสัมผัส อย่างการกลับเข้ามาถึงเมื่อจอดรถต้องมองเห็นต้นไม้ก่อน ได้ยินเสียงน้ำ หรือแม้กระทั่งการได้กลิ่น
กระจกโค้งถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว ทำให้ห้องนั่งเล่นยื่นออกไป มีการมองเห็นที่ไกลขึ้น
โดยช่วยให้ห้องฝั่งตรงข้ามมองเข้ามาห้องของเรายากขึ้น นอกจากส่วนต่างของพื้นที่ในการสร้างอาคารที่ต้องเสียไปเพื่อรักษาต้นไม้ ยังมีความลำบากที่ทวีคูณขึ้นในขั้นตอนการก่อสร้างอีกด้วย ดังนั้น ทีมงานต้องพยายามอย่างดีที่สุดในการรักษาต้นไม้ให้ดำรงชีวิตได้ตลอดการก่อสร้าง เพื่อให้คุ้มค่ากับเวลาและค่าใช้จ่ายที่เสียไป
“เราใช้เวลาในการปรับผังและจัดการเรื่องระบบจอดรถร่วมหลายเดือน เพราะเราต้องมีที่จอดรถใต้ดินที่ต้องขุดดินทั้งพื้นที่ ดังนั้น เราต้องเก็บถังดินเอาไว้ โดยปรึกษากับรุกขกร และกันพื้นที่รอบต้นไม้จากแกนต้นไว้ 12 เมตร” คุณไพทยาเล่าถึงขั้นตอนการดูแลต้นไม้ระหว่างก่อสร้าง เขาบอกว่าน้ำปูนคือสิ่งที่ต้องระวังมากที่สุด เพราะปูนอาจทำให้รากต้นไม้หายใจไม่คล่อง
ดังนั้น แนวกันดินคือสิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อเริ่มการก่อสร้าง
เราจะเก็บต้นไม้กันท่าไหน
“ถามว่ายากไหม แน่นอนว่ายากขึ้นมาก เพราะมันไม่ใช่แค่ต้นไม้แต่มันเป็นต้นจามจุรียักษ์ การที่คุณไพทยา สถาปนิก กับคุณพงศธรตัดสินใจเก็บต้นไม้ไว้ทำให้งานยากขึ้น เเต่คุ้มค่า เพราะเราไม่มีทางหาต้นไม้แบบนี้ได้
ถ้าเราล้อมต้นไม้ใหญ่มาเราจะไม่ได้ฟอร์มนี้เลย แต่เราต้องตัดกิ่งออกบ้างเพราะต้นไม้อายุขนาดนี้รากแผ่กระจายทั่วผิวดิน เมื่อเราขุดดินเพื่อก่อสร้าง รากจะหายไปบางส่วน เราต้องตัดกิ่งลดการคายน้ำให้เขายังอยู่ได้” คุณอรรถพรเสริมในเรื่องการจัดการกับภูมิทัศน์โดยมีต้นจามจุรีเป็นศูนย์กลาง
“เราใช้การสแกนแบบสามมิติว่าเราต้องเเต่งกิ่งไหนบ้างเพื่อให้เขาอยู่รอดได้ การที่เรามีต้นไม้ใหญ่หน้าห้อง
เราได้เห็นเขาในระยะใกล้ระดับเดียวกัน ซึ่งต่างจากการมองต้นไม้จากด้านล่าง” คุณอรรถพรเสริมต่อว่า
“การได้เห็นต้นไม้ในระยะประชิดแบบนี้ทำให้เราสัมผัสได้ถึงระบบนิเวศบนต้นไม้ที่มีนก กระรอก เป็นของเเถม การคงต้นจามจุรีต้นนี้ไว้เป็นสิ่งที่เราถกเถียงกันเยอะ ทำงานกันหนัก เป็นการสร้างคุณค่าเเละความหมายในตัวของโครงการได้เองก็โดยไม่ต้องสร้างเรื่องราวเสริม” คุณไพทยากล่าวทิ้งท้าย
การออกแบบโดยใช้กระจกเป็นวัสดุภายนอกอาคารจะช่วยสะท้อนกิ่งไม้ของต้นจามจุรีที่ต้องเล็มทิ้งไปให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ระบบแสงในสระที่ออกแบบจากรากของต้นไม้ เมื่อถึงเวลากลางคืนเราจะเหมือนได้เห็นรากของต้นไม้ใต้สระว่ายน้ำ สัมผัสถึงต้นจามจุรีของแต่ละห้องที่จะมองเห็นต้นไม้ในมุมที่ต่างกัน
หมดสมัยตัดป่า สร้างเมือง
“สมัยนี้ไม่เหมือนสมัยพ่อผมเเล้วที่ต้องตัดป่าเพื่อสร้างโรงงาน เป็นยุคที่เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เราอยู่ได้เเละสิ่งเเวดล้อมก็อยู่ต่อไป เราต้องบาลานซ์ให้ได้ FYNN Asoke เป็นเหมือนอีกหนึ่งหมุดหมายของเราว่าฟินน์จะดำรงอยู่ไปเพื่ออะไร” คุณพงศธรพูดถึงจุดยืนของโครงการ ก่อนจะทิ้งท้ายว่า
“สิ่งที่เรากำลังทำเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย เราไม่รู้หรอกว่า สุดท้ายแล้วผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างที่เราคิดไหม แต่เรารู้ว่า เราจะตั้งใจดูแลต้นไม้ต้นนี้ให้ดีที่สุดในทุกขั้นตอน อย่างน้อยก็น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆ โครงการเห็นว่า การพัฒนากับสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันได้”