บ้านไม้สีขาวที่ตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นที่สีเขียวขนาด 22 ไร่ ริมถนนวิทยุ หลังนี้มีอายุ 103 ปี

เป็นบ้านวัยคุณปู่ที่ให้ความรู้สึกทั้งร่มเย็นและอบอุ่น

บ้านหลังนี้ได้รางวัลอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 2527

ที่นี่เป็นพื้นที่สีเขียวกลางเมืองที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

และที่นี่ทำหน้าที่เป็นบ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา มาครบ 70 พอดี

ในวาระนี้ คุณกลิน เดวีส์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ยินดีเปิดบ้านอายุร้อยกว่าปีหลังนี้ ให้เว็บไซต์อายุไม่กี่วันอย่าง The Cloud ได้เป็นแขกพิเศษ

ย้ายบ้าน

“วันหนึ่ง เราขับรถไปบ้านของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินตามถนนดินขรุขระ ถนนนั้นชื่อว่า ถนนวิทยุ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุของกองทัพเรือ ในฤดูฝน ถนนเป็นโคลนตมจนแทบจะใช้การไม่ได้ แต่บนถนนแห่งนี้ เรามองไปสุดทางเดินสายหนึ่งที่ร่มครึ้มด้วยต้นจามจุรี เห็นบ้านเก่าโทรมหลังหนึ่งทาสีน้ำตาลช็อกโกแลต บานเกล็ดห้อยกระเท่เร่ อันที่จริง บ้านหลังนี้ทรุดเอียงไปข้างหนึ่ง สวนขนาดใหญ่รอบตัวเรือนเต็มไปด้วยขยะจากสงครามขึ้นสนิม อันได้แก่ ซากรถจี๊ป รถบรรทุก โครงตั้งปืนใหญ่ และรถถัง ที่กองทัพญี่ปุ่นทิ้งไว้ คูน้ำกว้างที่ล้อมรอบบริเวณบ้านก็มีขยะขึ้นสนิมโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำ แลดูน่าเกลียดมาก”

นั่นคือภาพแรกของบ้านหลังนี้ในความทรงจำของ นางโจเซฟิน สแตนตัน ภริยาของนายเอ็ดวิน สแตนตัน เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนแรก ซึ่งบันทึกไว้ในหนังสือชื่อ Brief Authority ในช่วงพ.ศ. 2490 มีการสำรวจหาสถานที่เพื่อใช้เป็นบ้านพักอย่างเป็นทางการของเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา หลังจากเจรจากับกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้รับอนุมัติให้เช่า ‘บ้านพักที่เหมาะสม’ ซึ่งช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นนั้นมีสถานที่ให้เลือกไม่มาก

นางสแตนตันจึงตัดสินใจขออนุญาตบูรณะบ้านหลังนี้จากกระทรวงการต่างประเทศ เธอเล่าว่า “คนงานกลุ่มใหญ่ได้รับมอบหมายให้ทำความสะอาดและบูรณะซ่อมแซมเรือน ซึ่งเป็นงานใหญ่สาหัสที่กินเวลากว่าหลายเดือน และยิ่งลำบากด้วยเหตุที่ว่ากรุงเทพฯ ช่วงหลังสงครามนั้นขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งสีทา เครื่องสุขภัณฑ์ สายไฟทุกชนิด พัดลม เครื่องมือวัสดุงานช่าง ของจำเป็นแทบทุกอย่างนั้นกว่าจะได้มาต้องไปหาตามร้านขายของมือสองหรือ ‘ตลาดมืด’ และทั้งหมดมีคุณภาพไม่สู้ดีนัก…”

บ้านไม้หลังนี้จึงกลับมามีชีวิตอีกครั้งและกลายมาเป็นบ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

ขึ้นบ้านเก่า ฉลอง 70 ปี บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

ขึ้นบ้านเก่า

ไม่กี่วันหลังงานฉลองครบรอบ 70 ปี ในการทำหน้าที่เป็นบ้านพักของเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ผมกลับมาที่บ้านหลังนี้อีกครั้ง มุมมองจากหน้าประตูรั้ว ดูเป็นบ้านที่สวยงามและร่มรื่น เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ สบายตาด้วยพื้นที่สีเขียว บ้านไม้ก็ดูงามสง่า แตกต่างจากที่นางโจเซฟิน สแตนตัน เห็นครั้งแรกเมื่อ 70 ปีก่อน

บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

เมื่อผ่านระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดมากเข้ามา พวกเราก็มุ่งหน้าไปยังบ้านพัก ทักทายเจ้าหน้าที่สถานทูตชาวอเมริกันอีก 2 – 3 คน แล้วถอดรองเท้าเดินขึ้นชั้นสองของบ้าน ซึ่งเป็นที่พักของท่านทูตกับภรรยา และใช้เป็นที่รับแขกพิเศษ

บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

“ผมขอแสดงความยินดีกับการเปิดตัวเว็บไซต์ของคุณเมื่อวาน” ท่านทูต กลิน เดวีส์ เริ่มต้นทักทายพวกเราด้วยความเป็นกันเองและรอยยิ้ม ท่านพาเราไปนั่งคุยที่ชุดรับแขกใกล้หน้าต่างที่ให้ความรู้สึกโปร่งโล่งสบาย

ขึ้นบ้านเก่า ฉลอง 70 ปี บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

ผมเริ่มต้นถามถึงความเป็นอเมริกันในบ้านหลังนี้

“ที่นี่ไม่ใช่บ้านอเมริกัน เป็นส่วนผสมของบ้านแบบไทยกับยุโรปสไตล์วิกตอเรียน สร้างด้วยวัสดุแบบไทยคือไม้สัก ซึ่งตกแต่งได้สวยมาก นายเบลีย์ เจ้าของบ้านคนแรก เป็นคนมีอารมณ์ขัน เขาจึงใส่อารมณ์ขันเข้ามาในบ้าน คุณจะเห็นงานปั้นหน้าคนอยู่ตรงโค้งเหนือหน้าต่าง ทุกหน้ามีจมูกแบบฝรั่งแต่มีตาแบบไทย แล้วก็มีใบหน้าที่แตกต่างกันหมดเลย”

ขึ้นบ้านเก่า ฉลอง 70 ปี บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

ท่านทูตเล่าประวัติบ้านหลังนี้ให้ฟังว่า นายโฮเรชีโอ เบลีย์ วิศวกรชาวอังกฤษ ของบริษัท Bangkok Dock Company ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทอเมริกันแรกๆ ที่ดำเนินกิจการในสยาม สร้างบ้านหลังนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2457 หรือ 103 ปีก่อน นายเบลีย์ยังทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาเครื่องเงินให้แก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยปฏิบัติราชการเป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้รับพระราชทินนามว่า ‘พระปฏิบัติราชประสงค์’

ขึ้นบ้านเก่า ฉลอง 70 ปี บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

นายเบลีย์แต่งงานกับชาวไทย ทายาทคนหนึ่งในตระกูลของเขาก็คือนักแสดงชื่อดัง วุ้นเส้น-วิริฒิพา ภักดีประสงค์ หลังจากที่วิศวกรชาวอังกฤษเสียชีวิตใน พ.ศ. 2463 กระทรวงการคลังก็ซื้อบ้านหลังนี้ แล้วใช้เป็นที่ทำการของสถานทูตเบลเยียมในช่วง พ.ศ. 2465 – 2470

พ.ศ. 2470 เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศได้ขอโอนบ้านหลังนี้ไปอยู่ในการดูแลของกระทรวงการต่างประเทศเพื่อใช้เป็นบ้านพักของนายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ ที่ปรึกษาชาวอเมริกันคนที่ 4 ของกระทรวงการต่างประเทศ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้ยึดบ้านหลังนี้ แต่ไม่มีหลักฐานบันทึกว่าญี่ปุ่นใช้บ้านหลังนี้ทำอะไร นอกจากเป็นที่พักของทหาร ในปัจจุบันยังมีคราบน้ำมันที่เปื้อนกระเบื้องปูนอกชานและรอยไหม้จางๆ จากเตาถ่าน 1 – 2 รอยบนพื้นไม้สักอยู่

เมื่อสงครามสงบลง นางโจเซฟิน สแตนตัน ก็มาพบบ้านหลังนี้ และติดต่อขอเช่าจากรัฐบาลไทย เพื่อใช้เป็นบ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา นับถึงวันนี้ก็ครบ 70 ปีพอดี

เยี่ยมบ้าน

“บ้านหลังนี้สวยมาก เราโชคดีมากที่ได้อยู่ที่นี่ เรามีห้องอีก 2 – 3 ห้องด้านหลัง เป็นห้องส่วนตัว แต่โดยรวมๆ แล้วบ้านหลังนี้เอาไว้รับแขก มีคนมากมายมาที่นี่” พูดจบ ท่านทูตกลิน เดวีส์ ก็ชวนเราเดินสำรวจพื้นที่ชั้นสองของบ้าน

ขึ้นบ้านเก่า ฉลอง 70 ปี บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ขึ้นบ้านเก่า ฉลอง 70 ปี บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

“โครงสร้างพื้นฐานของบ้านหลังนี้เป็นแบบเรือนไม้เขตร้อนดั้งเดิม ใช้ระบบเสาโครงค้ำยัน หนุนหลังคาและพื้นทั้งหมดด้วยโครงและเสา พอเวลาผ่านมา 1 ศตวรรษ คุณจะเห็นว่าพื้นเริ่มไม่ค่อยตรงเท่าไหร่นัก” ท่านทูตชี้ให้ดูพื้นตรงระเบียง แล้วอธิบายต่อว่า เมื่อก่อนเป็นระเบียงโล่ง แต่มาติดกระจกและเครื่องปรับอากาศเมื่อ พ.ศ. 2516 จากนั้นก็พาเราเดินต่อไปดูผนังไม้สักที่เพิ่งขูดสีที่ทาไว้ 70 ปีออก เผยผิวไม้สักดั้งเดิม ซึ่งกำลังรอขัดด้วยขี้ผึ้ง

ขึ้นบ้านเก่า ฉลอง 70 ปี บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ขึ้นบ้านเก่า ฉลอง 70 ปี บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

“ตรงนี้เคยเป็นห้องนั่งเล่น แต่ตอนนี้เป็นห้องอาหาร” ท่านทูตพาเดินเข้ามาอีกห้องซึ่งมีโต๊ะตัวยาววางเด่นอยู่กลางห้อง แล้วพาเดินไปดูห้องอาหารเดิม ซึ่งตอนนี้ปรับเป็นห้องนั่งเล่น แต่ไม่ค่อยได้ใช้เพราะมืดไปหน่อย ท่านทูตชอบนั่งเล่นที่ริมหน้าต่างมากกว่า

ขึ้นบ้านเก่า ฉลอง 70 ปี บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

ท่านทูตพาเราเดินกลับมาที่มุมนั่งเล่นริมหน้าต่าง แล้วโชว์รูปที่ตั้งอยู่บนเปียโนให้ดูทีละรูป เร่ิมด้วยพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะกำลังทรงเปียโน แล้วก็รูปสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ขณะเสด็จฯ มางานเลี้ยงในสวนของสถานทูต อีกรูปเป็นนักแสดงชาวอเมริกันชื่อดัง มาร์ลอน แบรนโด ที่มาเยือนสถานทูตเมื่อครั้งเดินทางมาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Ugly American ในประเทศไทย (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ร่วมแสดงด้วยในบทนายกรัฐมนตรี) ที่เหลือเป็นภาพของท่านทูตกลิน ที่ถ่ายร่วมกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระเทพฯ และอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอีกหลายคน

“ผมชอบบ้านนี้ตรงพื้นที่มันโปร่งโล่ง เราไม่ค่อยให้ใครขึ้นมาบนนี้เพราะกลัวมันทรุด แล้วก็ห้ามเต้นบนบ้านด้วย ตอนมาถึงผมได้รับบันทึกข้อความว่า คุณห้ามเต้นบนบ้าน” ท่านทูตหัวเราะเสียงดัง

ขึ้นบ้านเก่า ฉลอง 70 ปี บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

แขกบ้านแขกเมือง

“ที่นี่เป็นมากกว่าที่พัก เป็นพื้นที่สำหรับดำเนินงานด้านการทูต เราใช้การทูตเพื่อสร้างความเข้าใจ ความร่วมมือ คุยเรื่องหนักๆ บ้าง เรื่องสนุกๆ บ้าง ถ้าเป็นเรื่องสำคัญเราจะคุยกันที่นี่ เรามีแขก มีงานเลี้ยงต้อนรับ มารับประทานอาหารเที่ยง หรือมาสัมมนา บ่อยมาก สองสามครั้งต่อสัปดาห์ หรือมากกว่านั้น”

ท่านทูตบอกว่า แขกที่มาเยือนมีทั้งตัวแทนจากรัฐบาลไทย แขกจากสหรัฐอเมริกา และภาคธุรกิจจากทั้งสองประเทศ รวมไปถึงคนในแวดวงศิลปวัฒธรรมด้วย ซึ่งการเลี้ยงต้อนรับจะจัดกันบริเวณชั้นล่างของบ้าน

“เราเพิ่งจัดงานเลี้ยงต้อนรับกลุ่ม LGBTI community มีคนมาหลายร้อยคน เป็นงานใหญ่มาก แล้วก็ยังมีงานที่เชิญศิลปินชาวไทย ผู้กำกับหนัง สื่อมวลชน นักวิชาการ นักเรียน ไม่นานมานี้เรามีแขกเป็นนักร้องและนักแสดงบรอดเวย์ซึ่งมาพร้อมนักร้องชาวไทย เขาร้องเพลงและเล่นเปียโนที่นี่ด้วย ที่นี่เป็นสถานที่ที่ทำให้เราเรียนรู้และเข้าใจเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับเมืองไทยมากขึ้น”

ถ้าใครเคยได้มาร่วมงานของสถานทูตอเมริกาอยู่บ้าง คงทราบดีว่าที่นี่ให้ความสำคัญกับการเชิญแขกที่เป็นนักเรียนนักศึกษามาก ท่านทูตให้เหตุผลว่า “งานส่วนหนึ่งของสถานทูตก็คือ การพยายามทำความเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่กำลังคิดอะไร เราอยากคุยกับพวกเขา อยากให้เขาเข้าใจอเมริกา เราพยายามมองหาเด็กเก่งๆ ในเมืองไทย เราอยากรู้จักพวกเขา เราอยากมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทย”

ขึ้นบ้านเก่า ฉลอง 70 ปี บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

อยู่บ้าน

ท่านทูตบอกว่า สิ่งที่ดีมากอีกอย่างของบ้านนี้ก็คือ ที่นี่มีพื้นที่สีเขียวขนาด 22 ไร่ มีทางน้ำที่เชื่อมมาจากคลอง เป็นพื้นที่สีเขียวที่มีสัตว์อาศัยอยู่มากมายตามธรรมชาติ เช่น นกที่อาศัยบนยอดไม้ ฝูงปลาและสัตว์เลื้อยคลานที่แหวกว่ายอยู่ในสระ จึงได้รับการรับรองจาก U.S. National Wildlife Federation ว่าเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ในธรรมชาติหรือ Certified Wildlife Habitat เพราะมีปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ในธรรมชาติอย่างครบถ้วน ได้แก่ แหล่งอาหารและน้ำ ที่กำบังที่ปลอดภัย และที่อยู่อาศัยให้สัตว์ได้เลี้ยงดูลูกของตน

“พื้นที่ตรงนี้เป็นของประเทศไทย เราเช่ามา 70 ปีแล้ว เราดูแลอย่างดีเพราะมันเป็นของประเทศไทย วันหนึ่งถ้าเราไม่ได้อยู่ที่นี่ก็หวังว่าเมืองไทยจะดูแลมันต่อ นอกจากนี้เรายังมีพื้นที่ในส่วนของสถานทูตอีก 3 แปลง ซึ่งเราดูแลเป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน”

หลายเดือนก่อน สถานทูตเพิ่งมีงานปล่อยเต่าในสถานทูต เป็นการช่วยชีวิตเต่า 89 ตัว จากการถูกทอดทิ้งและบาดเจ็บเพราะอาศัยในแหล่งที่ผิดธรรมชาติ สถานทูตจึงขอมาปล่อยภายในสถานทูตโดยทำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และเยาวชนทั้งโรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนไทย

ขึ้นบ้านเก่า ฉลอง 70 ปี บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ขึ้นบ้านเก่า ฉลอง 70 ปี บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

เมื่อถามว่า ท่านทูตใช้เวลากับพื้นที่ไหนในบ้านนานที่สุด คำตอบคือ

“ผมอยู่ที่สระว่ายน้ำบ้าง อ่านหนังสือในห้องบ้าง อยู่ที่ยิมเล็กๆ ในบ้านพักรับรองของแขกบ้าง บางทีก็ที่ศาลา บรรยากาศตรงนั้นดีมาก เมื่อร้อยปีก่อนตอนนายเบลีย์สร้างบ้านหลังนี้ เขาขุดสระน้ำเล็กๆ เชื่อมกับคลอง แล้วก็ติดสปริงบอร์ดสำหรับโดดน้ำอันแรกของเมืองไทย ตอนนี้ฐานของบอร์ดก็ยังอยู่นะ เป็นคอนกรีต พอสถานทูตซื้อบ้านหลังนี้มา ก็สร้างสระว่ายน้ำขึ้นมาใหม่ ผมชอบไปที่ศาลานะ ตรงนั้นคุณจะได้เห็นนกสวยๆ เต่า บางทีก็งูเหลือมตัวใหญ่มาก” ท่านทูตหัวเราะ แล้ววิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นตัวเดียวกับที่อยู่ในสถานทูตดัตช์เพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน “รังของมันอยู่ที่ต้นจามจุรี ผมเคยเจอมันกำลังเฝ้าไข่อยู่”

ขึ้นบ้านเก่า ฉลอง 70 ปี บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

ออกจากบ้าน

ผมถามท่านทูตว่าพอจะมีเวลาเดินไปถ่ายรูปที่ศาลาไหม เขาหยิบคิวนัดหมายประจำวัน ซึ่งเป็นตารางที่พิมพ์ใส่ไว้ในซองพลาสติกขนาดเท่าโทรศัพท์มือถือออกจากกระเป๋าเสื้อขึ้นมาดู แล้วตอบว่า ได้ ด้วยความที่เห็นตารางของวันนี้แน่นเอี้ยด ผมเลยอยากรู้ว่าวันนี้ท่านมีนัดหมายกี่งาน

“9 งาน ถือว่าเกินมาตรฐานนิดหน่อย บางวันมี 6 – 7 งาน ถ้ารวมงานตอนกลางคืนด้วย บางวันก็ 10 – 11 งาน อย่างคืนนี้เป็นวันเกิดของควีนเอลิซาเบธ เป็นวันชาติของสหราชอาณาจักร”

ระหว่างเดินไปที่ศาลา เราก็คุยกันต่อ

“ผมกับภรรยาชอบเดินทางมาก เราชอบเดินทางไปตามที่่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย แล้วก็เมืองต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ผมชอบเชียงใหม่ เป็นเมืองที่สวยมาก คนอเมริกันชอบทะเล เราไปทะเลทางภาคใต้หลายครั้ง ผมชอบอุทยานแห่งชาติด้วย” ท่านทูตเล่า

ในการเดินทางไปพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ท่านทูตพยายามไปพบเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ทำงานในระดับจังหวัด พยายามไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยท้องถิ่น และคุยกับคนอเมริกันที่อยู่ตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาวที่เดินทางมาสอนหนังสือ

“เมืองไทยเป็นประเทศที่สวยงาม แต่สิ่งที่สวยที่สุดคือคนไทย 60 – 70 ล้านคน ไทยกับอเมริกาแตกต่างกันทั้งขนาด ตำแหน่ง และประวัติศาสตร์ แต่เรามีบางสิ่งเหมือนกัน เราให้ค่ากับสิ่งเดียวกัน นั่นก็คือ ครอบครัว เสรีภาพ การเป็นเอกราช และเรารักความสนุกเหมือนกัน นั่นทำให้คนอเมริกันกับไทยมีความสัมพันธ์กันมาเกือบ 200 ปี เป็นเพื่อนกันโดยธรรมชาติ”

ท่านทูตขยายความเรื่องความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างไทยกับอเมริกาเรื่องการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติว่า “เราตั้งอุทยานแห่งชาติด้วยความคิดชุดเดียวกัน อเมริกาต้ั้งมาร้อยกว่าปี แต่ไทยเพิ่งตั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็มีอุทยานแห่งชาติสวยๆ มากมาย อเมริกามีประสบการณ์บางอย่าง เช่นการรับมือกับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก การจัดการขยะ การเก็บเงินมาดูแลอุทยาน ในขณะที่ไทยก็มีประสบการณ์ในการอนุรักษ์พันธ์ุสัตว์ป่า อย่างนกเงือก หรือเสือ เราเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้”

ผมปิดท้ายบทสนทนาด้วยคำถามที่ว่า ถ้าสอนภาษาไทยให้คนอเมริกันได้สักคำ ท่านทูตกลินจะสอนคำว่าอะไร

“สนุก” ท่านทูตออกเสียงชัดถ้อยชัดคำ แล้วหัวเราะร่วน “คนอเมริกันชอบ chill out คำว่า สนุก น่าจะเป็นคำที่ถูกต้อง แต่ยังมีคำดีๆ อีกหลายคำ ผมชอบคำว่า ‘พิพิธภัณฑ์’ ‘วัฒนธรรม’ มันเท่มาก ภาษาของคุณเป็นภาษาดนตรี ผมชอบคำที่เสียงเพราะ จนต้องไปหาว่ามันแปลว่าอะไร คำว่า ‘ไม่เป็นไร’ ก็เป็นการแสดงออกที่ดี คนอเมริกันน่าจะชอบ ผมเรียนภาษาไทยกับครูทุกสัปดาห์ แต่ผมพบว่า การเริ่มต้นเรียนภาษามันง่ายกว่านี้ถ้าเรียนตอนอายุสักสี่สิบ ไม่ใช่หกสิบแบบผม” ท่านทูตปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะ

ขึ้นบ้านเก่า ฉลอง 70 ปี บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

ภาพ: หนังสือ Residential Heritage โดยสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ

The Residence of the American Ambassador

Location: ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
Note: ไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้า

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan