เส้นทางสาย ‘ไหม’

หากกล่าวถึง ‘ไหม’ หลายๆ คนอาจะนึกถึงเสื้อผ้าหรือซิ่นหลากสี แต่ไหมที่เราจะพูดถึงในวันนี้ ไม่ใช่เส้นไหมที่นำไปทอผ้าลวดลายสวยสดที่เรามักเห็นกัน  

Socoon Socoon

‘ไหม’ ที่เราจะพูดถึงคือเส้นทางของรังไหมจากแบรนด์ Socoon (โซคูน) ที่นำรังไหมนับร้อยรังมาเย็บต่อกัน จนเกิดเป็นงานศิลปะหลากรูปทรง ทั้งพวงกุญแจ กล่อง กระเป๋า และที่โดดเด่นที่สุดคือโคมไฟรังไหมทรงก้อนเมฆ สวยจนตาลุกวาว อยากซื้อมาประดับห้องนอนแสนรกให้เก๋ไก๋ซะตอนนี้เลย

โคมไฟรังไหม Socoon

แค่เห็นรูปลักษณ์ภายนอก เราก็เทใจให้โคมไฟโมเดิร์นนี้ไปแล้ว และอยากให้อ่านเรื่องข้างล่างเพิ่มอีกสักนิด เผื่อว่าหลังอ่านจบแล้วเดินไปซื้อโคมไฟนี้ในห้างสรรพสินค้าชื่อดังจะไม่ได้ร้องกรี๊ดแค่เพราะความสวยงามของมัน แต่ยังต้องร้องว้าวให้ความประณีตและเรื่องราวการเติบโตของวิสาหกิจชุมชนเล็กๆ ที่ไม่ย่อท้อ พัฒนาของที่ระลึกราคาหลักสิบบาทประจำหมู่บ้าน เป็นงานศิลปะที่ได้ราคาสมกับความอุตสาหะของช่างฝีมือ

Socoon

เมื่อถึงตอนนั้น คุณอาจไม่ทันสังเกตว่าไม่เพียงแค่คุณที่กำลังยิ้มอยู่หน้าโคมไฟก้อนเมฆ แต่มีชาวสระบุรีอีกจำนวนหนึ่งยิ้มอยู่เหมือนกัน

 

รู้ไหม (ในวันนี้ไม่เหมือนเก่า)

หนึ่ง-กิติศักดิ์ ขจรภัย กรรมการกลุ่มรังไหมประดิษฐ์ เล่าให้เราฟังว่าภาคกลางมีศูนย์หม่อนไหมถึง 21 ที่ แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าสระบุรีก็มีศูนย์หม่อนไหม แต่ก่อนสำนักงานเกษตรนครราชสีมาส่งอาจารย์มาสอนชุมชนทำพวงกุญแจ ทางวิสาหกิจชุมชนรังไหมประดิษฐ์ก็รับไหมจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สระบุรี มาทำของที่ระลึกเล็กๆ นี้มาสิบกว่าปีแล้ว

หนึ่งคลุกคลีกับรังไหมมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากคุณแม่เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เมื่อโตขึ้นรู้สึกว่าอยากอยู่กับชุมชนและพัฒนาให้ค่อยๆ โตไปด้วยกัน จึงกลับมาสืบทอดงานแปรรูปรังไหมที่บ้าน

“ตอนเด็กๆ โตมากับเพื่อนรุ่นเดียวกัน เราก็ช่วยกันออกแบบพวงกุญแจรังไหมเป็นรูปค้างคาว พวงกุญแจใส่เหล็กดัดฟัน จากที่มี 4 – 5 แบบก็กลายเป็น 20 – 30 แบบ ตอนนั้นของขายดีเพราะนโยบาย OTOP แต่ก็เป็นของมูลค่าสิบบาท กำไรไม่สูงมาก” นักพัฒนาชาวสระบุรีเท้าความถึงสถานการณ์ดั้งเดิม

พวงกุญแจ

หลังจากทำพวงกุญแจรังไหมเพียงอย่างเดียวมาเป็นเวลานับสิบปี การคิดต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นเรื่องยาก เมื่อหนึ่งกลับมาช่วยงานชุมชนจึงพยายามสมัครเข้าโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ จนได้เข้าร่วมโครงการ OTOP ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ได้นักออกแบบมาช่วยคิดต่อยอดมูลค่าสินค้า จากพวกกุญแจอันละ 10 บาทเป็นโคมไฟมูลค่าหลักพัน

“อาจารย์ที่กรมส่งเสริมสินค้าระหว่างประเทศแนะนำให้ทำ แต่ว่ามันยากมากๆ เพราะแต่ก่อนเราทำพวงกุญแจติดกาว พอเปลี่ยนมาเย็บแล้วขึ้นรูปเป็นทรงก้อนเมฆอีก เราเลยต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด ยิ่งกว่านั้นคือเราต้องเชื่อมเหล็กเองทั้งๆ ที่เราไม่มีพื้นฐานมาก่อน แล้วก็ต้องทดสอบโคม ไปที่สถาบันสิ่งทอเพื่อทดสอบความทนไฟและการกันน้ำ พอได้โคมมาแล้ว เราก็ต้องออกแบบให้มีความหลากหลายอีก”

Socoon

จากพวงกุญแจ 10 บาท กลายเป็นโคมไฟมูลค่า 2,900 บาท (12 นิ้ว) หรือหากเป็นโคมไฟขนาดใหญ่ตามโรงแรมมูลค่าจะสูงถึง 12,000 บาท นอกจากนี้ Socoon ยังแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น กระเป๋าถือ กระเป๋าสะพายทรงก้อนเมฆเล็กๆ ที่เก๋น่าอวด ราคาที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าแลกมาด้วยน้ำพักน้ำแรงและที่สำคัญคือ ‘ใจ’ ของชาวบ้าน

“ทุกอย่างเกิดจากคนในชุมชนที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ตอนแรกเราก็ทำไม่เป็น คนในชุมชนก็ทำไม่เป็น เราเป็นคนรุ่นหนึ่ง เขาเป็นคนรุ่นหนึ่ง ทำยังไงให้คน 2 รุ่นมาเจอกันแล้วไปด้วยกันได้ ต้องทำงานด้วยกันไปทุกขั้นตอนจนเริ่มเข้าที่เข้าทาง”

 

ทำไหม

โคมไฟรังไหม

กระบวนการทำโคมไฟรังไหมไม่ได้ง่ายดาย ก่อนทำโคมต้องสั่งรังไหมจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สระบุรีก่อน 3 – 4 เดือน โดยใช้เวลาเลี้ยงมากกว่า 30 วันต่อ 1 รัง และในเวลานี้จะไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ เลย

เมื่อได้รังไหมคุณภาพดีมาแล้วจึงนำมาเก็บใส่รังไว้เพื่อกันมด แล้วนำขี้ไหมออกให้ได้รังไหมที่สะอาดและทดลองย้อมสีธรรมชาติ เช่น คราม แค คูน และกระเจี๊ยบ ให้ได้โทนที่ต้องการ รังไหมที่ไม่ผ่านเกณฑ์การย้อมจะถูกคัดทิ้ง ส่วนรังไหมสีสวยจะนำมาตากแดดและตัดแบ่งครึ่ง ครึ่งหนึ่งที่ไม่ได้ใช้นำไปทำเป็นพวงกุญแจ ของฝากออริจินัล อีกส่วนที่ใช้นำมาเย็บด้วยมือเป็นกลีบกระทง 22 กลีบ เป็นทรงกลมหรือทรงตั้งอย่างประณีต ใส่ฐาน โดยจะใช้เวลา 3 – 4 วันต่อหนึ่งโคม

Socoon

ข้อดีของโคมไฟรังไหมเย็บมือคือเมื่อมองผิวเผินเป็นโคมไฟทรงก้อนเมฆจะแขวนหรือตั้งก็ได้ และสามารถกด ย่อ ขยาย เอียงขวา เอียงซ้ายได้ตามต้องการ ย่อให้เล็กเพื่อประหยัดพื้นที่เวลาขนส่ง จาก 12 นิ้ว เหลือ 3 นิ้วได้ และปกติรังไหมจะโชว์ผิวนอก แต่รังไหมที่นี่โชว์ด้านในเพื่อเน้นความมันวาว มากไปกว่านั้นคือการนำรังไหมมาใช้ เป็นการปาดรังมาโดยไม่ได้ฆ่าตัวไหม จึงนำไหมไปขยายพันธุ์ต่อได้

“ตอนแรกเราไม่ได้คิดอะไร แต่พอเราไปออกร้านแล้วเจอลูกค้าญี่ปุ่น ถึงรู้ว่าเขาให้ความสำคัญกับเรื่องที่เราไม่ได้ต้มไหมให้ตายเพื่อนำมาสาวไหม” หนึ่งกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

Socoon

โคมไฟรังไหมแสนเก๋นี้ได้รับรางวัล Demark ดีไซน์ดีมาก ปี 2017 สาขาสินค้าไลฟ์สไตล์ จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และได้รับรางวัลไทยเท่ ประเภทของใช้ รางวัลชนะเลิศที่ 1 ระดับประเทศ จากรัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและกีฬา ประจำปี 2017 ทำให้ Socoon ได้ไปแสดงสินค้าที่โอกินาว่าประเทศญี่ปุ่น และกำลังจะได้ไปอวดโฉมให้ชาวอิตาลีได้จับจองกันในปีนี้

 

ขายไหม

โคมไฟรังไหม

ผลิตภัณฑ์ของ Socoon ไม่ได้วางขายแค่ในงานแฟร์ทั่วไป แต่ยังวางขายที่สยามพารากอน ชั้น Exotic Thai และกำลังจะนำไปวางที่สยามดิสคัฟเวอรี่ โซน Ecotopia โดยแต่ละที่จะวางสินค้าลวดลายไม่ซ้ำกัน

“เราต้องพัฒนาสินค้าตลอดเวลา หยุดไม่ได้ ข้อดีของการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการแข่งขัน เราก็จะไปเดินดูสินค้าแล้วนำข้อมูลไปแลกเปลี่ยนกับคนในจังหวัดสระบุรีว่าตอนนี้มันเป็นแบบนี้” ชาวสระบุรีรุ่นใหม่พูดด้วยแววตามุ่งมั่น

 

ทำไหม..ทำไม

ในวันนี้ Socoon หรือ วิสาหกิจชุมชนรังไหมประดิษฐ์ โตจากปี 48 ที่มีสมาชิกเพียง 5 คน เป็นตอนนี้มีสมาชิก 30 คน จากเดิมคนในพื้นที่ได้ค่าแรงวันละร้อย ตอนนี้ก็สามารถได้ถึงวันละ 300 – 500 บาท เพราะหนึ่งเน้นว่าชุมชนต้องได้ค่าแรงเยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้

Socoon

“เราจะพัฒนาต่อไปทุกปี หยุดไม่ได้ เพราะเราทิ้งคนในจังหวัดเราไม่ได้ เราทำไปแล้วเราก็นำข้อมูลนี้กลับมาเผยแพร่ให้กลุ่มโอท็อปกลุ่มอื่นๆ ฟัง จะได้เดินไปด้วยกันได้ และให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาคน มีจัดอบรมบ่อยๆ และให้เยาวชนมาร่วมทำด้วย จะได้สืบต่อกันไป และชุมชนเลี้ยงตัวเองได้”

จบบทสนทนา เราเห็นรอยยิ้มของหนุ่มผู้ทำไหม พร้อมได้ยินเสียงตัวเองตะโกนในใจว่า “อยากได้ไหม!” ที่ไม่ได้เป็นประโยคคำถาม แต่เป็นประโยคบอกเล่า

 

สนใจไหม
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Facebook |  Socoon ผลิตภัณฑ์รังไหม
วิสาหกิจชุมชนรังไหมประดิษฐ์ 68/1 ม.6 ตำบลตลาดน้อย อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี
090-429-3609

Writer

Avatar

เทวรักษ์ รุ่งเรืองวิรัชกิจ

สาวอวบระยะสุดท้ายผู้หลงรักคาปูชิโน่เย็น สิ่งของจุกจิก เสื้อผ้าวินเทจ เเละเสียงเพลงในวันฝนพรำ