จากวิกฤตที่บีบให้ Once Again Hostel ในย่านประตูผีต้องหาทางรอด บวกกับความผูกพันของคนในพื้นที่ใกล้เคียง ผู้ประกอบการโรงแรมจึงตัดสินใจพลิกธุรกิจเดิมให้กลายเป็น Delivery Hub นามว่า ‘Locall’ เพื่อช่วยเหลือร้านอาหารในชุมชนให้รอดไปด้วยกัน 

ฮับนี้ไม่ได้มีดีแค่การส่งอาหารจากหลากหลายร้านในตำนานย่านประตูผี-เสาชิงช้า แต่ยังเป็นธุรกิจที่ต่อลมหายใจให้ร้านอาหารในย่านและร้านอาหารอื่นๆ รอดพ้นวิกฤตที่สาหัสไปได้ด้วยกลไกง่ายๆ ไม่มีเว็บไซต์ ไม่มีแอปพลิเคชัน เพียงแค่คุณโทรหรือสั่งอาหารผ่าน LINE@ ฮับจะคอยประสานกับทางร้านและนำส่งอาหารให้คุณ 

Locall เกิดจากการรวมกันของคำว่า Call ที่หมายถึงการโทร นำมาใส่ในคำว่า Local ที่แปลว่าท้องถิ่นหรือเจ้าถิ่น จนเกิดเป็น ‘Locall Thailand’ หรือ Delivery Hub เจ้าเดียวในย่านประตูผี โดยกลุ่ม SATARANA ซึ่งเป็นการโคจรมารวมตัวกันของคนที่มีใจรักในการพัฒนาชุมชนและพัฒนาเมือง พวกเขาเหล่านี้ทำงานกับชุมชนมานานกว่า 5 ปี 

SATARANA คือกลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่เชื่อใน Inclusive Business ประกอบด้วย Trawell ทำเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน MAYDAY! ทำเรื่องขนส่งสาธารณะ Attention ทำเรื่องการสื่อสารและแบรนดิ้งให้กับชุมชน และ Once Again Hostel ธุรกิจโฮสเทลที่กลมกลืนไปกับชุมชน บนความตั้งใจอยากช่วยเหลือชุมชนและความเชื่อที่ว่า ถ้าธุรกิจเติบโตได้ ชุมชนรอบข้างก็สามารถเติบโตไปพร้อมกันได้ 

พวกเขารับรู้การมาถึงของวิกฤตโรคระบาดเมื่อปีที่แล้ว ร้านค้า-ร้านอาหารในชุมชนที่ผูกพันเริ่มทยอยปิดประตูหน้าร้านลงเรื่อยๆ โจทย์ใหญ่ที่เกิดขึ้นคือ จะทำอย่างไรให้ร้านในตำนานเหล่านี้ ยังคงกลับมาเปิดครัว เปิดเตา ต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง โดยมีเบื้องหลังความตั้งใจเรียบง่ายคือ การได้กลับไปกินข้าวร้านเดิม

คอลัมน์ The Entrepreneur สัปดาห์นี้ขอพาไปคุยกับสองสาวจาก Once Again Hostel พลอย-เพียงพลอย จิตรปิยธรรม และ มาย-ณัฐวรรณ ล้วนใจบุญธรรม ถึงที่มาที่ไปของธุกิจ รวมถึงบทเรียนที่เปี่ยมสุขและความผูกพันในการทำงานร่วมกับชุมชน

Locall ฮับขนส่งอาหารย่านประตูผีที่ไม่อยากรอดคนเดียว แต่ต้องรอดด้วยกันทั้งชุมชน

ที่มาและความสำคัญ

Once Again Hostel เจอวิกฤตเดียวกับที่โรงแรมทุกแห่งต้องเจอ คือการลดลงของแขกที่เข้าพัก กว่าครึ่งของแขกปกติคือนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อไม่สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย ยอดจองห้องพักลดลงเรื่อยๆ จนถึงวันที่ต้องปิดตัวชั่วคราว พลอยและพนักงานรีเซปชันอีก 4 คนจึงระดมไอเดียกันว่า ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อไม่ให้พวกตัวเองตกงาน ในขณะเดียวกัน ร้านรวงต่างๆ ในย่านประตูผีก็ต้องรอดไปด้วย 

ครั้นจะให้ทั้ง 5 คนเปิดร้านผัดกะเพราหน้าโฮสเทล ท่ามกลางร้านอื่นๆ ที่ผุดขึ้นมากมายในช่วงโควิด-19 ก็ดูเป็นไปได้ยาก อีกมุมหนึ่ง พวกเขาเห็นว่าพ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ใกล้ๆ โฮสเทลก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

“ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นกับร้านค้ารอบๆ เราด้วย โดยที่ร้านพวกนี้อาจได้รับผลกระทบมากกว่าเราอีก เรายังเข้าถึงโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน เข้าถึงแพลตฟอร์ม เรายังมี Digital literacy ในขณะที่รอบๆ เราคือคุณลุง คุณป้า ที่ยังไม่ยอมใช้สมาร์ทโฟน ยังใช้โทรศัพท์บ้านกันอยู่ ในการปรับตัว ลุงๆ ป้าๆ น่าจะปรับยากมากกว่า เราก็เลยคิดว่าจะหาเครื่องมืออะไรให้คุณลุง คุณป้า ปรับตัวไปพร้อมกับเราได้” พลอยเล่า

 Locall Thailand กำเนิดขึ้นในระยะเวลากระชั้นชิด มีภารกิจยิ่งใหญ่คือ การช่วยให้ร้านค้าในชุมชนอยู่รอดและยังไม่ปิดตัวไป ในช่วงที่วิกฤตย่างกรายเข้ามาถึงหน้าประตูร้าน 

พวกเขาจึงสร้างบริการที่มีกลไกง่ายๆ เริ่มจากโฮสเทลเป็นตัวกลางประสานงานระหว่างคนซื้อกับคนขาย เมื่อลูกค้าออเดอร์อาหาร โฮสเทลจะโทรตรงไปที่ร้านเพื่อสั่งอาหารจากร้านในชุมชน ติดตามออเดอร์และส่งอาหารให้กับลูกค้าตามจุดต่างๆ โดยมีไรเดอร์เป็นพี่วินมอเตอร์ไซค์ในพื้นที่ ทำหน้าที่ช่วยส่งต่อของอร่อย 

จนในที่สุด Locall Thailand ก็กลายเป็นสะพานเชื่อมร้านค้าในชุมชนกว่า 300 ร้านกับลูกค้าที่อยากอุดหนุนให้มาเจอกัน

Locall ฮับขนส่งอาหารย่านประตูผีที่ไม่อยากรอดคนเดียว แต่ต้องรอดด้วยกันทั้งชุมชน

รอดไปด้วยกัน

“ความตั้งใจเราคือ การทำ Inclusive Business ตั้งแต่ต้น อยากเติบโตไปกับเขา รอดไปกับเขา เราไม่ได้มองแค่เขารอดนะ ถ้าเขารอดมันคือ CSR ที่เราให้ แต่ทั้งหมดที่ผ่านมา เราทำเพราะอยากรอดไปด้วยกัน เขาได้เราก็ได้ เป้าหมายหลักคือการรอดไปด้วยกันนี่แหละ”

การพาธุรกิจให้ไปต่อเพื่อให้อยู่รอดได้ในภาวะวิกฤตนับเป็นเรื่องยาก และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การทำให้บริบทรอบๆ ดำรงอยู่และผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกันได้ พลอยเล่าถึงความผูกพันที่เกิดจากการทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งในความสัมพันธ์นี้ มีมากกว่าการเป็นธุรกิจในย่านเดียวกัน

“มันเป็นความสัมพันธ์เดิม ไม่ใช่แค่คนที่ไปกินข้าวบ่อยๆ ด้วยซ้ำ แต่มีตั้งแต่คนที่ไปกินข้าวบ่อยๆ พาต่างชาติไปกิน คุยกับเขาเหมือนเป็นลูกเป็นหลาน ช่วยเขาทำอาหาร ไปในนาม Trawell เปลี่ยนเมนูอาหาร Make Over เมนูให้เขา เปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษ เปลี่ยนรูปให้ใหม่ พาฝรั่งลงไปช่วยดีไซน์ ฝรั่งต้องการเมนูแบบไหนถึงจะสั่งก๋วยเตี๋ยวได้ง่าย

“การทำ Locall มันทำให้ความสัมพันธ์ของเราเป็นมากกว่าโฮสเทลที่ตั้งอยู่ตรงนั้นไปแล้ว กลายเป็นลูก เป็นหลาน กลายเป็นคนที่เขารู้สึกว่าอยากปรึกษา อยากจะพึ่งพา”

การคลุกคลีกับชุมชนเพราะธุรกิจที่ทำนั้นเกื้อหนุนกัน บวกกับความตั้งใจแน่วแน่ในตอนต้น ทำให้พวกเขามองชุมชนเป็นมากกว่าพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ

“มันไม่ใช่แค่ทำให้เราทำงานกับเขาง่ายขึ้น แต่ทำให้ในวิสัยทัศน์ของธุรกิจ เรามีเขาอยู่ตลอดเวลา สมมติเจอปัญหา ต้องไปเข้าเดลิเวอรี่แพลตฟอร์ม แล้วเราแค่เอาตัวเองเข้าไปในเดลิเวอรี่แพลตฟอร์ม จะไม่ออกมาเป็นแบบนี้ แต่พอเราเจอปัญหา เขาอยู่ใน Vision เลยคิดเสมอว่า ต้องพาเขาไปด้วยตลอด พอมันเป็นแบบนั้นเลยเกิดโซลูชันแบบนี้ได้

 “การที่ทำงานร่วมกับเขามาตลอด ทำให้เกิดสิ่งนี้ได้ ทำให้คิดวิธีการแก้ปัญหาแบบนี้อีก ถ้าเราไม่เคยเจอกัน ไม่เคยทำงานร่วมกัน ไม่เคยมีอะไรร่วมกันมาก่อน เราคงไม่คิดที่จะพาเขารอดไปด้วย”

Locall ฮับขนส่งอาหารย่านประตูผีที่ไม่อยากรอดคนเดียว แต่ต้องรอดด้วยกันทั้งชุมชน
Locall ฮับขนส่งอาหารย่านประตูผีที่ไม่อยากรอดคนเดียว แต่ต้องรอดด้วยกันทั้งชุมชน

ทีมจิ๋วสร้างงานแจ๋ว

เบื้องหลังของ Locall Thailand ที่ทำทั้งระบบ Delivery Hub และทำเพจสื่อสารเรื่องราวของร้านอาหารย่านประตูผี เกิดจากกลุ่มคนตัวเล็กๆ เพียงแค่ 4 คน ผู้ทำหน้าที่รีเซปชันของโฮสเทล แต่ทุกคนล้วนเป็นคนมีของ 

“เรารับรีเซปชันที่ถ่ายรูปได้ เขียนคอนเทนต์ได้ ทำบัญชี ดูระบบหลังบ้านให้เราได้ เรารับรีเซปชั่นที่ไปคุยกับคุณลุงคนขับมอเตอร์ไซค์ ให้เขามาสมัครเป็นคนขับของเราได้ ดังนั้น เป็นเรื่องน่าทึ่งเหมือนกันที่รีเซปชั่นของเราทำได้ทุกอย่างขนาดนั้น และทำจนมันเวิร์ก เราทำสี่คนมาสี่เดือน จนกลายเป็นเจ็ดคน”

พวกเขาเป็นทีมเล็กๆ ที่อยากให้ร้านค้าที่ผูกพันยังคงเปิดขายของเหมือนเดิมได้ ทีมพยายามช่วยชุมชนเท่าที่ทำได้ ตามความสามารถและความถนัดของคนในทีม แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาเกินกว่าที่คาดไว้ จากบริการเล็กๆ ที่ตั้งใจทำสุดความสามารถ เริ่มได้รับการกล่าวถึงและบอกต่อๆ กัน จนค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้น พร้อมๆ กับความท้าทายและขอบเขตงานที่ใหญ่ขึ้น

แพลตฟอร์มขนส่งอาหารย่านประตูผีโดยพนักงาน Once Again Hostel ที่ไม่อยากให้ธุรกิจตัวเองรอดคนเดียว แต่ต้องรอดด้วยกันทั้งชุมชน

“ความยากของเฟสแรกคือการที่อยู่ดีๆ มันก็ตู้มต้าม แค่อาทิตย์เดียว ยอดเยอะขึ้น เราไม่ได้ตั้งใจจะทำให้มันยิ่งใหญ่ เราทำเล็กๆ Operation จึงไม่ได้เผื่อว่ามีออเดอร์จนเรารับไม่ไหว ดังนั้น ความยากในตอนนั้นคือ การจะรักษาคุณภาพในการบริการลูกค้า” พลอยกล่าวถึงความท้าทายในช่วงแรก

“เราทำงานโดยไม่ได้ออกไปเจอร้านค้า ทั้งๆ ที่การออกไปเจอมันทำให้คุยง่ายกว่า อย่างบางร้านที่ป้าเขาไม่มีสมาร์ทโฟน ใช้โทรศัพท์บ้าน ออเดอร์เข้ามาร้อยออเดอร์ เราก็ต้องขานว่าชื่อนี้มีกี่กล่องจนครบ แล้วก็เขาไม่มีแอปฯ โอนเงิน พอเงินเข้าเขาต้องเดินไปอัปบัญชีที่ธนาคารแล้วโอนกลับให้เรา เราพยายามปรับให้ดีขึ้น รวมยอดทีเดียว ป้าจะได้ไม่ต้องไปบ่อยๆ” มายเสริม

สิ่งที่ยากไม่แพ้กันคือ การสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจถึงความตั้งใจจริงของพ่อค้าแม่ค้า เพื่อให้เกิดการอุดหนุนที่ยั่งยืน 

แพลตฟอร์มขนส่งอาหารย่านประตูผีโดยพนักงาน Once Again Hostel ที่ไม่อยากให้ธุรกิจตัวเองรอดคนเดียว แต่ต้องรอดด้วยกันทั้งชุมชน

“เป็นความยากที่แตกต่าง รอบแรกพลอยบอกกับน้องตลอดเวลาว่า อย่าเขียนอะไรให้ป้าดูน่าสงสาร เราไม่ได้ขอใครกิน เรายังขายของได้ ทุกคนที่อยู่ตรงนั้นเขามีศักดิ์ศรี พ่อค้าแม่ค้าตรงนั้นเป็นตำนานในสิ่งที่เขาทำ ดังนั้น จะไม่เขียนอะไรให้คนมาซื้อเพราะรู้สึกว่าสงสารเลย คุณอยากกินเพราะมันอร่อย ค่อยซื้อ คุณอยากกินเพราะสตอรี่น่ารัก มันอบอุ่นหัวใจ ค่อยซื้อ”

ทุกเนื้อหาบนเพจเฟซบุ๊กของของ Locall Thailand จึงเน้นเรื่องราวในมุมของเจ้าบ้านหรือเจ้าของร้าน มิใช่มุมของนักกิน คอนเทนต์แทบทั้งหมดบนเพจจึงเป็นเรื่องราวน่ารักๆ จากพ่อค้าแม่ค้าที่สื่อถึงความตั้งใจในการทำอาหารและการทำในสิ่งที่รัก

“คอนเทนต์ที่เห็นเป็นคอนเทนต์ของเจ้าบ้าน เม้ามอย เล่าเรื่อง ทุกอันที่เราทำจะไม่ได้บอกว่าน้ำซุปใส ลูกชิ้นเด้ง เส้นเหนียว เราไม่ได้มีอะไรแบบนั้น เราจะพูดเรื่องป้ากับลุงเจอกันได้ยังไง แมวใครหาย เพราะเราไม่ได้เล่าจากมุมนักกิน มันเป็นคอนเทนต์อาหารที่ไม่ได้เล่าจากมุมนักกิน เราเล่าจากคนในบ้านที่อยากให้รู้ว่าคนในบ้านเราน่ารักยังไง เกิดอะไรขึ้นในชีวิต”

แคมเปญช่วยเหลือร้าน

นอกจากจะทำ Delivery Hub ในย่านประตูผี-เสาชิงช้า และย่านใกล้เคียงในช่วงที่มีการล็อกดาวน์รอบที่ 1 และ 2 แล้ว ในวิกฤตรอบที่ 3 ที่สาหัสกว่าทั้งสองรอบที่ผ่านมา ร้านที่เคยสู้และเคยอยู่ได้ก็เริ่มทยอยอำลาสังเวียนการต่อสู้ครั้งนี้ Locall Thailand จึงฮึดสู้อีกครั้ง ด้วยการลุกขึ้นมาทำแคมเปญช่วยเหลือร้านที่ยังอยู่ให้อยู่รอดต่อไปได้ ภายใต้แคมเปญที่มีชื่อว่า ‘ไทยมุง รุมกันสั่ง’ 

มายเล่าถึงแคมเปญนี้ในฐานะผู้ริเริ่มและผู้ดูแลว่า “เรื่องมันเริ่มมาจากที่คุณลุง ลูกสาวไม่ทำเดลิเวอรี่ให้ เขาก็โทรมาหาออฟฟิศเรา ถามว่าไปทำให้เขาได้ไหม นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรารวมกัน โทรหาร้านค้าต่างๆ ว่า คุณป้า สถานการณ์เป็นยังไงบ้าง จากที่แบ่งกันโทรกับน้องฝึกงาน เราก็ได้เรื่องมาว่า คุณป้าคนนี้ติดโควิด ร้านนี้ปิดไปแล้ว ที่สำคัญ กว่าสามสิบเปอร์เซ็นต์ของจำนวนร้านย่านประตูปีก็ปิดไปแล้ว

แพลตฟอร์มขนส่งอาหารย่านประตูผีโดยพนักงาน Once Again Hostel ที่ไม่อยากให้ธุรกิจตัวเองรอดคนเดียว แต่ต้องรอดด้วยกันทั้งชุมชน

“รอบนี้เราไม่อยากให้น้องลงไปเก็บอาหารหรือไปติดต่อเยอะๆ แบบนั้น เราก็เลยระดมสมองกันในออฟฟิศว่าจะทำแบบไหนได้ โอเค เอาแบบนี้ วันหนึ่งจะมีแค่ร้านเดียวที่เราซับพอร์ต แล้วร้านนั้นต้องการยอดเท่าไหร่ให้บอกมา แล้วเราจะสื่อสารออกไป สุดท้ายแล้วถ้าเรารวมออเดอร์ไม่ได้ เราก็จะช่วยทุกร้านเท่าที่คุณบอกว่า อยากให้เราช่วยเท่าไหร่ที่คุณพอจะอยู่รอด พอคุณครบแล้ว เราจะเอาร้านคุณออก แล้วเอาร้านคนอื่นเข้าไปแทน เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่า เราได้กระจายการช่วยเหลือแล้ว” พลอยเสริม

แคมเปญต่อเนื่องจากไทยมุง รุมกันสั่ง คือแคมเปญ ‘ไทยมุง รุมกันแจก’ โดย Locall Thailand เป็นตัวกลางเชื่อมให้คนที่อยากบริจาคอาหารกล่องช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน กับร้านที่รับทำข้าวกล่องมาเจอกัน 

แพลตฟอร์มขนส่งอาหารย่านประตูผีโดยพนักงาน Once Again Hostel ที่ไม่อยากให้ธุรกิจตัวเองรอดคนเดียว แต่ต้องรอดด้วยกันทั้งชุมชน
แพลตฟอร์มขนส่งอาหารย่านประตูผีโดยพนักงาน Once Again Hostel ที่ไม่อยากให้ธุรกิจตัวเองรอดคนเดียว แต่ต้องรอดด้วยกันทั้งชุมชน

“เราเห็นอุปสงค์อีกพาร์ตหนึ่งที่เกิดขึ้น คืออยากสั่งอาหารไปช่วยคนอื่น เลยคิดว่าน่าจะเป็นตัวกลางได้ในการจัดการสิ่งนี้ รวมไปถึงยอดอันเดิมที่เราตั้งไว้ว่าจะช่วยร้านแต่ละร้าน มีเป้าหมายเป็นจำนวนที่ชัดเจน เลยกลายเป็น ไทยมุง รุมกันแจก มีการติดต่อกับหน่วยงานและคนที่ต้องการอย่างเป็นกิจจะลักษณะว่าจำนวนเท่าไหร่ วันไหน อย่างไร ประสานกับร้านค้าแล้วส่งไปให้เขา”

นอกจากสองแคมเปญดีๆ ยังมีโครงการ STAY aLIVE เป็นการรวมตัวกันของอินฟลูเอนเซอร์กว่า 20 คน ทั้งนอกและในวงการ มาเชิญชวน เชิญแชร์ เรื่องราวของร้านที่ต้องการเป้า พร้อมชวนกันมาบริจาค เพื่อช่วยให้ร้านที่ยังสู้ รอดและผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน โดยเป็นการรวมตัวกันผ่านไลฟ์ทุกๆ วันศุกร์ เวลา 19.00 น. ซึ่งยอดเงินทั้งหมดในโครงการนี้ Locall Thailand ส่งต่อให้กับร้านโดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ 

“เราอยากให้เขารู้สึกว่าการบริจาคครั้งนี้ เราไม่ได้ไปโฟกัสที่ปลายเหตุหรือปลายทางว่ามันจะไปถึงใคร แต่เราโฟกัสว่าเราอยากจะพยุงให้คนที่ยังสู้ ยังทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก ทำสิ่งที่ตัวเองเชื่อคือการขายอาหาร ให้ยังทำต่อได้ 

“เราไม่ได้อยากให้เงินคุณเพื่อที่จะทำบุญ ทำทาน เราอยากให้คุณอุดหนุนร้านที่เขายังสู้เพื่อศักดิ์ศรีของเขา แล้วเอาอาหารจากคนสู้ไปให้คนที่ต้องการเหมือนกัน”

แพลตฟอร์มขนส่งอาหารย่านประตูผีโดยพนักงาน Once Again Hostel ที่ไม่อยากให้ธุรกิจตัวเองรอดคนเดียว แต่ต้องรอดด้วยกันทั้งชุมชน

ความผูกพันและการได้ช่วยเหลือเกื้อกูล

ทั้ง SATARANA, Locall Thailand และธุรกิจในเครืออื่นๆ ยึดหลักเดียวกัน คือ Inclusive Business และการที่ธุรกิจสามารถเติบโตไปข้างหน้าพร้อมกับชุมชน โดยไม่ได้มองว่าตัวเองทำเพื่อสังคม 100 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่พวกเขาเชื่อคือการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน พวกเขาไม่ได้มองชุมชนโดยรอบเป็นเพียงบริบทแวดล้อม แต่มองว่าทุกคนคือทีม ทุกคนคือครอบครัว ส่วนคนใน Locall ก็คือลูกหลานของชุมชน

“ทีมไม่ใช่แค่น้องๆ ที่เราดูแลกันมา แต่หมายถึงลุงป้าด้วย วันที่เราดูแลนักท่องเที่ยวที่มา Once Again Hostel ก็ไม่ใช่แค่โฮสต์ที่ดูแล แต่หมายถึงพี่แอนที่ทำความสะอาด พี่ทองสุขที่ขับแท็กซี่ หมายถึงลุงป้าที่รับซักผ้า เจ้าของสถานที่ท่องเที่ยวที่เราพาเขาไป

“เขาทำกับข้าวก็ทำเผื่อเรา เขาไปเที่ยวที่ไหนก็ซื้อของมาฝาก ทำเมนูใหม่ก็เอามาให้เราชิม ให้เราคอมเมนต์ เป็นเรื่องที่น่ารัก เรื่องเงินทองกลายเป็นเรื่องรองไปเลย เขาทำกับข้าวหม้อใหญ่ๆ เผื่อเรา ทำเผื่อมาเป็นหม้อๆ เราได้กินน้ำเงี้ยวจากร้านที่ขายเย็นตาโฟ เขาไม่ได้ขายน้ำเงี้ยว แต่เขาทำกินกันในบ้านแล้วเขาคิดถึงเรา”

แพลตฟอร์มขนส่งอาหารย่านประตูผีโดยพนักงาน Once Again Hostel ที่ไม่อยากให้ธุรกิจตัวเองรอดคนเดียว แต่ต้องรอดด้วยกันทั้งชุมชน
แพลตฟอร์มขนส่งอาหารย่านประตูผีโดยพนักงาน Once Again Hostel ที่ไม่อยากให้ธุรกิจตัวเองรอดคนเดียว แต่ต้องรอดด้วยกันทั้งชุมชน

การวาง Positioning ในฐานะลูกหลาน ผลที่ได้คือ ทำงานกับชุมชนเหมือนการทำงานกับญาติผู้ใหญ่ เกิดความสนิทสนม ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน มิใช่การให้หรือกอบโกย

“ทุกคนพึ่งพาอาศัยกันในบริบทที่เราอยู่กันได้ ไม่ใช่การที่เราช่วยเขาทั้งหมด ทุกอย่างต้องคิดถึงตัวเองทั้งนั้นแหละ แต่เราคิดแล้วว่าถ้าเราทำสิ่งนี้แล้ว อะไรรอบๆ มันจะดีขึ้น

“เสน่ห์ของมันคือการทำงานกับมนุษย์ และเป็นมนุษย์ที่เขารู้จัก Give and Take”

แพลตฟอร์มขนส่งอาหารย่านประตูผีโดยพนักงาน Once Again Hostel ที่ไม่อยากให้ธุรกิจตัวเองรอดคนเดียว แต่ต้องรอดด้วยกันทั้งชุมชน

ความยั่งยืนในระยะยาว

แม้ Locall Thailand จะเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นในระยะเวลาที่กระชั้นชิด แต่พวกเขาเป็นทีมเล็กๆ ที่อยากเห็นความยั่งยืนเกิดขึ้นในระยะยาว ขณะเดียวกันก็พร้อมจะอยู่เคียงข้างกับร้านในชุมชน

“เราอยากทำให้คุณลุงคุณป้ารู้สึกว่าเขาไม่ได้ตกรถไฟ ให้เขารู้สึกว่าใช้มือถือ มี Digital literacy และเข้าไปสู่ระบบออนไลน์ได้ อันนั้นคือความยั่งยืนที่เกิดขึ้น ซึ่งมีหลายร้านที่ทำแบบนั้นนะ มีร้านที่ไปขายอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ ซึ่งเราดีใจมากๆ

“วันหนึ่งถ้าเขามีปัญหาแบบอื่น เราก็อยากรวมตัวกันไปเรียกร้องสิทธิ์ของเขา ถ้าวันหนึ่งประเทศเข้าสู่สถานการณ์ปกติ เขาอยากจะมีเฟสติวัลของเขา เราก็จะร่วมกันทำมันขึ้นมา เขาอยากจะมีงานผีๆ ของคนประตูผี วันฮาโลวีนขึ้นมา เราก็จะทำให้มันเกิดขึ้น ดังนั้น เราไม่ใช่ Delivery Platform แต่เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงชุมชนและทำงานร่วมกันเท่านั้นเอง” พลอยกล่าว

ทีมซุ่มซ้อมพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อส่งมอบไม้ต่อให้กับร้าน ในวันข้างหน้า หากสถานการณ์ดีขึ้น เมื่อร้านสามารถกลับมาเปิดเตา เปิดประตูต้อนรับลูกค้าได้เช่นเดิม 

อาจจะไม่มีมาย ไม่มีพลอย ไม่มีทีม Locall แต่เครื่องมือนี้จะช่วยให้เขาสร้างเครือข่ายของเขากันเองได้

แพลตฟอร์มขนส่งอาหารย่านประตูผีโดยพนักงาน Once Again Hostel ที่ไม่อยากให้ธุรกิจตัวเองรอดคนเดียว แต่ต้องรอดด้วยกันทั้งชุมชน

ถอดบทเรียน

การตัดสินใจลงมือทำ Delivery Hub ในวันนั้น ทำให้ทั้งมาย พลอย และทีมงาน Locall Thailand ได้ช่วยเหลือร้านอาหารหลายร้านให้อยู่รอดในช่วงวิกฤต ส่งต่อลมหายใจให้ร้านในตำนานให้ยังคงเปิดประตูมาทำในสิ่งที่เชื่อ แม้จะไม่ใช่การต้อนรับในแบบที่คุ้นเคย แต่ก็สามารถปรับตัวได้ และขยับขยายสู่เดลิเวอรี่แพลตฟอร์มที่กลุ่มลูกค้าเข้าถึงได้มากขึ้น

ในตอนนี้มายยังคงเป็นรีเซปชัน หรือโฮสต์ที่ตั้งตารอวันที่นักท่องเที่ยวจะแวะเวียนกลับมาอีกครั้ง ในระหว่างที่รอประตูของ Once Again Hostel เปิดออก แต่การที่เธอได้มาทำ Locall Thailand ก็ทำให้เธอได้เห็นมุมที่ต่างออกไป 

“เราได้สื่อสารกับคนและทำงานกับชุมชน ปกติบางร้านเราเดินผ่านไปเลยด้วยซ้ำ พอได้รู้จัก เรายิ่งประทับใจว่าเขาตั้งใจทำอาหารขนาดนี้เลยเหรอ เป็นร้านตามสั่งทั่วไป แต่เขาตื่นตั้งแต่ตีสาม ผัดมาหกสิบปีแล้ว เรารู้สึกเห็นความสำคัญมากขึ้น”

ส่วนพลอยยังคงแวะเวียนไปเยี่ยมพ่อค้าแม่ค้าในย่านประตูผี และยังคงดูและระบบหลังบ้านเพื่อรอวันที่จะได้กลับไปเป็นเจ้าบ้าน เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนได้อีกครั้ง เธอทิ้งท้ายกับเราถึงบทเรียนที่ได้จากการขยับปรับเปลี่ยนมุมมองมาทำ Locall Thailand ไว้ว่า

“การยึด Core Value ไว้ให้ดีไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าเราจะอยากรอดไปในทิศทางไหน ยึด Core Value ของบริษัทไว้ให้ดีๆ ถ้ามันแข็งแรงจริงๆ เราจะรอดเพราะสิ่งนั้น และมันก็จะรอดอย่างมีความหมาย

“สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ บางทีเราก็ต้องทำแบบที่ไม่พร้อมนั่นแหละ ธุรกิจจะรอให้มันพร้อมทุกอย่างแล้วค่อยเริ่มทำ อาจจะสายเกินไป”

Locall แพลตฟอร์มขนส่งอาหารย่านประตูผีโดยพนักงาน Once Again Hostel ที่ไม่อยากให้ธุรกิจตัวเองรอดคนเดียว แต่ต้องรอดด้วยกันทั้งชุมชน

Lessons Learned

  • ให้ความสำคัญกับชุมชนที่ธุรกิจเข้าไปตั้ง มองว่าเป็นมากกว่าแวดล้อมโดยรอบ แต่เป็นชีวิต เป็นลมหายใจ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเราอยู่รอด ใช้หลักการเติบโตไปด้วยกัน ช่วยผลักดันไปข้างหน้า ถ้าชุมชนโต เราก็จะโต
  • แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยแนวคิดที่ยั่งยืน เห็นปัญหา ออกไปหาวิธีแก้ไข แล้วลองดูว่าจะทำให้เป็นระบบที่ยั่งยืนและอยู่ต่อไปได้อย่างไร 
  • ไม่ต้องรอพร้อมทุกอย่างก็เริ่มทำได้เลย และควรเตรียมใจรับความเสี่ยง โดยหาแนวทางแก้ไขเบื้องต้นไว้ก่อน
  • จดจำ Core Value ของธุรกิจไว้ให้แม่น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเรายึดหัวใจสำคัญของธุรกิจไว้ได้ จะเจอทางแก้ที่เป็นไปอย่างความตั้งใจ และจะเป็นการอยู่รอดที่มีความหมายมากขึ้น

ภาพ : Locall Thailand

ร่วมอุดหนุนลุงๆ ป้าๆ ได้ที่

Facebook : Locall Thailand

Email : [email protected]

Line ID : @locall.bkk (อย่าลืมใส่ @ ด้วยนะ) หรือลิงก์ https://lin.ee/mvYtOUt

Writer

Avatar

แคทรียา มาลาศรี

คนทักผิดตลอดชีวิตว่าเป็นนักร้องดัง รักการกินผักและรักเนื้อพอๆ กับผัก เกิดที่อีสาน เรียนที่ภาคกลางและหลงทางที่เชียงใหม่