‘ชุดเดรสพิมพ์ลายจากยะลา ตัวนี้ก็ชอบ เสื้อผ้าขาวม้าทอมือจากนครพนม ตัวนั้นก็น่ารัก หมวกทรงเก๋ย้อมครามเขียนเทียนจากเชียงใหม่ ใบนี้…พี่ว่าต้องมี!’

ประโยคอยากเล่าด้านบน ให้ความรู้สึกเหมือนฉันเป็นคุณสู่ขวัญที่กำลังเดินอยู่ในร้านขายสินค้าประเภทมัลติแบรนด์ แต่ความจริงนั่งเลื่อนภาพไป-มาในอินสตาแกรมของร้านขายเครื่องแต่งกายประเภทมัลติชุมชน ที่รวบรวมผ้าดี-ฝีมือเด่นของแต่ละชุมชนไว้ในสถานที่เดียวกัน

เมื่อจู่ๆ ฟ้าฝนเป็นใจ เปิดไปช่องไหนนักพยากรณ์โอกาสก็บอกว่าวันนี้เป็นวันดี ฉันถือเอาอากาศดีนัดหมายกับ ตุ้ม-กรรณิการ์ แสงจันทร์ สไตล์ลิสต์สาวขาลุย พ่วงตำแหน่งผู้ก่อตั้งแบรนด์ MADE BY HOTCAKE ที่สนับสนุนชุมชนอย่างเต็มหัวใจ

MADE BY HOTCAKE : แบรนด์ที่ชวนช่างฝีมือทั่วไทยจากเชียงใหม่ถึงยะลามาทำเสื้อผ้าด้วยกัน

01 ผ้าลิขิต บันดาลชักพา

 

  ฉันเคยได้ยินคำว่า ‘เกิดมาบนกองเงินกองทอง’
คงไม่ผิด หากบอกว่ากรรณิการ์เกิดมาบนกองผ้า ฉันหมายความว่าเธอคลุกคลีกับผ้ามาตั้งแต่เด็ก เพราะครอบครัวของเธอขายผ้า เรียกว่าความรักผ้าอยู่ในสายเลือด หากมีการตรวจเลือดเป็นจริงเป็นจัง เธอคงจัดอยู่ในหมู่โลหิต F (Fabric)

   เมื่อเป็นสาวเต็มกาย เธอประกอบอาชีพเป็นสไตลิสต์ มีงานอดิเรกเป็นนักสะสมผ้า ชีวิตของเธอวนเวียนอยู่กับ ‘ผ้า’ หากเป็นความรักฉันก็คงต้องยกให้เป็นเรื่องราวของ ‘ผ้าลิขิต’

   เธอยังคงเลือกเดินบนเส้นทางสายผ้า ฝีเข็มกำลังนำทางเธอไปเจอกับอีกหนึ่งจุดหมายที่ทำให้เธอตกหลุมรักครั้งแล้วครั้งเล่า

  “เราเริ่มสังเกตตัวเองว่าซื้อผ้าเก็บไว้เยอะมาก แล้วก็เป็นคนชอบท่องเที่ยวต่างจังหวัด อยากทำอะไรที่มันไปด้วยกันได้ เที่ยวด้วย ช่วยเหลือคนอื่นด้วย แล้วก็ไม่ทิ้งงานสไตลิสต์ จึงเกิดเป็นแบรนด์นี้ขึ้นมา พอเริ่มทำงานลึกลงไป ได้รู้จักชุมชนนั้นจากชุมชนโน้น ก็รู้สึกว่าเรามาถูกทางแล้ว”

หลังจากตกลงกับตนเองจริงจังว่าจะทำแบรนด์เสื้อผ้า จึงมุ่งหน้าไปยังจังหวัดสกลนคร เพื่อเริ่มต้นทำความรู้จักและเรียนรู้ผ้าจากธรรมชาติ เธอตะเวนไปตามชุมชนเพื่อแนะนำเทรนด์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชาวบ้าน ตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ โดยอาศัยคอนเนกชันจากชาวบ้านชุมชนโน้น ติดต่อให้ไปพบเจอกับชุมชนนั้น เธอเรียกการเชื่อมต่อนี้ว่า ‘สะพานบุญ’

  แต่บางครั้งหนทางยากลำบาก หลายคนเตือนเธอ

  “เราก็จะบอกว่าเป็นคนไม่ดูระหว่างทางเลย เราดูแค่ปลายทาง”

 

MADE BY HOTCAKE : แบรนด์ที่ชวนช่างฝีมือทั่วไทยจากเชียงใหม่ถึงยะลามาทำเสื้อผ้าด้วยกัน

02 ด้นให้มาพบกันทันใด

 

เสื้อผ้า สิ่งประดับทุกชิ้น ทุกขั้นตอนการผลิตล้วนออกมาจากชุมชนทั้งหมด เธอยึดวัตถุดิบจากชาวบ้านเป็นหลัก ผ้าและฝีมือดีมีทุกบ้าน คุณป้าทอผ้า คุณน้าตัดผ้า คุณยายเย็บผ้า คุณย่าย้อมผ้า หรือบางครั้งคุณยายชาวปกาเกอะญอก็ปลูกฝ้าย เก็บฝ้าย ปั่นฝ้าย ทอผ้า ย้อมสี และตัดเย็บ ในคนเดียวกันเลยก็มี กรรณิการ์ตั้งฉายาให้ว่า ‘คุณยายคนโสด’ เพราะคุณยายสวมเดรสผ้าฝ้ายปักมือลายจุดคู่สีสวย ชุดของคุณยายเป็นชุดเฉพาะสำหรับสาวที่ครองตัวเป็นโสดตลอดชีวิตเท่านั้น

MADE BY HOTCAKE : แบรนด์ที่ชวนช่างฝีมือทั่วไทยจากเชียงใหม่ถึงยะลามาทำเสื้อผ้าด้วยกัน

ใครติดตามเธอจะสังเกตเห็นว่าเสื้อผ้าและสิ่งประดับชิ้นเดียวกัน หลายครั้งมีที่มาจากหลายถิ่น เช่น เสื้อผ้าขาวม้าทอมือ จากจังหวัดนครพนม แต่กลับไปตัดเย็บไกลๆ โดยชนเผ่าม้ง จังหวัดเชียงใหม่  
ทำไมต้องเป็นแบบนั้น ฉันสงสัย

“เพราะเราอยากกระจายรายได้สู่ชุมชน ให้เขาส่งไปหาชุมชนนั้น เอาชุมชนนั้นมาเจอชุมชนนี้ รายได้จะกระจายทั่วกัน” สาวเมืองเลยตอบ

ตัวอย่างการร่วมมือสนุกๆ เช่น ‘กระเป๋าถักจากเปลือกไม้’ หน้าตาละม้ายคล้ายกระเป๋าใยกัญชง แต่ทำมาจากเปลือกไม้จากจังหวัดน่าน ฉีกเป็นเส้นแล้วนำมาถัก ห้อยด้วยพู่จากชนเผ่าม้ง จังหวัดเชียงใหม่ แต่ย้อมสีธรรมชาติ จากจังหวัดอุดรธานี

ฉันฟังเธอเล่าถึงกับต้องอุทาน ‘อู้หู้’ กระเป๋าถัก 1 ใบ กระจายรายได้ถึง 3 ชุมชน แถมยังสานสัมพันธ์ฉันมิตรกันแบบชุมชนต่อชุมชนต่อชุมชนอีกด้วย

MADE BY HOTCAKE : แบรนด์ที่ชวนช่างฝีมือทั่วไทยจากเชียงใหม่ถึงยะลามาทำเสื้อผ้าด้วยกัน MADE BY HOTCAKE : แบรนด์ที่ชวนช่างฝีมือทั่วไทยจากเชียงใหม่ถึงยะลามาทำเสื้อผ้าด้วยกัน

03 สีและผ้า คือคู่สร้างมา

 

ความดี ความงาม และคุณค่า ยังไม่หมด

ก่อนเราจะมานั่งคุยกัน เธอส่งผ้าลินินไปให้ชาวบ้านบนอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านจัดแจงนำไปย้อมสีจากธรรมชาติ ทั้งเปลือกไม้ ฝาง และเพกา

พอพูดเรื่องสีชักสนุก ต่อมความสงสัยทำงาน แล้วสีจากธรรมชาติได้จากสิ่งใดบ้าง ฉันถาม

เธอตอบติดตลกว่า “ตราบใดที่เราเดินไปแล้วสามารถเคี้ยวอะไรกินได้ ก็ให้สีทั้งนั้น

ภาคใต้มหัศจรรย์มาก ถ้าใช้เปลือกเงาะจะให้สีม่วง สะตอจะให้สีเทา มังคุดจะให้สีชมพู ทรัพยากรทางธรรมชาติแตกต่างจากภาคเหนือ ฝางจะให้สีชมพู ใบเพกาจะให้สีเขียว ดอกดาวเรืองและขมิ้นให้สีเหลือง” แค่ฟังสีจากภาคใต้ก็ตื่นเต้นจนอยากเอาสะตอมาย้อมผ้า

นอกจากเธอค้นพบและเรียนรู้จากชาวบ้าน เธอใช้จุดเด่นของการเป็นสไตลิสต์ออกแบบเสื้อผ้า อาจจะบิดแบบจากที่ชาวบ้านเคยทำนิดหน่อย เพิ่มความเก๋ไก๋ลงไป เช่น ผ้าย้อมครามเขียนเทียนจากอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นลายเขียนเทียนสัญลักษณ์ดั้งเดิม คงเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละหมู่บ้าน และมีความเชื่อว่าต้องทำพิธีส่งมอบตามความเชื่อ ไม่ใช่ว่าใครก็จะสามารถทำได้ เธอออกแบบผ้าผืนนั้นป็นเสื้อคลุมตัวสั้น-ตัวยาว และเพิ่มสายคาดเอวเพื่อความทันสมัย

MADE BY HOTCAKE : แบรนด์ที่ชวนช่างฝีมือทั่วไทยจากเชียงใหม่ถึงยะลามาทำเสื้อผ้าด้วยกันMADE BY HOTCAKE : แบรนด์ที่ชวนช่างฝีมือทั่วไทยจากเชียงใหม่ถึงยะลามาทำเสื้อผ้าด้วยกัน

แต่บางครั้ง เศษผ้าเหลือจากการตัดเย็บชุดสวย เธอปิ๊งไอเดียใช้ประโยชน์สูงสุด ให้ช่างตัดช่างเย็บยอดฝีมือแปลงโฉมเป็นหมวก Turban Hat สุดเก๋ และในบางคราเส้นด้ายก็เหลือ ความคิดสร้างสรรค์พุ่งกระฉูด เธอนำด้ายมารวมกันหนาพอควร มัดเป็นปล้องขนาดเล็ก และย้อมสีสดสดใส ทาด้า! กลายเป็นสร้อยคอสุดสร้างสรรค์ ใส่เส้นเดียวก็สวย ใส่คละสีสองสามเส้นรวมกันก็ซ้วยสวย

MADE BY HOTCAKE : แบรนด์ที่ชวนช่างฝีมือทั่วไทยจากเชียงใหม่ถึงยะลามาทำเสื้อผ้าด้วยกัน

MADE BY HOTCAKE : แบรนด์ที่ชวนช่างฝีมือทั่วไทยจากเชียงใหม่ถึงยะลามาทำเสื้อผ้าด้วยกัน

04 รู้สึกนึกรักกัน จนฝันใฝ่ใจผูกพัน

 

ฝีเข็มนำทางเธอเข้าสู่ปีที่ 3 พร้อมแฮชแท็ก #สนับสนุนเราเท่ากับสนับสนุนชุมชน

การสนับสนุนของเธอไม่เพียงแต่เป็นการซื้อมา-ขายไป แต่มันเป็นการกระจายงานกันในชุมชน คุณย่าคุณยายที่ห่างหายจากวงการทอผ้าตลอดจนเย็บปักถักร้อย ก็กลับมามีงานทำ ลูกเด็กเล็กแดงใช้เวลาว่างจากการปิดเทอมด้วยการช่วยย้อมผ้าคราม หรือสิ่งละอันพันละน้อยที่พอจะช่วยได้

และเธอก็ตอบข้อสงสัยของตนเองว่า ‘ทำไมผ้าไทยจะต้องมีราคาแพง’ ด้วยการทำผ้าไทยที่คนทั่วไปสามารถสวมใส่ได้ ในราคามิตรภาพ และยังช่วยให้ชุมชมมีรายได้อย่างยั่งยืน

“เรารู้สึกว่าคุณค่ามันครอบคลุมหมดเลย ด้านจิตใจ ความสวยงาม การค้นพบ ทุกอย่างมันรวมอยู่ในชุดชุดเดียว เหมือนให้ชีวิตเขาได้ไปต่อ เยียวยาเรา ลูกค้าได้ใส่ของสวยงามจากต้นตำรับ คุณค่ามันต่อเนื่องกันไปหมด” เธอผู้สนับสนุนชุมชนอย่างเต็มหัวใจทิ้งท้าย

#ตาต่อตาแต่ผ้าต่อ (ราคา) ไม่ได้ ฉันผู้สนับสนุนเธออย่างเต็มหัวใจทิ้งท้าย 

 

MADE BY HOTCAKE : แบรนด์ที่ชวนช่างฝีมือทั่วไทยจากเชียงใหม่ถึงยะลามาทำเสื้อผ้าด้วยกัน

สนับสนุนชุมชนได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/madebyhotcake/

Instagram : MADE BY HOTCAKE

 

  • ถนนกำแพงเพชร (หลังสวนจตุจักร)
  • ชั้น 4 Exotique Thai Paragon
  • Cafe now by Propaganda

 

เตรียมพบกับ MADE BY HOTCAKE EVERYWHERE เร็วๆ นี้

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

สามารถ สนิทมาก

กราฟิกดีไซน์เนอร์ ที่หลงรักการถ่ายภาพอาหาร ชอบหาแรงบันดาลใจและอัพเดทเทรนด์จาก Pinterest เลยตกลงปลงใจรวมตัวกับเพื่อนทำเพจรีวิวอาหารชื่อ Eatable