หากพูดถึง Creative Space ใจกลางกรุงเทพฯ คุณคงนึกออกหลายแห่ง แต่พื้นที่สร้างสรรค์ที่ฉันจะเล่าให้ฟังแตกต่างออกไป เพราะเป็นพื้นที่สร้างสรรค์และสรรค์สร้างสำหรับเด็กและครอบครัวโดยเฉพาะ ชนิดที่คุณพ่อคุณแม่คงแอบยิ้มอยู่ในใจ

ชื่อของสถานที่นี้คือ Bluedoor หรือ ประตูสีฟ้า พูดแล้วหลายคนต้องร้องอ๋อ เพราะนี่คือชื่อของร้านอาหารในร้านหนังสือสุดเก๋ของมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ที่เคยตั้งอยู่แถวย่านเอกมัย ปัจจุบันร้านประตูสีฟ้าย้ายมาพร้อมประตูบานเดิมสู่ย่านพระราม 9 ในรูปแบบบ้านสีฟ้า-ขาว 2 ชั้น สบายตา ร่มรื่นชื่นใจด้วยต้นไม้สีเขียวหลากพันธุ์ สะดุดตาด้วยกำแพงภาพวาดสีสันสดสวยที่สอดแทรกเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านศิลปะ ตามเป้าหมายของมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ที่มุ่งหวังจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศของเรา

Bluedoor

Bluedoor

แต่แม้จะชื่อเดิม ประตูบ้านเดิม ตัวร้านก็เติบโตงอกงามสู่ความหมายใหม่

จับลูกปิดประตูให้มั่นแล้วเปิดไปดูกันว่ามีอะไรอยู่ด้านหลัง ‘ประตูสีฟ้า’ บานนี้

“เราสนใจเรื่องเด็ก เยาวชน และหนังสือ เอาทุกอย่างมาผสมรวมกัน เกิดเป็น Creative Space สำหรับเด็กและครอบครัว รวมถึงจิตอาสาของมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ด้วย” แหวน-กิติยา โสภณพนิช เลขาธิการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ เริ่มต้นคลายความสงสัยให้ฉัน แล้วเล่าต่อว่า หลังจากวาดฝัน เธอก็ลงมือทำ โดยชวนเพื่อนพ้องน้องพี่มาร่วมแรงร่วมใจ เช่น บริษัทโฆษณา WHAT IF ที่มาช่วยดีไซน์ และเครือข่ายพ่อแม่ที่เกิดจากการจับมือของพ่อแม่หลายกลุ่มอย่าง พ่อแม่บ้านเรียน และพ่อแม่ของเด็กพิเศษ ที่มาช่วยแบ่งปันไอเดีย

Bluedoor

มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์

บ้าน 2 ชั้นแสนร่มรื่นจึงเริ่มก่อร่างกลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กๆ และครอบครัว เมื่อเปิดประตูสีฟ้าเข้ามา เด็กๆ จะเจอ ‘ห้องเกาะ’ ที่มีหนังสือนิทานภาพ หนังสือวรรณกรรมสำหรับเด็ก หนังสือภาษาต่างประเทศ และบรรดาหนังสืออีกมากมายที่ยกขบวนกันมาจากบ้านของกิติยา จัดสรรปันส่วนอยู่ตามมุมห้อง เพื่อให้เด็กๆ มีพื้นที่สำหรับอ่านหนังสือ (หรือจะเล่นซนก็เชิญได้ตามสบาย) รวมถึงทำกิจกรรมเรียนรู้ศิลปะจากธรรมชาติ เช่น การสร้างสรรค์งานด้วยสีจากใบไม้และดอกไม้

Bluedoor

Bluedoor

“นิทานภาพเป็นการสื่อเรื่องราวที่ซับซ้อน เรามองว่ามันเป็นการสื่อสารที่ไม่ธรรมดาเลย บางทีเด็กไม่สามารถอ่านเข้าใจได้ เขาก็ดูรูปควบคู่กับการอ่านคำ ผสมกันแล้วตีความ” กิติยาอธิบาย “คนไทยส่วนใหญ่มองว่าการอ่านต้องได้ความรู้ แต่เรามองว่ามันพัฒนาคนเป็นคน การอ่านช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องราวที่เขาไม่มีทางไปประสบพบเจอด้วยตัวเอง และช่วยพัฒนาความสามารถในการใช้สมองให้มีความยืดหยุ่น พลิกแพลงได้ เป็นความจำที่รู้จักประมวลใช้งานตลอดเวลา”

Bluedoor

ต่อกันอีกหนึ่งห้องที่กิติยาภูมิใจนำเสนอ เราขอเรียกว่า ‘ห้องป่า’ มันคือห้องสี่เหลี่ยมคลุมผ้ามืดมิด เจาะรูผ้าขนาดพอดีหย่อนไฟลงไปพร้อมข้าวของเครื่องใช้แบบทึบและโปร่งแสง เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องแสง-เงา เพราะเธอเชื่อว่าแสงเป็นพื้นฐานของทุกชีวิต

“เรามองว่าสิ่งแวดล้อมมันสำคัญมาก การสร้างพื้นที่ขึ้นมาอย่างมีความหมาย มันเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ได้มหาศาลและเขาจะค้นพบอะไรบางอย่างด้วยตัวเขาเอง” กิติยาบอกฉัน

ส่วนห้องสุดท้ายแต่ยังไม่ท้ายสุด เป็น ‘ห้องนิทรรศการ’ ฟังแค่ชื่อต้องดูจริงจังมากแน่ แต่ความจริงคล้ายเป็นห้องจัดเวิร์กช็อป เปลี่ยนธีมตามความสนใจของเด็กๆ ในแต่ละเดือน โดยเธอไม่ลืมที่จะสอดแทรกความรู้-ความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ ป่า และสัตว์ ลงไปด้วย

มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์

Bluedoor

มาถึงห้องสุดท้าย เป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ที่มีสื่อการสอนคือ ‘ธรรมชาติ’ ที่นี่ไม่มีคุณครูใจดีมาบอกว่าเด็กๆ ต้องทำแบบนั้น ต้องทำแบบนี้ แต่ขอให้เด็กทั้งหลายจงเรียนรู้และค้นพบด้วยตัวเอง

ลองปีนต้นไม้ต้นนั้นดูสิ ก้มมองเจ้าปลาตัวเล็กแวกว่ายในบ่อบัว ขุดดินเล่นทราย ทำตามใจเด็กปรารถนา

Bluedoor

“พื้นที่สำหรับเด็ก เขาต้องเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง เด็กๆ จะต้องได้เล่นในที่ที่เขารู้สึกว่าเป็นของเขาจริงๆ เด็กพูดเสมอว่าไม่ต้องมีอะไรมาก แค่ดิน ทราย แล้วก็น้ำ ต้นไม้หน่อย ก็มีความสุขมากแล้ว” กิติยาทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม

สำหรับฉัน ถ้าประตูสีชมพูคือประตูวิเศษของโดราเอมอนที่จะโผล่ไปที่ไหนก็ได้  

ประตูสีฟ้าก็คงจะเป็นประตูที่เด็กๆ ท่องไปในโลกของการเรียนรู้ได้แบบไม่มีวันสิ้นสุด

กิติยา โสภณพนิช

 

Bluedoor

Location:   ซอยพระรามเก้า 54 ถนนพระรามเก้าตัดใหม่ สวนหลวง กรุงเทพมหานคร
เปิด   9:00 – 17:00 น. (ปิดวันจันทร์) 
Facebook l Bluedoor 

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล