ซอยเจริญกรุง 36 หรือซอยโรงภาษี เป็นหนึ่งในซอยที่น่าเดินที่สุดในประเทศไทย

ปากซอยมีร้านอาหารฝรั่งเศส คาเฟ่ ร้านเครื่องประดับ และแกลเลอรี่ศิลปะแสนเก๋ เดินเข้าไปอีกนิดจะพบมัสยิดฮารูณและบ้านไม้แสนสวยอายุ 100 กว่าปีของตำรวจน้ำ ก้าวขาต่อไปจะพบสถานทูตฝรั่งเศส และสุดท้ายปลายซอย ศุลกสถานหรือโรงภาษีสไตล์ยุโรปที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ยืนเด่นริมน้ำเจ้าพระยา วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ข้นคลั่กทับซ้อนของผู้คนหลายชาติ หลายศาสนา ทำให้การเดินเล่นที่นี่ชวนอิ่มอกอิ่มใจไปทั้งวัน

บ้านเขียวอันยุมัน : บ้านพักครูอายุ 100 กว่าปีที่กำลังจะกลายพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และแกลเลอรี่

ในช่วงเทศกาล Bangkok Design Week 2018 ที่ผ่านมา The Cloud ร่วมมือกับ TCDC จัดทริปเดินเที่ยวเจริญกรุงในยามค่ำคืน เราจึงค้นพบว่าซอยนี้ยังมีสมาคมอันยุมันอิสลาม hidden place เก่าแก่อีกแห่งที่เพิ่งเปิดตัวแก่คนทั่วไป ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้หลากหลายสาขาของชาวมุสลิม ประกอบด้วยสำนักอภิธรรม ชมรมวิทยุ มูลนิธิ และสถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทย โดยในอดีต พื้นที่นี้เคยเป็นโรงเรียนอันยุมันอิสลาม โรงเรียนเก่าแก่ชื่อดังที่เปรียบได้กับตักศิลาของชาวมุสลิมไทย เรียกได้ว่าใครอยากมาเรียนเรื่องศาสนา ยุคหนึ่งต้องเดินทางมาเรียนที่บางรัก

ปัจจุบันเราจะเห็นอาคาร 2 หลัง หอประชุมอันยุมันอิสลามรับหน้าที่เป็นสำนักงานของทุกหน่วยงานและมีโถงประชุมใหญ่ ส่วนบ้านเขียวอันยุมัน อาคารไม้ 2 ชั้นหลังเล็กอายุ 100 กว่าปี เป็นอดีตบ้านพักของอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรีผู้แปลพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทย ฉบับพระราชทาน

หอประชุมอันยุมันอิสลาม

บ้านเขียวอันยุมัน

สถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทยรับหน้าที่ดูแลบ้านเขียว และกำลังจะปรับปรุงบ้านเก่าที่ปิดตายมานานหลังนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และแกลเลอรี่เล็กๆ สำหรับผู้สนใจเรื่องเกี่ยวกับอิสลาม วรพจน์ ไวยเวทา เลขานุการสถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทย และสุนิติ จุฑามาศ นักวิจัยด้านโบราณคดีอิสลาม รวบรวมข้อมูลจากปากคำคนเก่าแก่ในพื้นที่ ภาพถ่าย และบันทึกต่างๆ ของโรงเรียน ก่อนเปิดเผยข้อมูลของที่ดินเก่าแก่ใจกลางซอยเจริญกรุง 36 ที่น้อยคนรู้จักให้เราฟัง

 วรพจน์ ไวยเวทา สุนิติ จุฑามาศ

“สมาคมอันยุมันอิสลามเกิดจากชุมชนพ่อค้ามุสลิมอินเดียที่รวมตัวกันในสมัยรัชกาลที่ 5 มีตัวตั้งตัวตีคือตระกูลนานา ซึ่งเป็นนายห้างค้าผ้ากับราชสำนักสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 และอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาธุรกิจของตระกูลนานายังมีอุปกรณ์การเกษตร น้ำตาล และค้าขายที่ดินจนกลายเป็นเศรษฐีที่ดินในเมืองไทย”

สุนิติเล่าว่าเมื่อนายห้างใหญ่หลายตระกูลรวมตัวกันเป็นสมาคม พวกเขาก็อยากให้เยาวชนมุสลิมในยุคนั้นมีสถานที่ศึกษา จึงสร้างโรงเรียนยาเวียขึ้นมาในซอยเจริญกรุง 36 ตอนแรกเป็นอาคารไม้บริเวณโรงภาษี ต่อมาย้ายมาอยู่ฝั่งตรงข้ามสมาคมอันยุมันอิสลามในปัจจุบัน และสุดท้ายชาวมุสลิมก็รวบรวมเงินซื้อที่ดินผืนปัจจุบันเพื่อสร้างโรงเรียนอันยุมันอิสลามเป็นการถาวร

ปัจจุบันที่ดินผืนนี้เป็นของตระกูลนานา นายห้างอาหมัด อิสราฮีม นานา (Ahmed Ebrahim Nana) หรือ เอ อี นานา ทายาทรุ่น 3 ของตระกูลนานา ซื้อที่ดินผืนนี้ไว้ทั้งหมดเพื่ออุทิศให้ศาสนาอิสลามและสาธารณชน

ยุคแรกอาคารโรงเรียนอันยุมันอิสลามเป็นอาคารไม้ สมาคมฯ ซื้อไม้จากพ่อค้านามสกุลมุขตารี ตระกูลมุสลิมค้าซุงจากบางอ้อ มัสยิดหลายแห่งย่านนี้ก็สร้างขึ้นโดยไม้ที่ชาวบางอ้อบริจาคให้ศาสนสถาน

“ช่วงแรกนักเรียนยังไม่เยอะ ตอนนั้นคนที่มีความรู้ด้านศาสนาสูงคือท่านอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์ จริงๆ ท่านไม่ใช่คนที่นี่ แต่เป็นคนบ้านดอน (สุขุมวิท 39) ท่านไปเรียนศาสนาที่ซาอุดิอาระเบีย พอกลับมาทางสมาคมฯ ก็เรียนเชิญให้มาเป็นอาจารย์ใหญ่ และจัดการการสอนทั้งหมดที่นี่”

บ้านเขียวอันยุมัน

บ้านเขียวอันยุมัน

บ้านเขียวอันยุมัน : บ้านพักครูอายุ 100 กว่าปีที่กำลังจะกลายพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และแกลเลอรี่

เริ่มแรกโรงเรียนอันยุมันอิสลามสอนหนังสือชั้นประถม 1 – ม.ศ. 3 ให้เด็กๆ ในย่านเจริญกรุงโดยไม่จำกัดศาสนาและไม่เก็บค่าใช้จ่าย เพื่อให้โรงเรียนนี้ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายกระทรวงธรรมการ ช่วงเช้าจึงสอนวิชาสามัญแบบเดียวกับโรงเรียนทั่วไป มีวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษตามปกติ ตอนเย็นจะสอนภาษาอาหรับ และสอนศาสนาให้เด็กและผู้ใหญ่ชาวมุสลิม และทุกวันศุกร์โรงเรียนจะพานักเรียนมุสลิมไปละหมาดรวมกันที่มัสยิดฮารูณ

ต่อมาเมื่อโรงเรียนมีนักเรียนมากขึ้น โรงเรียนจำเป็นต้องเก็บค่าเล่าเรียน แต่ก็เก็บด้วยอัตราขั้นต่ำสุด เพื่อให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเรียนหนังสือโดยไม่เกี่ยงฐานะหรือศาสนา

วรพจน์เสริมว่าความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนอิสลามกับคนต่างศาสนิกในย่านเจริญกรุงเป็นไปด้วยดีมาก ถึงขนาดเมื่อเปิดโรงเรียนอันยุมันอิสลาม อาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ เจษฎาจารย์แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญ ผู้แต่งหนังสือ ดรุณศึกษา ก็มากล่าวให้โอวาท และครูทั้งสองโรงเรียนก็เคยแลกข้อสอบกันตรวจ สมาชิกสถาบันศิลปะอิสลามฯ ยังค้นพบเอกสารว่าโรงเรียนเคยส่งจดหมายขอเงินทุนจากรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม มาสร้างสนามเด็กเล่น และได้รับเงิน 3 หมื่นบาทมาสร้างสนามด้วย

โรงเรียนอันยุมันอิสลาม

บ้านเขียวอันยุมัน

ข้างอาคารเรียนหลักคือบ้านเขียวหรือบ้านพักของอาจารย์ต่วน ชั้นล่างเป็นห้องรับแขกและปรึกษากับนักวิชาการศาสนา ส่วนชั้นบนเป็นห้องนอน ด้านนอกเป็นห้องพักครูที่เชื่อมต่อกับอาคารเรียน เมื่ออาจารย์ต่วนได้รับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ผู้นำสูงสุดของศาสนาอิสลามคนที่ 15 ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2490 บ้านหลังนี้จึงกลายเป็นสำนักจุฬาราชมนตรีและหอประชุมไปโดยปริยาย ต่อมาบ้านหลังนี้ยังเป็นที่อยู่ของท่านผู้หญิงสมร ภูมิณรงค์ บุตรสาวของอาจารย์ต่วน

บ้านเขียวอันยุมัน

น่าเสียดายที่อาคารเรียนที่สร้างจากไม้ผุพังไปตามการใช้งาน จึงต้องรื้อถอนไปในปี พ.ศ. 2507 ชาวมุสลิมและศิษย์เก่าโรงเรียนได้รวบรวมเงินมาสร้างอาคารคอนกรีตทดแทนในปี พ.ศ. 2508 ช่วงนี้เป็นยุคปลายของโรงเรียนอันยุมันอิสลาม อาจารย์ต่วนเข้าสู่วัยชรา ท่านผู้หญิงสมรจึงรับตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียนและดูแลโรงเรียนต่ออยู่พักใหญ่แม้บิดาเสียชีวิตลง

ภายหลังโรงเรียนรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหวจึงต้องเลิกกิจการ อาคารหอประชุมกลายเป็นสำนักงานของสำนักอภิธรรม มูลนิธิต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรี และชมรมวิทยุภาคมุสลิม ส่วนบ้านไม้หลังเล็ก ท่านผู้หญิงสมรคืนให้ตระกูลนานาแล้วย้ายไปอยู่ที่อื่นก่อนเสียชีวิต บ้านเขียวหลังนี้จึงปิดมาโดยตลอด

บทใหม่ของบ้านเขียวอันยุมันเริ่มขึ้น เมื่อวรพจน์, สุนิติ และหนุ่มสาวมุสลิมที่มีความรู้เรื่องศิลปะอิสลามรวมตัวกันก่อตั้งสถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศิลปะอิสลาม โดยเฉพาะศิลปะอิสลามในประเทศไทย ตระกูลนานาเอื้อเฟื้อสถานที่ในสมาคมฯ ให้เป็นสำนักงาน และตกลงให้ปรับปรุงบ้านเขียวเป็นแหล่งความรู้ของอิสลามอีกครั้ง

บ้านเขียวอันยุมัน

บ้านเขียวอันยุมัน

บ้านเขียวอันยุมัน

“เราตั้งใจให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ เหมือนพิพิธภัณฑ์ที่เล่าประวัติศาสตร์ของสมาคมอันยุมันอิสลาม โรงเรียน และตระกูลนานา ผสมกับเป็นห้องสมุดและแกลเลอรี่เล็กๆ ใครสนใจเรื่องศาสนาอิสลาม ศิลปะอิสลาม สถาปัตยกรรมอิสลาม วัฒนธรรมอิสลาม ก็มาที่นี่ได้ และจะจัดกิจกรรมเป็นประจำให้นักวิชาการและคนทั่วไปมาเข้าร่วมด้วย”

อนุสรณ์อันยุมันอิสลาม

หอสมุดอิสลาม

หนังสืออิสลาม

ภาษาอาหรับ

ภาษาอาหรับ

การเปิดบ้านเขียวอันยุมันครั้งแรกในเทศกาล Bangkok Design Week เป็นก้าวแรกของสถาบันศิลปะฯ ที่ประสบความสำเร็จมาก มีการนำอัลกุรอานโบราณหลากหลายฉบับและของเก่าจากโรงเรียนอันยุมันอิสลามมาจัดแสดง พร้อมกับโชว์เสื้อผ้าจากดีไซเนอร์ชาวมุสลิม และคัด calligraphy จากปากกาไม้ไผ่เป็นของที่ระลึกให้ผู้เยี่ยมชมด้วย

ช่วงเดือนเราะมะฎอนนี้ สถาบันศิลปะฯ จะเปิดบ้านเขียวอันยุมันให้ชมเต็มๆ ก่อนการปิดแปลงโฉมครั้งใหญ่ ติดตามความเคลื่อนไหวของบ้านประวัติศาสตร์หลังนี้ได้ที่นี่ 

หนังสืออิสลามอันยุมันอิสลาม

ภาพ : มณีนุช บุญเรือง, ปฏิพล รัชตอาภา

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographers

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล