ถูกโอบอุ้มเหมือนอยู่ในอ้อมกอด คือความรู้สึกเวลาทิ้งตัวลงบนเปลที่แกว่งไกว ที่นอนเล่นแบบแขวนมีเสน่ห์เฉพาะตัวของมัน เป็นสัญลักษณ์ของความชิลล์อันเป็นสากล และเป็นของแต่งบ้านที่ลบเหลี่ยมคม ความทื่อตรงของอาคารได้ชะงัด

อาจเพราะเป็นของใช้ที่ไม่ได้มีกันทุกบ้าน ดีไซน์ของเปลไทยจึงไม่ค่อยหลากหลายเช่นโต๊ะเก้าอี้ ตอนเด็กๆ เราเห็นเปลญวนหน้าตาอย่างไร โตขึ้นมา เราก็ยังเห็นที่นอนตาข่ายนั้นรักษารูปแบบดั้งเดิมไว้แทบไม่ผิดเพี้ยน

จนกระทั่งได้เจอเปลถักมือแสนเก๋ของ TIE & KNOT แบรนด์สินค้าใหม่เอี่ยมของสตูดิโอ Plural Designs และชุมชนหัตถกรรมเปลญวน บ้านแม่พระประจักษ์ จังหวัดสุพรรณบุรี ดีไซน์โฉมใหม่เรียบง่ายและเฉดสีดีงามไม่ได้แค่ทำให้เราอยากล้มตัวลงนอน แต่ทำให้อยากสั่งซื้อเปลไปแต่งบ้าน และภาคภูมิใจว่าได้สนับสนุนชุมชนหัตถกรรมที่ถักเปลญวนมาตั้งแต่รุ่นคุณยาย

TIEnKNOT : เปลญวนดีไซน์ใหม่ของชุมชนชาวมอญจากสุพรรณบุรี

 

1

ชื่อ ‘เปลญวน’ ที่เราเรียกกันติดปาก มาจากชุมชนหัตถกรรมเปลญวนที่สุพรรณบุรี

พวกเขาเป็นกลุ่มคนไทยเชื้อสายญวน (เวียดนาม) ที่นับถือศาสนาคริสต์ ในสมัยก่อน ชาวบ้านแม่พระประจักษ์ริเริ่มนำผักตบชวามาตากแห้งแล้วถักเป็นเปล แต่เส้นใยของพืชชนิดนี้ขึ้นราง่าย ไม่ทนทาน เปลี่ยนมาใช้ปอก็บาดผิว นอนไม่สบาย สุดท้ายจึงเปลี่ยนมาใช้เส้นฝ้ายเป็นวัตถุดิบ โดยได้แรงบันดาลใจจากเชือกผูกเรือ

ปัจจุบันชุมชนซื้อเส้นด้ายจากโรงงานทอผ้ามาปั่นเกลียวด้ายและถักปมแบบดั้งเดิม ไม่มัดห่างๆ แบบเปลที่วางขายทั่วไป เปลญวนจึงนุ่มน่านอนและทนทาน สนนราคาเปลขึ้นอยู่กับความละเอียดของลายถัก ลวดลายดั้งเดิมคือลายสานดอก 1 ชั้น ลายสานดอก 2 ชั้น และลายสานดอก 3 ชั้น ยิ่งปมแน่นตึงถี่ยิบเท่าไหร่ ราคาก็ขยับขึ้นมากเท่านั้น โดยเปลแบบทั่วไปจะใช้เวลาถักประมาณ 4 – 5 วัน

TIEnKNOT : เปลญวนดีไซน์ใหม่ของชุมชนชาวมอญจากสุพรรณบุรี

TIEnKNOT : เปลญวนดีไซน์ใหม่ของชุมชนชาวมอญจากสุพรรณบุรีTIEnKNOT : เปลญวนดีไซน์ใหม่ของชุมชนชาวมอญจากสุพรรณบุรี

ข้อจำกัดของเปลญวนแบบเดิมคือชุมชนไม่รู้จักแหล่งต้นตอของวัตถุดิบ เส้นด้ายที่รับซื้อมาในรูปแบบม้วนด้ายที่พันกันยุ่งจนต้องสางกันหลายวัน เลือกสีสันถักเปลไม่ค่อยได้ และมีปัญหาเหมือนงานฝีมืออื่นๆ คือช่างถักส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงานจนถึงผู้อาวุโส เด็กรุ่นใหม่ที่ขาดความเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนั้นยิ่งนานวันเข้า เปลญวนก็เป็นของใช้ที่ห่างไกลจากวิถีชีวิตพวกเขามากขึ้นทุกที

 

2

ก่อนจะได้สินค้าใหม่สวยเก๋อย่างที่เห็น ตัวละครหลักของเรื่องนี้คือ หมี-พิบูลย์ อมรจิรพร สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Plural Designs และนักออกแบบเพื่อชุมชน ร่วมกับ Textile Designer โน๊ต-ขนิษฐา นวลตรณี จาก Kanit.Textile

TIEnKNOT : เปลญวนดีไซน์ใหม่ของชุมชนชาวมอญจากสุพรรณบุรี

หมีและสตูดิโอของเขาเริ่มร่วมมือกับหลายองค์กรที่ทำงานกับชุมชนงานคราฟต์ทั่วไทย เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) และ British Council นักออกแบบจับมือกับชุมชนหัตถกรรมทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2560 เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยสิ่งที่เขาถนัดคืองานเฟอร์นิเจอร์ งานไม้ ไปจนถึงงานจักสานตระกูลไผ่ที่มีพื้นฐานใกล้เคียงกับการถักทอ

“ผมสนใจเรื่องกระบวนการทำงาน ตอนที่ทำงานสถาปนิกอย่างเดียว ผมรู้สึกว่าเราออกแบบก่อนผลิต แต่ตอนสร้างมันเป็นหน้าที่คนอื่น ถัดจากแบบเราไป มันมีขั้นตอนที่เราไม่รู้หลายเรื่อง พอมาทำเฟอร์นิเจอร์ เราได้ลงมือทำเยอะขึ้นจนครบทั้งกระบวนการ ต่อมาก็เลยสนใจพวกงานหัตถกรรม งานฝีมือด้วย”

เก้าอี้สาน ‘แรงดึง’ หรือ ‘Tension Bench’ ที่ Plural Designs ออกแบบให้รับน้ำหนักอย่างยืดหยุ่นดึ๋งดั๋ง เพิ่งได้รับรางวัล DEmark Award 2017 สัมผัสยวบเด้งคล้ายเปลทำให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สนใจจับคู่สตูดิโอออกแบบกับชุมชนหัตถกรรมเพื่อต่อยอดสินค้าให้สนุกขึ้น Plural Designs เข้าไปเรียนรู้วัสดุและกระบวนการการทำงานของชุมชน แนะนำเทคนิคใหม่ๆ ให้เข้าใจง่าย นำวัสดุใหม่เข้าไปให้ชุมชนได้ทดลองผูกและมัด ไปจนถึงสร้างสินค้าใหม่ร่วมกัน และเปิดตัวของใช้แสนเก๋ที่บิดจากของดั้งเดิมเพียงเล็กน้อย แต่สร้างความโดดเด่นแตกต่างจนคนสั่งซื้อแทบไม่ทันในเทศกาลของตกแต่งบ้าน

TIEnKNOT : เปลญวนดีไซน์ใหม่ของชุมชนชาวมอญจากสุพรรณบุรี

3

“ปกติชุมชนจะทอเปลขึ้นมาตามจินตนาการของเขา เล่นสีผสมที่ขอบบ้าง ถักเป็นรูปหัวใจบ้าง ตอนทำ Workshop เอาด้ายเรียบๆ ให้เขาถัก ก็ไม่ถักเเบบสีเรียบทั้งผืน มันเป็นธรรมชาติของเขา ผมเข้าใจว่าคนทำงานฝีมือไม่อยากทำให้งานดูน่าเบื่อ มันสวยในแบบของเขา และไม่ผิดอะไรเลย แต่มันอาจไม่ได้ดูเข้ากับของในเมืองหรือว่าวิถีชีวิตของคนเมือง เรานิยมของที่ดูสะอาดเรียบง่าย ส่วนใหญ่เราซื้อของที่มาจากโรงงาน จะเอาของเดิมเข้ามาตรงๆ ไม่ได้ เพราะว่ามันตัดกับของที่เหลือในบ้านเราหมด”

หมีอธิบายเหตุผลการปรับดีไซน์แบบน้อยแต่มากของ TIE & KNOT และการประนีประนอมกับรากเดิมของชุมชน เปลบางปากเปลี่ยนแค่การจับคู่สีและไม้ตรึงเชือก บางปากเปลี่ยนไปใช้เชือกใยสังเคราะห์แบบใหม่และการมัดที่ง่ายลง กลายเป็นของใช้ที่เข้ากับชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น ตรงกับรสนิยมคนเมืองมากขึ้น และเพิ่มมูลค่าเปลให้สมศักดิ์ศรีงานคราฟต์แสนละเอียด

TIEnKNOT : เปลญวนดีไซน์ใหม่ของชุมชนชาวมอญจากสุพรรณบุรี

TIEnKNOT : เปลญวนดีไซน์ใหม่ของชุมชนชาวมอญจากสุพรรณบุรี

TIEnKNOT : เปลญวนดีไซน์ใหม่ของชุมชนชาวมอญจากสุพรรณบุรี

“เวลาทำ เราพยายามไม่ไปฝืนคนทำมาก ปกติเวลาเราเรียนออกแบบมา เราก็คาดว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามที่เราคิด แต่งานฝีมือยากกว่านั้น เพราะมันทำด้วยมือคน ไม่ใช่เครื่องจักร ชุมชนเขามีความคุ้นเคยของตัวเอง บางทีเราอาจฝืนทำของ prototype ออกมาได้ แต่ถ้าเราทำของที่เป็นตัวเรามาก แตกต่างจากสิ่งที่เขาเคยทำมาก หน้าตามันไม่ใช่สิ่งที่เขาคิดขึ้นได้หรือเขาไปคิดต่อได้ พอเสร็จโครงการ เรากลับไปแล้วเขาก็ไม่รู้จะทำยังไงต่อ มันก็จบตรงวันที่เราเดินออกมา แล้วเขาก็จะกลับไปทำเหมือนเดิม

“หลังๆ ผมพยายามทำให้ผลลัพธ์เป็นของที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เขาเคยทำมา เพราะเรารู้สึกว่าอยากให้มันยั่งยืน ไม่จำเป็นต้องปรับเยอะ แต่ให้เขาเอาไปทำต่อได้น่าจะดีกว่า บางทีเขาอาจไม่ได้ทำต่อในแบบที่เราทำไว้ แต่มันอาจไปสะกิดเขาว่าจริงๆ ถ้าพลิกแพลงนิดหน่อย เปลี่ยนเป็นนู่นนี่นั่น แล้วเขาทำต่อเองได้ มันน่าจะดี”

 

4

นอกจากเปลญวนสารพัดแบบ TIE & KNOT ยังมีสินค้าอื่น เช่น โคมไฟ กระเป๋าสะพายที่พูดได้เต็มปากว่าน่ารักมากๆ และดึงดูดวัยรุ่นมากๆ แถมยังรับงานสิ่งถักทออื่นๆ เช่น ชิงช้า หรือผืนตาข่ายตกแต่งบ้านแบบมาคราเม่ (Macrame) ซึ่งนักออกแบบมองว่างานแบบนี้ยังเติบโตต่อไปได้อีก

TIEnKNOT : เปลญวนดีไซน์ใหม่ของชุมชนชาวมอญจากสุพรรณบุรี

TIEnKNOT : เปลญวนดีไซน์ใหม่ของชุมชนชาวมอญจากสุพรรณบุรี

TIEnKNOT : เปลญวนดีไซน์ใหม่ของชุมชนชาวมอญจากสุพรรณบุรี

“ผมว่าของตระกูลงานสานหรืองานผ้าในไทยมีชุมชนชาวบ้านทำเยอะ ถ้าเคยไปเดินงาน OTOP สินค้าผ้านี้คือครึ่งฮอลล์ของงาน OTOP เลย แต่ว่านักออกแบบที่เข้าไปช่วยยังทำอะไรได้ไม่มาก เพราะเขาต้องรู้ลึกและต้องยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการทำ งานทอมันไม่เหมือนวัตถุชิ้นๆ อย่างไม้ เหล็ก หรือหิน ที่เขียนแบบให้เขาตัดให้ก็จบ ของพวกนี้กรรมวิธีกับตัวสินค้ารวมเป็นเนื้อเดียวกัน สานยังไง สิ่งที่เราเห็นก็เป็นแบบนั้น อย่างงานนี้ก็ต้องพึ่งพาอาศัยประสบการณ์ช่างค่อนข้างเยอะ”

นอกจากการพัฒนารูปแบบสินค้า ยังมีหลายอย่างที่กลุ่มดีไซเนอร์ไฟแรงอยากเข้าไปช่วยเกื้อหนุนให้การทำงานของช่างสะดวกและประหยัดเวลามากขึ้น เช่น หาแหล่งวัสดุที่มีคุณสมบัติที่ดี พัฒนาอุปกรณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังมีที่ว่างอีกมากสำหรับนักออกแบบ

TIEnKNOT : เปลญวนดีไซน์ใหม่ของชุมชนชาวมอญจากสุพรรณบุรี

“สมมติอยากจะเปลี่ยนเส้นใยงานทอผ้า บางทีชาวบ้านไม่กล้าทำ เพราะต้องไปรื้อกี่เขา ถ้าเปลี่ยนเส้นใยให้ใหญ่ขึ้น ใช้ฟืมใส่ด้ายอันเดิมไม่ได้ เขาก็ไม่รู้จะทอยังไง”

หมียกตัวอย่างกรณีศึกษาที่เคยพบเห็น

“คนทำงานคราฟต์ต่างประเทศมาเจอบ้านเราเขาตกใจกันหมด บ้านเราต้องพึ่งพาทักษะส่วนตัวกันมาก วัสดุก็มักทำมาจากศูนย์ ไม้ไผ่ก็ไปตัดจากในป่ามาเหลากันเองซึ่งมันก็เป็นเสน่ห์ แต่ที่อื่นไปสั่งวัตถุดิบกับอุปกรณ์สำเร็จรูปได้ เราขาดการพัฒนาอุปกรณ์สากลที่ให้ทุกคนใช้แล้วดีขึ้น ถ้าหลอมมันมากขึ้น ก็อาจจะไปได้อีกไกล”

ผู้ก่อตั้ง Plural Designs ตบท้ายด้วยความเชื่อมั่น แม้เรื่องนี้ไม่ได้จบลงที่การทิ้งตัวลงบนที่นอนเล่นนุ่มๆ ที่โค้งรับตัวเราเหมือนโอบกอด แต่การโอบอุ้มเชื่อมต่อกันระหว่างนักออกแบบและชุมชน เราสัมผัสได้จากทุกรอยผูกปมของเปลญวน

TIEnKNOT : เปลญวนดีไซน์ใหม่ของชุมชนชาวมอญจากสุพรรณบุรี

ติดต่อสั่งทำเปลและสินค้าอื่นๆ ของ TIE & KNOT ได้ที่นี่

 

 

 

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan