หลายคนอาจคุ้นชื่อ ดร.สิงห์ อินทรชูโต ในฐานะสถาปนิกชื่อดังผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ล่าสุด เราได้ข่าวมาว่า ดร.สิงห์ อินทรชูโต ร่วมก่อตั้งคาเฟ่ ความน่าสนใจคือไม่ใช่คาเฟ่เก๋อีโคกลางกรุงเทพฯ แต่เป็นคาเฟ่ในตึกเก่าแก่กลางเมืองเล็กเงียบสงบอย่างลำพูน

Temple House : จากตึกเก่าสู่คาเฟ่และแกลเลอรี่ที่ตั้งใจชุบชีวิตเมืองลำพูนด้วยเสน่ห์ท้องถิ่น

ดร.สิงห์ย้อนเล่าให้ฟังว่าเขาเองใช้ความรู้ที่มีไปช่วยพัฒนาจังหวัดต่างๆ มานานแล้ว ลำพูนเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ปัญหาคือ สินค้าของลำพูนแม้จะหีบห่อจนเก๋ไก๋แค่ไหนก็มักขายไม่ค่อยได้ เขาจึงเห็นว่าควรเปลี่ยนจากการช่วยแต่ฝั่งผู้ผลิต มาสนใจเรื่อง ‘ตลาด’ มากขึ้น

ความคิดนั้นถูกวางพักไว้จน ดร.สิงห์ ได้มีโอกาสได้ ‘เห็น’ ลำพูนเต็มตาเมื่อชาวลำพูนพาเขาเที่ยวรอบเมืองหลังเสร็จงาน

ตอนนั้นเอง เขาประจักษ์ว่าเมืองเล็กๆ แห่งนี้เต็มไปด้วยความโดดเด่น ตั้งแต่พระธาตุหริภุญไชยที่งดงามและเก่าแก่นับพันปี ผืนป่าชุมชนอันอุดมที่เป็นป่าชุมชนแห่งแรกของประเทศ กาแฟคุณภาพระดับโลก จนถึงศิลปินชั้นครูมากมายที่มีลำพูนเป็นบ้านเกิด

แต่ทั้งที่อัดแน่นด้วยของเด็ด ลำพูนกลับเป็นเมืองรองอันเงียบเหงา แถมยังพ่วงด้วยสถิติการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในประเทศไทย

Temple House : จากตึกเก่าสู่คาเฟ่และแกลเลอรี่ที่ตั้งใจชุบชีวิตเมืองลำพูนด้วยเสน่ห์ท้องถิ่น

Temple House : จากตึกเก่าสู่คาเฟ่และแกลเลอรี่ที่ตั้งใจชุบชีวิตเมืองลำพูนด้วยเสน่ห์ท้องถิ่น

 

ความย้อนแย้งนี้มาจากไหน? ดร.สิงห์วิเคราะห์ให้ฉันฟังว่าเหตุผลหลักน่าจะมาจากการที่ลำพูนอยู่ใกล้เชียงใหม่มาก นักท่องเที่ยวจึงผ่านไปเที่ยวเชียงใหม่ยอดฮิตกันหมด ถ้ามีแวะมาบ้างก็เป็นเดย์ทริปแสนสั้นที่ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่ควร

ผลคือลำพูนซบเซาอย่างที่เห็น แถมนานวันเข้าก็เกิดเป็นวัฏจักรแสนคลาสสิก นั่นคือหนุ่มสาวผละจากบ้านเกิดไปเรียนและทำงานที่อื่นเพราะมองไม่เห็นอนาคตในบ้านตัวเอง คนที่ยังอยู่มีแต่ผู้เฒ่าผู้แก่และเด็กน้อย

สิ่งที่ได้เห็นและเข้าใจทำให้ความคิดที่คิดค้างไว้หวนกลับมา เมื่อ ดร.สิงห์ พบตึกเก่าแสนสวยใกล้พระธาตุหริภุญไชย เขาจึงร่วมลงขันกับเพื่อนชาวลำพูนซื้อตึกหลังนั้นเพื่อทำฝันให้เป็นรูปร่างจนคืนชีพให้เมืองได้

Temple House : จากตึกเก่าสู่คาเฟ่และแกลเลอรี่ที่ตั้งใจชุบชีวิตเมืองลำพูนด้วยเสน่ห์ท้องถิ่น Temple House : จากตึกเก่าสู่คาเฟ่และแกลเลอรี่ที่ตั้งใจชุบชีวิตเมืองลำพูนด้วยเสน่ห์ท้องถิ่น

“ผมตั้งใจว่าจะเอาตึกนี้แหละเป็นที่จุดประกายหรือปลุกวิญญาณสิ่งดีๆ ของลำพูนขึ้นมา” ดร.สิงห์เอ่ยความตั้งใจ แล้วยกตัวอย่างโมเดลในต่างประเทศซึ่งอ้างอิงได้ เช่น เมืองพอร์ตแลนด์ของอเมริกาซึ่งฟื้นตัวได้ด้วยร้านอาหารดีและร้านรวงของ Young Hipster

นั่นคือที่มาของ Temple House สถานที่ซึ่ง ดร.สิงห์ ตั้งใจให้เป็น ‘ตลาด’ หรือ ‘Demand Side’ ที่รองรับและขับประกายของดีเมืองลำพูนในรูปแบบสากลและไม่เชย

คาเฟ่ที่ชั้นล่างจึงไม่ได้สร้างเอาเก๋ แต่เกิดขึ้นเพื่อหยิบวัตถุดิบเด็ดของที่นี่อย่างกาแฟ ผลมัลเบอร์รีเขียว มะเขือเทศอินทรีย์สายพันธุ์อิตาลี ฯลฯ มาหีบห่อเป็นเมนูรสดี รวมถึงวางขายของท้องถิ่นที่ ดร.สิงห์ เคยเข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านหน้าร้านยังมีพื้นที่วางขายผลผลิตสดใหม่ของเกษตรกรในพื้นที่ เผื่อใครอยากซื้อฝากหรือซื้อไปทำกินเองก็ได้

ขณะที่ชั้นสองเป็นแกลเลอรี่จัดแสดงงานหมุนเวียน เพื่อเผยแพร่ผลงานศิลปินลำพูนแต๊ๆ ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่สู่สายตาผู้มาเยือน ส่วนปัญหาไม่มีใครมาพัก หาที่พักไม่ได้ ด้านหลังของที่นี่ก็มีที่พักกะทัดรัดขนาด 2 ห้องไว้ตอบโจทย์

Temple House : จากตึกเก่าสู่คาเฟ่และแกลเลอรี่ที่ตั้งใจชุบชีวิตเมืองลำพูนด้วยเสน่ห์ท้องถิ่น

Temple House : จากตึกเก่าสู่คาเฟ่และแกลเลอรี่ที่ตั้งใจชุบชีวิตเมืองลำพูนด้วยเสน่ห์ท้องถิ่น

ความดีงามของ Temple House ไม่ได้อยู่แค่ไอเดียด้านในเท่านี้ แต่ที่นี่คือสเปซของสถาปนิก โครงสร้างอาคารจึงน่าสนใจมากไม่แพ้กัน

ดร.สิงห์เล่าว่าตึกหลังนี้เป็นอาคารยุคโมเดิร์นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาก็ตั้งใจเก็บกลิ่นอายยุคนั้น เช่น คงพื้นไม้สักและกรอบหน้าต่างเก่าแก่ไว้ตามเดิม แต่แม้มองเผินๆ แทบไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง อาคารนี้ก็มีไอเดียใหม่สอดแทรกเข้ามา นัั่นคือการเป็นอาคารอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามแนวทางถนัดของดร.สิงห์ ตั้งแต่การใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อประหยัดพลังงาน จนถึงใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มาจากการรีไซเคิล เช่น พื้นผิวเคาน์เตอร์ชงกาแฟนั้นทำด้วยเศษกระดุม ส่วนหลังคาอาคารก็มาจากกล่องนมที่แปรรูปแล้ว

Temple House : จากตึกเก่าสู่คาเฟ่และแกลเลอรี่ที่ตั้งใจชุบชีวิตเมืองลำพูนด้วยเสน่ห์ท้องถิ่น

ทั้งหมดนี้ทำให้ Temple House เป็นพื้นที่มีแนวคิดสร้างสรรค์ทั้งภายนอกและภายใน ที่สำคัญ คาเฟ่และแกลเลอรี่น้องใหม่นี้บริหารจัดการโดยหนุ่มสาวชาวลำพูนที่ ดร.สิงห์ ชักชวนมา

“เขารักร้านเหมือนเป็นเจ้าของและบอกผมว่าไม่เคยคิดว่าจะได้เรียนรู้เยอะขนาดนี้” ดร.สิงห์เล่าถึงผลตอบรับจากเด็กๆ ที่ตอนนี้รู้แล้วว่าอยู่ที่บ้านเกิดได้ และไม่ใช่แค่ให้เรียนรู้วิธีทำร้าน เขายังพยายามพัฒนาเด็กด้วยวิธีการ เช่น ให้เรียนอังกฤษเพื่อสนทนากับชาวต่างชาติ และให้อ่านหนังสือต่างประเทศดีๆ เพื่อเปิดโลก

Temple House : จากตึกเก่าสู่คาเฟ่และแกลเลอรี่ที่ตั้งใจชุบชีวิตเมืองลำพูนด้วยเสน่ห์ท้องถิ่น

Temple House : จากตึกเก่าสู่คาเฟ่และแกลเลอรี่ที่ตั้งใจชุบชีวิตเมืองลำพูนด้วยเสน่ห์ท้องถิ่น

Temple House เพิ่งเปิดตัวหมาดๆ เมื่อต้นปี มีเป้าหมายหลักคือชาวลำพูนรวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งไทยเทศ ดร.สิงห์คาดการณ์จากประสบการณ์ที่เคยทำธุรกิจว่าน่าจะใช้เวลา 3 ปีในการวัดผล หากพื้นที่แห่งนี้เฟื่องฟูได้จริง และเมืองเริ่มงอกงาม เช่น ร้านต่างๆ เริ่มพัฒนา ภูมิทัศน์เมืองเริ่มปรับเปลี่ยน นั่นเท่ากับเราได้ต้นแบบ ได้องค์ความรู้ ซึ่งนำไปใช้กับจังหวัดหรือประเทศอื่นได้

แม้เพิ่งเริ่มก้าวเดิน ที่แห่งนี้จึงนับเป็นความหวังและความเป็นไปได้ใหม่ในการคืนชีวิตให้เมืองที่น่าเอาใจช่วยที่สุด

Facebook l Temple House Lumphun

Writer & Photographer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN