ครั้งสุดท้ายที่เราบรรจงเขียนตัวอักษรอย่างประณีตลงบนกระดาษด้วยปากกาหมึกซึมคือเมื่อไหร่

เป็นคำถามที่เราตอบไม่ได้เหมือนกัน เพราะนานมากแล้วจนจำไม่ได้ และดูเหมือนจะไม่ค่อยมีร้านที่ขายปากกาหมึกซึมโดยเฉพาะให้เราเลือกซื้อเท่าไหร่แล้ว ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

แต่บางครั้ง ยุคสมัยก็เปลี่ยนความหลงใหลและความรักต่อบางสิ่งไม่ได้

ตอนนี้เรากำลังยืนอยู่หน้าร้านขายเครื่องเขียนขนาดกะทัดรัดชวนอบอุ่นหัวใจ ที่รวบรวมปากกาหมึกซึม ปากกาคอแร้ง หมึก กระดาษ และเครื่องเขียน ที่มีคุณภาพจากหลากหลายประเทศทั่วโลกไว้ในย่านใจกลางกรุงอย่างสีลม เปิดบริการเพื่อต้อนรับพลพรรคที่รักการขีดเขียนให้ได้มาเยี่ยมชมกันในห้องสีน้ำเงินสบายตา

เราพร้อมจะค้นหาเสน่ห์ปลายตวัดของปากกาหมึกซึมและอุปกรณ์ต่างๆ และย้อนความทรงจำวันวานไปกับร้าน The PIPS Cafe’ แห่งนี้แล้ว

ร้าน The PIPS Cafe’ ร้าน The PIPS Cafe’

จุดเริ่มต้นของร้าน The PIPS Cafe’ เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ในยุคสมัยที่ร้านขายปากกาหมึกซึมเลือนหายไปตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป เอ็ม ชายหนุ่มผู้หลงใหลในการขีดเขียนตัวอักษร ตัดสินใจนำเข้าปากกาหมึกซึม หมึก และกระดาษ จากต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น ไต้หวัน อเมริกา และยุโรป เพื่อมาขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยหวังที่จะแบ่งปันความรู้สึกสุดพิเศษที่ตัวเองได้รับจากการเขียนนี้ให้แก่ผู้คน

“ในสมัยนี้ความจำเป็นในการใช้ปากกามันน้อยลงมาก สมัยก่อนเราจะจำลายมือของเพื่อนเราได้ แต่เดี๋ยวนี้เราจำลายมือและตัวอักษรของกันและกันไม่ได้แล้วนะ เพราะเราใช้การพิมพ์มากกว่าการเขียน ถ้าเราหันมาใช้ปากกาหมึกซึม มันจะทำให้เราได้ประสบการณ์อีกแบบหนึ่งที่การพิมพ์ไม่มีทางให้ได้ และมันทำให้เราระลึกถึงวันเก่าๆ ที่ถูกครูบังคับให้เขียนด้วย (หัวเราะ) พอมาใช้เราก็จำความรู้สึกนั้นได้ดี”

แต่ช่องทางออนไลน์จำกัดการถ่ายทอดความรู้สึกนี้ได้ผ่านการพิมพ์ตัวอักษรกับลูกค้าเท่านั้น ประสบการณ์ที่ได้รับจะไม่มีวันเทียบเท่ากับการได้ลองจุ่มหมึกเขียนหนังสือ และสนทนากันเพื่อเฟ้นหาสินค้าที่ถูกใจลูกค้าที่สุด เอ็มจึงตัดสินใจขยับขยายมาเปิดหน้าร้านเล็กๆ ที่ตึกธนิยะ สีลม เมื่อเดินเข้ามาจะเห็นหมึกหลายร้อยสีจากสารพัดยี่ห้อถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบ ปากกาหมึกซึมหลากทรงหลายสิบด้าม สมุดกระดาษเนื้อดีที่คัดสรรคุณภาพ และสินค้าน่าหยิบจับอื่นๆ เช่น ปากกาขนนกสารพัดสี สีน้ำ และของเล่นน่าตื่นตาสำหรับคนรักเครื่องเขียน

ร้านเครื่องเขียน สี ร้านเครื่องเขียน

แม้ร้านนี้จะไม่ได้สมเหตุสมผลทางธุรกิจในมุมมองเสียเท่าไหร่นัก แต่เขามองว่ามันเติมเต็มความรู้สึกและสามารถสร้างพื้นที่ที่เป็นศูนย์รวมของคนรักปากกาหมึกซึม ให้สามารถเข้ามานั่งเล่น พูดคุย แลกเปลี่ยน และทดลองอุปกรณ์คู่ใจของกันและกันได้ เหมือนในต่างประเทศเช่นญี่ปุ่นหรืออังกฤษที่มีร้านเครื่องเขียนเฉพาะทางแบบนี้มากมาย การปรากฏตัวของร้าน The PIPS Cafe’ ถูกบอกเล่าปากต่อปากผ่านลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และกลุ่มลูกค้าของเขามีตั้งแต่วัยประถมที่หาเครื่องเขียนไปโรงเรียน จนถึงวัยเกษียณที่คิดถึงอุปกรณ์สไตล์วินเทจเมื่อตนเองยังเป็นหนุ่มสาว

“เวลาคนรักปากกาเจอกัน บทสนทนาด้วยคำพูดจะน้อยมาก ส่วนมากเราจะคุยกันผ่านการเขียน ต่างคนต่างลองปากกาของอีกคนแล้วแชร์ความรู้สึกกัน และนี่แหละคือเสน่ห์ ต่อให้ใช้ปากกาด้ามเดียวกัน หมึกสีเดียวกัน แต่ละคนเขียนก็จะได้ผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนกัน เพราะกระดาษที่ไม่เหมือน ขนาดหัวปากกาที่ไม่เท่ากัน น้ำหมึกที่ไม่เท่ากัน มันเป็นเสน่ห์ ของแบบนี้ต้องเป็นคนหลงใหลในปากกาหมึกซึมด้วยกันเท่านั้นถึงจะเข้าใจ”

ปากกา ปากกา

แม้จะมีหน้าร้านให้ลูกค้าได้เข้ามาพบปะพูดคุยและทดลองแล้ว ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งคือความหลากหลายของตัวปากกาที่ต่างกันในด้านระบบการทำงานและการเติมหมึก มีตั้งแต่แบบสูบ แบบสุญญากาศ แบบเติมในตัวปากกา และสีหมึกที่มีมากมายหลายเฉดสีเสียเหลือเกิน หากมีใครสักคนเดินเข้ามาบอกเพียงให้ช่วยเลือกหมึกสีน้ำเงินให้ นั่นถือเป็นโจทย์สุดหินทันที เพราะการค้นหาสีที่ใช่ที่สุดในบรรดาเฉดสีกว่าร้อยๆ สีไม่ใช่เรื่องง่าย แต่แน่นอนว่าวิธีแก้ที่น่าสนใจนั้นมีอยู่เสมอ

“ผมอยากแนะนำให้ลูกค้าได้มาลองเลือกดูด้วยตัวเอง ใช้เวลาได้เต็มที่เลย สิ่งที่ผมทำได้คือพยายามเอาหมึกหลากหลายรูปแบบมาเขียนให้ลูกค้าดูจริงๆ ว่าเวลาเขียนแล้วจะออกมาเป็นยังไง ความต่างของสีอาจจะมีแค่ 5% แต่ว่าลูกค้า 2 คนก็จะชอบไม่เหมือนกัน ก็ลองไปได้เรื่อยๆ ผมไม่ได้มองว่าเราเป็นคนซื้อคนขาย แต่มองว่าเป็นเพื่อนเล่นปากกาด้วยกัน ต่อให้ร้านเราปิดทุ่มครึ่ง หลายๆ ครั้งเราก็นั่งเล่นกันถึง 4 ทุ่มเป็นเรื่องปกติ” เจ้าของร้านฝากถึงเพื่อนเล่นปากกาทุกท่านด้วยความต้อนรับ

ปากกา สีน้ำ ร้าน The PIPS Cafe’

เมื่อเราสนทนากันไปสักพักหนึ่ง ก็ถึงเวลาที่เราจะได้เป็นผู้เข้าร่วมการทดลองการใช้ปากกา ปากกาหมึกซึมหลากหลายรูปแบบถูกนำมาจัดวางบนโต๊ะให้เราเลือกสรร พร้อมใบคอลเลกชันสีนับร้อยที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างและความพิเศษของแต่ละสีที่มาพร้อมกับชื่อที่เป็นเอกลักษณ์ชองตัวเองอย่างเช่น Spearmint Diva, Autumn Oak หรือ Fire Engine Red

และเราเห็นด้วยที่ว่าบทสนทนาจะน้อยลง เพราะตอนนี้สมาธิของเราจดจ่ออยู่ที่ปลายปากกาและกระดาษที่แต่งแต้มไปด้วยสีสัน

เขียน

ระหว่างที่เราขีดเขียนและค้นพบว่าลายมือเราแม้มีอุปกรณ์ชั้นดี แต่ก็ไม่ได้สวยงามน่าชื่นตามากนัก ต่างจากภาพวาดและลายมืองดงามเขียนสดที่ติดทั่วผนังร้าน ซึ่งชวนให้เราจ้องมองและนึกคิดว่าเป็นผลงานของใคร ทำไมถึงบรรจงเขียนออกมาได้สวยงามถึงขั้นนั้น เอ็มเลยเฉลยว่าเป็นของศิลปินมากหน้าหลายตาที่เวียนมาที่ร้านและจารึกรอยน้ำหมึกไว้ลงบนกระดาษที่นี่ ทุกคนดูผ่านการฝึกปรือ คัดลายมือมาอย่างหนักหน่วง ซึ่งเอ็มก็บอกว่าต้องเป็นอย่างนั้น

“การใช้ปากกาหมึกซึมก็เหมือนการเล่นกีฬาหรือดนตรี ต้องซ้อมอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งซ้อมลายมือเราก็จะสวยขึ้น ของแบบนี้ไม่สามารถเร่งรัดได้ ต้องใช้สมาธิ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป มันจะมีเลอะเทอะบ้างเป็นธรรมดาของคนใช้ปากกาหมึกซึม แต่มือเลอะนี่คือความความสุขของคนเล่นปากกาหมึกซึมเลยแหละ วันไหนมือไม่เลอะจะรู้สึกเหมือนวันนี้ไม่ได้มาทำงาน แล้วถ้าเราห่างมันนานๆ ทิ้งไว้ไม่หัดเขียน กลับมาเขียนใหม่ก็จะมือแข็ง ลายมือไม่เข้าที่เข้าทางเหมือนเดิม ต้องเริ่มกลับมาวอร์มใหม่ตั้งแต่ต้น”

ความเป็นกันเองของเอ็มในการแนะนำสินค้าและให้เวลากับเรา ทำให้เราลืมไปชั่วคราวว่าที่นี่คือร้านปากกา และเข้าใจแล้วว่าใครต่อใครถึงกลับมาบรรจงเลือกสินค้าและคัดลายมือที่นี่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความจริงใจของนักเล่นปากกาคนนี้ทำให้ที่นี่เป็นแหล่งรวมตัวเพื่อแลกเปลี่ยนบทสนทนาและประลองลายมือของคนรักปากกาหมึกซึม มีหลายคนที่ได้พบปะเพื่อนคู่เขียนคนใหม่ในสถานที่แห่งนี้ และกำลังรอพลพรรคนักเขียนทุกท่านก้าวเท้าเข้ามาแบ่งปันประสบการณ์กัน

ประสบการณ์ที่ต้องเข้ามาลองด้วยตัวเองถึงจะเข้าใจ

ร้าน The PIPS Cafe’ ร้าน The PIPS Cafe’

The PIPS Cafe’

Location: ชั้นล่าง ตึกธนิยะ BTS Wing สีลม บางรัก กรุงเทพมหานคร, 13.728522, 100.533934
Nearby: สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (ทางออกหมายเลข 1), สถานีรถไฟฟ้า MRT สีลม
เปิดทุกวันจันทร์-เสาร์ เวลา 11.00-19.30 น.
Facebook: The PIPS Cafe’

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล